ชีวิตคือความไม่แน่นอนแต่ในความไม่แน่นอนของชีวิตเรากลับพบความสวยงามของชีวิต
Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2552
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
 
6 กุมภาพันธ์ 2552
 
All Blogs
 
ตึกกรอสที่ศิริราช

ผมเคยไปศิริราชครั้งแรกเมื่อตอนอายุ ๑๓ ปี ตอนนั้นทำให้เข้าใจมากขึ้นว่าชีวิตแพทย์เป็นอย่างไร...

หลังจากไปศิริราชวันนั้นแล้วมุมมองต่ออาชีพแพทย์เปลี่ยนไป เพื่อนในรุ่นเดียวกันวัยเด็กหลายคนยังใฝ่ฝันที่จะเป็นหมอ...แต่สำหรับผมชีวิตแพทย์ไม่ใช่อาชีพที่เราคิดว่ามันเหมาะกับตัวเรา ถ้าเราต้องอยู่กับคนไข้ที่เจ็บป่วยตลอดเวลา เห็นสภาพคนไข้ที่มาโรงพยาบาลในสภาพโชกเลือดจากอุบัติเหตุ หน้าที่ของหมอคือช่วยชีวิตเขาเอาไว้ มันไม่ใชชีวิตที่เราชอบ

อาจารย์แนะแนวบอกว่า...ถ้าเราได้ทำงานในสิ่งที่เราชอบ เราจะมีความสุขกับมัน หลายคนเป็นหมอเพราะพ่อแม่อยากให้เป็น...แต่พอเขาเป็นแล้ว เขาไม่มีความสุขเลยเพราะตลอดชีวิตเขาอยู่กับสิ่งที่เขาไม่ชอบ

โชคดีที่เราค้นพบตัวเองเจอตั้งแต่เด็กและไม่ได้เลือกตามกระแสสังคม ไม่อย่างนั้น...ทุกวันนี้เราอาจจะคับข้องใจกับสิ่งที่ทำอยู่...ทุกๆวันมีแต่เสียงบ่น...และไม่สามารถกลับไปเปลี่ยนแปลงแก้ไขอดีตได้

ผมรู้จักคำว่า "ตึกกรอส" เป็นครั้งแรกสมัยตอนเรียนม.ปลาย อาจารย์วิชาภาษาไทยให้พวกเราอ่านหนังสืออ่านนอกเวลาของ อ.อุดากรณ์ (ผมไม่แน่ใจว่าสะกดชื่อถูกต้องไหม? ถ้าท่านใดทราบชื่อนักเขียนที่ถูกต้องรบกวนช่วยแก้ไขให้ด้วยครับ) เรื่อง "ตึกกรอส"

ตึกกรอสเป็นที่เก็บศพที่เจ้าตัวบริจาคร่างกายภายหลังเสียชีวิตให้แก่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเพื่อให้เป็นวิทยาทานแก่นักศึกษาแพทย์ในการศึกษาวิชากายวิภาคศาสตร์

อ่านเรื่องสั้นเรื่อง "ตึกกรอส" แล้วจินตนาการว่า...นักเรียนแพทย์ต้องผ่าศพ เรียนรู้กายวิภาคจากศพที่อยู่ต่อหน้า บางครั้งต้องอยู่ที่ตึกกรอสดึกๆช่วงใกล้สอบ นึกแล้วหวาดเสียวดีสำหรับคนที่ขี้กลัวผี


มีโอกาสได้แวะไปพิพิธภัณฑ์ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลครั้งแรกตอนที่เข้ามาสอบเข้ามหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ เพื่อนอีกคนที่มาด้วยกันกลัวมากจนหนีกลับบ้าน ปล่อยให้เราเดินดูสิ่งต่างๆภายในพิพิธภัณฑ์ตามลำพัง


จำได้ว่า...ตอนนั้นไม่รู้หรอกว่า "นวลฉวี" คือใคร แต่เห็นเสื้อผ้าของเธอ และบันทึกในไดอารี่ที่เธอเขียนก่อนโดนฆาตกรรมถูกเก็บเอาไว้ในพิพิธภัณฑ์ มีศพซีอุย แซ่อึ๊ง ที่เขาดองเอาไว้ มีสภาพอวัยวะต่างๆที่ศิริราชดองเอาไว้เพื่อการศึกษา



หลังจากเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯแล้ว...ผมไม่มีโอกาสเดินทางไปเยือนพิพิธภัณฑ์ศิริราชอีกแม้ว่าจะมีโอกาสเดินทางไปศิริราชระยะหลังหลายครั้งก็ตาม

ผ่านตึกพิพิธภัณฑ์ของศิริราชหลายครั้งแต่ไม่เคยนึกจะแวะเข้าไปอีกเลย ช่วงนี้มีโอกาสไปศิริราชบ่อย วันนี้ภายหลังจากเสร็จธุระแล้ว...ก็ลองแวะเข้าไปที่พิพิธภัณฑ์



วันนี้เป็นครั้งแรกที่ผมมีโอกาสได้เข้าไปที่ตึกกรอส ผมเดินผ่านชั้นสองที่เขาห้ามบุคคลภายนอกเข้าไป บนโต๊ะเห็นมีผ้าคลุมร่างไร้วิญญาณของ "อาจารย์ใหญ่" ( "อาจารย์ใหญ่" เป็นชื่อเรียกที่นักศึกษาแพทย์เรียกศพที่บริจาคร่างของตนเองให้นักศึกษาแพทย์เพื่อศึกษาเรื่องของกายวิภาค นักศึกษาแพทย์จึงยกย่องท่านเหล่านั้นว่า "อาจารย์ใหญ่") เคยอ่านหนังสือรุ่นของนักเรียนแพทย์ที่มีบางคนเขียนเอาไว้เกี่ยวกับตึกกรอสว่า นักเรียนแพทย์บางคนตอนใกล้สอบ..แอบขอให้อาจารย์ใหญ่ช่วยเข้าฝันว่าข้อสอบกายวิภาคจะออกเกี่ยวกับอะไรบ้าง


ภายหลังจากที่นักศึกษาแพทย์เรียนคอร์สกายวิภาคเสร็จสิ้นลงก็จะทำบุญร่วมกับญาติของอาจารย์ใหญ่อุทิศให้กับอาจารย์ใหญ่ของตน หลังจากนั้นก็จะมีการนำอัฐิของอาจารย์ใหญ่ไปลอยอังคาร


วันนี้มีโอกาสได้อ่านรายละเอียดของโครงกระดูกที่บริจาคให้ศิริราช หนึ่งในนั้นเป็นโครงกระดูกของพระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) ผู้แต่งตำราภาษาไทยให้นักเรียนไทยได้อ่านกัน มีอาจารย์แพทย์หลายท่านที่บริจาคอวัยวะและโครงกระดูกภายหลังเสียชีวิตเป็นวิทยาทานให้แก่นักศึกษาแพทย์


เคยดูรายการ "ปัญหาชีวิตและสุขภาพ" นานมากแล้ว อาจารย์หมอสุรพงษ์ อำพันวงศ์และแพทย์ที่มาร่วมรายการเชิญชวนให้คนไทยมาบริจาคอวัยวะกันมากขึ้น เพราะมีผู้รอรับบริจาคอวัยวะจำนวนมากแต่ผู้บริจาคอวัยวะมีน้อยมาก ผมมาเข้าใจความสำคัญของการบริจาคอวัยวะมากขึ้นก็ตอนที่ไปเรียนหนังสือในญี่ปุ่น มีคนป่วยด้วยโรคร้ายที่รอรับบริจาคอวัยวะจำนวนมาก...บางคนต้องเข้าคิวรอเกือบปี เพราะต้องรอให้คนบริจาคอวัยวะตายลงและอวัยวะของผู้บริจาคนั้นต้องไม่เกิดการต่อต้านกับอวัยวะของผู้รับบริจาค วัยต้องใกล้เคียงกัน การผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะจึงถือเป็นงานใหญ่มาก....และโอกาสที่จะสำเร็จและล้มเหลวมีได้เสมอ

มีผู้ป่วยหลายคนในญี่ปุ่นรอรับบริจาคเงินจากคนที่สงสารทั่วญี่ปุ่นผ่านรายการทีวีเพื่อเอาเงินจำนวนมากไปเป็นค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดอวัยวะในอเมริกา ผู้ป่วยเหล่านั้นบินไปอเมริกาเพื่อรอรับการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะโดยญาติบินไปอยู่ด้วยเพื่อดูแล และหลายคนประสบความสำเร็จในการผ่าตัด บางคนผ่าตัดได้ไม่กี่เดือนต่อมาก็เสียชีวิตเพราะอวัยวะติดเชื้อ

ได้เห็นภาพเด็กน้อยร้องขอชีวิตผ่านสื่อต่างๆ อยากขอให้ทุกคนช่วยเหลือเขา ช่วยกันบริจาคเงินเพื่อพวกเขาจะได้เอาไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะที่อเมริกา พวกเด็กน้อยเหล่านั้นอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป ชีวิตจึงมีคุณค่าที่จะอยู่ต่อแม้ว่าจะเผชิญโรคร้าย แม้ว่าโอกาสจะริบหรี่ แต่พวกเขาก็ยังมีความหวังที่จะอยู่ต่อไป


วันนี้มองที่โครงกระดูกที่เหล่าอาจารย์แพทย์และหลายๆท่านที่บริจาคให้แก่ศิริราชแล้วชื่นชม


มนุษย์เราตอนเกิดมา...ก็มาแต่ตัวเปล่าแต่ก่อนตายได้ทำความดีทิ้งเอาไว้เป็นประโยชน์แก่คนรุ่นหลัง การเกิดมาเป็นมนุษย์จึงไม่สูญเปล่า คุณค่าของมนุษย์คงอยู่ตรงนี้ เพราะทรัพย์สินทั้งหลายที่หามาได้ตลอดชีวิตภายหลังเสียชีวิตแล้วก็เอาไปได้แม้แต่หยดน้ำ (การที่คนยังมีชีวิตอยู่ไปรดน้ำศพ...ก็เป็นการเตือนสติคนที่ยังมีชีวิตอยู่ว่า...คนเราตอนตายแล้วแม้แต่น้ำหยดเดียวก็ยังเอาไปไม่ได้)


บรรยากาศตึกกรอสในเวลากลางวันยังดูทึมๆ ถ้าเป็นกลางคืนจะเป็นอย่างไร คิดแล้ว...หวาดเสียวเหมือนกันนะ


ผมเดินไปตึกอดุยเดชวิกรมซึ่งชั้นสองเป็นพิพิธภัณฑ์ ศิริราชรวบรวมกระโหลกของศพที่ถูกฆ่าด้วยวิธีต่างๆ กระดูก มัมมี่ ศพที่ถูกประหาร ศพของซีอุย และหลักฐานเกี่ยวกับคดีฆาตกรรม "นวลฉวี ราชเดช" จัดแสดงเอาไว้เพื่อการศึกษา


วันนี้ความรู้สึกที่มีต่อเรื่อง "นวลฉวี" ช่างแตกต่างจากเมื่อ ๒๐ ปีที่แล้วมาก ผมมีโอกาสได้ดูหนังเรื่อง "นวลฉวี" ที่คุณสินจัย (หงษ์ไทย) เปล่งพานิชเล่น เลยเข้าใจที่มาที่ไปของคดีฆาตกรรมนี้ ความรัก ความหลง ความอิจฉาริษยา ความโกรธ ของมนุษย์นี่น่ากลัวมากเพราะหลายครั้งเมื่อขาดสติก็นำมาซึ่งโศกนาฏกรรม

เดินออกจากพิพิธภัณฑ์ที่ศิริราชวันนี้ด้วยความรู้สึกแตกต่างจากความรู้สึกสมัย ๒๐ ปีก่อน เห็นคุณค่าของการบริจาคอวัยวะและร่างกายให้แก่วงการแพทย์ไทย ยังมีคนที่ต้องการรับบริจาคอวัยวะอีกจำนวนมากและร่างกายที่ตายไปแล้วยังเป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์ซึ่งนักเรียนแพทย์เหล่านั้นได้เรียนรู้จากร่างกายที่เราบริจาคเอาวิชาการความรู้ไปใช้ประโยชน์ต่อสังคมไทยต่อไปภายหลังจากที่พวกเขาสำเร็จการศึกษาแล้ว

คนเราคงจะไม่เห็นคุณค่าของสิ่งหนึ่งๆเลยถ้าตนเองไม่เคยผ่านประสบการณ์ที่ต้องการสิ่งที่แสวงหาอย่างยากเย็น...และมีคนหยิบยื่นสิ่งนั้นให้ในยามที่ต้องการ

คุณค่าของการเป็นผู้ให้...บางครั้งมันมีความสุขมาก...ให้โดยไม่คาดหวังแม้คำว่า "ขอบคุณ" เป็นสิ่งที่ตอบแทนกลับคืนมา การให้แบบนั้นมันมีความหมายมากกว่าเพราะเป็นการให้โดยไม่มีแม้แต่อัตตา


Create Date : 06 กุมภาพันธ์ 2552
Last Update : 7 กุมภาพันธ์ 2552 13:43:01 น. 8 comments
Counter : 3393 Pageviews.

 
เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะ
คนที่รอคอยการรับบริจาคอีกมากมาย
เคยไปเข้าชมของมหิดลนะคะ
ก้แนวนี้เช่นกันคะ
แต่ว่าอย่างว่าถ้ามีโอกาสจะแวะเข้าไปชมที่ศิริราช
บ้างขอบคุณสำหรับข้อความดีๆนะคะเตือนสิได้เยอะเลยค่ะ


โดย: MaZZO วันที่: 6 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:23:51:37 น.  

 
ขอบคุณคุณ Mazzo ที่แวะเข้ามาแสดงความคิดเห็นครับ ความเชื่อเรื่องการตายไปพร้อมอวัยวะที่สมบูรณ์....เป็นอุปสรรคต่อการบริจาคอวัยวะ และผมก็เชื่อว่ายังมีคนอีกจำนวนมากไม่ทราบว่าคนป่วยด้วยโรคร้ายแรงกำลังเผชิญการคุกคามของโรคร้ายอยู่ พวกเขารอคอยอย่างมีความหวัง ถ้าเพียงแต่มีใครหยิบยื่นโอกาสบริจาคอวัยวะให้แก่เขาเหล่านั้น...พวกเขาก็จะมีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เขาจะมีสุขภาพที่ดีขึ้น อยู่ในโลกนี้และอาจทำประโยชน์ให้สังคมเราให้น่าอยู่ขึ้นต่อไป


โดย: ชีวประภา วันที่: 7 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:13:48:23 น.  

 
ดีครับชื่นชม


โดย: ปาม IP: 58.9.206.197 วันที่: 11 มีนาคม 2552 เวลา:19:45:24 น.  

 

ยากมากเลย...


โดย: ต้นข้าว IP: 202.12.73.3 วันที่: 17 กรกฎาคม 2552 เวลา:21:45:21 น.  

 
เคยไปแล้วครั้งนึงเหมือนกันค่ะ
บรรยากาศเยี่ยมมาก
สยองอย่างแรงงงง
แต่จริงๆแล้วอยากเป็นหมอนะคะ
พอไปเห็นอาจารย์ใหญ่ที่ถูกปกคลุมด้วยผ้าสีเขียว
รวมกับกลิ่นฟอมาร์ลีนที่คละคลุ้ง
555+
น่ากลัวจนก้าวขาไม่ออกเลยล่ะค่ะ
แต่อีกใจนึงก็อยากเรียนรู้
น่าตื่นเต้นดีนะคะ
^_____________^


โดย: ปลาวาฬ IP: 203.155.231.95 วันที่: 5 สิงหาคม 2552 เวลา:21:42:43 น.  

 
ตึกกรอสส์ โดย อ.อุดากร ค่ะ


โดย: jad IP: 110.168.151.89 วันที่: 31 มีนาคม 2554 เวลา:4:30:58 น.  

 
ขอบคุณข้อความดี ๆ เคยไปที่ตึดกรอสแล้ว ความรู้สึกเดียวกันเลย กลัวและตื่นเต้นดีค่ะ อยากบริจาคร่างกายเมื่อตายแล้วจัง ชาติหน้าขอเกิดเป็นหมอรักษาคนไข้ค่ะ


โดย: โดยตุ๊กตา IP: 27.130.60.217 วันที่: 19 สิงหาคม 2554 เวลา:15:51:51 น.  

 
ไช่วิทยาไหมค่ะที่เล่าเรื่อง


โดย: ไอซ์ IP: 49.230.24.118 วันที่: 21 พฤษภาคม 2559 เวลา:17:57:17 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ชีวประภา
Location :
พิษณุโลก Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add ชีวประภา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.