Blog ของชัชชมนต์ คนดีค่ะ
Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2553
 
10 กรกฏาคม 2553
 
All Blogs
 
Nepal ตอน 19 เที่ยวไป หลบ (สิ่งสกปรก) ไป

กาฐมณฑป

ที่ต่อมาที่เราแวะเข้าไปชมให้ได้ ถ้าไม่ได้เข้าไปจะเหมือนมาไปถึงกาฐมาณฑุ นั่นคือกาฐมณฑป (Kasthamandap) หรือ ‘เรือนไม้’

กาฐมณฑปเป็นอาคารที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในหุบเขา สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 12 ชื่อกาฐมณฑปนี่เอง ที่น่าจะกลายเป็นชื่อเมือง และชื่อหุบเขากาฐมาณฑุ


ภาพจาก wikipedia ข้อมูลเพิ่มเติมเชิญได้ที่ //en.wikipedia.org/wiki/Kasthamandap

เชื่อกันว่ากาฐมณฑป สร้างจากต้นไม้ใหญ่เพียงต้นเดียว จริงเท็จประการใด ยืนยันได้ยาก เพราะต้นไม้คงต้องมีขนาดใหญ่มหึมา ถึงจะสร้างเรือนไม้หลังใหญ่อย่างนี้ได้

ถ้าคนโบราณเขาแอบเปลี่ยนชิ้นส่วนเล็ก ๆ สักชิ้น ใครจะไปรู้ได้ เห็นไหมว่าคนไทยขี้ระแวงเพียงไหน

ก่อนมาเนปาล หลายคนได้เห็นกาฐมณฑป จากหนังสือสารคดี ดูสวยมาก ไม่รู้ว่าถ่ายเมื่อใด คงต้องเคลียร์พื้นที่กันยกใหญ่ถึงได้ภาพสวยขนาดนั้น

ภาพกาฐมณฑปแท้ ๆ ที่เราเห็นได้ด้วยตา และได้สัมผัสด้วยการเดินเข้าไป (เดินเฉย ๆ มือไม้ไม่กล้าจับอะไรเลย) สกปรกจนบอกไม่ถูก พื้นเขลอะ มีเศษขยะ น้ำลาย ไฟก็ไม่มี ดูมืด ๆ ทึม ๆ ผู้คนในนั้นพลุกพล่าน ไม่รู้ว่ามีคนจรจัดอาศัยอยู่ยามค่ำคืนด้วยหรือไม่ ทั้งหมดนี้อาจเป็นเพราะความไม่เคยชิน ทำให้เรารู้สึกไม่ค่อยดีนักกับภาพที่เห็น

ในกาฐมณฑปมีรูปปั้นเทพเจ้าประดิษฐานอยู่กลางแท่นซึ่งล้อมไว้ด้วยรั้วไม้ ดูไม่ออกว่าเป็นเทพเจ้าองค์ใด เพราะเก่ามาก และทาชาดจนสีแดงมิดไปหมด

พิมถามศิวะว่านี่คือเทพเจ้าองค์ใด เขาก็อ้ำ ๆ อึ้ง ๆ ตอบไม่ค่อยถูก บอกว่าคงจะเป็นฤาษีมั้ง คงเป็นเพราะเขาเป็นไดเร็คเตอร์เลยไม่ค่อยได้ออกภาคสนามอย่างไกด์มืออาชีพ เลยตอบคำถามได้ไม่ถนัดนัก

แท้จริงแล้วเทพเจ้าองค์นั้นคือ โกรักนาถ (Gorakhnath) เป็นโยคีผู้ก่อตั้งลัทธิไศวนิกาย (นิกายที่นับถือพระศิวะเป็นเทพเจ้าสูงสุด) ในศตวรรษที่ 11 ปัจจุบันเป็นที่สักการะบูชาในฐานะอวตารหนึ่งของพระศิวะ

นอกจากนี้ในกาฐมณฑปยังเป็นที่ตั้งของเทวาลัย อะโชกปินายัก (Ashok Binayak) ซึ่งเป็นสีทอง และมีอีกชื่อหนึ่งคือ มารุกะเนช (Maru Ganesh)
เทวาลัยนี้เล็กจริง ๆ เทียบกับบ้านเราก็เรียกได้ว่าขนาดเท่าศาลพระภูมิ พวกเราไม่รู้ว่านี่เป็นเทวาลัยมีชื่อเสียง เห็นแต่รูปเคารพพระคเณศร์ที่เรารู้จักกันดี มีชาดทาจนแดงไปหมด

ชาวเนปาลเขานิยมมาบูชาพระคเณศร์ที่นี่ โดยเฉพาะคนที่จะออกเดินทาง เขาเชื่อกันว่าจะช่วยให้การเดินทางเป็นไปโดยสวัสดิภาพ

นี่ก็ไม่รู้อีกเหมือนกัน ถ้ารู้ก็ต้องทำพิธีบูชากันยกใหญ่ เพราะพวกเราไม่ค่อยไว้ใจดวงเดินทางของตัวเองนัก

เดินดูกาฐมณฑปอยู่ครู่เดียว พวกเราก็ออกมา เพราะไม่มีอะไรให้ดูมากนัก แถมกลิ่นยังเหลือร้าย หน้าตาพวกเราแต่ละคนเริ่มบอกบุญไม่รับมากขึ้นทุกที

กาฐมาณฑุดะระบาร์แสควร์

ออกมาเดินในจตุรัสบ้าง ในตัวจตุรัสมีโบราณสถานหลายแห่ง ละลานตาไปหมด เราไม่ใช่คนแถวนั้น เห็นแล้วก็แยกไม่ออก ดู ๆ ไปก็คล้าย ๆ กับที่ปาตันอีกเหมือนกัน ที่จริงแล้วชื่อวัดก็มีซ้ำ ๆ กัน ทั้งในกาฐมาณฑุ ปาตัน และบักตะปูร์ที่จะไปกันพรุ่งนี้

สภาพทางเดินสกปรกโสโครกไม่แพ้ในกาฐมณฑป เวลาเดินต้องระวังตัวให้จงดี ไหนจะรถตุ๊ก ๆ ที่วิ่งฉวัดเฉวียนอยู่แถวนั้น ไหนจะวัว ‘เจ้าถิ่น’ ตัวจริง ที่เดินส่ายอาด ๆ ไม่ต้องเกรงใจใคร ถ้าเดินถูกวัวชนก็เรียกร้องค่าเสียหายไม่ได้อีกด้วย

Tip : ถ้าจะต้องถูกชนแน่ๆ ให้เลือกถูกรถชนดีกว่า เพราะยังพอเรียกค่าเสียหายได้ (ถ้าไม่ตาย) แต่ถ้าถูกวัวชนนอกจากจะไม่ได้ค่าเสียหายแล้ว ถ้าทำให้วัวบาดเจ็บ อาจถูกจับติดคุกได้

นอกจากนี้ยังต้องระวัง ‘ขาก..กก....ทุ้ย’ ของคนแถว ๆ นั้น คงเพราะฝุ่นเยอะ คนที่นี่เลยคันคอ ถังขยะก็ไม่มีให้ เลยต้องขากกันแบบเลยตามเลย (เลยไปโดนคนอื่นด้วย)

ที่จริงเขาก็ส่งสัญญาณเตือนก่อน ถ้าได้ยินเสียงขากดัง ๆ ใกล้ ๆ ให้รีบเผ่นจากบริเวณนั้นอย่างด่วนที่สุด เพราะอีกแป๊บเดียว ‘ทุ้ย...’ จะตามมา

พวกเราเดินไปเดินมาก็เฉียดโดนถ่มถุยใส่เสียหลายหนเหมือนกัน พี่แขกแกเล่นขากกันเผาขนแบบนั้น ยังดีที่ตอน ‘ทุ้ย...’ เราหลบทัน ไม่งั้นล่ะก็ มีมลทินติดตัว

อึ๋ย...ล้างไม่ออก ถึงล้างออก ก็ลบประสบการณ์เลวร้ายนี้จากสมองไม่หมดแน่

Tip : ระวัง ระวัง และระวัง คนเนปาลมักขากเสลดในที่สาธารณะ ถ้าโดนจริง ๆ ยังคิดวิธีล้างให้สะอาดไม่ได้

รอดพ้นจากน้ำลาย และเสลดมาได้ ก็ใช่ว่าจะหมดภัยเพียงเท่านี้ ตามพื้นยังมีขี้วัวเต็มไปหมด ทั้งที่แห้งสนิทแล้ว ทั้งที่ยังหมาด ๆ ‘เจ้าถิ่น’ เพิ่งผลิตกันสด ๆ ร้อน ๆ แล้วก็มีคนพลาดจนได้

พิมที่มัวแต่สนใจแต่การถูกถ่ายรูป ถอยหลังแค่นิดเดียวก็เหยียบขี้วัวแห้ง ๆ แค่นิดเดียว (เพื่อน ๆ ก็ตื่นเต้นกันไปได้) ให้เป็นเสนียดแก่รองเท้าสกอร์

เพื่อน ๆ ก็ดีใจหาย ใจหายไปเลย หายไปในอากาศ น้ำใจ หนอน้ำใจ พิมแค่เหยียบขี้วัวนะ ไม่ได้ค้ายาบ้า ไม่ต้องทำท่ารังเกียจขนาดนั้น

นี่อะไร้...ถึงขนาดเดินหนี พี่ป๋อทำหน้ารังเกียจพิมชัดเจนที่สุด เดินหนีไม่ยอมเข้าใกล้ไม่ว่า โบกมือไล่ให้ไปห่างด้วย “ยี้...เหยียบขี้วัว...ไปไกล ๆ”

“ใครซวยกันแน่” พี่ก้อดยังแค้นเคืองเรื่องที่พิมค่อนแคะว่าพี่ก้อดซวย ไหนจะต้องไปต่อแถวทำ VISA เพราะเบ่งไม่สำเร็จ ไหนจะทำแว่นกันแดดสุดหรูตกท่อ

Tip : อยู่ในเนปาลระวังวัวอย่างเดียวไม่พอ ต้องระวังขี้วัวด้วย เหยียบขี้วัวไม่ถึงกับล้างไม่ออก แต่เพื่อน ๆ จะรังเกียจ

นอกจากจะต้องระวังเนื้อ ระวังตัวเรื่องความสะอาดแล้ว พวกเรายังต้องระวังถูกล้วงกระเป๋าด้วย

ถึงคนที่นี่เขาจะดูเป็นมิตร แต่โจรและหัวขโมยมีได้ทุกที่ในโลกนี้ ในเนปาลนี้อาจจะเป็นโจรหรือหัวขโมยอย่างที่เป็นมิตรอยู่สักหน่อย อาจจะปล้น จี้ แต่ไม่ฆ่า

ไกด์เถื่อนก็มีเพียบ คอยดักนักท่องเที่ยวไม่รู้อิโหน่อิเหน่ คนที่พบปัญหานี้คือพิม ที่ชอบซอกแซกไปดูนั่นดูนี่

พิมเห็นรูปสลักไม้ รูปพระศิวะ และพระนางปารวตี บนหน้าต่างวัด ชื่อศิวะ-ปารวตีก็เดินไปดูให้ใกล้ ๆ แขกหนวดเฟิ้มหลายคน ก็เดินมาถามเป็นภาษาอังกฤษว่า “ต้องการไกด์ไหม”

จะเอาไปทำไมล่ะ เอาไปซื้อโอเลี้ยงหรืออย่างไร

พิมเอาตัวรอดกลับมาหาเพื่อนด้วยการยิ้มอย่างเดียว ไม่รู้ไม่ชี้ ทำเป็นไม่เข้าใจภาษาคน เอ๊ย…ภาษาอังกฤษ แล้วรีบเผ่นกลับมาเข้ากลุ่ม เห็นล่ำ ๆ อย่างนั้น ก็มีสิทธิถูกล่อลวงไปได้เหมือนกันนะ

ผู้คนที่นี่เขาอยู่ใกล้ชิดกับโบราณสถาน โบราณวัตถุ กันชนิดเป็นเนื้อเดียว ใต้วัด ใต้เทวาลัย พ่อค้า แม่ค้าวางของขายกันเต็มไปหมด จะทัศนาศิลปวัฒนธรรมเนปาลให้ละเอียด ก็ทำได้ไม่ถนัด เพราะถูกกระบุง บุ้งกี๋ ตะกร้า กระจาด จนถึง กะละมัง บดบังเสียหมด

ของที่ขาย บางอย่างก็มีกลิ่นชวนให้เกิดความหดหู่แก่รูจมูก ปลาร้าไทยที่ว่าเหม็นแสนสาหัส เจอปลาร้าเนปาลเข้าไป แพ้ราบคาบ ปลาหมักของเขาเป็นปลาตัวเล็ก หมักด้วยอะไรบ้างก็สุดจะเดา ดูเละ ๆ เทะ ๆ อย่าว่าแต่จะให้เข้าปากเลย แค่มองยังสงสารลูกตา

พวกเราเดินผ่านแล้วต้องอุดจมูก อุดมากนักก็ไม่ดี ถ้าต้องใช้ปากช่วยหายใจ ก็จะเสี่ยงกับการเปิดอุโมงค์ต้อนรับแมลงวัน แถมปากยังไม่สามารถกรองฝุ่นได้ ประสิทธิภาพฝุ่นในกาฐมาณฑุนี้ก็เหนือกว่ากรุงเทพฯเช่นเดียวกับปลาร้า

อนุสาวรีย์พระเจ้าประทัปมัลละ (King Pratap Malla) ก็มีลูกเล็กเด็กดำ (เด็กที่นี่ไม่ค่อยแดง) ขึ้นไปปีนป่าย นั่งเล่นกันเต็มไปหมด อย่าได้หวังว่าจะถ่ายรูปได้เป็นการส่วนตัว แถมเด็กพวกนี้เขาจะคิดเงินด้วย ที่มานั่งกันก็รอเป็นนายแบบ นางแบบทั้งนั้น

เดินไปเดินมา ก็ทั้งมึน (ด้วยกลิ่น) ทั้งแหยง (ด้วยภาพ) พี่ป๋อถามว่า เราจะไปเมืองที่มันสะอาด ๆ บ้างได้ไหม อย่างลอนดอนอะไรอย่างนี้

แหม…ยังไม่โดนน้ำลายแขก ยังไม่เหยียบขี้วัวเลย แค่นี้ก็ถอดใจเสียแล้ว ส่วนพี่ซิปก็ยืนนับอยู่ว่าอีกกี่วันจะถึงวันกลับ (ถามอีกทีว่า) ใครไปล่อลวงเขามาเที่ยวล่ะนี่

แถวนี้ก็มี เกสท์เฮาส์ ด้วยเหมือนกัน แต่สภาพแย่มาก ดูเก่าโทรมทรุด และสกปรก เกสท์เฮาส์ แห่งหนึ่งตั้งใกล้ ๆ กุมารีบะฮาล ก็พาลตั้งชื่อว่า กุมารีเกสท์เฮาส์ไปด้วย อย่างนี้เข้าข่ายลบหลู่หรือไม่นะ

พวกเราสังเกตเห็นหนุ่ม ๆ เนปาลมักนิยมเดินจูงมือกัน กอดกันก็มี แต่ดูแล้วน่าจะไม่ใช่เกย์ ในขณะที่พวกผู้หญิงกลับไม่จับมือถือแขนกันเองเลย ที่ปาตันก็มี ที่กาฐมาณฑุนี้ก็มาก คนที่นี่เขาไม่เห็นว่าแปลก แต่พวกเรารู้สึกขัดหูขัดตาอยู่ไม่น้อย ใครเป็นเกย์แล้วมีความฝันอย่างเดินจูงมือสวีทกันในที่สาธารณะ เนปาลน่าจะเป็นทางเลือกที่ดี

Tip : สำหรับท่านที่เป็นเกย์ เนปาลมีที่ให้ท่านเกาะเกี่ยว กุมก้อยกันได้ตามท้องถนน โดยไม่มีสายตาตำหนิ

*** โปรดติดตามตอนต่อไป ***

สำหรับการเคลียร์พื้นที่นั้น มาถึงสมัยนี้ได้เปลี่ยนเป็นคำใหม่ที่แสนเก๋ (เสียเหลือเกิน) ว่า ‘ขอคืนพื้นที่’


Create Date : 10 กรกฎาคม 2553
Last Update : 10 กรกฎาคม 2553 20:51:52 น. 0 comments
Counter : 1246 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ชัชชมนต์
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ชัชชมนต์เป็นแค่คนธรรมดา ที่มีความฝันอยากเป็นนักเขียนค่ะ

ทุกวันนี้ความฝันได้เป็นจริงบ้างแล้ว และยังหวังจะพัฒนาฝีมือ ให้ฝันนี้จริงจังกว่าเดิมค่ะ

งานเขียนในบล็อกนี้เขียนด้วยใจ อ่านกันได้ คุยกันได้ แต่อย่าลอกกันนะคะ ทั้งนี้มี พรบ. ลิขสิทธิ์คุ้มครองค่ะ

Friends' blogs
[Add ชัชชมนต์'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.