ระเบียงแห่งรักยินดีต้อนรับค่ะ
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2552
 
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
18 พฤษภาคม 2552
 
All Blogs
 

ราชาศัพท์: ถ้อยคำแห่งศาสนาและการปกครอง

มิติทรรศนะ
ราชาศัพท์: ถ้อยคำแห่งศาสนาและการปกครอง
จริยา สมประสงค์
มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น : เผยแพร่ในวารสารเมืองโบราณ 2549-2550

ชุมชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประกอบด้วยชนมากมายที่ตั้งถิ่นฐานกระจัดกระจายกันอยู่เป็นกลุ่มๆ มีการติดต่อสื่อสารผสมกลมกลืนกันเพื่อผลประโยชน์ในการดำรงชีวิต ทางไมตรี การค้า ความเชื่อทางศาสนา ฯลฯ ชนกลุ่มหนึ่งที่เข้ามามีอิทธิพลในภูมิภาคแถบนี้มาแต่ครั้งอดีตกาลก็คืออินเดีย ซึ่งได้นำเอาพระพุทธศาสนาเข้ามาด้วย ภาษาบาลีและสันสกฤตที่มาพร้อมพุทธศาสนาจึงได้รับการยอมรับว่าเป็นภาษาที่มีความศักดิ์สิทธิ์ มีความขลัง ต่างจากถ้อยคำที่ใช้กันอยู่แต่เดิมในชีวิตประจำวัน ด้วยเหตุนี้ถึงแม้ไทยจะมี “ลายสือไทย” ใช้มาตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ.๑๘๒๖นานนักหนา แต่ก็ได้รับอิทธิพลทางภาษาบาลีและภาษาสันสกฤตจากอินเดียด้วย นอกจากนี้ขอมหรือเขมรซึ่งเป็นชนชาติที่มีอารยธรรมเก่าแก่ ก็ส่งอิทธิพลทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะภาษามาสู่ไทยเช่นกัน นับเป็นบูรณาการและการปะทะทางวัฒนธรรมตามปกติวิสัยของผู้ที่มีการสังคมติดต่อสื่อสารกัน
ต่อมาเมื่อบริวารของผู้นำหรือชนชั้นปกครองต้องการสร้างเอกลักษณ์ “พิเศษ” เพื่อแสดงภาวะผู้นำให้ต่างจากคนธรรมดาทั่วไป กลุ่มคำจำนวนหนึ่งจึงได้รับการคัดเลือกขึ้นมาใช้ ราชาศัพท์ในสมัยนั้นจึงเป็นเพียงคำที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงวินิจฉัยเค้ามูลไว้ในหนังสือสาส์นสมเด็จ เล่มที่ ๒๓ว่า “...เป็นคำที่บริวารชนใช้สำหรับผู้เป็นเจ้าเป็นใหญ่...” ต่อมาจึงมีกฎมนเทียรบาลบัญญัติโดยสถาบันกษัตริย์ กำหนดถ้อยคำและแบบแผนในการเพ็ดทูลขึ้นสำหรับให้ข้าราชบริพารใช้กันได้ถูกต้อง
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ถ้อยคำที่มาจากภาษาเขมร ภาษาบาลี และภาษาสันสกฤต จึงเข้ามามีอิทธิพลต่อพุทธศาสนาและชนชั้นปกครองของไทย แต่แม้กระนั้นก็ยังคงเลือกคัดคำซึ่งถือว่าเป็น “คำสูง” ในภาษาเดิมมาใช้ อาทิ เสวย (กิน) บรรทม (นอน) ในภาษาเขมรนั้น มีคำสามัญใช้อีกชุดหนึ่งคือ ซี (กิน) เฏ็ก (นอน) หากจะมีคำสามัญบ้างก็เพื่อให้บริวารซึ่งใช้ภาษาเขมรเข้าใจ ดังปรากฏใน ปาฐกถาสยามพากย์ ของพระเจ้า
วรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ (๒๔๗๕) ว่า “...คำเขมรเป็นคำสะดวกในการปกครอง เพื่อสื่อสารให้บริวารชาวเขมรเข้าใจได้…” มิใช่เพราะถือว่าภาษาเขมรสูงศักดิ์กว่า...
ส่วนในศิลาจารึกสุโขทัยหลักต่างๆ นั้น นอกจากพบคำบาลี สันสกฤตเป็นจำนวนมากแล้ว ยังพบคำภาษาเขมรซึ่งภาษาไทยปัจจุบันจัดว่าเป็นราชาศัพท์ ใช้สำหรับคนสามัญด้วย ตัวอย่างเช่น “คนในเมืองสุโขทัยนี้ มักทาน มักทรงศีล มักโอยทาน” (จารึกหลักที่ ๑ ด้าน ๒ บรรทัดที่ ๘-๙) หรือ “คนทั้งหลายไหว้คันเต็มแผ่นดิน อุปมาดังเรียงท่อนอ้อยไว้มากดามดาษเต็มที่สถานนั้นแล เขาจึงขึ้นบังคม” (จารึกหลักที่ ๒ ด้าน ๒ บรรทัดที่ ๗๑-๗๓) จึงเป็นที่น่าคิดว่าในเวลานั้นราชาศัพท์คือคำธรรมดาที่คัดขึ้นจากคำที่ใช้กันทั่วไปนั่นเอง
สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ พบว่ามีการใช้ราชาศัพท์สำหรับพระสงฆ์มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยมีคำที่ใช้และแบบแผนวิธีต่างจากพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ อาทิ สมเด็จพระ พระทันตธาตุ นิมนต์ มหาเถร วัตรปฏิบัติ บิณฑบาต ฯลฯ (จารึกหลักที่ ๒)
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ในสมัยสุโขทัยจะมีการใช้ราชาศัพท์ในราชสำนัก ในการตรากฎหมายลักษณะต่างๆ รวมทั้งในหลักศิลาจารึก และจารึกฐานพระเป็นจำนวนมาก แต่ก็กล่าวได้ว่าเป็นแต่เพียงความนิยมใช้ในราชสำนักสืบต่อๆ กันมาเท่านั้น ด้วยไม่พบหลักฐานที่แสดงว่ามีระเบียบการใช้ราชาศัพท์อย่างเป็นทางการถึงขั้นตราไว้เป็นกฎมนเทียรบาล

พัฒนาการของราชาศัพท์ในสมัยต่อมา คือรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้ารามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ผู้ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นในปี พ.ศ.๑๘๙๓ พระองค์ทรงเป็นนักภาษาศาสตร์ที่นิยมภาษาเขมรมาก เห็นได้จากคำเฉลิมพระนาม ทรงเริ่มใช้คำ “สมเด็จ” นำหน้าพระนาม ในช่วงรัชสมัยของพระองค์ คือระหว่าง พ.ศ.๑๘๙๓ - ๑๙๑๒ แม้คำภาษาบาลีสันสกฤตก็ทรงนิยมมากเช่นเดียวกัน สังเกตได้จากพระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา และพระราชบัญญัติต่างๆ
อาจกล่าวได้ว่าพบการใช้ราชาศัพท์อย่างมีแบบแผนวิธีการ ปรากฏหลักฐานซึ่งบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกในกฎหมายลักษณะโจร ตราขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๑๙๐๓ ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ารามาธิบดีที่ ๑ นี้เอง โดยได้พบข้อความระบุชื่อ “พระที่นั่งมังคลาภิเษก“ รวมทั้งคำอื่นๆ อีกมาก แต่แม้กระนั้นก็ยังไม่ปรากฏว่า มีประกาศใช้ราชาศัพท์อย่างเป็นทางการถึงขั้นตราไว้เป็นกฎมนเทียรบาล
จนล่วงเข้าในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (ครองราชย์ พ.ศ.๑๙๙๑ – ๒๐๓๑) พระองค์ได้ทรงตรากฎมนเทียรบาลประกาศใช้ราชาศัพท์เป็นทางการครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๐๐๑
ในกฎมนเทียรบาลดังกล่าว แสดงพระราชกำหนดถ้อยคำที่จะใช้กราบทูล คำที่ใช้เรียกสิ่งของ และวิธีใช้คำรับ รวมทั้งมีการขยายราชาศัพท์ให้ใช้กับพระราชโอรส พระราชธิดา และพระบรมวงศานุวงศ์
ผ่านมาจนถึงในสมัยรัตนโกสินทร์ ราชาศัพท์มีความหมายครอบคลุมกว้างขวางกว่าเดิม โดยทั่วไปเมื่อกล่าวถึงราชาศัพท์นั้น ก็จะเป็นที่เข้าใจตรงกันว่า ไม่นิยมนำภาษาพูดหรือภาษาปากมาใช้ เนื่องจากเป็นคำเฉพาะกลุ่ม อาจไม่รื่นหูหรือหยาบกระด้างไปบ้าง นิยามของราชาศัพท์ในสมัยปัจจุบันจึงมีอยู่ว่า “ราชาศัพท์ หมายถึงถ้อยคำภาษาที่สุภาพ ถูกแบบแผน แสดงถึงวัฒนธรรม การประพฤติปฏิบัติอันได้ขัดเกลาเหมาะสมแล้ว นิยมใช้เป็นภาษาเขียนของทางราชการ”
ส่วนระดับชั้นของบุคคลผู้ใช้ราชาศัพท์นั้น สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ โดยกรมวิชาการกระทรวงศึกษาธิการ(๒๕๓๘ :๕)ได้กำหนดความหมายอย่างกว้างว่า “ให้ใช้กับบุคคลสุภาพ ตลอดจนเทพยดา อมนุษย์ สัตว์จตุบททวิบาท และสรรพสิ่งเรื่องราวทั้งหลายทั้งปวง” ในหลักฐานอื่นๆบอกขอบเขตว่า “ลักษณะคำใช้กับบุคคล ๕ประเภท ได้แก่ พระราชา เจ้านาย พระสงฆ์ ขุนนางข้าราชการ คนสุภาพ”
การจัดลำดับชั้นบุคคลผู้ใช้ราชาศัพท์นั้น หมายรวมถึงพระสงฆ์ผู้สืบทอดพระบวรพุทธศาสนา ทรงศีล ๒๒๗ ข้อด้วย จึงกำหนดใช้เฉพาะสำหรับพระสงฆ์ผู้บวชเรียนตามวิถีพุทธเท่านั้น มิได้ใช้สำหรับนักบวช (ผู้ถือบวช) นักเทศน์ (ผู้ชำนาญในการเทศน์) ทั่วไป
นอกจากนี้ หลักฐานในประวัติศาสตร์และวรรณกรรม ยังชี้บ่งว่า พระสงฆ์มีส่วนร่วมในการปกครองทั้งทางตรงและทางอ้อม เป็นครู เป็นที่ปรึกษาสำคัญของขุนนางท้าวพระยามหากษัตริย์ ในยามศึกสงครามพระสงฆ์จะเป็นผู้สร้างขวัญและกำลังใจ ผ่านบทสวดพุทธคุณ น้ำมนต์ เครื่องรางของขลัง ฯลฯ ในยามสงบพระสงฆ์จะมีความสำคัญในด้านการให้การศึกษาอบรมบ่มนิสัย ตลอดจนพิธีกรรมตามวาระประเพณีวัฒนธรรม สังคมไทยจึงยกย่องพระสงฆ์ ในระดับชั้นที่สมควรแก่การใช้ราชาศัพท์ลำดับรองลงมาจากพระบรมวงศานุวงศ์
พระสงฆ์จะใช้ราชาศัพท์แทนตนเองและผู้ที่ท่านสนทนาด้วย มีศัพท์บัญญัติใช้เฉพาะพระเจ้าแผ่นดินซึ่งเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภกและสมเด็จพระสังฆราช แสดงให้เห็นถึงความพึ่งพากันระหว่างศาสนากับการปกครอง มีบ้างที่พระสงฆ์ใช้ภาษาตามปกติเมื่อสนทนากับผู้ที่มีความสนิทสนม ส่วนฆราวาสจะเลือกใช้คำกับพระสงฆ์ให้เหมาะสมกับระดับสมณศักดิ์ เพื่อแสดงความเคารพนอบน้อมถ่อมตน
การสถาปนาสมณศักดิ์นี้มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการปกครองคณะสงฆ์ การปฏิบัติพระศาสนกิจ และผลทางด้านการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับการเมือง ตลอดจนเพื่อเป็นการให้คติแก่ผู้อื่น ในปัจจุบัน(๒๕๑๗)สมณศักดิ์ของพระสงฆ์ได้มาโดยมีการทูลเกล้าฯ ถวายชื่อผู้ที่มีความเหมาะสม แต่การสถาปนาอยู่ในพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ทรงพิจารณา
แม้วิธีการใช้ราชาศัพท์ จะมีวิวัฒนาการมายาวนานกว่าสิบศตวรรษ โดยส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับศาสนาสถาบันพระมหากษัตริย์ และการเมืองการปกครอง ที่เชื่อมโยงผูกพันกันอยู่ในสังคมไทยมาเนิ่นนานนับตั้งแต่ก่อนสมัยกรุงสุโขทัย ทั้งนี้ถ้อยคำอาจจะแปรเปลี่ยนไปบ้างในแต่ละยุคสมัยตามธรรมชาติของภาษา หากแต่สิ่งหนึ่งซึ่งไม่เคยเปลี่ยนแปลงก็คือ จุดมุ่งหมายของการใช้ราชาศัพท์เพื่อแสดงความจงรักภักดีและเทิดทูนยกย่องต่อความเป็นชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นเครื่องยึดโยงความเป็นปึกแผ่นของบ้านเมือง เพื่อประโยชน์สุขของอาณาประชาราษฎร์
ตราบที่สังคมไทยยังมีพระพุทธศาสนาและสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นที่ยึดเหนี่ยว ราชาศัพท์ก็ยังคงเป็นถ้อยคำแห่งศาสนาและการปกครอง ซึ่งทำหน้าที่เป็นกลไกทางวัฒนธรรมอันมีศักยภาพ คงอยู่เป็นบูรณาการคู่สังคมไทยสืบไป




 

Create Date : 18 พฤษภาคม 2552
6 comments
Last Update : 18 พฤษภาคม 2552 14:40:19 น.
Counter : 1141 Pageviews.

 

เนื้อหาเยอะจังค่ะ

 

โดย: นัน IP: 118.172.211.57 28 มิถุนายน 2552 12:07:07 น.  

 

ทำไมไม่มีคนมาเม้นเลยค่ะ

 

โดย: นัน IP: 118.172.211.57 28 มิถุนายน 2552 12:08:18 น.  

 

ไม่มีคนเข้ามาเลยหรออิอิ

 

โดย: นัน IP: 118.172.211.57 28 มิถุนายน 2552 12:09:31 น.  

 

เนื้อหาดีมากค่ะ ขอบคุนค่ะ 555

 

โดย: ขอบคุน IP: 125.26.118.23 8 พฤศจิกายน 2552 12:57:49 น.  

 

ขอบคุณคุณนัน และคุณ "ขอบคุณ" มากค่ะที่เข้ามาเม้นตื ที่ไม่ค่อยมีใครเข้ามาอาจเพราะตัวเองไม่ค่อยเข้าไปทักใครๆและเรื่องมันยาวด้วย จะได้แบ่งเป้นหัวข้อย่อยๆค่ะ เผื่อจะมีใครสนใจอ่านบ้าง ขอขอบคุณสำหรับคำแนะนำที่ให้มา เป็นประโยช์ดีค่ะ...แล้วแวะมาทิ้งเม้นต์ไว้อีกนะคะ สร้างกำลังใจให้ดีจังค่ะ

 

โดย: ระเบียงแห่งรัก IP: 203.144.144.164 28 มกราคม 2553 11:04:09 น.  

 

เป็น blog เขมร และแปลภาษาเขมรได้ดีจริงๆครับ

 

โดย: ต้าโก่ว 12 กรกฎาคม 2554 10:01:43 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ระเบียงแห่งรัก
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Photobucket
Friends' blogs
[Add ระเบียงแห่งรัก's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.