Group Blog
 
 
ธันวาคม 2550
 
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
4 ธันวาคม 2550
 
All Blogs
 
ข้อสอบกฎหมายพาณิชย์ 4

1. ก้อย กล้วย แก้ว ตกลงเข้าห้างหุ้นส่วนกัน โดยนำทุนมาลงทะเบียนคนละ 1 ล้านบาท โดยตกลงให้แก้วเป็นผู้จัดการ ต่อมา ได้ให้แก้วไปขอกู้เงินจากธนาคารเพื่อนำมาใช้ในกิจการ โดยมีกบเป็นผู้จัดการธนาคาร โดยในครั้งนั้นได้กู้เงินจำนวน 2 ล้าน (ธนาคารได้อนุมัติการกู้ยืมแล้ว) กบเห็นว่ากิจการของห้างหุ้นส่วนมีกำไรดี จึงขอบอกกับแก้วว่าขอเข้าเป็นหุ้นส่วนด้วย โดยแก้วบอกว่าขอมาปรึกษา ก้อยกับกล้วยก่อน เมื่อนำเรื่องที่กบขอเข้าเป็นหุ้นส่วนมาปรึกษาก้อยกับกล้วยแล้ว ปรากฏว่า แก้วกับก้อยเห็นด้วย แต่กล้วยไม่เห็นด้วย ดังนั่น กบจะเข้าเป็นหุ้นส่วนได้หรือไม่ และต่อมาปรากฏว่ากล้วยลาออกจากหุ้นส่วน กล้วยต้องรับผิดในหนี้ของหุ้นส่วนหรือไม่ โดยปรากฏว่าขณะที่กล้วยลาออก ห้างหุ้นส่วนเป็นหนี้ธนาคารอยู่ 1 ล้านบาท

หลักกฎหมายปพพ.มาตรา1040 , 1051กบเข้าเป็นหุ้นส่วนไม่ได้เพราะกล้วยไม่เห็นด้วยหลักการชักนำบุคคลอื่นเข้ามาเป็นหุ้นส่วน ต้องได้รับความยินยอมจากผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคน(คือก้อยกล้วยแก้ว)เว้นแต่จะตกลงไว้เป็นอย่างอื่น กล้วยต้องรับผิดชอบหนี้ของห้างฯซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่ตนจะออกจากห้าฯไปเนื่องจากข้อเท็จจริงที่ให้มาเป็นห้างหุ้นส่วนไม่จดทะเบียน แต่ถ้าเป็นห้างที่จดฯกล้วยก็ต้องรับผิดต่อเพียงสองปีนับแต่ออกจากห้างไป(มาตรา1068)

2. จิ๋มก้บจ๋อยตกลงโอนหุ้นชนิดระบุชื่อ ของบริษัทร่ำรวยจำกัด ให้กัน โดยได้ทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อจิ๋ม(ผู้โอน) กับ จ๋อย (ผู้รับโอน) และมีแจ๋วกรรมการผู้จัดการบริษัทร่ำรวยจำกัด เป็นพยานลงลายมือชื่อรับรอง โดยบริษัทร่ำรวยไม่ได้จดแจ้งการโอนหุ้นลงในทะเบียนผู้ถือหุ้น ดังนั้น จ๋อยจะนำการโอนหุ้นนี้มาใช้ยันกับบริษัทร่ำรวยจำกัดได้หรือไม่

หลักกฎหมายปพพ.มาตรา1129วรรค 2 และวรรค 3 เป็นการโอนหุ้นที่ระบุชื่อลงในใบหุ้น ต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้โอนและผู้ผู้รับโอนพยานอย่างน้อยหนึ่งคนรับรองลายมือชื่อนั้นๆด้วย วรรค 3 ต้องจดแจ้งการโอนหุ้นดังกล่าวในทะเบียนของบริษัทด้วยจึงจะใช้ยันกับบุคคลภายนอกได้ ตามปัญหาจ๋อยนำใบหุ้นไปยันกับบริษัทร่ำรวยจำกัดได้ถึงแม้ไม่ได้จดแจ้งทะเบียนหุ้น ของบริทก็ตาม ในการโอนหุ้นระหว่างจิ๋มกับจ๋อยได้มีกรรมการบริษัทคือแจ๋วเป็นพยานย่อมจะรับทราบและนำมาจดทะเบียนหุ้นของบริษัทได้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของกรรมการบริษัทโดยตรงอยู่แล้ว ซึ่งเรื่องนี้ศาลฎีกาเคยวินิจฉัยไว้แล้วในฎีกาที่ 3913/2531

3. เด่นเป็นกรรมการบริษัทฟ้าใสเคมีภัณฑ์จำกัด โดยบริษัทประกอบกิจการเกี่ยวกับการจำหน่ายอุปกรณ์เคมีภัณฑ์ทั้งหลาย ที่จังหวัดเชียงใหม่ จากนั้นไม่นานดาวเพื่อนสาวของเด่นได้มาชวนให้เด่นเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนห้างหุ้นส่วนดาวสวยเคมีภัณฑ์จำกัด ที่จังหวัดเชียงใหม่ เด่นก็ได้ตกลงเข้าเป็นหุ้นส่วนโดยนำเงินมาลงทุน 1 ล้านบาท โดยจำกัดความรับผิดไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยไม่ได้รับความยินยอมจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นแต่อย่างใดการกระทำของเด่นเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

หลักกฎหมายปพพ.มาตรา1168วรรค 3 ห้ามกรรมการบริษัทประกอบกิจการการค้าขายใดๆอันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันกับการค้าขายของบริษัทนั้น ไม่ว่าเพื่อประโยชน์ตนหรือประโยชน์ผู้อื่นหรือเข้าไปเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดรับความผิดในห้างค้าขายอื่นซึ่งประกอบกิจการมีสภาพเป็นอย่างเดียวกันและแข่งขันกับกิจการของบริษัท โดยมิได้รับความยินยอมของที่ประชุมใหญ่ของผู้ถือหุ้น ประเด็นปัญหาที่ตองวินิจฉัยว่าเด่นกระทำชอบด้วยกฎหมายหรือไม่อย่างไร กรณีประเด็นเข้าไปเป็นหุ้นส่วนจำกัดรับความผิด เด่นทำได้กฎหมายไม่ห้ามห้ามเฉพาะเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดรับความผิด ประเด็นต่อมาว่าเด่นเข้าหุ้นกับดาวว่าเป็นการแข่งขันกับบริษัทที่ตนเองเป็นกรรมการหรือไม่ ต้องดูองค์ประกอบเช่นเวลา สถานที่ ว่าใกล้เคียงกันหรือไม่ ซึ่งข้อเท็จจริงที่ให้มาเป็นเพียงสถานที่คือจังหวัดเชียงใหม่เท่านั้น จึงฟังได้ว่าเด่นกระทำชอบด้วยกฎหมายด้วยเหตูผลดังกล่าว

ข้อสอบกฎหมายพาณิชย์ 4

1. ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล โจทย์มีอยู่ประมาณว่าห้างหุ้นส่วนเจริญกิจร่วมค้า มีผู้เป็นหุ้นส่วน 3 คน ประกอบด้วยเจริญ กิจ และร่วม โดยมีเจริญเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและได้ไปกู้เงินธนาคารเพื่อนำมาใช้ในกิจการ 2 ล้านบาท ผู้จักการธนาคารคือนายมงคลเห็นว่ากิจการเจริญร่งเรื่องดีจึงขอเข้าเป็นหุ้นส่วนด้วย นายเจริญกับนายกิจยินยอม แต่นายร่วมไม่เห็นด้วยจึงไม่ยินยอม ถามว่านายมงคลจะเข้ามาเป็นหุ้นส่วนได้หรือไม่ และถ้าหากนายร่วมขอลาออกจากการเป็นหุ้นส่วนนายร่วมจะต้องร่วมรับผิดในหนี้ที่ค้างธนาคารอยู่ 1 ล้านบาทหรือไม่

2. การโอนหุ้น นายสองต้องการหุ้นของตนให้นายสาม โดยทำการโอนเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้โอนและผู้โอน พร้อมทั้งมีกรรมการบริษัทฯ ลงลายมือชื่อเป็นพยาน แต่บริษัทฯ ไม่ได้ลงทะเบียนผู้ถือหุ้น ถามว่านายสองและนายสามจะยันบริษัทฯได้หรือไม่

3. นายกรณ์เป็นกรรมการบริษัทฯทำการค้าเกี่ยวกับเคมีภัณฑ์ที่จังหวัดเชียงใหม่ นางสาวมยุเรศมาชักชวนนายกรณ์ให้ลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนมยุเรศเคมีภัณฑ์ นายกรณ์จึงลงหุ้น 1 ล้านบาทและจำกัดความรับผิดไว้ 1 ล้านบาทโดยมิได้ขอความยินยอมจากบริษัทฯ ถามว่านายกรณ์กระทำการชอบหรือไม่ชอบ

ข้อสอบกฎหมายพาณิชย์ 4

นายมี นายสี นายสา เข้าหุ้นส่วนกันทำการค้าหนังวัว โดยมิได้ตกลงให้ใครเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ นายมีได้เช่าที่ดินทำเป็นที่เก็บหนังสัตว์โรงใหญ่โดยมิได้หารือนายสีและนายสา นายสาซื้อหนังงูและหนังจระเข้จำนวนมากโดยพลการ เพราะเห็นว่าราคาดี ต่อมานายสีได้ลาออกจากหุ้นส่วนและนำนายสายเข้ามาเป็นหุ้นส่วนแทน โดยผู้เป็นหุ้นส่วนอื่นมิได้ขัดข้อง ในปลายปีได้เกิดไฟไหม้โรงเก็บหนังสัตว์เสียหายหมด และเป็นหนี้ค่าเช่าที่ดินอยู่ 100,000 บาท ส่วนนายสายังไม่ได้ชำระหนี้ค่าหนังงูและหนังจระเข้ เจ้าหนี้จึงมาฟ้องเรียกชำระหนี้จากบุคคลทั้งหมด รวมทั้งนายสีที่ลาออกไปแล้วด้วย ให้ท่านวินิจฉัยถึงความรับผิดของบุคคลเหล่านั้น

ตามปัญหา นายมี นายสี และนายสา เข้าหุ้นกันทำการค้าหนังสัตว์ โดยมิได้ตกลงให้ใครเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จึงถือว่าผู้เป็นหุ้นส่วนทั้ง 3 คน ต่างมีสิทธิจัดการห้างได้ และเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการหมดทุกคน ตาม ม.1033 การที่นายมีได้เช่าที่ดินทำเป็นโรงเก็บหนังสัตว์นั้น สามารถทำได้แม้จะไม่ได้หารือนายสีและนายสา ส่วนนายสาที่ไปซื้อหนังงูและหนังจระเข้เพราะเห็นว่าราคาถูกดี ก็สามารถทำได้เช่นกันแม้จะทำโดยพลการ ประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาคือ กิจการที่ทั้งนายมีและนายสาได้ทำลงไปนั้นเป็นธรรมดาการค้าของห้างหุ้นส่วนหรือไม่ ถ้าเป็นกิจการที่เป็นธรรมดาการค้าของห้าง ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนต้องผูกพันในกิจการนั้น และต้องรับผิดร่วมกันโดยไม่จำกัดจำนวนในการชำระหนี้ที่ก่อขึ้น แต่ถ้าไม่ใช่กิจการที่เป็นธรรมดาการค้าของห้าง ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนก็ไม่จำต้องผูกพันในกิจการนั้น ผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดทำคนนั้นต้องรับผิดเป็นส่วนตัว ตาม ม.1050
กรณีนายมีได้เช่าที่ดินทำเป็นโรงเก็บหนังสัตว์นั้น ถือว่าสอดคล้องและเป็นกิจการที่เป็นธรรมดาการค้าของห้างที่มีวัตถุประสงค์ทำการค้าหนังสัตว์ เมื่อห้างเป็นหนี้ค่าเช่าที่ดินอยู่ 100,000 บาท นายมีและนายสีซึ่งยังเป็นหุ้นส่วนอยู่ต้องร่วมกันรับผิดในหนี้รายนี้ ส่วนนายสาแม้จะลาออกจากหุ้นส่วนแล้วก็ตาม ก็ยังต้องร่วมรับผิดด้วย เพราะหนี้รายนี้ได้ก่อขึ้นก่อนที่ตนจะลาออกจากหุ้นส่วน ตาม ม.1051 สำหรับนายสายนั้น แม้จะได้เข้ามาเป็นหุ้นส่วนคนใหม่โดยหุ้นส่วนคนอื่นยินยอม ตาม ม.1040 และหนี้รายนี้เกิดขึ้นก่อนที่ตนจะเข้ามาเป็นหุ้นส่วนคนใหม่ก็ตาม นายสายก็ต้องร่วมรับผิดในหนี้รายนี้ด้วยเช่นกัน ตาม ม.1052
กรณีที่นายสาได้ซื้อหนังงูและหนังจระเข้โดยพลการเพราะเห็นว่าราคาถูกดี และยังไม่ได้ชำระหนี้ค่าหนังงูและหนังจระเข้นั้น แม้ว่านายสาจะมีเจตนาดี แต่เมื่อการค้าหนังงูและหนังจระเข้ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของห้างหุ้นส่วนที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อจะค้าหนังวัว จึงไม่ผูกพันต่อผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน นายสาจึงต้องรับผิดเป็นส่วนตัวในหนี้ส่วนนี้ ตาม ม.1050
วินิจฉัยว่า ทั้งนายมี นายสี นายสา และนายสาย ต้องร่วมรับผิดในค่าเช่าที่ดินจำนวน



ข้อสอบกฎหมายพาณิชย์ 4

1. นายเกิดลงทุน 50,000 บาท นายไก่ลงทุน 50,000 บาท นายกว้างลงทุน 40,000 บาท เข้าหุ้นส่วนทำอู่ซ่อมรถยนต์ สิ้นปีแรกห้างฯ เป็นหนี้ค่าอะไหล่บริษัทสมพรอะไหล่ยนต์ เป็นเงิน 50,000 บาท นายไก่ขอลาออกจากหุ้นส่วน ดังนี้นายไก่ต้องรับผิดในหนี้ของห้างฯ หรือไม่ นายเกิดและนายกว้างก็ยังดำเนินการอู่ซ่อมรถยนต์ต่อ พร้อมทั้งไปจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล นายเกิดได้ซื้ออะไหล่จากบริษัทสมพรฯ และค้างชำระหนี้อีก 20,000 บาท บริษัทสมพรฯ ได้ฟ้อง นายเกิด นายกว้าง ให้รับผิดชำระหนี้ จงอธิบายว่าบุคคลทั้งสองต้องรับผิดชำระหนี้ของห้าง ฯ อย่างไร หรือไม่

เฉลย
ตาม ปพพ. มาตรา 1051 บัญญัติไว้ว่า ตามปัญหานายไก่ต้องรับผิดในหนี้ของห้างฯ ที่เกิดขึ้นก่อนที่ตนจะออกจากห้างหุ้นส่วนและต้องรับผิดไม่จำกัดจำนวนจนกว่าจะหมดอายุความของหนี้ ตามหลักกฎหมายที่ว่า “ผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งออกจากหุ้นส่วนไปแล้วยังคงต้องรับผิดในหนี้ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนได้ออกจากหุ้นส่วนไป” (มาตรา 1051)
แต่เมื่อห้างหุ้นส่วนได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลและค้างชำระหนี้ 20,000 บาท เจ้าหนี้ของห้างฯ จะฟ้องให้นายเกิดและนายกว้างร่วมกันรับผิดชำระหนี้ได้ เพราะการซื้ออะไหล่เป็นกิจการที่เป็นธรรมดาของการค้าของห้างฯ แต่เนื่องจากห้างฯเป็นนิติบุคคลมีตัวตนต่างหากจากห้างหุ้นส่วน เจ้าหนี้ของห้าง ฯ จะฟ้องผู้เป็นหุ้นส่วนให้ชำระหนี้ได้ตามหลีกกฎหมายที่ว่า “เมื่อใดห้างหุ้นส่วนซึ่งจดทะเบียนผิดนัดชำระหนี้เมื่อนั้นเจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนชอบที่จะเรียกชำระหนี้เอาแต่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งก็ได้” ดังนั้นบริษัท สมพรฯ จึงเรียกให้เกิดแลกว้างชำระหนี้

2. นายดำมีหุ้นซึ่งออกให้แก่ผู้ถือจำนวน 200 หุ้น และหุ้นระบุชื่อจำนวน 100 หุ้น นายดำได้โอนขายหุ้นของนายดำจำนวน 100 หุ้น ให้แก่นายแดง เป็นหุ้นผู้ถือ 70 หุ้น และหุ้นระบุชื่อ 30 หุ้น นายดำส่งมอบใบหุ้นทั้ง 2 ชนิด ให้แก่นายแดงไป
การโอนหุ้นของนายดำที่โอนให้นายแดงถูกต้องหรือไม่ เพียงใด ถ้าไม่ถูกต้อง นายดำจะต้องทำอย่างไร

เฉลย
ปพพ.มาตรา 1129 , ปพพ.มาตรา 1135
ตามปัญหา นายดำมีหุ้นออกให้แก่ผู้ถือจำนวน 200 หุ้น หุ้นระบุชื่อจำนวน 100 หุ้น นายดำโอนหุ้นผู้ถือ 70 หุ้น ให้แก่นายแดง ตามหลักกฎหมายที่กำหนดในเรื่องการโอนหุ้นผู้ถือตามมาตรา 1135 นั้นสามารถโอนกันได้เพียงการส่งมอบเท่านั้น ดังนี้ผู้ถือหุ้น 70 หุ้น ของนายดำที่โอนให้แก่นายแดงนั้น สมบูรณ์ สำหรับกรณีหุ้นระบุชื่อจำนวนอีก 30 หุ้น นั้นการโอนดังกล่าวไม่มีผล เพราะการโอนหุ้นระบุชื่อ ตามหลักกฎหมายมาตรา 1129 กำหนดให้ทำเป็นหนังสือมีพยานอย่างน้อยหนึ่งคนลงลายมือชื่อ และลงลายมือชื่อผู้โอนและผู้รับโอน หากไม่ทำการโอนตามที่กฎหมายกำหนด การโอนตกเป็นโมฆะ ดังนั้นการโอนหุ้น 30 หุ้น ของนายดำให้กับนายแดงนั้นตกเป็นโมฆะ นายดำจะต้องทำหนังสือตามที่กฎหมายกำหนด พร้อมทั้งระบุหมายเลขหุ้นไว้ท้ายหนังสือด้วย
ดังนั้น การโอนหุ้น 70 หุ้น นั้น มีผลสมบูรณ์ ส่วนการโอนหุ้นระบุชื่อ 30 หุ้น นั้น ตกเป็นโมฆะ

3. นายใหญ่มีความประสงค์จะทำการค้า จึงได้รวบรวมสมาชิกได้ 7 คน มีนายเล็ก นายกลาง นายจิ๋ว ซึ่งเป็นน้องชายของนายใหญ่ และนายเสือ นายสิงห์ และนางแมว ซึ่งเป็นเพื่อนของนายใหญ่ จึงได้จัดตั้งบริษัทใหญ่ยิ่ง จำกัด ขึ้น มีทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท และมีผู้ถือหุ้นอีกประมาณ 20 คน บริษัทได้ดำเนินการมา 1 ปี ได้กำไรดีมาก นายใหญ่พยายามบีบผู้ถือหุ้นจากทุกคนขายหุ้นให้นายใหญ่บ้าง ให้นายเล็ก นายกลาง และนายจิ๋วบ้าง ยังเหลือผู้ถือหุ้นคือ นายเสือ นายสิงห์ และนางแมว เท่านั้นที่ยังเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ ต่อมาในปีที่สอง บริษัททำกำไรมากกว่าปีแรก 3 เท่า นายใหญ่จึงพยายามที่จะบีบให้นายเสือ นายสิงห์ และนางแมวขายหุ้นของบริษัทให้นายใหญ่ นายสิงห์ทนแรงบีบไม่ไหว จึงถอนตัวออกไป โดยโอนขายหุ้นให้กับนายใหญ่ ส่วยนายเสือกับนางแมวไม่ยอมขายหุ้นให้นายใหญ่ จึงคิดที่จะเลิกบริษัทใหญ่ยิ่ง จำกัด แต่ทั้งสองคนไม่แน่ใจว่าจะทำได้หรือไม่
นายเสือกับนางแมว จึงมาปรึกษาท่านว่า หากจะเลิกบริษัทจะสามารถฟ้องศาลขอให้เลิกบริษัทได้หรือไม่ ขอให้ท่านให้คำแนะนำกับคนทั้งสอง

เฉลย
ปพพ.มาตรา 1237(4) นอกจากนี้ศาลอาจสั่งให้เลิกบริษัทด้วยเหตุต่อไปนี้ คือ
(4) ถ้าจำนวนผู้ถือหุ้นลดน้อยลงจนเหลือไม่ถึงเจ็ดคน
จากปัญหา บริษัทใหญ่ยิ่ง ได้จัดขึ้นโดยมีนายใหญ่ เล็ก กลาง จิ๋ว เสือ สิงห์ และแมว เป็นผู้เริ่มก่อการและเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท บริษัทดำเนินการมามีผู้ถือหุ้นอื่นอีกมาก แต่หลังจากบริษัทได้กำไร ถูกบีบให้ขายหุ้นให้พี่น้อง จึงเหลือผู้ถือหุ้น จำนวน 7 คนเท่านั้น ต่อมาในปีที่สอง นายสิงห์ขายหุ้นให้กับนายใหญ่อีก จึงทำให้ผู้ถือหุ้นของบริษัทเหลืออยู่เพียง 6 คน ตามหลักกฎหมายมาตรา 1237 (4) ได้กำหนดไว้ว่าหากผู้ถือหุ้นลดน้อยลงเหลือไม่ถึง 7 คน ศาลอาจสั่งให้เลิกบริษัทได้ บริษัทใหญ่ยิ่งเหลือผู้ถือหุ้นอยู่ คือ ใหญ่ เล็ก กลาง จิ๋ว เสือ และแมว จำนวน 6 คน จึงเป็นเหตุหนึ่งที่จะฟ้องศาลให้สั่งยกเลิกบริษัทได้
นายเสือ และนางแมว จึงสามารถฟ้องศาลขอให้เลิกบริษัทได้
4. นิด หน่อย และน้อยเข้าหุ้นส่วนประกอบกิจการค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูป และได้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ต่อมาน้อยต้องการออกจากห้างหุ้นส่วน น้อยต้องปฏิบัติอย่างไร และเมื่อน้อยออกจากห้างหุ้นส่วนไปแล้ว น้อยยังต้องรับผิดใช้หนี้สินของห้างหุ้นส่วนอย่างไร หรือไม่

เฉลย
ตามปัญหาห้างหุ้นส่วนนี้เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน และไม่ได้กำหนดเวลาเลิกห้างฯ ไว้การที่นายน้อยต้องการออกจากห้างหุ้นส่วน ก็เท่ากับต้องการที่จะเลิกห้างฯด้วย ซึ่งนายน้อยต้องบอกกล่าวการเลิกห้าง โดยบอกกล่าวล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหกเดือน ก่อนสิ้นรอบปีทางบัญชี (1056)
ตามหลักกฎหมายที่ว่า “ถ้าห้างหุ้นส่วนนั้นตั้งขึ้นโดยไม่มีกำหนดกาลอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นยุติ ท่านว่าจะเลิกได้ต่อเมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งบอกเลิก เมื่อสิ้นรอบปีทางบัญชีเงินของห้างหุ้นส่วนนั้น และผู้เป็นหุ้นส่วนนั้นต้องบอกกล่าว ความจำนงเลิกล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหกเดือน”
สำหรับความรับผิดในหนี้ของห้างฯ นั้น น้อยต้องรับผิดในหนี้ของห้างฯ ที่เกิดขึ้น ขณะที่ตนเป็นหุ้นส่วนอยู่ และรับผิดไม่เกินสองปี นับแต่วันที่ออกจากห้างฯ ( 1058 )
ตามหลักกฎหมายที่ว่า “ความรับผิดของผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน อันเกี่ยวแก่หนี้ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนออกจากห้างหุ้นส่วนนั้น ย่อมมีจำกัดเพียง 2 ปี นับแต่เมื่อออกจากห้างหุ้นส่วน

5. นายสิงห์โอนหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือให้แก่นายเม่น จำนวน 150 หุ้น โดยทำเป็นหนังสือมีลายมือชื่อ นายสิงห์ นายเม่น และพยาน 1 คน ระบุหมายเลขหุ้นครบถ้วนทุกประการ เมื่อนายเม่นถือหุ้น 150 หุ้นนั้นอยู่ประมาณ 3 เดือน นายเม่นประสงค์ที่จะเปลี่ยนหุ้นที่ถืออยู่นั้นเป็นหุ้นระบุชื่อ เนื่องจากกิจการบริษัทกำไรดี จึงอยากที่จะมีชื่อในใบหุ้น นายเม่นพบใครก็ถามว่าเปลี่ยนได้หรือไม่ บางคนก็บอกว่าเปลี่ยนได้ บางคนบอกไม่ได้ และบางคนยังบอกว่าการโอนหุ้นที่นายสิงห์โอนให้แก่นายเม่นไม่ถูกต้อง เพราะหุ้นออกให้แก่ผู้ถือ ไม่ต้องทำเป็นหนังสือแต่อย่างใด จะทำเฉพาะหุ้นระบุชื่อเท่านั้น นายเม่นจึงสับสน ได้มาปรึกษาท่านว่า
1. การโอนหุ้นที่นายเม่นได้มานั้นถูกต้องหรือไม่
2. การขอเปลี่ยนหุ้นออกให้แก่ผู้ถือเป็นหุ้นระบุชื่อทำได้หรือไม่
ให้ท่านให้คำแนะนำแก่นายเม่น

เฉลย
ตามปพพ.มาตรา 1135 บัญญัติไว้ว่า “หุ้นชนิดที่มีใบหุ้นออกให้แก่ผู้ถือนั้น ย่อมโอนกันได้เพียงการส่งมอบใบหุ้นแก่กัน
จากคำถามในประเด็นแรกที่ว่าการที่นายสิงห์โอนหุ้นให้แก่นายเม่นนั้นถูกต้องหรือไม่ จากการที่กฎหมายกำหนดในเรื่องการโอนหุ้นชนิดที่เป็นหุ้นผู้ถือนั้น เนื่องจากเป็นหุ้นที่ได้ชำระเงินครบแล้ว จึงสามารถที่จะโอนกันได้โดยการส่งมอบใบหุ้นให้ก็ถือว่าเป็นการถูกต้องแล้ว ตามหลักกฎหมายมาตรา 1135 ดังนั้นการที่นายสิงห์โอนหุ้นชนิดผู้ถือให้นายเม่นนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ขัดต่อกฎหมายแต่อย่างใด เพราะความถูกต้องอยู่ที่การส่งมอบให้นั่นเอง ดังนั้นการโอนหุ้นที่นายเม่นได้มาจึงเป็นการถูกต้องแล้ว
ตามปพพ.มาตรา 1136 บัญญัติไว้ว่า “ผู้ทรงใบหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือ ย่อมมีสิทธิจะมาขอเปลี่ยนเอาใบหุ้นชนิดระบุชื่อได้ เมื่อเวนคืนใบหุ้นชนิดฉบับออกให้แก่ผู้ถือนั้นให้ขีดฆ่าเสีย”
จากคำถามในประเด็นที่สอง ที่นายเม่นจะขอเปลี่ยนหุ้นชนิดผู้ถือเป็นหุ้นชนิดระบุชื่อนั้น สามารถที่จะทำได้ เพราะกฎหมายอนุญาตให้ผู้ทรงใบหุ้นชนิดถือนั้นใช้สิทธิในการขอเปลี่ยนประเภทใบหุ้นได้ เมื่อนายเม่นเป็นผู้ทรงใบหุ้น ดังกล่าวจึงเป็นผู้มีสิทธิที่จะขอเปลี่ยนใบหุ้นเป็นใบหุ้นระบุชื่อได้ ตามหลักกฎหมายมาตรา 1136 ที่กล่าวมาข้างต้น
ดังนั้นนายเม่นสามารถที่จะขอเปลี่ยนใบหุ้นที่ได้รับการโอนมาโดยถูกต้องจากนายสิงห์ได้ตามที่กฎหมายให้สิทธิไว้

6. นายสินได้รวบรวมเพื่อนจำนวน 8 คน ดำเนินการจัดตั้งบริษัทสินสหาย จำกัด ขึ้นมา หลังจากที่ได้จดทะเบียนบริษัทเป็นที่เรียบร้อย ได้ให้นายสินเป็นกรรมการผู้จัดการ ยังไม่ทันที่นายสินจะเริ่มลงมือบริหารงานของบริษัทสินสหายจำกัดแต่อย่างใด นายสินถูกบริษัทแสนสี่จำกัด ซื้อตัวไปเป็นผู้จัดการด้วยเงินเดือนที่สูงมาก นายสินจึงมิได้ดำเนินกิจการของบริษัทสินสหายแต่อย่างใดเลย ทำให้เพื่อนในทีมผู้ก่อตั้ง ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นกลุ้มใจมาก พบนายสินเมื่อใดก็เร่งรัดให้นายสินดำเนินการ นายสินก็รับปากแล้วก็ไม่ทำอะไร เวลาผ่านไปหนึ่งปีครึ่ง เพื่อนทั้ง 8 คน ซึ่งมีนายแก้วเป็นแกนนำ จึงปรึกษากันว่า จะทำอย่างไรกับบริษัทสินสหายจำกัด ซึ่งนายแก้วและเพื่อน ๆได้ชำระค่าหุ้นกันไปบ้างแล้ว นายแก้วก็เสนอข้อคิดกับเพื่อนผู้ถือหุ้นว่า ถ้าเป็นเช่นนั้นเลิกบริษัทไปเลยดีกว่า ซึ่งเพื่อนก็เห็นด้วย แต่นายกิ่งค้านว่าบริษัทตั้งมาแล้ว จะเลิกได้อย่างไร กฎหมายจะยอมให้เลิกหรือ
นายแก้วจึงมาปรึกษาท่านว่า จะสามารถเลิกบริษัทได้หรือไม่ และถ้าเลิกจะต้องทำอย่างไร

เฉลย
ตามปพพ.มาตรา 1237 (2) บัญญัติไว้ว่า “นอกจากนี้ศาลอาจสั่งให้เลิกบริษัทจำกัดด้วยเหตุต่อไปนี้ (1) ………..
(2) ถ้าบริษัทไม่เริ่มทำการภายในหนึ่งปีนับแต่วันจดทะเบียน หรือหยุดทำการถึงหนึ่งปีเต็ม…….
จากคำถามนายสินและเพื่อนได้ร่วมกันจัดตั้งบริษัทขึ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยตั้งให้นายสินเป็นกรรมการผู้จัดการ แต่ด้วยเหตุที่บริษัทแสนสี่ได้มาซื้อตัวนายสินไปนั้น ทำให้นายสินไม่คิดที่จะมาเริ่มดำเนินกิจการของบริษัทสินสหายแต่อย่างใด ไม่ว่านายแก้วและเพื่อน ๆ จะทวงถามอย่างไรก็ตาม นายสินก็ไม่เข้ามาดำเนินกิจการของบริษัทสินสหาย จนเวลาล่วงเลยมาเป็นเวลา ปีกว่า นายแก้วจึงเสนอแนวทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับบริษัทสินสหาย โดยขอให้เลิกบริษัท แต่มีผู้คัดค้านว่า จดทะเบียนบริษัทแล้วจะเลิกไม่ได้
ในหลักการเรื่องการยกเลิกบริษัทนั้นกฎหมายกำหนดว่าถ้ากำหนดกันไว้เข้าเกณฑ์ตามมาตรา 1236 ก็ให้เป็นไปตามนั้น แต่หากมีเหตุที่บริษัทไม่สามารถดำเนินการได้ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ตามมาตรา 1236 แล้วก็สามารที่จะปฏิบัติตามมาตรา 1237 ได้โดยสามารถที่จะร้องขอให้ศาลสั่งให้เลิกบริษัทได้ตามเหตุที่กำหนดไว้
ซึ่งตามปัญหาข้างต้นนั้นเป็นเรื่องที่บริษัทได้จดทะเบียนเป็นที่เรียบร้อยแต่บริษัทไม่เริ่มทำการ กฎหมายกำหนดให้เป็นเหตุที่สามารถที่จะร้องขอให้เลิกบริษัทได้ การที่นายแก้วเสนอให้มีการเลิกบริษัทนั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ โดยการร้องขอต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้เลิกบริษัท เพราะบริษัทสินสหายไม่มีการเริ่มทำการภายในเวลาหนึ่งปี นับตั้งแต่เริ่มจดทะเบียนมา
ดังนั้นตามที่นายแก้วและเพื่อนได้เสนอให้เลิกบริษัทนั้น สามารถเลิกบริษัทได้ด้วยเหตุที่ไม่เริ่มดำเนินกิจการภายในหนึ่งปีนับแต่เมื่อได้จดทะเบียนบริษัท โดยการร้องขอต่อศาลให้ศาลมีคำสั่งให้เลิกบริษัทสินสหายได้ตามที่กล่าวมาข้างต้น

7. นายเจริญ และนายสุข เป็นหุ้นส่วนกัน ในห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการค้าไม้ นายเจริญขายไม้ของหุ้นส่วนให้นายศิริ เป็นเงินเชื่อ 100,000 บาท ต่อมานายเจริญเดินทางไปดูงานต่างประเทศเป็นเวลานาน นายสุขจึงทำหน้าที่หุ้นส่วนผู้จัดการห้างฯแทน และได้เรียกให้นายศิริ ชำระค่าไม้ แต่นายศิริไม่ยอมชำระ
นายสุขจะฟ้องศาลบังคับให้นายศิริชำระหนี้ดังกล่าวได้หรือไม่

เฉลย
ตามปพพ.มาตรา 1049 ว่า ผู้เป็นหุ้นส่วนจะถือเอาสิทธิใด ๆ แก่บุคคลภายนอกในกิจการค้าขาย ซึ่งไม่ปรากฏชื่อของตนหาได้ไม่
ตามปัญหา ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน ซึ่งมีนายเจริญและนายสุขเป็นหุ้นส่วนกันนั้น นายเจริญเป็นผู้ขายไม้ของห้างฯแต่ผู้เดียวให้แก่นายศิริ นายสุขหุ้นส่วนอีกคนหาได้เกี่ยวข้องเป็นผู้ขายด้วยไม่ ฉะนั้นแม้นายเจริญไปต่างประเทศ และมีนายสุขเป็นผู้จัดการห้างฯในขณะที่นายเจริญไปต่างประเทศก็ตาม นายสุขจะถือเอาสิทธิใด ๆ แก่นายศิริซึ่งเป็นบุคคลภายนอกในกิจการค้าขายของห้างฯซึ่งไม่ปรากฏชื่อของตนไม่ได้
ฉะนั้นศาลย่อมพิพากษาให้ยกฟ้องคดีที่นายสุขเป็นโจทก์ฟ้องนายศิริ แต่นายสุขก็มีทางแก้ไขโดยให้นายเจริญลงชื่อในคำฟ้องพร้อมมอบอำนาจให้นายสุขฟ้องแทน
( ฉะนั้น นายสุขไม่มีอำนาจฟ้องนายศิริให้ชำระหนี้ให้แก่ตนได้ แต่ห้างหุ้นส่วนมีอำนาจที่จะเรียกชำระหนี้จากนายศิริได้ โดยนายสุขให้นายเจริญลงชื่อในคำฟ้อง หรือมอบอำนาจให้นายสุขฟ้องแทนได้ )

8. นายเล็กทำธุรกิจในด้านการส่งเสื้อผ้าสำเร็จรูป ออกไปขายในต่างประเทศจนประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีจึงได้คิดขยับขยายกิจการ พร้อมทั้งจะให้ลูก ๆ ของตนเข้ามามีส่วนร่วมและช่วยบริหารกิจการด้วย นายเล็กจึงได้ดำริที่จะจัดตั้งบริษัทขึ้นเพื่อดำเนินกิจการ โดยจะให้ลูก ๆ ของตนเข้าร่วมเป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการ และเพื่อที่จะรักษาบริษัทนี้ไว้ให้เป็นกิจการเฉพาะของสมาชิกในครอบครัว นายเล็กจึงมีความประสงค์จะตั้งเงื่อนไขในการถือหุ้นว่า หุ้นของบริษัทนี้ผู้ที่ถือหุ้นจะนำไปโอนให้แก่บุคคลอื่นไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากผู้ถือหุ้นคนอื่น
เช่นนี้นายเล็กอยากทราบว่า ตามกฎหมายแล้วจะสามารถทำได้หรือไม่ ถ้าทำได้จะต้องทำอย่างไร

เฉลย
ตามปกติ หุ้นในบริษัทนั้นต้องถือว่าสามารถโอนกันได้เสมอ แต่กฎหมายยินยอมให้บริษัทมีข้อจำกัดในการโอนได้บ้างกรณี ทั้งนี้เพราะบริษัทอาจมีความจำเป็นหรือเหตุผลบางประการที่จะต้องสงวนสิทธิในการโอนหุ้นของผู้ถือหุ้นไว้ เช่น ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นของบริษัทเป็นบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ก็อาจมีข้อจำกัดการโอนเพื่อป้องกันมิให้การโอนหุ้นให้แก่บุคคลนอกกลุ่ม อย่างในกรณีของนายเล็กที่ต้องการสงวนหุ้นไว้เฉพาะสมาชิกในครอบครัว ดังนี้เป็นต้น บริษัทที่นายเล็กจะก่อตั้งขึ้นนี้มีผู้ถือหุ้นเป็นจำนวนน้อย คงจะตั้งในรูปของบริษัทเอกชนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
สำหรับวิธีการนั้นก็คือ จะต้องกำหนดข้อจำกัดการโอนนั้นไว้ในข้อบังคับของบริษัทว่า การโอนหุ้นให้แก่บุคคลใด จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ถือหุ้นที่เหลืออยู่เสียก่อน (ปพพ.มาตรา1129)
ส่วนในกรณีของบริษัทมหาชนจะตั้งข้อกำหนดการโอนหุ้นไม่ได้ เว้นแต่เพื่อปฏิบัติตามกฎหมายเฉพาะ ( พรบ.มหาชน มาตรา 70)

9. บริษัทสีสวยจำกัด ประกอบธุรกิจด้านการทำป้ายโฆษณา มีนายสีและนายสวยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และเป็นกรรมการของบริษัท ซึ่งปรากฏว่า นับตั้งแต่เปิดกิจการมา บริษัทต้องประสบภาวะขาดทุนมาโดยตลอด เพราะนายสีกับนายสวยยังไม่มีความชำนาญด้านนี้พอ อีกทั้งยังไม่ระมัดระวังในการทำงาน ทำให้ป้ายที่ทำขึ้นสำหรับลูกค้าบกพร่อง ไม่ได้อย่างที่ลูกค้าต้องการ จึงต้องทำขึ้นใหม่เพื่อเปลี่ยนให้ลูกค้าอยู่เสมอ ซึ่งเป็นการเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ทำให้บริษัทไม่มีกำไร ขณะนี้บริษัทสีสวยจำกัด ขาดทุนไปแล้วกว่า 200,000 บาท แต่นายสีและนายสวย ก็ดูเหมือนว่าจะไม่เดือดร้อนอะไร เช่นนี้อยากทราบว่า
ก) นายสด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายหนึ่งของบริษัท แต่มิได้เป็นกรรมการ จะฟ้องร้องนายสีและนายสวย ให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่บริษัทได้หรือไม่
ข) ธนาคารสุโขทัย ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เงิน...**้ของบริษัท สีสวยจำกัด อยู่ 100,000 บาท จะมีสิทธิฟ้องร้องนายสีและนายสวยด้วยได้หรือไม่อย่างไร

เฉลย
ในการประกอบกิจการของบริษัท กรรมการต้องใช้ความเอื้อเฟื้อ สอดส่องอย่างบุคคลค้าขาย ผู้ประกอบด้วยความระมัดระวัง (มาตรา 1168) โดยต้องเอาใจใส่ในการจัดการงานของบริษัทยิ่งกว่าวิญญูชนธรรมดา ถ้ากรรมการทำความเสียหายให้แก่บริษัท บริษัทจะฟ้องเรียกเอาค่าสินไหมจากกรรมการได้ ถ้าบริษัทไม่ฟ้อง ผู้ถือหุ้นคนใดคนหนึ่งก็สามารถฟ้องได้ หรือแม้แต่เจ้าหนี้ของบริษัท ก็มีสิทธิฟ้องบังคับให้กรรมการที่ทำให้เกิดความเสียหาย ขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ โดยเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ได้เพียงเท่าจำนวนหนี้ที่ตนมีอยู่ต่อบริษัทเท่านั้น (มาตรา 1169)
ตามปัญหา นายสีและนายสวยไม่ได้ใช้ความระมัดระวัง ทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย บริษัทจึงมีสิทธิฟ้องนายสีและนายสวยได้ แต่เมื่อบริษัทไม่ฟ้อง ดังนั้น
ก) นายสดซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทก็สามารถฟ้องได้ (มาตรา 1169)
ข) ธนาคารสุโขทัยก็สามารถฟ้องนายสีและนายสวยได้เช่นกันในฐานะเจ้าหนี้ แต่จะฟ้องได้เฉพาะเท่าจำนวนที่บริษัทเป็นหนี้อยู่คือ 100,000 บาท เท่านั้น

10. นายเอก นายโท และนายตรี เข้าหุ้นกันตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญเจริญดี โดยดำเนินกิจการโรงฆ่า...** มีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บเงินจากผู้นำสุกรเข้าไปฆ่าในโรงฆ่า...** ทั้งนี้ห้างหุ้นส่วนดังกล่าวได้ตั้งให้นายเอกเป็นผู้จัดการ นายเอกได้ไปซื้อเชื่อสุกรของนายจัตวามา 1 ตัว แล้วนำสุกรมาฆ่าเสียเอง ทั้งยังไม่ชำระหนี้ค่าสุกรให้นายจัตวา นายจัตวาได้ทวงถามให้นายเอกชำระหนี้ นายเอกก็เพิกเฉย ดังนี้นายจัตวาจะฟ้องให้นายเอก นายโท นายตรี รับผิดในหนี้ดังกล่าวร่วมกันได้หรือไม่

เฉลย
ตามปพพ.มาตรา 1050 บัญญัติไว้ว่าการใด ๆ อันหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่ง ได้จัดทำไปในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วน นั้น ท่านว่าผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน ย่อมมีความผูกพันในการนั้น ๆ ด้วย และต้องร่วมกันรับผิดโดยไม่จำกัดจำนวน ในการชำระหนี้อันได้ก่อให้เกิดขึ้น เพราะจัดการไปเช่นนั้น
ตามปัญหาการที่นายเอก นายโท นายตรี เข้าหุ้นส่วนกันตั้งโรงฆ่าสุกร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บเงินจากผู้นำเข้าสุกรไปฆ่านั้น การที่นายเอกหุ้นส่วนผู้จัดการไปซื้อเชื่อสุกรของนายจัตวา มาฆ่าเสียเองนั้นเป็นการกระทำการค้าขายนอกวัตถุประสงค์ของห้าง และตามปัญหาไม่ปรากฏว่านายเอกได้ทำไปในฐานะตัวแทนของนายโท และนายตรี ผู้เป็นหุ้นส่วนอื่น และไม่ปรากฏว่านายโทและนายตรีเข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียในกิจการนั้น
ดังนั้นนายโทและนายตรีจึงไม่ต้องรับผิดต่อนายจัตวา ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก นายเอกจึงต้องรับผิดเป็นส่วนตัวในการชำระหนี้ให้นายจัตวา

11. บริษัทสวัสดิ์จำกัด มีทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท มีนายสวัสดิ์กับพวกเป็นผู้ถือหุ้นราว 80 % ของทุนจดทะเบียน ทางบริษัทมีความประสงค์จะเพิ่มทุนอีก 1 ล้านบาท แต่ทั้งนายสวัสดิ์กับพวกมีความคิดว่า ต้องการที่จะเพิ่มอัตราส่วนการถือหุ้นของกลุ่มตนให้มากยิ่งขึ้นในบริษัท และต้องการลดอำนาจของกลุ่มผู้ถือหุ้นข้างน้อยลง จึงตกลงกันว่าจะเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่กลุ่มของตน ในอัตราส่วน 1:1 คือผู้ถือหุ้นเดิม 1 หุ้น ซื้อหุ้นใหม่ได้ 1 หุ้น ส่วนกลุ่มผู้ถือหุ้นข้างน้อยนั้น จะเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนในอัตราส่วน 1:2 คือถือหุ้นเดิม 2หุ้นซื้อใหม่ได้ 1 หุ้น เช่นนี้ นายสวัสดิ์ต้องการทราบว่าจะทำได้หรือไม่อย่างไร เมื่อนายสวัสดิ์มาปรึกษาท่าน ท่านจะให้คำตอบแก่นายสวัสดิ์อย่างไร

เฉลย
ในการเพิ่มทุนของบริษัทนั้น กฎหมายกำหนดว่าบรรดาหุ้นออกใหม่ต้องเสนอขายแก่ผู้ถือหุ้นเดิม ตามอัตราส่วนจำนวนหุ้นที่เขาถืออยู่(มาตรา 1222) ทั้งนี้เพื่อให้อัตราส่วนการถือหุ้นในบริษัทภายหลังการเพิ่มนั้นเป็นไปเช่นเดียวกันก่อนการเพิ่มทุน เช่นบริษัท ก มีหุ้นจดทะเบียน 1000 หุ้น นาย ข ถือหุ้นอยู่ 100 หุ้น ซึ่งเท่ากับ 10 % ของทุนจดทะเบียน ถ้าบริษัทเพิ่มทุนออกหุ้นใหม่ 500 หุ้น นาย ข ย่อมมีสิทธิได้ 50 หุ้น เป็นต้น
ดังนั้นการที่นายสวัสดิ์จะเสนอขายหุ้นแก่กลุ่มผู้ถือหุ้นข้างน้อย ในอัตรา 2 :1 ซึ่งจะทำให้ผู้ถือหุ้นกลุ่มข้างน้อยมีสิทธิซื้อหุ้นเพียงครึ่งหนึ่งของจำนวนหุ้นเพิ่มทุนที่มีสิทธิซื้อ จึงไม่สามารถกระทำได้เพราะขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมาย

12. บริษัทสีสันประกอบธุรกิจด้านการทำป้ายโฆษณา มีนายสี และ นายสันเป็นผู้ถือหุ้น และเป็นกรรมการของบริษัทในการประกอบกิจการปีแรก บริษัทก็ประสบกับการขาดทุน ในปีที่สองบริษัทไม่ขาดทุนแต่ก็ไม่กำไร ส่วนในปีที่สามนั้น บริษัทประสบกับการขาดทุนอีก นายสีเห็นว่าตนไม่เคยได้รับประโยชน์จากการตั้งบริษัทนี้เลย ก็ประสงค์จะเลิกบริษัทเสีย แต่นายสันไม่ยอม เช่นนี้นายสี อยากทราบว่าตนจะฟ้องศาลขอให้เลิกบริษัทเสียได้หรือไม่

เฉลย
ตามปพพ. มาตรา 1237 กำหนดไว้ในเรื่องการเลิกบริษัทโดยคำสั่งศาล จะกระทำได้ในกรณีดังต่อไปนี้
1. มีการกระทำผิดในรายงานการประชุมตั้งบริษัท หรือทำผิดในการประชุมตั้งบริษัท
2. บริษัทไม่เริ่มทำการภายใน 1 ปี นับแต่วันจดทะเบียน หรือหยุดทำการถึงหนึ่งปีเต็ม
3. การค้าของบริษัททำไปก็มีแต่ขาดทุนอย่างเดียวและไม่มีหวังจะกลับฟื้นตัวได้
4. จำนวนผู้ถือหุ้นลดน้อยลงเหลือไม่ถึงเจ็ดคน
การที่ศาลจะสั่งเลิกบริษัทเพราะเหตุที่บริษัทขาดทุนนั้น จะต้องปรากฏว่าบริษัทขาดทุนอย่างเดียว คือขาดทุนหลาย ๆ ปีติดต่อกัน และจะต้องไม่มีหวังที่จะกลับฟื้นคืนกำไรได้ด้วย จึงเป็นเหตุที่ศาลจะสั่งให้เลิกบริษัทได้ เพราะเพียงแต่บริษัทระสบการขาดทุนยังไม่เป็นเหตุที่ศาลจะสั่งให้เลิกบริษัท เพราะในการค้าย่อมมีกำไรและขาดทุนคละกันไป
กรณีของบริษัทสีสันนั้นนายสีจะขอให้ศาลสั่งเลิกบริษัทไม่ได้ เพราะการขาดทุนของบริษัทยังไม่มีลักษณะเป็นการติดต่อกันอันจะถือได้ว่าบริษัทไม่มีหวังจะกลับมาฟื้นตัวได้อีก อีกทั้งในปีที่สองบริษัทก็ไม่ขาดทุน ดังนั้นบริษัทอาจจะสามารถทำกำไรในอนาคตได้ จึงไม่ถือว่าเป็นกรณีขาดทุนแต่อย่างเดียวและไม่มีหวังจะกลับฟื้นตัวได้
ดังนั้น นายสีจึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องศาลขอให้ศาลสั่งเลิกบริษัทได้

13. นายเก่งและนายกล้าได้ตกลงกันด้วยวาจาว่า จะประกอบธุรกิจรับขนส่งคนโดยสารร่วมกัน โดยนายเก่งเป็นผู้ออกเงินซื้อรถยนต์โดยสาร ส่วนนายกล้าเป็นผู้ขับรถโดยสารคันดังกล่าว และเมื่อมีรายได้หรือผลกำไร ก็จะแบ่งกันคนละครึ่ง วันหนึ่งขณะที่นายกล้าได้ขับรถยนต์คันดังกล่าวเพื่อรับจ้างขนส่งคนโดยสารตามปกติ นายกล้าได้ขับรถยนต์โดยประมาทชนรถยนต์นางเดือนเสียหาย ดังนี้นางเดือนจะฟ้องนายเก่งและนายกล้า ให้ร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าทดแทนหรือไม่

เฉลย
ตามปพพ.มาตรา 1012 อันว่าสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกัน ด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น
มาตรา 1025 อันว่าห้างหุ้นส่วนสามัญนั้น คือห้างหุ้นส่วนประเภทซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนต้องรับผิดร่วมกันเพื่อหนี้ทั้งปวงของหุ้นส่วนโดยไม่จำกัด
มาตรา 1050 การใด การใดอันผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งได้จัดทำไปในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วนนั้น ท่านว่าผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนย่อมมีความผูกพันในการนั้น ๆ ด้วย และจะต้องรับผิดร่วมกันโดยไม่จำกัดจำนวนในการชำระหนี้ อันได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะจัดการไปเช่นนั้น
ตามปัญหา นายเก่งและนายกล้าได้ตกลงที่จะประกอบธุรกิจรับส่งคนโดยสารร่วมกัน โดยตกลงกันด้วยวาจา ซึ่งตามปพพ.มาตรา 1012 ไม่ได้กำหนดรูปแบบของการทำสัญญาไว้ว่าจะต้องทำเป็นหนังสือหรือแบบใด ดังนั้นการที่ตกลงกันด้วยวาจาก็สามารถที่จะกระทำได้ ดังนั้นการที่นายเก่งและนายกล้าตกลงกันนั้นจึงเป็นสัญญาเข้าห้างหุ้นส่วนที่ถูกต้อง
การเข้าห้างหุ้นส่วนกันนั้นเป็นการเข้าห้างหุ้นส่วนสามัญ ซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนต้องร่วมรับผิดในหนี้ร่วมกัน โดยไม่จำกัดจำนวน ในกิจการที่เป็นกิจการค้าของห้าง ตามปพพ.มาตรา 1025 การที่นายกล้าขับรถยนต์เพื่อรับจ้างขนส่งคนโดยสาร โดยประมาทชนรถยนต์ของนางเดือนนั้นถือเป็นการกระทำที่เป็นธรรมดาการค้าของห้าง ตามปพพ.มาตรา 1050 การกระทำดังกล่าวจึงผูกพันหุ้นส่วนทุกคนและห้างหุ้นส่วน
ดังนั้นนางเดือนจึงสามารถที่จะฟ้องนายเก่งและนายกล้าให้ร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้

14. นายมีนได้ร่วมกับเพื่อนเพื่อจัดตั้งบริษัทมีนาจำกัด ในการออกหุ้นนั้นได้กำหนดมูลค่าหุ้นไว้หุ้นละ 100 บาท และได้กำหนดไว้ใสหนังสือบริคณห์สนธิว่าอาจจะขายหุ้นในราคาที่มากกว่ามูลค่าที่กำหนดไว้นั้น บริษัทจึงได้กำหนดราคาหุ้นไว้เป็นมูลค่าหุ้นละ 140 บาท เมื่อประชุมจัดตั้งบริษัทเสร็จ ปรากฏว่านายมีน นายเมษ และนายกันย์ ได้เป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัททั้งสามคน กรรมการทั้งสามคนจึงได้เรียกเก็บค่าหุ้นครั้งแรกเป็นจำนวนร้อยละ 30 เช่นนี้ อยากทราบว่าการดำเนินการเรียกเก็บค่าหุ้นดังกล่าวถูกต้องหรือไม่ เพราะเหตุใด

เฉลย
ตามปพพ. มาตรา 1105 วรรค 3 อนึ่งเงินส่งใช้ค่าหุ้นคราวแรกนั้น ต้องมิได้น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้าแห่งมูลค่าของหุ้นที่ตั้งไว้
จากปัญหา การที่บริษัทมีนาได้กำหนดมูลค่าหุ้นไว้นั้นในราคา 100 บาท นั่นคือมูลค่าหุ้นที่กำหนดไว้ สำหรับการที่กำหนดในหนังสือบริคณห์สนธิว่าให้จำหน่ายในราคาที่มากกว่ามูลค่าได้นั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่ราคาที่เป็นมูลค่าในหุ้นก็คือ 100 บาท ดังนั้นเมื่อกรรมการ คือนายมีน นายเมษ และนายกันย์ เรียกเก็บค่าหุ้นคราวแรกนั้นกฎหมายกำหนดให้เรียกเก็บอย่างน้อยร้อยละ 25 จากมูลค่าหุ้นที่ตั้งไว้ นั่นหมายถึงการเรียกเก็บครั้งแรกต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 การที่กรรมการเรียกเก็บร้อยละ 30 จึงสามารถที่จะกระทำได้ เพราะเงินที่เรียกเก็บครั้งแรกนั้นเพื่อนำไปใช้หมุนเวียนในธุรกิจ จึงอยู่ในวิสัยที่กรรมการจะใช้ดุลพินิจในการเรียกเก็บ โดยกฎหมายกำหนดว่าไม่ให้ต่ำกว่าร้อยละ 25 เท่านั้น
ดังนั้นการที่กรรมการเรียกชำระค่าหุ้นครั้งแรกร้อยละ 30 นั้นเป็นการกระทำที่ถูกต้อง

15. นายแดง นายดำ และนายเหลือง เข้าหุ้นกันทำการค้า โดยมีนายแดงเป็นผู้จัดการ นายเหลืองและนายดำสงสัยว่านายแดงทุจริตเบียดบังเงินของห้างฯ จึงต้องการให้นายฟ้านักบัญชีและเป็นผู้ที่นายเหลืองและนายดำไว้วางใจเข้ามาเป็นหุ้นส่วนด้วย เพื่อที่นายฟ้าจะได้เข้ามาควบคุมทางด้านการเงินของห้างฯ นายเหลืองและนายดำจึงบอกนายแดงว่า จะให้นายฟ้ามาเข้าหุ้นส่วนด้วย แต่นายแดงไม่ยินยอม เมื่อเป็นเช่นนี้จึงถามว่า
ก. ถ้านายแดงไม่ยินยอมให้นายฟ้าเข้ามาเป็นหุ้นส่วน นายฟ้าจะเข้ามาเป็นหุ้นส่วนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ข. นายเหลืองและนายดำจะให้นายแดงออกจากตำแหน่งผู้จัดการไปโดยไม่ต้องเลิกห้างได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

เฉลย
ข้อ ก ตามหลักกฎหมายในเรื่องการชักนำบุคคลอื่นเข้ามาเป็นหุ้นส่วนด้วยได้บัญญัติไว้ในมาตรา 1040 ที่ว่า “ห้ามมิให้ชักนำบุคคลอื่นเข้ามาเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนโดยมิได้รับความยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนหมดด้วยกันทุกคน เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น”
ตามปัญหาการที่นายดำและนายเหลืองจะให้นายฟ้าเข้ามาเป็นหุ้นส่วน แต่เมื่อไม่ได้รับความยินยอมจากนายแดงผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งนั้น เท่ากับว่าหุ้นส่วนทุกคนไม่ยินยอมให้นายฟ้าเข้ามาเป็นหุ้นส่วนด้วย
ดังนั้นนายฟ้าจึงไม่สามารถเข้ามาเป็นหุ้นส่วนได้แต่อย่างใด
ข้อ ข ตามหลักกฎหมายในเรื่องการให้ผู้จัดการออกจากตำแหน่งนั้น ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 1036 ว่า “อันหุ้นส่วนผู้จัดการจะเอาออกจากตำแหน่งได้ก็ต่อเมื่อ ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายอื่นยินยอมพร้อมกัน เว้นแต่จะตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น”
ตามปัญหา ถ้านายดำและนายเหลืองต้องการเอานายแดงออกจากตำแหน่งผู้จัดการก็สามารถที่จะกระทำได้โดยที่นายดำและนายเหลือง ยินยอมพร้อมใจกันให้นายแดงออกจากตำแหน่งผู้จัดการ
ดังนั้น นายดำและนายเหลือง สามารถเอานายแดงออกจากตำแหน่งผู้จัดการของห้างฯนั้นได้ หากทั้งสองคนนั้นมีความเห็นเป็นเช่นเดียวกัน

16. บริษัททิพย์รุ่งเรืองจำกัด มีทุนจดทะเบียนสี่ล้านบาท แบ่งออกเป็น 40,000 หุ้น ๆ ละ 100 บาท ต่อมาบริษัทมีทุนเหลือ เพราะได้ยกเลิกโครงการบางโครงการไป กรรมการของบริษัทเห็นว่าสมควรที่จะต้องลดทุนของบริษัทลงให้เหลือเพียงหนึ่งล้านห้าแสนบาท จึงมาปรึกษาท่าน
ก. การลดทุนของบริษัทใช้มติเสียงข้างมากจากที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นได้หรือไม่ อย่างไร
ข. จะลดทุนลงให้เหลือเพียงหนึ่งล้านห้าแสนบาทได้หรือไม่ กฎหมายมีข้อจำกัดในเรื่องการลดทุนไว้อย่างไร

เฉลย
ข้อ ก จากปัญหา มีหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องอยู่ดังนี้
มาตรา 1224 ว่า บริษัทจำกัดจะลดทุนของบริษัทลงด้วยลดมูลค่าแต่ละหุ้น ๆ ให้ต่ำลง หรือลดจำนวนหุ้นให้น้อยลง โดยมติพิเศษของที่ประชุมผู้ถือหุ้นก็ได้
การลดทุนจะทำได้ก็ต่อเมื่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติให้ลดทุนได้ แต่การลดทุนนั้นต้องเป็นมติพิเศษ จากที่ประชุมผู้ถือหุ้นเท่านั้น จะเป็นมติธรรมดาที่ถือเสียงข้างมากเท่านั้นไม่ได้
ดังนั้นการลดทุนนั้นกรรมการบริษัทจะต้องจัดให้มีการประชุม 2 ครั้ง คือประชุมครั้งแรกที่ประชุมเห็นชอบกับมติลดทุนไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 และต่อมาให้มีการประชุมครั้งที่สองโดยที่ประชุมเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 และนำมติพิเศษไปจดทะเบียนด้วยเหตุนี้จึงจะใช้มติเสียงข้างมากเท่านั้นไม่ได้
ข้อ ข จากปัญหา มีหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องอยู่ดังนี้
มาตรา 1225 อันทุนของบริษัทนั้นจะลดลงไปให้ถึงต่ำกว่าจำนวนหนึ่งในสี่ของทุนทั้งหมดหาได้ไม่
การที่บริษัททิพย์รุ่งเรืองจำกัดจะลดทุนลงเหลือ 1,500,000 บาทนั้น สามารถที่จะกระทำได้ เพราะกฎหมายมีข้อจำกัดในเรื่องการลดทุนว่าจะลดทุนลงไปให้ต่ำกว่าหนึ่งในสี่ของทุนทั้งหมดไม่ได้ คือเมื่อบริษัทลดทุนแล้ว ทุนที่เหลือจะมีต่ำกว่าหนึ่งในสี่ของทุนเดิมไม่ได้ ซึ่งจากการที่บริษัททิพย์รุ่งเรืองมีทุนจดทะเบียน 4,000,000 บาทนั้น จึงสามารถลดทุนลงได้เหลือต่ำสุด คือไม่ต่ำกว่า 1,000,000 บาท
ดังนั้น การที่บริษัททิพย์รุ่งเรืองต้องการที่จะลดลงเหลือ 1,500,000 บาทนั้นจึงสามารถที่จะกระทำได้ เพราะยังเหลือทุนมากกว่าหนึ่งในสี่ของทุนจดทะเบียน

17. บริษัทน้ำใสจำกัด ต้องการที่ควบบริษัทเข้ากับบริษัทน้ำดื่มไทยจำกัด เพื่อให้การดำเนินการควบบริษัทเป็นไปด้วยความถูกต้อง บริษัทน้ำใสจึงได้แจ้งความการควบบริษัทไปยังเจ้าหนี้ต่าง ๆ ของบริษัท เมื่อบริษัทเครื่องกรองไทยจำกัด ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของบริษัทน้ำใสจำกัด ได้รับแจ้ง ก็เกรงว่าตนจะไม่ได้รับชำระหนี้ เมื่อบริษัททั้งสองควบเข้าด้วยกัน จึงได้ใช้สิทธิของเจ้าหนี้คัดค้านการควบบริษัทดังกล่าว ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง เมื่อเป็นเช่นนี้การควบบริษัททั้งสองจะดำเนินการต่อไปได้หรือไม่ เพียงใด

เฉลย
ตามปพพ.มาตรา 1240 ได้กำหนดวิธีการการควบบริษัทว่า “บริษัทต้องโฆษณาในหนังสือพิมพ์ท้องที่เจ็ดครั้งเป็นอย่างน้อย และส่งคำบอกกล่าวไปยังบรรดาผู้ซึ่งบริษัทรู้ว่าเป็นเจ้าหนี้ของบริษัทด้วยจดหมายลงทะเบียนไปรษณีย์ บอกให้ทราบรายการที่ประสงค์จะควบบริษัทเข้ากัน และขอให้เจ้าหนี้ผู้มีข้อคัดค้านอย่างหนึ่งอย่างใด ในการควบบริษัทเข้ากันนั้นส่งคำคัดค้านไปภายในหกเดือนนับแต่วันที่บอกกล่าว ถ้าไม่มีใครคัดค้านภายในกำหนดเช่นว่านั้น ก็ให้ถือว่าไม่มีคำคัดค้าน
ถ้าหากมีเจ้าหนี้คัดค้าน บริษัทจะจัดการควบเข้ากันมิได้ จนกว่าจะได้ใช้หนี้หรือได้ให้ประกันเพื่อหนี้รายนั้น”
จากปัญหาการที่บริษัทน้ำใสจะควบเข้ากับบริษัทน้ำดื่มไทย เป็นบริษัทน้ำดื่มไทยจำกัด นั้นได้แจ้งความการควบบริษัทให้บริษัทเครื่องกรองไทยจำกัดซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของบริษัทน้ำใสทราบและบริษัทเครื่องกรองไทยได้ทำการคัดค้านการควบบริษัทดังกล่าวภายใน 7 วัน ซึ่งมีผลทำให้การคัดค้านเป็นผล เพราะกฎหมายกำหนดให้ทำการคัดค้านได้ภายในเวลาหกเดือน นับแต่วันที่ได้รับคำบอกกล่าวตามมาตรา 1240 วรรคแรก
เมื่อการคัดค้านเป็นผลจึงทำให้บริษัททั้งสองยังไม่สามารถที่จะทำการควบกันได้ จนกว่าบริษัทน้ำใสจะชำระหนี้ให้กับบริษัทเครื่องกรองไทยเป็นที่เรียบร้อย หรือไม่ก็ต้องจัดให้มีการประกันเพื่อหนี้นั้นก่อนจึงจะสามารถทำการควบบริษัทดังกล่าวได้ มาตรา 1240 วรรค 3
ดังนั้นบริษัททั้งสองยังควบกันไม่ได้จนกว่าบริษัทน้ำใสจะชำระหนี้หรืจัดให้มีการประกันเพื่อหนี้ดังกล่าวก่อนจึงจะสามารถควบบริษัททั้งสองเข้ากันได้

18. นายแดง นายเหลือง และนายเขียว ได้รวมหุ้นกันจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามสหายยานยนต์ ประกอบกิจการซ่อมรถยนต์ โดยแต่ละคนลงหุ้นเท่ากัน คนละ 200,000 บาท ประกอบกิจการได้ 2 ปี กิจการไม่ดีมีแต่ขาดทุนมาโดยตลอด จนท้ายสุดเงินลงทุนเหลือเพียง 500,000 บาท และห้างฯ ยังเป็นหนี้ค่าซื้ออะไหล่จากบริษัทรวมยนต์ จำนวน 100,000 บาท อีกทั้งยังค้างคืนเงินค่าใช้จ่ายที่นายแดงออกไปเพื่อชำระหนี้ห้าง ฯ อีก 70,000 บาท
ผู้เป็นหุ้นส่วนเห็นพ้องต้องกันว่าควรจะเลิกห้างฯ และชำระบัญชีต่อไป นายแดงจึงมาปรึกษาท่านว่ากรณีนี้ตามกฎหมาย เมื่อเลิกห้างฯและชำระบัญชีแล้ว นายแดงจะได้รับเงินที่ลงทุนไปนั้นคืนหรือไม่ และถ้าได้รับคืนจะได้รับคืนเป็นจำนวนเท่าไร

เฉลย
ตามกฎหมายในเรื่องการชำระบัญชีของห้างฯ ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 1062 ที่ว่า “การชำระบัญชีให้ทำโดยลำดับดังนี้ คือ
(1) ให้ชำระหนี้ทั้งหลายซึ่งค้างแก่บุคคลภายนอก
(2) ให้ชดใช้เงินทดลองและค่าใช้จ่ายซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนได้ออกของตนไป เพื่อจัดการค้าของห้างฯ
(3) ให้คืนทุนทรัพย์ซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนได้ลงเป็นหุ้น
ตามปัญหา เมื่อห้างหุ้นส่วนเลิกกันก็ต้องดำเนินการชำระบัญชีตามกฎหมายข้างต้น คือ เมื่อเลิกห้าง ฯ ห้างมีเงินเหลืออยู่ 500,000 บาท ต้องชำระบัญชี ดังนี้
(1) ชำระหนี้ทั้งหลายซึ่งค้างชำระแก่บุคคลภายนอก กรณีนี้ต้องชำระหนี้ค่าซื้ออะไหล่รถยนต์ให้กับบริษัทรวมยนต์ เป็นเงิน 100,000 บาท
ดังนั้น คงเหลือเงินหลังจากชำระหนี้ 500,000 – 100,000 = 400,000 บาท
(2) ให้ชดใช้เงินทดรองและค่าใช้จ่ายซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนได้ออกของตนไปเพื่อจัดการงานของห้างฯ กรณีนายแดงได้ออกเงินค่าใช้จ่ายไปทั้งสิ้น 70,000 บาท
ดังนั้น คงเหลือเงินหลังจากหักเงินทดรองจ่ายของนายแดง 400,000– 70,000 = 330,000 บาท
(3) ให้คืนทุนทรัพย์ซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนได้ลงหุ้น กรณีนี้ผู้เป็นหุ้นส่วนลงหุ้นเท่ากัน การคิดทุนทรัพย์ก็ต้องเฉลี่ยไปสามส่วน
ดังนั้น การคืนทุนทรัพย์ของผู้เป็นหุ้นส่วนแต่ละคน 330,000 / 3 = 110,000 บาท
กรณีตามปัญหา นายแดงและผู้เป็นหุ้นส่วนทั้ง3 คน จะได้เฉลี่ยคืนเป็นเงินคนละ 110,000 บาท

19. บริษัททิพย์สามัคคี จำกัด มีทุนจดทะเบียน 5,000,000 บาท แบ่งออกเป็น 50,000 หุ้น ๆ ละ 100 บาท ต่อมาบริษัทต้องการขยายกิจการให้ใหญ่ขึ้น ประธานกรรมการจึงเรียกประชุมคณะกรรมการเพื่อขอมติในการเพิ่มทุน ในที่สุดที่ประชุมคณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เพิ่มทุนของบริษัทได้ โดยให้เพิ่มทุนด้วยวิธีการเพิ่มมูลค่าหุ้นเป็นหุ้นละ 150 บาท ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า
ก. การเพิ่มทุนของบริษัททิพย์สามัคคีจำกัด โดยอาศัยมติเอกฉันท์ของคณะกรรมการของบริษัทจะกระทำได้เพียงใด หรือไม่
ข. การเพิ่มทุนด้วยการเพิ่มมูลค่าหุ้นจาก 100 บาท เป็น 150 บาท ของบริษัททิพย์สามัคคีจำกัด ดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไร

เฉลย
มาตรา 1220 บริษัทจำกัดอาจเพิ่มทุนของบริษัทขึ้นได้ด้วยออกหุ้นใหม่ โดยมติพิเศษของที่ประชุมผู้ถือหุ้น
1) จะเห็นได้ว่าการเพิ่มทุนของบริษัทจำกัดนั้นจะทำขึ้นได้โดยมติพิเศษของที่ระชุมผู้ถือหุ้นเท่านั้น กรรมการของบริษัทจะประชุมกันเองระหว่างกรรมการด้วยกัน แล้วลงมติให้เพิ่มทุนของบริษัทจำกัดไม่ได้ แม้จะมีมติเป็นเอกฉันท์ก็ตาม ต้องมีการเรียกประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น และมติที่ได้ต้องเป็นมติพิเศษพิเศษด้วย จึงจะเป็นมติการเพิ่มทุนที่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น มติการเพิ่มทุนของบริษัททิพย์สามัคคีจำกัด ดังกล่าวจึงมิใช่มติที่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย
2) การเพิ่มทุนในบริษัทจำกัดทำได้เพียงวิธีเดียว คือการออกหุ้นใหม่โดยมติพิเศษของที่ประชุมผู้ถือหุ้น จากโจทก์ข้างต้น บริษัททิพย์สามัคคีจำกัดเดิมมีทุนจดทะเบียนอยู่ 5,000,000 บาท แบ่งเป็น 50,000 หุ้น ๆ ละ 100 บาท หากต้องการเพิ่มทุนอีก 2,500,000 บาท บริษัทต้องออกหุ้นใหม่อีก 25,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาทเท่าเดิม แล้วเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นทั้งหลายในบริษัทก่อนตามส่วนจำนวนที่เขาถือหุ้นอยู่ จึงเป็นการเพิ่มทุนที่ชอบด้วยกฎหมาย การเพิ่มทุนโดยการเพิ่มมูลค่าหุ้นจาก 100 บาท เป็น 150 บาท จึงเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้อง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
20. บริษัทครัวไทย จำกัด ได้ทำการควบบริษัทครัวอินเตอร์ จำกัด เป็นที่เรียบร้อยแล้ว บริษัทไม้ยางไทย จำกัด ผู้ค้าส่งกับบริษัทครัวไทย จำกัด ผู้เป็นเจ้าหนี้ของบริษัทครัวไทย จำกัด อยู่จำนวน 200,000 บาท ได้ใช้สิทธิทำการคัดค้านการควบบริษัทครัวไทย จำกัด แต่ทำการคัดค้านเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด คำคัดค้านจึงไม่มีผล บริษัททั้งสองจึงควบเข้ากันโดยดำเนินการในนามของบริษัทครัวอินเตอร์ จำกัด เมื่อเป็นเช่นนี้บริษัทไม้ยางไทย จำกัด จึงเรียกให้บริษัทครัวอินเตอร์ จำกัด ชำระหนี้ให้กับตน ตามจำนวนที่บริษัทครัวไทย จำกัด เป็นหนี้ตนอยู่ จำนวน 200,000 บาท
บริษัทครัวอินเตอร์ จำกัด ได้ปฏิเสธการชำระหนี้ให้แก่บริษัทไม้ยางไทย จำกัด ว่าเป็นหนี้เดิมของบริษัทครัวไทย จำกัด บริษัทครัวอินเตอร์ จำกัด ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบในหนี้เดิมแต่อย่างใด
ถามว่าบริษัทครัวอินเตอร์ จำกัด จะปฏิเสธการชำระหนี้ให้แก่บริษัทไม้ยางไทย จำกัด ดังกล่าวได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

เฉลย
ตามปพพ. มาตรา 1243 วางหลักไว้ว่า บริษัทใหม่นี้ย่อมได้ไปทั้งสิทธิและความรับผิดบรรดามีอยู่แก่บริษัทเดิมอันได้มาควบเข้ากันนั้นทั้งสิ้น
จากปัญหา บริษัทครัวไทยจำกัด ได้ควบเข้ากับบริษัทครัวอินเตอร์ จำกัด เป็นที่เรียบร้อยแล้ว นั่นหมายถึงการดำเนินกิจการในบริษัทครัวอินเตอร์ซึ่งใช้ชื่อเดิมของบริษัทครัวอินเตอร์จำกัดนั้น ได้รวมกิจการของบริษัทครัวไทยเข้ามาด้วยทั้งหมด ซึ่งการที่บริษัทครัวไทยมีหนี้อยู่กับบริษัทไม้ยางไทยจำกัด จำนวน 200,000 บาท (สองแสนบาทถ้วน) นั้น จะตกมาเป็นของบริษัทครัวอินเตอร์จำกัดด้วย ตามหลักกฎหมายมาตรา 1243 ที่กล่าวมาข้างต้น บริษัทครัวอินเตอร์จึงไม่อาจปฏิเสธการชำระหนี้ให้แก่บริษัทไม้ยางไทยได้
ดังนั้น บริษัทครัวอินเตอร์จำกัด ไม่สามารถปฏิเสธการชำระหนี้ให้แก่บริษัทไม้ยางไทยจำกัดได้ แต่อย่างใด

╔★═╗╔╗      ♡╔╗╔╗
╚╗╔╝║║★═╦╦╦═╗║★╝╠═╦╦╗
╔╝╚╗★╚╣║║║║╠╣╚╗╔╣║♂║★
╚═☆╝╚═╩═╩★╩═╝ ╚╝╚═╩═╝

*•.¸¸.•*♡*•.¸¸.•*♡*•.¸¸.•*♡*•.¸¸.•*♡*•.¸¸.•*♡*•.¸¸.•*










Create Date : 04 ธันวาคม 2550
Last Update : 9 กุมภาพันธ์ 2551 20:47:11 น. 11 comments
Counter : 13434 Pageviews.

 
นายดำ นายแดง และนายขาว ได้ตกลงตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนมีวัตถุในการจำหน่าย รับซื้อ เช่ารถยนต์ โดยตกลงให้นายดำเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการโดยมีข้อจำกัดอำนาจของหุ้นส่วนผู้จัดการไว้ในการทำสัญญาผูกพันห้างและผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่นๆ ได้ไม่เกิน 1,000,000 บาท ปรากฎว่า นายดำได้ไปทำสัญญาซื้อรถยนต์จากนายเด่น ในราคา 1,500,000 บาท เพื่อนำมาใช้วัตถุประสงค์ของห้าง โดยนายเด่นไม่รู้ถึงข้อจำกัดของนายดำ หลังจากที่นายดำเช่าซื้อมานายดำไม่เคยชำระเค่าเช่าซื้อเลย ดังนี้ นายเด่นจะเรียกให้หุ้นส่วนทั้งสามคนชำระค่าเช่าซื้อได้หรือไม่


โดย: ชริน IP: 182.52.122.85 วันที่: 18 ตุลาคม 2553 เวลา:15:54:50 น.  

 
ช่วยตอบใด้วยนะครับ


โดย: ชริน IP: 182.52.122.85 วันที่: 18 ตุลาคม 2553 เวลา:15:57:06 น.  

 
อยากได้กฎหมาย ท่องเที่ยวใครมีบ้าง กรุณาส่งให้ด้วยนะครับ


โดย: fido_cai@hotmail.com IP: 192.168.1.64, 110.164.105.18 วันที่: 20 ตุลาคม 2553 เวลา:10:42:04 น.  

 
นายเอก นายโท และนายตรี ตั้งหุ้นส่วนทำการค้า มีกำหนด 5 ปี และได้จดทะเบียนไว้เป็นหลักฐาน เมื่อดำเนินการมาได้ 3 ปี นายเอกต้องการออกจากห้างหุ้นส่วนก็ดี หรือจะให้เลิกห้างหุ้นส่วนก็ดี นายเอกจะทำได้หรือไม่


โดย: ดิว IP: 125.26.191.40 วันที่: 26 มิถุนายน 2554 เวลา:16:08:56 น.  

 
อยากได้คำตอบอย่างละเอียดช่วยตอบให้หน่อยนะค่ะ


โดย: ดิว IP: 125.26.191.40 วันที่: 26 มิถุนายน 2554 เวลา:16:09:46 น.  

 
อยากได้คำตอบอย่างละเอียดช่วยตอบให้หน่อยนะค่ะ


โดย: ดิว IP: 125.26.191.40 วันที่: 26 มิถุนายน 2554 เวลา:16:09:53 น.  

 
ขอบคุณครับ เขียนดีนะครับ
ติดตามอยู่นะครับ เดี๋ยววันหลังจะตามมาอ่านใหม่ bookmark ไว้ละ :D
วันนี้พอก่อน วันละนิด จิตแจ่มใส่ :D




_________________________________________________________________________________


cheap halloween costumes | homemade halloween costumes | adult halloween costumes





โดย: lafaellcross วันที่: 13 ตุลาคม 2554 เวลา:4:57:45 น.  

 


โดย: ขอบคุณนะจ๊ะ (solodano ) วันที่: 18 พฤศจิกายน 2554 เวลา:8:50:11 น.  

 
ขอบคุณมากครับสำหรับบทความเขียนได้เยี่ยมเลยครับ
Online Payday Loans Advance Lenders Payday Loan Online Payday Loan Direct Lender Direct Lenders for Payday Loans Direct Lender Payday Loans Direct Payday Loan Lenders Bad Credit Payday Loans


โดย: Payday Loans OnLine (AIRRO01 ) วันที่: 20 พฤษภาคม 2555 เวลา:23:06:42 น.  

 
ชอบ ทำให้รู้แนวข้อสอบ มีโอกาสทำข้อสอบได้มากขึ้น


โดย: รุ่งศักดิ์ ไทยเดิม IP: 171.5.251.181 วันที่: 21 พฤษภาคม 2558 เวลา:13:47:00 น.  

 
ขอบคุณมากค่ะ เป็นประโยชน์กับหนูมากเรยในการสอบ


โดย: อรัญญา IP: 94.23.252.21 วันที่: 22 กรกฎาคม 2558 เวลา:2:46:32 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

chantra_aor
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add chantra_aor's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.