ธันวาคม 2549

 
 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
11
12
13
14
15
16
18
19
21
22
23
25
26
27
29
30
31
 
 
All Blog
ห้องตำนานบุคคล เสนอตำนานกล้วยไม้ไทย

84 ปี ระพี สาคริก


เพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่ *ศาสตราจารย์ระพี สาคริก* บิดาแห่งวงการกล้วยไม้ไทย อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งนายกสมาคมกล้วยไม้แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และเป็นกรรมการกิตติมศักดิ์ขององค์การกล้วยไม้โลก

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงจัดนิทรรศการ "84 ปี ศาสตราจารย์ระพี สาคริก และตำนานกล้วยไม้ไทย" ขึ้น ในวาระครบรอบ 84 ปีของอาจารย์ระพี
งานนิทรรศการประกอบด้วยเรื่องราวความเป็นมาของอาจารย์ระพี ผลงาน และการพัฒนากล้วยไม้ไทยจนกลายเป็นที่ยอมรับของโลก

นอกจากนี้ยังมีภาพกล้วยไม้หายากและกรุหนังสือกล้วยไม้ไทย ให้หาความรู้ชนิดที่หาจากที่อื่นไม่ได้
ยกตัวอย่างเรื่องของกล้วยไม้ในนิทรรศการมาให้เป็นความรู้กันพอหอมปากหอมคอ หลังจากนั้นหากอยากรู้เรื่องราวมากกว่านี้ ต้องแวะไปที่งานนิทรรศการเอาเอง เพราะจัดขึ้นระหว่างวันนี้ไปจนถึงวันที่ 15 มกราคม 2550 ตั้งแต่เวลา 09.00-18.30 น. วันจันทร์ถึงศุกร์เท่านั้น

สำหรับนิทรรศการที่กำลังจัดนี้ บอกเล่าถึงเรื่องราวของกล้วยไม้ไทยว่า ถิ่นกำเนิดของกล้วยไม้ ซึ่งเป็นแหล่งใหญ่ของกล้วยไม้ เท่าที่ปรากฏอยู่ในธรรมชาติของโลก ได้แก่ดินแดนในเขตร้อน และเขตกึ่งร้อนของทวีปเอเชีย กับทวีปอเมริกา

ส่วนการนำกล้วยไม้จากธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ในด้านวัฒนธรรม เริ่มขึ้นจากชนชาติที่อยู่ในเอเชียก่อน โดยเฉพาะประเทศจีน จากนั้นชาวตะวันตกจึงเข้ามาศึกษาค้นคว้าเรื่องกล้วยไม้ เรื่องของการค้ากล้วยไม้โลกจึงเกิดขึ้น แห่งแรกคือประเทศอังกฤษ โดยนำไปจากทีปเอเชียและทวีปอเมริกา

เมื่อกล้วยไม้กลายเป็นของมีราคา คนจากตะวันตกเริ่มเข้ามาสำรวจและนำกล้วยไม้รวมทั้งพันธุ์พืชจากเขตร้อนไปใช้ประโยชน์ โดยจัดตั้งเป็น "สวนพฤกษศาสตร์" ขึ้น ใช้เป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์พืช เช่น สวนพฤกษศาสตร์ที่ คิว (Royal Botanic Garden at Kew)

นอกจากนี้ยังมีการสร้างสวนพฤกษศาสตร์ในประเทศที่เป็นอาณานิคมด้วย เช่น สวนพฤกษศาสตร์เมืองโบกอร์ (Bogor) ของชาวดัชต์ในอินโดนีเซีย สวนพฤกษศาสตร์ของอังกฤษที่สิงคโปร์ เป็นต้น

ที่ฮาวาย สหรัฐอเมริกาได้เข้าไปยึดครองจึงมีการนำกล้วยไม้พันธุ์ธรรมชาติจากเขตร้อนของโลกรวมทั้งของไทยไปใช้ในโครงการผลิตและพัฒนากล้วยไม้เมืองร้อน จนพัฒนาเป็นการค้าระดับโลก

คนอังกฤษได้นำกล้วยไม้จากทวีปเอเชียและทวีปเอมริกาไปปลูกในเรือนกระจก เมื่อประมาณ 230 ปีมาแล้ว โดยนายเจมส์ เว็ช (Mr.James Veitch) ได้สร้างเรือนกระจกที่เมืองเอกเซเตอร์ (Exeter) นอกจากนี้ยังมีตระกูลแซนเดอร์ (Sander) ซึ่งมีบทบาทในเรื่องการค้ากล้วยไม้

*การค้ากล้วยไม้ในประเทศไทย ในช่วงก่อนปี พ.ศ.2492 นายเฮนรี อาลาบาสเตอร์ (Mr.Henry Alabaster) ได้เข้ามาปฏิบัติราชการในประเทศไทย ได้นำกล้วยไม้เขตร้อนในทวีปอเมริกามาปลูกเลี้ยงในเมืองไทย หลังจากนั้นจึงเกิดกลุ่มผู้เล่นกล้วยไม้ขึ้น ซึ่งเป็นกลุ่มขุนนางและพ่อค้า ทำให้คนทั่วไปมีความคิดว่า *กล้วยไม้เป็นของเศรษฐี* จนระยะหลังมีการนำเข้ากล้วยไม้จากฮาวายเป็นจำนวนมาก*

กระทั่งรัฐบาลต้องตั้งกำแพงภาษีการนำเข้ากล้วยไม้จากต่างประเทศไว้ค่อนข้างสูง ส่งผลให้ผู้ปลูกกล้วยไม้หันมาผสมและเพาะเมล็ดกล้วยไม้ ทำให้เกิดการสร้างกล้วยไม้พันธุ์ใหม่ๆ และเกิดการพัฒนาในวงการกล้วยไม้ไทยขึ้น

การค้ากล้วยไม้ไทยระหว่างไทยกับต่างประเทศ มีหลักฐานปรากฏตั้งแต่ปี พ.ศ.2495 โดยมีบัญชีรายการข้อมูลทางการค้าของสวนกล้วยไม้ Sander จากประเทศอังกฤษ ในช่วงนั้นผู้มีเงินได้สั่งซื้อกล้วยไม้มาปลูกเลี้ยงในบ้าน และมีการส่งกล้วยไม้ไทยขายให้กับต่างประเทศในราคาถูก โดยเป็นกล้วยไม้จากป่าในเมืองไทย

การนำกล้วยไม้ซึ่งเก็บจากป่าส่งขายต่างประเทศดำเนินการอย่างเป็นล่ำเป็นสัน โดยมีพ่อค้ารับซื้อจากคนที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่น แล้วส่งมายังศูนย์กลางในกรุงเทพฯ

แต่ละปีการรวบรวมขายส่งกล้วยไม้ให้กับตลาดต่างประเทศจะต้องสอดคล้องกับฤดูการปลูกกล้วยไม้ของประเทศผู้ซื้อ ซึ่งมีเพียงฤดูเดียว จึงมีการสั่งเก็บกล้วยไม้ป่าในปริมาณที่เกินจริง เพื่อป้องกันกล้วยไม้ขาดมือ และเก็บแบบหลากหลายพันธุ์เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ขณะนั้นประเทศไทยยังมิได้มีการวางแผนส่งเสริมการผลิตและการพัฒนาวงการกล้วยไม้ คงมีแต่กลุ่มบุคคลที่มีฐานะนำกล้วยไม้มาปลูกประดับ

ต่อมามีการเพาะเมล็ดกล้วยไม้ และการค้าต้นกล้วยไม้ในขวดประมาณปี พ.ศ.2495 ในบริเวณเกษตรกลางบางเขน เป็นการเพาะเมล็ดกล้วยไม้สกุลเด็นโครเบียม หรือ สกุลหวาย โดยอาจารย์ระพี เป็นแกนนำตั้งกลุ่มอาสาสมัครขึ้น และเปิดอบรมการเพาะเลี้ยงกล้วยไม้ในวันหยุดสุดสัปดาห์ ในห้องชั้นล่างในตึกคหกรรมศาสตร์ และจัดทำข่าวสารเผยแพร่สู่สาธารณชน

อาจารย์ระพี ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการผสมพันธุ์และเพาะเมล็ด "กล้วยไม้ช้างแดง" ซึ่งเป็นพันธุ์หายากและได้รับความนิยมอย่างมาก
*อาจารย์ระพีส่ง ช้างแดง ไปขายในสหรัฐอเมริกาในราคาถูก เพื่อเปิดตลาดการค้ากล้วยไม้ให้กับประเทศไทย และทำให้คนทั่วโลกรู้จักประเทศไทยในฐานะเมืองกล้วยไม้เป็นครั้งแรก*

ประมาณปี 2488 *กล้วยไม้รองเท้านารีคางกบ* เป็นสินค้าส่งออกไปจำหน่ายยังยุโรปตะวันตกปีละหลายแสนตัน ส่วนใหญ่จะถูกส่งไปยังประเทศเยอรมนี และเนเธอร์แลนด์

เพราะกล้วยไม้รองเท้านารีคางกบได้ราคาดี ทำให้มีการแข่งขันแย่งชิงกันอย่างรุนแรงในการส่งออกไปขายต่างประเทศ จนปัจจุบันกล้วยไม้ชนิดนี้ได้หายไปจากเมืองไทย จนไม่เหลือให้ชนรุ่นหลังได้พบเห็นในธรรมชาติอีกต่อไป

อาจารย์ระพี ได้แนวคิดเพาะเลี้ยงกล้วยไม้รองเท้านารีคางกบ โดยทำการทดลองที่สถานีฝึกนิสิตปากช่อง ของภาควิชาพืชสวน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งประสบผลสำเร็จสามารถปลูกเลี้ยงให้ออกดอกได้ แต่ถึงกระนั้นก็ไม่สามารถต้านกระแสการเก็บกล้วยไม้จากป่าไปจำหน่ายได้ เนื่องจากต้นทุนต่ำกว่าการเพาะเลี้ยง

อย่างไรก็ตาม อาจารย์ระพีไม่ย่อท้อต่อสถานการณ์การค้ากล้วยไม้ที่เกิดขึ้น ได้เปิดการฝึกอบรมเผยแพร่ความรู้ทั้งทางวิทยุ และโทรทัศน์ให้ประชาชนได้เรียนรู้เกี่ยวกับการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ ในที่สุดประมาณปี พ.ศ.2508 ก็ได้มีชาวสวนเริ่มปลูกกล้วยไม้ตัดดอกในรูปแบบอุตสาหกรรม โดยเริ่มจากกลุ่มชาวสวนที่บางมด

และต่อมามีการศึกษา และพัฒนาจนกลายมาเป็นรูปบริษัท ชื่อ *บางกอกฟลาวเวอร์ เซ็นเตอร์ จำกัด* โดยเป็นบริษัทเอกชน มีการดำเนินงาน การค้นคว้า วิจัย ด้านวิชาการ มีห้องปฏิบัติการขยายพันธุ์กล้วยไม้ มีโรงงานบรรจุหีบห่อ ไปถึงการจัดการการตลาดแบบครบวงจร

ผลจากการดำเนินงานเช่นนี้ ทำให้ชาวสวนผู้เป็นสมาชิกของบริษัทมีฐานะดีขึ้น และมีสมาชิกเพิ่มขึ้นกว่า 200 ราย กระจายอยู่ในพื้นที่ทิศตะวันตกของกรุงเทพฯ

แค่การเผยแพร่ข่าวสาร ความรู้ เท่านั้นยังไม่พอ อาจารย์ระพียังบุกเบิกพาชาวสวนกล้วยไม้จากกรุงเทพฯ เมืองไทยไปดูงานกล้วยไม้ที่เมืองนอกอีก เป็นการหาประสบการณ์และแลกเปลี่ยนความรู้ระดับโลก ซึ่งที่สุดทำให้กล้วยไม้หลายต่อหลายพันธุ์ได้ฟื้นคืนชีพให้คนรุ่นหลังได้เห็น

*ที่สำคัญช่วยสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยจนคนทั่วโลกได้รู้จักกล้วยไม้ไทย*
ข้อเขียนโดย วัชรพล รักษศรี
นสพ.มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 28 ธค. 2549






Create Date : 28 ธันวาคม 2549
Last Update : 28 ธันวาคม 2549 10:05:08 น.
Counter : 1176 Pageviews.

3 comments
  



ปีใหม่นี้ขอให้ท่านและครอบครัวจงประสบแต่ความสุขตลอดไปเทอญ
แวะไปเยี่ยมกับบ้างน๊า
โดย: @ ปั๊กกาเป้า @..อิอิ วันที่: 28 ธันวาคม 2549 เวลา:10:34:28 น.
  
คนไทยเป็นคนเก่ง มีชื่อเสียงระดับโลกเยอะนะครับ
ประเทศเล็ก ๆ ไม่ร่ำรวยอะไร น่าภูมิใจจัง

สวัสดีปีใหม่ล่วงหน้านะครับ มีความสุข สมหวังทุก ๆ เรื่องครับ
โดย: ต่อตระกูล วันที่: 28 ธันวาคม 2549 เวลา:14:30:00 น.
  
พี่ๆๆๆๆๆๆงับ ตำนานที่ยาวก่านี้มีมะ
โดย: มงคล IP: 58.147.93.98 วันที่: 17 ธันวาคม 2551 เวลา:10:02:00 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

หนุ่มร้อยปี
Location :
กรุงเทพ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 24 คน [?]



บล็อกนี้สร้างสรรค์ขึ้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2549 โดย ชายไทยวัยสูงอายุ มีวัตถุประสงค์ในการบันทึกและนำเสนอเรื่องราวต่างๆแบบครอบจักรวาล อาทิ ภาพยนตร์ ดนตรี รายการทีวี หนังสือน่าอ่าน อาหารน่ากิน ท่องเที่ยว สะสมสิ่งของ ตำนานชีวิตบุคคลน่าสนใจ รู้ไว้ใช่ว่า จิปาถะ
ฯลฯ เป็นต้น คำขวัญประจำบล็อก ประสบการณ์ชีวิตที่ดีในอดีต คือทรัพยากรที่ทรงคุณค่าในปัจจุบัน คำขวัญประจำตัวเจ้าของบล็อก "อายุเป็นเพียงตัวเลข" บรรณาธิการบริหารบล็อกคือ หนุ่มร้อยปี บล็อกนี้ไม่สงวนลิขสิทธิ์ตามกฏหมาย ท่านใดเห็นว่าข้อเขียนหรือภาพประกอบในบล็อกนี้มีประโยชน์ สามารถนำไปใช้ได้ แต่โปรดอ้างอิงชื่อบล็อกนี้ด้วย จักขอบคุณยิ่ง