ธันวาคม 2549

 
 
 
 
 
1
2
3
5
6
8
9
10
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 
 
All Blog
ห้องหนังสือ ขออัญเชิญพระราชนิพนธ์เรื่อง "พระมหาชนก"





พระมหาชนก



"หนังสือนี้เป็นที่รักของข้าพเจ้า"
"หนังสือนี้ไม่มีที่เทียม และจะเป็นที่ร่าเริงใจของผู้อ่าน"
"ต้องการให้เห็นว่าสำคัญที่สุดคนเราทำอะไรต้องมีความเพียร"
"ขอจงมีความเพียรที่บริสุทธิ์ ปัญญาที่เฉียบแหลม กำลังกายที่สมบูรณ์"




นี่เป็นส่วนหนึ่งในพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2539 ระหว่างที่พระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนินออก ณ พระที่นั่งดุสิดาลัย สวนจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ซึ่งได้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สื่อมวลชนเข้าเฝ้าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท โดยได้แจ้งให้ทราบว่า หนังสือพระราชนิพนธ์เล่มล่าสุดของพระองค์ท่านเรื่อง "พระมหาชนก" เสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งทรงเชื่อมั่นว่าได้ทรงบรรลุพระราชภารกิจสำคัญที่สุดในรัชสมัยแห่งมงคลชัยในชีวิตประชาชนชาวไทยอันหาที่เปรียบไม่ได้

เวลานี้พระราชนิพนธ์ "พระมหาชนก" ได้พิมพ์เผยแพร่ออกสู่สายตาผู้อ่านจำนวนมาก จัดพิมพ์โดยบริษัทอัมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิซซิ่ง จำกัด (มหาชน) ทั้งที่เป็นฉบับปกแข็งขนาด 11 x 11 นิ้ว บรรจุกล่องสวยงาม นอกจากเนื้อหาที่ทรงคุณค่าแล้วยังมีภาพวาดประกอบของจิตรกรชื่อดัง 8 คน คือ จินตนา เปี่ยมศิริ, ประหยัด พงษ์ดำ, พิชัย นิรันต์, ปรีชา เถาทอง, เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์, ปัญญา วิจินธนสาร, ธีระวัฒน์ คะนะมะ, เนติกร ชินโย พิมพ์ลายสีสวยสดใส ทำให้หนังสือน่าอ่านและน่าเก็บรักษาไว้



รวมทั้งได้ทรงโปรดฯ ให้จัดพิมพ์ฉบับปกอ่อน เพื่อให้พสกนิกรได้มีโอกาสอ่านกันอย่างทั่วถึง นอกจากนี้ยังมีบรรจุในแผ่นซีดี และมีเหรียญพระมหาชนกทั้ง เนื้อเงิน และเนื้อนาก เพื่อให้ประชาชนนำไปสักการะบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคล

สำหรับเหรียญนั้น ด้านหนึ่งเป็นพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในพระอิริยาบถที่มีหยาดพระเสโทที่พระนาสิก เขียนข้อความ "วิริยะ PERSERVERANCE" และอักษาเทวนาครี อีกด้านหนึ่ง เป็นภาพพระมหาชนกในมหาสมุทรขณะทรงสนทนาธรรมกับนางมณีเมขลา ซึ่งปั้นจากต้นแบบภาพฝีพระหัตถ์สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์
เหรียญเหล่านี้ได้ผ่านพิธีชัยมังคลาภิเษกที่วัดบวรนิเวศวิหาร โดยมีสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเป็นประธานนั่งปรก พร้อมด้วยพระคณาจารย์อีกหลายรูป อาทิ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน, หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ แห่งวัดบ้านไร่ หลวงพ่อเปิ่นวัดบางพระ, หลวงพ่อแย้ม วัดตะเคียน

ในพิธีดังกล่าว สมเด็จพระสังฆราชตรัสว่า "ไทยเราในขณะนี้แม้เปรียบกับพระมหาชนกย่อมมีอันตรายเบากว่ามากมายนัก วิกฤตก็แตกต่างกัน แต่สามารถบำเพ็ญวิริยบารมีให้เกิดผลสำเร็จอย่างวิเศษยิ่งได้เช่นเดียวกัน ขอให้ตั้งใจแผ่ความปรารถนาดีไปให้ทั่วถึงเพื่อนร่วมทุกข์ทั่วหน้าให้สามารถคิดถึงอนุภาพความเพียร คือวิริยบารมี แล้วทุ่มกำลังกายกำลังใจให้สามารถประคับประคองประเทศชาติให้พ้นวิกฤตการณ์ขณะนี้ให้ได้และโดยเร็ว วิริยบารมีสำคัญ และพลังจิตสำคัญ และสำคัญสำหรับนำมาประคองวิริยบารมีให้เกิดผลเต็มที่ด้วย นั่นคือให้มีกำลังใจเข้มแข็งเต็มที่ ที่จะพยายามทำแต่ความดี วิริยะในการทำดีเท่านั้นที่จะถูกที่จะให้พ้นทุกข์ทั้งหลายได้ สมเด็จพระบรมศาสดาทรงกล่าวไว้ว่า โลกถูกจิตนำไป ถูกจิตชักไป สัตว์ทั้งปวงไปสู่อำนาจแห่งจิตอย่างเดียว เพราะฉะนั้นพึงตั้งเพียรทำใจให้ดี ให้มั่นคงในการดีทั้งปวง ให้พ้นการไม่ดีทั้งปวงงานมงคลนี้จะสำเร็จด้วยดี เกิดคุณประโยชน์แก่ผู้คนที่กำลังทุกข์ร้อนทั้งปวง"

ก่อนที่จะอ่านเนื้อหาในพระราชนิพนธ์ "พระมหาชนก" มีพระราชปรารภให้เห็นถึงที่มาว่า "เมื่อ พ.ศ. 2520 พระองศ์ทรงสดับพระธรรมเทศนาของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ธัมมสาโร มหาเถร) วัดราชผาติการาม เรื่องพระมหาชนก เสด็จทอดพระเนตรพระราชอุทยาน ในกรุงมิถิลา เรื่องมีใจความว่า ที่ทางเข้าสวนหลวงมีต้นมะม่วงสองต้น ต้นหนึ่งมีผล อีกต้นหนึ่งไม่มีผล ทรงลิ้มรสมะม่วงอันโอชาแล้วเสด็จเยี่ยมอุทยาน เมื่อเสด็จกลับออกจากสวนหลวงทอดพระเนตรเห็นมะม่วงที่มีผลรสดี ถูกข้าราชบริพารดึงทึ้งจนโค่นลง ส่วนต้นที่ไม่มีลูกก็ยังคงตั้งอยู่ตระหง่าน แสดงว่าสิ่งใดดี มีคุณภาพ จะเป็นเป้าหมายของการยื้อแย่งและจะเป็นอันตรายในท่ามกลางผู้ที่ขาดปัญญา"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงสนพระทัย จึงทรงค้นเรื่องพระมหาชนกในพระไตรปิฎก (พระสุตตันตปิฏกขุททกนิกาย ชาดก เล่มที่ 4 ภาคที่ 2) และทรงแปลเป็นภาษาอังกฤษตรงจากมหาชนกชาดก ตั้งแต่ต้นเรื่องโดยทรงดัดแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น
พระมหาชนกบำเพ็ญวิริยะบารมีไม่หวังผลตอบแทนใดๆ จนกระทั่งได้ทรงครองราชสมบัติ และนำความเจริญมั่งคั่งแก่กรุงมิถิลาด้วยพระปรีชาสามารถ

มาถึงตอนเรื่องต้นมะม่วงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระราชดำริว่า การที่พระมหาชนกจะเสด็จออกทรงแสวงโมกขธรรมยังไม่ถึงเวลาอันสมควร เพราะว่าได้ทรงสร้างความเจริญแก่มิถิลายังไม่ครบถ้วน กล่าวคือข้าราชบริพาร "นับแต่อุปราชจนถึงคนรักษาช้าง รักษาม้าและนับแต่คนรักษาม้าจนถึงอุปราช และโดยเฉพาะเหล่าอมาตย์ ล้วนจารึกในโมหภูมิทั้งนั้น ไม่มีความรู้ทั้งวิทยาการ ทั้งทางปัญญายังไม่เห็นความสำคัญของผลประโยชน์แท้แม้ของตนเอง จึงต้องตั้งสถานอบรมสั่งสอนให้เบ็ดเสร็จ" อนึ่ง พระมหาชนกยังต้องทรงปรารภเรื่องการอนุบาลต้นมะม่วงตามวิธีสมัยใหม่ เก้าวิธีอีกด้วย

ด้วยประการเช่นนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จึงทรงดัดแปลงเนื้อเรื่องในมหาชนกชาดกให้เหมาะสมกับสังคมปัจจุบัน โดยมีพระราชดำริว่าพระมหาชนกจะบรรลุโมกขธรรมได้ง่ายกว่า หากได้ประกอบพระราชกรณียกิจในโลกให้ครบถ้วนก่อน

รูปที่ประกอบเรื่องเป็นฝีมือของศิลปินไทย ซึ่งได้ทุ่มเททั้งกำลังกายและกำลังความคิดอย่างเต็มที่ เพื่อถ่ายทอดความงามของเรื่องนี้ให้ครบถ้วนสมบูรณ์

"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงแปลมหาชนกชาดกเสร็จสมบูรณ์เมื่อ พ.ศ. 2531 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พิมพ์ในโอกาสเฉลิมฉลองกาญจนาภิเษกแห่งรัชกาล ให้เป็นเครื่องพิจารณาเพื่อประโยชน์ในการดำเนินชีวิตของสาธุชนทั้งหลาย"
ขอจงทรงมีความเพียรที่บริสุทธิ์ ปัญญาที่เฉียบแหลม กำลังกายที่สมบูรณ์
พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
9 มิถุนายน 2539

นายขวัญแก้ว วัชโรทัย รองเลขาธิการพระราชวังฝ่ายกิจกรรมพิเศษประธานคณะทำงานสร้างเหรียญและพระราชนิพนธ์ "พระมหาชนก" ได้สรุปที่มาของพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ว่า "ระหว่าง 50 ปีที่ทรงครองราชย์ทรงผ่านพ้นอุปสรรคนานาชนิด อุปสรรคนั้นคือวิกฤตการณ์ต่าง ๆ เกิดเหตุเภทภัย ลุกลามถึงประชาชน โดยที่พระองค์ทรงเปรียบเสมือนพระพรหมของประชาชนทุกคน เมื่อมีเหตุการณ์ก็พึ่งพระองค์ ขณะที่บ้านเมืองกำลังลุกเป็นไฟ พระองค์รับสั่งกับผู้ที่ทำให้เกิดเรื่องก็จะสงบทันที ซึ่งไม่มีที่ไหนในโลกนับว่าทรงเป็นมิ่งขวัญของประชาชน ชาวไทยยากหาผู้เปรียบปาน

ในหลวงทรงลำบากมากกว่าชาวไทยเป็นไหน ๆ ปัจจุบันไม่เคยมีพระเจ้าอยู่หัวฯ พระองค์ไหน ทรงเหนื่อยมาก ๆ เหมือนพระองค์ ทรงงานจนพระเสโทไหล ยากที่สามัญจะทำได้ ทรงเป็นยอดมนุษย์ ยิ่งภาวะปัจจุบันคนไทยต้องมีความเพียรอดทน ไม่ย่อท้อโดยยึดเอาแบบอย่างจากพระองค์ก็จะประสบความสำเร็จในชีวิต

สมเด็จพระญานสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงอ่านแล้วถึงกับตรัสว่า ถ้าใครได้อ่านแล้วมีปรัชญาชีวิต สิ่งที่ดีงามสอนให้ผู้คนอดทนไม่ท้อแท้ เหมาะสมกับยุคนี้ ทันสมัยทันต่อเหตุการณ์ถ้าอ่านให้ลึกซึ้งจริงๆ ประชาชนชาวไทยคงไม่มีใครฆ่าตัวตาย
ทรงแปลเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษควบคู่กันไป เป็นประโยชน์ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ทรงถอดประวัติของพระองค์ตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ครองราชย์ ทรงประสบอุปสรรค ความยากลำบากเหมือนพระมหาชนกเมื่อเรือแตกก็ทรงว่ายน้ำถึง 7 วัน จนเทวดามาช่วย ในหลวงก็ทรงประสบวิกฤต แต่ทรงมีความเพียรไม่ท้อแท้ ซึ่งบางคนก็มีความเพียรอยู่แต่ท้อแท้ ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต และเหรียญที่จัดสร้างขึ้นนี้ไม่ใช่เครื่องรางของขลัง แต่เป็นสิ่งเพิ่มกำลังใจในการต่อสู้กับชีวิต เป็นประทีปส่องทาง"
ใครที่ได้อ่านเรื่องพระมหาชนกต่างพูดตรงกันว่า พระองค์ทรงพระปรีชาสามารถทางด้านวรรณกรรมยิ่งนักทรงใช้ภาษาที่กระชับ สละสลวยอ่านง่าย แสดงให้เห็นชัดเจนว่าพระองค์ท่านทรงได้ศึกษาเรื่องที่จะเขียนและทรงมีความรู้อย่างลึกซึ้ง

พระมหาชนกฉบับพระราชนิพนธ์นี้ เป็นวรรณคดีพระพุทธศาสนาเรื่องหนึ่งในทศชาติชาดก ซึ่งเป็นชาดก 10 ชาติสุดท้าย ก่อนที่พระโพธิสัตว์จะมาประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ และตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชาดกเรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงการบำเพ็ญบารมีของพระมหาชนก วิริยะบารมี ซึ่งเต็มไปด้วยความเพียรพยายามอย่างยิ่งยวด
บทแรกขึ้นต้นว่า ในอดีตกาลอันพ้นคณนาวิสัย ครั้งหนึ่งพระราชาพระนามว่า มหาชนก ครองราชสมบัติอยู่ในกรุงมิถิลา แคว้นวิเทหะ พระเจ้ามหาชนกนั้น มีพระราชโอรสสองพระองค์ พระนามว่าอริฏฐชนก และโปลชนก พระราชาพระราชทานตำแหน่งอุปราชแก่องค์พี่ และตำแหน่งเสนาบดีแก่องค์น้อง กาลต่อมาพระมหาชนกเสด็จสวรรคต พระอริฏฐชนกได้ครองราชสมบัติ และทรงรั้งพระโปลชนกเป็นอุปราช

วันหนึ่งอมาตย์ผู้ใกล้ชิดกราบทูลใส่ร้ายว่า พระอุปราชโปลชนกคิดไม่ซื่อ พระอริฏฐชนกหลงเชื่อ สั่งจองจำพระโปลชนกแต่พระโปลชนกตั้งจิตอธิษฐานและหลบหนีไปได้ ภายหลังได้รวบรวมพลท้ารบและเอาชนะได้ในที่สุด พระอริฏฐชนกสิ้นพระชนม์ในที่รบ พระเทวีที่กำลังทรงครรภ์จึงปลอมตัวหนีออกนอกเมือง ด้วยความช่วยเหลือของท้าวสักกเทวราช จึงเสด็จหนีไปจนถึงเมืองกาลจัมปากะ ได้พราหมณ์ ผู้หนึ่งอุปการะไว้ในฐานะน้องสาว

ต่อมาทรงมีประสูติกาล ตั้งพระนามพระโอรสตามพระอัยยิกาว่า "พระมหาชนก" จวบจนกระทั่งพระมหาชนกเติบใหญ่ และได้ทราบความจริงก็คิดจะไปค้าขายแล้วจะไปเอาราชสมบัติคืน จึงนำสมบัติกึ่งหนึ่งของพระมารดาไปขาย แลกเป็นสินค้าออกเรือไปยังสุวรรณภูมิ

ระหว่างทางในมหาสมุทรเรือต้องพายุล่มลง ลูกเรือตายหมดเหลือแต่พระมหาชนกรอดผู้เดียว ทรงอดทนว่ายน้ำในมหาสมุทรด้วยความเพียร 7 วัน 7 คืน จนได้พบนางมณีเมขลา และสนทนาธรรมในเรื่องของความเพียรในที่สุดนางมณีเมขลาได้อุ้มพระมหาชนกไปส่งยังมิถิลานคร

เนื้อเรื่องหลังจากนี้น่าติดตามมาก ดังที่พระองค์รับสั่งว่า "ตัวหนังสือบางอย่างหรือคำบางอย่างได้ดัดแปลงให้ตรงกับความคิดสมัยใหม่นี้บ้าง ที่อาจไม่เป็นประโยชน์แก่คนปัจจุบันก็ได้ละเว้น และได้ตกแต่งส่วนใหม่ที่เป็นประโยชน์แก่สังคมปัจจุบัน

ถ่ายทอดจาก //www.panyathai.or.th



Create Date : 07 ธันวาคม 2549
Last Update : 5 พฤศจิกายน 2559 10:25:28 น.
Counter : 5901 Pageviews.

2 comments
  
วิริเย น ทุกขมัจเจติ
คนล่วงทุกข์ด้วยความเพียร
โดย: คนขับช้า วันที่: 8 ธันวาคม 2549 เวลา:1:34:07 น.
  
ผมไม่มีเหรียญ แต่มีหนังสือ และมีซีดี ทั้งทีเป้นซิมโฟนี ที่ประพันธ์โดย สมเถาว์ สุจริตกุล และ เวอร์ชันมีภาคอ่าน โดย กิติคุณ สดประเสริฐ ดนตรีโดย พล.ร อ. มล. อัศนี ปราโมช

หนังสือทำออกมาได้สวยงามจริงๆ
โดย: นอนเปล (ชายลังเล ) วันที่: 10 ธันวาคม 2549 เวลา:16:52:05 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

หนุ่มร้อยปี
Location :
กรุงเทพ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 24 คน [?]



บล็อกนี้สร้างสรรค์ขึ้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2549 โดย ชายไทยวัยสูงอายุ มีวัตถุประสงค์ในการบันทึกและนำเสนอเรื่องราวต่างๆแบบครอบจักรวาล อาทิ ภาพยนตร์ ดนตรี รายการทีวี หนังสือน่าอ่าน อาหารน่ากิน ท่องเที่ยว สะสมสิ่งของ ตำนานชีวิตบุคคลน่าสนใจ รู้ไว้ใช่ว่า จิปาถะ
ฯลฯ เป็นต้น คำขวัญประจำบล็อก ประสบการณ์ชีวิตที่ดีในอดีต คือทรัพยากรที่ทรงคุณค่าในปัจจุบัน คำขวัญประจำตัวเจ้าของบล็อก "อายุเป็นเพียงตัวเลข" บรรณาธิการบริหารบล็อกคือ หนุ่มร้อยปี บล็อกนี้ไม่สงวนลิขสิทธิ์ตามกฏหมาย ท่านใดเห็นว่าข้อเขียนหรือภาพประกอบในบล็อกนี้มีประโยชน์ สามารถนำไปใช้ได้ แต่โปรดอ้างอิงชื่อบล็อกนี้ด้วย จักขอบคุณยิ่ง