พฤศจิกายน 2549

 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
27
28
29
30
 
 
All Blog
ห้องตำนานบุคคล เสนอเขาชื่อ วิกรม กรมดิษฐ์
เมื่อประมาณ พ.ศ. 2545 ผมได้มีโอกาสอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อน่าสนใจว่า "ผมจะเป็นคนดี" เขียนโดย วิกรม กรมดิษฐ์ ชื่อผู้เขียนไม่คุ้นตาเลย เมื่อ่านคำนำแล้วก็เกิดความสนใจในเนื้อหาสาระของหนังสือเล่มนี้ น่าทึ่งที่ผู้เขียนกล้าเขียนประวัติชีวิตของตนเองตอนเป็นเด็กอย่างกระเทาะเปลือกไม่ปิดบังอะไรเลย ถึงแม้หนังสือจะมีความหนาประมาณ 200 กว่าหน้า แต่ผมก็อ่านรวดเดียวจบ ยิ่งได้นักเขียนระดับมืออาชีพอย่าง ประภัสสร เสวีกุล มาช่วยขัดเกลาสำนวนในการเขียนให้ด้วย ทำให้หนังสือเล่มนนี้น่าอ่านยิ่งขึ้น

หลังจากนี้ผมก็คิดตามอ่านผลงานของคุณวิกรม กรมดิษฐ์ จากสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆตลอดมา และทราบว่าเขามีความเจริญก้าวหน้าในธุรกิจอย่างก้าวกระโดด ถึงขั้นไปลงทุนทำนิคมอุตสากรรมในเวียตนาม และชื่นชมเขาอย่างเงียบๆทั้งๆที่ไม่รู้จักเขาเป็นส่วนตัวเลย วันนี้จึงขอนำข้อเขียนเกี่ยวกับตัวเขามาให้อ่านกันในห้องตำนานบุคคลนี้ครับ
 
 

วิกรม กรมดิษฐ์

 
ผีเสื้อแห่งสังคม


ภาพของ "วิกรม กรมดิษฐ์" ผู้บริหารระดับสูงของบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และประธานมูลนิธิอมตะ อาจเป็นภาพที่เหมือนจะแตกต่างกัน
เพราะภาพของการบริหาร ไม่เพียงเขาจะเป็นซีอีโอที่ต้องบริหารนิคมอุตสาหกรรมใหญ่ทั้ง 3 แห่ง อันได้แก่ อมตะนคร จ.ชลบุรี อมตะซิตี้ จ.ระยอง และอมตะซิตี้เบียนโฮ ประเทศเวียดนาม

ซึ่งมีพื้นที่รวมทั้งสิ้นกว่า 25,000 ไร่

เขายังจะต้องประสานธุรกิจกับ "วิบูลย์ กรมดิษฐ์" น้องชาย ที่เข้ามาช่วยเหลือดูแลกิจการทั้งหมดของเขาด้วย

โดยเฉพาะในเรื่องของวิสัยทัศน์

การขยายพื้นที่

หรือการตั้งบริษัทลูกให้ครบ 100 บริษัท ภายในปี 2553

ขณะที่อีกภาพหนึ่ง "วิกรม" กลับเดินทางเข้าสู่โลกแห่งการพัฒนาสังคม ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสถานศึกษา การให้ทุนการศึกษาแก่เด็กๆ ในนิคม

หรือการจัดตั้งโครงการอมตะ อาร์ท อวอร์ด

โครงการอมตะ ไรเตอร์ อวอร์ด

หรือแม้แต่การเปิดนิทรรศการอมตะ อาร์ต อวอร์ดสัญจรไปยังจังหวัดต่างๆ

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ มองเผินๆ เหมือนเดินไปทางเดียวกัน เพราะในแง่ของภาพธุรกิจ เขามีน้องชายที่เข้ามาช่วยแบกรับภาระทางด้านการบริหาร

ขณะที่ในภาพของการพัฒนาสังคม เขาค่อนข้างมุ่งมั่นที่จะทำให้มีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นแก่สังคม ทั้งนั้นเพราะเขาคิดเสมอว่า…ตัวเขามาจากศูนย์ เมื่อตายจากไป ก็กลับไปที่ศูนย์เช่นเดียวกัน
ดังนั้น เมื่อมีชีวิตอยู่ ก็ควรที่จะทำอะไรบางอย่างให้เกิดขึ้นแก่สังคมบ้าง เพราะทุกวันนี้สังคมมันขาดวิ่นเต็มทน

"เราในฐานะที่พอจะมีอะไรบ้าง ก็ควรอย่างยิ่งที่จะต้องทำอะไรให้เกิดประโยชน์บ้าง เพราะไม่เช่นนั้น ชีวิตก็จะไม่มีคุณค่า"
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ "วิกรม" มีความคิดที่จะนำหุ้นของเขาในบริษัทอมตะฯกว่า 5 พันล้านบาทให้กับมูลนิธิอมตะทั้งหมด

โดยวางสโลแกนว่า…ผู้ให้ที่ไม่หวังผลตอบแทน
กล่าวกันว่า เหตุที่ "วิกรม" มีความคิดค่อนข้างแปลกแยกไปจากนักธุรกิจทั่วไป เนื่องเพราะชีวิตในวัยเด็กเขาค่อนข้างลำบาก

เขาค่อนข้างรู้ดีถึงความยากจน

ดังนั้น เมื่อการศึกษากระชากให้เขาหลุดพ้นจากความยากจน จนมาเริ่มต้นในการดำเนินธุรกิจ กระทั่งประสบความสำเร็จในวันหนึ่ง เขาจึงอยากที่จะให้ใครๆ ได้อ่านเรื่องราวของเขา

ทั้งในด้านมืด และด้านสว่าง

เพราะฉะนั้น ในหนังสือ "ผมจะเป็นคนดี" และ "มองโลกแบบวิกรม" ที่มี "ประภัสสร เสวิกุล" เป็นผู้ตรวจทานต้นฉบับ จึงเป็นหนังสือที่เขาเขียนขึ้นอย่างกะเทาะถึงแก่น
เพราะเขาต้องการบอกสังคมว่า การที่คนคนหนึ่งเติบโตขึ้น แล้วบังเอิญต้องหกล้มบ้าง หรือล้มเหลวกับชีวิตบ้าง ใช่จะลุกขึ้นมาสู้ใหม่ไม่ได้

แต่จะต้องลุกขึ้นมาให้ได้

เพราะชีวิตจะต้องเดินหน้าต่อไป

เหตุนี้เอง จึงทำให้หนังสือ "ผมจะเป็นคนดี" ถูกแจกจ่ายไปยังทัณฑสถานทั่วประเทศ ทั้งนั้นเพราะเขาคิดว่านักโทษกว่าแสนคนทั่วประเทศ ส่วนใหญ่มักจะถูกบำบัดแต่เพียงร่างกาย

หาได้บำบัดในเรื่องจิตใจไม่

ดังนั้น การที่ "วิกรม" นำหนังสือ "ผมจะเป็นคนดี" กว่า 3 หมื่นเล่มแจกจ่ายไปยังทัณฑสถานทั่วประเทศ ก็เพื่อต้องการที่จะให้กำลังใจแก่นักโทษเหล่านั้น

เพราะในหนังสือเล่มนี้ ไม่เพียงกล่าวถึงบางบทบางตอนที่เขาเกือบจะยิงพ่อ หรือบางบทบางตอนที่เขาใช้ชีวิตเพลย์บอยอย่างหาความสุขไปเรื่อย แต่เมื่อวันหนึ่ง เขาเริ่มค้นพบว่า สิ่งที่ตนกระทำลงไปนั้น เป็นความผิดบาปอย่างให้อภัยไม่ได้

เขาจึงกระชากชีวิตตัวเองกลับมาใหม่

และพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตทันที แล้วจากนั้น เขาก็เริ่มเดินไปตามแสงสว่างที่นำทาง กระทั่งประสบความสำเร็จกับชีวิตในวันนี้

เช่นนี้เอง จึงทำให้ "วิกรม" มองเห็นว่า แม้นักโทษกว่าแสนคนจะต้องคดีอะไรก็ตาม หากเขามีกำลังใจ และมีไฟฝันที่อยากจะกลับตัวเป็นคนดี เขาย่อมทำได้
ขอเพียงมีจิตใจที่ถึงพร้อมเป็นพอ

และนอกจาก "ผมจะเป็นคนดี" จะถูกแจกจ่ายไปยังทัณฑสถานทั่วประเทศ หากห้องสมุดในสถานศึกษา และห้องสมุดประชาชนยังจังหวัดต่างๆ ยังมีหนังสือเล่มนี้ปรากฏอยู่ทั่วไปด้วย

เพราะเขาเชื่อว่าหนังสือเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งที่ถ่ายทอดให้กับสังคมได้
"วิกรม" เคยให้สัมภาษณ์นิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนกันยายน 2549 ถึงเรื่องแนวคิดในการดำรงชีวิตของมนุษย์คล้ายดั่งผีเสื้อว่า...

"ถ้าเราแบ่งชีวิตออกเป็น 3 ช่วง ช่วงแรกจะเป็นช่วงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งเหมือนหนอนที่เกิดมาตอนแรก เพราะหนอนเอาแต่กิน ดังนั้น พอครบช่วง 4 รอบ หรือ 48 ปี ในวันนี้ เราก็ควรที่จะเริ่มสงบ ซึ่งก็เหมือนกับดักแด้ เหมือนอย่างผมตอนนี้ก็เอาแต่นึกฝัน และเขียนหนังสือ ผมเขียนวันละ 10 ชั่วโมงขึ้นไป เขียนประมาณ 10 กว่าวันใน 2 สัปดาห์ พอเป็นดักแด้เสร็จสุดท้ายก็เป็นผีเสื้อ คือลอยละลิ่วไม่ผูกติดอะไรอีกแล้ว"
แต่กระนั้น ก็ใช่ว่า "วิกรม" จะปล่อยชีวิตให้ล่องลอยทั้งหมดได้ เพราะทางหนึ่ง เขายังต้องช่วยน้องชายบริหารธุรกิจ โดยเฉพาะเรื่องแนวทางในการแก้ปัญหา หรือนัดหมายเรื่องสำคัญต่างๆ ซึ่งเรื่องนี้เขาให้สัมภาษณ์นิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนเดียวกันว่า...

"ถ้าคุณเป็นกัปตันฟุตบอล ผมเป็นโค้ช และเป็นคนดู การมองย่อมแตกต่างกัน คนที่เป็นทั้งกัปตันและนักเตะ มันคิดลำบาก แต่เวลาดูในจอ เราจะเห็นว่าทำไมถึงเตะอย่างนั้น ควรทำอย่างนี้ดีกว่า มันก็เกิดอีกมุมมองที่มาเติมให้ครบสามมิติ หรือถ้าเราเป็นกัปตันเรือ ก็ไม่ควรจะไปวิ่งเย้วๆ แต่ควรมานั่งมองเรือของเราทุกด้านดีกว่า แล้วคิดว่าจะต้องแล่นไปทางไหน อย่างไรให้ถึงเร็ว และปลอดภัยที่สุด"
"จะว่าไปแล้ว ก็เหมือนเป็นการปรับหน้าที่ แทนที่จะเป็นโอเปอเรเตอร์ ก็เป็นแอดไวเซอร์ ขณะเดียวกัน พอเราทำงานน้อยลง ก็มีเวลามากขึ้น มีจินตนาการเรื่องงานมากขึ้น แถมยังเป็นถังความคิดได้ด้วย ดังนั้นทุกวันนี้ เป้าหมายและนโยบายขององค์กรจึงมาจากผมคนเดียว เพราะผมได้มานั่งคิด นั่งฝันตรงนี้"

ตรงที่เป็นแพวิเวก ใกล้กับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ที่ไม่เพียงจะเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ หากยังเป็นนิวาสสถานอันสงบราบรื่นอีกแห่งหนึ่ง นอกจากบ้านที่กรุงเทพฯ

ดังนั้น ไม่ว่ากรอบความคิดในการบริหารงาน การวางแผน และปัญหาต่างๆ ที่ถูกแก้ไข จึงมาจากแพวิเวกทั้งสิ้น รวมทั้งหนังสือ "ผมจะเป็นคนดี" และ "มองโลกแบบวิกรม" และหนังสืออัตชีวประวัติอีก 4 เล่มที่จะตามมาเร็วๆ นี้

ก็ถูกเขียนที่นี่ทั้งสิ้น

เพราะอย่างที่เขาบอก…ตัวเขามาจากศูนย์ เมื่อตายจากไป ก็กลับไปที่ศูนย์เช่นเดียวกัน ดังนั้น ไม่ว่าชีวิตจะดำเนินต่อไปอย่างไร

สิ่งที่เขาหวังสุดท้ายคือขอทำอะไรให้กับสังคมบ้าง

เพราะสังคมหลอมให้เขาเป็นเขาในวันนี้

ในวันที่ "วิกรม กรมดิษฐ์" คือคนของสังคมไปเสียแล้ว?

จากคอลัมน์ ถนนสายนี้ไม่มีทางลัด
ข้อเขียนโดย สาโรจน์ มณีรัตน์
นสพ.มติชน ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ 26 พย.2549

 

สร้างความดีจากเรื่องร้าย


ความสำเร็จจากหน้าที่การทำงาน นำพาให้สังคมรู้จักบุคคลนั้นเพียงด้านเดียว ทว่าระหว่างการเดินทางของชีวิตแต่ละคน ล้วนผ่านเหตุการณ์สำคัญอีกหลากหลาย ซึ่งนำมาเป็นข้อคิดบทเรียนแก่สังคม ได้ วิกรม กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อมตะคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นบุคคลหนึ่งที่ผ่านเรื่องราวทั้งบวกและลบ และกล้าถ่ายทอดเป็นหนังสือ

เรื่องราวผ่านน้ำเสียงหนักแน่นของคุณวิกรมว่า นอกจากศึกษาเล่าเรียนจบวิศวกรรมศาสตร์แล้ว พื้นฐานชีวิตไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานการเขียนเลย แต่ตัดสินใจเพิ่มบทบาทนักเขียน จากงานหลักนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ด้วยเหตุผลหลายประการ อย่างแรกอายุมากขึ้นขณะอายุครบ 4 รอบ คิดว่าโอกาสมีชีวิตอยู่น้อยลง จึงควรทำอะไรเป็นเรื่องเป็นราว อีกทั้งมีเรื่องราวเกี่ยวกับความคิด ครอบครัว ผลงาน ซึ่งเมื่อเรียบเรียงให้ดี น่าจะสามารถนำมาเขียนเป็นเรื่องได้เป็นประโยชน์ ที่สำคัญทำอย่างไรให้เนื้อหานั้นเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ด้วยความคิดว่าการทำสิ่งเป็นประโยชน์ น่าจะได้รับผลดีสะท้อนกลับมา และเหตุผลสุดท้ายมองว่าผู้ควรได้รับประโยชน์จากเนื้อหา คือ กลุ่มเด็กนักเรียน อนาคตของประเทศชาติ และกลุ่มนักโทษที่เรียกว่าเป็นภาระของสังคม

“เริ่มเขียนหนังสือเมื่อ 8 ปีที่แล้ว เขียนไปร้อยละ 20-30 เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ แต่เขียนจนจบ กระทั่งเป็นหนังสือเล่มแรกในชีวิต “ผมจะเป็นคนดี”พิมพ์ครั้งแรกจำนวน 200,000 เล่ม นำไปมอบให้กระทรวงศึกษาฯ 70,000 เล่ม กรมราช ทัณฑ์ 30,000 เล่ม และกรมพินิจและคุ้มครองจำนวน 30,000 เล่ม ถือว่าการเขียนหนังสือบรรลุวัตถุประสงค์”
จากเล่มแรก สู่หนังสือเล่มที่ 2 “มองโลกแบบวิกรม” เนื้อหาเกี่ยวกับสิ่งที่พูดในรายการวิทยุ และหน้าที่คอลัมนิสต์ ทิ้งช่วงอีกไม่นาน “ผมจะเป็นคนดี” หนังสือเล่มที่ 3 ผลพวงจากหนังสือเล่มแรกตามออกมา ผู้อ่านส่งจดหมายมากกว่า 5,000 ฉบับ บอกถึงความรู้สึกที่ดี และประโยชน์ที่ได้จากการอ่านหนังสือ ทำให้มีกำลังใจและคิดเป็นคนดี มีหลายคนเขียนต่อว่า ที่ทำไม่ดีต่อบุพการี กระนั้นอยากให้เขียนหนังสือต่อ จากจดหมายเป็นแรงดลใจให้แตกเนื้อหาจากหนังสือเล่มแรก ออกมาอีก 4 เล่ม เล่มแรกภาค “ไฟฝันวันเยาว์” เล่ม 2 ภาคธุรกิจที่ทำมากว่า 30 ปี เล่ม 3 ภาค My Lady เกี่ยวกับความรัก และเล่ม 4 ภาค “คนล่าฝัน” จะออกจำหน่ายเดือน ต.ค.ของแต่ละปี

“เป็นนักเขียนมีภาระมากขึ้น ต้องอ่าน เขียน ถ่ายทอดเรื่องราวในวิทยุ เอฟเอ็ม 96.5 และเขียนในนิตยสารและหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ขณะเดียวงานโทรทัศน์เพิ่มขึ้น แม้เหนื่อยมากขึ้นแต่เมื่องานเสร็จ มีประโยชน์ต่อผู้อื่น ก็มีความสุข พบคนที่อ่านหนังสือ ทุกคนบอกว่ามีประโยชน์ นำสิ่งที่เขียนไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ ทุกครั้งที่ได้รับคำชม ดีใจมีความสุข เพราะสิ่งที่ทำไปทั้งหมดไม่ได้หวังเงินทอง หวังเพียงประ โยชน์ที่ได้กลับมา และได้เห็นคนไม่ย้ำผิดย้ำถูกเหมือนเรา และตั้งใจจะเขียนหนังสือไปจนวันตาย โดยตั้งชื่อไว้ว่า “เมื่อวันนั้นมาถึง” เป็นเรื่องของชายแก่คนหนึ่งที่รอความตาย”.

ข้อเขียนโดย เยี่ยมรุ้งนสพ.เดลินิวส์



Create Date : 26 พฤศจิกายน 2549
Last Update : 29 ธันวาคม 2565 9:02:16 น.
Counter : 2258 Pageviews.

18 comments
  

บทความต่าง ๆ ในบล็อกก็ถือว่าเป็นทรัพย์สินที่แจกจ่ายให้กับผู้มาอ่านเช่นกันค่ะ
โดย: แซนด์ซี วันที่: 26 พฤศจิกายน 2549 เวลา:11:16:12 น.
  
ป้ามดติดตามรายการชองเขาเป็นประจำทุกวันที่ 96.5 กำลังจะร่วมสนุกเพื่อนล่ารางวัลเป็นหนังสือเรื่องนี้ล่ะคะ
ประทับใจความรู้ที่คุณวิกรมมาแบ่งปันให้ แต่ไม่ประทับใจอยู่อย่างเดียวละ ที่เขาพูดไม่มีควบกล้ำสักเท่าไหร่ แต่พอจะละเว้นให้ เพราะรายการมีประโยชน์และน่าสนใจเกินกว่าจะนึกถึงเรื่องหยุมหยิมค่ะ
โดย: ป้ามด วันที่: 26 พฤศจิกายน 2549 เวลา:15:07:48 น.
  
แวะมารับความรู้และมาส่งความสุขนะคะ



โดย: d__de (มัชชาร ) วันที่: 26 พฤศจิกายน 2549 เวลา:21:55:31 น.
  
ดีใจครับ ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของคุณวิกรมมาลง แล้วมีผู้ที่สนใจหลายท่าน ขอขอบคุณทุกท่านที่แวะเข้ามาเยี่ยมชมครับผม
โดย: หนุ่มร้อยปี (หนุ่มร้อยปี ) วันที่: 27 พฤศจิกายน 2549 เวลา:10:33:20 น.
  


สวัสดีครับ ลุงกล้วยขอขอบคุณมากนะครับสำหรับคำอวยพรครับ
โดย: ลุงกล้วย วันที่: 28 พฤศจิกายน 2549 เวลา:7:49:36 น.
  
เข้ามาอ่าน ตอนแรกผมคิดว่าจะได้อ่านประวัติตั้งแต่เกิด ทราบว่าเขาเป็นคนเก่งมาก....
โดย: yyswim วันที่: 28 พฤศจิกายน 2549 เวลา:11:41:32 น.
  
การจะเป็นคนเก่งและคนดี สังคมจะป้อนให้ท่าน

และเมื่อรับไว้แล้ว ท่านจะอยู่อย่างลำบากขึ้นไปหลายเท่า

เพราะ การเป็นคนเก่งตลอดกาล ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก

การเป็นคนดีตลอดกาล ก็เช่นกัน !
โดย: ดำรงเฮฮา วันที่: 29 พฤศจิกายน 2549 เวลา:1:51:27 น.
  
คนดีของสังคมครับ น่าศึกษาและเอาอย่างด้วย
ขอบคุณครับที่ทำให้ได้เรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตของคนดีคนนึง
โดย: ต่อตระกูล วันที่: 29 พฤศจิกายน 2549 เวลา:19:59:59 น.
  
ขอบคุณสำหรับ คุณyyswim/คุณดำรงเฮฮา/คุณต่อตระกูล/และคุณ ลุงกล้วย ที่กรุณาเข้ามาเยี่ยมชมครับผม
โดย: หนุ่มร้อยปี (หนุ่มร้อยปี ) วันที่: 30 พฤศจิกายน 2549 เวลา:10:15:26 น.
  


ขอบคุณนะคะที่นำเรื่องราวดีดีมาฝาก
แจ่มมากๆ ค่ะ
อากาศเปลี่ยนแปลงรักษาสุขภาพด้วยนะคะ
โดย: อุ้มสี วันที่: 3 ธันวาคม 2549 เวลา:0:14:28 น.
  
สวัสดีค่ะ ดีใจจังที่ได้มาเจอะเจอ บล็อคดีๆ แบบนี้

อยากอ่านหนังสือของคุณวิกรม จังเลยค่ะ
โดย: paninee (paninee ) วันที่: 21 ตุลาคม 2550 เวลา:12:52:20 น.
  
ดีจังค่ะ ชอบๆ ทำประดยชน์เพื่อสังคม เมื่อตัวเองมีความหร้อมมากขึ้น
โดย: law of nature ไม่ได้ล็อกอิน IP: 81.106.200.74 วันที่: 21 ตุลาคม 2550 เวลา:13:53:05 น.
  
เหนื่อยนัก ก็ พัก บ้าง...นะคะ
หนทาง ยังอีกยาวไกลค่ะ
โดย: หนูดี IP: 124.121.210.41 วันที่: 22 ตุลาคม 2550 เวลา:21:35:09 น.
  
สวัสดีค่ะ ดีใจค่ะที่เข้ามาอ่านในเวปนี้ พึ่งจะรู้จักคุณวิกรม(มัวอยู่หลังเขา)เมื่อได้ดูรายการที่นี่หมอชิตวันที่ 11 พ.ย.50 แต่ก็มาดูตอนท้ายแล้ว ดีค่ะเมื่อเรามีและสามารถจะให้ผู้อื่นได้ ก็ควรจะให้ ดีกว่าคนบางประเภทที่ต้องการจะได้ กอบโกยเพียงอย่างเดี่ยว โดยไม่คิดจะให้ผู้อื่นบ้าง ถ้าคนประเภทหลังมีเยอะต่อไปสังคมของเราคงจะแย่มากๆๆ ค่ะ
โดย: ruamritkp IP: 125.24.249.239 วันที่: 17 พฤศจิกายน 2550 เวลา:13:09:05 น.
  
สวัสดีค่ะ ติดตามผลงานคุณวิกรม ทุกเล่มเลย น่าสนใจ ชอบแนวคิดคุณวิกรมมาก แตกต่างจากคนอื่นๆ แต่ ก็เป็นความแตกต่างที่ดี ให้แง่คิดไปอีกมุม การที่คิดไม่เหมือนคนอื่นไม่ใช่ว่าจะเป็นเรื่องผิด จะคอยติดตามผลงานตลอดไป ทั้งหนังสือ รายการวิทยุและโทรทัศน์ น่ะค่ะ
โดย: ใส่ใจ IP: 58.8.100.42 วันที่: 24 มกราคม 2551 เวลา:17:54:47 น.
  
คุณวิกรมเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับคนที่ไม่เคยย่อท้อหรือสินหวังเมื่อล้มต้องรู้จักที่จะลุกเอง ตัวเองถ้าไม่ช่วยตัวเองแล้วจะหวังพึ่งพาใครเขาได้
โดย: ปราชญ์น้อย IP: 202.57.152.87 วันที่: 1 พฤษภาคม 2551 เวลา:11:42:46 น.
  
ชื่ยชมที่คุณวิกรมเป็นคนรักพี่น้อง มีมานะพยายามและอดทนมาก เป็นคนฉลาดแก้ปัญหาด้วยตัวเองมาตั้งแต่เด็ก คงเป็นกุศลส่วนหนึ่งที่ทำให้เจริญก้าวหน้า
โดย: Amoo IP: 203.144.217.230 วันที่: 30 มิถุนายน 2551 เวลา:17:09:53 น.
  
ur life is incredible.I love and believe in ur dream.Nobody can copy u.
โดย: kanjanan Sakchatchawan IP: 118.172.219.196 วันที่: 21 มีนาคม 2552 เวลา:18:56:10 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

หนุ่มร้อยปี
Location :
กรุงเทพ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 24 คน [?]



บล็อกนี้สร้างสรรค์ขึ้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2549 โดย ชายไทยวัยสูงอายุ มีวัตถุประสงค์ในการบันทึกและนำเสนอเรื่องราวต่างๆแบบครอบจักรวาล อาทิ ภาพยนตร์ ดนตรี รายการทีวี หนังสือน่าอ่าน อาหารน่ากิน ท่องเที่ยว สะสมสิ่งของ ตำนานชีวิตบุคคลน่าสนใจ รู้ไว้ใช่ว่า จิปาถะ
ฯลฯ เป็นต้น คำขวัญประจำบล็อก ประสบการณ์ชีวิตที่ดีในอดีต คือทรัพยากรที่ทรงคุณค่าในปัจจุบัน คำขวัญประจำตัวเจ้าของบล็อก "อายุเป็นเพียงตัวเลข" บรรณาธิการบริหารบล็อกคือ หนุ่มร้อยปี บล็อกนี้ไม่สงวนลิขสิทธิ์ตามกฏหมาย ท่านใดเห็นว่าข้อเขียนหรือภาพประกอบในบล็อกนี้มีประโยชน์ สามารถนำไปใช้ได้ แต่โปรดอ้างอิงชื่อบล็อกนี้ด้วย จักขอบคุณยิ่ง