ทำดี มีความสุข... และสนุกทุกๆวัน
<<
กันยายน 2552
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
15 กันยายน 2552

พระราชวังบางปะอิน

(ความรู้ประกอบบล็อก เอามาจากเว็ปต่างๆค่ะ เช่น วิกิพีเดีย และ เว็ปท่องเที่ยว)


ตั้งอยู่ในตำบลบ้านเลน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

อยู่ ห่างจากเกาะเมืองลงมาทางทิศใต้ประมาณ 18 กิโลเมตร เป็นพระราชวังโบราณตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา สร้างขึ้นโดยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เนื่องจากเป็นที่ประสูติของพระองค์ ใช้เป็นสถานที่ที่ทรงใช้ประทับแรม ของพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ด้วยเป็นพระราชวังใกล้พระนครนั่นเอง

เมื่อครั้งเสียกรุงแก่พม่าครั้ง ที่สอง พระราชวังบางปะอินถูกปล่อยให้รกร้างมาระยะหนึ่ง พระราชวังบางปะอินกลับมาเป็นที่รู้จักอีกครั้งเมื่อสุนทรภู่ ซึ่งได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ไปนมัสการพระพุทธบาทสระบุรี ได้ประพันธ์ถึงพระราชวังบางปะอินไว้ในนิราศพระบาท

จนกระทั่งในรัช สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้เริ่มการบูรณะพระราชวังขึ้น และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้บูรณะครั้งใหญ่ โดยสร้างพระที่นั่ง พระตำหนัก และตำหนักต่าง ๆ ขึ้นมากมายเพื่อใช้เป็นที่ประทับ รับรองพระราชอาคันตุกะ และพระราชทานเลี้ยงในโอกาสต่าง ๆ

ในปัจจุบัน พระราชวังบางปะอินอยู่ในความดูแลของสำนักพระราชวัง และยังใช้เป็นสถานที่แปรพระราชฐาน ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรม วงศานุวงศ์ รวมถึงประกอบพระราชพิธีสังเวยพระป้าย

แต่ได้เปิดให้ประชาชน และนักท่องเที่ยวเข้าชมได้ โดยต้องแต่งกายให้สุภาพ


อากาศร้อนๆ แดดจ้า ควรนำร่ม แว่น และพัดติดตัวไปด้วย

สถานที่กว้างใหญ่โต เช่ารถไฟฟ้าขับเที่ยวก็คุ้มค่ะ นั่งได้ 4 คน






หอเหมมณเฑียรเทวราช หรือที่บางคนเรียกกันว่า "ศาลพระเจ้าปราสาททอง" เป็นปรางค์ศิลา จำลองแบบจากปรางค์ขอม

ภายในประดิษฐานเทวรูปสมมุติแทนพระองค์พระเจ้าปราสาททอง

ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นนอก ริมสระใต้ต้นโพธิ์ ภายในพระราชวังบางปะอิน


ประวัติ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างหอเหมมณเฑียรเทวราชขึ้นในระหว่างปี พ.ศ. 2415 - 2419

ต่อ มา มีการสร้างในครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2423 เนื่องจากเหตุการณ์ เรือพระประเทียบของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ล่ม เป็นเหตุให้พระองค์สวรรคตพร้อมพระราชธิดาและพระราชโอรส(ธิดา)ในพระครรภ์

ดัง นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระราชวิตกว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ จะทรงได้รับอันตราย จึงทรงบนว่าถ้าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศปลอดภัยจากการเดินทางในครั้งนี้จะทรงสร้างศาลถวายใหม่

เมื่อ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศทรงปลอดภัยจากการเดินทาง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างศาลขึ้นมาใหม่ แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2432





สภาคารราชประยูร เป็นอาคาร 2 ชั้น ศิลปะแบบโคโลเนียล ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นนอก ริมสระน้ำตรงข้ามกับหอเหมมณเฑียรเทวราช

ปัจจุบัน ใช้เป็นอาคารจัดแสดงประวัติและเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ของพระราชวังบางปะอิน


ประวัติ

พระ บาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้จัดสร้างสภาคารราชประยูรขึ้น เพื่อพระราชทานให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ และเจ้านายฝ่ายหน้า

โดยก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2419

นอกจากนั้น สภาคารราชประยูรยังเป็นที่ทำการของ "หอทะเบียนเมืองกรุงเก่า" ซึ่งเป็นสำนักงานที่ดินกรุงเก่าแห่งแรกของประเทศไทยด้วย





สะพานตุ๊กตา

พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์

ประตูเทวราชครรไล





พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์

เป็นพระที่นั่งปราสาทโถงกลางน้ำ สร้างในแบบจตุรมุข


พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จำลองแบบมาจาก พระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง

สร้าง แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2419 และพระราชทานนามว่า "พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์" ตามนามพระที่นั่งองค์แรก ซึ่งสมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ณ พระราชวังบางปะอินแห่งนี้


พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ จัดได้ว่าเป็นผลงานชิ้นเอกแห่งกรุงรัตน โกสินทร์ ซึ่งเคยได้รับเกียรติให้สร้างจำลองแบบไปแสดงในงานมหกรรมนานาชาติ ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เมื่อ พ.ศ. 2501

ปัจจุบัน เป็นสถานที่ประดิษฐาน รูปหล่อสัมฤทธิ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฉลองพระองค์เต็มยศจอมพลทหารบก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น





พระที่นั่งวโรภาษพิมาน เป็นพระที่นั่งตึกชั้นเดียว โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นตรงบริเวณที่ประทับเดิมของพระองค์ ในพระราชวังบางปะอิน แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2419

เมื่อแรกสร้างเป็นอาคารตึกสองชั้น ต่อมาได้ดัดแปลงรื้อลงเป็นชั้นเดียว มีท้องพระโรงสำหรับเสด็จออกว่าราชการ และใช้เป็นที่ประทับ

ภายในห้องทรงพระสำราญ และห้องโถงรับรอง ประดับภาพเขียนสีน้ำมัน ภาพเขียนสีฝุ่น และพระราชพงศาวดารจากวรรณคดีไทยหลายเรื่อง

พระ บาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้วาดภาพเหล่านี้ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2430 นอกจากนี้ ยังมี สิ่งประดับล้ำค่าชิ้นเอกของโลกด้วย คือแจกันสลับสีเขียนลายทอง

ในรัชกาลปัจจุบัน พระที่นั่งวโรภาษพิมานยังใช้เป็นที่ประทับ เมื่อมีการเสด็จแปรพระราชฐาน ณ พระราชวังบางปะอิน

แต่ยังเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้ โดยไม่สามารถถ่ายภาพภายในพระที่นั่งได้ และสุภาพสตรีต้องสวมกระโปรงเข้าชม






พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร เป็นพระที่นั่งองค์ประธานของพระราชวังบางปะอิน


เดิมเป็นเรือนไม้ 2 ชั้น ทาสีเขียวอ่อนและเขียวแก่สลับกัน แต่เกิดไฟไหม้พระที่นั่งทั้งองค์ระหว่างการบูรณะเมื่อปี พ.ศ. 2481


สมเด็จ พระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ จึงได้ขอพระบรมราชานุญาตให้สร้างพระที่นั่งองค์นี้ขึ้นมาใหม่ เพื่อเป็นที่ประทับในการเสด็จแปรพระราชฐาน และรับรองพระราชอาคันตุกะ


เก๋งบุปผาประพาส (เรือนเล็กๆสีชมพู) สำหรับประทับชมดอกไม้ สร้างด้วยไม้ขนาดเล็ก อยู่ในสวนริมสระต่อจากพระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียรออกไปทางทิศตะวันตก





พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ


เป็นพระที่นั่ง สองชั้น สถาปัตยกรรมแบบจีน ตั้งอยู่ภายในพระราชวังบางปะอิน สร้างในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2432

พระ ที่นั่งองค์นี้มีนามในภาษาจีนว่า เทียน เม่ง เต้ย แปลเป็นไทยว่า พระที่นั่งฟ้าสว่าง (เทียน แปลว่า เวหา , เม่ง แปลว่า จำรูญ , เต้ย แปลว่า พระที่นั่ง)

ใช้เวลาในการสร้างประมาณ 10 ปี และเป็นพระที่นั่งองค์สุดท้ายที่สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 5


พระ ที่นั่งเวหาศน์จำรูญ เป็นของถวายของข้าราชการกรมท่าซ้าย คือ พ่อค้าใหญ่ชาวจีน โดยมีพระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ฟัก โชติกสวัสดิ์) เป็นนายงาน หลวงสาทรราชายุกต์ (ยม พิศลยบุตร) และ หลวงโภคานุกุล (จื๋ว) เป็นผู้ควบคุมในการก่อสร้าง และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าทองแถม กรมหมื่นสรรพศาสตร์ศุภกิจ เป็นผู้ควบคุมดูแล

เมื่อ พระที่นั่งสร้างเสร็จ รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ จัดให้มีพระราชพิธีเฉลิมขึ้นพระที่นั่งตามแบบจีน เมื่อวันที่ 27 - 31 ธันวาคม พ.ศ. 2432


ชั้นล่าง

ชั้นล่างของพระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ นั้น ใช้เป็นห้องพระบรรทมพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งจะอยู่ทางทิศตะวันออกของพระที่นั่ง และใช้เป็นท้องพระโรง ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ท้องพระโรงล่าง และท้องพระโรงบน

โดยบริเวณทางขึ้นท้องพระโรงบนนั้นมีแผ่นหินอ่อนเป็นตราสัญลักษณ์ลัทธิเต๋า ของจีน รูปหยินหยางประดับไว้ มีพระราชอาสน์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งอยู่ตรงกลาง

นอก จากนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวยังโปรดเกล้าฯ ให้คัดลอกแผ่นป้ายคำโคลงสรรเสริญข้าราชการที่ทำคุณความดี 9 บท 17 แผ่นป้าย มาประดับไว้ด้วย

ส่วนท้องพระโรงบนนั้น เป็นห้องประชุมเสนาบดี และใช้เป็นที่ประทับของรัชกาลที่ 5 โดยมีการตั้งป้าย 8 เหลี่ยมซึ่งเขียนเป็นภาษาจีนว่า "เทียน เหมง เต้ย" และ "ว่าน ว่าน ซุย" ซึ่งแปลว่า ทรงพระเจริญหมื่น ๆ ปี และที่เพดานท้องพระโรงมีอักษรไทยที่เขียนเลียนแบบอักษรจีนเป็นคำว่า "กิม หลวน เต้ย" ซึ่งแปลว่า โอรสจากสวรรค์

ชั้นบน

ห้องชั้นบนของ พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ ประกอบด้วย 4 ห้องใหญ่ ได้แก่ ห้องบรรทมสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ห้องบรรทมพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ห้องทรงพระอักษร และห้องพระป้าย โดยมีรายละเอียดดังนี้

ห้องทรงพระอักษร

ห้อง ทรงพระอักษรตั้งอยู่ในทางทิศใต้ของพระที่นั่ง ภายในห้องมีโต๊ะทรงพระอักษรของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งอยู่ ปัจจุบันใช้เป็นที่เก็บหนังสือภาษาจีนในรัชสมัยรัชกาลที่ 5


ห้องพระป้าย

ห้อง พระป้ายติดกับห้องทรงพระอักษรเป็นที่ประดิษฐานพระวิมาน 3 องค์ติดต่อกัน เรียงจากทิศตะวันตก ไปตะวันออก ทำด้วยไม้แกะสลักลวดลายต่าง ๆ ลงรักปิดสีทองอร่าม

* ช่องตะวันตกเป็นสถานที่ประดิษฐานพระป้ายจารึก (อักษรจีน) พระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ พระนามาภิไธย สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี สมเด็จพระอัครมเหสีในรัชกาลที่ 4 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2433

* ช่องกลางเป็นสถานที่ประดิษฐาน พระพุทธรูป ในการประกอบพระราชพิธีสังเวยพระป้าย

* ช่องตะวันออกเป็นสถานที่ประดิษฐานพระป้ายจารึก(อักษรจีน) พระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ พระนามาภิไธย สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2470

นอกจากนี้ เสาด้านหน้าพระวิมานได้แขวนป้ายสุภาษิตจีนได้ โดยด้ายซ้ายแปลว่า "ในหมู่ชนจะหาความสามัคคีธรรมเสมอพี่น้องได้ยาก" และด้านขวา แปลได้ว่า "ในใต้หล้าจะหาความผิดในพ่อแม่ไม่มี"

นอกจากนี้ ยังมีห้องอีก 2 ห้อง ได้แก่ ห้องบรรทมพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และห้องบรรทมสมเด็จพระบรมราชินีนาถ

โดย ห้องบรรทมสมเด็จพระบรมราชินีนาถนั้น ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของพระที่นั่ง ภายในมีพระแท่นบรรทม 2 องค์ สำหรับทรงใช้ในฤดูร้อนและฤดูหนาว เพดานเหนือพระแท่นมีการแกะสลักลายมังกรดั้นเมฆ ซึ่งหมายถึง พระมหากษัตริย์ที่คอยปกป้องคุ้มครองพระมเหสี





หอวิฑูรทัศนา

ตั้งอยู่ระหว่างพระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียรและพระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นภายในพระราชวังบางปะอิน แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2424 พร้อมทั้งได้พระราชทานนามหอนี้ว่า "หอวิฑูรทัศนา"


ใช้สำหรับเป็นที่เสด็จขึ้นไปทอดพระเนตรภูมิประเทศโดยรอบของพระราชวัง กล่าวกันว่าเมื่อแรกสร้างนั้น ยังมองเห็นช้างป่า เป็นโขลง ๆ เดินอยู่ตามชายทุ่ง หรือถ้าขึ้นไปดูในช่วงฤดูทำนาก็จะเห็นความงามของทุ่งนาในช่วงต่าง ๆ จนมีคำกล่าวว่า "ดูนาที่ไหนเล่า ไม่เท่าที่บางปะอิน"

หอวิฑูรทัศนา มีความสูง 30 เมตร ลักษณะเป็นหอคอยสูง 3 ชั้น 12 เหลี่ยม ยอดหอคอยคลุมด้วยหลังคารูปครึ่งวงกลม มีสถาปัตยกรรมผสมผสานของยุโรป ตัวอาคารทาสีแดงสลับเหลือง

ภายในมีบันไดเวียนขึ้นสู่ชั้นบน 112 ขั้น โดยแบ่งเป็น จากพื้นชั่นล่างขึ้นไปยังชั้นที่ 1 จำนวน 18 ขั้น จากชั้นที่ 1 ขึ้นไปยังชั้นที่ 2 จำนวน 55 ขั้น และจากชั้นที่ 2 ขึ้นไปยังชั้นที่ 3 จำนวน 39 ขั้น





ตำหนักเก้าห้อง เป็นตำหนักที่ประทับของพระบรมวงศ์ฝ่ายใน ที่ตามเสด็จฯ คราวแปรพระราชฐานมาประทับที่พระราชวังบางประอิน

โดยมีสถาปัตยกรรมแบบยุโรป ก่ออิฐถือปูน มี 2 ชั้น มี 3 มุข ได้แก่ มุขข้าง 2 ด้าน และมุขกลาง (คล้ายรูปตัว E)

ผนังระหว่างเสาชั้นล่างเป็นวงโค้ง และชั้นบนเป็นช่องสี่เหลี่ยมมีการประดับด้วยไม้ฉลุลาดขนมปังขิง

มีทางขึ้นตำหนัก 5 ทาง ด้านหน้าตำหนัก 3 ทาง และระเบียงหลัง 2 ทาง

ตำหนัก เก้าห้อง ตั้งอยู่ระหว่างตำหนักพระราชชายา เจ้าดารารัศมีและพระตำหนักพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา

ปัจจุบันใช้เป็นที่พักของนายทหารของศูนย์รักษาความปลอดภัย ตั้งแต่ยศพันตรีขึ้นไป


+++รายละเอียดของพระตำหนักอื่น ดูได้ตามนี้ค่ะ+++

//th.wikipedia.org/wiki/พระตำหนักฝ่ายใน_(พระราชวังบางปะอิน)






อนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ เป็นอนุสาวรีย์ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์

ตั้ง อยู่ด้านตะวันออกของพระราชวังบางปะอิน ถัดจากหอวิฑูรทัศนา โดยมีลักษณะเป็นฐานรูปทรงสี่เหลี่ยมและยอดหกเหลี่ยมทรงสูง สร้างด้วยหินอ่อนจากประเทศอิตาลี





อนุสาวรีย์ราชานุสรณ์ เป็นอนุสาวรีย์ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาฯ โปรดเกล้าให้สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงพระอัครชายาเธอ 1 พระองค์ พระราชโอรส 2 พระองค์ และพระราชธิดา 1 พระองค์ ที่สิ้นพระชนม์ในปีเดียวกัน ได้แก่

1. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2430

2. พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคนารีรัตน์ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2430

3. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย กรมพระเทพนารีรัตน์ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2430

4. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าตรีเพ็ชรุตม์ธำรง สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2430

อนุสาวรีย์ราชานุสรณ์ ตั้งอยู่ด้านตะวันออกของพระราชวังบางปะอิน อยู่ใกล้กับอนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์

สร้างด้วยหินอ่อน แต่ละด้านของอนุสาวรีย์ประดับด้วยพระรูปเหมือนแกะสลักด้วยหินอ่อน ของทั้ง 4 พระองค์





Create Date : 15 กันยายน 2552
Last Update : 15 กันยายน 2552 13:15:15 น. 1 comments
Counter : 3780 Pageviews.  

 
ไปมาแล้ววันที่ 11 พ.ค. 2557 สวยจริงๆ


โดย: วินัย สมประสงค์ IP: 27.55.153.204 วันที่: 13 พฤษภาคม 2557 เวลา:10:09:51 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ceacar salad
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




......peek ka boo , I see you !
[Add ceacar salad's blog to your web]