Group Blog
 
<<
เมษายน 2550
 
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
4 เมษายน 2550
 
All Blogs
 

คัชการ์ ...โอเอซิสบนเส้นทางสายไหม

ฉันนั่งรถบัสจากเมืองทูลู่ฟาน หรือ เตอร์ปัน (Turpan) ในภาษาอุยกูร์ ในแคว้นซินเกียงมายัง เมืองคาฉือ หรือ คัชการ์ (Kashgar) ในภาษาอุยกูร์ ตอนขึ้นไปนั่งบนรถ พลันก็ได้ยินเสียงคุยภาษาบ้านเกิดที่คุ้นเคยจากคนข้างๆ ไม่คิดไม่ฝันจะมาเจอคนไทยกลุ่มใหญ่ที่นี่ พวกเขาพากันมา 6 คน ต่างจากฉันที่มีแค่หัวเดียวกระเทียมลีบ ฉันเอ่ยปากทักทายไปตามที่มาของเสียง เราทุกคนต่างยินดีที่ได้เจอเพื่อนร่วมทางที่พูดภาษาเดียวกันได้ โดยไม่ต้อง (ฝึก) พูดภาษาอังกฤษเหมือนเจอคนชาติอื่น เพราะพิกัดที่เราอยู่ หาคนไทยได้ยากยิ่งราวกับงมเข็มในทะเลทราย (เผอิญที่ซินเกียงไม่มีมหาสมุทร)

ฉันยังได้เจอ “แหม่ม” ฝรั่งหัวทองคนเดียวในรถคันนั้น เรา 2 คนมองตากันจำกันได้ เพราะได้เคยเจอกันมาแล้วที่ปักกิ่ง ขณะกำลังทำวีซ่าอยู่ในสถานทูตปากีสถาน เราทักทายกันด้วยรอยยิ้ม ยังไม่ได้สนทนาใดๆ แล้วฉันก็ไม่เจอเธออีกเลย จนกระทั่งมาเจอกันอีกทีที่นี่ เรายังคงทักทายผ่านทางรอยยิ้มเหมือนเดิม

มารู้ภายหลังว่า รถคันนี้มีปลายทางอยู่ที่เมืองโฮตัน (Hotan) เมืองใหญ่ทางตอนใต้ของซินเกียง แต่พวกเราคนไทยต่างไม่ได้มีจุดหมายอยู่ที่ปลายทางนั้น ฉันจะไปเมืองคัชการ์ ส่วนเพื่อนๆที่เหลือจะไป เมืองคู่เฌอ (Kuche) ซึ่งจะถึงก่อนประมาณช่วงค่ำๆของวันนี้ ส่วนของฉันต้องข้ามวันข้ามคืนอีกยาวไกล แต่อย่างน้อยตลอดช่วงบ่ายนี้ ฉันคงไม่เหงาปาก ได้คุยได้ถกกันไปตลอดทาง บรรยากาศครื้นเครง ฉันแทบจำไม่ได้แล้วว่าฉันไปเที่ยวกับเพื่อนกลุ่มใหญ่แบบนี้ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่

ยิ่งเปิดประเด็นเส้นทางการเดินทางกว่าจะมาถึงที่นี่ บทสนทนาก็ยิ่งออกรส ต้องพูดว่าเจอคอเดียวกัน คือพวกนิยมเดินทางทางบกมากกว่าอากาศ เส้นทางของพวกเขาก็คล้ายๆกับของฉันคือ จากเมืองซีอานซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางสายไหม ก็เดินทางผ่าน เมืองเจี้ยหยูกวน ตุนหวง เทอร์ปัน คู่เฌอ แต่พวกเขาจะเบี่ยงเส้นทางตัดทะเลทรายทาคลามากันเพื่อไปยังเมืองโฮตัน ในขณะที่ฉันเดินทางตรงเข้าคัชการ์เลย

พอได้คุยเรื่องการเดินทางทีไร ฉันมักจะพาคู่สนทนาออกทะเล ข้ามไปไกลถึงทวีปอื่นๆ... ยุโรป แอฟริกา อเมริกาใต้ ...ทั้งๆที่ตัวเองยังไม่เคยออกนอกเขตทวีปเอเชียด้วยซ้ำ ตามประสาคนเพ้อฝัน เพ้อเจ้อ ลมๆแล้งๆ

ประมาณ 2 ทุ่ม รถก็เดินทางมาถึงเมืองคู่เฌอ ในที่สุดเวลาแห่งการบอกลาก็มาถึง เราได้แลกเปลี่ยนอีเมลล์กันด้วย การบอกลาเพื่อนใหม่ๆระหว่างเดินทาง ถือเป็นเรื่องชาชินไปแล้วสำหรับฉัน หลังจากพวกเขาลงจากรถไป ฉันก็ได้อยู่กับตัวเองเหมือนเดิม

ฉันหันชำเลืองไปมองแหม่มคนนั้น เธอยังคงนั่งอยู่ที่เดิม ฉันรู้สึกอบอุ่นในใจอย่างบอกไม่ถูก แม้ว่าเราจะไม่เคยพูดคุยกันเลย แต่ฉันก็รู้สึกได้ว่าไม่ได้เดินทางอยู่เพียงลำพัง

ผ่านคืนนั้นไปแบบไม่ได้หลับสนิทเนื่องด้วยระยะห่างระหว่างเก้าอี้ไม่สอดรับกับช่วงขา ช่วงเช้าตรู่ฉันถูกเชิญลงจากรถ เพื่อไปเปลี่ยนรถอีกคันที่จะไปคัชการ์ สมองสั่งการให้ฉันหันไปมองแหม่มคนนั้นทันที แต่เธอยังคงนั่งนิ่ง ไม่ได้เคลื่อนไหวย้ายตัวเองลงจากรถเหมือนกับฉัน เราบอกลากันด้วยรอยยิ้มอีกครั้ง

ฉันไม่สนใจใคร่รู้หรอกว่าตัวเองกำลังอยู่ตรงพิกัดไหนบนแผ่นที่ ฉันเพียงขอให้รถคันใหม่คันนี้พาตัวฉันไปถึงคัชการ์ให้ถูกเป็นพอ ฉันนั่งรถไปอีกครึ่งค่อนวัน ก็มาถึงคัชการ์ประมาณบ่าย 2 โมง สิริรวม 26 ชั่วโมงบนรถบัส

ฉันเดินไปตามแผนที่เพื่อไปยังที่พักที่ได้เล็งไว้ ตามที่แนะนำในไกด์บุ๊ค ระหว่างที่เดินไป ฉันนึกสงสัยว่านี่ฉันลงรถมาถูกเมืองหรือเปล่า เพราะภาพของบ้านเรือนที่นี่มันไม่ต่างอะไรกับหัวเมืองใหญ่ๆทางจีนตะวันออก..อย่างซีอาน (ฉันเรียกแบบนี้เพราะเมืองคัชการ์อยู่ทางตะวันตกปลายสุดของประเทศจีน) แต่ตามป้ายร้านค้า จะเห็นทั้งภาษาจีนและภาษาอารบิก หน้าตาผู้คนก็ดูคมเข้มออกไปทางพวกแขกขาว หรือถ้าจะเรียกตามศัพท์ภาษาอังกฤษ ก็คือ Indo European มีผิวขาว จมูกโด่ง สีผมและสีตาออกไปทางสีน้ำตาลอ่อน บางคนมีตาสีฟ้าด้วย แตกต่างไปจากมองโกลอยด์ผิวเหลืองอย่างคนจีน ฉันขอระบุให้ชัดขึ้นว่าคนจีนฮั่น เพื่อให้เห็นความแตกต่าง เพราะคนที่นี่ยังถือบัตรประชาชนที่บ่งบอกสัญชาติว่าเป็นคนจีนเช่นกัน แต่ต่างเชื้อชาติ ต่างภาษา ต่างศาสนา ต่างวัฒนธรรม ไปจากคนจีนฮั่น ฉันอดขำไม่ได้ตอนที่ไปสถานทูตปากีสถานในปักกิ่ง เห็นบรรดาคนกลุ่มหนึ่งหน้าตาเหมือนลูกครึ่งฝรั่งยืนเข้าแถว เดาได้ในทันทีว่ามีภูมิลำเนามาจากแถวๆซินเกียง แต่ถือบัตรประชาชนจีน มีชื่อจีน ดูช่างขัดกับใบหน้าซะเหลือเกิน

จากที่ได้เห็นภาพของเมืองนี้ก่อนมาจากการสืบค้นตามอินเตอร์เน็ต บรรยากาศเมืองนี้ออกไปทางเอเชียกลางที่จะมีวัฒนธรรมของอิสลาม แต่ภาพที่เห็นนี้มันไม่ใช่เลยสักนิด

เมื่อดูตามแผนที่ สถานที่ก็ตรงพิกัดวัดระยะถูกทุกอย่าง ชื่อถนนก็ตรง ครั้นเดินมาเจอรูปปั้นเหมาเจ๋อตงขนาดใหญ่ยักษ์ ในแผนที่ก็ปรากฎชัด ฉันคงเดาไม่ผิดเป็นแน่ นี่คือเมืองคัชการ์ แต่ในสไตล์แบบจีนยุคหลังปฏิวัติวัฒนธรรม ตึกรามจึงดูแข็งๆทื่อๆ กระนั้นเมืองนี้ยังมีส่วนที่เป็นเมืองเก่าอยู่ เพียงแต่ตรงจุดที่ฉันอยู่น่าจะอยู่ในเขตเมืองใหม่ ฉันปลอบใจตัวเองอยู่ในที แต่ก็อดตัดพ้อเสียมิได้ อุตส่าห์หอบสังขารมาไกลเป็นหลายพันกิโล เกือบจะตกขอบแผนที่แผ่นดินจีนอันไพศาล เกือบจะทะลุออกไปยังประเทศชื่อท้าย ”สถาน” ทั้งหลายอยู่มะรอมมะร่อ แต่วิญญาณเหมาเจ๋อตงพร้อมโปสเตอร์ขนาดใหญ่ยักษ์รูปดารานักร้องจีน ครบทั้งภาพและเสียง ยังอุตส่าห์เดินทางไกลตามมาหลอกหลอนกันอีก

คัชการ์ (Kashgar) คือเมืองโอเอซิสในเขตปกครองตนเองซินเกียง ตั้งอยู่ทางตะวันตกของทะเลทรายทาคลามากัน (Taklamakan Desert) และอยู่ในเขตเทือกเขาเทียนซาน คัชการ์ตั้งอยู่สูงพ้นจากระดับน้ำทะเล 1,290 เมตร ในอดีตคัชการ์เป็นเมืองเป็นศูนย์กลางทั้งทางการเมืองและการค้าขายบนเส้นทางสายไหม โดยเป็นเมืองที่เป็นจุดเชื่อมระหว่างเส้นทางทางเหนือ (Northern Route) และทางใต้ (Southern Route) จากจีน ซึ่งเป็นเส้นทางที่อยู่ตอนเหนือและตอนใต้ของทะเลทรายทาคลามากัน ตามลำดับ และยังเป็นเมืองที่สามารถเชื่อมต่อไปยังปากีสถาน บนเส้นทางคาราโครั่มไฮเวย์ (Karakoram Highway) ซึ่งเป็นถนนที่เชื่อมระหว่างคัชการ์กับกรุงอิสลามาบัด (Islamabad) ในปากีสถาน

ฉันเดินไปไกลซัก 3 กิโลเมตรเห็นจะได้ แต่ใช้เวลาเลยเถิดไป 1 ชั่วโมงกว่าๆ ด้วยความเหนื่อยล้าจากการเดินทางบวกก้อนหินยักษ์ที่ทับหลังฉันอยู่ ครั้นจะใช้บริการรถเมล์ ก็เกรงว่าจะได้แถมระยะได้เดินไกลขึ้น ส่วนรถแท็กซี่ก็ไม่เคยแล่นเข้ามาในสมอง ไม่รู้จัก ใช้ 2 ขาเดินดีกว่า เดินแล้วหยุด หยุดแล้วเดิน สุดท้ายก็ถึงอยู่ดี ฉันมาถึงที่หมายคือ Seman Binguan ถ้าเห็นคำว่า "บิงกวน" ก็รู้ในทันทีว่าเป็นโรงแรม ห้องพักมีให้เลือกหลายแบบหลายอัตรา แต่ฉันก็ยังเป็นพวกอนุรักษ์นิยม เลือกแบบที่ถูกที่สุดคืนละ 20 หยวน เป็นห้องดอร์มแบบแชร์ห้องน้ำร่วมกัน ฉันจ่ายเงินทันทีโดยไม่ได้ตรวจดูสภาพห้องนอนและห้องน้ำเลย เพราะหมดเรี่ยวแรงเกินกว่าจะเดินไปหาที่พักที่อื่นเพื่อเปรียบเทียบ ฉันเปิดเข้าไปในห้อง มี 3 เตียงนอน ไม่มีใครในห้อง แต่เห็นได้ชัดว่ามีแขก 2 คนมาพักอยู่ก่อนแล้ว สภาพห้องนอนพออยู่ได้ แต่พอไปเห็นห้องน้ำนี่สิ ฉันรู้สึกเหมือนกับว่าห้องน้ำที่นี่คงไม่ได้มีการทำความสะอาดมานานแรมปี

คืนนั้นฉันได้เจอกับเพื่อนร่วมห้องนอน เป็นคู่รักจากฝรั่งเศส ยามเมื่อฉันเปิดประตูเข้าไป สายตาก็ไปปะทะกับสายตาของฝ่ายชาย ที่มองมาที่ฉันราวกับเป็นวัตถุแปลกปลอมชนิดหนึ่งขวางหูขวางตา อยู่ผิดที่ผิดเวลา ความรู้สึกอึดอัดเริ่มแผ่ซ่านรัดรึงตัวฉันจนเกร็ง ฉันล้มตัวลงนอนหลับตา คิดซะว่าไม่มีมวลสารของสิ่งมีชีวิตใดๆอยู่ตรงนั้น

“อ้าวว ...ก็นี่มันห้องดอร์มนี่หว่า ไม่ใช่ห้องส่วนตัว!!” ฉันตะโกนบอกฝรั่งคู่นั้นอยู่ในใจ แต่บอกไปก็คงไม่ได้ยิน ถ้างั้น...บอกตัวเองแทนก็แล้วกัน

ฉันฟังภาษาฝรั่งเศสไม่ออก แต่จับประเด็นได้จากภาษากายขณะที่ทั้งคู่สนทนากันอย่างกระซิบกระซาบ แรงปรารถนาของฝ่ายชายเริ่มถาโถมรุกคืบไปยังฝ่ายหญิง จนฉันตั้งตัวไม่ติด

"เอาจริงเหรอ (ว่ะ) !!!!!" ฉันเริ่มนอนไม่ติดเตียง

แต่โชคยังเข้าข้าง ฝ่ายหญิงแสดงอาการขัดขืน คะเนว่าคงเกรงใจวัตถุแปลกประหลาดที่ยังมีชีวิตอยู่ในห้องนั้น ฉันรู้สึกถึงมวลอากาศภายในห้องที่กำลังถูกฝ่ายชายแย่งไปจากการสูดหายใจแรงถี่ขึ้น ประสาทสัมผัสของฉันโดยเฉพาะหูจำต้องกางผึ่งเต็มที่อย่างเลี่ยงเสียไม่ได้ แต่ฉันยังคงหลับตาไร้เดียงสาอยู่อย่างนั้น ทันใดนั้นฝ่ายชายก็สบถคำพูดออกมาด้วยน้ำเสียงกระด้างเหมือนไม่พอใจ ส่วนฝ่ายหญิงเงียบไป (เอ๊ะ หรือกำลังพูดอยู่กับฉัน)

แต่นิยายรัก (ฉัน) รันทดเรื่องนี้ยังไม่จบเพียงแค่นั้น อยู่ดีๆเกิดมีเสียงโวยวายจากข้างนอกห้อง เหมือนมีคนกำลังทะเลาะอะไรกันสักอย่าง ฉันไม่ได้จับประเด็น ฝ่ายชายคงรู้สึกเหมือนกำลังถูกล้ำความเป็นส่วนตัว เลยตะโกนอวดศักดากลับไป คราวนี้ต่างฝ่ายต่างโก่งคอตวาดใส่กัน โดยมีเพียงประตูห้องกั้นขวางอยู่ ฝ่ายชายส่งสาสน์วาจาท้ารบเต็มที่ เตรียมจะเปิดประตูออกไปตะบันหน้าพิสูจน์ความเป็นลูกผู้ชาย แต่ฝ่ายหญิงแสดงอาการโกรธเคืองอย่างมาก ฝ่ายชายเห็นเข้าเลยยอมสงบลงไปได้ หลังจากนั้นทั้งคู่ก็เปลี่ยนมาแสดงบทพ่อแง่แม่งอน นกเขาคูรัก จูบเย้ยจันทร์ ..ยังไม่ทันรู้ตอนจบ ฉันก็เผลอหลับผล็อยไปซะก่อน

เช้าต่อมาทันทีที่ลืมตามาดูโลกในวันใหม่ ฉันรีบหอบผ้าหอบผ่อนเตรียมเผ่น ฝ่ายหญิงเห็นฉันกุลีกุจอเก็บข้าวของ ก็ถามไถ่เหมือนรู้สึกผิดว่าฉันจะไปแล้วเหรอ พอฉันบอกไปว่าใช่ เธอก็ขอโทษขอโพยฉันใหญ่ ฉันแสยะยิ้มที่มุมปากแล้วเดินจากไปเงียบๆ ถึงจะไนซ์กับฉันแค่ไหน ฉันคงรับน้ำใจนี้ไม่ไหว ฉันไม่เคยตัดมิตรกับใครเช่นนี้มาก่อนเลยจริงๆ

ฉันเปลี่ยนมาเลือกห้องที่มีราคาแพงขึ้นมาคือคืนละ 30 หยวน ยอมผิดหลักการของตัวเองเพราะไม่อยากให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีก เป็นห้องดอร์มแต่มีห้องน้ำในตัว (งง) แต่พอไปเห็นก็เข้าใจในทันที ลักษณะเหมือนห้องในโรงแรม แต่ใน 1 ห้องใหญ่ จะแบ่งซอยเป็นห้องย่อยๆ 3 ห้องๆละ 2 เตียงนอน รวม 6 เตียง โดยมีห้องน้ำรวมอยู่ 1 ห้อง แต่ดูดีและสะอาดเหมือนห้องน้ำในโรงแรม ฉันเห็นห้องนี้เป็นสวรรค์ขึ้นมาทันใด

ฉันเดินเลือกเตียงที่เหลือจากการถูกจับจอง บางคนยังนอนหลับอยู่ พลันฉันก็เปิดเข้าไปในห้องหนึ่ง เห็นได้ชัดเจนว่าห้องนี้ถูกจับจองแล้ว ด้วยแผ่นกระดาษเอกสารมากมายเกลื่อนกลาดอยู่เต็มห้อง ดูสภาพเหมือนเป็นห้องส่วนตัวของใครบางคน มารู้ภายหลังว่า เจ้าของห้องคือหนุ่มญี่ปุ่น มาดเซอร์เต็มคราบ มีอาชีพเป็นนักเขียน เขาได้เช่าห้องนี้แบบเหมาทั้งเดือน สำหรับทำวิจัยข้อมูล เพื่อนำไปเขียนหนังสือคู่มือการเดินทางของญี่ปุ่น ไม่คิดไม่ฝันว่าจะได้มาเจอนักเดินทางตัวจริงของจริงที่นี่ แต่เขายังคงสไตล์ของหนุ่มญี่ปุ่นที่มักจะไม่ค่อยมีมนุษยสัมพันธ์กับคนต่างภาษาเท่าไหร่นัก

…..


ตรอกซอกซอยในเขตเมืองเก่า

วันนี้ขอเดินไปพิสูจน์เมืองเก่าซักหน่อย จากโรงแรมไปยังเขตเมืองเก่า ค่อนข้างไกลประมาณ 2 กิโล ระหว่างทางฉันยังคงเห็นอาคารสมัยใหม่แบบจีน สไตล์การตกแต่งอาคารด้วยกระเบื้องห้องน้ำสีขาวดูคุ้นตาเหมือนที่เห็นตามเมืองอื่นๆของจีน พอเดินใกล้จะถึง ฉันเริ่มได้กลิ่นของความเป็นพื้นเมือง ฉันตระหนักได้ในทันทีว่ากำลังเดินก้าวข้ามเขตไปสู่เมืองเก่าของชาวอุยกูร์ (Uyghur) แล้ว สภาพอาคารบ้านเรือนดูแปลกตาออกไป เป็นบ้านก่อด้วยอิฐเตี้ยๆ ประตูตกแต่งสวยงามตามแบบของอิสลาม เริ่มเห็นตัวลา (ฉันไม่แน่ใจนักว่าเป็นลา หรือ ล่อ) ที่บรรทุกสินค้า เดินผ่านไปมา เห็นร้านขาย “นาน” (Nan) เป็นแผ่นแป้งกลมๆแบนๆ คล้ายพิซซ่า วางเรียงรายเป็นชั้นๆ ดูโดดเด่น สวยทั้งรูปทั้งกลิ่น ไม่รอช้าฉันขอพิสูจน์รส ซื้อมาเป็นอาหารมื้อเช้าซะเลย ไม่ผิดหวัง!!! รสชาติหอมหวานนุ่มลิ้น อร่อยสุดๆ ฉันแอบซื้อเผื่อไว้กินเป็นของรองท้องยามหิว


หน้าตาของ "นาน"

ในเขตเมืองเก่ายังเต็มไปด้วยร้านค้ามากมาย ทั้งร้านซ่อมร้องเท้า , ร้านตีเหล็ก , ร้านขายเครื่องเทศ , ร้านขายของที่ระลึกที่มักจะเป็นข้าวของเครื่องใช้สไตล์เปอร์เซีย ฉันไม่เห็นความเป็นจีนหลงเหลืออยู่ในเขตนี้เลย ผู้คนแทบทั้งหมดเป็นชาวอุยกูร์ ต่างจากเขตเมืองใหม่ที่จะเห็นคนจีนอยู่เป็นจำนวนมาก


เด็กๆน่ารักวิ่งเล่นตามตรอกซอกซอย

ชาวอุยกูร์ที่นี่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเอเชียกลาง มีจำนวนประชากรอยู่ในประเทศจีนกว่า 9 ล้านคน โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตปกคองตนเองซินเกียง ชาวอุยกูร์ถูกเรียกอีกชื่อว่าชาวเทอร์กิสถานตะวันออก (Eastern Turkistan) นอกจากนี้จะสามารถพบชุมชนชาวอุยกูร์ได้ในประเทศคาซักสถาน , คิร์จิกิสถาน , มองโกเลีย , อุซเบกิสถาน และตุรกี ชาวอุยกูร์เป็นชนชาติที่ใช้ภาษาในตระกูลเดียวกับภาษา Turkic มีเชื้อสายเติร์ก มีถิ่นดั้งเดิมอยู่ในเขตเทือกเขาอัลไต (Altay Mountains) ชาวอุยกูร์ในปัจจุบันเป็นชนชาติที่มีสังคมกสิกรรม และมีพัฒนาการเป็นสังคมเมืองแล้ว ซึ่งต่างจากชาวเติร์กกลุ่มอื่นๆที่มักจะยังเป็นกลุ่มชนเร่ร่อนอยู่ในพื้นที่แถบเอชียกลาง

ซินเกียง (Xinjiang) เป็นชื่อที่ใช้เรียกเทอร์กิสถานตะวันออกตั้งแต่ปี ค.ศ.1884 อาณาจักรแมนจูได้เข้ามายึดครองและรวมแคว้นซินเกียงเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรแมนจู หลังจากนั้นในปีค.ศ. 1933 และ 1944 ชาวอุยกูร์ได้ประกาศอิสรภาพสำเร็จ แยกตัวเป็นอิสระ ตั้งชื่อประเทศใหม่ว่าสาธารณรัฐอิสลามเตอร์กิสถานตะวันออก ต่อมาในปี ค.ศ. 1949 เมื่อสถาปนาประเทศเป็น “สาธารณรัฐประชาชนจีน” เตอร์กิสถานตะวันออกก็ตกอยู่ภายใต้การปกครองของจีนแบบเบ็ดเสร็จนับตั้งแต่นั้นมา

ชาวซินเกียงมักจะยึดเวลาตามท้องถิ่นหรือที่เรียกว่า Xinjiang Time ซึ่งจะช้ากว่าเวลาทางการหรือ Beijing Time อยู่ 2 ชั่วโมง ซึ่งเป็นปัญหากับฉันในบางครั้ง เวลาจะสอบถามเวลารถออก เพราะต้องถามเน้นย้ำอีกครั้งว่าเป็นเวลาซินเกียงหรือเวลาปักกิ่ง


ชาวอุยกูร์จำนวนมากหน้ามัสยิดอิดค่าฮ์


ผู้เฒ่าชาวอุยกูร์

ฉันเดินมาถึงตรงบริเวณ Main Square ซึ่งเป็นจัตุรัสใจกลางเมืองเก่า โดยมีมัสยิดอิดค่าฮ์ (Id Kah Mosque) ยืนตระหง่านอย่างโดดเด่น และจะเห็นชาวอุยกูร์จำนวนมากเดินเข้าออกที่นี่ (โดยเฉพาะวันศุกร์ซึ่งเป็นวัน Friday Prayer จะเห็นชาวอุยกูร์นับหมื่นมาชุมนุมกันที่มัสยิดแห่งนี้) มัสยิดแห่งนี้ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และเป็นศูนย์กลางที่ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของชาวอุยกูร์มาเป็นเวลานาน บริเวณหน้ามัสยิดเป็นลานกว้าง เป็นที่ที่ฉันมักจะมานั่งเล่น เขียนบันทึก ทำตัวเป็นแมวมองถ่ายรูปผู้คน ฉันนั่งนิ่งๆดูผู้คนเดินไปมาได้โดยไม่รู้เบื่อ

ร้านอาหารบริเวณเขตเมืองเก่าส่วนใหญ่จะเป็นอาหารมุสลิมแบบซินเกียง เวลาเปิดปิดค่อนข้างแปลก คือจะปิดช่วงบ่าย และจะเปิดอีกครั้งตอน 6 โมงเย็น ซึ่งเป็นเวลาหลังการสวดละหมาดจบ หลายครั้งที่ฉันมาที่ร้านอาหารก่อน 6 โมง ก็ต้องยืนรอเก้อจนถึง 6 โมง ร้านอาหารจึงจะต้อนรับฉันเข้าร้าน

อาหารหลายๆชนิดก็เป็นการผสมผสานระหว่างอาหารจีนกับมุสลิม อาหารที่ฉันกินบ่อยเกือบแทบทุกมื้อคือ “ร่าเหมี่ยน” ซึ่งเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยวแบบจีน แต่ราดหน้าได้สารพัดรูปแบบ ส่วนใหญ่จะผสมเครื่องเทศแบบมุสลิม เนื้อสัตว์ที่ใช้ปรุงอาหาร ก็ทำมาจากเนื้อวัว เนื้อแกะ ที่นี่ถ้าเป็นอาหารที่ทำจากเนื้อไก่ ราคาจะแพงกว่า เพราะเนื้อไก่หาได้ยากยิ่งในเขตนี้ ในบริเวณเมืองเก่าจะไม่ค่อยเห็นร้านอาหารจีน ถ้าอยากกินอาหารจีนต้องเดินไปในเขตเมืองใหม่

ส่วนผลไม้ขึ้นชื่อของที่นี่ ฉันขอแนะนำกึ่งบังคับให้ทุกคนต้องมาชิมเมื่อมีโอกาสได้มาซินเกียงคือ แตงโม แคนตาลูป และองุ่น ทำเอาฉันนอกใจลืมผลไม้บ้านเราไปนานเชียว


แตงโมหวานๆ ซีกละแค่ 1 หยวน

มัสยิดกลางเมืองคัชการ์หรือที่เรียกว่ามัสยิดอิดค่าฮ์แห่งนี้ เป็นมัสยิดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศจีน ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1422 โดย Shakesimirzha แต่ภายในยังมีสิ่งก่อสร้างเก่าแก่ที่สร้างมาตั้งแต่ยุคศตวรรษที่ 8 ตรงบริเวณจัตุรัสหน้ามัสยิดแห่งนี้ยังเคยมีการชุมนุมประท้วงของชาวอุยกูร์ ต่อต้านที่รัฐบาลจีน จะดำเนินการก่อสร้างพัฒนาให้มัสยิดแห่งนี้ดูสวยงาม โดยมีการสร้างสวนกุหลาบขึ้นภายในมัสยิด และยังสร้างตลาดมากมายขึ้นโดยรอบจัตุรัสอีกด้วย

ฉันเดินเล่นอยู่บริเวณหน้ามัสยิดอิดค่าฮ์ ได้มีโอกาสพูดคุยกับชายคนหนึ่ง หน้าตาคมเข้ม วัยกลางคน สวมหมวกสไตล์ซินเกียง ใบหน้าบ่งบอกชัดเจนว่าเป็นชาวอุยกูร์ เขาเดินเข้ามายิ้มทักทายฉัน ลุงคนนี้พูดภาษาอังกฤษได้คล่องมาก!!! ซึ่งโดยปกติฉันแทบจะสื่อสารกับคนที่นี่ไม่ได้เลย ส่วนใหญ่ยังพูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยจะได้กัน (ไม่แปลกใจขนาดคนจีนฮั่นทางตะวันออกยังพูดภาษาอังกฤษแทบไม่ได้ศัพท์) คนที่นี่ส่วนใหญ่พอเห็นฉันพูดอุยกูร์ไม่ได้ ก็จะหันมาพูดภาษาแมนดารินกับฉันแทน เอ้า ไปกันใหญ่ !!! เขาบอกว่ามีโอกาสได้พูดคุยกับนักท่องเที่ยวอยู่บ่อยๆเลยทำให้พูดอังกฤษได้ ฉันก็อดคิดไม่ได้ว่า เอ หรือว่าจะมาขายของให้นักท่องเที่ยว ถึงได้เข้ามาคุยกับฉัน

ลุงยังสร้างความประหลาดใจให้ฉันอีก คือเขาสามารถพูดได้ 2 ภาษาคือภาษาอุยกูร์กับภาษาอังกฤษ แต่พูดภาษาจีนแมนดารินไม่ได้ เขาให้เหตุผลว่า

“คนรุ่นเก่าๆอย่างรุ่นผมไม่เคยได้เรียนภาษาจีนหรอก ไม่เหมือนวัยรุ่นสมัยนี้ ทุกคนจะต้องเรียนภาษาจีน เป็นวิชาบังคับในโรงเรียน ดังนั้นคนรุ่นนี้จะพูดแมนดารินกันได้ทุกคน”
“แล้วคุณลุงไม่ได้ใช้ภาษาจีนเลยเหรอ นี่ประเทศจีนนะ” ฉันย้อนถาม
“เปล่า ไม่ได้ใช้ คนที่นี่ทุกคนใช้ภาษาอุยกูร์กันทั้งนั้น ยกเว้นคนที่ทำงานบริษัทหรือเรียนถึงจะใช้ภาษาจีน เราไม่เคยพูดภาษาจีนกันหรอก และผมก็จะไม่พูด ผมไม่ชอบคนจีน” เขาอธิบายให้ฟัง
“อ้าว ทำไมล่ะ” ฉันถามต่อ
“คนจีนเข้ามาเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่างของที่นี่ และพวกเขาก็ไม่เห็นเราเป็นคนจีนเหมือนกับพวกเขา แต่ผมไม่ใส่ใจหรอก ก็ผมอาศัยอยู่ที่นี่ ไม่เคยคิดจะไปเมืองใหญ่ๆเจริญๆทางเมืองจีนเลย” เขาตอบ

ฉันเริ่มเข้าใจความรู้สึกของชาวอุยกูร์ที่มีต่อคนจีน เห็นแล้วทำให้นึกไปถึงตอนไปลาซา พวกเขาก็มีชะตากรรมไม่ต่างไปจากชาวทิเบตเลย

เขาเล่าต่อว่าเขาไม่ใช่คนเมืองคัชการ์ อยู่อีกเมืองห่างออกไปไม่ไกล วันนี้เดินทางมาที่นี่เพราะจะไปร่วมพิธี Friday Prayer ในวันรุ่งขึ้น (ซึ่งเป็นวันศุกร์ที่ชาวอุยกูร์จำนวนมากจะมาที่มัสยิดกลางแห่งนี้) คืนนี้เขาก็จะนอนค้างอยู่ที่มัสยิดนี้

“ผมมาที่นี่ทุกอาทิตย์นั่นแหละ พอร่วมพิธีเสร็จก็กลับบ้าน”

เราคุยกันถึงวิถีชีวิตของคนที่นี่ เขาเองก็ถามฉันถึงการเดินทางมาที่นี่ ฉันก็ตอบไปว่าฉันมาที่นี่เพราะอยากมา อยากมาสัมผัสชีวิตผู้คนที่นี่ เหตุผลง่ายๆไม่ซับซ้อนอะไร ฉันบอกว่าฉันจะเดินทางต่อไปปากีสถาน เขาพยักหน้ารับรู้ว่ารู้จัก แต่เขาก็ยังไม่เคยไปปากีสถาน

ฉันรู้สึกผิดที่มองเขาผิดไปในครั้งแรก บางครั้งกำแพงทางความรู้สึกอาจปิดกั้นมิตรภาพที่งดงามไป แต่เมื่อไหร่ที่สามารถทะลายกำแพงที่ว่าได้ มิตรภาพอันงดงามก็จะเบ่งบานในใจขึ้นมาทันที

.......

ฉันมีโอกาสได้รู้จักกับยูมิโกะ สาวน้อยจากแดนซามูไร เราพักอยู่ห้องเดียวกัน ตอนที่เห็นเธอในครั้งแรก ฉันเดาไม่ถูกว่าเธอเป็นคนชาติอะไร ด้วยรูปหน้าแบบเอเชียผสมอารยัน หรือลูกเสี้ยว ฉันว่าเธอดูคล้ายกับนักร้องสาวชาวไอซ์แลนด์สุดเพี้ยน “บียอร์ก” (Bjork) นักร้องขวัญใจของฉันอีกคนหนึ่ง

เธอเล่าให้ฟังเกี่ยวกับตัวเธอว่าเธอยังเรียนอยู่มหาวิทยาลัย แต่ขอพักการเรียนก่อนเพื่อเดินทางท่องไปยังโลกกว้าง เธอชอบเดินทางคนเดียว ได้รู้จักผู้คนต่างชาติต่างภาษา เธอพูดภาษาอังกฤษได้คล่อง สาเหตุหนึ่งก็เพราะมีเพื่อนเป็นชาวยุโรปเยอะ เธอเคยเดินทางตะลุยทางบกข้ามทวีปเอเชียไปจนถึงยุโรปมาแล้ว

เราทำความรู้จักกันพร้อมๆกับบอกลากัน เธอมาทักฉันขณะที่กำลังแบกเป้เตรียมจะเดินทางต่อไปยังปากีสถาน ตอนนั้นฉันยังอวยพรให้เธอโชคดีในการเดินทาง โดยไม่คิดว่าเราจะได้พบกันอีก ด้วยคำทักทายและบอกลาสั้นๆเพียงไม่กี่ประโยค

เย็นวันนั้นฉันกลับมาเจอเธอที่ห้องอีกครั้ง เธอหัวเราะร่าแล้วบอกว่า “ตกรถ” เพราะว่าเธอตื่นสายและไม่รับทราบเวลารถออก

“ฉันคงต้องไปพรุ่งนี้” เธอบอกฉัน

วันต่อมา ฉันไปที่สถานีขนส่งเพื่อจองตั๋วและเช็คเวลาเดินรถที่จะไปเมืองโซส (Sost) ในปากีสถาน โดยจะต้องไปแวะค้าง 1 คืนที่เมืองทัชเคอร์กัน (Tashkurgan) ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านก่อนเข้าเขตปากีสถาน ราคาค่าเดินทางรวมทั้งหมด 270 หยวน ไม่รวมค่าที่พักในทัชเคอร์กัน จริงๆฉันไม่ได้จะเดินทางในวันนี้ แต่มาตรวจสอบเวลาเดินทาง (ไม่อยากตกรถอย่างยูมิ) คนขายตั๋วบอกกับฉันว่า วันนี้จะไม่มีรถออก เพราะมีผู้โดยสารแค่คนเดียว

ฉันรู้ในทันทีว่าผู้โดยสารคนเดียวที่ว่าคือใคร ยังไม่ทันไร ยูมิก็เดินหน้าบอกบุญไม่รับมาทักฉัน ฉันมองเธอด้วยสายตาเห็นใจอย่างสุดกำลัง เธอตัดพ้อว่า จริงๆเธอวางแผนจะเดินทางไปปากีสถานตั้งแต่วันจันทร์แล้ว (วันนี้เป็นวันพุธ) แต่เธอเกิดไม่สบายเป็นไข้ ต้องนอนพักฟื้น เลยโดดรถ พอมาวันอังคารก็ดันตกรถ มาวันนี้ก็ดันไม่มีรถ

เรา 2 คนตั้งข้อสังเกตุว่า ที่วันนี้ไม่มีรถเพราะนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่คงรอชมตลาดวันอาทิตย์ (Sunday Market) ก่อน แล้วค่อยเดินทางต่อไป วันจันทร์กับวันอังคารน่าจะมีผู้โดยสารเยอะ แต่ถ้าเลยมากลางสัปดาห์แล้ว ผู้โดยสารจะน้อย รถก็จะไม่ออก ฉันเองก็จะรอชมตลาดวันอาทิตย์ด้วยเช่นกัน แม้จะต้องรออีกหลายวันแต่ก็มีแผนที่จะไปเมืองยาคันด์ (Yarkand) และเมืองโฮตัน (Hotan) ซัก 2-3 วันอยู่แล้วด้วย

พรุ่งนี้ก็คาดว่าอาจจะไม่มีรถเหมือนเคย แล้วยูมิจะต้องรอจนถึงวันจันทร์หน้าหรือ?

“ยังไงฉันก็จะไปพรุ่งนี้ให้ได้” เธอพูดด้วยสีหน้ามุ่งมั่นมาก (กว่าครั้งแรก)

เราเดินไปถามคนขายตั๋วว่าพรุ่งนี้จะมีรถออกมั้ย แต่คนขายบอกว่าให้มาเช็คพรุ่งนี้ เพราะต้องดูว่าผู้โดยสารมากพอหรือไม่ คนขายบอกว่าจริงๆวันนี้ยังมีรถท้องถิ่นไปเมืองทัชเคอร์กัน (Tashkurgan) แต่ต้องไปขึ้นอีกสถานีหนึ่ง
ยูมิได้ยินเข้าก็สนใจ แต่เธอถามคนขายตั๋วต่อว่า แล้วจะมีรถจาก Tashkurgan ต่อไปเมืองโซส (Sost) ในปากีสถานหรือไม่ คนขายตั๋วบอกว่า ก็ต้องไปเช็คที่นั่นอีกที รถจะออกหรือไม่ก็ขึ้นกับจำนวนผู้โดยสาร

“อย่างนี้ฉันก็อาจต้องไปรอที่ทัชเคอร์กันอีกนะสิ” เธอบ่น
“หรือเธอจะรอไปพร้อมกับฉันมั้ย อยู่ดูตลาดวันอาทิตย์ด้วยกันก่อน” ฉันเสนอความคิด
เธอส่ายหน้าหงึกๆ
“ฉันดูมาแล้วเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา อยู่ที่นี่มาก็อาทิตย์กว่าๆแล้ว เดินจนไม่รู้จะดูอะไรแล้ว ฉันขอเลือกไปรอที่ทัชเคอร์กันดีกว่า”

ยูมิตัดสินใจขอลองวัดดวงพรุ่งนี้อีก 1 วัน ด้วยความหวังที่ริบหรี่ ในที่สุดเรา 2 คนก็นั่งรถบัสกลับไปที่โรงแรมเดิม ยูมิเช็คอินเข้าห้องพักอีกครั้งเป็นครั้งที่ 3 แล้ว เจ้าหน้าที่มองยูมิด้วยสีหน้างงๆ คงคิดในใจ อีพวกนี้มันเล่นอะไรกัน

ขอนินทายูมิต่อ ...ฉันเห็นเธอในชุดที่เป็นชุดเดี่ยวกระโปรงยาวรุ่มร่ามอยู่ชุดเดียวมาหลายวันแล้ว เธอบอกว่าเธอได้ชุดนี้มาจากอุซเบกิสถาน (Uzbekistan) หนึ่งในประเทศ “สถาน” ในแถบเอเชียกลางที่แยกตัวมาจากสหภาพโซเวียต ซึ่งเธอเพิ่งไปเยือนมาก่อนหน้านี้ ชุดที่เธอใส่เป็นชุดพื้นเมืองของสตรีชาวอุซเบก เนื้อผ้าเป็นลวดลายดอกไม้ เธอดูปลื้มและภูมิใจกับชุดนี้มาก เธอเล่าว่า

“ตอนฉันอยู่ที่อุซเบกิสถาน แล้วใส่ชุดนี้ ทุกคนจะคิดว่าฉันเป็นคนอุซเบก แบบว่าหลอกคนที่นั่นได้หมด เวลาไปไหน แค่ปริปากเงียบไว้ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ก็ได้จ่ายเงินในอัตราคนท้องถิ่นแล้ว ประหยัดเงินไปเยอะ ที่นั่นถ้าเป็นนักท่องเที่ยวจะต้องจ่ายแพงกว่าคนท้องถิ่นมาก”

ฉันตั้งใจฟังไว้ แทบจะหยิบกระดาษมาจดเลกเชอร์ เพราะเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ฉันตั้งใจจะไปให้ได้

ฟังจากที่ยูมิเล่าแล้ว ทำให้เกิดไอเดียใหม่ๆในการเดินทาง บางครั้งการแต่งตัวมีผลทำให้คนที่นั่นคิดว่าเราเป็นคนท้องถิ่นเดียวกับพวกเขาได้ ถึงหน้าจะไม่ให้ แต่ถ้าใส่ชุดพื้นเมืองหรือชุดที่คนท้องถิ่นเค้าแต่งกัน ก็น่าจะช่วยอำพรางได้ ลดความเสี่ยงจากการได้ราคาเพิ่มเป็นของแถมในฐานะคนต่างถิ่น

วันต่อมาฉันบอกลากับยูมิอีกครั้ง
“หวังว่าฉันจะไม่เจอเธอที่ห้องนี้อีกนะ” ฉันอวยพรเธออีกครั้ง

ยูมิหัวเราะ เรานัดแนะกันไว้ว่า จะไปเจอกันอีกครั้งในปากีสถาน ในวันนั้นและวันต่อๆมาฉันไม่เห็นยูมิที่ห้องนั้นอีก เดาว่าเธอคงได้ขึ้นรถเดินทางไปยัง Tashkurgan แล้ว ได้แต่หวังให้เธอสามารถเดินทางต่อไปได้โดยตลอดรอดฝั่งปากีสถาน

จากอุบัติเหตุนี้เอง ทำให้ฉันมีโอกาสได้รู้จักและสนิทสนมกับเพื่อนต่างชาติที่ฉันคุยถูกคอมากที่สุดคนหนึ่งตั้งแต่ได้เพื่อนใหม่จากการเดินทางมา หลังจากนั้น ฉันยังมีโอกาสได้ไปเจอกับยูมิที่เมืองฮุนซ่าทางฝั่งปากีสถาน และเธอยังแวะมาเจอฉันที่กรุงเทพฯ ก่อนกลับไปญี่ปุ่น เราทั้งคู่ก็ยังคงติดต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้

.....

ฉันหายตัวไปจากเมืองคัชการ์อยู่ 2 วันเพื่อไปเที่ยวชมเมืองโฮตัน Hotan ที่อยู่ไกลออกไป 10 ชั่วโมงบนรถบัส กลับมาอีกทีเช้าวันเสาร์ วันนั้นฉันบังเอิญได้เจอกับกลุ่มคนไทยที่เจอกันบนรถบัสจากสถานีขนส่งเมืองเทอร์ปัน ตรงบริเวณจัตุรัสกลาง พวกเราต่างไม่คาดฝันว่าจะได้เจอกันในคัชการ์ พวกเขาเองก็มาได้ถูกจังหวะ เพราะวันรุ่งขึ้นก็จะมีตลาดวันอาทิตย์ ที่นักท่องเที่ยวทุกคนต่างรอคอย

พวกเขามีแผนจะเหมารถเพื่อเดินทางไปบนถนนคาราโครั่มไฮเวย์ เส้นทางที่เชื่อมต่อข้ามไปยังปากีสถาน ฉันเองสบโอกาสร่วมเดินทางไปกับพวกเขาด้วย แต่จะแยกกันที่เมืองทัชเคอร์กัน เพราะพวกเขาต้องเดินทางกลับมายังคัชการ์ แต่ฉันจะข้ามต่อไปยังปากีสถาน


บรรยากาศคึกคักของตลาดวันอาทิตย์


ผู้คนมากมาย

พวกเราทั้งหมดนัดกันไปเดินชมตลาดวันอาทิตย์ด้วยกัน บรรยากาศคึกคักมีผู้คนชาวอุยกูร์จำนวนมากมาชุมนุมกันเพื่อซื้อขายสินค้า ดูแล้วแยกไม่ออกใครเป็นคนซื้อใครเป็นคนขาย ตามถนนการจราจรจะคับคั่งไปด้วยบรรดาพาหนะจำพวกเกวียนที่ใช้ลาลากวิ่งสวนไปมา เพิ่มดีกรีความชุลมุนให้สูงมากขึ้นไปอีก เวลาเดินต้องหลบหลีกกันวุ่นวาย ลักษณะเหมือนเป็นกองคาราวานที่ขนนำสินค้ามาขาย เห็นบรรยากาศแบบเก่าดูขลังเช่นนี้ ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่าพวกเขายังซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าต่อสินค้ากันอยู่หรือเปล่า น่าสนุก!! นี่ถ้าแลกของกันได้จริง ฉันจะได้คุ้ยสมบัติเก่าจากเป้ มาแลกเปลี่ยนเป็นของฝากฝากเพื่อนๆซะเลย แต่ดูเหมือนวิถีการค้าขายแบบนั้นได้ตายจากไปนานแล้ว ถ้าไม่มีเงินสุกลหยวน อย่าหวังจะได้แอ้ม ฉันได้มีดพกรูปร่างเหมือนกริชมาเป็นที่ระลึก


พ่อค้าขายมีด


เครื่องลับมีดแบบโบราณ

ยิ่งเดินลึกเข้าไปยิ่งสนุก จะเห็นรถเกวียนที่มีลาลากยืนต่อแถวเรียงกันเป็นตับ ซึ่งจะบรรทุกสินค้าสดต่างๆ ที่พ่อค้าแม่ค้าแม่ค้านำมาขาย ผู้คนเดินจับจ่ายสินค้า ดูมีสีสัน นอกจากนั้นยังเห็นพวกฝูงลาถูกจับมามัดรวมกันเป็นลานกว้าง คล้ายเป็นตลาดค้าลาที่ใช้ลากเกวียน


บรรดารถลาที่วิ่งกันวุ่นวายบนถนน


บริเวณตลาดค้าลา


อีกมุมหนึ่ง

ที่นี่ยังเป็นแดนสุขาวดีของพวกแกะ !! เพราะฉันมักจะเห็นภาพของแกะถูกชำแหละจนชินตาและติดตา ความสารพัดประโยชน์ของพวกมัน ที่เป็นคุณอนันต์สำหรับคนที่นี่ จึงเป็นโทษมหันต์สำหรับพวกแกะที่น่าสงสารเหล่านี้ คนที่นี่เค้านิยมเชือดแกะให้คนดูกันเห็นๆ ทั้งชำแหละทุกส่วนของร่างกาย อวัยวะของมันเกือบทุกส่วนถูกนำมาใช้ประโยชน์ได้หมด ตั้งแต่ถลกหนังนำมาทำเป็นชุดขนสัตว์กันหนาว เนื้อก็นำมาทำอาหารสารพัดอย่าง แม้แต่หัวของมันก็นำมาประกอบพิธีต้มซุป (คงเหมือนบ้านเราที่นิยมนำกระดูกหมูมาต้มแกงจืด) ฉันเองค่อนข้างแพ้ภาพของสัตว์ทุกชนิดที่อวัยวะเหลือเพียงแค่ “หัว” บางครั้งเดินไปเดินมา เมื่อใดที่เท้าและสายตาไปสะดุดกับ “ซากหัวแกะ” แบบถูกทิ้งขว้าง พลันจิตใจจะเกิดอาการหดหู่ขึ้นมาเมื่อนั้น แต่อย่างไรซะ อาหารที่ฉันโปรดปรานมากที่สุดของที่นี่คือเกี๊ยวไส้แกะ แต่ขนาดเท่าซาละเปา รสชาติอร่อยกลมกล่อม อร่อยจนต้องพยายามลบภาพ “หัวแกะ” ที่ติดอยู่ที่ตาออกไป

นอกจากตลาดสดแล้ว ก็มีตลาดแห้งคล้ายๆตลาดนัดบ้านเรา ขายสินค้าจำพวกเสื้อผ้า อาหารแห้ง เครื่องเทศ ที่ถูกใจฉันคือหมวกสไตล์แบบซินเกียงของท่านชาย รูปทรงของหมวกนั้นจะคล้ายกะลา แต่ฐานบนของหมวกจะเป็น 5 เหลี่ยม มีให้เลือกหลายสีหลายดีไซน์ เป็นหมวกที่ทำให้หนุ่มๆที่นี่ดูเท่สุดๆ ฉันก็ซื้อมาดูเล่นเป็นที่ระลึก ถ้าใครคิดจะทำร้านขายสินค้าเก๋ๆ สไตล์ตะวันออกกลาง แนะนำให้มากว้านซื้อหมวกซินเกียงที่นี่ ราคาไม่แพง แต่คุณภาพการผลิตอยู่ในเกณฑ์ดี เอ้า โฆษณาให้ฟรีซะเลย

วันรุ่งขึ้นฉันก็เตรียมเดินทางไปบนถนนสายที่ฉันเห็นอยู่ในความฝันมาเป็นเวลานาน ฉันจะได้ไปเห็นของจริงซะที หนทางข้างหน้ายังอีกยาวไกล ฉันยังคงตื่นเต้นทุกครั้งเมื่อเริ่มบทใหม่ของการเดินทาง หัวใจมันเริ่มเต้นไม่เป็นจังหวะอีกแล้ว...




 

Create Date : 04 เมษายน 2550
10 comments
Last Update : 15 เมษายน 2550 13:38:35 น.
Counter : 3525 Pageviews.

 

อ่านแล้วอิ่มใจมากค่ะ
เหมือนได้เป็นวิญญาณติดตามไปด้วยเลย...555
แอบอินไปกะหมู เรื่องอีตาฝรั่งเศสคนนั้น...เป็นเดี๋ยนหน่อยเหอะ...ฮึ่ม...
(แอบเม้าทฺหน่อยฮ่ะ...กระซิบกัน 2 คนนะฮะ)...เราเคยพัก Youth Hostel ที่ปารีส
แล้วเด็กฝรั่งเศสเองปิดเทอม...มาเที่ยวเมืองหลวงกันเต๊มไปหมด
โอ...เกิดมา...เดินทางก็ว่ามากแล้วนะ...ไม่เคยเจอใครไม่เกรงใจแบบเด็กกลุ่มนี้เล้ย
นอนกันไม่ได้ทั้งตึกเลยค่ะเชื่อไม๊...ขอร้องกันดีๆก็แล้ว...ห้องตรงข้ามอิชั้นออกมาฮึ่มๆก็แล้ว
จนต้องไปตามยามมาจัดการน่ะค่ะ...สุดยอดมาก

พอหมูเล่าถึงช๊อตนี้...แล้วเราเห็นภาพเลยอ่ะค่ะ...จี๊ด ฮ่ะ จี๊ด
เหตุผลชนะเลิศมากค่ะ...เพราะอยากมา...(อย่านึกว่าเป็น CIA...555)
ดีจังเลยนะคะ...ไปตั้งไกล ยังเจอคนไทยด้วย...แถมได้เพื่อนน่ารักมาอีกคน
นี่เป็นเสน่ห์ของการเดินทางจริงๆเลยนะคะ

เมืองนี้เจ๋งค่ะ...ไม่เหมือนเมืองจีนเลยทั้งสิ้นทั้งปวง...เพราะไม่ใช่...สงสารธิเบตตตต...
(เอ๊ะ..เกี่ยวกันไม๊เนี่ย...ฮี่...ฮี่...เราเรียนรัดสาดมาค่ะ...จะอินกับประเทศที่โดนรวมแบบนี้มากเป็นพิเศษ
ตอนสหภาพโซเวียตแยกประเทศนะคะ...อิชั้นแทบจุดพลุฉลอง..แต่คงไม่เกิดกับเมืองจีน..)
ต๊าย...เข้าเรื่องการเมืองไปได้...

เราชอบที่หมูเขียนค่ะ...มันสด...เล่าประสบการณ์ที่ประสบมาแล้วหมูเล่าสนุก
อ่านแล้วเหมือนได้แชร์ประสบการณ์ร่วมกันกับคนเขียน
ที่สำคัญให้ข้อมูลด้วย...เอิ่ม...ขอรูปเพิ่มหน่อยซิคะ...นะ..นะ...
ขอบคุณมากนะคะ

ปล. นานน่าเจี๊ยะมากค่า...เอื๊อกกกกก...
ปอ. เม้นท์ยาวมาก...

 

โดย: จันทร์สวย 5 เมษายน 2550 0:17:52 น.  

 

ย้อนกลับไปดูรูปนับได้ตั้ง 13 รูปแน่ะ
แล้วคุณนายจันทร์สวยยังโลภอีก...

...

 

โดย: จันทร์สวย 5 เมษายน 2550 0:24:36 น.  

 

ขอบคุณค่ะพี่หญิง เรื่องได้เพื่อนใหม่ๆ เป็นสิ่งที่น่าสนใจจริงๆ ทั้งเพื่อนหรือมากกว่าเพื่อน (ว้ายยย ชั้นพูดอะไรออกไป) โดยเฉพาะคนต่างชาติ บางทีได้เห็นมุมมองอะไรแปลกๆ แตกต่างไปจากเพื่อนคนไทย (แต่บางคนแปลกจริงๆนะค่ะ โฮะๆๆๆ)

รูป ก็จัดให้ค่ะ ไปที่เวบนี้เช่นกัน อิอิ

//www.trekkingthai.com/board/show.php?Category=trekking&forum=2&No=73225&picfolder=trekking&PHPSESSID=f0f0b552ef00626f5178e1c8bb32816a#top

ตอนนี้กำลังปั่นค่ะ ตอนนี้ยังสับสน จะเขียนอะไรดี อาจจะเป็นเปชาร์วาร์ ไม่ก็ปักกิ่ง ขอบคุณพี่หญิงจริงๆ ที่ติดตาม แต่ช่วงนี้อาจช้าๆไปบ้าง มุขเริ่มตัน หุหุ แต่จะพยายามเขียนค่ะ เขียนๆๆๆๆ


 

โดย: candy ล็อคอินไม่ได้ ไม่รู้ทำไม IP: 125.25.144.10 6 เมษายน 2550 13:57:59 น.  

 

อุ๊ย...อะไรนะคะน้องหมู...มากกว่าเพื่อนเหรอ...
เจ๊ทิ้งลูกกะซะมี...ทำเป็นลืมๆ...ไปแบกเป้ trek คนเดียวมั่งดีก่า...กิ..กิ...
เจ๊พูดเล่นนะคะ...แฮะ..แฮะ...

บ้านพี่ตอนนี้ไปไหนกันเป็นขบวนค่ะ
ตอนนี้ก็นั่งเถียงกันอยู่...ไปที่นี่ก็ไม่ได้พี่แพ้ความสูง (ถ้าเปลี่ยนแบบฉับพลัน)
แต่จะนั่งรถนานๆ ก็ไม่ได้...พี่แจ่มเมารถ...น้องใจเมาเรือ
สรุปว่า...อยู่บ้าน...
แวะมาหาเพราะว่าคิดถึง และ พอดีอัพบล๊อคฝอยล้วนๆค่ะ...ผู้หญิงคนนี้ขี้โม้จริงๆ
ถ้าว่างๆแวะไปดูซากุระด้วยกันนะคะ

ตอนนี้พี่ก็ยุ่งๆค่ะ...เริ่มเล่นบล๊อคเป็นรายปักษ์แล้ว
จะอัพอันได้ก็ได้ค่ะ...อยากอ่านทั้งคู่เลยค่ะ...

 

โดย: จันทร์สวย 12 เมษายน 2550 21:40:31 น.  

 

จริงๆเรื่องแพ้ความสูง ถ้าไม่ได้มีโรคประจำตัวอย่าง
อย่างโรคหัวใจ ความดัน ก็น่าเสี่ยงนะ อ้าวววววว ล้อเล่นนะค่ะ ถ้าบินไป แรกๆก็อาจมีอาการบ้าง กินยาแก้ปวด Diamox เค้าว่าหายค่ะ แล้วก็นอนพักซัก 1-2 วัน ถ้ามีเวลานานๆ ก็มีรถไฟไปลาซาแล้วด้วยค่ะ ได้ยินว่าเดิร์นขนาดปรับความดันในตัวด้วยนะค่ะ คงช่วยได้บ้าง อิอิ



 

โดย: candy เป็นอะไรทำไมล๊อคอินไม่ได้ IP: 125.25.205.172 13 เมษายน 2550 15:04:25 น.  

 

ดูเหมือนเป็นประเทศแบบอาหรบมากกว่าจะเป็นจีนนะคะ

 

โดย: ซูฉี so close IP: 203.156.69.2 3 สิงหาคม 2550 17:52:45 น.  

 

ดูเหมือนเป็นประเทศแบบอาหรับมากกว่าจะเป็นจีนนะคะ

 

โดย: ซูฉี so close IP: 203.156.69.2 3 สิงหาคม 2550 17:52:52 น.  

 

ชอบที่คุณเขียนจังไปกี่วันอยากไปจัง ช่วงไหนที่เหทมาะจะไป

 

โดย: แดงต้อย IP: 118.173.62.45 3 พฤษภาคม 2551 17:23:28 น.  

 

สวัสดีครับ ผมบริษัทนาคาแลนด์ทัวร์ แอนด์ ทราเวล จำกัดชวนเพื่อนๆเที่ยว
Uzbekistan Cultural Tour อุซเบกิสถาน : เส้นทางสายไหมในเอเชียกลาง
เอเซียกลางหรือเอเซียไมเนอร์เป็นแหล่งอารยธรรมเก่าแก่ของโลกมาช้านาน ผู้ที่เคยศึกษาประวัติศาสตร์จะทราบดีว่า อารยธรรมยุคแรก ๆ ของโลกได้แก่บริเวณลุ่มแม่น้ำไทกริสและยูเฟรติส ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของอารยธรรมในเอเซียกลาง ดินแดนที่เป็นประเทศอุซเบกิสถานในปัจจุบันนี้ มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานวัฒนธรรมอันหลากหลายได้หลั่งไหลเข้ามายังดินแดนแถบนี้อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหลายพันปีมาแล้ว ดินแดนนี้เคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรมองโกลและแผ่นดินจีน ได้รับเอาวัฒนธรรมฮินดูและพุทธศาสนาจากอินเดีย ต่อมาศาสนาอิสลามก็ได้เข้ามามีบทบาทในสังคมตราบจนถึงทุกวันนี้ และท้ายสุดยังเป็นส่วนหนึ่งในระบบสังคมนิยมของอาณาจักรโซเวียต ดังนั้นอุซเบกิสถานจึงเป็นดินแดนที่ร่ำรวยมากด้วยวัฒนธรรมที่ควรค่าแก่การไปเยือนอย่างยิ่ง เรามีทัวร์ในวันที่ 11 -18 กันยายน 2552
มีบุคคลใดสนใจสามารถติดต่อหรือขอข้อมูลเพิ่มเติมที่เราได้ที่ เบอร์ 02-185-2764-7 หรือ 0819889553 ติดต่อคุณ ซิ้น หรือ ชนินทร์ ขอบคุณครับ

 

โดย: sincesl45@hotmail.com IP: 124.121.210.75 1 กรกฎาคม 2552 12:00:10 น.  

 

เราเคยอ่านหนังสือเล่มนึงเนื้อหาแบบนี้เหมือนก็อปกันมาเลย แต่ว่าคนเขียนเป็น ช. เราสงสัยว่าใครเป็นเจ้าของเรื่องกันแน่ ช่วยตอบด้วย ญ. หรือ ช.

 

โดย: คนผ่านมา IP: unknown, 203.151.208.6 31 มกราคม 2554 20:01:00 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


candy perfume girl
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add candy perfume girl's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.