Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2554
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
19 ธันวาคม 2554
 
All Blogs
 
'กำจัดเชื้อรา หลังน้ำลด - ภยันตรายใหม่ใกล้ตัว เตือน ควรทำให้ถูกวิธี

จากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมา บ้านเรือนที่อยู่อาศัย อาคารต่าง ๆ ได้รับผลกระทบจนไม่สามารถเข้าไปพักอาศัยได้ เนื่องจากต้องจมอยู่ใต้น้ำเป็นระยะเวลายาวนาน แต่เมื่อน้ำลดแล้วปัญหาที่ตามมาคือ มีเชื้อราขึ้นตามที่ต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้าน ดังนั้นหลังจากน้ำลดแล้ว เราควรเร่งกำจัดเชื้อราที่ขึ้นตามบริเวณบ้าน เพราะการสัมผัสกับเชื้อราเป็นเวลานานโดยเฉพาะผู้เป็นภูมิแพ้ หรือมีโรคประจำตัว จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และเกิดโรคซ้ำซ้อนได้ จึงได้รวบรวมเคล็ดลับในการจัดการเชื้อรา ภายหลังน้ำลด มาฝาก ควรมีวิธีจัดการอย่างไร...

เชื้อรา เชื้อรามีอยู่ทั่วไปตามธรรมชาติ อาศัยความชื้นจากสิ่งแวดล้อมในการเจริญเติบโต ดังนั้น จากสภาวะน้ำท่วมขังภายในอาคารบ้านเรือนที่ปิดมิดชิด เป็นอีกสภาวะหนึ่งที่กระตุ้นการเจริญเติบโตและเพิ่มปริมาณของเชื้อรา เมื่อสปอร์ของเชื้อรานี้ฟุ้งกระจายไปในอากาศ ก็อาจก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพ โดยเฉพาะกับระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ หากพบว่ามีอาการผิดปกติ เช่น คัดจมูก ระคายเคืองนัยน์ตา น้ำตาไหล เจ็บคอ ไอ หายใจมีเสียงวี้ด ปวดศีรษะ มีผื่นคันที่ผิวหนัง หรือหนังศีรษะ ควรรีบไปพบแพทย์ นอกจากนี้อาจทำให้เกิดการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจได้ หากร่างกายอ่อนแอ เชื้อราบางชนิดสามารถสร้างสารพิษ (Mycotoxin) ที่เป็นอันตรายและสันนิษฐานว่าเป็นสารก่อมะเร็งด้วยปฏิบัติกำจัดเชื้อรา เริ่มต้นจาก

1. การสวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน แต่งกายรัดกุม โดยสวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว สวมรองเท้าบู๊ตยาง สวมถุงมือยาง เพื่อป้องกันเชื้อราสัมผัสผิวหนังโดยตรง สวมแว่นตา เอี๊ยมกันน้ำ หมวกคลุมผม และใช้ผ้าปิดปากปิดจมูก (หน้ากาก N 95) ป้องกันการหายใจเอาสปอร์เชื้อรา และไอระเหยสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย

2. การระบายอากาศ ในระหว่างทำความสะอาดควรเปิดประตู หน้าต่าง ม่าน เพื่อให้อากาศถ่ายเทและให้มีแสงแดดส่องถึง ที่สำคัญ ไม่ควรเปิดแอร์และพัดลม ในระหว่างการทำความสะอาด เพราะจะทำให้สปอร์ของเชื้อราฟุ้งกระจายได้ หากเป็นห้องที่มีเครื่องปรับอากาศควรล้างทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศไปพร้อมกัน

3. การทำความสะอาด ควรเช็ดไปในทางเดียว ไม่ควรถูไปมา เพราะจะทำให้เชื้อราฟุ้งกระจาย แบ่งออกเป็น

การทำความสะอาดพื้น ผนัง เพดาน ด้วยน้ำและสบู่ หรือน้ำยาล้างจาน ขัดให้คราบสกปรกหลุดออกให้หมด

เชื้อราที่ขึ้นกับวัสดุพื้นผิวแข็ง เช่น พื้นห้อง ผนัง เพดาน โต๊ะ เตา อ่างล้างจาน ทำความสะอาดด้วยผลิตภัณฑ์ฟอกขาว 1 ถ้วย (240 มล.) เจือจางกับน้ำสะอาด 1 แกลลอน (3.8 ลิตร) ขัดด้วยแปรงชนิดแข็งแล้วล้างด้วยน้ำสะอาดวัสดุที่เป็นเนื้ออ่อน เช่น หนังสือ กระดาษมัน พลาสติก กล่อง ให้ใช้สำลีชุบฟอร์มาลินเช็ด แล้วตามด้วยผ้าชุบน้ำสะอาด จากนั้นนำไปวางไว้ในที่ที่อากาศถ่ายเท และมีแสงแดดส่องถึงเล็กน้อย แล้วปล่อยให้แห้ง

ฝ้า พรม หรือที่นอน หากมีเชื้อราขึ้น ให้ทิ้ง จะปลอดภัยที่สุดเพราะวัสดุที่มีรูอย่างฝ้า พรม และที่นอน เป็นวัสดุที่ล้างเชื้อราออกได้ยากมาก และแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะสามารถล้างออกได้หมด 100% ซึ่งถ้าหากยังใช้ต่อไป ความชื้นในห้องก็อาจทำให้เชื้อราลุกลามและขยายตัวได้กว้างขึ้น ทำให้เกิดโรคและเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจของผู้ใช้และผู้อยู่อาศัยอย่างไม่รู้ตัว ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่คุ้มกันเลย

ข้าวของเครื่องใช้ประเภทเครื่องหนัง ให้ใช้น้ำส้มสายชูเช็ดถูหลาย ๆ ครั้ง เมื่อเครื่องหนังแห้ง ให้เช็ดด้วยน้ำยาทำความสะอาดอีกครั้ง และใช้ครีมสำหรับเช็ดหนังเช็ดถูปิดท้ายก็เป็นอันเรียบร้อย

เฟอร์นิเจอร์หรือของใช้ที่เป็นไม้เนื้ออ่อน ทำความสะอาดให้เร็วที่สุดภายใน 24-48 ชม.หลังน้ำลด โดยล้างด้วยน้ำและสบู่เพื่อขจัดสิ่งสกปรกออกก่อน จากนั้นให้ล้างด้วยผงปูนคลอรีน 0.5% หรือใช้ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปน้ำยาซักผ้าขาว ที่มีส่วนผสมของยาโซเดียมไฮโปคลอไรต์ ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามท้องตลาด นำมาผสมกับน้ำ อัตราส่วนน้ำยาซักผ้าขาว 3-5 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 1 แกลลอน (3.8 ลิตร)

วอลเปเปอร์ เช็ดด้วยแอลกอฮอล์ 70% ผสมกับกรดซาลิไซลิก อัตราส่วน 5:1 ถ้าหากมีเชื้อราอยู่จำนวนมาก แนะนำให้เปลี่ยนวอลเปเปอร์ใหม่จะดีกว่า

เสื้อผ้า ผ้าม่าน ผ้าห่ม หากพบเชื้อรา ซักทำความสะอาดแล้วให้นำมาต้มฆ่าเชื้อ และตากแดดให้แห้งก่อนนำมาใช้

อย่า! ทาสีหรือแล็กเกอร์ทับในบริเวณที่เกิดเชื้อรา ให้ล้างทำความสะอาดบริเวณที่ต้องการทาสีให้สะอาด และรอให้แห้งสนิทก่อนค่อยเริ่มทาสีหรือแล็กเกอร์

งด! กิจกรรมที่จะก่อให้เกิดความชื้นภายในบ้าน หากบ้านเพิ่งมีราขึ้นและได้รับการทำความสะอาดไปใหม่ ๆ ไม่ควร ต้มน้ำ ซักผ้า ตากผ้า เปิดเครื่องปรับอากาศเย็นจัด แต่ควรเปิดให้อากาศภายนอกได้ระบายเข้ามา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่มีแดดจัดจะช่วยฆ่าเชื้อราได้ดีเลย
ทีเดียว

4. การทำให้แห้ง หลังทำความสะอาด และฆ่าเชื้อราในบ้าน ให้เปิดพัดลมเป่าภายในบ้านและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เปิดประตู หน้าต่างให้อากาศถ่ายเทเอาสปอร์ของเชื้อราออกจากตัวบ้าน จนมั่นใจว่าบ้านและอุปกรณ์ต่าง ๆ แห้งสนิท

5. ตรวจสอบเชื้อรา หลังจากทำความสะอาดไปแล้ว 2-3 วัน ให้สังเกตว่ามีเชื้อราเจริญเติบโตอีกหรือไม่ ถ้ายังพบว่ามีเชื้อราให้ทำความสะอาดซ้ำ หากมีเชื้อราขึ้นอีกให้ตรวจสอบระบบระบายอากาศ และระดับความชื้นภายในบ้าน หากพบว่ามีเชื้อราที่ระบบทำความเย็น ต้องหยุดใช้และปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ อาจต้องทำความสะอาดระบบท่อส่ง รวมทั้งหารอยรั่วที่ทำให้เกิดความชื้นด้วย

ข้อควรระวังในการกำจัดเชื้อรา

แยกซักเสื้อผ้าที่สวมขณะทำความสะอาดด้วยน้ำร้อนและน้ำยาซักผ้า

ผ้าปิดปากปิดจมูกที่ใช้แล้วและขยะที่เกิดจากการทำความสะอาด ให้ทิ้งลงในถุงพลาสติกและปิดปากถุงให้สนิท ก่อนนำไปทิ้งหรือเผาทำลาย

หลังจากทำความสะอาดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อราที่เหมาะสมกับวัสดุอุปกรณ์แต่ละประเภท เช็ดหรือพ่นบริเวณที่มีเชื้อราเจริญต่อเนื่องทุกวันจนเชื้อราหายไป จากนั้นเว้นระยะเช็ด หรือพ่นเป็นสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เชื้อราเจริญเติบโตอีก

เมื่อทราบวิธีการทำความสะอาดและกำจัดเชื้อรากันแล้ว ต้องนำกลับไปใช้กับบ้านของท่านดู เพื่อบ้านที่น่าอยู่และผู้อาศัยสุขภาพดีกันทั่วหน้า

ข้อมูลจาก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข/ แผนกควบคุมและป้องกันการติดเชื้อ โรงพยาบาลพญาไท 2 //www.phyathai.com

นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์

ข้อมูลเพิ่มเติม

ซ่อมแซมบ้าน เฟอร์นิเจอร์ กลิ่นอับ ทำความสะอาด หลังน้ำลด


Create Date : 19 ธันวาคม 2554
Last Update : 19 ธันวาคม 2554 18:08:41 น. 0 comments
Counter : 619 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

byjai
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add byjai's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.