Group Blog
 
 
กุมภาพันธ์ 2555
 
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
26272829 
 
8 กุมภาพันธ์ 2555
 
All Blogs
 

สิ่งที่ข้าพเจ้าเรียนรู้จากเยอรมนี

โดย สารศรี

เพิ่งเลยปีใหม่มาได้สักสัปดาห์หนึ่ง เผอิญกับสหายผู้หนึ่งสอบถามมา ว่าข้าพเจ้าจะมีข้อเขียนอะไรสำหรับเว็บไซต์ของเขาบ้างไหม ว่าด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับประสบการณ์การใช้ชีวิตในเยอรมัน ข้าพเจ้ามักจะเขียนบันทึกความคิดอะไรต่อมิอะไรหลังปีใหม่เสมอ เพราะเชื่อว่าความคิดของของตัวยังเป็นของเก่าของปีที่แล้ว พอจะอ้างได้ว่ายังไม่ใช่ความคิดที่เปลี่ยนแปลงไปกับเข็มนาฬิกาของปีใหม่มากนัก

ทีแรกยังนึกไม่ออกว่าจะเขียนหัวข้ออะไร เพราะเรื่องที่อยู่ในหัวดูจะมากมายวกวน ตามประสาคนไม่ค่อยได้เขียนอะไรนาน การเรียบเรียงความคิดออกมาเป็นตัวอักษรให้ได้ใจความไม่ใช่ของง่าย คิดทบทวนไปมา ก็คิดว่าน่าจะตรวจสอบความคิดตัวเองดูสักที ว่าการได้มาใช้ชีวิตนักศึกษาอยู่ในเยอรมนีนั้นได้เรียนรู้อะไรกับเขาบ้าง เรื่องที่ข้าพเจ้าคิดว่าตนเองเรียนรู้นั้นอาจจะไม่เหมือนกับของผู้อื่น และก็ไม่ได้มุ่งหวังว่าคนอื่นจะต้องมาเรียนรู้เรื่องเดียวกันกับข้าพเจ้า เพราะมนุษย์เรานั้นมีความสนใจที่แตกต่างหลากหลาย ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่าตัวเองจะสามารถมองเยอรมันได้อย่างทะลุปรุโปร่ง หรือเข้าใจอะไรอะไรที่เป็นเยอรมันได้อย่างชัดแจ้ง เพราะมุมที่ข้าพเจ้ายืน ก็เป็นข้อจำกัดในการมองอยู่แล้วโดยปริยาย แต่ข้าพเจ้าเชื่อว่ามุมมองที่แตกต่างจักช่วยให้เกิดการมองเห็นอย่างรอบด้านมากขึ้น เมื่อลองจดหัวข้อเรื่องหลักออกมา ข้าพเจ้าเลือกมาเพียงสี่หัวข้อ ซึ่งน่าจะนำไปสู่การถกประเด็นแลกเปลี่ยนได้กว้างขวางขึ้นในภายหลัง และจะอรรถาธิบายในแต่ละหัวข้อตามลำดับ ดังนี้

๑. เมตตาคุณอันปราศจากขอบเขต
ถึงแม้ข้าพเจ้ามิได้เป็นนักศึกษากฎหมาย แต่บทบัญญัติรัฐธรรมนูญข้อแรกของเยอรมันนั้นจับใจข้าพเจ้ายิ่งนัก Die Menschenwürde ist unantastbar. ศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์จะถูกล่วงละเมิดมิได้ หลักกฎหมายสูงสุดของประเทศนี้ ได้ให้ความคุ้มครองแก่มนุษย์ทุกผู้ โดยมิได้คำนึงถึงความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา ความเชื่อ หรือเงื่อนไขอื่น แน่ล่ะ อาจจะมีผู้ค่อนขอดว่า ไม่เห็นแปลกเลย เพราะประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของเยอรมัน โดยเฉพาะความพยายามฆ่าล้างชาติพันธุ์ชาวยิว ได้ทำให้มีหลักกฎหมายข้อนี้ออกมา แต่นี่ยิ่งทำให้ชาวเยอรมันในสายตาของข้าพเจ้า เป็นบุคคลที่สมควรก้มศรีษะคารวะ ในข้อที่เป็นผู้ยอมรับประวัติศาสตร์ที่ผิดพลาดของตน และเรียนรู้ที่จะไม่กระทำผิดอีก

ประธานาธิบดีของเยอรมันอย่าง Johannes Rau ซึ่งถือว่าเป็นประมุขของประเทศ ก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้นำทางสติปัญญาของสังคม เขาผู้นี้ได้แสดงให้เห็นว่าเราจำต้องแยกแยะให้ออกระหว่างความรักชาติและคลั่งชาติ และแม้เขาจะเป็นคริสตศาสนิกชนของประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือคริสตศาสนา เขายังแสดงความกล้าหาญออกมาปกป้องสิทธิของผู้ถือศาสนาอื่น หรือพรรคการเมืองเขียวของเยอรมัน ก็ยืนยันที่จะไม่นำกากนิวเคลียร์ไปทิ้งในประเทศอื่น นี่ย่อมแสดงให้เห็นว่าในหมู่ชนชั้นนำของเยอรมัน แม้เป็นนักการเมือง ก็ยังเลือกที่จะยืนอยู่ข้างศีลและสัจจะมากกว่าคะแนนความนิยม

หลักบัญญัติในรัฐธรรมนูญข้อนี้ บ้านเราได้รับไปเมื่อคราวปรับปรุงรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. ๒๕๔๔ และเป็นวิวาทะร้อนในประวัติศาสตร์การเมืองว่า คำนี้มีความหมายว่าอย่างไร ราวกับว่า แม้เมื่อเปลี่ยนระบบการปกครอง เป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญแล้ว ชนชั้นนำบางกลุ่มยังไม่เคยเรียนรู้ ที่จะนับถือมนุษย์อื่นว่าเขามีความเป็นมนุษย์เหมือนตน ฉะนั้น เขาจึงมิอาจเข้าใจศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นได้ นอกเหนือจากเกียรติยศของตน
อย่างไรก็ตาม หลักศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์นี้ ในความเป็นจริงตรงกับหลักเมตตาภาวนาในสังคมไทยมาแต่เดิม ดังที่บทแผ่เมตตาแสดงไว้ว่า สัตว์ทั้งหลาย อันเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ไม่ต้องการจะเป็นทุกข์ และอยากจะเป็นสุขด้วยกันทั้งสิ้น จักทำให้ลดการแบ่งแยก การเลือกปฏิบัติต่อมนุษย์อย่างไม่เท่าเทียมกันก็จะลดน้อยลงไป นี้เป็นหลักการสร้างเมตตาตามหลักพุทธศาสนาเดิม ดังที่พระเดชพระคุณท่านพุทธทาส ปราชญ์ทางจิตวิญญาณของเรา ได้พยายามย้ำเตือนอยู่บ่อยครั้ง
.
.
๒. ความสมถะ
สมถะเป็นคู่ตรงข้ามกับฟุ้งเฟ้อและฟุ่มเฟือย แต่สมถะมิใช่ขี้เหนียว ชาวเยอรมันเป็นชนชาตินิสัยมัธยัสถ์ ผู้บริโภคชาวเยอรมันได้ชื่อว่าเป็นผู้มีสติรู้ในการใช้จ่ายเงิน และให้ความสำคัญกับคุณภาพสินค้ายิ่งกว่ายี่ห้อ โดยที่บ่อยครั้งจากการตรวจสอบคุณภาพสินค้าพบว่ายี่ห้อเลื่องชื่อต่าง ๆ มิได้เป็นเครื่องรับประกันคุณภาพสินค้าเลย ทั้งนี้ องคก์กรคุ้มครองผู้บริโภคของเยอรมัน ซึ่งมิใช่องค์กรของรัฐนั้น เข้มแข็งยิ่ง มีการทำเอกสารให้ความรู้ และเปรียบเทียบสินค้ายี่ห้อต่าง ๆ แจ้งให้ผู้บริโภคอย่างสม่ำเสมอ ผู้ซื้อจึงมีทางเลือกในการซื้อสินค้า เพราะมีข้อมูลเปรียบเทียบช่วยในการตัดสินใจเพียงพอ

รสนิยมในการแต่งกายของชาวเยอรมันนั้น ถือว่าต่ำกว่าชนชาติเพื่อนบ้านด้วยกันเลยทีเดียว เพราะเป็นพวกไม่พิถีพิถันในการแต่งกาย และไม่นิยมรับประทานอาหารนอกบ้าน ดังจะเห็นว่าร้านอาหารและภัตตาคารมีปริมาณน้อย ความสมถะของชาวเยอรมันนั้น อาจจะเป็นผลจากที่เขาเป็นผู้รู้ถึงคุณค่าเงินก็เป็นได้ นักศึกษาของชาวเยอรมันส่วนใหญ่ ล้วนแล้วแต่รับทำงานพิเศษเพื่อหารายได้ เพราะวัฒนธรรมทางนี้ถือว่า หากอายุครบสิบแปดปีก็ควรที่จะหัดหาสตางค์เลี้ยงตัวได้แล้ว

แม้คนรุ่นเก่าที่ผ่านยุคสงครามโลกครั้งที่สอง ก็ยังมีประสบการณ์การหาเลี้ยงชีพ ด้วยความยากลำบาก ความสุขสบายโดยปราศจากการทำงานหนัก จึงเป็นของน่าติเตียนยิ่ง และถึงแม้จะเป็นประเทศอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ ระดับแนวหน้าของโลก ใช่ว่าชาวเยอรมันทุกผู้จะขับรถราคาแพง เพราะทุกเมืองจะพยายามสร้างมาตรการ บีบผู้ใช้รถยนต์ส่วนตัวให้หันมาใช้บริการขนส่งมวลชนเป็นหลัก
ถึงข้าพเจ้าจะสรรเสริญคุณสมบัติข้อนี้ของชาวเยอรมันมาก แต่ก็ไม่แน่ใจนักว่าชาวเยอรมันจะต้านกระแสทุนนิยมไปได้นานเพียงไหน เพราะดูเหมือนว่า เยอรมันทุกวันนี้จะพ่ายแพ้แก่วัฒนธรรมอเมริกันไปเสียแล้ว ดังจะเห็นได้จาก ร้อยละเก้าสิบของปริมาณภาพยนต์ ที่ฉายตามโรงภาพยนต์นำเข้ามาจากฮอลลีวู้ดเป็นส่วนมาก แม้ภาพยนต์ หรือ รายการโทรทัศน์ ผู้จัดรายการก็ซื้อมาจากอเมริกาเสียมาก แม้รายการเกี่ยวกับการจับจ่ายซื้อข้าวของ ของดาราภาพยนต์ หรือ บุคคลที่มีชื่อเสียง ก็ดูจะเป็นที่นิยมยิ่งนัก เด็กวัยรุ่นเยอรมันยุคใหม่ก็มีโทรศัพท์เคลื่อนที่ไว้ใช้ติดตัวกันเกือบทุกคน ร้านอาหารจานด่วน อย่างแมคโดนัลด์ หรือ เบอร์เกอร์คิง ก็กลายเป็นที่นัดพบของวัยรุ่น โดยที่กระแสบริโภคเขียวนั้น แผ่วลงไปอย่างที่ผู้บริโภคมองไม่เห็นโทษภัยของร้านเหล่านี้ ว่าก่อให้เกิดการทำลายพื้นที่ป่า และเกษตรกรรม ในประเทศกำลังพัฒนาอย่างไร ก่อให้เกิดการเบียดเบียนชีวิต และทรัพย์สินในประเทศยากจนอย่างไรเสียแล้ว

๓. ระเบียบวินัยที่ยืดหยุ่น
หากเดินอยู่ในเมืองใดเมืองหนึ่งของเยอรมัน ไม่ว่าจะเป็นขนาดใหญ่หรือเล็ก สิ่งที่เหมือนกัน เห็นจะเป็นความสะอาดสะอ้านเป็นระเบียบเรียบร้อย มารยาทในการขับขี่ยวดยานของชาวเยอรมันนั้น ถือได้ว่าอยู่ในระดับเรียกว่าผู้ดีได้ น่าสนใจที่ว่า ความเคารพในระเบียบวินัยของชาวเยอรมัน กลับกลายเป็นเรื่องความเถรตรงอันน่าขบขันสำหรับชนชาติอื่น ไม่ว่าการจะหยุดยืนรอไฟเขียว สำหรับคนเดินถนน ถึงแม้จะไม่มีรถยนต์วิ่งผ่านในขณะนั้นเลย และถึงกับมีป้าย ร้องขอทำนองว่า หากมีเด็กอยู่ด้วย ก็จงสำแดงตนเป็นผู้ใหญ่ที่ดี จึงพอจะมองเห็นได้ไม่ยากว่า การปลูกฝังเรื่องระเบียบวินัยนั้น มิได้อยู่ที่การบังคับใช้กฎหมายเป็นสำคัญ แต่อยู่ที่การสร้างจิตสำนึกรับผิดชอบ ทำให้มิต้องเสียค่าใช้จ่าย ในการจับผิด หรือตรวจสอบ การทำตามกฎหมาย ดังเช่น การประกาศแจ้งทางสื่อวิทยุว่า ตำรวจจะตั้งด่านตรวจจับความเร็ว หรือตรวจปริมาณอัลกอฮอลล์ของผู้ขับขี่ บนถนนเส้นไหนบริเวณใด เพื่อที่จะทำให้ผู้ขับขี่ระมัดระวังตน มิใช่เป็นการเลี่ยงการทำผิด ทั้งเจ้าหน้าที่บ้านเมืองก็เบาแรง ในการเล่นบทโปลิสจับขโมยโดยไม่จำเป็นอีกด้วย

กฎหมายที่บังคับใช้ในเยอรมันมีจุกจิกมากมายยิ่งนัก การบังคับใช้กฎหมายก็เป็นไปอย่างจริงจัง แต่มิได้อยู่ในข่ายเข้มงวด อย่างที่เรียกว่าถือเอาตัวบทกฎหมายเป็นสำคัญ หากมีการทำผิดระเบียบ หากเป็นเรื่องไม่ร้ายแรงนัก เจ้าหน้าที่นิยมใช้วิธีว่ากล่าวตักเตือน มากกว่าจะลงโทษปรับไปแต่ทีแรก และในการติดต่อกับหน่วยงาน แม้เอกสารของผู้ติดต่อจะไม่ครบตามเงื่อนไข หากก็ผ่อนปรนให้นำมาแสดงภายหลังได้ หรือใช้วิธีการตรวจสอบกับอีกหน่วยงานหนึ่งผ่านโทรศัพท์เลยโดยตรง มิพักต้องรอให้ไปเดินเรื่องมาใหม่อีกรอบ นี่อาจจะเรียกว่าเขาให้เจ้าหน้าที่ใช้วิจารณญาณของตนในการทำงาน มากกว่าว่ากันไปตามเอกสาร และหากผ่อนปรนกันไม่ได้อีกแล้วนั่นแหละ เขาจึงจะยกเรื่องระเบียบหรือเอกสารมากล่าวอ้าง
.
.
๔. อหังการ
บ่อยครั้งที่ข้าพเจ้าดูข่าวโทรทัศน์รายงานผลการแข่งขันกีฬาที่มีชาวเยอรมันเข้าร่วม และมักจะประหลาดใจว่าหากนักกีฬาเยอรมันได้รับรางวัลแม้ไม่ใช่รางวัลชนะเลิศ ชื่อของผู้ชนะเลิศซึ่งเป็นนักกีฬาชาติอื่นมักจะถูกอ่านผ่านเร็ว ๆ เสียจนฟังแทบไม่ทัน และพออยู่ไปเริ่มจะทึ่งแทนคนเยอรมันเสียแล้วว่า เล่นกีฬาแข่งขันอะไรก็ชนะไปเสียทุกรางวัล เพราะไม่เคยได้ยินว่านักกีฬาชาติอื่นเขาชนะอะไรบ้าง (555)

ครั้นดูข่าวสารคดีท่องเที่ยวในประเทศอื่น นอกเหนือจากข้อมูลประเภทคำเตือนที่ว่า ดินแดนเหล่านั้นล้วนเต็มไปด้วยคนหิวเงินและนักฉวยโอกาส สาธารณสุขและคุณภาพชีวิตผู้คนก็ต่ำต้อย หากไม่เท่าทันอคติของผู้ถ่ายทำสารคดีแล้ว อาจจะเชื่อได้ง่าย ๆ ว่ายุคพระศรีอาริย์คงมีอยู่เฉพาะดินแดนเยอรมันแห่งนี้เท่านั้น

อำนาจของสื่อที่มีอยู่มากมายในยุคเทคโนโลยีข่าวสารปัจจุบัน ได้หล่อหลอมให้คนเยอรมันรู้จักโลกมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ปลูกฝังวิธีคิดให้เป็นไปในแนวเพ่งวิเคราะห์ผู้อื่น มากกว่าการตรวจสอบตัวเอง ดังเช่น เคยมีคนเยอรมันเดินเข้ามาถามข้าพเจ้าสองสามหน ว่าผู้หญิงไทยมาทำอะไรอยู่ในเยอรมันตั้งมากมาย เมื่อเขาตั้งใจถามอย่างที่ตั้งใจจะให้ข้าพเจ้าได้อาย ข้าพเจ้าก็จงใจตอบอย่างที่ให้เขาได้อายเช่นกันว่า ตัวข้าพเจ้าเองนั้นเขาเชิญให้เป็นแขกมาเรียนหนังสือ

ส่วนผู้หญิงไทยที่แต่งงานกับชาวเยอรมันนั้นเท่าที่ทราบ ทั้งหญิงและชายเยอรมันก็ทนกันและกันไม่ได้ ส่วนชายเยอรมันเห็นคุณค่าของผู้หญิงเอเชียจึงได้ไปขอแต่งงาน และหากจะถามว่าทำไมผู้หญิงเอเชียบางคนจึงได้ประกอบอาชีพขายบริการ ข้าพเจ้าก็สงสัยเช่นกัน ว่าทำไมชาวเยอรมันจึงเป็นประเทศ ที่ใช้จ่ายเงินกับการซื้อบริการทางเพศมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก

แล้วข้าพเจ้าก็เลยถามเขากลับเพิ่มเติมว่า นอกจากเมืองพัทยาที่คนไทยเขาไม่นิยมไปเที่ยวแล้ว เขาทราบหรือเปล่าว่าประเทศไทยมีเจ็ดสิบกว่าจังหวัด มีขนาดของประเทศใหญ่โตกว่าเยอรมันถึงสองเท่า เป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลก แล้วก็แถมท้ายด้วยคำถามว่าเขาเคยไปแบร์ลีนไหม ไปฮัมบวร์ก หรือมึนเช่นมาหรือยัง เพราะอ้ายเจ้าพวกที่ตั้งคำถามโง่เขลาเช่นนี้ส่วนใหญ่เป็นพวกไม่เคยไปไหน ไม่เคยรู้จักโลกนอกเหนือจากเมืองที่ตัวเองอยู่ ดังจะทดลองถามนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้ว่า เขาไปไหนมาไหนน้อยมาก หลายคนแทบไม่เคยเดินทางออกจากเมืองที่ตนอาศัยอยู่เลย วิสัยการท่องเที่ยวในช่วงพักร้อนของชาวเยอรมันนั้น เกิดขึ้นในหมู่คนที่ทำงานรับเงินเดือนแล้วเป็นส่วนมาก

และแม้จะได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีจิตสำนึกทางสิ่งแวดล้อมสูง แต่นักท่องเที่ยวชาวเยอรมันมิเคยสำเหนียก ผลกระทบของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเลย มิเคยตั้งคำถามการที่ได้ทำให้มายอร์คา หรือพัทยา กลายสภาพไปอย่างไร วิถีชีวิตคนท้องถิ่นต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร นี่เป็นสิ่งที่ชาวเยอรมันมิเคยตั้งคำถามกับตนเอง แม้การมองว่าพัฒนพงศ์เป็นถนนคนบาป แต่เยอรมันกลับภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งกับเรพเปอร์บาห์นในฮัมบวร์ก แถมขนานนามว่าเป็นประตูสู่โลก

ยังร้านขายอุปกรณ์ทางเพศที่เปิดกันเกลื่อนกลางเมืองอีกเล่า บ้างก็อยู่ติดร้านอาหาร ร้านกาแฟ คนเยอรมันก็มองเห็นเป็นเรื่องธรรมดาเลยทีเดียว ใช่ว่าจะมีคนเยอรมันโอหังเช่นนี้อยู่ทั่วไป จากประสบการณ์ของข้าพเจ้า คนที่มีการศึกษา รู้ความเป็นไปของโลกนั้น สามารถจับผิดและวิเคราะห์สังคมของตนได้อย่างแหลมคม อหังการที่คนเยอรมันมีก็คงเป็นสิ่งที่ไม่แตกต่างจากอหังการในสังคมไทยสักเท่าไหร่ ดังที่มีคนถามชายเยอรมันซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในวัยเกษียณที่ไปแต่งงานอยู่กินกับหญิงไทย ว่าในวัยขนาดนี้ทำไมถึงได้มาแต่งงานกับคนรุ่นลูก เขากล่าวตอบว่า ภรรยาชนชาติเดียวกับเขาเสียชีวิตไปนานแล้ว เขาก็เป็นคน รู้สึกเหงาเปล่าเปลี่ยว ต้องการครอบครัว ผู้หญิงในเยอรมันคงไม่มีใครแต่งงานกับเขาอีก ในเมื่อเขายินดีแต่งงานกับผู้หญิงไทย จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย เลี้ยงดูภรรยาและลูกติดสมตามฐานะ เหตุใดจึงพยายามยัดเยียดข้อหาเฒ่าหัวงูให้กับเขา ฤาสังคมไทยจะยอมรับได้แต่การเป็นภริยาน้อยของสามีไทยเท่านั้น หรือที่มีชายไทยในสังคมไทยเป็นส่วนมาก รู้สึกเสียหน้ากับการที่หญิงไทยแต่งงานกับฝรั่ง ถึงกับชี้หน้ากล่าวหากันเลยว่าเธอเหล่านั้นเห็นแก่ทรัพย์ มิได้มองเลยว่า ร้อยละเก้าสิบของหญิงไทยเหล่านั้น ล้วนถูกชายไทยทอดทิ้ง แถมยังรับภาระเลี้ยงดูครอบครัวและบุตรไปตามลำพัง จริง ๆ เรื่องเหล่านี้เป็นปัญหาซับซ้อน ใครเลยจะหาคำตอบสำเร็จรูปมาอธิบายได้ แต่ที่เป็นของแน่ก็คือ ยะโสนั้นเป็นเรื่องโง่โดยแท้ทีเดียว

บทสรุป
สิ่งที่ข้าพเจ้าเรียนรู้จากเยอรมนีนั้นประกอบไปด้วย
(๑) หลักเมตตาคุณอันหาที่ประมาณมิได้
(๒) ความสมถะ
(๓) ระเบียบวินัยที่ยืดหยุ่น และ
(๔) อหังการ

ทั้งนี้หลักเมตตาคุณนั้นจักช่วยให้เราไม่ลืมความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น แม้ผู้ที่คิดเห็นต่างจากเรา ความสมถะนั้นช่วยให้เราเบียดเบียนโลกด้วยการบริโภคเท่าที่จำเป็น ระเบียบวินัยที่ยืดหยุ่นช่วยให้มนุษย์อยู่ร่วมกันโดยใช้หัวใจร่วมกับสมองมากขึ้น ส่วนอหังการนั้นช่วยให้เห็นอวิชชา และเน้นให้เห็นปัญญาอันเกิดความอ่อนน้อมถ่อมตนชัดเจนขึ้น
ที่มา : คลังปัญญาชนสยาม

//www.geocities.com/siamintellect/writings/germany.htm

. . . . .
เป็นบทวิเคราะห์ วิพากย์วิจารณ์เกี่ยวกับวิกฤตเศรษฐกิจในยุโรปที่ไม่ได้เขียนเองค่ะ แต่อ่านพบ-เจอ และน่าสนใจจึงเก็บไว้อ่านเอง

Ref: //melaniemonster.wordpress.com/2009/01/14/สิ่งที่เรียนรู้จากเยอร/




 

Create Date : 08 กุมภาพันธ์ 2555
1 comments
Last Update : 23 กุมภาพันธ์ 2557 17:54:07 น.
Counter : 619 Pageviews.

 

อ่านแล้วได้ความรู้เพิ่มเติมเยอะดีค่ะ แต่...ความเห็นส่วนตัว คนเขียนบทความนี้ น่าจะใช้คำว่า "คนเยอรมันบางคน..." หรือเฉพาะเจาะจงคนเยอรมันที่ตัวเองได้ไปพบเจอมา โดยเฉพาะในช่วงการเขียนความเห็นส่วนตัวจากคนเยอรมันที่ตัวเองไปประสบพบเจอมา(เท่านั้น) ไม่คิดว่าการเหมาหมด..โดยใช้คำว่า "คนเยอรมัน" โน่นนี่นั่น จะเป็นการแฟร์กับคนที่เยอรมัน(ดีๆ)คนอื่นๆที่เค้าไม่ได้เข้าไปอยู่ในสถานการณ์นั้นๆกับผู้เขียน ...อันนี้ความเห็นส่วนตัวนะคะ Meinungsfreiheit เป็นสิ่งที่คนที่นี่ทำได้ค่ะ และคำว่า "อหังการ" ...หากเราคงไม่ใช่คำนี้กับคนเยอรมันที่เราพบเจอจากประสบการณ์ของเราแน่นอนเพราะมันไม่ใช่อ่ะ ... บางทีอ่านแล้วก็เชื่อทั้งหมดไม่ได้เนอะ คงจะต้องพิจารณาเป็นรายๆไป...แต่ก็อ่านไว้ได้ประโยชน์ดีค่ะ ขอบคุณที่เอามาโพสนะคะ

 

โดย: Max Bulliboo 24 กุมภาพันธ์ 2557 2:55:28 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


ลูกไม้
Location :
กรุงเทพฯ Germany

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add ลูกไม้'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.