People - Places - Pictures
<<
มีนาคม 2554
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
16 มีนาคม 2554

Ladakh แบบเรื่อยเปื่อย บทที่ 4/4

ตุกคัง หรือพระอุโบสถใหญ่ของสปิตุก อยู่ทางทิศตะวันตกของวัด ก่อนไปถึงต้องผ่านลานกลางแจ้งปูอิฐแดง บนลานมีเสาธงสูงลิ่ว ธงสีแดงผืนโตม้วนพันมัดแน่นกับเสา เหนือยอดเสาเห็นฉัตรเหลืองอร่ามเด่นไสวตัดกับสีท้องฟ้า ประตูหน้าของตุกคังหันออกสู่ทิวเขาซันสการ์และแม่น้ำสินธุ อุโบสถดังกล่าวบัดนี้ทำหน้าที่เป็นโรงช่างศิลป์ที่พระท่านสร้างมณฑลทราย

พระอุโบสถอยู่บนชั้นที่สามของอาคารห้าชั้น จากลานอิฐแดงต้องขึ้นบันไดไปอีกนิดหน่อย บนบันไดปูนนั้น ลุงฝรั่งท่านหนึ่งเดินพุงโย้สวนลงมา แต่งกายทะมัดทะแมงเต็มที่ เสื้อซาฟารีสีครีมตึงเปรี๊ยะยัดลงในกางเกงขาสองส่วนสีน้ำตาล ถุงเท้ายาวเฟื้อยและบู๊ตหนังเดินป่า ยังดีแกสะพายกระเป๋ากล้องแฮนดีแคม ไม่ใช่ปืนไรเฟิล ไม่งั้นผมต้องคิดว่าแกคือชีการี พรานผิวขาวยุคอาณานิคมกำลังไปขึ้นช้างยิงเสือ

เห็นผมเดินสวนขึ้น แกก็ถอดหมวกกะโล่อวดผมขาวหร็อมแหร็ม เอียงศีรษะทักเสียงดัง
“จูเล! เธอเข้าไปดูมาหรือยัง ข้างในนั้น อะฮ่า ! โซ อเมซิ่ง”

คุณปู่ชี้ชวนอย่างเบิกบาน ตาสีฟ้าเป็นประกายระริกไม่ผิดกับเด็กซน มีแววโอ่เล็กๆ คล้ายจะบอกว่า ‘ฉันไปเห็นมาแล้วนะเฟ้ย’ ผมชอบคนที่มีบุคคลิกแจ่มใสเช่นนี้นัก แอบเดาว่าแกคงเป็น ศจ. อเมริกันที่มากับหนุ่มแท็กซี่หน้าวัดคนนั้น

“แซนด์ มันดาล่า พระลามะกำลังทำมณฑลทรายอยู่ข้างในใช่ไหมครับ ”
“แน่ละสิ เธอรู้มาจากไหนล่ะ มีใครที่เลห์บอกมารึเปล่า”
คุณปู่แกล้งโน้มตัวมาใกล้ ๆ หรี่ตาข้างหนึ่ง ทำปากจู๋ส่งเสียงกระซิบ ยังกับกลัวว่าพิธีกรรมนี้จะเป็นข่าวโจษจันในหมู่นักท่องเที่ยว ต้องเก็บไว้เป็นความลับ
“ไม่หรอกครับ ผมเพิ่งทราบตอนมาถึงวัด ก่อนนี้เพียงแค่ตั้งใจมาชมสถานที่เฉยๆ”
“โอ้ว์….” แกเบิ่งตากว้าง หัวเราะเหอะๆ “เหมือนกัน! ฉันมาที่นี่เมื่อวาน ก็เจอพวกลามะเขากำลังมะรุมมะตุ้มกันบนภาพมณฑลทราย ช่างบังเอิญจริงๆ วันนี้เลยอดไม่ได้ต้องกลับมาดูอีก นับว่าพวกเราเป็นคนดวงดีเน๊อะ”
“ใช่ครับ มีโชคจริงๆ”

ศาสตราจารย์โบกมือลา บอกว่าวันนี้บันทึกภาพไว้มากพอสมควร อีกสองสามวัน กลับจากเที่ยวทะเลสาบแปงกองแล้วจะแวะมาติดตามความคืบหน้า











ห้องโถงอุโบสถกว้างและมืดครึ้ม ภายในเย็นสบายไม่อึดอัด ลมนิ่งเพราะมีช่องทางให้อากาศเข้าออกเพียงแห่งเดียวคือประตูใหญ่ มุมลึกสุดของห้องมีแสงไฟสลัว พระห้ารูปนั่งรวมกลุ่มก้มๆ เงยๆ อยู่รอบแผ่นไม้กลมแบนใต้แสงนวล นอกจากนี้ยังมีเณรเด็กๆสองสามรูปและชาวพื้นเมืองชราอีกคนนั่งพิงเสาชมดูอยู่ห่างๆ

พระเณรคุยกันเฮฮา ในบทสนทนาลาดักกี้นั้น บางทีก็ปนศัพท์ภาษาอังกฤษอยู่ด้วย เช่น โอ้ว์ …เรียลลี่ไน่ซ์…อเมซิ่ง…วั๊นเด้อร์ฟู่ลล์ ผสานกับเสียงหัวร่อกิ๊กกั๊ก ไม่รู้กำลังก๊อสซิปกันเรื่องท่านศาสตราจารย์หรือเปล่า ปะหน้าแค่เดี๋ยวเดียว ผมก็พอนึกภาพออกว่าคนแจ่มใสเบิกบานอย่างคุณปู่ คงออกอาการตื่นเต้นปลาบปลื้ม อยากรู้อยากเห็นและช่างซักช่างถามแบบไม่หยุดหายใจ จัดเป็นผู้มาเยือนอีกพวก ที่เจ้าบ้านนิยมตั้งวงอภิปรายเมื่อคล้อยหลัง

วงสนทนาตัดบทลงห้วนๆเมื่อเห็นผมเตร่เข้ามาใกล้ แต่ดูท่าอารมณ์รื่นเริงของพระท่านยังคงค้างอยู่ หลวงพี่ท่านหนึ่งลักษณะคล้ายผู้คุมงานกวักมือเรียกผมพร้อมรอยยิ้มลิงโลดแทบเป็นหัวเราะ
“มาเลยโย้ม …..เข้ามาดูใกล้ๆ”

บริเวณที่พระท่านประดิษฐ์มณฑลทรายอยู่ตอนในสุดทางฝั่งซ้ายของพระอุโบสถ ห่างจากประตูใหญ่สิบกว่าเมตรเพื่อเลี่ยงลม เดิมทีมืดสลัวเพราะแดดส่องมาไม่ค่อยถึง ต้องเดินสายไฟทำโป๊ะเหลืองนวลดวงใหญ่ แขวนบนยอดเสาสูง ให้ส่องสว่างเหนือแท่นทำงานพอดี











ชมดูเพียงผ่าน ยังไม่ทันโอภาปราศรัยกัน พระท่านคงเห็นว่าผมเดินมาเหนื่อยๆ จึงผายมือให้ไปนั่งพักข้างๆชายชราชาวลาดัก เณรน้อยท่านหนึ่งเดินเอียงกะเท่เร่หิ้วกาทองแดงใบโตมาบรรจงรินชามอบให้ คราวนี้เป็นชาเนยแบบทิเบตเค็มมันอร่อยดี รสชาติออกไปทางน้ำซุปมากกว่าน้ำชา และตามด้วยสิ่งที่ผมรอคอย คือถาดเหล็กกลมโตสองใบ ถาดแรกมีขนมแป้งทอดกรอบรูปร่างคล้ายๆดอกไพ่ข้าวหลามตัดวางแผ่เต็มไปหมด อีกถาดก็เพียบไปด้วยขนมเช่นกัน มี ‘ไต’ แป้งแผ่นกลมหนาหนักสามแผ่นโตๆ และ ‘สโมซ่า’ กะหรี่ปั๊บแขก อีกสองชิ้นอวบๆ เล่นเอาตาลายด้วยรวมมิตรเมนูแป้ง

จริงๆแล้วขนมเหล่านี้คงจัดไว้สำหรับพระท่านทานเล่นเวลาพักมือ แต่เกรงว่าจะไปย่อยสลายในพุงบรรดาเณรน้อยและแขกผู้มาเยือนมากกว่า ผมหยิบแป้งทอดใส่ปากกร้วมๆ บิไตเป็นเสี้ยวเล็กๆ ทานแกล้มน้ำชาเพราะมันทั้งเหนียวทั้งแข็ง ทุกครั้งที่เห็นชาพร่องถ้วย เณรน้อยก็ปรี่มารินเติมให้ไม่ขาดตอน ชายชราที่นั่งอยู่ด้วยเห็นผมมัวแต่เลียบๆเล็มๆ ไม่แตะสโมซ่าเสียที ก็ชี้มือชี้ไม้บอกให้หยิบเข้าปากซะ

อันที่จริงผมอยากลองอยู่เหมือนกัน แต่ยังเกรงใจเพราะมันเหลือแค่สองชิ้นเอง จะทานคนเดียวก็ยังไงอยู่ เลยทำท่าถามชายชราว่าทานด้วยกันไหม แกยกมือไม้คล้ายตอบว่า ‘เอาสิ’ แต่เมื่อหยิบส่งให้จริงๆ ลุงแกกลับส่ายมือส่ายหน้าเป็นการใหญ่ พยายามยื่นให้ก็ผลักมือกลับ พลางร้องปฏิเสธอ้อๆแอ้ๆ นั่งเคียงกันอยู่ตั้งนานเพิ่งทราบว่าที่แท้แกเป็นใบ้ ผมได้แต่ยิ้มแห้งๆ ไม่ทราบจะเซ้าซี้คุณลุงต่ออย่างไร จึงหันไปขอความช่วยเหลือจากเณรน้อย เธอก็ส่ายศีรษะและบอกว่า “ You will finish it .”


















ท้ายที่สุด ผมไม่เหลือทางออกอื่นนอกจากจัดการมันไปเสียให้หมด เพราะขนมยัดไส้เหลืองอร่ามเช่นนี้ จะเหลือทิ้งให้คนอื่นไม่เต็มชิ้นก็น่าเกลียด สรุปแล้วมื้อนี้อิ่มเอมสมใจ ด้วยขนมที่ไม่กล้าเผยจำนวน บวกกับชาทิเบตที่นับเล่นๆ ได้ห้าถ้วย

เมื่อสำราญท้องดีแล้ว ก็ได้เวลาหารถกลับเกสต์เฮ้าส์ ไปนอนแผ่พุง….

อ๊ะ! ไม่สิ ทำยังงี้เดี๋ยวบรรดาพระเณรท่านจะหาว่าเราเห็นแก่กิน ยังไงก็แล้วแต่ ต้องสร้างภาพพจน์นักเดินทางผู้ใฝ่รู้ไว้สักนิด ผมจึงค่อยๆเตร่เข้าไปใกล้บรรดาสมณะช่างศิลป์


















อันที่จริงมันดาล่า…มัณฑะเลย์….หรือมณฑลนี้ เป็นของสูงซับซ้อนเกินกว่าผมจะทำความเข้าใจและถ่ายทอดได้กระจ่าง แต่เมื่อเรื่องราวนำพามาถึงตรงนี้ก็สุดจะเลี่ยงข้ามไป จึงขอคุยเพียงคร่าวๆ เท่าที่พบเห็นและอ่านมาอย่างผิวเผิน

ชาวทิเบตเรียกมันดาล่าว่า ‘จิงคอร์’ มันดาล่าคือทำเลแห่งปราสาทราชวังในแดนพุทธเกษตรที่สถิตย์ของพระพุทธเจ้าองค์ต่างๆ , ของพระโพธิสัตว์ ตลอดจนถึงบรรดาเทวะ เทวี ธรรมบาลทั้งหลาย ซึ่งโดยมากมันดาล่าที่เขาทำกัน มักเป็นอาณาจักรของพระพุทธ พระโพธิสัตว์ที่จัดอยู่ในจำพวก ‘ยิตัม’ หรือครูเทพผู้ก่อกำเนิดพระธรรมสูตรและวิถีปฏิบัติของนิกายต่างๆ บางมันดาล่าเป็นของยิตัมองค์ใดองค์หนึ่งโดยเฉพาะ บางมันดาล่าก็ปรากฏยิตัมหลายองค์มาชุมนุมกัน โดยมีบริวารของท่าน คือเทพจำพวกโลกบาล กับธรรมบาล คอยอารักขาเป็นชั้นๆ

ผู้ปฏิบัติธรรมจะเพ่งสมาธิเข้าหาภาพมันดาล่า และกำหนดจิตของตนเข้าไปอยู่ในมันดาล่านั้นๆ ฝากเนื้อฝากตัวกับยิตัมของศาสตร์ที่เขาฝึกปรือ ให้ช่วยปกป้องคุ้มครองจากอาการหวั่นไหวฟุ้งซ่านทั้งมวล ค่อยๆ หลอมรวมจิตใจให้เป็นหนึ่งเดียวกับยิตัม ละลายตนลงสู่อาณาจักรของท่าน ดิ่งลึกอย่างดื่มด่ำในโลกเหนือโลก

ถ้าคิดตามนี้ มันดาล่า ก็คงเปรียบได้ง่ายๆ กับโรงเรียน หรือสถานปฏิบัติธรรมบนสรวงสวรรค์ คืออาณาบริเวณในจินตนาการ มีพรมแดนกว้างไกลเกินขอบเขตการหยั่งรู้ของปุถุชน บางท่านให้นิยามมันดาล่าว่าคือคอสมอส เป็นมิติจำเพาะหรือจักรวาลของคุรุเทพนั้นๆ คล้ายเนบิวลาทรงกลม ห้อมล้อมด้วยบริวารผู้ทรงอิทธิฤทธิ์ คอยปกปักรักษา หรือไม่ก็เป็นเวิ้งฟ้าโปร่งโล่ง ประดับด้วยดาวริบหรี่ แวววาวประดุจเพชร







มันดาล่าของ วัชระไภรวะ (ยมานตกะ)
//www.bodetam.org/Vietnamese/HinhAnhPhatGiao/MatTong/VajraBhaivara%20(Yamantaka)/Yamantaka%20Mandala%204.JPG







หากมองในแง่รูปภาพ เช่นที่ช่างศิลป์ทิเบตเขาวาดลงผืนผ้าใบ หรือที่พระท่านสร้างสรรค์ด้วยผงฝุ่น มันดาล่าคือภาพแปลน top view ของปราสาทราชวังบนวิมาน ประกอบด้วยวิหารใหญ่ตรงจุดศูนย์กลางอันเป็นที่สถิตของคุรุแทพผู้เป็นองค์ประธาน ถัดออกมาข้างนอกเรื่อยๆจะเห็นตำหนักชั้นรองๆ ลงมา คั่นด้วยกำแพงหลายชั้น มีทางเข้าออกทะลุถึงกัน ห้อมล้อมด้วยสวนสวรรค์ รอบนอกที่สุดก่อนจะตกขอบรูปคือจักรวาลและเทห์ฟากฟ้าทั้งปวง

แบบแปลนมันดาล่ามีวงกลม สี่เหลี่ยมจตุรัส และสามเหลี่ยมด้านเท่าเป็นรูปทรงพื้นฐาน มีเพียงสองมิติคือกว้างคูณยาว ซึ่งฝั่งไหนเป็นด้านกว้าง ไหนเป็นด้านยาวก็คงบอกยากเพราะเขายึดหลักความสมมาตรเท่ากันหมด แต่ทิศทั้งสี่ คือเหนือ ใต้ ออกตก นั้นมีการแบ่งสรรไว้แน่ชัด

นักประวัติศาสตร์ศิลป์บางท่านบอกว่ามันดาล่าที่มีสามมิติ คือ กว้าง x ยาว x สูง ก็มีอยู่ แต่มิได้อยู่ในภาพวาด หากเป็นสิ่งก่อสร้างจริงๆเช่น วัดซัมเย่ใกล้ๆกรุงลาซาในทิเบต และมหาศาสนสถานบุโรพุทโธที่อินโดนีเซีย








มันดาล่าสามมิติ ที่จำลองขึ้นจากภาพแปลน
//lmaclean.ca/LisaMacLean/nfblog//__HOMEDIR__/www/LisaMacLean/nfblog/wp-content/uploads/2007/02/3D%20Mandala.jpg








Create Date : 16 มีนาคม 2554
Last Update : 16 มีนาคม 2554 11:47:39 น. 2 comments
Counter : 1503 Pageviews.  

 
แวะมาทักทายครับ มีโอกาสอยากไปเที่ยว Ladakh บ้าง


โดย: กัปตันลูกชุบ วันที่: 16 มีนาคม 2554 เวลา:9:36:14 น.  

 
ขอบคุณครับ รออีกสองสามเดือนหิมะละลาย ก็เข้าสู่ฤดูท่องเที่ยวของลาดักแล้ว ถ้ามีโอกาสก็ไปเลยครับ


โดย: azurite วันที่: 16 มีนาคม 2554 เวลา:13:16:03 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

azurite
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




Azurite is a lazy painter.
[Add azurite's blog to your web]