People - Places - Pictures
 
กุมภาพันธ์ 2554
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728 
17 กุมภาพันธ์ 2554

Ladakh แบบเรื่อยเปื่อย บทที่ 1/2

นานเท่าไรไม่รู้ ผมงัวเงียตื่นขึ้นมา สำรวจดูข้าวของอยู่ครบก็เบาใจ ฝนหายตั้งแต่เมื่อใดก็ไม่ทราบอีกเช่นกัน แต่มันพาบรรดาแขกมุงทั้งหลายกลับออกไปด้วย โมงยามนี้ บริเวณเคาน์เตอร์ออกตั๋วและจุดตรวจสัมภาระต่างๆ ปิดทำการหมดแล้ว ส่วนในของสนามบินเปิดไฟวับแวมมืดสลัว เหลือเพียงบริเวณโถงด้านนอกที่ผมนอนอยู่นี่แหละ ที่ยังคงสว่างไสวอยู่ เมื่อฝนซา ผู้โดยสารเที่ยวบินรอบเช้าจึงทยอยเข้ามาทีละคนสองคน ส่วนเจ้าหน้าที่เหลือเพียงไม่กี่นาย เดินตรวจตราความเรียบร้อยอย่างหงอยๆ

บนเบาะฝั่งตรงข้าม คุณแม่และพี่เลี้ยงของวิโนช นั่งหลับเบียดเกยไหล่ ส่าหรีของทั้งสองย้วยเข้าทับซ้อนกัน จากสายตาคนเพิ่งตื่นดูไม่ออกว่าผืนไหนเป็นของใคร พี่สาวของเขานอนหนุนพนักวางแขน คุยมือถือด้วยเสียงกระซิบถี่เร็วบนสีหน้าเรียบเฉยอันเป็นเอกลักษณ์ของเธอ ส่วนวิโนชนั่งอยู่กับชายแปลกหน้าเพิ่งมาใหม่คนหนึ่งบนเบาะยาวห่างออกไป ทั้งคู่เอียงคอทักทายเมื่อเห็นผมค่อยๆยันตัวขึ้นนั่งอย่างเมื่อยขบ

ความสงบเงียบยามดึกช่างน่าอภิรมย์ บริเวณที่นั่งห่างไปสองสามแถว หญิงชาวสิกข์คมเข้มนางหนึ่งกำลังจัดแจงทรงผมให้ลูกชาย ใบหน้าหนุ่มน้อยดูอิ่มและคมสัน ทำให้นึกถึงรูปปฏิมาพระโพธิสัตว์หนุ่มยุคคันธารราฐ จอนหนาเป็นไรเรี่ยข้างแก้มอวบ เปลือกตาโค้งรูปหอยสังข์หรี่ปรือ คุณแม่คลายมุ่นผ้าขาวเหนือหนาผากของลูก เหยียดมวยผมยืดออกไปเกือบสุดปลายแขนของเธอ หวีช้าๆ ซ้ำไปซ้ำมาไม่รีบร้อน สองมืออวบๆเคลื่อนไหวขึ้นลง ตลบม้วนไปมา สางผมหยักศกยาวเฟื้อยของลูกอย่างอ่อนโยน ก่อนเกล้าเข้าหากันใหม่ประณีตหมดจด คลุมผ้าขาวผืนเดิมทับ รัดมวยผมนั้นไว้มิดชิด

ผมชมดูด้วยความเพลิดเพลินจนกระทั่งเด็กชายผู้นั้นลืมตาคมจ้องกลับมา จึงเสมองไปทางอื่น หันมาเจอชายแปลกหน้าที่นั่งอยู่กับวิโนช แกยิ้มเผล่ๆ เอียงคอกระดิกเท้าให้ สบตากันพักหนึ่ง ก็หิ้วกระเป๋าเจมส์บอนด์ใบแบนๆ ย้ายมานั่งติดกับผม ร่างจมลงในเบาะนิ่มยวบ ตัวแกอวบกลม เตี้ยล่ำ ผิวคล้ำเกือบดำตัดกับเสื้อเชิ้ตขาวครีม และกางเกงขาตรงสะอาดเอี่ยม ตาขาวสีอมเหลืองขุ่นๆ ไว้หนวดหนาเตอะตามแบบฉบับพ่อบ้านอินเดียทั่วไป แกกวักมือเรียกให้วิโนชมานั่งตรงกลางระหว่างเราสอง “ภาษาอังกฤษผมไม่ค่อยดี ต้องให้เขาช่วย” แกออกตัว






เดิมทีผมเดาว่าแกเป็นเซลส์แมน และสงสัยว่าเข้ามาตีสนิทกับวิโนชตั้งแต่เมื่อไหร่ เป็นคอคริกเก็ตเหมือนกันหรือเปล่า แต่หลังจากคุยผ่านล่ามครู่เดียวจึงพบว่ามองผิดไป ชายกลางคนผู้นี้เป็นทหารในสังกัดคุณพ่อของวิโนช นอกจากกลับไปเข้ากรมกอง ประจำการยังลาดักแล้ว ยังคอยช่วยดูแลอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้ครอบครัวของผู้บังคับบัญชาไปด้วยในเวลาเดียวกัน แกไม่ได้บอกผมกระจ่างนักเรื่องยศตำแหน่ง แต่ด้วยรอยยิ้มเผล่ใต้หนวดงามและร่างเตี้ยล่ำฉ่ำฉุ ทำให้ผมแอบตกลงกับตัวเอง จะเรียกแกในใจว่า ‘จ่า’

ลาดักคือจังหวัดในปกครองของแคว้นจัมมูแคชเมียร์ เป็นดินแดนขรุขระผืนเหนือสุดของอินเดีย เปรียบดังปลายเรียวข้อสุดท้ายของนิ้วกลาง ที่ถูกบีบไว้ด้วยนิ้วโป้งและนิ้วชี้ของมืออีกข้าง นิ้วโป้งอวบใหญ่คือเมืองจีน ส่วนนิ้วชี้ซึ่งแม้จะเล็ก แต่ไว้เล็บคมและมีแรงบีบกดมากกว่าได้แก่ปากีสถาน แม้จีนกับอินเดียจะเขม่นกันมาตลอดหลายสิบปี ในฐานะสองยักษ์ใหญ่ที่มีชายแดนติดกันยืดยาว โดยเฉพาะผืนดินอักษัยชินซึ่งทุกวันนี้ยังไม่กระจ่างว่าเป็นของฝ่ายไหน แต่การรบรุนแรงถึงขั้นสงครามนั้นแทบไม่ปรากฏ อีกทั้งมิตรภาพก็ดูท่าจะงอกงามขึ้นทุกวันด้วยข้อตกลงการค้าขาย ในขณะศึกสายเลือดของอินเดียกับปากีสถานนั้นโจ่งแจ้งจนใครๆก็รู้กันดี ต้นตอของปัญหา คือเรื่องซับซ้อนละเอียดอ่อนยากเข้าใจในพื้นที่แคชเมียร์ถึงบัลติสถาน พรมแดนแถบนี้มีการปะทะบ่อยครั้ง ยิงจรวดทักทายกันบนสันเขาห่างไกลไม่หยุดหย่อน เมื่อฝ่ายใดเผลอ อีกฝ่ายก็มักส่งกำลังทหารดอดข้ามพรมแดน แหย่เย้าเข้าไปให้ภราดาที่รักหวาดเสียวเล่น


เท่าที่คุยกัน ส่วนใหญ่จ่าประจำการชายแดนฝั่งจีนมากกว่าทางปากีสถาน ผมนึกภาพแกสูบบีดี้ ยืนทอดจาปาตี อุ่นดาลในกระป๋อง ต้มชาควันคลุ้งในบังเกอร์กลางสนามเพลาะ ข้างนอกคือทุ่งน้ำแข็งเย็นเฉียบ ขณะที่อีกฟากของพรมแดนนั้น ทหารจีนตาตี่กำลังเฉือนเนื้อแย็คนึ่งใส่ปาก

“ลาดัก ไม่ค่อยมีอะไร อยู่นานเข้าก็เบื่อ” จ่าออกความเห็น
“มีแต่ภูเขาแห้งๆ แล้วก็หิมะปีละเจ็ดแปดเดือน ภูเขากับหิมะตลอดเวลา…..ตลอดกาล” แกยืนยันความเป็นตลอดกาล โดยตวัดนิ้วชี้วนเวียนไปมาในอากาศ วาดสัญลักษณ์อินฟินิตี้
“บ้านเดิมจ่าอยู่ไหนล่ะ แล้วที่นั่นมีอะไรบ้าง” ผมพาซื่อถาม ไม่คิดจะกวน แต่อยากรู้จริงๆ
“ฉันมาจากอำเภอใหญ่ชื่อฟาริดาบัด อยู่ติดถนนไฮเวย์จากเดลีไปอัครา นายจะไปเที่ยวทัช มาฮาล เที่ยวมถุรา นายต้องนั่งรถผ่านบ้านฉัน” แกคิดอยู่นิดนึง แล้วกล่าวเนือยๆ “ฟาริดาบัดเองก็งั้นๆ มีบ้านคนกับตลาด วัดกับศาลเจ้า แต่ยังดี เราอยู่ใกล้เดลี นั่งรถชั่วโมงนึงก็ถึง”
“จ่าอยู่ลาดักมากี่ปีแล้วล่ะ”
“สิบเจ็ดปี…..มายเฟรนด์”

ผมนึกภาพคืนวันฤดูแล้วฤดูเล่า ที่จ่าต้องแบกปืนลาดตระเวนขึ้นลงเทือกเขาแห้งผาก มีม้าแกลบบรรทุกสัมภาระรุงรังตามหลัง บางคราวแกต้องยกขาสั้นๆชันเข่า ย่ำไม่หยุดหย่อนข้ามทุ่งหิมะบนช่องเขาสูง กางเต็นท์นอนหนาวสั่นใกล้ธารน้ำแข็ง บางหนแห่งบนทิวเขางดงาม ห่างไกลปลายฟ้า อาจเป็นหลุมฝังศพเพื่อนทหารของแกที่ฮ.ถูกยิงร่วง บางที ช่วงเวลาสิบเจ็ดปี บนแดนห่างไกล แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับบ้านเกิด คำว่า ‘ไม่ค่อยมีอะไร ’ อาจเป็นการกลั่นกรองและมองลาดักในแง่ดีที่สุดของจ่าแล้วก็เป็นได้

แต่สำหรับผม การได้เห็นภูเขาทรายสีทองเรียงซ้อนกันไปจรดขอบโลก หิมะขาวสะอาดบนยอดสูงลิ่ว ช่องเขาไกลโพ้นประดับกองหินผูกธงมนตราทิเบตปลิวไสวใต้ลมแรง หรือได้กางเต็นท์นอนริมธารน้ำแข็ง ตื่นมาซดชาเนยร้อนๆกับไข่ดาวสักใบในตอนเช้า มันคือสวรรค์บนดินโดยแท้ เป็นวิมานแมนที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน นี่ขนาดยังไม่รวมชาวท้องถิ่นผู้มีเอกลักษณ์ บรรดาลามะจีวรแดง อีกทั้งวัดวาอารามแปลกตา






จู่ๆ จ่าก็หยิบรูปถ่ายใบหนึ่งมาอวด เป็นภาพตัวแกเอง ใส่แว่นดำ สวมชุดซัลวาร์ คามีซ สีขาวสะอาดชายยาวกรอมเข่า ยืนเท้าสะเอวพุงยื่นบนหัวเรือสีน้ำเงินที่เขียนลวดลายเถาดอกไม้ซับซ้อนสวยงาม ฉากหลังคือผืนน้ำสีเขียวกับท้องฟ้าแจ่มใส ตัวแกเองยังมีพวงดอกดาวเรืองเหลืองปุยๆคล้องข้อมืออยู่ด้วย แม้ผมไม่เคยไปเยือนสถานที่ในภาพนี้ แต่พอทราบว่าคือทะเลสาบดาล ในศรีนาคาร์ เมืองหลวงของแคชเมียร์

“เป็นไงรูปนี้ งามมั๊ย ” แกยิ้มปลาบปลื้ม ผมรีบพยักหน้า กล่าวชมโดยมิได้เสแสร้ง เรือสีน้ำเงินกลางฟ้าสีครามและท้องน้ำเขียวเข้ม เมื่ออยู่ในมือเจ้าของ ใครจะใจดำติภาพนี้ได้ลงคอ
“นี่คือแคชเมียร์” แกโอ่อย่างภาคภูมิ สายตาเป็นประกายพิสดาร ราวกับพ่อค้ากำลังคลี่แพชมิน่าผืนแพงที่สุดในร้านออกโชว์
“นายเคยได้ยินประโยคนี้ไหม …. จากกัญญากุมารีถึงแคชเมียร์ อินเดียเป็นหนึ่งเดียวกัน”
“From Kanyakumari to Kashmir , India is one” จ่าย้ำให้ฟังชัดๆอีกที

ผมทวนคำซ้ำไปมา พอเดานัยยะได้รางๆ ในเมื่อแคชเมียร์คือแคว้นเหนือสุดของอินเดีย กัญญากุมารี คำไพเราะนี้คงเป็นชื่อของบริเวณใดบริเวณหนึ่งทางใต้สุดของประเทศ จากเหนือจรดใต้ เราไซร้คือหนึ่งเดียว ความหมายคงเป็นทำนองนี้

วิโนชเปิดกระเป๋าเดินทางของเขา หยิบสมุดเรียนเล่มหนึ่งออกมา พลิกไปด้านในของปกหลัง มีแผนที่ประเทศอินเดียวาดด้วยลายเส้นเด่นชัด เขาจิ้มนิ้วลงยังส่วนเหนือสุดบนแผนที่ นั่นคือแคชเมียร์ จากนั้นลากยาวดิ่งลงมาจนสุดปลายอนุทวีป ชะงักนิ้วไว้ก่อนเลยไปจุ่มลงมหาสมุทรอินเดีย
“กัญญากุมารีหรือแหลมโคโมริน อยู่ในรัฐทมิฬนาดู เป็นจุดใต้สุดของประเทศเรา” เขาระบุ

ผมพยักหน้าหงึกๆ ใจไพล่คิดไปถึงศึกรามเกียรติ์ตอนจองถนน ครั้งที่หนุมานขบกัดกับนิลพัท และเริงรักกับนางสุพรรณมัจฉา กัญญากุมารีจะใช่บริเวณในตำนานนี้หรือเปล่า? ต่อมาภายหลังจึงทราบว่าตำแหน่งที่กองทัพพระรามบูชาพระศิวะและถมหินข้ามทะเลไปยังเกาะลงกานั้น อยู่เหนือกัญญากุมารีขึ้นมาทางตะวันออกราวสองร้อยกิโลเมตร เรียกว่าแนวโขดหินราเมศวราม ส่วนกัญญากุมารีนั้น มิใช่แค่ส่วนปลายใต้สุดของแผ่นดินประการเดียว ยังเป็นสถานแสวงบุญศักดิ์สิทธิ์ที่สุดแห่งหนึ่งของชาวฮินดูอีกด้วย

ผมชื่นชอบความหมายและเสียงคล้องจองของประโยคนี้ยิ่งนัก จนต้องขอจดไว้ก่อนฟุบหลับต่อ แล้วก็ลืมไปสนิทใจ จนกระทั่งหลายสัปดาห์ให้หลัง บนถนนกลับจากแปงกอง-โซ ทะเลสาบใหญ่ที่สุดในลาดัก จึงเห็นข้อความนี้อีกครั้ง บนหลักคอนกรีตข้างทาง
‘จากกัญญากุมารีถึงแคชเมียร์ อินเดียเป็นหนึ่งเดียวกัน’

ผมนึกภาพจ่าในชุดพราง เท้าสะเอวยืดตัวสง่า ยืนชันเข่าขาข้างหนึ่งยันลงบนแท่งคอนกรีตและข้อความนี้ แว่นเรย์แบนสะท้อนแสงอาทิตย์แวววาว ลมแรงเหนือเทือกเขาพัดเมฆก้อนแล้วก้อนเล่าข้ามพรมแดนอินเดียสู่ที่ราบสูงทิเบต ใต้ฟ้าครามจัดนั้น ใบหน้ากร้านแดดของจ่าเข้มสนิทไม่แพ้กัน แกเอียงคอนิดๆ ฉีกยิ้มเห็นฟันขาวเป็นประกาย







Create Date : 17 กุมภาพันธ์ 2554
Last Update : 27 กุมภาพันธ์ 2554 9:52:33 น. 0 comments
Counter : 641 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

azurite
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




Azurite is a lazy painter.
[Add azurite's blog to your web]