Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2556
 
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
26 พฤษภาคม 2556
 
All Blogs
 
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (1)

   สภาพบุคคลเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก และสิ้นสุดลงเมื่อถึงแก่ความตาย ตามบทบัญญัติมาตรา 15 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเป็นมาตราแรกๆ ที่นักศึกษากฎหมายต้องเรียนและก็จะจำมาตรานี้ได้ตลอดไป ในทางภาษีก็เช่นเดียวกันครับ บุคคลธรรมดาที่เริ่มตั้งแต่คลอดมีเงินได้ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำที่ประมวลรัษฎากรกำหนดก็มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และหากผู้มีเงินได้ไม่อยู่ในวิสัยที่จะยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีได้ด้วยตนเอง ประมวลรัษฎากรก็ได้มีการกำหนดให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการยื่นแบบแสดงรายการแทนไว้...สำหรับบทความที่จะเขียนในวันนี้ เป็นเรื่องของหลักการในการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาว่ามีหลักเกณฑ์อย่างไรบ้าง มีหน้าที่ต้องเสียภาษีอากรหรือไม่ หรือว่าเงินได้ที่ได้รับเป็นเงินได้ที่ได้รับยกเว้น... 

มาตรา 39 ในหมวดนี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น
    " เงินได้พึงประเมิน " หมายความว่า เงินได้อันเข้าลักษณะพึงเสียภาษีในหมวดนี้ เงินได้ที่กล่าวนี้ให้หมายความรวมตลอดถึงทรัพย์สิน หรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับ ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน เงินค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้สำหรับเงินได้ประเภทต่าง ๆ ตามมาตรา 40 และเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ ด้วย

  หากพิจารณาจากบทบัญัติดังกล่าวแล้ว จะเห็นได้ว่าประมวลรัษฎากรกำหนดความหมายของเงินได้พึงประเมินไว้ดังต่อไปนี้

   (1) เงิน คือเงินตราไทยหรือเงินตราต่างประเทศที่ได้รับและหากได้รับเป็นเงินตราต่างประเทศ ก็ต้องคำนวณเป็นค่าของเงินไทย โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราของธนาคารพาณิชย์ หรืออัตราอ้างอิงประจำวันที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศไว้

   (2) ทรัพย์สินซึ่งอาจคำนวณเป็นเงินได้ เป็นทรัพย์สินตามความหมายในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งอาจมีรูปร่างหรือไม่มีรูปร่างก็ได้ แต่ต้องเป็นสิ่งที่ได้รับและอาจคำนวณเป็นเงินได้ เช่นการได้รับรถยนต์จากการชิงโชค เป็นต้น

   (3) ประโยชน์อย่างอื่นซึ่งอาจคิดคำนวณเป็นเงินได้ เช่นการที่นายจ้างให้อยู่บ้านของนายจ้าง โดยไม่ต้องเสียค่าเช่า เป็นต้น มูลค่าของการได้อยู่บ้านของนายจ้างดังกล่าว ถือเป็นเงินได้พึงประเมินอย่างหนึ่ง

   (4) เงินค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงินหรือที่ผู้อื่นออกแทนให้ หรือกล่าวง่ายๆ ว่าผู้มีเงินได้ที่ไม่ต้องเสียภาษีอากรย่อมมีเงินเหลือมากกว่าผู้มีเงินได้ที่ต้องเสียภาษีอากรเอง แม้ว่าจะได้รับเงินได้มาเท่ากันก็ตาม ดังนั้นภาษีที่ผู้อื่นออกแทนให้นั้นถือเป็นเงินได้พึงประเมินด้วย

   (5) เครดิตภาษีตามกฎหมาย เป็นมาตราการที่เกิดขึ้นเพื่อขจัดหรือบรรเทาความซ้ำซ้อนของเงินปันผลในการจัดเก็บภาษี หรืออาจกล่าวได้ว่าเงินปันผลซึ่งเป็นฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เคยเป็นส่วนหนึ่งของกำไรสุทธิ ซึ่งผ่านการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลมาแล้วหากทำการจัดเก็บในส่วนของเงินได้บุคคลธรรมดาอีกมีผลทำให้เงินปันผลที่ต้องเสียภาษีซ้ำซ้อนกันถึงสองครั้งนั่นเอง

  

        จากภาพ ดอกไม้...ยามเช้ามักสวยงามเสมอ...

 

เมื่อพูดถึงนิยามของเงินได้พึงประเมินแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือประเภทของเงินได้พึงประเมินซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 8 ประเภทด้วยกัน ดังนี้

มาตรา 40 เงินได้พึงประเมินนั้น คือเงินได้ประเภทต่อไปนี้ รวมตลอดถึงเงินค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้สำหรับเงินได้ประเภทต่าง ๆ ดังกล่าว ไม่ว่าในทอดใด
    (1) เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ เงินค่าเช่าบ้าน เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่นายจ้างให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า เงินที่นายจ้างจ่ายชำระหนี้ใดๆ ซึ่งลูกจ้างมีหน้าที่ต้องชำระ และเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใดๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน

    (2) เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้ ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า ค่าส่วนลด เงินอุดหนุนในงานที่ทำ เบี้ยประชุม บำเหน็จ โบนัส เงินค่าเช่าบ้าน เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่ผู้จ่ายเงินได้ให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า เงินที่ผู้จ่ายเงินได้จ่ายชำระหนี้ใดๆ ซึ่งผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องชำระ และเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใดๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้นั้นไม่ว่าหน้าที่ หรือตำแหน่งงาน หรืองานที่รับทำให้นั้นจะเป็นการประจำหรือชั่วคราว

    (3) ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่น เงินปี หรือเงินได้มีลักษณะเป็นเงินรายปีอันได้มาจากพินัยกรรม นิติกรรมอย่างอื่น หรือคำพิพากษาของศาล

    (4) เงินได้ที่เป็น

 

    (ก) ดอกเบี้ยพันธบัตร ดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยหุ้นกู้ ดอกเบี้ยตั๋วเงิน ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมไม่ว่าจะมีหลักประกันหรือไม่ ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายตามกฎหมายว่าด้วยภาษีเงินได้ปิโตรเลียมเฉพาะส่วนที่เหลือจากถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายตามกฎหมายดังกล่าว หรือผลต่างระหว่างราคาไถ่ถอนกับราคาจำหน่ายตั๋วเงินหรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นเป็นผู้ออกและจำหน่ายครั้งแรกในราคาต่ำกว่าราคาไถ่ถอน รวมทั้งเงินได้ที่มีลักษณะทำนองเดียวกันกับดอกเบี้ย ผลประโยชน์หรือค่าตอบแทนอื่นๆ ที่ได้จากการให้กู้ยืม หรือจากสิทธิเรียกร้องในหนี้ทุกชนิด ไม่ว่าจะมีหลักประกันหรือไม่ก็ตาม

   
      (ข) เงินปันผล เงินส่วนแบ่งของกำไรหรือ ประโยชน์อื่นใดที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล กองทุนรวม หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทย จัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรมหรืออุตสาหกรรม เงินปันผล หรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายตามกฎหมายว่าด้วยภาษีเงินได้ปิโตรเลียมเฉพาะส่วนที่เหลือจากถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายตามกฎหมายดังกล่าว
      เพื่อประโยชน์ในการคำนวณเงินได้ตามวรรคหนึ่ง ในกรณีที่บุตรชอบด้วยกฎหมายที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะเป็นผู้มีเงินได้ และความเป็นสามีภริยาของบิดาและมารดาได้มีอยู่ตลอดปีภาษี ให้ถือว่าเงินได้ของบุตรดังกล่าวเป็นเงินได้ของบิดา แต่ถ้าความเป็นสามีภริยาของบิดาและมารดามิได้มีอยู่ตลอดปีภาษี ให้ถือว่าเงินได้ของบุตรดังกล่าวเป็นเงินได้ของบิดาหรือของมารดาผู้ใช้อำนาจปกครอง หรือของบิดาในกรณีบิดามารดาใช้อำนาจปกครองร่วมกัน
    ความในวรรคสองให้ใช้บังคับกับบุตรบุญธรรมที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ด้วยโดยอนุโลม
      (ค) เงินโบนัสที่จ่ายแก่ผู้ถือหุ้น หรือผู้เป็นหุ้นส่วนในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
    
(ง) เงินลดทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเฉพาะส่วนที่จ่ายไม่เกินกว่ากำไรและเงินที่กันไว้รวมกัน
    
(จ) เงินเพิ่มทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งตั้งจากกำไรที่ได้มาหรือเงินที่กันไว้รวมกัน
    
(ฉ) ผลประโยชน์ที่ได้จากการที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลควบเข้ากัน หรือรับช่วงกัน หรือเลิกกัน ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุน
    (ช) ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนการเป็นหุ้นส่วนหรือ โอนหุ้น หุ้นกู้ พันธบัตร หรือตั๋วเงิน หรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นเป็นผู้ออก ทั้งนี้ เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน
 
    (5) เงินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้เนื่องจาก
      (ข) การผิดสัญญาเช่าซื้อทรัพย์สิน
    
(ค) การผิดสัญญาซื้อขายเงินผ่อนซึ่งผู้ขายได้รับคืนทรัพย์สินที่ซื้อขายนั้น โดยไม่ต้องคืนเงินหรือประโยชน์ที่ได้รับไว้แล้ว
    
ในกรณี (ก) ถ้าเจ้าพนักงานประเมินมีเหตุอันควรเชื่อว่า ผู้มีเงินได้แสดงเงินได้ต่ำไป ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินเงินได้นั้นตามจำนวนเงินที่ทรัพย์สินนั้นสมควรให้เช่าได้ตามปกติ และให้ถือว่าจำนวนเงินที่ประเมินนี้เป็นเงินได้พึงประเมินของผู้มีเงินได้ ในกรณีนี้จะอุทธรณ์การประเมินก็ได้ ทั้งนี้ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการอุทธรณ์ตามส่วน 2 หมวด 2 ลักษณะ 2 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
    ในกรณี (ข) และ (ค) ให้ถือว่าเงินหรือประโยชน์ที่ได้รับไว้แล้วแต่วันทำสัญญาจนถึงวันผิดสัญญาทั้งสิ้น เป็นเงินได้พึงประเมินของปีที่มีการผิดสัญญานั้น
    (6) เงินได้จากวิชาชีพอิสระ คือ วิชากฎหมาย การประกอบโรคศิลปะ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี ประณีตศิลปกรรม หรือวิชาชีพอิสระอื่น ซึ่งจะได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดชนิดไว้
    
(7) เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ
    (8) เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง หรือการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) ถึง (7) แล้ว

    เงินค่าภาษีอากรตามวรรคหนึ่ง ถ้าผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้สำหรับเงินได้ประเภทใด ไม่ว่าทอดใดหรือในปีภาษีใดก็ตาม ให้ถือเป็นเงินได้ประเภทและของ ปีภาษีเดียวกันกับเงินได้ที่ออกแทนให้นั้น

   เมื่อพิจารณาจากบทบัญญัติดังกล่าวแล้วทำให้อดคิดไม่ได้ว่า ผู้ที่บัญญัติกฎหมายมองอนาคตไกลเพียงใด โดยเฉพาะ (8) เงินได้อื่นๆ นั่นหมายความว่าไม่ว่าจะเป็นเงินได้ทางใด ถูกกฎหมาย ผิดกฎหมาย ก็ต้องเสียภาษีหมด หลายครั้งทำให้คิดว่า เงินได้ที่ได้จากการค้าเสพติดหรือสิ่งผิดกฎหมายอื่นเขาจะยื่นแบบแสดงรายการอย่างไร มีใครสักกี่คนที่กล้านำมายื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี

  

                           จากภาพ ดอกไม้...ริมธาร เสริมความสวยงามแก่สายน้ำ

   เมื่อเราได้ทราบถึงเงินได้พึงประเมินและประเภทของเงินได้แล้ว เงินได้นั้นจะต้องเสียภาษีหรือไม่ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยเฉพาะการที่จะนำเงินได้มาเสียภาษีนั้น ต้องพิจารณาจากบทบัญญัติตามมาตรา 41 แห่งประมวลรัษฎากร

มาตรา 41 ผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งาน หรือกิจการที่ทำในประเทศไทย หรือเนื่องจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทย หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย ต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้ไม่ว่าเงินได้นั้นจะจ่ายในหรือนอกประเทศ 
    
ผู้อยู่ในประเทศไทยมีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ ต้องเสียภาษีเงินได้ตามบทบัญญัติในส่วนนี้เมื่อนำเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศไทย
     ผู้ใดอยู่ในประเทศไทยชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะ รวมเวลาทั้งหมดถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวันในปีภาษีปีใด ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย

   เมื่อพิจารณาจากตัวบทกฎหมายแล้ว เราสามารถแยกพิจารณาได้ดังนี้

1. กรณีเงินได้ที่เกิดขึ้นจากแหล่งภายในประเทศ กล่าวคือเป็นเงินได้ที่เกิดขึ้นหรือผลสืบเนื่องจาก

   1.1 หน้าที่การงานที่ทำในประเทศไทย หรือ

   1.2 กิจการที่ทำในประเทศไทย หรือ

   1.3 กิจการของนายจ้างในประเทศไทย หรือ

   1.4 ทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย

ซึ่งผู้มีเงินได้จากแหล่งภายในประเทศนี้มีหน้าที่เสียภาษีตามที่ประมวลรัษฎากรกำหนดไว้เสมอ เว้นแต่มีข้อยกเว้นตามกฎหมาย ทั้งนี้ ไม่ว่าเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมานั้นจะจ่ายในหรือนอกประเทศ และไม่ว่าผู้มีเงินได้นั้น จะเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยหรือไม่ก็ตาม

ข้อสังเกต

   - กรณีแหล่งเงินได้ในประเทศ ไม่ว่าผู้มีเงินได้จะมีสัญชาติไทยหรือสัญชาติอื่น หรืออยู่ที่ไหนก็ตามต้องมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเสมอ ตัวอย่าง นายเอ เป็นชาวต่างชาติ มาทำงานที่ประเทศไทยเปนเวลา 3 เดือน แม้ว่าการจ่ายเงินเดือนจะมีการจ่ายกันที่ต่างประเทศก็ตาม นายเอ ต้องนำเงินได้ 3 เดือนดังกล่าวต้องนำมาคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทย

   - กิจการของนายจ้างในประเทศไทย หมายถึง กิจการในประเทศไทยของนายจ้างเท่านั้น หากกรณีเป็นเงินได้จากกิจการนอกประเทศของนายจ้าง เช่น ธนาคารไทยพานิชย์ ไปเปิดสาขาดำเนินการที่ต่างประเทศ มีการจ่ายเงินเดือนแก่พนักงานสาขาดังกล่าวจากสาขาต่างประเทศ ดังนั้นเงินเดือนของพนักงานไม่ว่าจะเป้นของพนักงานคนไทยหรือต่างชาติที่ได้รับจากธนาคารเป็นเงินได้แหล่งนอกประเทศ

   แน่นอนครับว่า เงินได้ที่เกิดขึ้นจากแหล่งภายในประเทศ ต้องมีหน้าที่ตามที่ประมวลรัษฎากรกำหนด เว้นแต่มีข้อยกเว้นตามกฎหมาย แต่หากเป็นเงินได้จากแหล่งภายนอกประเทศละ จะเสียภาหรือไม่ อย่างไร

2. กรณีเงินได้ที่เกิดขึ้นจากแหล่งภายในประเทศ กล่าวคือเป็นเงินได้ที่เกิดขึ้นหรือผลสืบเนื่องจาก

   2.1 หน้าที่การงานที่ทำในต่างประเทศ หรือ

   2.2 กิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือ

   2.3 ทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ

สำหรับผู้มีเงินได้จากแหล่งภายนอกประเทศดังกล่าว จะต้องเสียภาษีเงินได้ในประเทศไทย เมื่อเข้าองค์ประกอบทั้ง 2 ประการ ดังต่อไปนี้

   1. ผู้มีเงินได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทยในปีภาษีนั้น และ

   2. นำเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีนั้นด้วย

ข้อสังเกต

   - ผู้อยู่ในประเทศไทย หมายความว่า บุคคลผู้อยู่ในประเทศไทยชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะเวลารวมกันทั้งหมดถึง 180 วัน ในปีภาษีใด ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย

   - ปีภาษี หมายถึง ปีปฏิทิน คือเริ่มตั้งแต่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม ของทุกปี

จากแหล่งเงินได้ภายนอกประเทศ ต้องเข้าหลักเกณฑ์ทั้ง 2 ข้อ ดังกล่าวข้างต้นจึงต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทย ตัวอย่าง นางสาวขวัญใจ อยู่ในประเทศไทยและมีเงินได้ที่เกิดจากแหล่งนอกประเทศไทยในปีภาษี 2555 แต่นำเงินได้ดังกล่าวเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษี 2556 กรณีนี้ถือว่า เงินได้ดังกล่าวไม่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้งในปีภาษี 2555 และปีภาษี 2556

จากหลักแหล่งเงินได้ดังกล่าวข้างต้นหลายคนคงคิดในใจเรื่องของการวางแผนภาษี ว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง ซึ่งปัจจุบันการเดินทางไปทำงานต่างประเทศมีการเปิดกว้างมากขึ้น หรือกรณีของนักกีฬาอาชีพที่ต้องเดินทางขันบ่อยๆ แล้วได้รับเงินรางวัลเป็นจำนวนมาก เขาคงต้องรู้หลักการจัดเก็บภาษีจากแหล่งเงินได้ภายนอกประเทศ และต้องมีการวางแผนไว้ล่วงหน้าเป็นอย่างดี นะครับ

         จากภาพความสวยงามทางธรรมชาติ...บางครั้งก็อดชื่นชมไม่ได้

 

บทความอาจจะยาวไปหน่อย เนี้อหาอาจจะน่าเบื่อ แต่ผมคิดว่า เป็นเรื่องที่สำคัญเลยที่เดียวของหลักการเบื้องต้นในการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา  สำหรับครั้งต่อไป คิดว่าจะนำข้อหารือของกรมสรรพากร คำพิพากษาศาลฎีกา ที่เกี่ยวข้องกับบทความนี้มาลงไว้เพื่อที่จะทำให้เข้าใจเนื้อหาในส่วนนี้มากขึ้นนะครับ 

 

ขอขอบคุณทุกท่านที่สละเวลาอันมีค่าอ่านบทความนี้

ขอบคุณอาจารย์ทุกท่านที่คอยอบรมสั่งสอนลูกศิษย์คนนี้

 




Create Date : 26 พฤษภาคม 2556
Last Update : 30 พฤษภาคม 2556 19:27:04 น. 6 comments
Counter : 4245 Pageviews.

 
อ่านไม่จบ ..น่าเขกหัวตัวเองยิ่งโง่ ๆ อยู่ แต่ชอบวิว และดอกไม้นะคะ สวยมากเลย

ปล. ส่งเงินเข้าปะรเทศไทยมาหลายปีแล้ว เอาไปลดภาษีได้ไหมคะ ?


โดย: Maeboon วันที่: 26 พฤษภาคม 2556 เวลา:22:14:51 น.  

 
ครับ ขอบคุณมากนะ ที่สละเวลาอ่าน (แม้จะไม่จบ) และขอบคุณมากสำหรับคำชมนะครับ จริงๆๆ แล้วการส่งเงินเข้ามาประเทศไทยไม่มีเหตุอันใดที่จะลดภาษีได้นะครับ แต่จะได้ประโยชน์ตรงที่เงินนั้นไม่ต้องเสียภาษี เนื่องจากผู้มีเงินได้อยู่นอกประเทศ แต่หากปีภาษีนั้นผู้มีเงินได้เข้ามาอยู่ในไทยถึง 180 วันเงินได้ดังกล่าวก็ต้องเสียภาษีนะครับ


โดย: bugsakrd วันที่: 30 พฤษภาคม 2556 เวลา:19:22:56 น.  

 
ต้องการทราบว่า เงินได้ประเภทไหนค่ะ
สำหรับการตกแต่ง เพิ่มพูนความสวยงาม ให้มีขึ้นแก่เครื่องอุปโภคบ้าง หรือ เครื่องบริโภค ที่จะได้ใช้ในโอกาสพิเศษ ใช้ในเทศกาล ใช้สำหรับพิธีกรรม อาทิ ช่างทำเครื่องสด ช่างทำดอกไม้ ช่างเย็บบายศรี ช่างปักสะดึง ช่างรัก ช่างโลหะรูปพรรณ เป็นต้น


โดย: พัด IP: 49.48.248.254 วันที่: 6 มีนาคม 2557 เวลา:16:36:44 น.  

 
ช่างทำดอกไม้ ประเภทไหนค่ะ


โดย: พัด IP: 49.48.248.254 วันที่: 6 มีนาคม 2557 เวลา:16:38:27 น.  

 
ต้องการทราบคำตอบจร้า. นายแดงอยู่ในประเทศไทย5เดือนไปทำงานที่สิงคโปร์7เดือนได้เงินเดือนในไทยเดือนละ20000ได้เงินเดือนในสิงคโปร์50000ส่งกลับบ้านที่ในไทยเดือนล่ะ20000เงินเดือนดังกล่าวนายแดงต้องเสียภาษีหรือไม่พิจารณาตามมาตรา41


โดย: แอม IP: 49.230.189.236 วันที่: 3 กันยายน 2557 เวลา:15:46:00 น.  

 
Hello,

New club music, private server MP3/FLAC, Label, LIVESETS, Music Videos https://0daymusic.org
Available only on our secure FTP server.

0daymusic Team


โดย: Williepeela IP: 51.210.176.129 วันที่: 16 มีนาคม 2567 เวลา:19:05:45 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

bugsakrd
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]





Friends' blogs
[Add bugsakrd's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.