"ทรัพย์เครื่องปลื้มใจอย่างใดอย่างหนึ่งในโลกนี้หรือในโลกอื่น หรือรัตนะใดอันประณีตในสวรรค์ ทรัพย์และรัตนะนั้นเสมอด้วยพระตถาคตย่อมไม่มี พระพุทธเจ้าแม้นี้เป็นรัตนะอันประณีต ด้วยการกล่าวคำจริงนี้ ขอความสวัสดีจงมี....." "พระไตรปิฏก เป็นตาที่วิเศษยิ่ง, เป็นหูที่วิเศษยิ่ง, เป็นจมูกที่วิเศษยิ่ง, เป็นลิ้นที่วิเศษยิ่ง, เป็นกายที่วิเศษยิ่ง, เป็นใจที่วิเศษยิ่ง, เป็นครู-อาจารย์ที่วิเศษยิ่ง, เป็นพ่อ-แม่ที่วิเศษยิ่ง, เป็นมิตรและเข็มทิศที่วิเศษยิ่ง, เป็นแผนที่และป้ายบอกทางที่วิเศษยิ่ง, เป็นแสงสว่างส่องทางสู่นิพพานที่วิเศษยิ่ง"จากวัดสามแยก
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2556
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
27 ตุลาคม 2556
 
All Blogs
 

เตือนลูกศิษย์อย่าตามแห่ครูบาอาจารย์ โดยหลวงปู่เกษม อาจิณณสีโล 24 ส.ค. 2556



เทียบเคียงพระไตรปิฏกที่หลวงปู่อ่าน
-ว่าด้วยการไม่ติดยศและไม่ให้ยศติดตน เล่ม36หน้า56 (นาคิตสูตร)
-การซื้อบุญมีในศาสนาพุทธ (อ.กณฑกปูวชาดก) เล่ม56หน้า418
-ถวายในสงฆ์โดยไม่เจาะจงบุคคลมีผลมากกว่าให้เจาะจงบุคคล เล่ม23หน้า394,เล่ม37หน้า776 ,เล่ม36หน้า739



-ว่าด้วยการไม่ติดยศและไม่ให้ยศติดตน (นาคิตสูตร)เล่ม36หน้า56

๑๐.นาคิตสูตร ว่าด้วยการไม่ติดยศและไม่ให้ยศติดตน

[๓๐]สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจาริกไปในโกศลชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ได้เสด็จถึงพราหมณคามของชาวโกศลชื่ออิจฉานังคละ ได้ยินว่า สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่ไพรสณฑ์ชื่ออิจฉานังคละใกล้บ้านพราหมณคาม ชื่ออิจฉานังคละ พราหมณ์และคฤหบดี ชาวบ้านอิจฉานังคละได้สดับข่าวว่า พระสมณโคดมศากยบุตร ทรงผนวชจากศากยสกุลเสด็จถึงบ้านอิจฉานังคละ ประทับอยู่ที่ไพรสณฑ์ ชื่ออิจฉานังคละ ใกล้พราหมณคามชื่ออิจฉานังคละ ก็เกียรติศัพท์อันงามของท่านพระสมณโคดมพระองค์นั้น ขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะเสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรมพระองค์ทรงทำโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เองแล้ว ทรงสอนหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ให้รู้ตาม ทรงแสดงธรรมไพเราะ ในเบื้องต้นไพเราะในท่ามกลาง ไพเราะในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถพร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ก็การได้เห็นพระอรหันต์ทั้งหลายเห็นปานนั้น เป็นการดีแล  ดังนี้ ครั้งนั้นพราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านอิจฉานังคละ เมื่อล่วงราตรีไป จึงพากันถือของเคี้ยวของฉันเป็นจำนวนมากเข้าไปทางไพรสณฑ์ชื่ออิจฉานังคละ ครั้นแล้ว ได้ยืนชุมนุมกันที่ซุ้มประตูด้านนอก ส่งเสียงอื้ออึง สมัยนั้น ท่านพระนาคิตะเป็นอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามท่านพระนาคิตะว่า ดูก่อนนาคิตะ ก็พวกใครส่งเสียงอื้ออึงอยู่นั้น คล้ายพวกชาวประมงแย่งปลากัน  ท่านพระนาคิตะกราบทูลว่าข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านอิจฉานังคละเหล่านั้นพากันถือของเคี้ยวของฉันเป็นจำนวนมาก มายืนประชุมกันที่ซุ้มประตูด้านนอกเพื่อถวายพระผู้มีพระภาคเจ้าและภิกษุสงฆ์.
-พ.ดูก่อนนาคิตะ เราไม่ติดยศ และยศก็ไม่ติดเรา ผู้ใดแลไม่พึงได้ตามความปรารถนา ไม่พึงได้โดยไม่ยาก ไม่พึงได้โดยไม่ลำบาก ซึ่งสุขอันเกิดแต่เนกขัมมะ สุขอันเกิดแต่วิเวก สุขอันเกิดแต่ความสงบ สุขอันเกิดแต่ความตรัสรู้ ที่เราพึงได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบากนี้ผู้นั้นพึงยินดีสุขที่ไม่สะอาด สุขในการนอน และสุขที่อาศัยลาภ สักการะและการสรรเสริญ.
-นา.ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับ ขอพระสุคตทรงรับ บัดนี้ เป็นเวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงรับ พระผู้มีพระภาคเจ้าจักเสด็จไปทางใดๆ พราหมณ์และคฤหบดีชาวนิคมและชาวชนบท ก็จักหลั่งไหลไปทางนั้นๆ เหมือนเมื่อฝนเม็ดใหญ่ตกลงมา น้ำก็ย่อมไหลไปตามที่ลุ่ม  ฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าจักเสด็จไปทางใด ๆ พราหมณ์และคฤหบดีชาวนิคมและชาวชนบท ก็จักหลั่งไหลไปทางนั้นๆ ฉันนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะศีลและปัญญาของผู้มีพระภาคเจ้า.
-พ.ดูก่อนนาคิตะ เราไม่ติดยศ และยศก็ไม่ติดเรา ผู้ใดแลไม่พึงได้ตามความปรารถนา ไม่พึงได้โดยไม่ยาก ไม่พึงได้โดยไม่ลำบาก ซึ่งสุขอันเกิดแต่เนกขัมมะ สุขอันเกิดแต่วิเวก สุขอันเกิดแต่ความสงบ สุขอันเกิดแต่ความตรัสรู้ ที่เราพึงได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบากนี้ ผู้นั้นพึงยินดีสุขที่ไม่สะอาด สุขในการนอน และสุขที่อาศัยลาภ สักการะและการสรรเสริญ
ดูก่อนนาคิตะ  อาหาร ที่กิน ดื่ม เคี้ยว ลิ้มแล้วย่อมมีอุจจาระและปัสสาวะเป็นผล นี้เป็นผลแห่งอาหารนั้น ความรักมีโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ที่เกิดขึ้นเพราะสิ่งที่รักแปรปรวนเป็นอื่นเป็นผลนี้เป็นผลแห่งความรักนั้น ความเป็นของปฏิกูลในอสุภนิมิต ย่อมตั้งอยู่แก่ภิกษุผู้ขวนขวายการประกอบตามอสุภนิมิต  นี้เป็นผลแห่งการประกอบตามอสุภนิมิตนั้น ความเป็นของปฏิกูลในผัสสะ ย่อมตั้งอยู่แก่ภิกษุผู้พิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยงในผัสสายตนะ ๖ อยู่ นี้เป็นผลแห่งการพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยงในผัสสายตนะนั้น ความเป็นของปฏิกูลในอุปาทาน ย่อมตั้งอยู่แก่ภิกษุผู้พิจารณาเห็นความเกิดและความดับในอุปาทานขันธ์ ๕  นี้เป็นผลแห่งการพิจารณาเห็นความเกิดและความดับในอุปาทานขันธ์.

จบนาคิตสูตรที่  ๑๐


-การซื้อบุญมีในศาสนาพุทธ (อ.กณฑกปูวชาดก)เล่ม56หน้า418

อรรถกถากุณฑกปูวชาดกที่ ๙

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระนครสาวัตถีทรงปรารภบุรุษผู้เข็ญใจอย่างหนัก ตรัสพระธรรมเทศนานี้
มีคำเริ่มต้นว่า ยถนฺโน ปุริโส โหติ ดังนี้.

ความพิสดารว่า ในพระนครสาวัตถี บางครั้งสกุลเพียงสกุลเดียวเท่านั้น ถวายทานแต่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข บางครั้งสาม-สี่ตระกูลรวมกัน บางครั้งด้วยความร่วมมือกันเป็นคณะ บางครั้งด้วยความร่วมใจกันของผู้ที่อยู่ร่วมถนน บางครั้งรวมคนที่มีฉันทะความพอใจหมดทั้งเมือง ถวาย
ทานแต่พระสงฆ์มีพระพุทธองค์เป็นประมุข ก็ในครั้งนั้น มีภัตรที่ชื่อว่า วิถีภัตร (คือการถวายภัตตาหารของผู้ที่อยู่ร่วมถนนกัน)ได้มีขึ้น.ครั้งนั้นพวกมนุษย์ กล่าวเชิญชวนกันว่า เชิญท่านทั้งหลายถวายข้าวยาคู นำของขบเคี้ยวมาถวายแด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธองค์เป็นประมุขกันเถิด ในกาลนั้น ยังมีลูกจ้างของคนเหล่าอื่นผู้หนึ่ง เป็นคนยากจนอยู่ในถนนนั้น คิดว่า เราไม่อาจถวายข้าวยาคูได้ ของขบเคี้ยวพอจัดถวายได้  แล้วนวดรำชนิดละเอียด ให้ชุ่มด้วยน้ำ ห่อด้วยใบรัก เผาในกองเถ้า คิดว่า เราจักถวายขนมนี้แด่พระพุทธเจ้า ถือขนมนั้นไปยืนอยู่ในสำนักพระศาสดา พอพระศาสดาตรัสครั้งเดียวว่า  พวกท่านจงนำของขบเคี้ยวมาเถิด ก็ไปก่อนคนทั้งปวง ใส่ขนมนั้นในบาตรของพระศาสดาแล้วยืนอยู่ พระศาสดาไม่ทรงรับของขบเคี้ยวที่คนอื่นๆ ถวายทรงเสวยของขบเคี้ยว คือขนมนั้นเท่านั้น.
ในขณะนั้นเองทั่วทั้งพระนคร ก็ได้มีเสียงลือตลอดไปว่าได้ยินว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ทรงรังเกียจของขบเคี้ยวทำด้วยรำ ของมหาทุคคตบุรุษ ทรงเสวยเหมือนเสวยอมฤต ฉะนั้นอิสสรชนมีพระราชา และมหาอำมาตย์แห่งพระราชาเป็นต้น โดยที่สุดตลอดถึงคนเฝ้าประตู ประชุมกันทั้งหมดทีเดียว ถวายบังคมพระศาสดาแล้ว เข้าไปหามหาทุคคตบุรุษ พากันกล่าวว่า
พ่อมหาจำเริญ เชิญพ่อรับเอาทรัพย์ร้อยหนึ่ง สองร้อย ห้าร้อยแล้วให้ส่วนบุญแก่พวกเราเถิด.เขาตอบว่า ต้องกราบทูลสอบถามแล้วถึงจะรู้ แล้วไปสู่สำนักของพระศาสดา กราบทูลเนื้อความนั้น พระศาสดาตรัสว่า ท่านจงรับทรัพย์แล้วให้ส่วนบุญ แก่ สรรพสัตว์เถิด เขาเริ่มรับทรัพย์ พวกมนุษย์พากันให้ด้วยการประมูล เป็นทวีคูณ จตุรคูณ และอัฏฐคูณเป็นต้น ได้ให้ทรัพย์กันถึงเก้าโกฏิ.พระศาสดาทรงกระทำอนุโมทนาแล้วเสด็จไปวิหาร เมื่อพวกภิกษุแสดงวัตตปฏิบัตติถวายแล้ว ประทานพระสุคโตวาท เสด็จเข้าพระคันธกุฎี เวลาเย็นวันนั้น พระราชารับสั่งให้มหาทุคคตบุรุษเข้าเฝ้า ทรงบูชาด้วยตำแหน่งเศรษฐี.พวกภิกษุตั้งเรื่องสนทนากันในโรงธรรมว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลายพระศาสดามิได้ทรงรังเกียจขนมรำ ที่มหาทุคคตบุรุษถวายเลยทรงเสวยเหมือนอมฤต ฝ่ายมหาทุคคตบุรุษเล่า ได้ทั้งทรัพย์จำนวนมาก ได้ทั้งตำแหน่งเศรษฐี ถึงสมบัติอันยิ่งใหญ่แล้ว.พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอสนทนากันด้วยเรื่องอะไร? เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้นที่เราไม่รังเกียจ บริโภคขนมรำของเขา ถึงครั้งที่เป็นรุกขเทวดาในกาลก่อน ก็เคยบริโภคเหมือนกัน แม้ในครั้งนั้นเล่า เขาก็อาศัยเราได้ตำแหน่งเศรษฐีเหมือนกัน แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นเทวดา สถิต ณ ต้นละหุ่งต้นหนึ่ง ครั้งนั้น พวกมนุษย์ในหมู่บ้านนั้น พากันยึดเอารุกขเทวดาเป็นมงคล เมื่อถึงงานมหรสพคราวหนึ่ง พวกมนุษย์ต่างพากันกระทำพลีกรรมแก่รุกขเทวดาของตน ๆ ครั้งนั้นมีทุคคตมนุษย์ผู้หนึ่ง เห็นคนเหล่านั้น พากันปรนนิบัติรุกขเทวดาก็ปฏิบัติต้นละหุ่งต้นหนึ่ง ผู้คนทั้งหลายพากันถือเอาดอกไม้ของหอม เครื่องลูบไล้และของขบเคี่ยวของบริโภคเป็นต้นนานัปการไป เพื่อเทวดาทั้งหลายของตน ฝ่ายเขามีแต่ขนมรำก็ถือไปพร้อมกระบวยใส่น้ำ หยุดยืนไม่ไกลต้นละหุ่ง คิดว่า ธรรมดาย่อมเสวยแต่ของขบเคี้ยวอันเป็นทิพย์ เทวดาคงจักไม่เสวยขนมรำนี้ของเรา เราจะยอมให้ขนมเสียหายไปด้วยเหตุนี้ทำไมเรานั่นแหละจักกินขนมนั้นเสียเอง แล้วก็หวลกลับไปจากที่นั้น.พระโพธิสัตว์ สถิตเหนือค่าคบกล่าวว่า บุรุษผู้เจริญ หากท่านเป็นใหญ่เป็นโต ก็ต้องให้ของขบเคี้ยวที่อร่อยแก่เรา แต่ท่านเป็นทุคคตะ เราไม่กินขนมของท่านแล้ว จักกินขนมอื่นได้อย่างไร
อย่าให้ส่วนของเราต้องเสียหายไปเลย แล้วกล่าวคาถานี้ ความว่า :-
"บุรุษกินอย่างไร คนของบุรุษก็กินอย่างนั้น ท่านจงเอาขนมรำนั้นมา อย่าให้ส่วนของเราเสียไปเลย"ดังนี้.บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยถนฺโน ความว่า คนบริโภคอย่างใด.
-บทว่า ตถนฺนา ความว่า แม้เทวดาของคนผู้นั้นก็บริโภคอย่างนั้นเหมือนกัน.
-บทว่า อาหเรต กุณฺฑปูว ความว่า ท่านจงนำเอาขนมที่ ทำด้วยรำนั้นมาเถิด อย่าทำลายส่วนได้ของเราเสียเลย.เขาหันกลับมามองพระโพธิสัตว์แล้วกระทำพลีกรรม พระโพธิสัตว์ ก็บริโภคโอชา จากขนมนั้น  แล้วกล่าวว่า ดูก่อนบุรุษท่านปฏิบัติเราเพื่อต้องการอะไร? เขากล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เป็นใหญ่ ข้าพเจ้าเป็นคนเข็ญใจ มาปรนนิบัติ ก็ด้วยหมายใจว่าจะอาศัยท่าน แล้วพ้นจากความเป็นทุคคตะ.พระโพธิสัตว์กล่าวว่า ดูก่อนบุรุษผู้เจริญ ท่านอย่าคิดเสียใจไปเลย ท่านทำการบูชาเราผู้มีกตัญญูกตเวที รอบต้นละหุ่งนี้ มีหม้อใส่ขุมทรัพย์ตั้งไว้เรียงราย จวบจนจรดถึงคอ ท่านจงกราบทูลพระราชา เอาเกวียนมาขนทรัพย์ กองไว้ ณ ท้องพระลานหลวง พระราชาก็จักโปรดปรานประทานตำแหน่งเศรษฐีแก่ท่าน.ครั้นบอกแล้วพระโพธิสัตว์ก็อันตรธานไป เขาได้กระทำตามนั้น แม้พระราชาก็โปรดประทานตำแหน่งเศรษฐีแก่เขา.เขาอาศัยพระโพธิสัตว์ถึงสมบัติอันใหญ่หลวง แล้วไปตามยถากรรมด้วยประการฉะนี้.
พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า ทุคคตบุรุษในครั้งนั้น มาเป็นทุคคตบุรุษในครั้งนี้ส่วนเทวดาผู้สิงอยู่ ณ ต้นละหุ่ง ได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.

จบ อรรถกถากุณฑกปูวชาดกที่  ๙


-ถวายในสงฆ์โดยไม่เจาะจงบุคคลมีผลมากกว่าให้เจาะจงบุคคล เล่ม23หน้า394,เล่ม37หน้า776 ,เล่ม36หน้า739

เล่ม23หน้า394
[๗๑๑]ดูก่อนอานนท์  ใน ๑๔ ประการนั้น 
บุคคลให้ทานในสัตว์เดียรัจฉาน พึงหวังผลทักษิณาได้ร้อยเท่า 
ให้ทานในปุถุชนผู้ทุศีล พึงหวังผลทักษิณาได้พันเท่า    
ให้ทานในปุถุชนผู้มีศีล พึงหวังผลทักษิณาได้แสนเท่า.
ให้ทานในบุคคลภายนอกผู้ปราศจากความกำหนัดในกาม พึงหวังผลทักษิณาได้แสนโกฏิเท่า.

ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำโสดาปัตติผลให้แจ้ง พึงหวังผลทักษิณาจะนับไม่ได้ จะประมาณไม่ได้ จะป่วยกล่าวไปไยในพระโสดาบัน ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำสกทาคามิผลให้แจ้ง ในพระสกทาคามี ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอนาคามิผลให้แจ้ง ในพระอนาคามี ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอรหัตผลให้แจ้ง ในสาวกของตถาคตผู้เป็นพระอรหันต์ ในปัจเจกสัมพุทธะ และในตถาคตอรหันต์ สัมมาสัมพุทธเจ้า.


เล่ม37หน้า776
ดูก่อนคฤหบดี เรื่องเคยมีมาแล้ว มีพราหมณ์ชื่อเวลามะพราหมณ์ผู้นั้นได้ให้ทานเป็นมหาทานอย่างนี้   คือ ได้ให้ถาดทองเต็มด้วยรูปิยะ ๘๔,๐๐๐ ถาด ถาดรูปิยเต็มด้วยทอง ๘๔,๐๐๐ ถาด ถาดสำริดเต็มด้วยเงิน ๘๔,๐๐๐ ถาด ให้ช้าง ๘๔,๐๐๐๐ เชือก มีเครื่องประดับล้วนเป็นทอง มีธงทอง คลุมด้วยข่ายทอง ให้รถ ๘๔,๐๐๐ คัน หุ้มด้วยหนังราชสีห์ หนังเสือโคร่ง หนังเสือเหลืองผ้ากัมพลเหลือง มีเครื่องประดับล้วนเป็นทอง มีธงทอง คุมด้วย ข่ายทอง ให้แม่โคนม ๘๔,๐๐๐ ตัว มีน้ำนมไหลสะดวก ใช้ภาชนะเงินรองน้ำนม ให้หญิงสาว ๘๔,๐๐๐ คน ประดับด้วยแก้วมณีและแก้วกุณฑล ให้บัลลังก์   ๘๔,๐๐๐ ที่ ลาดด้วยผ้าโกเชาว์ ลาดด้วยขนแกะสีขาว เครื่องลาดมีสัณฐานเป็นช่อดอกไม้ มีเครื่องลาดอย่างดีทำด้วยหนังชมด มีเครื่องลาดเพดาน มีหมอนข้างแดงทั้งสองให้ผ้า ๘๔,๐๐๐ โกฏิ เป็นผ้าเปลือกไม้ ผ้าแพร ผ้าฝ้าย เนื้อละเอียดจะป่วยกล่าวไปไยถึงข้าว น้ำ ของเคี้ยว ของบริโภค เครื่องลูบไล้ที่นอน ไหลไปเหมือนแม่น้ำ ดูก่อนคฤหบดี ก็ท่านพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า สมัยนั้น ผู้อื่นไม่ใช่เวลามพราหมณ์ที่ให้ทานเป็นมหาทานนั้น ดูก่อนคฤหบดี แต่ท่านไม่ควรเห็นอย่างดี สมัยนั้นเราเป็นเวลาพราหมณ์ เราไปให้ทานนั้นเป็นมหาทาน ก็ในทานนั้น ไม่มีใครเป็นพระทักขิเณยยบุคคล ใคร ๆ  ไม่ชำระทักขิณานั้นให้หมดจด

ดูก่อนคฤหบดี ทานที่บุคคลเชื้อเชิญท่านผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ(พระโสดาบัน)ผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่าทานที่เวลาพราหมณ์ให้แล้วทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิร้อยท่านบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิร้อยท่านบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิผู้เดียวบริโภค ทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระสกทาคามีเดียวบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิร้อยท่านบริโภค ทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระสกทาคามีร้อยท่านบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระสกทาคามีเดียวบริโภค ทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระอนาคามีผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระสกทาคามีร้อยท่านบริโภค ทานที่บุคคลเชื้อเชิญพระอนาคามีร้อยท่านบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเชื้อเชิญพระอนาคามีเดียวบริโภค ทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันต์ผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระอนาคามีร้อยท่านบริโภค ทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันต์ร้อยท่านบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันต์ผู้เดียวบริโภค ทานที่บุคคลถวายให้พระปัจเจกพุทธิเจ้ารูปเดียวบริโภค ผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันต์ร้อยรูปบริโภค ทานที่บุคคลถวายให้พระปัจเจกพุทธเจ้าร้อยรูปบริโภคมีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้พระปัจเจกพุทธเจ้ารูปเดียวบริโภค ทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าบริโภคมีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้พระปัจเจกพุทธเจ้าร้อยรูปบริโภค ทานที่บุคคลถวายให้ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าบริโภค การที่บุคคลสร้างวิหารถวายสงฆ์ผู้มาจากจาตุรทิศมีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขบริโภค การที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ มีผลมากกว่าทานที่บุคคลสร้างวิหารถวายสงฆ์อันมาจากจาตุรทิศ การที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท คือ งดเว้นจากปาณาติบาต ฯลฯ จากการดื่มน้ำเมาคือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท มีผลมากกว่าการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ การที่บุคคลเจริญเมตตาจิตโดย ที่สุดแม้เพียงเวลาสูดดมของหอม มีผลมากกว่าการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบทคือ งดเว้นจากปาณาติบาต ฯลฯ ดูก่อนคฤหบดี ทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่ามหาทานที่เวลามพราหมณ์ให้แล้ว...การที่บุคคลเจริญเมตตาจิตโดยที่สุดแม้เพียงเวลาสูดดมของหอม มีผลมากกว่าการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท คือ งดเว้นจากปาณาติบาต...และการที่บุคคลเจริญอนิจจสัญญาแม้เพียงเวลาลัดนิ้วมือ มีผลมากกว่าการที่บุคคลเจริญเมตตาจิตโดยที่สุด แม้เพียงเวลาสูดดมของหอม.

จบ  เวลามสูตรที่๑๐


เล่ม36หน้า739

๕. ทารุกัมมิกสูตร  ว่าด้วยพระพุทธองค์ทรงสรรเสริญสังฆทาน

[๓๓๐]สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่ปราสาทสร้างด้วยอิฐ ใกล้นาทิกคาม ครั้งนั้น คฤหบดีชื่อทารุกันมิกะ(พ่อค้าฟืน)เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสถามว่า ดูก่อนคฤหบดี ทานในสกุล ท่านยังให้อยู่หรือ คฤหบดีชื่อทารุกัมมิกะได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ยังให้อยู่ และทานนั้นแล ข้าพระองค์ให้ในภิกษุผู้เป็นอรหันต์ หรือผู้บรรลุอรหัตมรรค ผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร.
-พ.ดูก่อนคฤหบดี ท่านผู้เป็นคฤหัสถ์ บริโภคกาม อยู่ครองเรือนนอนเบียดเสียดบุตร บริโภคจันทน์แคว้นกาสี ทัดทรงดอกไม้ ของหอมและเครื่องลูบไล้ ยินดีทองและเงินอยู่ พึงรู้ข้อนี้ได้ยากว่า ภิกษุเหล่านี้เป็นพระอรหันต์ หรือเป็นผู้บรรลุอรหัตมรรค ดูก่อนคฤหบดี ถ้าแม้ภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร เป็นผู้ฟุ้งซ่าน  ถือตัว เห่อ ปากกล่า พูดพล่าม มีสติเลอะเลือนไม่มีสัมปชัญญะ มีใจไม่ตั้งมั่น มีจิตพุ่งพล่าน ไม่สำรวมอินทรีย์ เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นพึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น ถ้าแม้ภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตรเป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ถือตัว ไม่เห่อ ไม่ปากกล้า ไม่พูดพล่าม มีสติตั้งมั่นมีสัมปชัญญะ มีใจตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง สำรวมอินทรีย์ เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นพึงได้รับสรรเสริญ ด้วยเหตุนี้  ถ้าแม้ภิกษุผู้อยู่ใกล้บ้านเป็นผู้ฟุ้งซ่าน ฯลฯ เมื่อเป็นอย่างนี้  ภิกษุนั้นพึงกล่าวติเตียนด้วยเหตุนั้นถ้าแม้ภิกษุผู้อยู่ใกล้บ้าน เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน ฯลฯ เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นพึงได้รับสรรเสริญด้วยเหตุนั้น ถ้าแม้ภิกษุผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร เป็นผู้ฟุ้งซ่าน ฯลฯ เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นพึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น ถ้าแม้ภิกษุผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน ฯลฯ  เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นพึงได้รับสรรเสริญด้วยเหตุนั้น ถ้าแม้ภิกษุผู้รับนิมนต์ เป็นผู้ฟุ้งซ่าน ฯลฯ เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นพึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น ถ้าแม้ภิกษุผู้รับนิมนต์เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน ฯลฯ เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นพึงได้รับสรรเสริญด้วยเหตุนั้น ถ้าแม้ภิกษุผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร เป็นผู้ฟุ้งซ่าน ฯลฯ เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นพึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น ถ้าแม้ภิกษุผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน ฯลฯ เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นพึงได้รับสรรเสริญด้วยเหตุนั้น ถ้าแม้ภิกษุผู้ทรงคฤหบดีจีวร เป็นผู้ฟุ้งซ่าน ถือตัว เห่อ ปากกล้า พูดพล่ามมีสติเลอะเลือน ไม่มีสัมปชัญญะ มีใจไม่ตั้งมั่น มีจิตพลุ่งพล่าน ไม่สำรวมอินทรีย์ เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นพึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น ถ้าแม้ภิกษุผู้ทรงคฤหบดีจีวร เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ถือตัว ไม่เห่อ ไม่ปากกล้า ไม่พูดพล่ามมีสติตั้งมั่น มีสัมปชัญญะ มีใจตั้งมั่น  มีจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง สำรวมอินทรีย์เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นพึงได้รับสรรเสริญด้วยเหตุนั้น ดูก่อนคฤหบดี เชิญท่านให้สังฆทานเถิด เมื่อท่านให้สังฆทานอยู่ จิตจักเลื่อมใส ท่านนั้นผู้มีจิตเลื่อมใส เมื่อตายไป จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ คฤหบดีชื่อทารุกัมมิกะ.ทูลสนองว่า  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้จักให้สังฆทาน ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป.

จบทารุกัมมิกสูตรที่   ๕

อรรถกถาทารุกัมมิกสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในทารุกัมมิกสูตรที่ ๕ ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า ทารุกมฺมิโก ได้แก่ อุบาสกคนหนึ่ง  มีอาชีพทางขายไม้.
บทว่า  กาสิกจนฺทน ได้แก่ จุณจันทน์ที่ละเอียด.บทว่า องฺเคน ได้แก่ด้วยองค์ไม่เป็นคุณ คือ ด้วยองค์ที่เป็นคุณ (เฉพาะ)ในฝ่ายสุกธรรม.บทว่าเนมนฺตนิโก ได้แก่ เป็นผู้รับนิมนต์.
บทว่า สเฆ ทานานิ  ทสฺสามิคือ  เราจักถวายแก่ภิกษุสงฆ์. อุบาสกนั้นครั้นกราบทูลอย่างนั้นแล้ว ก็ถวายบังคมพระศาสดาแล้วหลีกไป ครั้นแล้วในเวลาต่อมา ภิกษุผู้เป็นกุลุปกะของเขาจำนวน ๕๐๐ รูป ได้ถึงความเป็นคฤหัสถ์ (สึก).ภิกษุผู้เป็นกุลุปกะนั้นเมื่ออุบาสกเรียนว่า ภิกษุเหล่านั้นสึกหมดแล้ว  ก็พูดว่า พวกอาตมาในที่นี้สึกหมดหรือ ด้งนี้แล้ว ก็ทำใจให้เป็นกลางไม่ได้. พระศาสดาทรงหมายเอาเหตุนี้ จึงตรัสว่า เมื่อเธอถวายทานในสงฆ์ จิตจักผ่องใส  ดังนี้.

จบอรรถกถาทารุกัมมิกสูตรที่  ๕


วัดป่าสามแยก ศึกษาพระธรรมวินัย เบิกบุญ โอนบุญ อกหัก โดนของ ธรรมะ ธรรมทาน คลายเครียด เจริญรุ่งเรือง //www.samyaek.com

-หัวข้อพระไตรปิฏก ที่ทางวัดสามแยกคัดเอาหัวข้อย่อๆ ให้ดาวโหลดขึ้นมาไว้ เพื่ออ่านเทียบเคียงพระไตรปิฎกทั้ง 91 เล่ม (พระวัดสามแยกยกหัวข้อสำคัญเพื่อเป็นแนวทางอ่านพระไตรปิฏกทั้ง91เล่ม)
//www.samyaek.com/board2/index.php?topic=3230.msg19459#msg19459

-ศึกษาพระไตรปิฏกและอรรถกถาแปลชุด91เล่ม ของมหามกุฏราชวิทยาลัย //www.thepalicanon.com/palicanon/

-Facebook พุทธพจน์ //www.facebook.com/login.php?next=http%3A%2F%2Fwww.facebook.com%2Fgroups%2FBuddhaspeech

-Download free พระไตรปิฏกพร้อมหัวข้อธรรมสำหรับ apple ipad & iphone & Android ดูรายละเอียดได้ที่เวบ //www.tripitaka91.com , และ Facebook https://www.facebook.com/tripitaka91

****หมายเหตุ "แสดงธรรมวันอาสาฬหบูชา ปี 2555" (//youtu.be/l52iDWt3V5Q ) นาทีที่ 6:01:55 ..เป็นต้นไป หลวงปู่ท่านได้พูดถึง ทนายชนอณุพงศ์ ชัยธนาวิรัตน์ ท่านใดมีปัญหาด้านกฏหมาย,คดีความต่างๆ ปรึกษาได้ที่ ทนายชนอณุพงศ์ ชัยธนาวิรัตน์ ที่เมล์ pasponglawyer@hotmail.com ,เบอร์โทรที่ 0818060981 , 0867809391 ****





 

Create Date : 27 ตุลาคม 2556
2 comments
Last Update : 28 ตุลาคม 2556 18:01:37 น.
Counter : 1091 Pageviews.

 

ทุกๆ วันเสาร์เวลาประเทศไทย โดยประมาณ 20:30 น.มีการถ่ายทอดสดไปทั่วโลก เทศน์โดยหลวงปู่เกษม อาจิณณสีโล จากสำนักสงฆ์ป่าสามแยก

ดูได้ที่
=> //www.samyaek.com

หรือ สามารถดูทางช่องสำรอง:
=> //live.samyaek.com/

 

โดย: Budratsa 27 ตุลาคม 2556 19:30:48 น.  

 

...แจกฟรี...CD พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ชุด 91 เล่ม ของมหามกุฏราชวิทยาลัย และDVD จากการแสดงธรรมของหลวงปู่เกษม อาจิณณสีโล ได้ที่www.samyaek.com คลิกที่กระดาน "แจกสื่อธรรม" หากท่านใดยังไม่ได้สมัครสมาชิก ใช้
Username : Media
Password : 123456
........................................

หรือ หรือคลิกเวบลิ้งค์ด้านขวามือที่เขียนว่า "ดาวโหลดพระไตรปิฏกชุด91เล่มและเล่มอื่นๆได้ที่นี่"

ยินดีในบุญกับท่านที่ต้องการศึกษาพระธรรมของพระพุทธเจ้าด้วยค่ะ

 

โดย: Budratsa 27 ตุลาคม 2556 19:31:13 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


Budratsa
Location :
พิจิตร Switzerland

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]




สวัสดีค่ะ ยินดีต้อนรับทุกๆคนค่ะ
"ดูก่อนอานนท์ บางทีพวกเธอจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ปาพจน์ (พุทธพจน์) มีพระศาสดาล่วงแล้ว พระศาสดาของพวกเราไม่มี ข้อนี้พวกเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น ธรรมก็ดี วินัยก็ดีอันใดอันเราแสดงแล้ว ได้บัญญัติไว้แล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยอันนั้น จักเป็นศาสดาแห่งพวกเธอ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา" เล่มที่ ๑๓ : พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ หน้าที่ ๓๒๐
Friends' blogs
[Add Budratsa's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.