"ทรัพย์เครื่องปลื้มใจอย่างใดอย่างหนึ่งในโลกนี้หรือในโลกอื่น หรือรัตนะใดอันประณีตในสวรรค์ ทรัพย์และรัตนะนั้นเสมอด้วยพระตถาคตย่อมไม่มี พระพุทธเจ้าแม้นี้เป็นรัตนะอันประณีต ด้วยการกล่าวคำจริงนี้ ขอความสวัสดีจงมี....." "พระไตรปิฏก เป็นตาที่วิเศษยิ่ง, เป็นหูที่วิเศษยิ่ง, เป็นจมูกที่วิเศษยิ่ง, เป็นลิ้นที่วิเศษยิ่ง, เป็นกายที่วิเศษยิ่ง, เป็นใจที่วิเศษยิ่ง, เป็นครู-อาจารย์ที่วิเศษยิ่ง, เป็นพ่อ-แม่ที่วิเศษยิ่ง, เป็นมิตรและเข็มทิศที่วิเศษยิ่ง, เป็นแผนที่และป้ายบอกทางที่วิเศษยิ่ง, เป็นแสงสว่างส่องทางสู่นิพพานที่วิเศษยิ่ง"จากวัดสามแยก
Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2556
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
15 มิถุนายน 2556
 
All Blogs
 

บุญ เป็นทุกข์ที่พิเศษ โดยหลวงปู่เกษม อาจิณณสีโล 25 ก.พ.2556

เนื้อหา บางส่วนจากการแสดงธรรมชุดนี้
      ๑.   บุญกุศลเป็นทุกข์ที่พิเศษ
      ๒.  เทวดาไม่ต้องคลอดลูก
      ๓.  ลาภสักการะย่อมทำลายคนโง่
      ๔.   เพราะบรรลุผิด จึงกลัวในสิ่งที่ตนเองนิรมิตขึ้นมา
      ๕.   ทำบุญใดๆแล้ว ควรปราถนานิพพาน
     ฯลฯ

-บุญกุศลเป็นทุกข์ที่พิเศษ(อ.ปฏิจจสมุปปาทวิภังค์)เล่ม77หน้า474
-เทวดาไม่ต้องคลอดลูก(อ.สักกปัญหสูตร)เล่ม14หน้า155
-ลาภสักการะย่อมทำลายคนโง่(ตติยสมณพราหมณสูตร)เล่ม26หน้า667
-เพราะบรรลุผิด จึงกลัวในสิ่งที่ตนเองนิรมิตขึ้นมา(อ.สัลเลขสูตร)เล่ม17หน้า494
-บางยุค จักพรรดิ์ยิ่งใหญ่ถึงสวรรค์ดาวดึงส์(อ.มันธาตุราชชาดก)เล่ม58หน้า74-76
-ทำบุญใดๆแล้ว ควรปราถนานิพพาน(อัตตทัณฑสุตตนิทเทส)เล่ม66หน้า474
-ว่าด้วย อายุของพรหม(ธัมมหทยวิภังค์)เล่ม78หน้า1002

บุญกุศลเป็นทุกข์ที่พิเศษ(อ.ปฏิจจสมุปปาทวิภังค์)เล่ม77หน้า474

 เพราะบุคคลนั้น  ยังไม่ได้ละอวิชชาในสัจจะ ๔ นั้น จึงไม่รู้อยู่ซึ่งทุกข์กล่าวคือผลแห่งบุญแม้ระคนด้วยโทษเป็นอเนกมีชาติ ชรา และมรณะเป็นต้น โดยความเป็นทุกข์พิเศษ ย่อมปรารภปุญญาภิสังขารอันต่างด้วยกายสังขารและวจีสังขาร เพื่อบรรลุทุกข์นั้น เหมือนผู้ต้องการนางฟ้า(เทพอัปสร) ปรารถนาเกิดเป็นเทพบุตรฉะนั้น และเมื่อบุคคลนั้นแม้ไม่เห็นผลบุญนั้น แม้สมมติว่าเป็นสุขซึ่งถึงความเป็นทุกข์เพราะแปรปรวนอันยังความเร่าร้อนใหญ่ให้เกิดขึ้นในบั้นปลาย และความที่ผลบุญนั้นมีความสำราญน้อยย่อมปรารภปุญญาภิสังขารมีประการตามที่กล่าวแล้วนั่นแหละ ซึ่งมีผลบุญนั้นเป็นปัจจัย เหมือนตั๊กแตนบ่ายหน้าตกลงสู่เปลวประทีป   และเหมือนบุคคลผู้ติดใจในหยดน้ำผึ้งถึงกับเลียคมศัสตราที่เปื้อนน้ำผึ้งฉะนั้น.

อนึ่ง เมื่อไม่เห็นโทษในธรรมที่มีวิบากมีการเสพกามเป็นต้น ย่อมปรารภอปุญญาภิสังขาร แม้เป็นไปด้วยทวาร ๓ เพราะสำคัญว่าเป็นสุขและเพราะความเป็นผู้ถูกกิเลสครอบงำแล้ว ดุจทารกเล่นอยู่ซึ่งคูถอันปฏิกูลดุจผู้ต้องการตายเคี้ยวกินยาพิษฉะนั้น และเมื่อไม่หยั่งรู้ความทุกข์อันมีความแปรปรวนแห่งสังสาร แม้ในวิมากของความเป็นอรูป ก็ย่อมปรารภ อาเนญชาภิสังขาร อันเป็นจิตตสังขารโดยวิปลาสมีความเที่ยงเป็นต้น ดุจคนหลงทิศ เริ่มเดินทางมุ่งหน้าไปสู่นครปิศาจฉะนั้น. เพราะความที่อวิชชามีอยู่.
นั่นแหละสังขารจึงมี มิใช่เพราะความไม่มี ฉะนั้น ข้อนี้จึงทราบได้ว่า
สังขารเหล่านี้ย่อมมี เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย ด้วยประการฉะนี้ แม้คำนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสไว้ว่า 
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนเขลาตกอยู่ในอวิชชาแล้ว 
เพราะความไม้รู้ ย่อมปรุงแต่งปุญญาภิสังขารบ้าง ย่อมปรุงแต่ง
อุปุญญาภิสังขารบ้าง ย่อมปรุงแต่งอาเนญชาภิสังขารบ้าง ดูก่อน
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดแลภิกษุละอวิชชาเสียแล้ว วิชชาก็เกิดขึ้น
เพราะการสำรอกอวิชชา เพราะความเกิดขึ้นแห่งวิชชา ภิกษุนั้นย่อม
ไม่ปรุงแต่งปุญญาภิสังขาร ดังนี้.

เทวดาไม่ต้องคลอดลูก(อ.สักกปัญหสูตร)เล่ม14หน้า155

 คำว่า ด้วยกิจและกรณียะบางอย่าง ความว่า พวกลูกหญิงและลูกชายย่อมเกิดบนตักของพวกเทพ พวกสตรีที่เป็นบาทปริจาริกา ย่อมเกิดบนที่นอน พวกเทวดาที่เป็นพนักงานตกแต่งประดับประดาของเทวดาเหล่านั้นย่อมเกิดรอบๆ ที่นอน พวกช่วยกิจการงาน (ไวยาวัจกร) ย่อมเกิดภายในวิมานการก่อคดีเพื่อประโยชน์แก่เทพพวกนี้ไม่มี แต่พวกที่เกิดระหว่างเขตแดนนั้นเมื่อไม่อาจตัดสินว่า ของท่าน ของข้าพเจ้า ดังนี้ ก็เป็นความกัน ย่อมทูลถามท้าวสักกะผู้เป็นพระราชาของเทพ พระองค์ก็จะตรัสว่า ใกล้วิมานผู้ใดกว่าเป็นของผู้นั้น ถ้าวิมานทั้งสองเกิดมีระยะที่เท่าๆ กัน พระองค์ก็จะตรัสว่า ยืนมองวิมานผู้ใด เป็นของผู้นั้น ถ้าไม่มองดูแม้แต่วิมานเดียว เพื่อตัดการทะเลาะของทั้งสองฝ่าย ก็ทรงเอาเสียเอง ยังกิจมีการกีฬาเป็นต้น ก็จำเป็นต้องทรงจัดการทั้งนั้น ท้าวเธอทรงหมายเอาพระกรณียะเหล่านั้น เห็นปานนี้แล้วจึงตรัสว่า ด้วยกิจและกรณียะบางอย่าง ดังนี้ .

ลาภสักการะย่อมทำลายคนโง่(ตติยสมณพราหมณสูตร)เล่ม26หน้า667

ตติยสมณพรหมณสูตร ว่าด้วยสมณพราหมณ์ไม่ทราบถึงความยินดีและโทษ

แห่งลาภสักการะ

[๕๗๖] พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้า...ได้ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ลาภสักการะและความสรรเสริญ  ทารุณ เผ็ดร้อน หยาบคาย เป็นอันตรายแก่การบรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะ ซึ่งไม่มีธรรมอื่นยิ่งไปกว่า  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์บางพวกย่อมไม่ทราบชัดซึ่งลาภสักการะและความสรรเสริญเหตุเกิดแห่งลาภสักการะและความสรรเสริญ ความดับแห่งลาภสักการะและความสรรเสริญ และปฏิปทาเครื่องให้ถึงความดับแห่งลาภสักการะและความสรรเสริญ บางพวกย่อมทราบชัดวามความเป็นจริงซึ่งลาภสักการะและความสรรเสริญ เหตุเกิดแห่งลาภสักการะและความสรรเสริญ ความดับแห่งลาภสักการะและความสรรเสริญ และปฏิปทาเครื่องให้ถึงความดับแห่งลาภสักการะและความสรรเสริญ ย่อมกระทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันรู้ยิ่งเองแล้วเข้าถึงอยู่.

เพราะบรรลุผิด จึงกลัวในสิ่งที่ตนเองนิรมิตขึ้นมา(อ.สัลเลขสูตร)เล่ม17หน้า494

เรื่องพระธรรมทินนเถระตักเตือนศิษย์

ได้ทราบว่า ภิกษุหลายรูป ได้ตั้งตนอยู่ในโอวาทของพระเถระผู้อุปสมบทแล้วไม่นานเลย ก็พากันบรรลุคุณวิเศษ. ภิกษุสงฆ์ชาวติสสมหาวิหาร ได้ทราบพฤติกรรมนั้นแล้ว ลงความเห็นว่าพระเถรูประกอบในเรื่องที่เป็นรูปไม่ได้ ท่านทั้งหลายจงนำเอาพระเถระมา แล้วได้ส่งภิกษุหลายรูปไป. ภิกษุเหล่านั้นไปถึงแล้ว ได้เรียนว่า ท่านธรรมทินนะครับ ภิกษุสงฆ์เรียกหาท่าน. ท่านกล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านทั้งหลายจะแสวงหาตนหรือคนอื่น. ภิกษุทั้งหลายเรียนว่า ข้าแต่ท่านสัตบุรุษ เราทั้งหลายแสวงหาตน. พระเถระนั้นได้ให้กรรมฐานแก่ภิกษุเหล่านั้น. ภิกษุเหล่านั้นได้บรรลุอรหัตกันหมดทุกรูป. ภิกษุสงฆ์จึงได้ส่งภิกษุจำพวกอื่นไปอีก. ภิกษุที่สงฆ์ส่งไปอย่างนี้ถึง ๓ ครั้ง ก็ได้บรรลุอรหัตเหมือนกันทั้งหมดแล้วอยู่ (กับพระเถระนั้น). ต่อจากนั้นมาพระสงฆ์เห็นว่า พระที่ไปๆ แล้วไม่กลับนา จึงได้ส่งภิกษุหลวงตาอีกรูปหนึ่งไป.

หลวงตานั้นครั้นไปถึงแล้ว ได้พูดว่า ข้าแต่ท่านธรรมทินนะ ภิกษุสงฆ์สำนักติสสมหาวิหาร ส่งพระมาที่สำนักท่านถึง ๓ ครั้ง แต่ท่านเองไม่ทำความเคารพอาณัติสงฆ์ ไม่มา (ไปตามคำสั่ง) พระเถระตอบว่า นี่อะไรกัน?  แล้วให้หลวงตานั้นรับเอาบาตร และจีวรโดยไม่ต้องเข้าบรรณศาลาแล้วออกไปในทันทีทันใดนั่นแหละ. ท่านได้แวะไปยังหังกนวิหาร ในระหว่างทาง. และในหังกนวิหารนั้น มีมหาเถระรูปหนึ่งมีพรรษา ๖๐ ล่วงแล้ว ปฏิญาณตนเป็นพระอรหันต์  ด้วยมานะยิ่ง พระเถระเข้าไปหาท่านไหว้ กระทำปฏิสันถาร แล้วได้เรียนถามถึงคุณธรรมที่ได้บรรลุ. พระเถระกล่าวว่า เออ ท่านธรรมทินนะ กิจที่บรรพชิตพึงทำ ผมได้ทำเสร็จนานแล้ว บัดนี้ ผมก็พรรษา ๖๐ ล่วงแล้ว.ท่านธรรมทินนะ เรียนถามว่า ใต้เท้าครับ ได้เท้ายังใช้ฤทธิ์อยู่บ้างหรือไม่? ท่านตอบว่าใช้อยู่ ท่านธรรมทินนะ. ท่านธรรมทินนะ เรียนว่า ดีแล้วครับ ใต้เท้า ขอนิมนต์ใต้เท้าเนรมิตช้างกำลังเดินมาประจันหน้าใต้เท้า(ให้ดู )เถิด. พระเถระรับคำนิมนต์แล้ว ได้เนรมิตช้างเชือกใหญ่เผือกผ่อง เป็นที่สถิตแห่งคชลักษณ์ ๗ ประการ ตกมันกล้า แกว่งหางสอดงวงเข้าปาก รี่มาประจันหน้าคล้ายกับจะเอางาทั้ง ๒ แทง ท่านเห็นช้างเชือกนั้นที่ตนเนรมิตขึ้นเอง กลัวเริ่มจะวิ่งหนี ในเวลานั้นเอง ท่านก็รู้ตัวว่า เรายังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ จึงนั่งกระโหย่งลงแทบบาทมูลของท่านธรรมทินนะ แล้วกล่าวว่า ขอท่านจงเป็นที่พึ่งแก่ผมเถิด ท่านขอรับ. ท่านธรรมทินนะได้พูดเอาใจพระเถระว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านอย่าได้เศร้าโศก อย่าได้เสียใจ   มานะยิ่งจะเกิดขึ้นเฉพาะการกบุคคลทั้งหลายเท่านั้น แล้วได้ให้กรรมฐาน (แก่พระเถระ). พระเถระดำรงอยู่ในโอวาทของท่านแล้วได้บรรลุพระอรหัต.

บางยุค จักพรรดิ์ยิ่งใหญ่ถึงสวรรค์ดาวดึงส์(อ.มันธาตุราชชาดก)เล่ม58หน้า74-76

 โอรสของพระเจ้าวรอุโปสถ ได้มีพระนามว่า มันธาตุ พระเจ้ามันธาตุนั้นทรงประกอบด้วยรัตนะ ๗ และอิทธิฤทธิ์ ๔ ครองราชย์เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ.ในเวลาที่พระองค์ทรงคู้พระหัตถ์ซ้ายปรบด้วยพระหัตถ์ขวาฝนรัตนะ ๗ ก็ตกลงมาประมาณเข่า ดุจเมฆฝนทิพย์ในอากาศ พระเจ้ามันธาตุได้เป็นมนุษย์อัศจรรย์เห็นปานนี้. ก็พระเจ้ามันธาตุนั้นทรงเล่นเป็นเด็กอยู่แปดหมื่นสี่พันปี ทรงครองความเป็นอุปราชอยู่แปดหมื่นสี่พันปี ทรงครองราชย์เป็นพระเจ้าจักรพรรดิแปดหมื่นสี่พันปี. ก็พระองค์ทรงมีพระชนมายุหนึ่งอสงไขย. วันนี้พระเจ้ามันธาตุนั้นไม่สามารถทำกามตัณหาให้เต็มได้ จึงทรงแสดงอาการระอาพระทัย.อำมาตย์ทั้งหลายทูลถามว่า ข้าแต่สมมติเทพพระองค์ทรงระอาเพราะเหตุไร?  พระเจ้ามันธาตุตรัสว่า เมื่อเรามองเห็นกำลังบุญของเราอยู่ ราชสมบัตินี้จักทำอะไรได้ ถามที่ไหนหนอจึงจะน่ารื่นรมย์. อำมาตย์ทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช เทวโลกน่ารื่นรมย์ พระเจ้าข้า. ท้าวเธอจึงทรงพุ่งจักรรัตนะไปยังเทวโลกชั้นจาตุมมหาราชิกาพร้อมด้วยบริษัท. ลำดับนั้น ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ทรงถือดอกไม้และของหอมอันเป็นทิพย์ ห้อมล้อมด้วยหมู่เทพกระทำการต้อนรับ นำพระเจ้ามันธาตุนั้นไปยังเทวโลกชั้นจาตุมมหาราชิกา ได้ถวายราชสมบัติในเทวโลก. เมื่อพระเจ้ามันธาตุนั้นห้อมล้อมด้วยบริษัทของพระองค์ครองราชสมบัติอยู่ในชั้นจาตุมมหาราชิกานั้น กาลเวลาล่วงไปช้านาน พระองค์ไม่สามารถทำตัณหาให้เต็มในชั้นจาตุมมหาราชิกานั้นได้ จึงทรงแสดงอาการเบื่อระอา, ท้าวมหาราชทั้ง ๔ จึงทูลถามว่า ข้าแต่มหาราช พระองค์ทรงเบื่อระอาเพราะอะไรหนอ. พระเจ้ามันธาตุตรัสว่า จากเทวโลกนี้ ที่ไหนน่ารื่นรมย์กว่า. ท้าวมหาราชทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ พวกข้าพระองค์เป็นบริษัทผู้คอยอุปัฏฐากผู้อื่น  ขึ้นชื่อว่าเทวโลกชั้นดาวดึงส์น่ารื่นรมย์พระเจ้ามันธาตุจึงพุ่งจักรรัตนะออกไป ห้อมล้อมด้วยบริษัทของพระองค์ บ่ายหน้าไปยังภพดาวดึงส์. ลำดับนั้น ท้าวสักกะเทวราชทรงถือดอกไม้และของหอมทิพย์ห้อมล้อมด้วยหมู่เทพ ทรงทำการต้อนรับรับพระเจ้ามันธาตุนั้น ทรงจับพระองค์ที่พระหัตถ์แล้วตรัสว่า ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์จงเสด็จมาทางนี้. ในเวลาที่พระราชาอันหมู่เทพห้อมล้อมเสด็จไป ริณายกขุนพลพาจักรแก้วลงมายังถิ่นมนุษย์พร้อมกับบริษัท เข้าไปเฉพาะยังนครของตน ๆ. ท้าวสักกะทรงนำพระเจ้ามันธาตุไปยังภพดาวดึงส์ ทรงทำเทวดาให้เป็น ๒ ส่วน ทรงแบ่งเทวราชสมบัติของพระองค์กึ่งหนึ่งถวายพระเจ้ามันธาตุ. ตั้งแต่นั้นมาพระราชา ๒ พระองค์ ทรงครองราชสมบัติ (ในภพดาวดึงส์นั้น). เมื่อกาลเวลาล่วงไปด้วยประการอย่างนี้ ท้าวสักกะทรงให้พระชนมายุสิ้นไปสามโกฏิหกหมื่นปีก็จุติ. ท้าวสักกะพระองค์อื่นก็มาบังเกิดแทน. แม้ท้าวสักกะพระองค์นั้นก็ครองราชสมบัติในเทวโลกแล้วก็จุติไป โดยสิ้นพระชนมายุ. โดยอุบายนี้ ท้าวสักกะถึง ๓๖ พระองค์จุติไปแล้ว.ส่วนพระเจ้ามันธาตุยังคงครองราชสมบัติในเทวโลกโดยร่างกายของมนุษย์นั่นเอง. เมื่อเวลาล่วงไปด้วยประการอย่างนี้ กามตัณหาก็ยังเกิดขึ้นแก่พระองค์โดยเหลือประมาณยิ่งขึ้นพระองค์จึงทรงดำริว่า เราจะได้ประโยชน์อะไรด้วยราชสมบัติในเทวโลกกึ่งหนึ่ง เราจักฆ่าท้าวสักกะเสีย ครองราชสมบัติในเทวโลกคนเดียวเถิด. ท้าวเธอไม่อาจฆ่าท้าวสักกะได้. ก็ตัณหาคือความอยากนี้เป็นมูลรากของความวิบัติ. ด้วยเหตุนั้น อายุสังขารของท้าวเธอจึงเสื่อมไป ความชราก็เบียดเบียนพระองค์. ก็ธรรมดาร่างกายมนุษย์ย่อมไม่แตกดับในเทวโลก. ลำดับนั้น พระเจ้ามันธาตุนั้นจึงพลัดจากเทวโลกตกลงในพระราชอุทยาน.พนักงานผู้รักษาพระราชอุทยานจึงกราบทูลความที่พระเจ้ามันธาตุนั้นเสด็จมาให้ราชตระกูลทราบราชตระกูลเสด็จมา พากันปูลาดที่บรรทมในพระราชอุทยานนั่นเองพระราชาทรงบรรทมโดยอนุฏฐานไสยาศน์ อำมาตย์ทั้งหลายทูลถามว่า ขอเดชะ ข้าพระองค์ทั้งหลาย จะกล่าวว่าอย่างไร เฉพาะพระพักตร์ขอพระองค์  พระเจ้าข้า. พระเจ้ามันธาตุตรัสว่า ท่านทั้งหลายถึงบอกข่าวสาสน์นี้แก่มหาชนว่า พระเจ้ามันธาตุมหาราชครองราชสมบัติเป็นพระเจ้าจักรพรรดิในมหาทวีปทั้ง ๔ มีทวีปน้อยสองพันเป็นบริวาร  ครองราชสมบัติในเทวโลกชั้นจาตุมมหาราชิกาตลอดกาลนานแล้วได้ครองราชสมบัติในเทวโลกตามปริมาณพระชนมายุของท้าวสักกะถึง ๓๖ องค์ ยังทำตัณหาคือความอยากให้เต็มไม่ได้เลย ได้สวรรคตไปแล้ว ครั้นพระองค์ตรัสอย่างนั้นแล้วก็สวรรคตเสด็จไปตามยถากรรม.
พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วเป็นผู้ตรัสรู้ยิ่ง แล้วได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า :-

พระจันทร์ พระอาทิตย์ ( ย่อมเวียนรอบเขาสิเนรุราช ) ส่องรัศมีสว่างไสวไปทั่ว
ทิศโดยที่มีกำหนดเท่าใด สัตว์ทั้งหลายที่อาศัยแผ่นดินอยู่ในที่มีกำหนดเท่านั้น 
ล้วนเป็นทาสของพระเจ้ามันธาตุราชทั้งสิ้น. ความอิ่มในกามทั้งหลายย่อมไม่มี
 เพราะฝนคือ กหาปณะ กามทั้งหลายมีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก 
บัณฑิตย่อมรู้ชัดอย่างนี้. ภิกษุผู้เป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ย่อมไม่ถึงความยินดีในกามทั้งหลาย แม้ที่เป็นทิพย์  เป็นผู้ยินดีในความสิ้นไปแห่งตัณหา.

ทำบุญใดๆแล้ว ควรปราถนานิพพาน(อัตตทัณฑสุตตนิทเทส) เล่ม66หน้า474

ว่าด้วยทำบุญต้องมุ่งนิพพาน

[๘๒๖] คำว่า นรชนพึงเป็นผู้มีใจน้อมไปในนิพพาน ความว่านรชนบางคนในโลกนี้ ให้ทาน สมาทานศีล รักษาอุโบสถกรรม  เข้าไปตั้งไว้ซึ่งน้ำดื่มน้ำใช้ กวาดบริเวณ ไหว้พระเจดีย์ บูชาด้วยเครื่องหอมและดอกไม้ที่พระเจดีย์ ทำประทักษิณพระเจดีย์ บำเพ็ญกุศลที่ควรบำเพ็ญอย่างใดอย่างหนึ่งอันเป็นไตรธาตุ ก็ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งคติ ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งอุปบัติ ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งปฏิสนธิ ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งภพ ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งสงสาร ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งวัฏฏะ เป็นผู้มีความประสงค์ในอันพรากออกจากทุกข์ มีใจน้อมโน้มโอนไปในนิพพาน ย่อมบำเพ็ญกุศลทั้งปวงนั้น แม้เพราะเหตุอย่างนี้ดังนี้ จึงชื่อว่า นรชนพึงเป็นผู้มีใจน้อมไปในนิพพาน.

 อนึ่ง นรชนบังคับจิตให้กลับจากสังขารธาตุอันเป็นไปในไตรภูมิทั้งปวง น้อมจิตเข้าไปในอมตธาตุว่า ธรรมชาติใด คือ ความสงบแห่งสังขารทั้งปวง สละคืนแห่งอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา ความสำรอกตัณหา ความดับตัณหา ความออกจากตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัด ธรรมชาตินี้สงบ ประณีต แม้ด้วยเหตุอย่างนี้ดังนี้ จึงชื่อว่า นรชนพึงเป็นผู้มีใจน้อมไปในนิพพาน.

สมจริงดังพระพุทธภาษิตว่า

บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมไม่ให้ทานเพราะเหตุแห่งสุขอันก่อให้เกิดอุปธิ แต่บัณฑิตเหล่านั้นย่อมให้ทานเพื่อความหมดสิ้นอุปธิ เพื่อนิพพานอันไม่มีภพต่อไป โดยส่วนเดียว บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมไม่เจริญฌานเพราะเหตุแห่งสุขอันก่อให้เกิดอุปธิ  เพื่อภพต่อไป แต่บัณฑิตเหล่านั้น ย่อมเจริญฌานเพื่อความหมดสิ้นอุปธิ เพื่อนิพพานอันไม่มีภพต่อไปโดยสิ้นเดียว บัณฑิตเหล่านั้นมุ่งนิพพาน มีจิตเอนไปในนิพพาน น้อมจิตไปในนิพพานย่อมให้พาน บัณฑิตเหล่านั้น ย่อมเป็นผู้มีนิพพานเป็นเบื้องหน้า เหมือนแม่น้ำทั้งหลายไหลไปสู่ทะเลฉะนั้น.เพราะฉะนี้ จึงชื่อว่า นรชนพึงเป็นเป็นผู้มีใจน้อมไปในนิพพานเพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่านรชนพึงปราบความหลับ ความเกียจคร้าน ความย่อท้อ ไม่พึงอยู่ด้วยความประมาท ไม่พึงตั้งอยู่ในความ หมิ่น  พึงเป็นผู้มีใจน้อมไปในนิพพาน.
นรชนพึงออกจากความพูดเท็จ ไม่พึงทำความเสน่หา
ในรูป พึงกำหนดรู้มานะ และพึงประพฤติเว้นจากความผลุนผลัน.

ว่าด้วย อายุของพรหม(ธัมมหทยวิภังค์)เล่ม78หน้า1002

ประมาณแห่งอายุของรูปพรหม

[๑๑๐๗] ผู้เจริญปฐมฌานได้อย่างสามัญ ไปเกิดที่ไหน?
 ไปเกิดเป็นพวกเทวดาชั้นพรหมปาริสัชชา.

อายุของเทวดาเหล่านั้น มีประมาณเท่าไร?
มีประมาณเท่าส่วนที่ ๓ ที่ ๔ แห่งกัป [คือ ๑ ใน ๓ หรือ ๑ ใน ๔แห่งกัป].

ผู้เจริญปฐมฌานได้อย่างกลาง ไปเกิดที่ไหน?
ไปเกิดเป็นพวกเทวดาชั้นพรหมปุโรหิตา.

อายุของเทวดาเหล่านั้น มีประมาณเท่าไร?
มีประมาณกึ่งกัป.

ผู้เจริญปฐมฌานได้อย่างประณีต ไปเกิดที่ไหน?
 ไปเกิดเป็นพวกเทวดาชั้นมหาพรหมา.

อายุของเทวดาเหล่านั้น มีประมาณเท่าไร?
มีประมาณ ๑ กัป.

ผู้เจริญทุติยฌานได้อย่างสามัญ ไปเกิดที่ไหน?
ไปเกิดเป็นพวกเทวดาชั้นปริตตาภา.

อายุของเทวดาเหล่านั้น มีประมาณเท่าไร?
มีประมาณ ๒ กัป.

ผู้เจริญตติยฌานได้อย่างกลาง ไปเกิดที่ไหน?
ไปเกิดเป็นพวกเทวดาชั้นอัปปมาณาภา.

อายุของเทวดาเหล่านั้น มีประมาณเท่าไร?
มีประมาณ ๔ กัป.

ผู้เจริญทุติยฌานได้อย่างประณีต ไปเกิดที่ไหน?
ไปเกิดเป็นพวกเทวดาชั้นอาภัสสรา.

อายุของเทวดาเหล่านั้น  มีประมาณเท่าไร?
มีประมาณ ๘ กัป.

ผู้เจริญตติยฌานได้อย่างสามัญ ไปเกิดที่ไหน?
ไปเกิดเป็นพวกเทวดาชั้นไปริตตสุภา.

อายุของเทวดาเหล่านั้น มีประมาณเท่าไร?
มีประมาณ  ๑๖  กัป.

ผู้เจริญตติยฌานได้อย่างกลาง ไปเกิดที่ไหน?
ไปเกิดเป็นพวกเทวดาชั้นอัปปมาณสุกา.

อายุของเทวดาเหล่านั้น มีประมาณเท่าไร?
มีประมาณ ๓๒ กัป.

ผู้เจริญตติยฌานได้อย่างประณีต ไปเกิดที่ไหน?
ไปเกิดเป็นพวกเทวดาชั้นสุภกิณหา.

อายุของเทวดาเหล่านั้น มีประมาณเท่าไร?
มีประมาณ ๖๔ กัป.

ผู้เจริญจตุตถฌาน บางคนไปเกิดเป็นพวกเทวดาเหล่าอสัญญสัตว์ บางคนไปเกิดเป็นพวกเทวดาชั้นเวหัปผลา บางคนไปเกิดเป็นพวกเทวดาชั้นอวิหา บางคนไปเกิดเป็นพวกเทวดาชั้นอตัปปา บางคนไปเกิดพวกเทวดาชั้นสุทัสสา บางคนไปเกิดเป็นพวกเทวดาชั้นสุทัสสี บางคนไปเกิดเป็นพวกเทวดาชั้นอกนิฏฐา บางคนไปเกิดเป็นพวกเทวดาผู้เข้าถึงอากาสานัญจายตนภพ บางคนไปเกิดเป็นพวกเทวดาผู้เข้าถึงวิญญาณัญจายตนภพ บางคนไปเกิดเป็นพวกเทวดาผู้เข้าถึงอากิญจัญญายตนภพ บางคนไปเกิดเป็นพวกเทวดาผู้เข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนภพ เพราะอารมณ์ต่างกัน เพราะมนสิการต่างกัน เพราะฉันทะต่างกัน เพราะปณิธิต่างกัน เพราะอธิโมกข์ต่างกัน เพราะอภินีหารต่างกัน เพราะปัญญาต่างกัน.

อายุของเหล่าเทวดาอสัญญสัตว์ และเหล่าเทวดาชั้นเวหัปผลามีประมาณเท่าไร?
มีประมาณ ๕๐๐ กัป.

อายุของเหล่าเทวดาชั้นอวิหา มีประมาณเท่าไร?
มีประมาณ ๑,๐๐๐ กัป.

อายุของเหล่าเทวดาชั้นอตัปปา มีประมาณเท่าไร?
มีประมาณ ๒,๐๐๐ กัป.

อายุของเหล่าเทวดาชั้นสุทัสสา มีประมาณเท่าไร?
มีประมาณ ๔,๐๐๐ กัป.

อายุของเหล่าเทวดาชั้นสุทัสสี มีประมาณเท่าไร?
มีประมาณ ๘,๐๐๐ กัป.

อายุของเหล่าเทวดาชั้นอกนิฏฐา มีประมาณเท่าไร?
มีประมาณ ๑๖,๐๐๐ กัป.

ประมาณแห่งอายุของอรูปพรหม

อายุของเหล่าเทวดาผู้เข้าถึงอากาสานัญจายตนภพ มีประมาณเท่าไร?
มีประมาณ ๒๐,๐๐๐ กัป.

อายุของเหล่าเทวดาผู้เข้าถึงวิญญานัญจายตนภพ มีประมาณเท่าไร?
มีประมาณ ๔๐,๐๐๐ กัป.

อายุของเหล่าเทวดาผู้เข้าถึงอากิญจัญญายตนภพ มีประมาณเท่าไร?
มีประมาณ ๖๐,๐๐๐ กัป.

อายุของเหล่าเทวดาผู้เข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนภพ มีประมาณเท่าไร?
มีประมาณ ๘๔,๐๐๐ กัป.

เหล่าสัตว์ที่มีอำนาจแห่งบุญส่งเสริม ไปแล้วสู่กามภพ และรูปภพ หรือแม้ไปสู่ภวัคคพรหม ย่อมกลับสู่ทุคติอีกได้ เหล่าสัตว์มีอายุยืนถึงเพียงนั้น ก็ยังจุติเพราะสิ้นอายุ ภพไหนๆ ชื่อว่า เที่ยงไม่มี สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ได้ตรัสไว้อย่างนี้ เพราะฉะนั้นแล เหล่านักปราชญ์ผู้มีปัญญาเฉลียวฉลาดรอบคอบ คำนึงถึงความจริงข้อนี้  จึงเจริญมรรคอันอุดมเพื่อพ้นจากชรามรณะ ครั้นเจริญมรรคอันบริสุทธิ์สะอาด ซึ่งมีปกติยังสัตว์ให้หยั่งถึงพระนิพพานแล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่มีอาสวะปรินิพพาน เพราะกำหนดรู้อาสวะทั้งปวงฉะนี้แล.

วัดป่าสามแยก ศึกษาพระธรรมวินัย เบิกบุญ โอนบุญ อกหัก โดนของ ธรรมะ ธรรมทาน คลายเครียด เจริญรุ่งเรือง //www.samyaek.com

-หัวข้อพระไตรปิฏก ที่ทางวัดสามแยกคัดเอาหัวข้อย่อๆ ให้ดาวโหลดขึ้นมาไว้ เพื่ออ่านเทียบเคียงพระไตรปิฎกทั้ง 91 เล่ม (พระวัดสามแยกยกหัวข้อสำคัญเพื่อเป็นแนวทางอ่านพระไตรปิฏกทั้ง91เล่ม)
//www.samyaek.com/board2/index.php?topic=3230.msg19459#msg19459

-ศึกษาพระไตรปิฏกและอรรถกถาแปลชุด91เล่ม ของมหามกุฏราชวิทยาลัย //www.thepalicanon.com/palicanon/

-Facebook พุทธพจน์ //www.facebook.com/login.php?next=http%3A%2F%2Fwww.facebook.com%2Fgroups%2FBuddhaspeech

-Download free พระไตรปิฏกพร้อมหัวข้อธรรมสำหรับ apple ipad & iphone & Android ดูรายละเอียดได้ที่เวบ //www.tripitaka91.com , และ Facebook https://www.facebook.com/tripitaka91

****หมายเหตุ "แสดงธรรมวันอาสาฬหบูชา ปี 2555" (//youtu.be/l52iDWt3V5Q ) นาทีที่ 6:01:55 ..เป็นต้นไป หลวงปู่ท่านได้พูดถึง ทนายชนอณุพงศ์ ชัยธนาวิรัตน์ ท่านใดมีปัญหาด้านกฏหมาย,คดีความต่างๆ ปรึกษาได้ที่ ทนายชนอณุพงศ์ ชัยธนาวิรัตน์ ที่เมล์ pasponglawyer@hotmail.com ,เบอร์โทรที่ 0818060981 , 0867809391 ****




 

Create Date : 15 มิถุนายน 2556
1 comments
Last Update : 16 มิถุนายน 2556 15:37:16 น.
Counter : 908 Pageviews.

 

ทุกๆ วันเสาร์เวลาประเทศไทย โดยประมาณ 20:30 น.มีการถ่ายทอดสดไปทั่วโลก เทศน์โดยหลวงปู่เกษม อาจิณณสีโล จากสำนักสงฆ์ป่าสามแยก

รับชมได้ที่
www.samyaek.com

>> วิธีดูถ่ายทอดสด สำหรับผู้ใช้อุปกรณ์ Android (แอนดรอยด์) เช่น Samsung Galaxy Note
//www.samyaek.com/board2/index.php?topic=2303.msg30460#msg30460

>> วิธีดูถ่ายทอดสด สำหรับผู้ใช้อุปกรณ์ iPad (ไอแพด)
//www.samyaek.com/board2/index.php?topic=2303.msg30465#msg30465

 

โดย: Budratsa 16 มิถุนายน 2556 15:41:54 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


Budratsa
Location :
พิจิตร Switzerland

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]




สวัสดีค่ะ ยินดีต้อนรับทุกๆคนค่ะ
"ดูก่อนอานนท์ บางทีพวกเธอจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ปาพจน์ (พุทธพจน์) มีพระศาสดาล่วงแล้ว พระศาสดาของพวกเราไม่มี ข้อนี้พวกเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น ธรรมก็ดี วินัยก็ดีอันใดอันเราแสดงแล้ว ได้บัญญัติไว้แล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยอันนั้น จักเป็นศาสดาแห่งพวกเธอ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา" เล่มที่ ๑๓ : พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ หน้าที่ ๓๒๐
Friends' blogs
[Add Budratsa's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.