"ทรัพย์เครื่องปลื้มใจอย่างใดอย่างหนึ่งในโลกนี้หรือในโลกอื่น หรือรัตนะใดอันประณีตในสวรรค์ ทรัพย์และรัตนะนั้นเสมอด้วยพระตถาคตย่อมไม่มี พระพุทธเจ้าแม้นี้เป็นรัตนะอันประณีต ด้วยการกล่าวคำจริงนี้ ขอความสวัสดีจงมี....." "พระไตรปิฏก เป็นตาที่วิเศษยิ่ง, เป็นหูที่วิเศษยิ่ง, เป็นจมูกที่วิเศษยิ่ง, เป็นลิ้นที่วิเศษยิ่ง, เป็นกายที่วิเศษยิ่ง, เป็นใจที่วิเศษยิ่ง, เป็นครู-อาจารย์ที่วิเศษยิ่ง, เป็นพ่อ-แม่ที่วิเศษยิ่ง, เป็นมิตรและเข็มทิศที่วิเศษยิ่ง, เป็นแผนที่และป้ายบอกทางที่วิเศษยิ่ง, เป็นแสงสว่างส่องทางสู่นิพพานที่วิเศษยิ่ง"จากวัดสามแยก
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2556
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
12 พฤษภาคม 2556
 
All Blogs
 

การเฉลิมฉลองที่ถูกต้องฯ โดยหลวงปู่เกษม อาจิณณสีโล 29 ธ.ค.2555

เนื้อหา บางส่วนจากการแสดงธรรมชุดนี้
      ๑. การคบหาสมาคมกับพระละเมิดศีล จะทุกข์ตลอดกาล
      ๒. การศึกษาเรื่องทางโลก เป็นเหตุให้ห่างไกลพระนิพพาน
      ๓. สามีได้กรรมฐานเพราะเห็นความน่าเกลียดของภรรยา
      ๔. ผู้พิพากษาที่ตัดสินไม่ถูกต้องไม่เป็นธรรม...ก็บาป
      ๕. ติดในรสเอร็ดอร่อย ทำให้ไปเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉานได้
     ฯลฯ

-หลากหลายลัทธิที่สอน เรื่องนิพพาน แตกต่างกันไป(พรหมชาลสูตร) เล่ม11 หน้า 52
-ภิกษุไม่พึงทวง ถ้าเขายืมของสงฆ์ไปแล้วยังไม่นำมาคืน(เสนาสนักขันธกวรรณนา) เล่ม9 หน้า218
-พระภิกษุไม่พีงอยู่ในสถานที่ที่ไม่มีโยมอุปัฏฐาก(อ.ฆตาสนชาดก) เล่ม56หน้า527-528
-การคบหาสมาคมกับพระละเมิดศีล จะทุกข์ตลอดกาล(นวสูตร) เล่ม34หน้า489
-ติดในรสเอร็ดอร่อย ทำให้ไปเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉานได้ (พาลบัณฑิตสูตร) เล่ม23หน้า153
-สามีได้กรรมฐานเพราะเห็นความน่าเกลียดของภรรยา(เรื่องพระจิตตหัตถเถระ) เล่ม40หน้า420
-แม้จะเป็นผู้พิพากษาที่ดีและถูกต้อง...ก็ยังเป็นบาป(โฆฏมุขสูตร) เล่ม21หน้า328
-ผู้พิพากษาที่ตัดสินไม่ถูกต้องไม่เป็นธรรม...ก็บาป(อัณฑภารีสูตร) เล่ม26หน้า714
-ความปราถนาของพยายมราชองค์ปัจจุบัน(เทวฑูตสูตร) เล่ม23หน้า200
-การศึกษาเรื่องทางโลก เป็นเหตุให้ห่างไกลพระนิพพาน(ขุททกวัตถุขันธกะ) เล่ม9หน้า65
-การลงโทษในวินัยของพระพุทธเจ้า ไม่มีการใช้อาชญา(เกสีสูตร) เล่ม35หน้า298-300
-กษัตริย์องค์แรกในโลก เกิดขึ้นมาเพราะประชาธิปไตย(อัคคัญญสูตร) เล่ม15หน้า160
-ในแต่ละยุค จะมีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นครั้งละหนึ่งองค์เท่านั้น(อ.อัฏฐานบาลี) เล่ม33หน้า160
-สังสารวัฏของแต่ละคนกำหนดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้(ติณกัฏฐสูตร) เล่ม26หน้า506
-วัตรปฏิบัติของบรรดาฆราวาสทั้งหลายผู้หวังความเจริญ(สิงคาลกสูตร) เล่ม16หน้า77
-จะเป็นพระภิกษุที่ดี ต้องเริ่มต้นด้วยศีลที่บริบูรณ์ก่อน(ทันตภูมิสูตร) เล่ม23หน้า91
-ถ้าพระภิกษุอวยพรให้กันและกัน ต้องอาบัติทุกกฏ(เรื่องเรียนติรัจฉานวิชา) เล่ม9หน้า66-67

หลากหลายลัทธิที่สอน เรื่องนิพพาน แตกต่างกันไป(พรหมชาลสูตร) เล่ม11 หน้า 52

ทิฏฐธรรมนิพพานทิฏฐิ  ๕

(๕๐)  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะว่า นิพพานปัจจุบัน ย่อมบัญญัติว่านิพพานปัจจุบันเป็นธรรมอย่างยิ่งของสัตว์ที่ปรากฏอยู่ ด้วยวัตถุ ๕.  ก็สมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น อาศัยอะไร ปรารภอะไร จึงมีวาทะว่า นิพพานปัจจุบัน บัญญัติว่า นิพพานปัจจุบันเป็นธรรมอย่างยิ่งของสัตว์ที่มีอยู่ ด้วยวัตถุ  ๕.

๕๘.๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์บางพวกในโลกนี้ มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ เพราะอัตตานี้เอิบอิ่ม พรั่งพร้อม เพลิดเพลินอยู่ด้วยกามคุณ ๕ ฉะนั้น จึงเป็นอันบรรลุนิพพานปัจจุบันอันเป็นธรรมอย่างยิ่ง. สมณพราหมณ์พวกหนึ่งย่อมบัญญัติว่า นิพพานปัจจุบันเป็นธรรมอย่างยิ่งของสัตว์ที่มีอยู่ ด้วยประการฉะนี้.

๕๙.๒  สมณะหรือพราหมณ์พวกหนึ่ง กล่าวกะสมณะหรือพราหมณ์พวกนั้นอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ อัตตาที่ท่านกล่าวถึงนั้นมีอยู่จริง ข้าพเจ้ามิได้กล่าวว่าไม่มี ท่านผู้เจริญ แต่อัตตานี้มิได้บรรลุนิพพานปัจจุบันอันเป็นธรรมอย่างยิ่ง ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเหตุว่า กามทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา เพราะกามเหล่านั้นแปรปรวนเป็นอย่างอื่น จึงเกิดความโศกความร่ำไร ความทุกข์ ความโทมนัส และความคับใจ ท่านผู้เจริญ เพราะอัตตานี้สงัดจากกาม  สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก  มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ ฉะนั้น จึงเป็นอันบรรลุนิพพานปัจจุบันอันเป็นธรรมอย่างยิ่ง. สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ย่อมบัญญัติว่า นิพพานปัจจุบันเป็นธรรมอย่างยิ่งของสัตว์ที่มีอยู่  ด้วยประการฉะนี้.....

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรื่องนี้ตถาคตรู้ชัดว่า ฐานะเป็นที่ตั้งแห่งวาทะเหล่านี้ ที่บุคคลถือไว้อย่างนั้นแล้ว ยึดไว้อย่างนั้นแล้วย่อมมีคติอย่างนั้น  มีภพเบื้องหน้าอย่างนั้น. อนึ่ง ตถาคตย่อมรู้เหตุนั้น ชัดและรู้ชัดยิ่งขึ้นไปกว่านั้น ทั้งไม่ยึดมั่นความรู้ชัดนั้นด้วยและเมื่อไม่ยึดมั่น ตถาคตก็รู้ความดับสนิทเฉพาะตน รู้ความเกิด ความดับ คุณ โทษ แห่งเวทนาทั้งหลาย กับอุบายเป็นเครื่องออกไปจากเวทนาเหล่านั้น ตามความเป็นจริง. ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเพราะไม่ยึดมั่น ตถาคตจึงหลุดพ้น.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้แล ที่ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต จะคาดคะเนเอาไม่ได้ ละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต ที่ตถาคตทำให้แจ้งด้วยปัญญารู้ยิ่งเอง แล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้ง อันเป็นเหตุให้คนทั้งหลายกล่าวชมตถาคตตามความเป็นจริงโดยชอบ.

ภิกษุไม่พึงทวง ถ้าเขายืมของสงฆ์ไปแล้วยังไม่นำมาคืน(เสนาสนักขันธกวรรณนา) เล่ม9 หน้า218

มีดเป็นต้น เป็นของที่ชนเหล่าใดถวายไว้ในวิหาร, ถ้าชนเหล่านั้นเมื่อถูกไฟไหม้เรือน  หรือถูกโจรปล้น จึงกล่าวว่า   ท่านผู้เจริญจงให้เครื่องมือแก่พวกข้าพเจ้าเถิด, แล้วจักคืนให้อีก, ควรให้.ถ้าเขานำมาส่ง, อย่าพึงห้าม,แม้เขา. ไม่นำมาส่งก็ไม่พึงทวง.

พระภิกษุไม่พีงอยู่ในสถานที่ที่ไม่มีโยมอุปัฏฐาก(อ.ฆตาสนชาดก) เล่ม56หน้า527-528

ความพิสดารว่า ภิกษุนั้นเรียนพระกรรมฐานจากสำนักของพระศาสดา แล้วไปสู่บ้านชายแดนตำบลหนึ่ง อาศัยหมู่บ้านหมู่หนึ่งจำพรรษาในเสนาสนะป่า ในเดือนแรกนั้นเองเมื่อเธอเข้าไปบิณฑบาต บรรณศาลาถูกไฟไหม้ เธอลำบากด้วยไม่มีที่อยู่ จึงบอกพวกอุปัฏฐาก คนเหล่านั้น พากันพูดว่าไม่เป็นไรดอก พระคุณเจ้า พวกกระผมจักสร้างบรรณศาลาถวาย รอให้พวกกระผมไถนาเสียก่อน หว่านข้าวเสียก่อนเถิดขอรับ จนเวลา ๓ เดือนผ่านไป เธอไม่อาจบำเพ็ญพระกรรมฐานให้ถึงที่สุดได้เพราะไม่มีเสนาสนะเป็นที่สบาย แม้เพียงนิมิตก็ให้เกิดขึ้นไม่ได้พอออกพรรษาเธอจึงไปสู่พระเชตวันวิหาร ถวายบังคมพระศาสดาแล้วนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง พระศาสดาทรงทำปฏิสันถารกับเธอแล้วตรัสถามว่า

ดูก่อนภิกษุ กรรมฐานของเธอเป็นสัปปายะหรือไม่เล่า?  เธอจึงกราบทูลความไม่สะดวกจำเดิมแต่ต้น
พระศาสดาตรัสว่า  ดูก่อนภิกษุ ในกาลก่อนโน้น แม้สัตว์ดิรัจฉานทั้งหลาย ก็ยังรู้จักสัปปายะ และอสัปปายะของตน พากันอยู่อาศัยในเวลาสบาย ในเวลาไม่สบายก็พากันทิ้งที่อยู่เสียไปในที่อื่นเหตุไรเธอจึงไม่รู้สัปปายะ และอสัปปายะของตนเล่า
เธอกราบทูลอาราธนา จึงทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในกำเนิดนก บรรลุความเป็นผู้รู้เดียงสาแล้ว ถึงความงามเป็นเลิศ ได้เป็นพระยานก อาศัยต้นไม้ใหญ่ สมบูรณ์ด้วยกิ่งก้าน สาขา และค่าคบ มีใบหนาแน่นอยู่ใกล้ฝั่งสระเกิดเอง ในแนวป่าตำบลหนึ่ง อยู่เป็นหลักฐาน พร้อมทั้งบริวาร นกเป็นจำนวนมาก เมื่ออยู่ที่กิ่งอันยื่นไปเหนือน้ำของต้นไม้นั้น ก็พากันถ่ายคูถลงในน้ำ และในชาตสระนั่นเล่าก็มีนาคราช ผู้ดุร้ายอาศัยอยู่ นาคราชนั้นมีวิตกว่า นกเหล่านี้พากันขี้ลงในสระอันเกิดเอง อันเป็นที่อยู่ของเรา เห็นจะต้องให้ไฟลุกขึ้นจากน้ำเผาต้นไม้เสีย ให้พวกมันหนีไป พญานาคนั้นมีใจโกรธ ตอนกลางคืน เวลาที่พวกนกทั้งหมดมาประชุมกันนอนที่กิ่งไม้ทั้งหลาย ก็เริ่มทำให้น้ำเดือดพล่าน เหมือนกับยกเอาสระขึ้นตั้งบนเตาไฟฉะนั้น เป็นชั้นแรก ชั้นที่สองก็ทำให้ควันพุ่งขึ้น ชั้นที่สามทำให้เปลวไฟลุกขึ้นสูงชั่วลำตาล พระโพธิสัตว์เห็นไฟลุกขึ้นจากน้ำ ก็กล่าวว่า ดูก่อนชาวเราฝูงนกทั้งหลายธรรมดาไฟติดขึ้นเขาก็พากันเอาน้ำดับ แต่บัดนี้ น้ำนั่นแหละกลับลุกเป็นไฟขึ้น พวกเราไม่อาจอยู่ในที่นี้ได้ ต้องพากันไปที่อื่น แล้วกล่าวคาถานี้  ความว่า :-

"ความเกษมมีอยู่บนหลังน้ำใด บนหลังน้ำ
นั้น มีข้าศึกมารบกวน ไฟลุกโพลงอยู่กลางน้ำ
วันนี้จะอยู่บนต้นไม้ เหนือแผ่นดินไม่ได้แล้ว
พวกเจ้าจงพากันบินไปตามทิศทางกันเถิด วันนี้
ที่พึ่งของพวกเราเป็นภัยเสียแล้ว" ดังนี้.

การคบหาสมาคมกับพระละเมิดศีล จะทุกข์ตลอดกาล(นวสูตร) เล่ม34หน้า489

ว่าด้วยบุคคลที่เปรียบได้กับผ้าเปลือกไม้ ๓ ชนิด

[๕๓๙]  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผ้าเปลือกไม้ แม้ใหม่ก็สีทราม สัมผัสหยาบ และราคาถูก แม้กลางใหม่กลางเก่าก็สีทราม สัมผัสหยาบ และราคาถูก แม้เก่าแล้วก็สีทราม สัมผัสหยาบ และราคาถูก ผ้าเปลือกไม้ที่คร่ำคร่าแล้วเขาก็ทำเป็นผ้าเช็ดหม้อข้าวบ้าง ทิ้งเสียที่กองขยะบ้างฉันใดฉันนั้นนั่นแหละ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนวกะก็ดี  ภิกษุมัชฌิมะก็ดี ภิกษุเถระก็ดี ถ้าเป็นผู้ทุศีลมีธรรมอันเลว เรากล่าวความทุศีลมีธรรมเลวนี้ในความมีสีทรามของภิกษุ กล่าวบุคคลนี้ว่าเหมือนผ้าเปลือกไม้มีสีทรามฉะนั้น
อนึ่ง ชนเหล่าใดคบหาสมาคม ทำตามเยี่ยงอย่างภิกษุนั้น ข้อนั้นย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งอันไม่เกื้อกูลเพื่อทุกข์แก่ชนเหล่านั้น ตลอดกาลนาน เรากล่าวการคบหาสมาคมทำตามเยี่ยงอย่างที่เป็นเหตุให้เกิดสิ่งอันไม่เกื้อกูลเกิดทุกข์นี้ในความมีสัมผัสหยาบของภิกษุ กล่าวบุคคลนี้ว่า  ดุจผ้าเปลือกไม้มีสัมผัสหยาบฉะนั้น....

ติดในรสเอร็ดอร่อย ทำให้ไปเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉานได้ (พาลบัณฑิตสูตร) เล่ม23หน้า153

ว่าด้วยสัตว์เดียรัจฉาน

[๔๗๖]ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มีเหล่าสัตว์เดียรัจฉานจำพวกมีหญ้าเป็นภักษา สัตว์เดียรัจฉานเหล่านั้น ย่อมใช้ฟันและเล่มกินหญ้าสด ก็เหล่าสัตว์เดียรัจฉานจำพวกมีหญ้าเป็นภักษา คืออะไร คือ ม้า โค ลา แพะ เนื้อ หรือแม้จำพวกอื่น ๆ ไม่ว่าชนิดไร ๆ ที่มีหญ้าเป็นภักษา ดูก่อนภิกษุทั้งหลายคนพาลนั้นนั่นและกินอาหารด้วยความติดใจรสในเบื้องต้นในโลกนี้ ทำกรรมลามกไว้ในโลกนี้ เมื่อตายไปแล้ว. ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของสัตว์จำพวกที่มีหญ้าเป็นภักษาเหล่านั้น.

[๔๗๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มีเหล่าสัตว์เดียรัจฉานจำพวกมีคูถเป็นภักษา สัตว์เดียรัจฉานเหล่านั้น ได้กลิ่นคูถแต่ไกล ๆ แล้วย่อมวิ่งไปด้วยหวังว่า จักกินตรงนี้ เปรียบเหมือนพวกพราหมณ์เดินไปตามกลิ่นเครื่องบูชาด้วยตั้งใจ ว่า จักกินตรงนี้ จักกินตรงนี้ ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล มีเหล่าสัตว์เดียรัจฉานจำพวกมีคูถเป็นภักษา สัตว์เดียรัจฉานเหล่านั้นได้กลิ่นคูถแต่ไกล ๆ แล้ว ย่อมวิ่งไปด้วยหวังว่า จักกินตรงนี้ จักกินตรงนี้ ก็เหล่าสัตว์เดียรัจฉานจำพวกมีคูถเป็นภักษา คืออะไร คือ ไก่ สุกร สุนัขบ้าน สุนัขป่า หรือแม้จำพวกอื่น ๆ ไม่ว่าชนิดไร ๆ ที่มีคูถเป็นภักษา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนพาลนั้นนั่นแลผู้กินอาหารด้วยความติดใจรสในเบื้องต้นในโลกนี้ ทำกรรมลามกไว้ในโลกนี้ เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเช้าถึงความเป็นสหายของสัตว์จำพวกมีคูถเป็นภักษาเหล่านั้น.

[๔๗๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มีเหล่าสัตว์เดียรัจฉานจำพวกเกิดแก่ ตายในที่มืด ก็เหล่าสัตว์เดียรัจฉานจำพวกเกิดแก่ตายในที่มืด คืออะไร คือ ตั๊กแตน บุ้ง ไส้เดือน หรือแม้จำพวกอื่น ๆ ไม่ว่าชนิดไร ๆ ที่เกิดแก่ตายในที่มืด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนพาลนั้นนั่นแลผู้กินอาหารด้วยความติดใจรส ในเบื้องต้นในโลกนี้ ทำกรรมลามกไว้ในโลกนี้ เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเช้าถึงความเป็นสหายของสัตว์จำพวกเกิดแก่ตายในที่มืด.

[๔๗๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มีเหล่าสัตว์เดียรัจฉาน จำพวกเกิดแก่ ตายในน้ำ ก็เหล่าสัตว์เดียรัจฉานจำพวกเกิดแก่ตายในน้ำ คืออะไร คือ ปลา เต่า จรเข้ หรือแม้จำพวกอื่น ๆ ไม่ว่าชนิดไร ๆ ที่เกิดแก่ตายในน้ำ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนพาลนั้นนั่นแลผู้กินอาหารด้วยความติดใจรสในเบื้องต้นในโลกนี้ทำกรรมลามกไว้ในโลกนี้ เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของสัตว์จำพวกเกิดแก่ตายในน้ำ.

[๔๘๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มีเหล่าสัตว์เดียรัจฉานจำพวกเกิดแก่ตายในของโสโครก ก็เหล่าสัตว์เดียรัจฉานจำพวกเกิดแก่ตายในของโสโครก คือ อะไร คือ เหล่าสัตว์จำพวกที่เกิดแก่ตายในปลาเน่าก็มี ในศพเน่าก็มี ในขนม กุมาสเน่าก็มี ในน้ำครำก็มี ในหลุมโสโครกก็มี หรือแม้จำพวกอื่น ๆ ไม่ว่า ชนิดไร ๆ ที่เกิดแก่ตายในของโสโครก ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนพาลนั้นนั่นและผู้กินอาหารด้วยความติดใจรสในเบื้องต้นในโลกนี้ ทำกรรมลามกไว้ในโลกนี้ เมือตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของสัตว์จำพวกเกิดแก่ตายในของโสโครก.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย   เรากล่าวเรื่องกำเนิดสัตว์เดียรัจฉานแม้โดยอเนกริยายแล เพียงเท่านี้ จะกล่าวให้ถึงกระทั่งกำเนิดสัตว์เดียรัจฉานเป็นทุกข์ไม่ใช่ทำได้ง่าย.

สามีได้กรรมฐานเพราะเห็นความน่าเกลียดของภรรยา(เรื่องพระจิตตหัตถเถระ) เล่ม40หน้า420

ครั้งที่ ๗ เขาเกิดธรรมสังเวชเลยบวชไม่สึก

เมื่อนายจิตตหัตถ์นั้นเที่ยวไปๆ  มาๆ อยู่อย่างนี้เทียว ภริยาได้มีครรภ์แล้ว. ในวาระที่ ๗ เขาแบกเครื่องไถจากป่าไปเรือน วางเครื่องใช้ไว้แล้ว เข้าห้องด้วยประสงค์ว่า " จักหยิบผ้ากาสาวะของตน." ในขณะนั้น ภริยาของเขากำลังนอนหลับ. ผ้าที่หล่อนนุ่งหลุดลุ่ย น้ำลายไหลออกปาก, จมูกก็กรนดังครืด ๆ, ปากอ้า, กัดฟัน. หล่อนปรากฏแก่เขาประดุจสรีระที่พองขึ้น. เขาคิดว่า " สรีระนี้ไม่เที่ยงเป็นทุกข์.  เราบวชตลอดกาลประมาณเท่านี้แล้ว อาศัยสรีระนี้ จึงไม่สามารถดำรงอยู่ในภิกษุภาวะได้"  ดังนี้แล้ว ก็ฉวยผ้ากาสาวะพันท้อง  พลางออกจากเรือน.ขณะนั้น   แม่ยายของเขายืนอยู่ที่เรือนติดต่อกัน เห็นเขากำลังเดินไปด้วยอาการอย่างนั้น สงสัยว่า " เจ้านี่กลับไปอีกแล้ว เขามาจากป่าเดี๋ยวนี้เองพันผ้ากาสาวะที่ท้อง ออกเดินบ่ายหน้าตรงไปวิหาร; เกิดเหตุอะไรกันหนอ ?"  จึงเข้าเรือนเห็นลูกสาวหลับอยู่  รู้ว่า "เขาเห็นลูกสาวของเรานี้มีความรำคาญไปเสียแล้ว" จึงตีลูกสาว กล่าวว่า "นางชั่วชาติ จงลุกขึ้น. ผัวของเอง เห็นเองกำลังหลับ มีความรำคาญไปเสียแล้ว,  ตั้งแต่นี้เองจะไม่มีเขาละ" ลูกสาวกล่าวว่า " หลีกไป หลีกไปเถิดแม่ เขาจะไปข้างไหน,  อีก ๒-๓ วันเท่านั้น  ก็มาอีก."

แม้นายจิตตหัตถ์นั้น บ่นไปว่า "ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ " กำลังเดินไปๆ บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว. เขาไปไหว้ภิกษุทั้งหลายแล้ว ก็ขอบรรพชา.ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า "พวกเราจักไม่อาจให้ท่านบรรพชาได้, ความเป็นสมณะของท่านจักมีมาแต่ที่ไหน ?  ศีรษะของท่านเช่นกับหินลับมีด." เขากล่าวว่า " ท่านขอรับ พวกท่านโปรดอนุเคราะห์ให้กระผมบวชในคราวนี้อีกคราวหนึ่งเถิด." ภิกษุเหล่านั้นจึงให้เขาบวชแล้ว ด้วยอำนาจแห่งอุปการะ

ผู้พิพากษาที่ตัดสินไม่ถูกต้องไม่เป็นธรรม...ก็บาป(อัณฑภารีสูตร)เล่ม26หน้า714

ว่าด้วยบุรุษมีอัณฑะเท่าหม้อ

[๖๔๙] ฯลฯ ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้ตอบว่า เมื่อผมลงมาจากภูเชาคิชฌกูฏ ได้เห็นบุรุษมีอัณฑะใหญ่เท่าหม้อลอยอยู่ในเวหาส บุรุษนั้นแม้เมื่อเดินไปก็แบกอัณฑะนั้นไว้บนบ่า แม้เมื่อนั่งก็ทับอัณฑะนั้นแหละแร้งบ้าง กาบ้าง พญาแร้งบ้าง ต่างก็โผถลาตามจิกทิ้งบุรุษนั้น ได้ยินว่าบุรุษนั้นส่งเสียงร้องครวญคราง ฯลฯ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์นี้ได้เป็นผู้พิพากษาตัดสินอรรถคดีโกง อยู่ในกรุงราชคฤห์นี้เอง  ฯลฯ.

แม้จะเป็นผู้พิพากษาที่ดีและถูกต้อง...ก็ยังเป็นบาป(โฆฏมุขสูตร) เล่ม21หน้า328

[๖๓๕]  ดูก่อนพราหมณ์ ก็บุคคลผู้ทำผู้อื่นให้เดือนร้อน ประกอบความขวนขวายในการทำผู้อื่นให้เดือนร้อน เป็นไฉน  ดูก่อนพราหมณ์ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นคนฆ่าหมูขายเลี้ยงชีพ เป็นคนฆ่านกขายเลี้ยงชีพ เป็นคนฆ่าเนื้อขายเลี้ยงชีพ เป็นพราน เป็นคนฆ่าปลา เป็นโจร เป็นคนรับจ้างฆ่าโจร เป็นใหญ่ในเรือนจำ หรือแม้ใคร ๆ อื่นผู้มีการงานอันหยาบช้า ดูก่อนพราหมณ์ บุคคลนี้เรียกว่า เป็นคนทำผู้อื่นให้เดือนร้อน ประกอบความขวนขวายในการทำผู้อื่นให้เดือนร้อน.

[๖๓๖]  พราหมณ์ ก็บุคคลผู้ทำคนให้เดือดร้อน  ประกอบความขวนขวายในการทำตนให้เดือนร้อน ทั้งทำผู้อื่นให้เดือนร้อน ประกอบความขวนขวายในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นไฉน ดูก่อนพราหมณ์ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นพระราชามหากษัตริย์ ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว หรือเป็นพราหมณมหาศาล เขาสั่งให้สร้างห้องประชุมใหม่ไว้ด้านตะวันออกแห่งนคร แล้วปลงผมและหนวด นุ่งหนังเสือทั้งเล็บ เอาน้ำมันเจือเนยใสทากาย เกาหลังด้วยเขาสัตว์เข้าไปยังห้องประชุมพร้อมด้วยมเหสีและพราหมณปุโรหิต เขานอนบนพื้นดินอันไม่มีเครื่องลาด ซึ่งไล้ทาด้วยของเขียวสด พระราชาเลี้ยงพระองค์ด้วยน้ำนมในเต้าที่หนึ่ง พระมเหสีเลี้ยงพระองค์ด้วยน้ำนมในเต้าที่ ๒ พราหมณปุโรหิตเลี้ยงตัวด้วยน้ำนมในเต้าที่ ๓ บูชาไฟด้วยน้ำนมในเต้าที่ ๔ ลูกโคเลี้ยงชีวิตด้วยน้ำนมที่เหลือแห่งแม่โคลูกอ่อนตัวเดียว เขาสั่งอย่างนี้ว่า จงฆ่าโคผู้เท่านี้ลูกโคผู้เท่านี้ ลูกโคเมียเท่านี้ แพะเท่านี้ แกะเท่านี้ เพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ จงตัดต้นไม้เท่านี้ เพื่อประโยชน์แก่การทำโรงบูชายัญ จงถอนหญ้าเท่านี้เพื่อลาดพื้น ชนเหล่าใดเป็นทาสก็ดี เป็นคนใช้ก็ดี เป็นกรรมกรก็ดีของพระราชาหรือพราหมณมหาศาลนั้นชนเหล่านั้นถูกอาชญาคุกคาม ถูกภัยคุกคาม ร้องไห้น้ำตานองหน้า ทำการงานตามกำหนดสั่ง  ดูก่อนพราหมณ์บุคคลนี้เรียกว่า เป็นผู้ทำตนให้เดือนร้อน ประกอบความขวนขวายในการทำตนให้เดือดร้อน ทั้งทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ประกอบความขวนขวายในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน.

ความปราถนาของพยายมราชองค์ปัจจุบัน(เทวฑูตสูตร) เล่ม23หน้า200

ว่าด้วยเรื่องเคยมีมาแล้ว

[๕๒๔]  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว พระยายมได้มีความดำริอย่างนี้ว่า "พ่อเจ้าประคุณเอ๋ย เป็นอันว่าเหล่าสัตว์ที่กรรมลามกไว้ในโลกย่อมถูกนายนิรยบาลลงกรรมกรณ์ ต่างชนิดเห็นปานนี้ โอหนอ ขอเราพึงได้ความเป็นมนุษย์ ขอพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพึงเสด็จอุบัติในโลกขอเราพึงได้นั่งใกล้พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นพึงทรงแสดงธรรมแก่เรา และขอเราพึงรู้ทั่วถึงธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นเถิด."

การศึกษาเรื่องทางโลก เป็นเหตุให้ห่างไกลพระนิพพาน(ขุททกวัตถุขันธกะ) เล่ม9หน้า65

เรื่องเรียนคัมภีร์โลกายตะ

[ ๑๘๑] สมัยนั้น พระฉัพพัคคีย์เรียนคัมภีร์โลกายตะ ชาวบ้านเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า...เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม ภิกษุทั้งหลายได้ยินชาวบ้านเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่....จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.พระผู้มีพระภาคเจ้า....ตรัสว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ผู้ที่เห็นคัมภีร์โลกายตะ ว่ามีสาระจะพึงถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้หรือ.
ภิ. ไม่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า.
ภ. อันผู้ที่เห็นธรรมวินัยนี้ว่ามีสาระ จะพึงเล่าเรียนคัมภีร์โลกายตะหรือ.
ภิ. ไม่อย่างนั้น  พระพุทธเจ้าข้า.
ภ.  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงเรียนคัมภีร์โลกายตะ รูปใดเรียนต้องอาบัติทุกกฏ.

[๑๘๒]  สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์สอนคัมภีร์โลกายตะ ชาวบ้านเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า.. เหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม..ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.
พระผู้มีพระภาคเจ้า...ตรัสว่า
  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสอนคัมภีร์โลกายตะ รูปใดสอน ต้องอาบัติทุกกฏ.

เรื่องเรียนดิรัจฉานวิชา

[๑๘๓] สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์เรียนดิรัจฉานวิชา...ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า

พระผู้มีพระภาคเจ้า...ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงเรียนดิรัจฉานวิชา รูปใดเรียน ต้องอาบัติทุกกฏ.

[๑๘๔]  สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์สอนดิรัจฉานวิชา ชาวบ้านเพ่งโทษติเตียน โพนทะนาว่า เหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม..ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ภิกษุไม่พึงสอนดิรัจฉานวิชา รูปใดสอน ต้องอาบัติทุกกฏ.

กษัตริย์องค์แรกในโลก เกิดขึ้นมาเพราะประชาธิปไตย(อัคคัญญสูตร) เล่ม15หน้า160

ว่าด้วยต้นเหตุเกิดอักขระว่ามหาสมบัติ กษัตริย์ ราชา

[๖๓]  ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ เพราะชนผู้เป็นหัวหน้าอันมหาชนสมมติแล้วอักขระว่า มหาสมมติจึงได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ เพราะผู้เป็นหัวหน้าเป็นใหญ่แห่งเขตฉะนั้น อักขระว่ากษัตริย์ กษัตริย์ จึงอุบัติขึ้นเป็นคำที่ ๒. ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ เพราะเหตุที่ผู้เป็นใหญ่ย่อมยังชนเหล่าอื่นให้ยินดีโดยชอบธรรม ฉะนั้น อักขระว่า ราชา ราชา ดังนี้ จึงบังเกิดขึ้นเป็นคำที่ ๓. ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ เพราะเหตุดังกล่าวมานี้แล การับเกิดขึ้นของหมู่กษัตริย์จึงเกิดมีขึ้นมาด้วยอักขระที่เข้าใจกันว่าเลิศเป็นของเก่า. เรื่องของสัตว์เหล่านั้นจะเหมือนกัน และไม่เหมือนกันกับสัตว์อื่นนั้นก็ด้วยธรรม หาใช่ด้วยอธรรมไม่. ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็ธรรมเท่านั้นประเสริฐที่สุดในหมู่ชน ทั้งในทิฏฐธรรมและอภิสัมปรายภพ.

สังสารวัฏของแต่ละคนกำหนดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้(ติณกัฏฐสูตร) เล่ม26หน้า506

ว่าด้วยที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายของสงสาร

[๔๒๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย...แล้วได้ตรัสว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้กำหนดที่พูดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นที่กางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ.

[๔๒๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหมือนอย่างว่า บุรุษตัดทอนหญ้าไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ ในชมพูทวีปนี้ แล้วจึงรวมกันไว้ ครั้นแล้ว  พึงกระทำให้เป็นมัดๆ ละ ๔ นิ้ว วางไว้ สมมติว่า นี้เป็นมารดาของเรา นี้เป็นมารดาของมารดาของเรา โดยลำดับ มารดาของมารดาแห่งบุรุษนั้นไม่พึงสิ้นสุด ส่วนว่า หญ้า ไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ ในชมพูทวีปนี้ พึงถึงการหมดสิ้นไป ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่า สงรนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นที่กางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏพวกเธอได้เสวยทุกข์ ความเผ็ดร้อน ความพินาศ ได้เพิ่มพูนปฐพีที่เป็นป่าช้า ตลอดกาลนาน เหมือนฉะนั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็เหตุเพียงเท่านั้น พอทีเดียวที่จะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง พอเพื่อจะคลายกำหนัดพอเพื่อจะหลุดพ้น ดังนี้.

จะเป็นพระภิกษุที่ดี ต้องเริ่มต้นด้วยศีลที่บริบูรณ์ก่อน(ทันตภูมิสูตร) เล่ม23หน้า91

พิจารณาเห็นดังนี้ว่า ฆราวาสคับแคบ  เป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นช่องว่าง เรายังอยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์โดยส่วนเดียว ดุจสังข์ที่เขาขัดแล้ว นี้ไม่ใช่ทำได้ง่าย อย่ากระนั้นเลย เราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเถิด สมัยต่อมา เขาละโภคสมบัติน้อยบ้าง มากบ้าง และวงศ์ญาติเล็กบ้าง ใหญ่บ้างปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์แล้วออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตดูก่อนอัคคิเวสสนะ เพียงเท่านี้แล เขาชื่อว่าเป็นอริยสาวก อยู่ในโอกาสอันว่างแล้ว ความจริง เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ยังห่วงถิ่น คือ กามคุณทั้ง๕ อยู่ ตถาคตจึงแนะนำเธอนั้นให้ยิ่งขึ้นไปว่า ดูก่อนภิกษุ มาเถิด เธอจงเป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยปาติโมกขสังวร  ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจรอยู่ จงเป็นผู้เห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลายเถิด ดูก่อนอัคคิเวสสนะ ในเมื่ออริยสาวกเป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยปาติโมกขสังวร ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจรอยู่ ย่อมเป็นผู้เห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อยสมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลายได้ตถาคตจึงแนะนำเธอให้ยิ่งในรูปว่า ดูก่อนภิกษุ มาเถิด เธอจงเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย  เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว จงอย่าถือโดยนิมิต ฯลฯ..

ถ้าพระภิกษุอวยพรให้กันและกัน ต้องอาบัติทุกกฏ(เรื่องเรียนติรัจฉานวิชา) เล่ม9หน้า66-67

[๑๘๕]  สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า อันบริษัทหมู่ใหญ่แวดล้อมแล้ว กำลังทรงแสดงธรรม ได้ทรงจามขึ้น ภิกษุทั้งหลายได้ถวายพระพรอย่างอึงมีว่า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงพระชนมายุ ขอพระสุคตจงทรงพระชนมายุเถิดพระพุทธเจ้าข้า ธรรมกถาได้พักในระหว่างเพราะเสียงนั้นจึงพระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งถามภิกษุทั้งหลายว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลที่ถูกเขาให้พรว่า ขอจงเจริญชนมายุในเวลาจาม จะพึงเป็น หรือพึงตายเพราะเหตุที่ให้พรนั้นหรือ
ภิ. ไม่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า
ภ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงกล่าวคำให้พรว่า ขอจงมีชนมายุในเวลาที่เขาจาม รูปใดให้พร ต้องอาบัติทุกกฏ.

[๑๘๖]   สมัยนั้น ชาวบ้านให้พรในเวลาที่ภิกษุทั้งหลายจามว่า ขอท่านจงมีชนมายุ ภิกษุทั้งหลายรังเกียจ มิได้ให้พรตอบ ชาวบ้านเพ่งโทษเรียน โพนทะนาว่า ไฉน พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร เมื่อเขาให้พรว่า จงเจริญชนมายุ จึงไม่ให้พรตอบเล่า ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระภูมีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ชาวบ้านมีความต้องการด้วยสิ่งเป็นมงคล  เราอนุญาตให้ภิกษุที่เขาให้พรว่า จงเจริญชนมายุ ดังนี้ ให้พรตอบแก่ชาวบ้านว่า ขอท่านจงเจริญชนมายุยืนนาน.

การลงโทษในวินัยของพระพุทธเจ้า ไม่มีการใช้อาชญา(เกสีสูตร) เล่ม35หน้า298-300

ว่าด้วยเรื่องนายเกสีผู้ฝึกม้า

[๑๑๑]  ครั้งนั้นแล สารถีผู้ฝึกม้าชื่อเกสี เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสถามว่า ดูก่อนเกสี ท่านอันใคร ๆ ก็รู้กันดีแล้วว่าเป็นสารถีผู้ฝึกม้า ก็ท่านฝึกหัดม้าที่ควรฝึกอย่างไร สารถีผู้ฝึกม้า ชื่อเกสีกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ฝึกหัดม้าที่ควรฝึกด้วย วีธีละม่อมบ้าง รุนแรงบ้าง ทั้งละม่อมทั้งรุนแรงบ้าง.
พ. ดูก่อนเกสี ถ้าม้าที่ควรฝึกของท่านไม่เข้าถึงการฝึกหัดด้วยวิธีละม่อม ด้วยวิธีรุนแรง ด้วยวิธีทั้งละม่อมทั้งรุนแรง ท่านจะทำอย่างไรกะมัน ?
เกสี.  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าม้าที่ควรฝึกของข้าพระองค์ ไม่เข้าถึงการฝึกหัดด้วยวิธีละม่อม ด้วยวิธีรุนแรง ด้วยวิธีทั้งละม่อมทั้งรุนแรง ก็ฆ่ามันเสียเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร?  เพราะคิดว่าโทษมิใช่คุณอย่าได้มีแก่สกุลอาจารย์ของเราเลย ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นสารถีฝึกบุรุษชั้นเยี่ยม  ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงฝึกบุรุษที่ควรฝีกอย่างไร.

พ.  ดูก่อนเกสี เราแล ย่อมฝึกบุรุษที่ควรฝึกด้วยวิธีละม่อมบ้าง รุนแรงบ้าง ทั้งละม่อมทั้งรุนแรงบ้าง ดูก่อนเกสี ในวิธีทั้ง ๓ นั้น

การฝึกดังต่อไปนี้  เป็นวิธีละม่อม คือ กายสุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งกายสุจริตเป็นดังนี้ วจีสุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งวจีสุจริตเป็นดังนี้ มโนสุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งมุโนสุจริตเป็นดังนี้   เทวดาเป็นดังนี้ มนุษย์เป็นดังนี้

การฝึกดังต่อไปนี้เป็นวิธีรุนแรง คือกายทุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งกายทุจริตเป็นดังนี้ วจีทุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งวจีทุจริตเป็นดังนี้ มโนทุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งมโนทุจริตเป็นดังนี้ นรกเป็นดังนี้ กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานเป็นดังนี้ ปิตติวิสัยเป็นดังนี้

การฝึกดังต่อไปนี้ เป็นวิธีทั้งละม่อมทั้งรุนแรง คือ กายสุจริตเป็นดังนี้  วิบากแห่งกายสุจริตเป็นดังนี้ กายทุจริตเป็นดังนี้  วิบากแห่งกายทุจริตเป็นดังนี้ วจีสุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งวจีสุจริตเป็นดังนี้ วจีทุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งวจีทุจริตเป็นดังนี้ มโนสุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งมโนสุจริตเป็นดังนี้ มโนทุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งมโนทุจริตเป็นดังนี้ เทวดาเป็นดังนี้  มนุษย์เป็นดังนี้ นรกเป็นดังนี้ กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานเป็นดังนี้ ปิตติวิสัยเป็นดังนี้.

เกสี.  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าบุรุษที่ควรฝึกของพระองค์ไม่เข้าถึง การฝึกด้วยวิธีละม่อม ด้วยวิธีรุนแรง   ด้วยวิธีทั้งละม่อมทั้งรุนแรง  พระผู้มีพระภาคเจ้าจะทำอย่างไรกะเขา ?

พ. ดูก่อนเกสี ถ้าบุรุษที่ควรฝึกของเราไม่เข้าถึงการฝึกด้วยวิธีละม่อมด้วยวิธีรุนแรง ด้วยวิธีทั้งละม่อมทั้งรุนแรง เราก็ฆ่าเขาเสียเลยเกสี. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ปาณาติบาตไม่สมควรแก่พระผู้มีพระภาคเจ้าเลย ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น ไฉนพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสอย่างนี้ว่า ฆ่าเขาเสีย ?

พ.  จริง เกสี ปาณาติบาตไม่สมควรแก่ตถาคต ก็แต่ว่าบุรุษที่ควรฝึกใด ย่อมไม่เข้าถึงการฝึกด้วยวิธีละม่อม ด้วยวิธีรุนแรง ด้วยวิธีทั้งละม่อม ทั้งรุนแรง ตถาคตไม่สำคัญบุรุษที่ควรฝึกนั้นว่า ควรว่ากล่าว ควรสั่งสอน แม้สพรหมจารีผู้เป็นวิญญูชนก็ย่อมไม่สำคัญว่า ควรว่ากล่าว ควรสั่งสอน ดูก่อนเกสี ข้อที่ตถาคต ไม่สำคัญบุรุษที่ควรฝีกว่า ควรว่ากล่าว ควรสั่งสอน แม้สพรหมจารีผู้เป็นวิญญูชนทั้งหลายก็ไม่สำคัญว่า ควรว่ากล่าว ควรสั่งสอน นี้เป็นการฆ่าอย่างดี ในวินัยของพระอริย.

เกสี. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่พระตถาคตไม่สำคัญบุรุษที่ควรฝึกว่า ควรว่ากล่าว ควรสั่งสอน แม้สพรหมจารีผู้วิญญูชนก็ไม่สำคัญว่า ควรว่ากล่าว ควรสั่งสอน  นั่นเป็นการฆ่าอย่างดีแน่นอน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนักพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยหวังว่า คนมีจักษุจักเห็นรูปฉะนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้ากับทั้งพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า  เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิตตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป.

ในแต่ละยุค จะมีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นครั้งละหนึ่งองค์เท่านั้น(อ.อัฏฐานบาลี) เล่ม33หน้า160

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จะพึงอุบัติไม่ก่อนไม่หลัง พร้อมกัน  ๒ พระองค์ ในโลกธาตุเดียวกันนั้น  มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส ข้อที่ว่า  นั้นมิใช่ฐานะที่จะมีได้. ท่านพระนาคเสนเจ้าข้า ก็พระตถาคตแม้ทุกพระองค์  เมื่อจะทรงแสดง ก็ทรงแสดงโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ เมื่อจะตรัสอริยสัจะ ๔ เมื่อจะทรงให้ศึกษา ก็ทรงให้ศึกษาสิกขา ๓ และเมื่อจะทรงพร่ำสอน ก็ทรงพร่ำสอนข้อปฏิบัติ คือ ความไม่ประมาท. ท่านพระนาคเสนเจ้าข้าถ้าว่า พระตถาคตแม้ทุกพระองค์  มีอุเทศเดียวกัน มีกถาเดียวกัน มีการพร่ำสอนอย่างเดียวกันไซร้  เพราะเหตุไร พระตถาคต ๒ พระองค์จึงไม่อุบัติในสมัยเดียวกัน.  ด้วยการอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้าพระองค์เดียว โลกนี้ยังเกิดแสงสว่างถึงเพียงนั้นแล้ว ถ้าจะพึงมีพระพุทธเจ้าแม้องค์ที่ ๒ โลกนี้ก็จะพึงเกิดแสงสว่าง มีประมาณอย่างยิ่ง ด้วยพระรัศมีของพระพุทธเจ้า ๒  พระองค์.  อนึ่ง พระพุทธเจ้า ๒ พระองค์  เมื่อจะทรงสั่งสอน  ก็ทรงสั่งสอนสะดวก และเมื่อจะทรงพร่ำสอนก็ทรงพร่ำสอนสะดวก. ในเรื่องที่พระพุทธเจ้า ๒ พระองค์ไม่อุบัติพร้อมกันนั้น ท่านโปรดแสดงเหตุให้ข้าพเจ้าหมดสงสัยทีเถิด.

พระนาคเสนตอบว่า มหาบพิตร หมื่นโลกธาตุนี้ทรงพระพุทธเจ้าไว้ได้เพียงพระองค์เดียว ทรงพระคุณของพระตถาคตได้เพียงพระองค์เดียว ถ้าพระพุทธเจ้าจะพึงเสด็จอุบัติเป็นองค์ที่ ๒ หมื่นโลกธาตุนี้ก็จะทรงไว้ไม่ได้ พึงสั่นสะเทือนทรุดเซซวนเรี่ยรายกระจัดกระจายทำลายไปถึงการตั้งอยู่ไม่ได้.  มหาบพิตร เรือรับคนได้คนเดียว เมื่อคน ๆ เดียวขึ้น  เรือจะเพียบเสมอน้ำ  ครั้นคนที่สองซึ่งเป็นคนมีอายุ ผิวพรรณ วัยขนาดประมาณความผอมความอ้วน  มีอวัยวะทุกส่วนบริบูรณ์มาถึง  เขาพึงขึ้นเรือลำนั้น มหาบพิตร เรือลำนั้นจะรองรับคนทั้งสองได้บ้างไหม.
ไม่ได้เลยท่าน  เรือจะโคลงเคลงน้อมเอียงตะแคงส่ายล่มจมไป  ทรงลำอยู่.ไม่ได้  พึงจมลงไปในน้ำ  ฉันใด มหาบพิตร หมื่นโลกธาตุนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมทรงพระคุณของพระตถาคตได้เพียงพระองค์เดียวเท่านั้นถ้าพระพุทธเจ้าองค์ที่สองอุบัติขึ้น หมื่นโลกธาตุนี้จะดำรงอยู่ไม่ได้ จะพึงสั่นสะเทือนโน้มเอียงเอนเรี่ยรายกระจัดกระจายทำลายไป ตั้งอยู่ไม่ได้.

มหาบพิตร หรือเปรียบเหมือนบุรุษพึงบริโภคอาหารพอเกิดความต้องการจนล้นปิดคอหอย เขาเอิบอิ่มจากการบริโภคนั้นเต็มที่ไม่ขาดระยะ. ทำให้เกียจคร้าน ก้มตัวไม่ลงเหมือนท่อนไม้ ยังบริโภคอาหารประมาณเท่านั้นซ้ำเข้าไป มหาบพิตร คนผู้นั้นจะพึงมีความสุขบ้างหรือหนอ. ไม่เป็นสุขเลยท่าน เขาบริโภคอีกตรงเท่านั้นก็จะตาย อุปมานั้นฉันใด มหาบพิตรหมื่นโลกธาตุนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน รองรับพระพุทธเจ้าได้เพียงพระองค์เดียว ทรงคุณของพระตถาคตได้เพียงพระองค์เดียว ถ้าพระพุทธเจ้าพระองค์ที่ ๒ จะอุบัติขึ้นหมื่นโลกธาตุนี้จะธำรงอยู่ไม่ได้ จะสั่นสะเทือนทรุดเซซวนเรี่ยรายกระจัดกระจายทำลายไปถึงตั้งอยู่ไม่ได้...

-วัดป่าสามแยก ศึกษาพระธรรมวินัย เบิกบุญ โอนบุญ อกหัก โดนของ ธรรมะ ธรรมทาน คลายเครียด เจริญรุ่งเรือง //www.samyaek.com

-Facebook พุทธพจน์ //www.facebook.com/login.php?next=http%3A%2F%2Fwww.facebook.com%2Fgroups%2FBuddhaspeech

-Download free พระไตรปิฏกพร้อมหัวข้อธรรมสำหรับ apple ipad & iphone & Android ดูรายละเอียดได้ที่เวบ //www.tripitaka91.com , และ Facebook https://www.facebook.com/tripitaka91

****หมายเหตุ "แสดงธรรมวันอาสาฬหบูชา ปี 2555" (//youtu.be/l52iDWt3V5Q ) นาทีที่ 6:01:55 ..เป็นต้นไป หลวงปู่ท่านได้พูดถึง ทนายชนอณุพงศ์ ชัยธนาวิรัตน์ ท่านใดมีปัญหาด้านกฏหมาย,คดีความต่างๆ ปรึกษาได้ที่ ทนายชนอณุพงศ์ ชัยธนาวิรัตน์ ที่เมล์ pasponglawyer@hotmail.com ,เบอร์โทรที่ 0818060981 , 0867809391 ****




 

Create Date : 12 พฤษภาคม 2556
3 comments
Last Update : 12 พฤษภาคม 2556 16:18:47 น.
Counter : 1551 Pageviews.

 

ทุกๆ วันเสาร์เวลาประเทศไทย โดยประมาณ 20:30 น.มีการถ่ายทอดสดไปทั่วโลก เทศน์โดยหลวงปู่เกษม อาจิณณสีโล จากสำนักสงฆ์ป่าสามแยก

รับชมได้ที่
ดูวีดีโอช่องที่ 1 (สำหรับผู้ที่อินเตอร์เน็ทช้า: 56k)
www.samyaek.com

ดูวีดีโอช่องที่ 2 (สำหรับผู้ที่อินเตอร์เน็ทเร็ว: 212k)
www.samyaek.com/?channel=2

สำหรับท่านที่มีปัญหาดูถ่ายทอดสดไม่ได้
www.samyaek.com/board2/index.php?topic=2303.0

การใช้ iPad, iPhone, iPod touch ดูถ่ายทอดสด
www.samyaek.com/board2/index.php?topic=5531.0

วิธีใช้ Tablet ตระกูล Android ดูถ่ายทอดสด
www.samyaek.com/board2/index.php?topic=5512.0

สมาชิกท่านใดมีปัญหาในการรับชม
(ปัญหาอันเกิดจากคอมพิวเตอร์ของท่านเอง)

หากได้แก้ไขตามลิงค์ต่างๆ ข้างต้นแล้ว ก็ยังไม่สามารถรับชมได้
ให้ท่านติดต่อสอบถามได้ที่ คุณชัยณรงค์ รัตนเกษมสุข (เม้ง)
Dtac : 081-554-1699 , AIS 081-935-1651
e-mail : macmagic99@hotmail.com

 

โดย: Budratsa 12 พฤษภาคม 2556 16:20:19 น.  

 

...แจกฟรี...CD พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ชุด 91 เล่ม ของมหามกุฏราชวิทยาลัย และDVD จากการแสดงธรรมของหลวงปู่เกษม อาจิณณสีโล ได้ที่www.samyaek.com กระดาน "แจกสื่อธรรม" หากท่านใดยังไม่ได้สมัครสมาชิก ใช้
Username : Media
Password : 123456

 

โดย: Budratsa 12 พฤษภาคม 2556 16:21:15 น.  

 

ท่านใดต้องการเรียน พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ชุด 91 เล่ม ของมหามกุฏราชวิทยาลัย เจ้าของบล็อกมีทั้ง91เล่ม จะส่งผ่านเมล์ไปให้ ท่านใดสนใจติดต่อที่เจ้าของบล็อก จะฝากเมล์ไว้ที่ช่องคอมเม้นต์หรือส่งเมล์หาเจ้าของบล็อก (เมล์ในProfile) โปรดระบุว่า "ขอพระไตรปิฏกชุด 91 เล่ม"

ยินดีในบุญกับท่านที่ต้องการศึกษาธรรมของพระพุทธเจ้าด้วยค่ะ

 

โดย: Budratsa 12 พฤษภาคม 2556 16:37:15 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


Budratsa
Location :
พิจิตร Switzerland

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]




สวัสดีค่ะ ยินดีต้อนรับทุกๆคนค่ะ
"ดูก่อนอานนท์ บางทีพวกเธอจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ปาพจน์ (พุทธพจน์) มีพระศาสดาล่วงแล้ว พระศาสดาของพวกเราไม่มี ข้อนี้พวกเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น ธรรมก็ดี วินัยก็ดีอันใดอันเราแสดงแล้ว ได้บัญญัติไว้แล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยอันนั้น จักเป็นศาสดาแห่งพวกเธอ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา" เล่มที่ ๑๓ : พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ หน้าที่ ๓๒๐
Friends' blogs
[Add Budratsa's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.