"ทรัพย์เครื่องปลื้มใจอย่างใดอย่างหนึ่งในโลกนี้หรือในโลกอื่น หรือรัตนะใดอันประณีตในสวรรค์ ทรัพย์และรัตนะนั้นเสมอด้วยพระตถาคตย่อมไม่มี พระพุทธเจ้าแม้นี้เป็นรัตนะอันประณีต ด้วยการกล่าวคำจริงนี้ ขอความสวัสดีจงมี....." "พระไตรปิฏก เป็นตาที่วิเศษยิ่ง, เป็นหูที่วิเศษยิ่ง, เป็นจมูกที่วิเศษยิ่ง, เป็นลิ้นที่วิเศษยิ่ง, เป็นกายที่วิเศษยิ่ง, เป็นใจที่วิเศษยิ่ง, เป็นครู-อาจารย์ที่วิเศษยิ่ง, เป็นพ่อ-แม่ที่วิเศษยิ่ง, เป็นมิตรและเข็มทิศที่วิเศษยิ่ง, เป็นแผนที่และป้ายบอกทางที่วิเศษยิ่ง, เป็นแสงสว่างส่องทางสู่นิพพานที่วิเศษยิ่ง"จากวัดสามแยก
Group Blog
 
<<
มกราคม 2557
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
19 มกราคม 2557
 
All Blogs
 

แสดงธรรมวันออกพรรษา 2556 โดยหลวงปู่เกษม อาจิณณสีโล 19 ต.ค. 2556

เนื้อหา บางส่วนจากการแสดงธรรม ชุดนี้
      ๑.     งานกฐินที่ถูกต้อง ต้องไม่ได้มาด้วยการเลียบเคียง
      ๒.     เป็นพระโสดาแค่มีพระรัตนตรัย+ทาน
      ๓.     เป็นพระโสดาบันแค่มีพระรัตนตรัย+ศีล
      ๔.     เป็นพระโสดาบันต้องมีการตรัสรู้ธรรมด้วย
      ๕.     ความเป็นเปรตและสัตว์เดรัจฉานก็เสวยผลบุญได้
     ฯลฯ




-งานกฐินที่ถูกต้อง ต้องไม่ได้มาด้วยการเลียบเคียง(กฐินขันธกะ)เล่ม7หน้า197,235
-พระสูตรนี้ เป็นพระโสดาแค่มีพระรัตนตรัย+ทาน(กาฬิโคชาสูตร)เล่ม31หน้า367
-พระสูตรนี้ เป็นพระโสดาบันแค่มีพระรัตนตรัย+ศีล(ลิจฉวีสูตร)เล่ม31หน้า355
-พระสูตรนี้ เป็นพระโสดาบันต้องมีการตรัสรู้ธรรมด้วย(ปฐมเวรภยสูตร)เล่ม31หน้า352
-เมื่อทำบุญเอาไว้แล้ว ไม่มีใครปล้นชิงเอามาได้(นิธิภัณฑ์)เล่ม39หน้า302-303
-เรียนรู้จักความดี-ความชั่วขณะตกอยู่ในนรก(อ.ยัญญสูตร)เล่ม24หน้า443
-ห้ามภิกษุ แสดงธรรมแลกสิ่งของหรือเงินทอง(อุทายิสูตร)เล่ม36หน้า334-335,เล่ม34หน้า313
-ความเป็นเปรตและสัตว์เดรัจฉานก็เสวยผลบุญได้(อ.ชาณโสณีสูตร)เล่ม38หน้า441
-พระอานนท์ทูลขอพร ก่อนที่จะเป็นพุทธอุปัฏฐาก(อ.สูตรที่1)เล่ม32หน้า453
-นางวิสาขาเดินตรวจตราบริเวณวัด(เรื่องนางวิสาขา)เล่ม41หน้า104
-เทวดาบ้านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ช่วยหาสมบัติมาให้(เรื่องอนาถบิณฑิกเศรษฐี)เล่ม42หน้า17-23
-พระอรหันต์ล้วนแล้วแต่อยากตายทั้งนั้น(เมตตคูมาณวกปัญหานิทเทส)เล่ม67หน้า109
-พระพุทธเจ้าแสดงธรรมก็มีสัตว์เดรัจฉานเข้าใจ(เวรัญชกัณฑวรรณนา)เล่ม1หน้า202-205
-สุขอื่นๆ จะยิ่งไปกว่าการตรัสรู้ธรรมไม่มี เล่ม36หน้า57,เล่ม42หน้า372
-นิพพานธาตุมีอยู่ตลอดกาล(อ.อุโบสถสูตร)เล่ม44หน้า540


-งานกฐินที่ถูกต้อง ต้องไม่ได้มาด้วยการเลียบเคียง(กฐินขันธกะ)เล่ม7หน้า197,235

กฐินเป็นอันกราน

 ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อย่างไรเล่า กฐินเป็นอันกราน คือ:-
๑.   กฐินเป็นอันกราน   ด้วยผ้าใหม่.
๒.   กฐินเป็นอันกราน  ด้วยผ้าเทียมใหม่.
๓.   กฐินเป็นอันกราน   ด้วยผ้าเก่า.
๔.   กฐินเป็นอันกราน  ด้วยผ้าบังสุกุส.
๕.   กฐินเป็นอันกราน  ด้วยผ้าที่ตกตามร้าน.
๖.   กฐินเป็นอันกราน  ด้วยผ้าที่ไม่ได้ทำนิมิตได้มา.
๗.   กฐินเป็นอันกราน  ด้วยผ้าที่ไม่ได้พูดเลียบเคียงได้มา.
๘.   กฐินเป็นอันกราน  ด้วยผ้าที่ไม่ได้ยืมเขามา.
๙.   กฐินเป็นอันกราน  ด้วยผ้าที่ไม่ได้เก็บไว้ค้างคืน.
๑๐.  กฐินเป็นอันกราน  ด้วยผ้าที่ไม่ได้เป็นนิสสัคคีย์.
๑๑.  กฐินเป็นอันกราน  ด้วยผ้าที่ทำกัปปะพินทุแล้ว.
๑๒.  กฐินเป็นอันกราน  ด้วยผ้าสังฆาฏิ.
๑๓.  กฐินเป็นอันกราน  ด้วยผ้าอุตราสงค์.
๑๔.  กฐินเป็นอันกราน  ด้วยผ้าอันตรวาสก.
๑๕.  กฐินเป็นอันกราน  ด้วยจีวรมีขันธ์ ๕ หรือเกิน ๕ ซึ่งตัดดีแล้วทำให้มีมณฑลเสร็จในวัน.


หน้า235
บทว่า ปริกถากเตน คือ ด้วยผ้าที่ภิกษุให้เกิดขึ้นด้วยพูดเลียบเคียงอย่างนี้ว่า การถวายผ้ากฐิน สมควรอยู่ ทายกเจ้าของกฐินย่อมได้บุญมาก ขึ้นชื่อว่า ผ้ากฐิน เป็นของบริสุทธิ์จริงๆ จึงจะสมควร แม้มารดาของตน ก็ไม่ควรออกปากขอ ต้องเป็นดังผ้าที่ลอยมาจากอากาศนั่นแล จึงจะเหมาะ.

-พระสูตรนี้ เป็นพระโสดาแค่มีพระรัตนตรัย+ทาน(กาฬิโคชาสูตร)เล่ม31หน้า367

กาฬิโคธาสูตร องค์คุณของพระโสดาบัน

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ นิโครารามกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ครั้งนั้นแล เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงครองอันตรวาสกแล้ว  ทรงถือบาตรและจีวรเสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของเจ้าสากิยานีนามว่า กาฬิโคธา ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะพระนางกาฬิโคธาสากิยานีว่า

 ดูก่อนพระนางโคธา อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อมเป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน อริยสาวิกาในธรรมวินัยนี้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า...ในพระธรรม..ในพระสงฆ์...มีใจปราศจากความตระหนี่อันเป็นมลทิน มีจาคะอันไม่ติดขัด มีฝ่ามืออันชุ่ม ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการจำแนกทาน อยู่ครอบครองเรือ ดูก่อนพระนางโคธา อริยสาวิกาผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมเป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า....

พ.  ดูก่อนพระนางโคธา เป็นลาภของท่าน ท่านได้ดีแล้ว โสดาปัตติผลท่านพยากรณ์แล้ว.


-พระสูตรนี้ เป็นพระโสดาบันแค่มีพระรัตนตรัย+ศีล(ลิจฉวีสูตร)เล่ม31หน้า355

ลิจฉวีสูตร ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการเป็นพระโสดาบัน

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ในป่ามหาวัน กรุงเวสาลี ครั้งนั้น มหาอำมาตย์ของเจ้าลิจฉวี ชื่อ นันทกะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะมหาอำมาตย์ของเจ้าลิจฉวีชื่อ นันทกะ ว่า

 ดูก่อนนันทกะ อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ เป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่ตรัสรู้ในเบื้องหน้า ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยความเลื่อมใส อันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า...ในพระธรรม...ในพระสงฆ์... ประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ไม่ขาด...เป็นไปเพื่อสมาธิ ดูก่อนนันทกะ อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล เป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า.

ดูก่อนนันทกะ  อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้ เป็นผู้ประกอบแล้วด้วยอายุทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นมนุษย์เป็นผู้ประกอบด้วยวรรณะทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ เป็นผู้ประกอบด้วยสุขทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ เป็นผู้ประกอบด้วยยศทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ เป็นผู้ประกอบด้วยความเป็นใหญ่ทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ ดูก่อนนันทกะ ก็เราได้ฟังแต่สมณะหรือพราหมณ์อื่น จึงกล่าว เรื่องนั้น หามิได้ ความจริง เรารู้เอง เห็นเอง ทราบเอง จึงกล่าวเรื่องนั้น..


-พระสูตรนี้ เป็นพระโสดาบันต้องมีการตรัสรู้ธรรมด้วย(ปฐมเวรภยสูตร)เล่ม31หน้า352

ปฐมเวรภยสูตร ว่าด้วยภัยเวร ๕ ประการ

สาวัตถีนิทาน. พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดี ผู้นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งว่า ดูก่อนคฤหบดี ภัยเวร ๕ ประการของอริยสาวกสงบระงับแล้ว อริยสาวกประกอบแล้วด้วยโสดาปัตติยังคะ ๔ ประการ และญายธรรมอันประเสริฐ อริยสาวกนั้นเห็นดีแล้ว แทงตลอดดีแล้วด้วยปัญญา อริยสาวกนั้นหวังอยู่ พึงพยากรณ์ตนด้วยตนเองได้ว่า เรามีนรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ปิตติวิสัย อบาย ทุคติ วินิบาตสิ้นแล้ว เราเป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า.

 ภัยเวร ๕ ประการอันสงบระงับไปเป็นไฉน ดูก่อนคฤหบดีบุคคลผู้มีปกติฆ่าสัตว์ ย่อมประสบภัยเวรอันใด ที่เป็นไปในปัจจุบันก็มี ที่เป็นไปในสัมปรายภพก็มี ได้เสวยทุกขโทมนัสที่เป็นไปทางใจก็มี ก็เพราะการฆ่าสัตว์เป็นปัจจัย เมื่ออริยสาวกเว้นจากการฆ่าสัตว์แล้ว ภัยเวรอันนั้นเป็นอันสงบระงับ ไปด้วยประการฉะนี้บุคคลผู้ลักทรัพย์...บุคคลผู้ประพฤติผิดในกาม...บุคคลผู้พูดเท็จ บุคคลผู้ดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ย่อมประสบภัยเวรอันใดที่เป็นไปในปัจจุบันก็มี ที่เป็นไปในสัมปรายภพก็มี ได้เสวยทุกข์โทมนัสที่เป็นไปทางใจก็มี ก็เพราะดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทเป็นปัจจัย เมื่ออริยสาวกงดเว้นจากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ภัยเวรอันนั้นเป็นอันสงบระงับไปด้วยประการฉะนี้ ภัยเวร ๕ ประการเหล่านี้ สงบระงับแล้ว.

 อริยสาวกประกอบด้วยโสดาปัตติยังคะ ๔ ประการเป็นไฉน
ดูก่อนคฤหบดี อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า...ในพระธรรม...ในพระสงฆ์...ประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อสมาธิ อริยสาวกประกอบด้วยโสดาปัตติยังคะ ๔ ประการเหล่านี้.

 ก็ญายธรรมอันประเสริฐ อันอริยสาวกนั้นเห็นดีแล้วแทงตลอดดีแล้วด้วยปัญญา เป็นไฉน?   ดูก่อนคฤหบดี อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ย่อมกระทำไว้ในใจซึ่งปฏิจจสมุปบาทอย่างเดียว โดยอุบายอันแยบคายเป็นอย่างดีว่า เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ย่อมมี เพราะสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้ย่อมเกิด ด้วยประการดังนี้ เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ย่อมไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้ย่อมดับ ด้วยประการดังนี้ คือ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัยจึงมีวิญญาณ ฯลฯ ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมี ด้วยประการฉะนี้ ก็เพราะอวิชชาดับ ด้วยการสำรอกโดยหาส่วนเหลือมิได้ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ...ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมี ด้วยประการฉะนี้ ญายธรรมอันประเสริฐนี้ อริยสาวกนั้นเห็นดีแล้ว แทงตลอดดีแล้วด้วยปัญญา...

-เมื่อทำบุญเอาไว้แล้ว ไม่มีใครปล้นชิงเอามาได้(นิธิภัณฑ์)เล่ม39หน้า302-303

นิธิกัณฑ์ในขุททกปาฐะ

พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงสอนคฤหบดีอุบาสก ตรัสพระคาถาว่า

บุรุษย่อมฝังขุมทรัพย์ไว้ในน้ำลึก ด้วยคิดว่าเมื่อกิจที่จำเป็นเกิดขึ้น ทรัพย์นี้จักเป็นประโยชน์แก่เรา เพื่อเปลื้องตนจากราชภัยบ้าง เพื่อช่วยตนให้พ้นจากโจรภัยบ้าง เพื่อเปลื้องหนี้บ้าง ในคราวทุพภิกขภัยบ้าง ในคราวคับขันบ้าง ขุมทรัพย์ที่เขาฝั่งไว้ใน
โลก ก็เพื่อประโยชน์นี้แล.

ขุมทรัพย์นั้น ย่อมหาสำเร็จประโยชน์แก่เข้าไปทั้งหมด ในกาลทุกเมื่อที่เดียวไม่ เพราะขุมทรัพย์เคลื่อนจากที่ไปเสียบ้าง ความจำของเขาคลาดเคลื่อนเสียบ้าง นาคทั้งหลายลักไปเสียบ้าง ยักษ์ทั้งหลายลักไปเสียบ้าง ผู้รับมรดกที่ไม่เป็นที่รักขุดเอาไปเมื่อเขาไม่เห็นบ้าง ในเวลาที่เขาสิ้นบุญ ขุมทรัพย์ทั้งหมดนั้น ย่อมสูญไป.

ขุมทรัพย์คือบุญ ของผู้ใด เป็นสตรีก็ตาม เป็นบุรุษก็ตาม ฝังไว้ดีแล้วด้วยทาน ศีล สัญญมะความสำรวม ทมะความฝึกตน ในเจดีย์ก็ดี ในสงฆ์ก็ดี ในบุคคลก็ดี ในแขกก็ดี ในมารดาก็ดี ในบิดาก็ดีในพี่ชายก็ดี.

ขุมทรัพย์นั้น ชื่อว่าฝังไว้ดีแล้ว ใครๆ ไม่อาจผจญได้ เป็นของติดตามตนไปได้ บรรดาโภคะทั้งหลายที่เขาจำต้องละไป เขาก็พาขุมทรัพย์คือบุญนั้นไป.

ขุมทรัพย์คือบุญ ไม่สาธารณะแต่ชนเหล่าอื่น โจรก็ลักไปไม่ได้ บุญนิธิอันใด ติดตามตนไปได้ปราชญ์พึงทำบุญนิธิอันนั้น.


-เรียนรู้จักความดี-ความชั่วขณะตกอยู่ในนรก(อ.ยัญญสูตร)เล่ม24หน้า443

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะท้าวเธอว่า ถวายพระพร มหาบพิตรเสด็จไปไหนมาแต่วัน.พระราชาทูลว่า พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ฝันไป ได้ยินเสียง ๔ เสียง จึงถามพวกพราหมณ์ พวกพราหมณ์บอกว่า ฝันร้าย พวกเขาจะทำการบูชายัญ อย่างละ ๕๐๐ ทุกอย่างจึงจะแก้ได้ ดังนั้น พวกเขาจึงเริ่มยัญ.ตรัสถามว่า มหาบพิตรได้ยินเสียงว่ากระไร.ท้าวเธอก็ทูลตามที่ทรงได้ยิน ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะท้าวเธอว่า ถวายพระพร แต่กาลก่อน ในพระนครที่นี้แหละ บุตรเศรษฐี ๔ คนกระทำความผิดในภรรยาผู้อื่น บังเกิดในโลหกุมภีนรก ขุมนันโทปนันทา จมลงสุด ๖๐,๐๐๐ ปี บรรดาสัตว์นรก ๔ ตนนั้น 

ตนหนึ่งต้องการจะกล่าวคาถาหนึ่งว่า
"เราไหม้อยู่ในนรกตั้ง ๖๐,๐๐๐  ปีเต็มครบทุกอย่าง เมื่อไร จักสิ้นสุดกันเสียที."

ตนที่ ๒ ต้องการจะกล่าวคาถาหนึ่งว่า

"เรานั้นพ้นไปจากโลหกุมภีนี้แล้ว ได้กำเนิดเป็นมนุษย์ รู้ถ้อยคำของยาจก (ให้ทาน) มีศีลลมบูรณ์ จักต้องสร้างกุศลไว้ให้มาก เป็นแน่แท้."

ตนที่ ๓ ต้องการจะกล่าวคาถาหนึ่งว่า

"ไม่มีสิ้นสุด จะสิ้นสุดได้แต่ที่ไหนความสิ้นสุดไม่ปรากฏเลย ดูก่อนพวกเราเอ๋ย ก็เพราะข้ากับเจ้าทำบาปกรรมไว้มาก ในครั้งนั้น."

ตนที่ ๔ ต้องการจะกล่าวคาถาหนึ่งว่า
"พวกเราเมื่อมีโภคสมบัติอยู่ ไม่ได้ให้ทานเลย ไม่ได้ทำที่พึ่งสำหรับตนเลยจัดว่ามีชีวิตอยู่อย่างชั่วชาติ."

-ห้ามภิกษุ แสดงธรรมแลกสิ่งของหรือเงินทอง(อุทายิสูตร)เล่ม36หน้า334-335,เล่ม34หน้า313

อุทายิสูตร ว่าด้วยองค์คุณแห่งพระธรรมกถึก

...พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนอานนท์ การแสดงธรรมแก่ผู้อื่นไม่ใช่ทำได้ง่าย ภิกษุเมื่อจะแสดงธรรมแก่ผู้อื่น พึงตั้งธรรม ๕ ประการไว้ภายใน แล้วจึงแสดงธรรมแก่ผู้อื่น ๕ ประการเป็นไฉน? คือ ภิกษุพึงตั้งใจว่าเราจักแสดงธรรมไปโดยลำดับ ๑ เราจักแสดงอ้างเหตุผล ๑ เราจักแสดงธรรมอาศัยความเอ็นดู ๑ เราจักเป็นผู้ไม่เพ่งอามิสแสดงธรรม ๑ เราจักไม่แสดงให้กระทบตนและผู้อื่น ๑ แล้วจึงแสดงธรรมแก่ผู้อื่น
ดูก่อนอานนท์ การแสดงธรรมแก่ผู้อื่นไม่ใช่ทำได้ง่าย ภิกษุเมื่อจะแสดงธรรมแก่ผู้อื่น พึงตั้งธรรม ๕ ประการนี้ไว้ในภายใน แล้วจึงแสดงธรรมแก่ผู้อื่น.


-เล่ม34หน้า313

บทว่า ปริสุทฺธ ได้แก่ ไม่มีอุปกิเลส.อธิบายว่า พระธรรมกถึกรูปใดแสดงธรรมด้วยหวังว่า เราจักได้ลาภหรือสักการะเพราะอาลัยธรรมเทศนานี้ เทศนาของพระธรรมกถึกรูปนั้น ชื่อว่าไม่บริสุทธิ์.แต่ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงมุ่งหวังโลกามิส ทรงมีพระทัยอ่อนโยนด้วยการแผ่ประโยชน์เกื้อกูลด้วยการเจริญเมตตา ทรงแสดงธรรมด้วยพระทัยที่ดำรงอยู่ในการยกย่อง เพราะเหตุนั้น พระสังคีติกาจารย์จึงกล่าวว่า ทรงแสดงธรรมบริสุทธิ์.

-ความเป็นเปรตและสัตว์เดรัจฉานก็เสวยผลบุญได้(อ.ชาณโสณีสูตร)เล่ม38หน้า441

บทว่า ย วา ปนสฺส อิโต อนุปฺปเวจฺฉนฺติ ความว่า เหล่ามิตรเป็นต้น ให้ทานส่งอุทิศผลบุญอันใดไปจากโลกนี้.เหล่าสัตว์ที่เกิดในปิตติวิสัยแดนเปรตเท่านั้น ย่อมเป็นอยู่ได้ด้วยผลบุญอันนั้น ที่บุคคลอื่นอุทิศไปให้.ผลบุญที่คนเหล่านั้นอุทิศให้ ไม่สำเร็จแก่สัตว์เหล่าอื่น.

บทว่า ทายโกปิ อนิปฺผโล ความว่าานที่ถวายนั้น มุ่งหมายสัตว์ใด จะสำเร็จหรือไม่ก็ตามที ส่วนทายกก็ไม่อาจจะไร้ผล ทายกย่อมได้ผลแห่งทานนั้นโดยแท้.ในบทว่า อฏฺเนปิ ภว โคตโม ปริกปฺป วทติ ชาณุสโสณีพราหมณ์ถามว่า เมื่อญาตินั้น ไม่เกิดขึ้นในที่มิใช่โอกาส ท่านพระโคดม ยังบัญญัติว่า ผลทานยังจะสำเร็จอยู่อีกหรือ.จริงอยู่พราหมณ์มีลัทธิถือว่า ผลทานที่ให้อย่างนี้ ทายกผู้ให้ย่อมไม่ได้.ครั้นนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเข้าพระทัยปัญญาของชาณุสโสณีพราหมณ์นั้น เพื่อทรงแสดงว่า ธรรมดาทายกบังเกิดในสถานที่ๆ อาศัยผลบุญเลี้ยงชีวิตแห่งใดแห่งหนึ่ง ย่อมได้ผลแห่งทานทั้งนั้น จึงตรัสว่า อิธ พฺราหฺมณเป็นต้น.บทว่า โส ตตฺถ ลาภี โหติ ความว่า ทายกนั้นแม้บังเกิดในกำเนิดช้าง กำเนิดสัตว์เดียรัจฉานนั้น ก็ได้ตำแหน่งช้างมงคลหัตถี.แม้ในสัตว์มีม้าเป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน.


-พระอานนท์ทูลขอพร ก่อนที่จะเป็นพุทธอุปัฏฐาก(อ.สูตรที่1)เล่ม32หน้า453

 ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานนท์ไม่ต้องมีผู้อื่นชวนให้อุตสาหะดอก จักรู้ตัวเองแหละแล้วอุปัฏฐากเรา.ต่อนั้น ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า ลุกขึ้นสิอานนท์ ทูลขอตำแหน่งอุปัฏฐากกะพระทศพล.
พระเถระลุกขึ้นแล้วทูลขอพร ๘ ประการ คือ
-ส่วนที่ขอห้าม ๔
-ส่วนที่ขอร้อง ๔


พระเถระทูลว่า ชื่อว่าพรส่วนที่ขอห้าม ๔  คือ
-ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าจักไม่ประทานจีวร, จักไม่ประทานบิณฑบาต อันประณีตที่พระองค์ทรงได้มาแล้วแก่ข้าพระองค์
-จักไม่ประทานให้ข้าพระองค์อยู่ในพระคันธกุฎีเดียวกันกับพระองค์
-จักไม่ทรงพาข้าพระองค์ไปในที่นิมนต์ อย่างนี้ ข้าพระองค์จักอุปัฏฐาก


พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อตรัสถามว่า อานนท์ เธอเห็นโทษอะไรในข้อนี้จึงทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าข้าพระองค์จักได้วัตถุประสงค์เหล่านี้ไซร้ จักมีผู้กล่าวได้ว่า อานนท์บริโภคจีวร บริโภคบิณฑบาตอันประณีต อยู่ในพระคันธกุฎีเดียวกัน ไปสู่ที่นิมนต์เดียวกันกับพระทศพล เมื่อได้ลาภนี้จึงอุปัฏฐากพระตถาคต หน้าที่ของผู้อุปัฏฐากอย่างนี้จะมีอะไร เพราะฉะนั้น ท่านจึงทูลขอพรส่วนที่ขอห้าม ๔ ประการเหล่านี้ 

พระเถระทูลว่า พรส่วนที่ขอร้อง ๔ คือ 
-ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญพระผู้มีพระภาคเจ้าจักเสด็จไปสู่ที่นิมนต์ที่ข้าพระองค์รับไว้ 
-ถ้าข้าพระองค์จะพาคนที่มาแต่รัฐภายนอก ชนบทภายนอก เข้าเฝ้าได้ในขณะที่เขามาแล้ว 
-ขณะใด ข้าพระองค์เกิดความสงสัย ขณะนั้น ข้าพระองค์เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าได้
-พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมใดลับหลังข้าพระองค์ จักเสด็จมาตรัสธรรมนั้นแก่ข้าพระองค์


อย่างนี้ ข้าพระองค์จึงจักอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อตรัสถามว่า อานนท์ ในข้อนี้ เธอเห็นอานิสงส์อะไร จึงทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญเหล่ากุลบุตรผู้มีศรัทธาในโลกนี้ เมื่อไม่ได้โอกาสของพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงกล่าวกะข้าพระองค์อย่างนี้ว่า ท่านอานนท์ พรุ่งนี้ ขอท่านกับพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดรับภิกษาในเรือนของกระผม ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่เสด็จไปในที่นั้น ข้าพระองค์ไม่ได้โอกาสหาคนเข้าเฝ้าในขณะที่เขาประสงค์ และบรรเทาความสงสัย พวกเขาก็จักกล่าวได้ว่า อานนท์ อุปัฏฐากพระทศพลทำไม พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงอนุเคราะห์ท่าน แม้อย่างนี้ และพวกเขาจักถามข้าพระองค์ลับหลังพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ท่านอานนท์ คาถานี้ พระสูตรนี้ ชาดกนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ณ ที่ไหน ถ้าข้าพระองค์ไม่ได้พรข้อนั้น พวกเขาก็จักกล่าวได้ว่า ท่านไม่รู้พระดำรัสแม้เท่านี้ เหตุไร ท่านจึงเที่ยวอยู่ได้ตั้งนานไม่ละพระผู้มีพระภาคเจ้าเลยเหมือนกับเงา ด้วยข้อนั้น ข้าพระองค์ต้องการจะกล่าวธรรมที่แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าแสดงลับหลังอีก เพราะฉะนั้น ท่านจึงทูลขอพรส่วนที่ขอร้อง ๔ ประการเหล่านี้ แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ประทานพรแก่ท่าน. ท่านรับพร  ๘ ประการอย่างนี้ จึงได้เป็นพุทธอุปัฏฐากประจำ.

-นางวิสาขาเดินตรวจตราบริเวณวัด(เรื่องนางวิสาขา)เล่ม41หน้า104

นางวิสาขาตรวจบริเวณวัด

ฝ่ายนางวิสาขา เที่ยวเดินไปภายในวิหาร กับนางสุปปิยา ด้วยตั้งใจว่า "จักรู้สิ่งที่ควรทำแก่ภิกษุอาคันทุกะภิกษุผู้เตรียมตัวจะไปและภิกษุไข้เป็นต้น." ก็โดยปกติแล ภิกษุหนุ่มและสามเณร ผู้ต้องการด้วยเนยใสน้ำผึ้งและน้ำมันเป็นต้น เห็นอุบาสิกาเหล่านั้น ในภายในวิหารแล้วย่อมถือภาชนะมีถาดเป็นต้น เดินเข้าไปหา.ถึงในวันนั้น ก็ทำแล้วอย่างนั้นเหมือนกัน.ครั้งนั้น นางสุปปิยา เห็นภิกษุไข้รูปหนึ่ง จึงถามว่า "พระผู้เป็นเจ้าต้องการอะไร ?" เมื่อภิกษุไข้รูปนั้น ตอบว่า "ต้องการรสแห่งเนื้อ๑" จึงตอบว่า ได้พระพระผู้เป็นเจ้า,ดิฉันจักส่งไป" ในวันที่ ๒ เมื่อไม่ได้เนื้อที่เป็นกัปปิยะ จึงทำกิจที่ควรทำด้วยเนื้อขาอ่อนของตน ด้วยความเลื่อมใสในพระศาสดา ก็กลับเป็นผู้มีสรีระตั้งอยู่ตามปกตินั่นแล.ฝ่ายหางวิสาขาตรวจดูภิกษุหนุ่มและสามเณรผู้เป็นไข้แล้วก็ออกโดยประตูอื่น ยืนอยู่ที่อุปจารวิหารแล้ว พูดว่า "แม่ จงเอาเครื่องประดับมา,ฉันจักแต่ง." ในขณะนั้นหญิงคนใช้นั้น รู้ว่าตนลืมแล้วออกมา จึงตอบว่า "ดิฉันลืม แม่เจ้า." นางวิสาขา กล่าวว่า "ถ้ากระนั้น จงไปเอามา,แต่ถ้าพระผู้เป็นเจ้าอานนทเถระของเรา ยกเก็บเอาไว้ในที่อื่น,เจ้าอย่าเอามา, ฉันบริจาคเครื่องประดับนั้น ถวายพระผู้เป็นเจ้านั้นแล."นัยว่า นางวิสาขานั้นย่อมรู้ว่า "พระเถระย่อมเก็บสิ่งของที่พวกมนุษย์ลืมไว้," เพราะฉะนั้น จึงพูดอย่างนั้น.

-พระอรหันต์ล้วนแล้วแต่อยากตายทั้งนั้น(เมตตคูมาณวกปัญหานิทเทส)เล่ม67หน้า109

พระขีณาสพใดให้เจริญแล้ว อายตนะภายใน อายตนะภายนอก พระขีณาสพนั้น ทำให้หมดพยศแล้วพระขีณาสพนั้น ล่วงแล้วซึ่งโลกนี้และโลกอื่น ในโลกทั้งปวง มีธรรมอันให้เจริญแล้ว ฝึกดีแล้ว ย่อมหวังมรณกาล.

-นิพพานธาตุมีอยู่ตลอดกาล(อ.อุโบสถสูตร)เล่ม44หน้า540

บทว่า น เตนนิพฺพานธาตุยา อูนตฺต อูนตฺต วา ปูรตฺต วา ความว่า ใครๆ ไม่อาจจะกล่าวว่า แม้เมื่อกัป ยังไม่สิ้นไป พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ยังไม่เสด็จอุบัติ แม้สัตว์ตนหนึ่ง ก็ไม่สามารถจะปรินิพพานได้ แม้ในกาลนั้น ก็ไม่อาจจะพูดว่า นิพพานธาตุว่าง แต่ในครั้งพุทธกาล สัตว์ทั้งหลาย แม้นับไม่ถ้วนในสมาคมหนึ่งๆ ก็พากันยินดีอมตธรรม แม้ในกาลนั้น ใครๆ ก็ไม่อาจจะพูดได้ว่า นิพพานธาตุเต็ม.

-พระพุทธเจ้าแสดงธรรมก็มีสัตว์เดรัจฉานเข้าใจ(เวรัญชกัณฑวรรณนา)เล่ม1หน้า202-205

[อรรถาธิบายพระพุทธคุณบทว่า  ปุริสทมฺมสารถิ]

พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ทรงพระนามว่า ปุริสทมฺมสารถิเพราะอรรถวิเคราะห์ว่า ยังบุรุษผู้พอจะฝึกได้ให้แล่นไป.มีอธิบายไว้ว่า ย่อมฝึก คือแนะนำ.สัตว์ดิรัจฉานตัวผู้ก็ดี มนุษย์ผู้ชายก็ดี อมนุษย์ผู้ชายก็ดีผู้ที่ยังมิได้ฝึก ควรเพื่อจะฝึกได้ ชื่อว่า ปุริสทัมมา ในคำว่า ปุริสทมฺมสารถินั้น.จริงอย่างนั้น แม้สัตว์ดิรัจฉานตัวผู้ มีอาทิอย่างนี้ คือ อปลาลนาคราช จุโฬทรนาคราช มโหทรนาคราช อัคคิสิขนาคราช ธูมสิขนาคราช อาลวาฬนาคราช(และ)ช้างชื่อธนบาลก์ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงฝึกแล้ว คือทรงทำให้สิ้นพยศแล้ว ให้ตั้งอยู่ในสรณะและศีลทั้งหลาย.แม้มนุษย์ผู้ชายมีสัจจกนิครณฐบุตร อัมพัฏฐมาณพ โปกขรสาติพราหมณ์ โสณทัณฑพราหมณ์และกูฏทันตพราหมณ์เป็นต้น อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงฝึกแล้ว.แม้อมนุษย์ผู้ชาย มีอาฬวกยักษ์ สูจิโลมยักษ์ ขรโลกยักษ์ และท้าวสักกเทวราชเป็นต้น อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงฝึกแล้ว คือทรงแนะนำแล้ว ด้วยอุบายเครื่องแนะนำอย่างวิจิตร.ก็แลในอรรถนี้ควรยังพระสูตรนี้ให้พิสดารดังนี้ ดุก่อนนายเกสี ! เราย่อมฝึกบุรุษผู้พอจะฝึกได้ ด้วยอุบายละเอียดบ้าง หยาบบ้าง ทั้งละเอียดทั้งหยาบบ้าง.
อีกอย่างหนึ่ง สองบทว่า อนตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ  นี้รวมเป็นอรรถบทเดียวกันก็ได้.จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยังบุรุษ ผู้ควรจะฝึกได้ให้แล่นไป เหมือนอย่างพระพุทธเจ้าทั้งหลายประทับนั่งอยู่โดยบัลลังก์เดียวเท่านั้น ทรงเล่นไปได้ไม่ติดขัดตลอดทิศทั้ง ๘ ฉะนั้น เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า บัณฑิตจึงเรียกว่า อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ( เป็นสารถีผู้ฝึกบุรุษที่พอจะฝึกได้ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า).


[อรรถาธิบายพระพุทธคุณบทว่า สตฺถา]


พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น พระนามว่า สัตถา (เป็นพระศาสดา) เพราะอรรถวิเคราะห์ว่า ทรงสั่งสอน(สรรพสัตว์) ด้วยประโยชน์ปัจจุบัน ด้วยประโยชน์ภายหน้าและประโยชน์อย่างยิ่งตามสมควร. อีกอย่างหนึ่งก็ในบทว่า สตฺถา นี้ พึงทราบใจความนิเทศนัยมีอาทิดังนี้ว่า คำว่า  สตฺถาได้แก่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นดุจนายพวก. เหมือนอย่างว่า นายพวกย่อมพาพวกให้เวียนข้ามทางกันดาร คือให้เวียนข้ามทางกันดารเพราะโจรกันดารเพราะสัตว์ร้าย กันดารเพราะข้าวแพง กันดารเพราะไม่มีน้ำ คือย่อมให้ข้ามพ้น ให้ข้ามไป ให้ข้ามถึง ได้แก่ให้บรรลุถึงถิ่นที่เกษม ฉันใดพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทรงเป็นพระศาสดา คือทรงเป็นดุจนายพวก ทำเหล่าสัตว์ให้เวียนข้ามทางกันดาร ได้แก่ให้เวียนข้ามทางกันดารคือชาติ เป็นต้น.

[อรรถาธิบายพระพุทธคุณบทว่า เทวมนุสฺสาน]

บทว่า เทวมนุสฺสาน แปลว่า ของเทวดาทั้งหลายด้วย ของมนุษย์ทั้งหลายด้วย. คำว่า เทวมนุสฺสาน นั่น ข้าพเจ้ากล่าวไว้ด้วยอำนาจกำหนดสัตว์ชั้นสูง และด้วยอำนาจการกำหนดภัพพบุคคล (บุคคลผู้ควรตรัสรู้มรรคผล).อนึ่งระผู้มีพระภาคเจ้า ชื่อว่าทรงเป็นพระศาสดา แม้ของพวกสัตว์ดิรัจฉาน เพราะทรงประทานอนุสาสนีให้เหมือนกัน.จริงอยู่ สัตว์ดิรัจฉานแม้เหล่านั้น บรรลุอุปนิสัยสมบัติ ก็เพราะได้ฟังธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งมรรคและผล ในภพที่ ๒ หรือที่ ๓ เพราะอุปนิสัยสมบัตินั้นนั่นแล. ก็ในความเป็นศาสดาของพวกสัตว์ดิรัจฉานนี้ มีมัณฑูกเทวบุตรเป็นต้น เป็นอุทาหรณ์.

[เรื่องกบฟังธรรมของพระพุทธเจ้าได้เป็นเทพบุตร]

ได้ยินว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงธรรมแก่ชนชาวนครจำปาอยู่ที่ริมฝั่งสระโบกขรณี ชื่อคัคครา ยังมีกบตัวหนึ่งได้ถือเอานิมิตในพระสุรเสียงของพระผู้มีพระภาคเจ้า(ซึ่งกำลังทรงแสดงธรรมอยู่).(ขณะนั้น) มีคนเลี้ยงโคคนหนึ่ง เมื่อจะยืนยันไม้เท้าได้(ยืน)กดลงที่ศีรษะกบนั้น.กบตัวนั้นก็ตายในทนใดนั้นนั่นเอง แล้วเกิดในวิมานทองประมาณ ๑๒ โยชน์ ในภพดาวดึงส์ เหมือนนอนหลับแล้วตื่นขึ้นฉะนั้น.
ในภพดาวดึงส์นั้น มัณฑูกเทพบุตร เห็นตนเองอันหมู่นางฟ้าแวดล้อมแล้ว ใคร่ครวญอยู่ว่า เว้ย ชื่อแม้เรา มาเกิดในที่นี้ ได้กระทำกรรมอะไรหนอแล? ก็มิได้เห็นกรรมอะไรๆ อย่างอื่น นอกจาการถือเอานิมิตในพระสุรเสียง ของพระผู้มีพระภาคเจ้า(เท่านั้น).มัณฑูกเทวบุตร จึงมาพร้อมทั้ง วิมานในทันใดนั้นนั่นเอง แล้วถวายบังคมพระบาทยุคลของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเศียรเกล้า.พระผู้มีพระภาคเจ้า ทั้งที่ทรงทราบอยู่แล(แต่) ตรัสถามว่า ใครช่างรุ่งเรืองด้วยฤทธิ์ (และ) ยศมีพรรณงดงามยิ่งนัก ยังทิศทั้งปวงให้สว่างอยู่ กำลังไหว้เท้าของเรา?
มัณฑูกเทวบุตร กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ในชาติปางก่อน ข้าพระองค์ได้เป็นกบอยู่ในน้ำ มีน้ำเป็นที่เที่ยวไป เมื่อข้าพระองค์กำลังฟังธรรมของพระองค์อยู่ คนเลี้ยงโค ได้ฆ่าข้าพระองค์แล้ว.๑

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมแก่มัณฑูกเทวบุตรนั้นแล้ว.สัตว์จำนวนแปดหมื่นสี่พัน ได้บรรลุธรรม.ฝ่ายเทพบุตรก็ดำรงอยู่ในพระโสดาปัตติผล ได้ทำการแย้มแล้วก็หลีกไปแล.


[อรรถาธิบายพระพุทธคุณบทว่า พุทฺโธ]

ก็พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า พุทฺโธ ด้วยอำนาจพระญาณ.
อันเกิดในที่สุดแห่งวิโมกข์ เพราะขึ้นชื่อว่า เญยยธรรมอะไรๆ ที่มีอยู่ทั้งหมดอันพระองค์ตรัสรู้แล้ว.อีกอย่างหนึ่ง เพราะพระองค์ตรัสรู้อริยสัจ ๔ ด้วย พระองค์เองบ้าง ทรงยังสัตว์เหล่าอื่นให้ตรัสรู้บ้าง,ฉะนั้น พระองค์จึงทรงพระนามว่า พุทฺโธ เพราะเหตุมีอาทิอย่างนี้บ้าง,เพื่อจะให้ทราบเนื้อความแม้นี้แจ่มแจ้ง บัณฑิตควรขยายนิเทศนัย หรือปฏิสัมภิทานัยแม้ทั้งหมดที่เป็นไปแล้ว ให้พิสดารอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ทรงพระนามว่า พุทฺโธ เพราะตรัสรู้สัจจะทั้งหลาย ทรงพระนามว่า พุทฺโธ เพราะทรงยังประชาสัตว์ให้ตรัสรู้ ๒ ดังนี้.


ที่มา : วัดป่าสามแยก ศึกษาพระธรรมวินัย เบิกบุญ โอนบุญ อกหัก โดนของ ธรรมะ ธรรมทาน คลายเครียด เจริญรุ่งเรือง //www.samyaek.com/index.php

หัวข้อพระไตรปิฏก ที่ทางวัดสามแยกคัดเอาหัวข้อย่อๆ ให้ดาวโหลดขึ้นมาไว้ เพื่ออ่านเทียบเคียงพระไตรปิฎกทั้ง 91 เล่ม (พระวัดสามแยกยกหัวข้อสำคัญเพื่อเป็นแนวทางอ่านพระไตรปิฏกทั้ง91เล่ม)
//www.samyaek.com/board2/index.php?topic=3230.msg19459#msg19459

-ศึกษาพระไตรปิฏกและอรรถกถาแปลชุด91เล่ม ของมหามกุฏราชวิทยาลัย //www.thepalicanon.com/palicanon/

-Facebook พุทธพจน์ //www.facebook.com/login.php?next=http%3A%2F%2Fwww.facebook.com%2Fgroups%2FBuddhaspeech

-Download free พระไตรปิฏกพร้อมหัวข้อธรรมสำหรับ apple ipad & iphone & Android ดูรายละเอียดได้ที่เวบ //www.tripitaka91.com

-เสียงอ่านพระไตรปิฏกชุด91เล่ม //www.dharmatarzan.com/

****หมายเหตุ "แสดงธรรมวันอาสาฬหบูชา ปี 2555" (//youtu.be/l52iDWt3V5Q ) นาทีที่ 6:01:55 ..เป็นต้นไป หลวงปู่ท่านได้พูดถึง ทนายชนอณุพงศ์ ชัยธนาวิรัตน์ ท่านใดมีปัญหาด้านกฏหมาย,คดีความต่างๆ ปรึกษาได้ที่ ทนายชนอณุพงศ์ ชัยธนาวิรัตน์ ที่เมล์ pasponglawyer@hotmail.com ,เบอร์โทรที่ 0818060981 , 0867809391 ****




 

Create Date : 19 มกราคม 2557
1 comments
Last Update : 19 มกราคม 2557 21:34:43 น.
Counter : 968 Pageviews.

 

ทุกๆวันเสาร์ เวลาประเทศไทย 20.30 น.โดยประมาณ มีการถ่ายทอดสดไปทั่วโลก เทศน์โดยหลวงปู่เกษม อาจิณณสีโล จากสำนักสงฆ์ป่าสามแยก

ดูได้ที่
=> //www.samyaek.com

=>หรือ สามารถดูทางช่องสำรอง:
//new.livestream.com/samyaek/samyaek

=>หรือ :
//www.login.in.th/flashstreaming/flash_url/watsamyaek/425/350.html

 

โดย: Budratsa 19 มกราคม 2557 21:40:21 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


Budratsa
Location :
พิจิตร Switzerland

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]




สวัสดีค่ะ ยินดีต้อนรับทุกๆคนค่ะ
"ดูก่อนอานนท์ บางทีพวกเธอจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ปาพจน์ (พุทธพจน์) มีพระศาสดาล่วงแล้ว พระศาสดาของพวกเราไม่มี ข้อนี้พวกเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น ธรรมก็ดี วินัยก็ดีอันใดอันเราแสดงแล้ว ได้บัญญัติไว้แล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยอันนั้น จักเป็นศาสดาแห่งพวกเธอ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา" เล่มที่ ๑๓ : พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ หน้าที่ ๓๒๐
Friends' blogs
[Add Budratsa's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.