"ทรัพย์เครื่องปลื้มใจอย่างใดอย่างหนึ่งในโลกนี้หรือในโลกอื่น หรือรัตนะใดอันประณีตในสวรรค์ ทรัพย์และรัตนะนั้นเสมอด้วยพระตถาคตย่อมไม่มี พระพุทธเจ้าแม้นี้เป็นรัตนะอันประณีต ด้วยการกล่าวคำจริงนี้ ขอความสวัสดีจงมี....." "พระไตรปิฏก เป็นตาที่วิเศษยิ่ง, เป็นหูที่วิเศษยิ่ง, เป็นจมูกที่วิเศษยิ่ง, เป็นลิ้นที่วิเศษยิ่ง, เป็นกายที่วิเศษยิ่ง, เป็นใจที่วิเศษยิ่ง, เป็นครู-อาจารย์ที่วิเศษยิ่ง, เป็นพ่อ-แม่ที่วิเศษยิ่ง, เป็นมิตรและเข็มทิศที่วิเศษยิ่ง, เป็นแผนที่และป้ายบอกทางที่วิเศษยิ่ง, เป็นแสงสว่างส่องทางสู่นิพพานที่วิเศษยิ่ง"จากวัดสามแยก
Group Blog
 
<<
มกราคม 2556
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
5 มกราคม 2556
 
All Blogs
 

ร่างกายพระพุทธเจ้า ไม่ใช่พุทโธ โดยหลวงปู่เกษม อาจิณณสีโล 13 ต.ค. 2555

เนื้อหา บางส่วนจากการแสดงธรรมชุดนี้
      ๑. คนเชื่อถือผิดๆย่อมเชื่อว่าร่างกายพุทธเจ้าเป็น "พุทธโธ"
      ๒. คนที่จิตใจไม่ป่วยแม้ครู่หนึ่งหายากในโลก
      ๓. สถานที่ ที่พระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ต้องใช้สอย
      ๔. แม้เป็นยักษ์ชั้นต่ำ ก็สามารถศึกษาพุทธศาสนาได้
      ๕. พระพุทธเจ้าตรัสถึงคุณสมบัติที่ดีของอาชีพ "โจร"
     ฯลฯ

คนเชื่อถือผิดๆย่อมเชื่อว่าร่างกายพุทธเจ้าเป็น "พุทธโธ" (อ.สูตรที่2) เล่ม33หน้า346

สูตรที่ ๒ ว่าด้วยคน ๒ จำพวก กล่าวตู่พระตถาคต

[๒๖๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลายคน ๒ จำพวกนี้ย่อมกล่าวตู่ตถาคต ๒ จำพวกเป็นไฉน คือ คนเจ้าโทสะซึ่งมีโทษอยู่ภายใน ๑ คนที่เชื่อโดยถือผิด ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คน ๒ จำพวกนี้ ย่อมกล่าวตู่ตถาคต.

บทว่า อพฺภาจิกฺขนฺติ ได้แก่ กล่าวตู่ คือกล่าวด้วยเรื่องไม่จริง
บทว่า โทสนฺตโร แปลว่า มีโทสะตั้งอยู่ในภายใน
. จริงอยู่ คนแบบนี้ย่อมกล่าวตู่พระตถาคต เช่น สุนักขัตตลิจฉวี กล่าวว่า อุตตริมนุสสธรรมของพระสมณโคดมหามีไม่. บทว่า สทฺโธ วา ทุคฺคหิเตน ความว่า หรือว่า ผู้ที่มีศรัทธาแก่กล้า ด้วยศรัทธาที่เว้นจากญาณ มีความเลื่อมใสอ่อนนั้น ถือผิดๆ กล่าวตู่พระตถาคตโดยนัยเป็นต้นว่า ขึ้นชื่อว่าพระพุทธเจ้านั้น เป็นโลกุตระทั้งพระองค์ พระอาการ ๓๒ มีพระเกสา เป็นต้นของพระองค์ล้วนเป็นโลกุตระทั้งนั้น ดังนี้.

คนที่จิตใจไม่ป่วยแม้ครู่หนึ่ง หายากในโลก(โรคสูตร) เล่ม35หน้า373

ว่าด้วยโรค  ๒  อย่าง

[๑๕๗]  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โรค ๒ อย่างนี้  โรค ๒ อย่างเป็นไฉน
คือ โรคกาย ๑ โรคใจ ๑ ปรากฏอยู่ว่าสัตว์ทั้งหลายผู้ยืนยันว่าไม่มีโรคทางกายตลอดเวลา ๑ ปีก็มี     ยืนยันว่าไม่มีโรคทางกายตลอดเวลา ๒ ปีก็มี ๓ ปีก็มี ๔ ปีก็มี ๕ ปีก็มี ๑๐ ปีก็มี ๒๐ ปีก็มี ๓๐ ปีก็มี ๔๐  ปีก็มี ๕๐  ปีก็มี๑๐๐ ปีก็มี ยิ่งกว่า ๑๐๐ ปีก็มี
แต่ว่าผู้ที่จะยืนยันว่าไม่มีโรคทางใจแม้เพียงเวลาครู่เดียวนั้นหาได้ยากในโลก เว้นแต่พระขีณาสพ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โรคของบรรพชิต ๔ อย่างนี้ โรคของบรรพชิต๔ อย่างเป็นไฉน คือ

๑.  ภิกษุเป็นผู้มักมาก มีความร้อนใจอยู่เสมอ ไม่สันโดษด้วยจีวรบิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยทามมีตามได้
๒.  ภิกษุนั้นเมื่อเป็นผู้มักมาก มีความร้อนใจอยู่เสมอ ไม่สันโดษด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ  คิลานปัจจัยตามมีตามได้แล้ว ย่อมตั้งความปรารถนาลามก เพื่อจะได้ความยกย่องเพื่อจะได้ลาภสักการะและความสรรเสริญ
๓.  ภิกษุนั้นวิ่งเต้นขวนขวายพยายาม เพื่อจะได้ความยกย่องเพื่อจะได้ลาภสักการะและความสรรเสริญ
๔.  ภิกษุนั้น เข้าสู่ตระกูลเพื่อให้เขานับถือ นั่งอยู่  (ในตระกูล) เพื่อให้เขานับถือ กล่าวธรรม (ในตระกูล) เพื่อให้เขานับถือ กลั้นอุจจาระ ปัสสาวะอยู่ (ในตระกูล) ก็เพื่อให้เขานับถือ

ภิกษุทั้งหลาย นี้แล โรคของบรรพชิต  ๔ อย่าง.

เพราะเหตุนั้น ท่านทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายจักไม่เป็นผู้มักมาก มีความร้อนใจ ไม่สันโดษด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยตามมีตามได้ จักไม่ตั้งความปรารถนาลามกเพื่อจะได้ความยกย่องเพื่อจะได้ลาภสักการะและความสรรเสริญ จักไม่วิ่งเต้นขวนขวายพยายามเพื่อให้ได้ความยกย่อง เพื่อให้ได้ลาภสักการะและความสรรเสริญ จักเป็นผู้อดทนต่อ หนาว ร้อน หิว ระหาย ต่อสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เสือกคลานทั้งหลาย ต่อถ้อยคำอันหยาบคายร้ายแรงต่าง ๆ  นผู้อดกลั้นต่อเวทนาที่เกิดในกาย อันเป็นทุกข์กล้าแข็งเผ็ดร้อนขมขึ้น ไม่เจริญใจพอจะปล้นชีวิตเสียได้ ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้แล.

สถานที่ ที่พระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ต้องใช้สอย(พรรณาวงค์ฯ) เล่ม73หน้า303

อนึ่ง มีสถานที่ ๔ แห่งที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ไม่ทรงละเว้น.
โพธิบัลลังก์เป็นสถานที่ไม่ทรงละ ย่อมมีในที่แห่งเดียวกันแน่นอน. 
สถานที่ประกาศพระธรรมจักรก็ไม่ทรงละ อยู่ในป่าอิสิปตนะ มิคทายวันเท่านั้น.
ในเวลาเสด็จลงจากเทวโลก ใกล้ประตูสังกัสสนครย่างพระบาทแรก ก็ไม่ทรงละ. 
สถานที่เท้าเตียงทั้งสี่ตั้งอยู่ ที่พระคันธกุฎีในพระเชตวันวิหารก็ไม่ทรงละเหมือนกัน.
แม้พระวิหารก็ไม่ทรงละ แต่พระวิหารนั้นเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง.

แม้เป็นยักษ์ชั้นต่ำ ก็สามารถศึกษาพุทธศาสนาได้(อ.มหานิทานสูตร) เล่ม13หน้า224

บทว่า เอกจฺเจ จ วินิปาติกา ความว่า เวมานิกเปรต มีอาทิอย่างนี้ว่า ยักษิณี ชื่อ อุตตรมาตา ปิยังกรมาตา ปุสสมิตตา ธรรมคุตตา ผู้จมอยู่ในอบาย ๔ ก็กายของเปรตเหล่านั้นมีต่างๆ กัน ด้วยสามารถสีมีสีเหลือง สีขาวสีดำ สีทอง สีคร่ำเป็นต้น และด้วยสามารถ ความผอม ความอ้วน สูงและต่ำ.
แม้สัญญาก็มีด้วยสามารถ  ทวิเหตุกะ ติเหตุกะ และอเหตุกะ เหมือนของมนุษย์ทั้งหลาย. เปรตเหล่านั้นไม่มีศักดิ์ใหญ่เหมือนเทวดา มีศักดิ์น้อยเหมือนคนกำพร้า ของกิน เสื้อผ้าหาได้ยาก ถูกทุกข์บีบคั้นอยู่. บางพวกได้รับทุกข์ในข้างแรมได้รับสุขในข้างขึ้น เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า วินิปาติกะ เพราะความเป็นผู้ตกไปจาการสะสมความสุข. ก็ในเปรตเหล่านี้ แม้การตรัสรู้ธรรมก็ย่อมมีได้แก่เปรตจำพวกติเหตุกะ.
ก็ยักษิณีชื่อปิยังกรมาตาได้สดับพระอนุรุทธเถระผู้สาธยายธรรมอยู่ในเวลาใกล้รุ่ง ตักเตือนบุตรน้อยอย่างนี้ว่า

เจ้าปิยังกรอย่าเอ็ดไป ภิกษุกำลังกล่าว บทธรรม อีกอย่าง เรารู้บทธรรมแล้ว จะปฏิบัติ
เพื่อประโยชน์ของเรา ข้อนั้นพึงมี เราพึงสำรวมในสัตว์ทั้งหลายไม่พึงกล่าวเท็จ ทั้งๆ รู้
พึงศึกษาความเป็นผู้มีศีลของตน เราก็จะพ้นจากกำเนิดปีศาจ ดังนี้.

แล้วได้บรรลุโสดาปัตติผลในวันนั้นเอง.

พ่อแม่มีบุญคุณมาก ลูกที่โตแล้วจึงต้องอุปถัมถ์พ่อแม่( สูตรที่2)เล่ม33หน้า357

บุคคล  ๒  พวกที่กระทำตอบแทนไม่ได้ง่าย

 [๒๗๘]  ๓๒. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย   เรากล่าวการกระทำตอบแทนไม่ได้ง่ายแก่ท่านทั้งสอง ทั้งสองท่านคือใคร คือ มารดา ๑ บิดา ๑

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุตรพึงประคับประคองมารดาด้วยบ่าข้างหนึ่ง พึ่งประดับประคองบิดาด้วยบ่าข้างหนึ่ง เขามีอายุ มีชีวิต อยู่ตลอด ๑๐๐ ปีและเขาพึงปฏิบัติท่านทั้งสองนั้นด้วยการอบกลิ่น การนวด การให้อาบน้ำและการดัด และท่านทั้งสองนั้น พึงถ่ายอุจจาระปัสสาวะบนบ่าทั้งสองของเขานั่นแหละ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนั้นยังไม่ชื่อว่าอันบุตรทำแล้วหรือทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดาเลย

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง  บุตรพึงสถาปนาบิดามารดาในราชสมบัติ อันเป็นอิสราธิปัตย์ในแผ่นดินใหญ่อันมีรตนะ  ๗  ประการมากหลายนี้ การการทำกิจอย่างนั้นยังไม่ชื่อว่าอันบุตรทำแล้วหรือทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดาเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะมารดาบิดามีอุปการะมาก บำรุงเลี้ยง แสดงโลกนี้
แก่บุตรทั้งหลาย ส่วนบุตรคนใดยังมารดาบิดาผู้ไม่มีศรัทธา ให้สมาทานตั้งมั่นในศรัทธาสัมปทา ยังมารดาบิดาผู้ทุศีล ให้สมาทานตั้งมั่นในศีลสัมปทา ยังมารดาบิดาผู้มีความตระหนี่ ให้สมาทานตั้งมั่นในจาคสัมปทายังมารดาบิดาผู้ทรามปัญญา ให้สมาทานตั้งมั่นในปัญญาสัมปทา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล การกระทำอย่างนั้นย่อมชื่อว่า อันบุตรนั้นทำแล้วและทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดา.

พระพุทธเจ้าตรัสถึงคุณสมบัติที่ดีของอาชีพ "โจร" (โจรสูตร) เล่ม37หน้า676

[๑๙๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มหาโจรประกอบด้วยองค์ ๘ประการ ย่อมพลันเสื่อม ตั้งอยู่ไม่นาน องค์๘  ประการเป็นไฉน

คือ ประหารคนที่ไม่ประหารตอบ๑  ถือเอาสิ่งของไม่เหลือ ๑ ลักพาสตรี ๑ ประทุษร้ายกุมารี ๑ ปล้นบรรพชิต๑ ปล้นราชทรัพย์ ๑ ทำงานใกล้ถิ่นเกินไป๑ ไม่ฉลาดในการเก็บ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มหาโจรประกอบด้วยองค์๘ ประการนี้แล ย่อมพลันเสื่อม ตั้งอยู่ไม่นาน.

[๑๙๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มหาโจรประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ ย่อมไม่เสื่อมเร็ว ตั้งอยู่ได้นาน  ๘  ประการเป็นไฉน

คือ ไม่ประหารคนที่ประหาร๑  ไม่ถือเอาของจนไม่เหลือ ๑ ไม่ลักพาสตรี ๑ ไม่ประทุษร้ายกุมารี ๑  ไม่ปล้นบรรพชิต ๑  ไม่ปล้นราชทรัพย์ ๑  ไม่ทำงานใกล้ถิ่นเกินไป ๑  ฉลาดในการเก็บ ๑
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มหาโจรประกอบด้วยองค์ ๘ ประการนี้แล ไม่เสื่อมเร็ว ตั้งอยู่ได้นาน.

พระจูฬปันถกเกิดเป็นคนโง่เพราะหัวเราะเยาะผู้อื่น(เรื่องพระจูฬปันถกเถระ) เล่ม40หน้า328

จูฬปันถกบวชแล้วกลายเป็นคนโง่

พระเถระให้จูฬปันถกบวชแล้ว ให้ตั้งอยู่ในศีลทั้งหลาย. แม้จูฬปันถกนั้นพอบวชแล้ว ได้เป็นคนโง่เขลา.

พระเถระเมื่อพร่ำสอนเธอ กล่าวคาถานี้ว่า

"ดอกบัวโกกุนท  มีกลิ่นหอม บานแต่เช้า
พึงมีกลิ่นไม่ไปปราศฉันใด,  เธอจงเห็นพระอังคีรส
ผู้ไพโรจน์อยู่ ดุจพระอาทิตย์ส่องแสงในกลางหาวฉันนั้น."

คาถาเดียวเท่านั้น โดย ๔ เดือน เธอก็ไม่สามารถจะเรียนได้.

บุรพกรรมของพระจูฬปันถก

 "ได้ยินว่า เธอบวชในกาลพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้มีปัญญา ได้ทำการหัวเราะเยาะ ในเวลาที่ภิกษุเขลารูปใดรูปหนึ่งเรียนอุเทศ,  ภิกษุนั้นละอายเพราะการหัวเราะนั้น เลยเลิกเรียนอุเทศ ไม่ทำการสาธยาย.

เพราะกรรมนั้น จูฬปันถกนี้ พอบวชแล้ว จึงเป็นคนโง่,  บทที่เรียนแล้ว ๆ เมื่อเธอเรียนบทต่อๆ ไป ก็เลือนหายไป. เมื่อเธอพยายามเพื่อเรียนคาถานี้แล. สี่เดือนล่วงไปแล้ว.

ถวายอาหารที่เป็นเดนแก่พระพุทธเจ้า(ปัญจัคคทายกพราหมณ์) เล่ม43หน้า366

พราหมณ์เลื่อมใสพระดำรัสของพระศาสดา

พระศาสดาไม่ตรัสว่า "เราไม่มีความต้องการด้วยภัตอันเป็นเดนของท่าน" ตรัสว่า " พราหมณ์ ส่วนอันเลิศก็ดี ภัตที่ท่านแบ่งครึ่งบริโภคแล้วก็ดี เป็นของสมควรแก่เราทั้งนั้น, แม้ก้อนภัตที่เป็นเดน เป็นของสมควรแก่เราเหมือนกัน, พราหมณ์ เพราะพวกเราเป็นผู้อาศัยอาหารที่ผู้อื่นให้เลี้ยงชีพ เป็นเช่นกับพวกเปรต" แล้วตรัสพระคาถานี้ว่า:-

" ภิกษุผู้อาศัยอาหารที่บุคคลอื่นให้เลี้ยงชีพ ได้
ก้อนภัตอันใดจากส่วนที่เลิศก็ตาม จากส่วนปาน
กลางก็ตาม จากส่วนที่เหลือก็ตาม. ภิกษุนั้นเป็นผู้
ไม่ควรเพื่อชมก้อนภัตนั้น, และไม่เป็นผู้ติเตียนแล้วขบฉันก้อนภัตนั้น,
ธีรชรทั้งหลายย่อมสรรเสริญแม้ซึ่งภิกษุนั้นว่า เป็นมุนี."

พราหมณ์พอได้ฟังพระคาถานั้น ก็เป็นผู้มีจิตเลื่อมใส แล้วคิดว่า" โอ! น่าอัศจรรย์จริง, พระราชบุตรผู้ชื่อว่าเจ้าแห่งดวงประทีป มิได้
ตรัสว่า ' เราไม่มีความต้องการด้วยภัตอันเป็นเดนของท่าน'  ยังตรัสอย่างนั้น " แล้วยืนอยู่ที่ประตูนั่นเอง   ทูลถามปัญหากะพระศาสดาว่า "ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ  พระองค์ตรัสเรียกพวกสาวกของพระองค์ว่า “ ภิกษุ“ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร ?  บุคคลชื่อว่า เป็นภิกษุ."

ประเพณีที่พระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ทรงถือปฏิบัติมา(เวรัชภาณวาร) เล่ม1หน้า16

เสด็จนิเวศน์เวรัญชพราหมณ์

[๙]  ครั้นปวารณาพรรษาแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า ดูก่อนอานนท์   พระตถาคตทั้งหลายยังมิได้บอกลาผู้ที่นิมนต์ให้อยู่จำพรรษาแล้ว จะไม่หลีกไปสู่ที่จาริกในชนบท ข้อนี้เป็นประเพณีของพระตถาคตทั้งหลาย มาไปกันเถิดอานนท์ เราจะบอกลาเวรัญชพราหมณ์

ท่านพระอานนท์ทูลสนองพระพุทธดำรัสว่าเป็นดังรับสั่งพระพุทธเจ้าข้า

ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอันตรวาสกแล้ว ถือบาตรจีวรมีท่าน พระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ    เสด็จพระพุทธดำเนินไปสู่นิเวศน์ของเวรัญชพราหมณ์ครั้นถึงแล้วประทับนั่งเหนือพระพุทธอาสน์ที่เขาจัดถวาย ทันใดนั้น เวรัญชพราหมณ์ดำเนินเข้าไปสู่ที่ประทับ ครั้นแล้วถวายบังคมนั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งพระองค์รับสั่งว่า ดูก่อนพราหมณ์ เราเป็นผู้อันท่านนิมนต์อยู่จำพรรษาแล้ว เราขอบอกลาท่าน  เราปรารถนาจะหลีกไปสู่ที่จาริกในชนบท.

เวรัญชพราหมณ์กราบทูลว่า เป็นความจริง ท่านพระโคดม ข้าพเจ้านิมนต์พระองค์อยู่จำพรรษา ก็แต่ว่าไทยธรรมอันใดที่จะพึงถวายไทยธรรม อันนั้นข้าพเจ้ายังมิได้ถวาย และไทยธรรมนั้นมิใช่ว่าจะไม่มี ทั้งประสงค์จะไม่ถวายก็หาไม่ ภายในไตรมาสนี้ พระองค์จะพึงได้ไทยธรรมนั้นจากไหนเพราะฆราวาสมีกิจมาก มีกรณียะมาก ขอท่านพระโคดมพร้อมด้วยพระสงฆ์ จงทรงพระกรุณาโปรดรับภัตตาหารของข้าพเจ้า เพื่อเจริญบุญกุศลและปีติปราโมทย์ในวันพรุ่งนี้แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด.

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับอัชเฌสนาโดยดุษณีภาพ และแล้วทรงชี้แจงให้เวรัญชพราหมณ์เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ  ร่าเริงด้วยธรรมีกถา แล้วทรงลุกจากที่ประทับเสด็จกลับ.

หลังจากนั้น เวรัญชพราหมณ์สั่งให้ตกแต่งของเคี้ยวของฉันอันประณีตในนิเวศน์ของตน โดยผ่านราตรีนั้นแล้ว ให้เจ้าพนักงานไปกราบทูลภัตตกาลแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ถึงเวลาแล้ว ท่านพระโคดม  ภัตตาหารเสร็จแล้ว.

ขณะนั้น เป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอันตรวาสกแล้วถือบาตรจีวรเสด็จพระพุทธดำเนินไปสู่นิเวศน์ของเวรัญชพราหมณ์ ครั้นถึงแล้วประทับนั่งเหนือพระพุทธอาสน์ที่เขาจัดถวาย พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ จึงเวรัญชพราหมณ์อังคาส  ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีต ด้วยมือของตนจนให้ห้ามภัตรแล้ว ได้ถวายไตรจีวรแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เสวยเสร็จทรงนำพระหัตถ์ออกจากบาตรแล้วให้ทรงครอง และถวายผ้าคู่ให้ภิกษุครอง รูปละสำรับ จึงพระองค์ทรงชี้แจงให้เวรัญชพราหมณ์เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถา แล้วทรงลุกจากที่ประทับเสด็จกลับ ครั้นพระองค์ประทับอยู่ที่เมืองเวรัญชาตามพระพุทธาภิรมย์แล้วเสด็จพระพุทธดำเนินไปยังเมืองท่าปยาคะ ไม่ทรงแวะเมืองโสเรยยะ เมืองสังกัสสะ เมืองกัณณกุชชะ ทรงข้ามแม่น้ำคงคาที่เมืองท่าปยาคะ เสด็จพระพุทธะดำเนินถึงพระนครพาราณสี ครั้นพระองค์ประทับอยู่ที่พระนครพาราณสี ตาม
พระพุทธาภิรมย์แล้ว เสด็จจาริกไปโดยมรรคาอันจะไปสู่พระนครเวสาลี เมื่อเสด็จจาริกไปโดยลำดับถึงพระนครเวสาลีนั้นแล้ว ทราบว่าพระองค์ประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เขตพระนครเวสาลีนั้น.

ความสุขที่ปราณีตไปตามลำดับจนถึงอรหันต์ (พหุเวทนิยสูตร) เล่ม20หน้า217

สุขในรูปฌานและอรูปฌาน

[๑๐๑]  ดูก่อนอานนท์ เราไม่ยอมรับรู้ถ้อยคำของผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่าสัตว์ทั้งหลายย่อมเสวยสุขโสมนัส มีกามสุขนี้เป็นอย่างยิ่ง ข้อนี้เพราะเหตุไร เพราะสุขอื่นที่ดียิ่งกว่า และประณีตกว่าสุขนี้ยังมีอยู่.

ดูก่อนอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้เป็นไฉน ดูก่อนอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมบรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ นี้แล อานนท์  สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้ เราไม่ยอมรับรู้ถ้อยคำของผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า สัตว์ทั้งหลาย ย่อมเสวยสุขโสมนัส มีกามสุขนี้เป็นอย่างยิ่ง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะสุขอื่นที่ดียิ่งกว่า และประณีตกว่าสุขนี้ยังมีอยู่.

ดูก่อนอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้เป็นไฉน ดูก่อนอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายในเป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ นี้แล อานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้ เราไม่ยอมรับรู้ถ้อยคำของผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมเสวยสุขโสมนัส มีกามสุขนี้เป็นอย่างยิ่ง ข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะสุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้ยังมีอยู่.

ดูก่อนอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้เป็นไฉน ดูก่อนอานนท์ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะและเสวยสุขด้วยน้ำมันกายเพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข นี้แล อานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้ เราไม่ยอมรับรู้ถ้อยคำของผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมเสวยสุข โสมนัสมีกามสุขนี้เป็นอย่างยิ่ง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะสุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้  ยังมีอยู่.

ดูก่อนอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้เป็นไฉน ดูก่อนอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่นี้แลอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้ เราไม่ยอมรับรู้ถ้อยคำของผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมเสวยสุขโสมนัส  มีกามสุขนี้เป็นอย่างยิ่ง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะสุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้ยังมีอยู่.

ดูก่อนอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้เป็นไฉน ดูก่อนอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุอากาสานัญจายตนฌานด้วยมนสิการว่า อากาศไม่มีที่สุด เพราะล่วงรูปสัญญาได้โดยประการทั้งปวง    เพราะดับปฏิฆสัญญาได้ เพราะไม่มนสิการนานัตตสัญญาอยู่ นี้แล อานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้.

ดูก่อนอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้เป็นไฉน ดูก่อนอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุวิญญาณัญจายตนฌานด้วยมนสิการว่า วิญญาณไม่มีที่สุด เพราะล่วงอากาสานัญจายตนะได้โดยประการทั้งปวงอยู่ นี้แลอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้.

ดูก่อนอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้เป็นไฉน ดูก่อนอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุอากิญจัญญายตนฌานด้วยมนสิการว่า อะไรๆก็ไม่มีเพราะล่วงวิญญาณัญจายตนะได้โดยประการทั้งปวงอยู่ นี้แล อานนท์สุขอื่นอันดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้.

ดูก่อนอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้เป็นไฉน ดูก่อนอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เพราะล่วงอากิญจัญญายตนะได้โดยประการทั้งปวงอยู่ นี้แล อานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้.

[๑๐๒] ดูก่อนอานนท์ เราไม่ยอมรับรู้ถ้อยคำของผู้กล่าวอย่างนี้ว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมเสวยสุขโสมนัส มีกามสุขนี้เป็นอย่างยิ่ง ข้อนั้นเพราะเหตุไร ดูก่อนอานนท์ เพราะสุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้  ยังมีอยู่.

ดูก่อนอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้เป็นไฉน ดูก่อนอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธ เพราะล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนะได้โดยประการทั้งปวงอยู่ นี้แล อานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้.

ดูก่อนอานนท์ ข้อที่อัญญเดียรถีย์ปริพาชกจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมตรัสสัญญาเวทยิตนิโรธไว้แล้ว แต่บัญญัติลงในสุข ข้อนี้นั้นจะเป็นไฉนเล่า ข้อนี้นั้นเป็นอย่างไรเล่า ดังนี้ เป็นฐานะที่จะมีได้ ดูก่อนอานนท์ อัญญเดียรถีย์ปริพาชกผู้มีวาทะอย่างนี้ ท่านควรจะกล่าวตอบว่า ดูก่อนอาวุโส พระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงหมายสุขเวทนาอย่างเดียว แล้วบัญญัติไว้ในสุขหามิได้ แต่บุคคลได้สุขในที่ใดๆ พระตถาคตย่อมบัญญัติที่นั้น ๆ ไว้ในสุข.

ผู้ที่ใช้บุญเก่าจนหมด และบุญใหม่ก็ไม่ได้สร้างเพิ่ม(ทุติยาปุตตกสูตร) เล่ม24หน้า496-497

[๓๙๐]  ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศล เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าในเวลาเที่ยงวัน ถวายบังคมแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะพระเจ้าปเสนทิโกศลว่าเชิญเถิดมหาบพิตรพระองค์เสด็จจากไหนมา ในเวลาเที่ยงวัน.

พระเจ้าปเสนทิโกศลทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คฤหบดีผู้เป็นเศรษฐีในกรุงสาวัตถีนี้ กระทำลกิริยาแล้ว ข้าพระองค์ให้ขนทรัพย์สมบัติอันไม่มีบุตรรับมรดกนั้น มาไว้ในวังแล้วก็มา ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เฉพาะเงินเท่านั้นมี ๑๐,๐๐๐,๐๐๐  ส่วนเครื่องรูปิยะไม่ต้องพูดถึง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญก็คฤหบดีผู้เป็นเศรษฐีนั้น ได้บริโภคอาหารเห็นปานนี้ คือบริโภคปลายข้าวกับน้ำส้มพะอูม ได้ใช้ผ้าเครื่องนุ่งห่มเห็นปานนี้ คือนุ่งห่มผ้าเนื้อหยาบที่ตัดเป็นสามชิ้นเย็บติดกัน  ได้ใช้ยานพาหนะเห็นปานนี้ คือใช้รถเก่า ๆ กั้นร่มทำด้วยใบไม้.

[๓๙๑]   พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนมหาบพิตร ข้อนี้เป็นอย่างนั้น   ดูก่อนมหาบพิตร  ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ดูก่อนมหาบพิตร เรื่องเคยมีมาแล้ว คฤหบคีผู้เป็นเศรษฐีนั้น ได้สั่งให้จัดบิณฑบาตถวายพระปัจเจกสัมพุทธะ นามว่า ตครสิขี ว่าท่านทั้งหลาย จงถวายบิณฑะแก่สมณะแล้วลุกจากอาสนะเดินหลีกไป แต่ครั้นถวายแล้ว ภายหลังได้มีความเสียดายว่าบิณฑบาตนี้ ทาสหรือกรรมกรพึงบริโภคยังดีกว่า นอกจากนี้เขายังปลงชีวิตบุตรน้อยคนเดียวของพี่ชาย  เพราะเหตุทรัพย์สมบัติอีก ดูก่อนมหาบพิตรการที่คฤหบดีผู้เป็นเศรษฐีนั้น สั่งให้จัดบิณฑบาตถวายพระตครสิขีปัจเจกสัมพุทธะ ด้วยวิบากของกรรมนั้น เขาจึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์  ๗ ครั้ง  ด้วยวิบากอันเป็นส่วนเหลือของกรรมนั้นเหมือนกัน ได้ครองความเป็นเศรษฐีในกรุงสาวัตถีนี้แหละถึง ๗  ครั้ง.

ดูก่อนมหาบพิตร  การที่คฤหบดีผู้เป็นเศรษฐีนั้นถวายแล้วภายหลังได้มีความเสียดายว่า  บิณฑบาตนี้ทาสหรือกรรมกรพึงบริโภคยังดีกว่า  ด้วยวิบากของกรรมนั้น จิตของเขาจึงไม่น้อมไปเพื่อบริโภคอาหารอันโอฬาร  จิตของเขาจึงไม่น้อมไป  เพื่อใช้ผ้าเครื่องนุ่งห่มอันโอฬาร จิตของเขาไม่น้อมไปเพื่อใช้ยานพาหนะอันโอฬาร  จิตของเขาจึงไม่น้อมไปเพื่อบริโภคเบญจกามคุณอันโอฬาร.

ดูก่อนมหาบพิตร ก็แหละการที่คฤหบดีผู้เป็นเศรษฐีนั้น ปลงชีวิตบุตรน้อยคนเดียวของพี่ชาย  เพราะเหตุทรัพย์สมบัติ ด้วยวิบากของกรรมนั้นเขาจึงถูกไฟเผาอยู่ในนรกหลายปี หลายร้อยปี หลายพันปี  หลายแสนปี ด้วยวิบากอันเป็นส่วนเหลือของกรรมนั้นเหมือนกัน  ทรัพย์สมบัติอันไม่มีบุตรรับมรดกของเขานี้ จึงถูกขนเข้าพระคลังหลวงเป็นครั้งที่ ๗.

ดูก่อนมหาบพิตร ก็บุญเก่าของคฤหบดีผู้เป็นเศรษฐีนั้นหมดสิ้นแล้วและบุญใหม่ก็ไม่ได้สะสมไว้.

ดูก่อนมหาบพิตร  ก็ในวันนี้  คฤหบดีผู้เป็นเศรษฐี  ถูกไฟเผาอยู่ในมหาโรรุวนรก.

พระเจ้าปเสนทิโกศลทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คฤหบดีผู้เป็นเศรษฐี เข้าถึงมหาโรรุวนรกอย่างนั้นหรือ.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า  อย่างนั้น  มหาบพิตร  คฤหบดีผู้เป็นเศรษฐีเข้าถึงมหาโรรุวนรกแล้ว.

[๓๙๒]   พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์คำร้อยแก้วนี้จบลงแล้ว  จึงได้ตรัสพระคาถาคำร้อยกรองต่อไปอีกว่า

ข้าวเปลือก ทรัพย์  เงินทอง  หรือ ข้าวของ ที่หวงแหนอย่างใดอย่างหนึ่งมีอยู่
ทาส  กรรมกร  คนใช้ และผู้อาศัยของเขา พึงพาเอาไปไม่ได้ทั้งหมด จะต้องละ
ทิ้งไว้ทั้งหมด
.

ก็บุคคลทำกรรมใด ด้วยกาย ด้วยวาจา  หรือด้วยใจ กรรมนั่นแหละ เป็น
ของ ๆ เขา และเขาย่อมพาเอากรรมนั้นไป อนึ่งกรรมนั้นย่อมติดตามเขาไป
เหมือนเงาติดตามตน ฉะนั้น เพราะฉะนั้น บุคคลควรทำกรรมดี สั่งสมไว้
สำหรับภายหน้า บุญทั้งหลายย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในปรโลก.

แม้จะทำบาปโดยไม่รู้แต่จัดว่าเป็นบาป (อ.เจตนาสูตร) เล่ม35หน้า408-409

บทว่า กาเย ได้แก่ เมื่อกายทวาร  อธิบายว่า เมื่อความเคลื่อนไหวทางกายมีอยู่.
ในบทว่า  กายสญฺเจตนาเหตุ  เป็นต้น ความสำเร็จแห่งเจตนา ในกายทวารชื่อว่า กายสัญเจตนา  (ความจงใจทำทางกาย)  กายสัญเจตนานั้น มี  ๒๐ อย่าง คือ กามาวจรกุศล ๘ อย่าง อกุศล ๑๒ อย่าง.   วจีสัญเจตนา (ความจงใจทำทางวาจา)  ก็เหมือนกัน มโนสัญญเจตนา (ความจงใจทำทางใจ)  ก็เหมือนกัน. อนึ่ง แม้มหัคคตเจตนา ๙ ก็ได้ในบทนี้.  บทว่ากายสญฺเจตนาเหตุ ได้แก่  เพราะกายสัญเจตนาเป็นปัจจัย. บทว่า อุปฺปชฺชติ ทุกข์เกิดขึ้นภายในตนเพราะกุศลกรรม ๘ เป็นปัจจัย ทุกข์เกิดขึ้นเพราะอกุศลกรรม ๑๒ เป็นปัจจัย.    แม้ในทวารที่เหลือก็มีนัยนี้เหมือนกัน.  บทว่า อวิชฺชาปจฺจยา วา ได้แก่ เพราะอวิชชาเป็นเหตุ.

จริงอยู่  ถ้าว่าอวิชชาที่ถูกปกปิดไว้เป็นปัจจัย เมื่อเป็นเช่นนั้น เจตนาอันเป็นปัจจัยแห่งสุขและทุกข์ในทวาร  ๓ ย่อมเกิดขึ้น.  นี้ท่านกล่าวด้วยอำนาจปัจจัยอันเป็นมูล  ด้วยประการฉะนี้.

ก็บุคคลใดรู้กุศลว่าเป็นกุศล รู้อกุศลว่าเป็นอกุศล  รู้กุศลวิบากว่าเป็นกุศลวิบาก
รู้อกุศลวิบากว่าเป็นอกุศลวิบาก ย่อมปรุงสังขาร  ๒๐ อย่างในกายทวารบุคคลนี้
ชื่อว่า  รู้ปรุงสังขาร  บุคคลใดไม่รู้อย่างนี้ปรุงสังขาร บุคคลนี้  ชื่อว่า  ไม่รู้
ปรุงสังขาร.  แม้ในทวารที่เหลือก็นัยนี้เหมือนกัน.

ในข้อนั้นพึงทราบการการทำโดยไม่รู้ตัวดังนี้.  พวกเด็กรุ่น คิดว่า เราจะทำกิจที่มารดาบิดาทำไว้  จึงไหว้เจดีย์  บูชาด้วยดอกไม้ ไหว้หมู่ภิกษุสงฆ์ แม้ทั้งที่เขาไม่รู้ว่าเป็นกุศล การกระทำนั้นก็เป็นกุศลทั้งนั้น. สัตว์เดียรัจฉานมีเนื้อและนกเป็นต้นก็เหมือนกัน  ฟังธรรม  ไหว้สงฆ์  ไหว้เจดีย์  ทั้งที่มันรู้บ้าง ไม่รู้บ้าง กระทำนั้นก็เป็นกุศลเหมือนกัน. แต่พวกเด็กรุ่น เอามือและเท้าเตะดีมารดาบิดา ยกมือขู่ตะคอกขว้างก้อนดินด่า. แม่โคไล่ตามหมู่ภิกษุ. เหล่าสุนัขไล่ตามกัด. สีหะและพยัคฆ์เป็นต้น ไล่ตามฆ่า. ทั้งที่มันรู้บ้างไม่รู้บ้าง พึงทราบว่าเป็นอกุศลกรรม.

เป็นภิกษุที่ได้ฌานแต่ประมาทไม่รู้อริยสัจ ก็ลาสิกขาได้ (จิตตหัตถิสาริปุตตสูตร) เล่ม36หน้า742-747

ว่าด้วยเหตุให้ลาสิกขา

[๓๓๑]  สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี ก็สมัยนั้น ภิกษุผู้เถระหลายรูปกลับจากบิณฑบาตภายหลังภัต นั่งประชุมสนทนาอภิธรรมกถากันอยู่ที่โรงกลม   ได้ทราบว่าในที่ประชุมนั้น ท่านพระจิตตหัตถิสาริบุตร เมื่อพวกภิกษุผู้เถระกำลังสนทนา อภิธรรมกถากันอยู่ พูดสอดขึ้นในระหว่าง

ลำดับนั้น ท่านพระมหาโกฏฐิตะ ได้กล่าวกะท่านพระจิตตหัตถิสาริบุตรว่า  ท่านพระจิตตหัตถิสาริบุตร  เมื่อภิกษุผู้เถระกล่าวสนทนาอภิธรรมกถากันอยู่  พูดสอดขึ้นระหว่าง ขอท่านพระจิตตหัตถิสาริบุตรจงรอคอยจนกว่าภิกษุผุ้เถระสนทนากันให้จบเสียก่อน.

เมื่อท่านพระมหาโกฏฐิตะกล่าวอย่างนี้แล พวกภิกษุผู้เป็นสหายของท่านพระจิตตหัตถิสาริบุตร ได้กล่าวกับท่านมหาโกฏฐิตะว่า แม้ท่านพระมหาโกฏฐิตะย่อมรุกรานท่านพระจิตตหัตถิสารีบุตร (เพราะว่า) ท่านพระจิตตหัตถิสาริบุตรเป็นบัณฑิต ย่อมสามารถกล่าวสนทนาอภิธรรมกถากับพวกภิกษุผู้เถระได้ ท่านพระมหาโกฏฐิตะได้กล่าวว่า ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย บุคคลผู้ไม่ทราบวาระจิตของผู้อื่นพึงรู้ข้อนี้ได้ยาก.

ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นดุจสงบเสงี่ยม เป็นดุจอ่อนน้อม เป็นดุจสงบเรียบร้อย    ตลอดเวลาที่อาศัยพระศาสดาหรือเพื่อนพรหมจรรย์ ผู้ดำรงอยู่ในฐานะเป็นครูรูปใดรูปหนึ่งอยู่ แต่ว่าเมื่อใดเขาหลีกออกไปจากพระศาสดา หลีกออกไปจากเพื่อนพรหมจรรย์ผู้ดำรงอยู่ในฐานะเป็นครู เมื่อนั้น    เขาย่อมคลุกคลีด้วยพวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาพระราชา มหาอมาตย์ของพระราชา พวกเดียรถีย์ พวกสาวกเดียรถีย์อยู่ เมื่อเขาคลุกคลีอยู่ด้วยหมู่ ปล่อยจิต ไม่สำรวมอินทรีย์ ชอบคุย ราคะย่อมรบกวนจิตเขา เขามีจิตถูกราคะรบกวน ย่อมลาสิกขาสึกมาเป็นคฤหัสถ์ ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย เปรียบเหมือนโคที่เคยกินข้าวกล้า ถูกเขาผูกไว้ด้วยเชือกหรือขังไว้ในคอก ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า โคเคยกินข้าวกล้าตัวนี้จักไม่ลงกินข้าวกล้าอีก ณ บัดนี้ ผู้นั้นพึงกล่าวโดยชอบหรือหนอ  ภิกษุเหล่านั้นกล่าวตอบว่า ดูก่อนอาวุโส  ข้อนี้ไม่เป็นเช่นนั้น ข้อนี้ย่อมเป็นฐานะที่มีได้  คือโคที่เคยกินข้าวกล้าตัวนั้น พึงดึงเชือกขาดหรือแหกคอกแล้ว ลงไปกินข้าวกล้าอีกทีเดียว ฉันใด ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นดุจสงบเสงี่ยม เป็นดุจอ่อนน้อม  เป็นดุจสงบเรียบร้อย ตลอดเวลาที่อาศัยพระศาสดาหรือเพื่อนพรหมจรรย์ ผู้ดำรงอยู่ในฐานะเป็นครูรูปใดรูปหนึ่งอยู่ แต่ว่าเมื่อใด เขาหลีกไปจากพระศาสดาหรือหลีกออกไปจากเพื่อนพรหมจรรย์ผู้ดำรงอยู่ในฐานะเป็นครู เมื่อนั้น เขาย่อมคลุกคลีด้วยพวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา มหาอมาตย์ของพระราชา เดียรถีย์ พวกสาวกเดียรถีย์อยู่เมื่อเขาคลุกคลีอยู่ด้วยหมู่ ปล่อยจิต ไม่สำรวมอินทรีย์ ชอบคุย ราคะย่อมรบกวนจิตเขา เขามีจิตถูกราคะรบกวนย่อมลาสิกขาสึกมาเป็นคฤหัสถ์.

ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน  มีวิตกวิจาร  มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่เขากล่าวว่า เราได้ปฐมฌาน (แต่)  คลุกคลีด้วยพวกภิกษุ ฯลฯ ย่อมลาสิกขาสึกมาเป็นคฤหัสถ์

ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย เปรียบเหมือนฝนเม็ดใหญ่. (ลูกเห็บ)ตกลงที่ทางใหญ่สี่แพร่ง พึงยังฝุ่นให้หายไป ปรากฏเป็นทางลื่น ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า บัดนี้ ฝุ่นจักไม่ปรากฏที่ทางใหญ่สี่แพร่งโน้นอีก ผู้นั้นพึงกล่าวโดยชอบหรือหนอ ดูก่อนอาวุโส ข้อนี้ไม่เป็นเช่นนั้น ข้อนี้ย่อมเป็นฐานะที่มีได้ คือ มนุษย์หรือโค  และสัตว์เลี้ยง พึงเหยียบย่ำที่ทางใหญ่สี่แพร่งแห่งโน้นหรือลมและแดดพึงแผดเผาให้แห้ง เมื่อเป็นเช่นนั้น ฝุ่นพึงปรากฏอีกทีเดียวฉันใด ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม  บรรลุปฐมฌาน ฯลฯ  ย่อมลาสิกขาสึกมาเป็นคฤหัสถ์.

ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน   เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจารเพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่  เขาย่อมกล่าวว่า  เราเป็นผู้ได้ทุติยฌาน (แต่) ยังคลุกคลีด้วยพวกภิกษุ ฯลฯ ย่อมลาสิกขาสึกมาเป็นคฤหัสถ์

ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย เปรียบเหมือนฝนเม็ดใหญ่  ตกลงที่สระใหญ่ใกล้บ้านหรือนิคม พึงยังทั้งหอยกาบและหอยโข่ง ทั้งก้อนกรวดและกระเบื้องให้หายไปผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า บัดนี้ หอยกาบ หอยโข่ง ก้อนกรวดและกระเบื้องจักไม่ปรากฏในสระโน้นอีก ผู้นั้นพึงกล่าวโดยชอบหรือหนอ ดูก่อนอาวุโสข้อนี้ไม่เป็นเช่นนั้น ข้อนี้ย่อมเป็นฐานะที่มีได้ คือ มนุษย์หรือโคและสัตว์เลี้ยงพึงดื่มที่สระแห่งโน้น หรือลมและแดดพึงแผดเผาให้แห้ง เมื่อเป็นเช่นนั้นทั้งหอยกาบและหอยโข่ง ทั้งก้อนกรวดและกระเบื้อง พึงปรากฏได้อีกทีเดียวฉันใด ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกันบรรลุทุติยฌาน ฯลฯ ย่อมสาสิกขาสึกมาเป็นคฤหัสถ์.

ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย  เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ   อยู่เป็นสุขเขาย่อมกล่าวว่า เราไค้ตติยฌาน (แต่) ยังคลุกคลีด้วยพวกภิกษุ ฯลฯ ลาสิกขาสึกมาเป็นคฤหัสถ์ ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย เปรียบเหมือนอาหารค้างคืน  ไม่พึงชอบใจแก่บุรุษผู้บริโภคอาหารประณีต ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า บัดนี้อาหารจักไม่ชอบใจแก่บุรุษชื่อโน้นอีก ผู้นั้นพึงกล่าวโดยชอบหรือหนอ ดูก่อนอาวุโสข้อนี้ไม่เป็นเช่นนั้น ข้อนี้ย่อมเป็นฐานะที่มีได้ คือ อาหารอื่นจักไม่ชอบใจแก่บุรุษผู้โน้นผู้บริโภคอาหารประณีต ตลอดเวลาที่โอชารสแห่งอาหารนั้นจักดำรงอยู่ในร่างกายของเขา แต่เมื่อใด โอชารสแห่งอาหารนั้นจักหมดไป เมื่อนั้น อาหารนั้นพึงเป็นที่ชอบใจเขาอีก ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย  บุคคลบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกันเป็นผู้มีอุเบกขา เป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน ฯลฯ ย่อมลาสิกขาสึกมาเป็นคฤหัสถ์.

ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ บรรลุจตุตถฌานไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ เขากล่าวว่าเราได้จตุตถฌาน (แต่ว่า) ยังคลุกคลีด้วยพวกภิกษุ ฯลฯ ย่อมลาสิกขาสึกมาเป็นคฤหัสถ์ ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย เปรียบเหมือนห้วงน้ำในที่ไม่ถูกลน ปราศจากคลื่น ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า บัดนี้  คลื่นจักไม่มีปรากฏที่ห้วงน้ำแห่งโน้นอีก ผู้นั้นพึงกล่าวโดยชอบหรือหนอ ดูก่อนอาวุโส ข้อนี้ไม่เป็นเช่นนั้น ข้อนี้ย่อมเป็นฐานะที่มีได้คือ ลมฝนที่แรงกล้าพึงพัดมาจากทิศตะวันออกก็พึงพัดให้เกิดคลื่นขึ้นที่ห้วงน้ำแห่งนั้น  ลมฝนที่แรงกล้าพึงพัดมาจากทิศตะวันตก...จากทิศเหนือ...จากทิศใต้  ก็พึงพัดให้เกิดคลื่นขึ้นที่ห้วงน้ำแห่งนั้น   ฉันใด ดูก่อนอาวุโสทั้งหลายบุคคลบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน บรรลุจตุตถฌานไม่มีทุกข์ ไม่มีสุขเพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัสโทมนัสก่อน ๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ เขากล่าวว่าเราได้จตุตถฌาน (แต่ว่า) ยังคลุกคลีด้วยพวกภิกษุ ฯลฯย่อมลาสิกขามาเป็นคฤหัสถ์.

ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ บรรลุเจโตสมาธิอันไม่มีนิมิต เพราะไม่ใส่ใจถึงนิมิตทั้งปวงอยู่ เขาย่อมกล่าวว่า เราได้เจโตสมาธิอันไม่มีนิมิต แต่ยังคลุกคลีด้วยพวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา พวกเดียรถีย์ พวกสาวกเดียรถีย์ เมื่อเขาคลุกคลีด้วยหมู่  ปล่อยจิต ไม่สำรวมอินทรีย์ ชอบคุยอยู่ ราคะย่อมรบกวนจิตเขา เขามีจิตถูกราคะรบกวนแล้ว ย่อมลาสิกขาสึกมาเป็นคฤหัสถ์ ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย  เปรียบเหมือนพระราชาหรือมหาอมาตย์ของพระราชา  มีจตุรงคเสนาเดินทางไกลไปพักแรมคืน อยู่ที่ป่าทึบแห่งหนึ่ง ในป่าทึบแห่งนั้น เสียงจักจั่นเรไร พึงหายไปเพราะเสียงช้าง เสียงม้า เสียงรถ เสียงพลเดินเท้าเสียงกึกก้องแห่งกลอง บัณเฑาะว์ สังข์ และพิณ ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่าบัดนี้ ที่ป่าทึบแห่งโน้น เสียงจักจั่นเรไร จักไม่มีปรากฏอีก ผู้นั้นพึงกล่าวโดยชอบหรือหนอ ดูก่อนอาวุโส ข้อนี้ไม่เป็นเช่นนั้น ข้อนี้ย่อมเป็นฐานะที่มีได้ คือ เมื่อใด พระราชาหรือมหาอมาตย์ของพระราชา  พ้นไปจากป่าทึบแห่งนั้น เมื่อนั้น เสียงจักจั่นเรไร พึงปรากฏได้อีก ฉันใด ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน บรรลุเจโตสมาธิอันไม่มีนิมิต  เพราะไม่ใส่ใจถึงนิมิตทั้งปวงอยู่ เขากล่าวว่า เราได้เจโตสมาธิอันไม่มีนิมิตแล้ว แต่ยังคลุกคลีด้วยพวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา มหาอมาตย์ของพระราชา พวกเดียรถีย์  พวกสาวกเดียรถีย์อยู่ เมื่อเขาคลุกคลีด้วยหมู่ ปล่อยจิต ไม่สำรวมอินทรีย์ ชอบคุยอยู่ ราคะย่อมรบกวนจิตเขา เขามีจิตถูกราคะรบกวนแล้ว ย่อมลาสิกขาสึกมาเป็นคฤหัสถ์.

สมัยต่อมา ท่านพระจิตตหัตถิสารีบุตร ลาสิกขาสึกมาเป็นคฤหัสถ์ ครั้งนั้น พวกภิกษุผู้เป็นสหายของบุรุษชื่อจิตตหัตถิสารีบุตร ได้เข้าไปท่านพระมหาโกฏฐิตะถึงที่อยู่ แล้วถามว่า ท่านพระมหาโกฏฐิตะได้กำหนดรู้ใจบุรุษ ชื่อจิตตหัตถิสารีบุตรด้วยใจว่า บุรุษชื่อจิตตหัตถิสารีบุตรเป็นผู้ได้วิหารสมาบัติ
เหล่านี้ๆ และจักลาสิกขามาเป็นคฤหัสถ์  หรือเทวดาทั้งหลายได้แจ้งเนื้อความนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ   บุรุษชื่อจิตตหัตถิสารีบุตรเป็นผู้ได้วิหารสมาบัติเหล่านี้ ๆ และจักลาสิกขาสึกมาเป็นคฤหัสถ์ ท่านพระมหาโกฏฐิตะกล่าวว่า

ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย ข้าพเจ้าได้กำหนดรู้ใจบุรุษชื่อจิตตหัตถิสารีบุตรด้วยใจว่า เป็นผู้ได้วิหารสมาบัติเหล่านี้ๆ และจักลาสิกขาสึกมาเป็นคฤหัสถ์ แม้เทวดาก็บอกเนื้อความนี้แก่ข้าพเจ้า ลำดับนั้น พวกภิกษุผู้เป็นสหายของบุรุษชื่อ จิตตหัตถิสารีบุตร ได้พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุรุษชื่อจิตตหัตถิสารีบุตรเป็นผู้ได้วิหารสมาบัติเหล่านี้ ๆ และได้ลาสิกขาสึกมาเป็นคฤหัสถ์ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไม่นานนัก บุรุษชื่อจิตตหัตถิสารีบุตรจักระลึกถึงคุณแห่งเนกขัมมะได้.

ครั้งนั้น ไม่นานเท่าไร บุรุษชื่อจิตตหัตถิสารีบุตรก็ปลงผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสายะออกบวชเป็นบรรพชิต ท่านพระจิตตหัตถิสารีบุตรหลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีจิตแน่วแน่ ไม่นานนัก ก็ได้ทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ที่กุลบุตรทั้งหลายออกบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบันเทียว เข้าถึงอยู่ได้ทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีอีก ก็แหละท่านพระจิตตหัตถิสารีบุตร ได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย.

-วัดป่าสามแยก ศึกษาพระธรรมวินัย เบิกบุญ โอนบุญ อกหัก โดนของ ธรรมะ ธรรมทาน คลายเครียด เจริญรุ่งเรือง //www.samyaek.com

-เวบพี่ดาบตำรวจต้น http://www.piyavat.com

-Facebook พุทธพจน์ //www.facebook.com/login.php?next=http%3A%2F%2Fwww.facebook.com%2Fgroups%2FBuddhaspeech

-Download free พระไตรปิฏกพร้อมหัวข้อธรรมสำหรับ apple ipad & iphone ดูรายละเอียดได้ที่เวบ //www.tripitaka91.com ส่วนAndroid ประมาณเดือนมกราคมค่ะ

****หมายเหตุ "แสดงธรรมวันอาสาฬหบูชา ปี 2555" (//youtu.be/l52iDWt3V5Q ) นาทีที่ 6:01:55 ..เป็นต้นไป หลวงปู่ท่านได้พูดถึง ทนายชนอณุพงศ์ ชัยธนาวิรัตน์ ท่านใดมีปัญหาด้านกฏหมาย,คดีความต่างๆ ปรึกษาได้ที่ ทนายชนอณุพงศ์ ชัยธนาวิรัตน์ ที่เมล์ pasponglawyer@hotmail.com ,เบอร์โทรที่ 0818060981 , 0867809391 ****




 

Create Date : 05 มกราคม 2556
3 comments
Last Update : 5 มกราคม 2556 19:00:41 น.
Counter : 1288 Pageviews.

 

ทุกๆ วันเสาร์เวลาประเทศไทย โดยประมาณ 20:30 น.มีการถ่ายทอดสดไปทั่วโลก เทศน์โดยหลวงปู่เกษม อาจิณณสีโล จากสำนักสงฆ์ป่าสามแยก

รับชมได้ที่
ดูวีดีโอช่องที่ 1 (สำหรับผู้ที่อินเตอร์เน็ทช้า: 56k)
www.samyaek.com

ดูวีดีโอช่องที่ 2 (สำหรับผู้ที่อินเตอร์เน็ทเร็ว: 212k)
www.samyaek.com/?channel=2

สำหรับท่านที่มีปัญหาดูถ่ายทอดสดไม่ได้
www.samyaek.com/board2/index.php?topic=2303.0

การใช้ iPad, iPhone, iPod touch ดูถ่ายทอดสด
www.samyaek.com/board2/index.php?topic=5531.0

วิธีใช้ Tablet ตระกูล Android ดูถ่ายทอดสด
www.samyaek.com/board2/index.php?topic=5512.0

สมาชิกท่านใดมีปัญหาในการรับชม
(ปัญหาอันเกิดจากคอมพิวเตอร์ของท่านเอง)

หากได้แก้ไขตามลิงค์ต่างๆ ข้างต้นแล้ว ก็ยังไม่สามารถรับชมได้
ให้ท่านติดต่อสอบถามได้ที่ คุณชัยณรงค์ รัตนเกษมสุข (เม้ง)
Dtac : 081-554-1699 , AIS 081-935-1651
e-mail : macmagic99@hotmail.com

 

โดย: Budratsa 5 มกราคม 2556 19:03:03 น.  

 

...แจกฟรี...CD พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ชุด 91 เล่ม ของมหามกุฏราชวิทยาลัย และDVD จากการแสดงธรรมของหลวงปู่เกษม อาจิณณสีโล ได้ที่www.samyaek.com กระดาน "แจกสื่อธรรม" หากท่านใดยังไม่ได้สมัครสมาชิก ใช้
Username : Media
Password : 123456

 

โดย: Budratsa 5 มกราคม 2556 19:04:26 น.  

 

ท่านใดต้องการพระสูตรเสียงอ่านทั้งหมด
แบบถูกต้อง ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะรวบรวมจากเวปทั้งหมด ที่ให้ดาวน์โหลด

จำนวนไฟล์ เกือบ 7Gb ใช้แผ่น dvd 2แผ่น ติดต่อไปที่คุณสาธิต

ส่งที่อยู่ไปที่อีเมล tripitaka91@live.com

 

โดย: Budratsa 5 มกราคม 2556 19:23:29 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


Budratsa
Location :
พิจิตร Switzerland

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]




สวัสดีค่ะ ยินดีต้อนรับทุกๆคนค่ะ
"ดูก่อนอานนท์ บางทีพวกเธอจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ปาพจน์ (พุทธพจน์) มีพระศาสดาล่วงแล้ว พระศาสดาของพวกเราไม่มี ข้อนี้พวกเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น ธรรมก็ดี วินัยก็ดีอันใดอันเราแสดงแล้ว ได้บัญญัติไว้แล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยอันนั้น จักเป็นศาสดาแห่งพวกเธอ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา" เล่มที่ ๑๓ : พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ หน้าที่ ๓๒๐
Friends' blogs
[Add Budratsa's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.