"ทรัพย์เครื่องปลื้มใจอย่างใดอย่างหนึ่งในโลกนี้หรือในโลกอื่น หรือรัตนะใดอันประณีตในสวรรค์ ทรัพย์และรัตนะนั้นเสมอด้วยพระตถาคตย่อมไม่มี พระพุทธเจ้าแม้นี้เป็นรัตนะอันประณีต ด้วยการกล่าวคำจริงนี้ ขอความสวัสดีจงมี....." "พระไตรปิฏก เป็นตาที่วิเศษยิ่ง, เป็นหูที่วิเศษยิ่ง, เป็นจมูกที่วิเศษยิ่ง, เป็นลิ้นที่วิเศษยิ่ง, เป็นกายที่วิเศษยิ่ง, เป็นใจที่วิเศษยิ่ง, เป็นครู-อาจารย์ที่วิเศษยิ่ง, เป็นพ่อ-แม่ที่วิเศษยิ่ง, เป็นมิตรและเข็มทิศที่วิเศษยิ่ง, เป็นแผนที่และป้ายบอกทางที่วิเศษยิ่ง, เป็นแสงสว่างส่องทางสู่นิพพานที่วิเศษยิ่ง"จากวัดสามแยก
Group Blog
 
 
กุมภาพันธ์ 2555
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
26272829 
 
18 กุมภาพันธ์ 2555
 
All Blogs
 

เรียนรู้เรื่อง ศีล จากพระไตรปิฏก 3

กลิ่นศีล (เรื่องปัญหาของพระอานนทเถระ) เล่ม41หน้า118
พระอานนท์. พระเจ้าข้า ก็กลิ่นของคันธชาตใด ฟุ้งไปตามลม
ก็ได้. กลิ่นของคันธชาตใด ฟุ้งไปทวนลมก็ได้. กลิ่นของคันธชาตใด
ฟุ้งไปตามลมและทวนลมก็ได้, คันธชาตนั้นเป็นไฉน ?

พระศาสดา ตรัสว่า "อานนท์ หญิงก็ตาม ชายก็ตาม ในบ้านหรือในนิคมใด ในโลกนี้เป็นผู้ถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นที่พึ่ง, เป็นผู้ถึงพระธรรมว่าเป็นที่พึ่ง, เป็นผู้ถึงพระสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่ง; เป็นผู้งดเว้นจากการทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วง. เป็นผู้งดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เขามิได้ให้.เป็นผู้งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม เป็นผู้งดเว้นจากการกล่าวเท็จ.เป็นผู้งดเว้นจากฐานะเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท คือการดื่มน้ำเมา ได้แก่ สุราและเมรัย; เป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม; มีใจมีความตระหนี่เป็นมลทิน ไปปราศแล้ว มีเครื่องบริจาคอันสละแล้ว มีฝ่ามืออันล้างแล้ว ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการจำแนกทาน ย่อมอยู่ครอบครองเรือน, สมณะและพราหมณ์ในทิศทั้งหลายย่อมกล่าว (สรรเสริญ) เกียรติคุณของหญิงและชายนั้นว่า 'หญิงหรือชายในนิคมชื่อโน้น เป็นผู้ถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นที่พึ่ง, ฯลฯ ยินดีในการจำแนกทาน.' แม้เทวดาทั้งหลาย ย่อมกล่าว (สรรเสริญ) เกียรติคุณของหญิงและชายนั้นว่า หญิงหรือชายในบ้านหรือนิคมชื่อโน้น เป็นผู้ถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นที่พึ่ง, ฯ ลฯ ยินดีในการจำแนกทาน.'

อานนท์ นี้แล เป็นคันธชาตมีกลิ่นฟุ้งไปตาม ลมก็ได้. มีกลิ่นฟุ้งไปทวนลมก็ได้, มีกลิ่นฟุ้งไปตามลมและทวนลมก็ได้" ดังนี้แล้ว ได้ทรงภาษิตพระคาถาเหล่านั้นว่า :-

"กลิ่นดอกไม้ฟุ้งไปทวนลมไม่ได้, กลิ่นจันทน์
หรือกลิ่นกฤษณาและกลัมพักก็ฟุ้งไปไม่ได้, แต่กลิ่น
ของสัตบุรุษฟุ้งไปทวนลมได้, (เพราะ) สัตบุรุษ
ย่อมฟุ้งขจรไปตลอดทุกทิศ, กลิ่นจันทน์ก็ดี แม้กลิ่น
กฤษณาก็ดี กลิ่นอุบลก็ดี กลิ่นดอกมะลิก็ดี, กลิ่น
ศีลเป็นเยี่ยม กว่าคันธชาตทั้งหลายนั่น."


ผู้มีศีลพึงหวังได้ (อากังเขยสูตร) เล่ม 17หน้า 398-406
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็นผู้มีศีลอันสมบูรณ์ มีปาฏิโมกข์อันสมบูรณ์อยู่เถิด จงเป็นผู้สำรวมด้วยความสำรวมในปาฏิโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจรอยู่เถิด จงเป็นผู้เห็นภัยในโทษทั้งหลายมีประมาณน้อย สมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลายเถิด.

ความหวังที่ ๑
[๗๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุจะพึงหวังว่า ขอเราพึงเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจ เป็นที่เคารพ และเป็นผู้ควรยกย่องของเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายเถิด ดังนี้ ภิกษุนั้นควรกระทำให้บริบูรณ์ในศีล ประกอบธรรมเครื่องระงับจิตของตน ไม่ทำฌานให้เหินห่าง ประกอบด้วยวิปัสสนาเพิ่มพูน ( การอยู่ใน) สุญญาคาร.

ความหวังที่ ๒
[๗๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุจะพึงหวังว่า ขอเราพึงได้ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัชบริขารเถิด ดังนี้......

ความหวังที่ ๓
[๗๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุจะพึงหวังว่า เราบริโภคจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารของเทวดาและมนุษย์เหล่าใด สักการะเหล่านั้นของเทวดาและมนุษย์เหล่านั้นพึงมีผลานิสงส์มาก ดังนี้.....

ความหวังที่ ๔
[๗๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุจะพึงหวังว่า ญาติและสาโลหิตของเราเหล่าใด ล่วงลับทำกาละไปแล้ว มีจิตใจเลื่อมใส ระลึกถึงอยู่ ความระลึกถึงด้วยจิตอันเลื่อมใสของญาติและสาโลหิตเหล่านั้น พึงมีผลานิสงส์มากเถิด ดังนี้......

ความหวังที่ ๕
[๗๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุจะพึงหวังว่า เราพึงเป็นผู้ข่มความไม่ยินดีและความยินดีได้ อนึ่ง ความไม่ยินดีอย่าพึงครอบงำเราได้เลย เราพึงครอบงำ ย่ำยี ความไม่ยินดีอันเกิดขึ้นแล้วได้อยู่เถิด ดังนี้......

ความหวังที่ ๖
[๗๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุจะพึงหวังว่า เราจะพึงเป็นผู้ข่มความกลัว และความขลาดได้ อนึ่ง ความกลัวและความขลาด อย่าพึงครอบงำเราได้เลย เราพึงครอบงำ ย่ำยี ความกลัว และความขลาดที่เกิดขึ้นแล้วได้อยู่เถิด ดังนี้..............

ความหวังที่ ๗
[๘๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุจะพึงหวังว่า เราเป็นผู้ได้ฌานทั้ง ๔
อันเกิดขึ้นกับจิตที่ผ่องใสยิ่ง เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรม ตามความปรารถนา พึงได้ไม่ยาก ไม่ลำบากเถิด ดังนี้......

ความหวังที่ ๘
[๘๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุจะพึงหวังว่า เราพึงถูกต้องด้วยกายซึ่งวิโมกข์อันก้าวล่วงรูปาวจรฌานแล้ว เป็นธรรมไม่มีรูปสงบ ระงับอยู่เถิด ดังนี้....

ความหวังที่ ๙
[๘๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุจะพึงหวังว่า เราพึงเป็น โสดาบัน
เพราะความสิ้นไปแห่งสังโยชน์ ๓ พึงเป็นผู้มีอันไม่ตกต่ำเป็น ธรรมดา
เป็นผู้เที่ยง(ที่จะตรัสรู้) มีอันตรัสรู้เป็นเบื้องหน้าเถิด ดังนี้.......

ความหวังที่ ๑๐
[๘๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุจะพึงหวังว่า เราเป็นพระสกทาคามี
เพราะความสิ้นไปแห่งสังโยชน์ ๓ ( และ) เพราะราคะ โทสะ โมหะ เป็นสภาพเบาบางพึงมาสู่โลกนี้เพียงครั้งเดียว แล้วพึงทำที่สุดทุกข์ได้เถิด ดังนี้..........

ความหวังที่ ๑๑
[๘๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุจะพึงหวังว่า เราพึงเป็นอุปปาติกสัตว์
เพราะความสิ้นไปแห่งโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ พึงปรินิพพานในพรหมโลกนั้นมีอันไม่กลับมาจากโลกนั้นเป็นธรรมดาเถิด ดังนี้......

ความหวังที่ ๑๒
[ ๘๕ ] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุจะพึงหวังว่า เราพึงบรรลุอิทธิวิธิหลายประการ คือคนเดียวพึงเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนพึงเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝากำแพง ภูเขาไปได้ ไม่ติดขัด เหมือนไปในที่ว่างก็ได้พึงผุดขึ้น ดำลง แม้ในแผ่นดิน เหมือนในน้ำก็ได้ พึงเดินบนน้ำ ไม่แตกแยก เหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์ มีอานุภาพมาก ด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้เถิด.ดังนี้.....

ความหวังที่ ๑๓
[๘๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุจะพึงหวังว่า เราพึงได้ยินเสียง ๒ ชนิด คือ เสียงทิพย์ และเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ด้วยทิพยโสตอันบริสุทธิ์ ล่วงโสตของมนุษย์เถิด ดังนี้......

ความหวังที่ ๑๔
[๘๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุจึงพึงหวังว่า เราพึงกำหนดรู้ใจของสัตว์อัน ของบุคคลอื่นด้วยใจ คือ จิตมีราคะ ก็รู้ว่าจิตมีราคะหรือจิตปราศจากราคะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ จิตมีโทสะ ก็รู้ว่าจิตมีโทสะ หรือจิตปราศจากโทสะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ จิตมีโมหะ ก็รู้ว่าจิตมีโมหะ หรือจิตปราศจากโมหะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ จิตหดหู่ ก็รู้ว่าจิตหดหู่ หรือจิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน จิตเป็นมหัคคตะ ก็รู้ว่าจิตเป็นมหัคคตะ หรือจิตไม่เป็นมหัคคตะ ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นมหัคคตะ จิตมีจิตอันยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า จิตเป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตเป็นสมาธิ หรือจิตไม่เป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นสมาธิ จิตหลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตหลุดพ้นแล้ว หรือจิตยังไม่หลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตยังไม่หลุดพ้น ดังนี้.....

ความหวังที่ ๑๕
[๘๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุจะพึงหวังว่า เราพึงระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือพึงระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังกัดกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุข เสวยทุกข์อย่างนั้น ๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้น ๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้ เราพึงระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุทเทศ ด้วยประการฉะนี้เถิด ดังนี้.....

ความหวังที่ ๑๖
[ ๘๙ ] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุจะพึงหวังว่า เราพึงเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุบัติเลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์พึงรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือ การกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เมื่อตายไป เขาจะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

ส่วนสัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ เมื่อตายไป เขาจะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ดังนี้ เราพึงเห็นหมู่สัตว์กำลังจุติ กำลังอุบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ พึงรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมด้วยประการฉะนี้เถิด ดังนี้...........

ความหวังที่ ๑๗
[๙๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุจะพึงหวังว่า เราพึงทำให้แจ้งซึ่ง เจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่เถิด ดังนี้ ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล ประกอบธรรมเครื่องระงับจิตอันเป็นไปในภายใน ไม่ทำฌานให้เหินห่าง ประกอบด้วยวิปัสสนา เพิ่มพูน(การอยู่ใน) สุญญาคาร.

คำใดที่เรากล่าวแล้วว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายะจงเป็นผู้มีศีลอันถึงพร้อม มีปาฏิโมกข์อันถึงพร้อมแล้วอยู่เถิด เธอทั้งหลายจงเป็นผู้สำรวมด้วยความสำรวมในปาฏิโมกข์ ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจรอยู่เถิด เธอทั้งหลายจงเป็นผู้มักเห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลายเถิด ดังนี้ คำนั้น อันเราอาศัยอำนาจประโยชน์ จึงได้กล่าวแล้วฉะนั้นแล.

จบ อากังเขยยสูตรที่ ๖

ประทุษร้ายผู้มีศีลย่อมวิบัติ (อ.ภรุราชชาดก) เล่ม57หน้า 331,334-336
ประทุษร้ายผู้มีศีลย่อมวิบัติ

[๒๗๕] เราได้ฟังมาว่า พระราชาในภรุรัฐ ได้
ทรงประทุษร้ายต่อฤๅษีทั้งหลายแล้ว ทรงประสบ
ความวิบัติพร้อมทั้งแว่นแคว้น.

[๒๗๖] เพราะฉะนั้นแลบัณฑิตทั้งหลายจึงไม่
สรรเสริญการลุอำนาจแก่ฉันทาคติ บุคคลไม่ควร
จิตคิดร้าย ควรกล่าวแต่คำที่อิงความจริง.

จบ ภรุราชาดกที่ ๓
.................................................
ในอดีตกาลมีพระราชาพระนามว่า ภรุราช เสวยราชสมบัติอยู่ในแคว้นภรุ.
ในครั้งนั้นพระโพธิสัตว์เป็นดาบส เป็นครูประจำคณะ. ได้อภิญญาห้าและสมาบัติแปด อยู่ในหิมวันตประเทศมาช้านาน จึงแวดล้อมไปด้วยดาบส ๕๐๐ ลงจากหิมวันตประเทศ เพื่อต้องการอาหารรสเค็มและเปรี้ยว ได้ไปถึงภรุนครโดยลำดับ ออกบิณฑบาต ณ เมืองนั้น แล้วออกจากนครนั่งอยู่ที่โคนต้นไทรย้อย ซึ่งสมบูรณ์ไปด้วยสาขา และค่าคบ ทางประตูด้านเหนือ กระทำภัตกิจเสร็จแล้ว อาศัยอยู่ ณ โคนต้นไม้นั่นเอง.เมื่อคณะฤๅษีนั้นอยู่ ณ ที่นั้นล่วงไปครึ่งเดือน ครูประจาคณะอื่นมีบริวาร ๕๐๐ มาเที่ยวขอภิกษาในนครนั้น ครั้นออกจากนครแล้วนั่งอยู่ที่โคนต้นไทรย้อยเช่นเดียวกันทางประตูทิศใต้ กระทำภัตกิจแล้วอาศัยอยู่ ณ ที่นั้นเอง.

คณะฤๅษีทั้งสองเหล่านั้น พักอยู่ตามพอใจ ณ ที่นั้นแล้วก็กลับสู่หิมวันตประเทศตามเดิม.เมื่อคณะฤๅษีเหล่านั้นไปแล้ว ต้นไทรทางประตูทิศใต้ก็แห้งโกร๋น เมื่อคณะฤๅษีเหล่านั้นมาอีกครั้งหนึ่ง คณะที่อยู่ต้นไทรทางทิศใต้มาถึงก่อนรู้ว่าต้นไม้ของตนแห้งโกร๋น เที่ยวขอภิกษาออกจากนครไปโคนต้นไม้ทางทิศอุดร กระทำภัตกิจเสร็จแล้วก็พักอยู่ ณ ที่นั้นเอง.

ส่วนฤาษีอีกพวกหนึ่งมาถึงทีหลัง เที่ยวภิกขาจารในนครแล้วไปยังโคนต้นไม้เดิมของตนกระทำภัตกิจแล้วก็พักผ่อน. พวกฤๅษีทั้งสองคณะก็ทะเลาะกันเพราะต้นไม้ว่า ต้นไม้ของเรา ต้นไม้ของเรา เลยกิดทะเลาะกันใหญ่.

ฤๅษีพวกหนึ่งกล่าวว่า พวกท่านจะเอาที่ที่เราอยู่มาก่อนไม่ได้. พวกหนึ่งกล่าวว่า พวกเรามาถึงที่นี่ก่อน พวกท่านจะเอาไม่ได้. พวกฤๅษีเหล่านั้นต่างทุ่มเถียงกันว่าเราเป็นเจ้าของ เราเป็นเจ้าของ ดังนี้แล้วพากันไปราชตระกูลเพื่อต้องการโคนต้นไม้.

พระราชาทรงตัดสินให้คณะฤๅษีที่มาอยู่ก่อนเป็นเจ้าของ.

ส่วนฤๅษีอีกพวกหนึ่งคิดว่า พวกเราจะไม่ยอมให้ใครว่าตนว่า ถูกพวกฤๅษีพวกนี้ให้แพ้ได้ จึงตรวจดูด้วยทิพยจักษุ เห็นเรือนรกหลังหนึ่งสำหรับพระเจ้าจักรพรรดิทรงใช้สอย จึงนำมาถวายเป็นสินบนแด่พระราชา พากันถวายพระพรว่า มหาบพิตร ขอพระองค์จงตัดสินให้พวกอาตมาเป็นเจ้าของ พระราชาทรงรับสินบนแล้ว ทรงตัดสินให้ฤาษีทั้งสองคณะเป็นเจ้าของว่า จงอยู่กันทั้งสองคณะเถิด.

ฤๅษีอีกฝ่ายหนึ่งนำล้อแก้วของเรือนรกนั้นมาถวายเป็นสินบน แล้วทูลว่า มหาบพิตร ขอพระองค์ทรงตัดสินให้พวกอาตมาเป็นเจ้าของเถิด. พระราชาได้ทรงทำตามนั้น.คณะฤๅษีมีความร้อนใจว่า พวกเราละวัตถุกามและกิเลสกามออกบวช จะทะเลาะติดสินบนเพราะโคนต้นไม้เป็นเหตุ เป็นการทำที่ไม่สมควร จึงรีบหนีออกไปสู่หิมวันตประเทศตามเดิม.

เทวดาที่สิงสถิตอยู่ ณ แคว้นภรุรัฐทั้งสิ้นต่างร่วมกันพิโรธพระเจ้าภรุราชว่า
พระราชาทำให้ผู้มีศีลทะเลาะกัน เป็นการทำที่ไม่สมควร จึงบันดาลให้แคว้นภรุรัฐ อันกว้างใหญ่ ๓๐๐ โยชน์กลายเป็นสมุทรไป ก่อให้เกิดความพินาศ.
ชาวแว่นแคว้นทั้งสิ้นถึงความพินาศ เพราะอาศัยพระเจ้าภรุราชพระองค์เดียว ด้วยประการฉะนี้.

ผลอย่างเบาที่สุดของมนุษย์ผู้ผิดศีล5 (สัพพลหุสสูตร) เล่ม37หน้า 495-496
[๑๓๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปาณาติบาตอันบุคคลเสพแล้วเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสัตว์ให้เป็นไปในนรก ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ในเปรตวิสัย วิบากแห่งปาณาติบาตอย่างเบาที่สุด ย่อมยังความเป็นผู้มีอายุน้อยให้เป็นไปแก่ผู้มาเกิดเป็นมนุษย์.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อทินนาทานอันบุคคลเสพแล้ว เจริญแล้วกระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสัตว์ให้เป็นไปในนรก ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ในเปรตวิสัย วิบากแห่งอทินนาทานอย่างเบาที่สุด ย่อมยังความพินาศแห่งโภคะให้เป็นไปแก่ผู้มาเกิดเป็นมนุษย์.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กาเมสุมิจฉาจารอันบุคคลเสพแล้วเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสัตว์ให้เป็นไปในนรก ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ในเปรตวิสัย วิบากแห่งกาเมสุมิจฉาจารอย่างเบาที่สุด ย่อมยังศัตรูและเวรให้เป็นไปแก่ผู้มาเกิดเป็นมนุษย์.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มุสาวาทอันบุคคลเสพแล้ว เจริญแล้วกระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสัตว์ให้เป็นไปในนรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ในเปรตวิสัย วิบากแห่งมุสาวาทอย่างเบาที่สุด ย่อมยังการกล่าวด้วยคำไม่เป็นจริงให้เป็นไปแก่ผู้มาเกิดเป็นมนุษย์.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปิสุณาวาจาอันบุคคลเสพแล้ว เจริญแล้วกระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสัตว์ให้เป็นไปในนรก ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ในเปรตวิสัย วิบากแห่งปิสุณาวาจาอย่างเบาที่สุด ย่อมยังการแตกจากมิตรให้เป็นไปแก่ผู้มาเกิดเป็นมนุษย์.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผรุสวาจาอันบุคคลแล้ว เจริญแล้วกระทำให้มากแล้ว
ย่อมยังสัตว์ให้เป็นไปในนรก ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ในเปรตวิสัย
วิบากแห่งผรุสวาจาอย่างเบาที่สุด ย่อมยังเสียงที่ไม่น่าพอใจให้เป็นไปแก่ผู้มาเกิดเป็นมนุษย์.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัมผัปปลาปะอันบุคคลเสพแล้ว เจริญแล้วกระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสัตว์ให้เป็นไปในนรก ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ในเปรตวิสัย
วิบากแห่งสัมผัปปลาปะอย่างเบาที่สุด ย่อมยังคำไม่ควรเชื่อถือให้เป็นไปแก่ผู้มาเกิดเป็นมนุษย์.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันบุคคลเสพแล้ว เจริญแล้ว กระทำไห้มากแล้ว ย่อมยังสัตว์ให้เป็นไปในนรก ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ในเปรตวิสัย วิบากแห่งการดื่มสุราและเมรัยอย่างเบาที่สุด ย่อมยังความเป็นบ้าให้เป็นไปแก่ ผู้มาเกิดเป็นมนุษย์.

จบ สัพพลหุสสูตรที่ ๑๐

วัดป่าสามแยก ศึกษาพระธรรมวินัย เบิกบุญ โอนบุญ อกหัก โดนของ ธรรมะ ธรรมทาน คลายเครียด เจริญรุ่งเรือง //www.samyaek.com




 

Create Date : 18 กุมภาพันธ์ 2555
0 comments
Last Update : 18 กุมภาพันธ์ 2555 23:28:41 น.
Counter : 631 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


Budratsa
Location :
พิจิตร Switzerland

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]




สวัสดีค่ะ ยินดีต้อนรับทุกๆคนค่ะ
"ดูก่อนอานนท์ บางทีพวกเธอจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ปาพจน์ (พุทธพจน์) มีพระศาสดาล่วงแล้ว พระศาสดาของพวกเราไม่มี ข้อนี้พวกเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น ธรรมก็ดี วินัยก็ดีอันใดอันเราแสดงแล้ว ได้บัญญัติไว้แล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยอันนั้น จักเป็นศาสดาแห่งพวกเธอ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา" เล่มที่ ๑๓ : พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ หน้าที่ ๓๒๐
Friends' blogs
[Add Budratsa's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.