Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2557
 
2 มิถุนายน 2557
 
All Blogs
 
เช็กความพร้อม'แซมบ้า'! นับถอยหลังบอลโลก 2014



นับถอยหลังอีกเพียง 11 วัน เกมลูกหนังที่หลายคนบนโลกรอคอยอย่างศึก "เวิลด์คัพ 2014" รอบสุดท้าย ที่ประเทศบราซิล รับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพก็จะเปิดฉากขึ้นอย่างเป็นทางการ ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 2 ที่เกมลูกหนังระดับนานาชาติจะได้กลับมาบรรเลงเพลงแข้งบนดินแดนที่ขึ้นชื่อว่า เป็นชาติมหาอำนาจในโลกลูกหนังมาหลายทศวรรษ

เมื่อเวลาเหลือน้อยลงความคึกคักก็เริ่มก่อตัว ซึ่งก็แน่นอนด้วยชื่อชั้นว่าเป็น "ดินแดนลูกหนัง" แถมยังมีดีกรีเคยรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพในปี 1950 มาก่อน ทำให้หลายฝ่ายต่างคาดหวังว่า การแข่งขันในปีนี้จะต้องมีสีสันมากกว่าทุกครั้งๆ ที่ผ่านมา แต่ก่อนทัวร์นาเมนต์นี้จะเริ่มต้นเรามาดูกันดีกว่าว่า เจ้าภาพได้เตรียมความพร้อมกันไปถึงไหนแล้ว

เป็นที่ทราบกันดีว่า ทางบราซิล ได้เลือกใช่ทั้งหมด 12 สนามจากเมืองทั้ง 12 เมือง ให้เข้ามารับหน้าที่เป็นสังเวียนที่จะใช้รองรับฟุตบอลโลกปีนี้ และบางแห่งยังถูกนำไปใช้ในการแข่งขันกีฬาครั้งใหญ่อีกรายการอย่างศึก โอลิมปิกเกมส์ ปี 2016 อีกด้วย

สำหรับการเตรียมการด้านสนามทาง บราซิล เจ้าภาพก็ได้มีการปรับปรุงระบบคมนาคมให้เชื่อมต่อกับสนามที่จะใช้ในการแข่งขันให้มีความพร้อม และเป็นระบบเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการเดินทางของนักกีฬาและกองเชียร์ ทำให้เกินครึ่งของเมืองที่ผ่านการคัดเลือกต้องรับการปรับปรุงสนามหรือแม้กระทั่งทุบเพื่อสร้างสนามขึ้นมาใหม่

ทว่าการทำงานดังกล่าวกลับไม่ง่ายอย่างที่คาด หลังมีข่าวด้านลบเกี่ยวกับสนามแข่งขันออกมาให้เห็นอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น ข่าวลือการคอร์รัปชันในการก่อสร้างสนาม, ข่าวคนงานเสียชีวิตขณะทำงาน, อัฒจันทร์ในสนามถล่มในระหว่างการซ่อมแซม,รถเครนล้มทำสนามพัง ฯลฯ และนี้คือข้อมูลความพร้อมของทั้ง 12 สนามที่จะถูกนำมาใช้ในปีนี้

-มาเน การ์รินซา เมือง บราซิเลีย


มาเน การ์รินซา

สนามดั้งเดิมถูกสร้างและใช้งานมาตั้งแต่ปี 1974 ซึ่งหลังจากที่ได้รับเลือกก็ได้มีปรับปรุงเพิ่มความจุเป็น 70,000 ที่นั่ง ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ด้านลบ เนื่องจากรัฐบาลทุ่มงบไปกับการปรับปรุงครั้งนี้สูงถึง 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งนับว่าเป็นการจ่ายเงินที่มากที่สุดเพื่อให้ได้ผ่านมาตรฐานของฟีฟ่า ทั้งๆ ที่ตัวสนามเองก็ไม่ได้มีสโมสรฟุตบอลในท้องถิ่นทีมใดที่ได้ใช้เป็นรังเหย้า

โดยตัวสนาม มาเน การ์รินซา ได้ผ่านการใช้งานมาบ้างแล้วในปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องหลังคารั่ว ซึ่งทางฝ่ายจัดยืนยันว่าสามารถแก้ไขได้เสร็จก่อนศึก เวิลด์ คัพ ในวันที่ 15 มิ.ย.นี้ อย่างแน่นอน

-อารีนา เด เซา เปาโล เมืองเซา เปาโล


อารีนา โครินเธียนส์

สังเวียนที่ถูกวางไว้ใช้งานในเกมนัดสำคัญนัดเปิดสนามระหว่างทีมเจ้าภาพ กับ โครเอเชีย ในวันที่ 12 มิ.ย.นี้ ซึ่งแรกเริ่มเดิมที อารีนา เด เซา เปาโล หรือ อารีนา โครินเธียนส์ ไม่ได้มีแผนที่จะต้องสร้างใหม่ แต่เพราะทาง ฟีฟ่า ต้องการที่จะหาตัวเลือกมาแทน โมรุมบี รังของทีม เซา เปาโล ที่ถูกวางไว้เป็นเป้าหมายแรก เลยทำให้ต้องมีการเปลี่ยนมาใช้สนามแห่งนี้แทน

โดยตัวสนาม อารีนา เด เซา เปาโล เป็นอีกหนึ่งสนามที่ประสบปัญหาเรื่องความล่าช้าหลังจากที่เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2011 แต่ก็เจออุบัติเหตุระหว่างการก่อสร้างจนทำให้มีคนงานเสียชีวิตของ 2 คน ทำให้เสร็จไม่ทันกำหนดส่งมอบในช่วงปลายปี 2013 แต่ในที่สุดแล้วทาง บราซิล ก็สามารถเร่งมือจนสำเร็จเสร็จสมบูรณ์ในช่วงปลายปี 2014

-อารีนา ดา ไบชาดา เมือง คูริทิบา

อารีนา ดา ไบชาดา

หลังจากที่ได้รับเลือกทางเมืองคูริทิบา ก็ได้ทำการปรับปรุงสนามครั้งใหญ่เพิ่มที่นั่งจาก 28,413 ที่นั่ง เป็น 43,900 ที่นั่ง เพื่อรองรับมาตรฐานของ ฟีฟ่า แต่ระหว่างการก่อสร้างก็เกิดปัญหาหลายอย่าง โดยเฉพาะช่วงปลายปี 2013 ที่ต้องหยุดก่อสร้างไปนานหลายวัน หลังบรรดากลุ่มผู้ใช้แรงงานออกประท้วงเรียกร้องขอมาตรฐานการทำงานที่ปลอดภัยมากขึ้น หลังจากที่มีเพื่อนร่วมงานเสียชีวิตในช่วงที่มีการก่อสร้างไปแล้วหลายคน

แต่ในที่สุดแล้วการเจรจาก็สำเร็จแต่ด้วยเวลาที่ทิ้งช่วงไปนานทำให้สนามไม่เสร็จตามกำหนด จนถูก ฟีฟ่า ออกมาขู่ว่าจะตัดสินการเป็นสังเวียนรองรับการแข่งขัน แต่สุดท้าย ฟีฟ่า ก็ใจอ่อนยอมเลื่อนเส้นตายออกไป ซึ่งคาดว่าในตอนนี้ตัวสนามก็น่าจะมีความพร้อมสำหรับจัดการแข่งขันแล้ว เหลือแค่ติดตั้งที่นั่งให้ครบตามจำนวนก่อนจะประเดิมใช้งานในเกมระหว่าง อิหร่าน กับ ไนจีเรีย วันที่ 16 มิ.ย.นี้

-อารีนา เด อเมโซเนีย เมืองมาเนาส์


อารีนา เด อเมโซเนีย

หลังจากที่ได้รับเลือก อารีนา เด อเมโซเนีย ก็ได้รับการบูรณะใหม่ทันที ถึงแม้ในช่วงก่อสร้างจะเจอปัญหายิบย่อยต่างๆ นานา แต่ในที่สุดก็เสร็จเรียบร้อยเอาในวันที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา

ทว่าอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ของสนามแห่งนี้ที่ตั้งอยู่ใจกลางของป่า "อเมซอน" คือเรื่องอุณหภูมิและสภาพความชื้นที่สูงถึง 95 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งนับว่าเป็นอุปสรรคสำหรับทีมต่างชาติที่อาจจะไม่คุ้นชิน จนทำให้ รอย ฮอดจ์สัน กุนซือทีมชาติอังกฤษที่เดินทางมาเยี่ยมชมสนามต้องออกปากยอมรับว่าถ้าเป็นไปได้ตนก็อยากจะเลี่ยงไม่พาลูกทีมมาเล่นที่เมืองนี้ โดยสนาม อารีนา เด อเมโซเนีย จะถูกใช้งานนัดแรกในวันที่ 14 ม.ย. อังกฤษ พบ อิตาลี

-อารีนา พานตานอล เมืองคูยาบา


อารีนา พานตานอล

ตัวสนามถูกปรับปรุงขึ้นมาจากสนามเดิมที่ชื่อว่า เวอร์เดา เมื่อปี 2010 โดยได้รับการบูรณะขึ้นมาใหม่ภายใต้แนวคิด เรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด ทั้งโครงสร้างสนามที่มาจากวัสดุรีไซเคิล และยังมีการปลูกต้นไม้ไว้ที่ 4 มุมของสนาม เพื่อลดความร้อนเนื่องจากเมืองคูยาบา เป็นเมืองที่มีสภาพอากาศร้อนอบอ้าวที่สุดเมืองหนึ่งในบราซิล

ปัจจุบันสนามแห่งนี้ ได้ก่อสร้างสำเร็จไปแล้วราว 90% โดยยังคงมีปัญหาเรื่องของการติดตั้งที่นั่งชมในสนามฟุตบอลอีกเล็กน้อย ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเสร็จทันกำหนดใช้งานครั้งแรกในเกม ฟุตบอลโลก วันที่ 13 มิถุนายนนี้ ที่ ชิลี จะพบกับ ออสเตรเลีย

-เอสตาดิโอ ไบรา-ริโอ เมืองปอร์โต อัลเลเกร


เอสตาดิโอ ไบรา-ริโอ

ไบรา-ริโอ นับเป็นสนามฟุตบอลที่ใหญ่ที่สุดลำดับที่ 2 ในแถบภาคใต้ของบราซิล มีความจุ 51,300 ที่นั่ง ซึ่งหลังจากที่ได้รับเลือกตัวสนามก็ได้มีการปรับปรุงสถานที่โดยรวมให้กลายเป็นสนามกีฬาอเนกประสงค์ เพิ่มลานจอดรถที่สามารถจุรถได้กว่า 3,000 คัน ขณะที่โดยรอบยังมีทั้งสระว่ายน้ำ,โรงยิมเนเซียม และสนามเทนนิสอยู่ข้างๆ รวมถึงมีโบสถ์, บาร์ และร้านค้าต่างๆ ซึ่งสังเวียนแห่งนี้ถูกกำหนดใช้ในเกมฟุตบอลโลก นัดแรกระหว่าง ฝรั่งเศส กับ ฮอนดูรัส วันที่ 15 มิ.ย.นี้

-เอสตาดิโอ คาสเตเลา เมืองฟอร์ตาเลซา


เอสตาดิโอ คาสเตเลา

สนามเอสตาดิโอ คาสเตเลา เป็นอีกหนึ่งสนามที่ค่อนข้างมีความพร้อมสำหรับรองรับศึกลูกหนังระดับชาติหลังจากที่เคยถูกเลือกให้เป็นสังเวียนแข้งศึกฟีฟ่า คอนเฟเดอเรชั่น คัพ 2013 ซึ่งเป็นทัวร์นาเมนต์เตรียมความพร้อมของชาติเจ้าภาพฟุตบอลโลก

สำหรับการปรับปรุงครั้งนี้สนามเอสตาดิโอ คาสเตเลา ได้ถูกลดความจุลงจาก 67,037 ที่นั่ง เหลือ 58,704 ที่นั่ง ตามเหตุผลด้านความปลอดภัย และนับเป็นสนามที่มีความจุมากที่สุดเป็นอันดับที่ 4 รองลงมาจาก มาราคานา, เอสตาดิโอ มาเน การ์ริชา และ อารีนา โครินเธียนส์ โดยสังเวียนแห่งนี้จะถูกใช้งานเป็นเกมแรกในวันที่ 14 มิ.ย. อุรุกวัย พบ คอสตาริกา

-อารีนา ดาส ดูนาส เมืองนาตาล


อารีนา ดาส ดูนาส

อารีนา ดาส ดูนาส ที่มีความจุ 42,086 ถูกสร้างขึ้นมาบนพื้นที่ของ มาชาเดา สนามฟุตบอลประจำเมืองพร้อมกับห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ในอาณาบริเวณสนาม, อาคารพาณิชย์ โรงแรมระดับ 5 ดาว รวมทั้งเนรมิตทะเลสาบด้วย ซึ่งเป็นการลงทุนของสภารัฐริโอ กรันเด โด นอร์เต ที่ต้องการจะให้เมือง นาตาล ได้เป็นส่วนหนึ่งในการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 โดยสนาม ดาส ดูนาส จะถูกใช้ในเกมแรกระหว่าง เม็กซิโก พบ แคเมอรูน ในวันที่ 13 มิ.ย.นี้


-เอสตาดิโอ มาราคานา เมืองริโอ เดอ จาเนโร


เอสตาดิโอ มาราคานา

เป็นอีกหนึ่งสังเวียนที่มีชื่อเสียงที่สุดของโลก ซึ่งเมื่อปี 2013 ก็ได้มีการปรับปรุงสนามด้วยงบสูงถึง 47,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อรองรับฟุตบอลโลก 2014 รวมถึงโอลิมปิก ปี 2016

ในการแข่งขันดวลแข้งระดับโลกกลางปีนี้ เอสตาดิโอ มาราคานา จะถูกจัดให้เป็นสนามที่ได้รับความสนใจมากที่สุดหลังจากที่ต้องรองรับการแข่งขันมากที่สุดถึง 7 นัด ซึ่งรวมไปถึงเกมสำคัญอย่างนัดชิงชนะเลิศ โดย เอสตาดิโอ มาราคานา 
จะถูกใช้งานนัดแรกในวันที่ 15 มิ.ย. อาร์เจนตินา พบกับ บอสเนีย

-อารีนา แปร์นัมบูโก เมืองเรซีเฟ


อารีนา แปร์นัมบูโก

อารีนา แปร์นัมบูโก เป็นอีกหนึ่งสนามที่ได้รับการสร้างขึ้นมาใหม่และได้เสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยสามารถบรรจุผู้ชมได้ราว 46,154 ที่นั่ง ซึ่งนอกจากตัวสนามแล้ว พื้นที่โดยรอบยังมีการสร้างศูนย์การค้าที่รวมร้านอาหารและร้านค้าต่างๆ เอาไว้ ไปจนถึงมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังมีเครื่องให้กำเนิดพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ที่สามารถผลิตพลังงาน สำหรับ 6,000 ครัวเรือนไว้ใช้ในยามที่สนามฟุตบอลไม่ได้ใช้งานอีกด้วย สำหรับในการแข่งขันฟุตบอลโลก อารีนา แปร์นัมบูโก จะถูกใช้งานเป็นนัดแรกในวันที่ 14 มิ.ย. ไอวอรี โคสต์ พบ ญี่ปุ่น

-อารีนา ฟานเต โนวา เมืองซัลวาดอร์


อารีนา ฟานเต โนวา

เดิมที อารีนา ฟานเต โนวา ที่ตั้งอยู่บริเวณริมชายหาดของเมือง ซัลวาดอร์ มีความจุ 56,000 ที่นั่งแต่ในการแข่งขันฟุตบอลโลกปีนี้ ทางสนามได้ลดความจุลงเหลือ 48,747 ที่นั่งตามเหตุผลด้านความปลอดภัย โดยสนามแห่งนี้จะถูกใช้งานในศึกบอลโลกนัดแรก ระหว่าง สเปน กับ ฮอลแลนด์ วันที่ 13 มิ.ย.นี้

-มิไนเรา เมืองเบโล ฮอริซอนชี


มิไนเรา

มิไนเรา หรือชื่อเต็ม เอสตาดิโอ กัฟเวอร์นาดอร์ มากาลเญส ปินโต เป็นหนึ่งในสังเวียนเก่าแก่ของบราซิล ซึ่งเมื่อได้รับเลือกก็ได้มีการปรับปรุงครั้งใหญ่ ให้การเดินทางเข้าถึงมีความสะดวกมากขึ้น ขณะที่พื้นสนามก็ถูกปรับระดับให้ต่ำลง เพื่อให้มองเห็นเกมได้จากทุกมุมของสนาม แนวคิดของสนามก็ยังเน้นการรักษาสิ่งแวดล้อมเหมือนสนามอื่นๆ โดยสนามฟุตบอลมิไนเราสามารถรองรับน้ำฝนไว้ใช้ได้ถึง 6,270,000 ลิตร โดยสังเวียนแห่งนี้จะถูกใช้งานในฟุตบอลโลก 2014 นัดแรกวันที่ 14 มิ.ย. โคลอมเบีย พบกับ กรีซ


เด็กน้อยแซมบ้าเดาะบอลหน้าสนาม มาเน การ์รินซา เมือง บราซิเลีย

ขยับมาดูด้านการรักษาความปลอดภัยทางเจ้าภาพก็ทำเต็มที่ โดยฝั่งกระทรวงกลาโหมและกระทรวงยุติธรรมของบราซิล ได้ใช้งบ 856 ล้านเหรียญสหรัฐฯในการเตรียมงาน ซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ล้ำสมัย เพื่อให้เจ้าหน้าที่ไว้ใช้งานปราบปรามจลาจล มีการระดมเจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจ ราว 157,000 นาย เข้ามาดูแลความปลอดภัยของทีมชาติทั้ง 32 ทีม รวมไปถึงแฟนบอลจากชาติต่างๆ ที่คาดว่าน่าจะเดินทางมาประมาณ 600,000 คน อย่างเข้มงวดทั้ง 12 เมืองที่รองรับการแข่งขัน โดยเฉพาะกับสนาม เอสตาดิโอ โด มาราคานา ในกรุง ริโอ เดอ จาเนโร ที่ถือได้ว่าเป็นสังเวียนที่จะถูกคนทั้งโลกจับตามองมากที่สุดในปีนี้


กองกำลังตำรวจเรียงแถวรับมือผู้ประท้วง

แต่สิ่งหนึ่งที่จะอดกังวลไม่ได้คือเหตุการณ์ประท้วงที่มีมาให้เห็นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ศึก "คอนเฟดเดเรชั่นส์ คัพ 2013" ซึ่งการประท้วงดังกล่าวเป็นผลมาจากความไม่พอใจของประชาชนที่เห็นรัฐบาลนำงบประมาณหลายพันล้านดอลลาร์ไปทุ่มกับการจัดการแข่งขันกีฬาใหญ่ๆ ทั้ง ฟุตบอลโลก และโอลิมปิกเกม ซึ่งค้านกับสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนที่ยังต้องการให้มีการปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค และที่พักอาศัยคนในประเทศให้ดีขึ้น และที่สำคัญในการรับบทเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ยังมีแววว่าจะพบเห็นการคอรัปชั่นระดับมโหฬาร

ทางกลุ่มผู้ประท้วงได้ยืนยันว่าถ้าปัญหาดังกล่าวยังไม่ได้รับการจัดการก่อนศึกเวิลด์คัพจะเริ่ม พวกเขาก็จะคอยขัดขวางไม่ให้การจัดการแข่งขันเป็นไปอย่างราบรื่นอย่างแน่นอน ซึ่งการประท้วงในมหกรรมลูกหนังที่ยิ่งใหญ่แบบนี้ก็เหมือนกับการประกาศให้คนทั่วโลกรู้ว่าชาวบราซิลกำลังต่อสู้กับอะไร และนี้ก็อาจจะทำให้การแข่งขันฟุตบอลโลกในปีนี้ได้รับกระแสตอบรับที่ไม่เหมือนกับครั้งที่ผ่านมา


ฟุตบอลโลก ไปไม่ถึงพวกเขา

แต่ในท้ายที่สุดแล้วก็หวังว่าเมื่อเสียงนกหวีดในมหกรรมฟุตบอลโลกดังขึ้นในวันที่ 12 มิ.ย. ความสุขจากเกมกีฬาจะทำให้ทุกอย่างผ่านพ้นไป และเมื่อทัวร์นาเมนต์สิ้นสุดลงก็หวังแค่เพียงว่าปัญหาต่างๆ จะได้รับการแก้ไขไปตามทิศทางที่ควรจะเป็น และไม่บานปลายจนกลายเป็นทำให้ บราซิล เสียสิทธิ์การเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาใหญ่ๆที่จะมีในอนาคต.






Create Date : 02 มิถุนายน 2557
Last Update : 2 มิถุนายน 2557 23:15:13 น. 0 comments
Counter : 2131 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ล่องแม่ปิง
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]




อังกฤษเป็นชาติที่เริ่มเล่นฟุตบอล แต่บราซิลเป็นชาติที่สอนการเล่นฟุตบอล

มีคำพูดธรรมดาๆประจำฟุตบอลโลกอยู่ประโยดหนึ่งว่า"ฟุตบอลโลกที่ไม่มีบราซิล ก็ไม่ใช่ฟุตบอลโลก"


จะจริงเท็จประการใด แฟนบอลทั่วโลกยังไม่เคยทราบ เพราะที่ผ่านมา 20 ครั้ง และครั้งที่ 21 ในปี 2018 บราซิลยังคงได้เข้ามาเล่นรอบสุดท้ายอิกครั้ง ในฐานะเจ้าภาพ


ผมยังนึกไม่ออกว่าหากบราซิลไม่สามารถผ่านเข้ามาเล่นในรอบสุดท้ายของฟุตบอลโลก ฟุตบอลโลกในปีนั้นจะขาดอะไรไปบ้าง....มนต์ขลังลีลาแซมบ้า. สีเขียว-เหลืองที่แต่งแต้มฟุตบอลโลกทุกครั้งเสมอมา หรือกองเชียร์ที่แต่งองค์ทรงเครื่องกันมา น้องๆขบวนพาเหรดงานคานิวัล ผมว่าคงไม่เกิดขึ้นในรุ่นของผมนะครับ
Friends' blogs
[Add ล่องแม่ปิง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.