Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2558
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
23 พฤศจิกายน 2558
 
All Blogs
 

:: 9th Wrap-Up :: (#65 - #72)

  ...






# 65

Gordimer, N. (1982, c1966). The late bourgeois world. London: Penguin Books.

เรื่องของหญิงสาวผิวขาวที่มีชีวิตอย่างคนมีฐานะในแอฟริกาใต้เมื่อยุค 60 ประเด็นของเรื่องคือการตั้งคำถามถึงความมีมนุษยธรรมของคนผิวขาวต่อขบวนการต่อต้านรัฐบาลหรือกบฏโดยคนผิวดำในช่วงที่แอฟริกาใต้ยังแบ่งแยกผิวสีกันขนานหนัก Liz ตัวเอกของเรื่องเป็นภรรยาของ Max นักเคลื่อนไหวเพื่อคนผิวดำ แต่ต้องมาประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต หลังจากนั้นไม่นาน เธอก็ได้รับการติดต่อจากผองเพื่อนในสมาคมเดียวกับอดีตสามีที่จากไปให้ช่วยเป็นคนกลางโอนเงินผ่านไปยังอีกบัญชีเพื่อช่วยเหลือกลุ่มขบวนการคนอื่นๆ ที่กำลังเดือนร้อน จึงคล้ายเป็นการทดสอบว่าหญิงสาวจะตัดสินใจอย่างไร ระหว่างมนุษยธรรมและอันตรายถึงตายที่ตนเองอาจประสบ แต่เมื่อมีทางแก้มาให้เห็นตรงหน้า คือบัญชีธนาคารของผู้เป็นย่าที่ชราภาพมากแล้ว ทางการคงไม่อาจตรวจทานได้ถึง หญิงสาวก็เลยต้องคิดหนักเป็นสองเท่า นับเป็นเรื่องสั้นๆ ของป้านาดีนที่อ่านเหมือนเป็นเรื่องสั้นขนาดยาวได้ แต่คิดว่าชอบรวมเรื่องสั้นเล่มอื่นของคุณป้ามากกว่า

...





# 66

Murakami, H. (2007). Blind willow, sleeping woman: twenty-four stories, translated by Philip Gabriel and Jay Rubin. New York: Vintage.

ไม่เคยอ่านมูราคามิมาก่อน จะพูดว่าไม่เคยเลยคงไม่ถูก ไม่เคยอ่านจบมาก่อนดีกว่า นานมาแล้วเคยพยายามอ่านนอร์วีเจี้ยนฯ ฉบับแปลไทย แต่สมัยนั้นยังเล็กนัก ทำให้ไม่เข้าใจการนำเสนอของคนเขียนเท่าไร ก็เลยทิ้งร้างไป แต่ความสงสัยว่าทำไมคนชอบกันนักก็ยังติดตามรังควานอยู่ พอมีโอกาสเพื่อนทิ้งหนังสือไว้ให้อ่านก่อนกลับนอก ก็เลยลองเสียหน่อย ปรากฏว่าชอบมาก นี่ขนาดอ่านรวมเรื่องนั้นที่ไม่ใคร่จะมีตอนจบที่สมเหตุสมผลนัก ก็ชอบเกือบทุกเรื่อง ถามว่าชอบอะไร ก็น่าจะเห็นบรรยากาศ ตัวละครที่ดูเงียบๆ เหงาๆ และเรื่องราวประหลาดๆ

บางเรื่องก็งุนงงว่าต้องการสื่ออะไร แต่บรรยากาศของเรื่องก็ทำให้ติดเนื้อพึงใจอยู่ดี นี่เป็นการแปลมาจากภาษาญี่ปุ่นชั้นหนึ่งแล้ว คนแปลยังเก็บอารมณ์ จับใจความของเรื่องได้ครบถ้วนแบบนี้ ถือว่าต้องยกนิ้วให้ ในเรื่องนี้ชอบมากๆ ก็เห็นจะเป็น “The Mirror” (ชายหนุ่มเฝ้าโรงเรียนกลางดึกคนเดียว เจอเงาประหลาดในกระจก) “Nausea 1979” (ชายหนุ่มเกิดอาเจียนติดกันทุกวัน หลังจากแอบมีเซ็กซ์กับเมียชาวบ้าน) กับ “The Seventh Man” (ชายหนุ่มเล่าเรื่องวัยเด็กที่คลื่นยักษ์กลืนกินเพื่อนไปต่อหน้าต่อตาและความรู้สึกผิดที่ติดตัวมาจนถึงปัจจุบัน)  

...





# 67

Healey, E. (2014). Elizabeth is missing. London: Penguin Books.

Maud คือคุณยายที่เป็นอัลไซเมอร์ ใช้ชีวิตอยู่คนเดียวในบ้าน โดยมีลูกสาวและคนรับใช้มาดูแลเรื่อยๆ ประเด็นของเรื่องคือ คุณยาย Maud คิดว่าตนเองมีอะไรบางอย่างที่นึกไม่ออกเกี่ยวกับเพื่อนรักอย่าง Elizabeth เธอได้เบาะแสแต่เพียงกระดาษที่เธอเขียนเตือนความจำไว้ว่า Elizabeth is missing เธอก็เทียวบอกลูกสาวอยู่เรื่อย แต่ลูกสาวก็ไม่นำพา แม้ว่าจะพาแม่มาอยู่ด้วยกันแล้วเพราะเป็นห่วงความปลอดภัยแล้วก็ตาม

(spoil) หนังสือเล่าโดยใช้การตัดสลับกับชีวิตในวัยสาวของคุณยาย Maud ซึ่งพี่สาวของตนเองก็หายตัวไปเช่นกันหลังจากทะเลาะกับสามีในวันหนึ่ง เรื่องนี้น่ารักตรงที่คุณยาย Maud ในวันชราพยายามสืบเสาะตามหาเพื่อนรักว่าหายตัวไปอย่างไร พยายามไปบ้านก็ไม่พบเพื่อน พบแต่ลูกชายของ Elizabeth โวยวายใส่ ไปแจ้งยังสถานีตำรวจก็ไม่ได้ความ ไปลงหนังสือพิมพ์ก็ไม่ได้เรื่อง สุดท้ายลูกสาวทนเห็นแม่วุ่นวายใจไม่ไหว ก็เลยย้ำให้ฟังอีกครั้งหนึ่งว่า Elizabeth ตายไปแล้ว แต่คุณยาย Maud จำไม่ได้เอง ที่แท้ความจำนั้นสลับกับการที่พี่สาวในวันรุ่นของตนเองหายตัวไป อย่างไรก็ดีในเวลาเดียวกันนั้น ก็พบความปกติที่บ้านของ Elizabeth แม่ลูกปรับความเข้าใจกันก่อนลูกสาวจะเอะใจในคำบอกใบ้ที่ติดค้างอยู่บางส่วนของแม่ จึงขุดสนามหน้าบ้านและพบกับซากศพของพี่สาวของคุณยาย Maud ที่ตายไปในที่สุด

เรื่องเขียนมาได้ที มีพล็อตและประเด็นให้อ่านเพลิน แต่เหมือนยังไม่เนียนพอ เพราะคนเขียนเล่นกับความจำของตัวละคร คือคุณยาย Maud ให้เป็นคนบรรยายเรื่อง ปมที่มาเฉลยทีหลังก็เลยเหมือนการอุ๊บอิ๊บไว้ไม่บอก มากกว่าให้ตัวละครผู้เล่าไปค้นพบในภายหลัง แต่ก็ถือว่าทำออกมาได้ดี

...





# 68

Bradley, A. (2012). I am half-sick of shadows. New York: Bantam.

Flavia กลับมาอีกครั้งกับวีรกรรมสืบสวนคดีฆาตกรรม คราวนี้เกิดขึ้นที่คฤหาสน์ของตนเอง ด้วยฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวหลังสงครามนั้นลดด้อยถอยลงเรื่อยๆ จึงเป็นสภาพบังคับให้พ่อของ Flavia ต้องอนุญาตให้ใช้คฤหาสน์เป็นที่ถ่ายทำภาพยนตร์เพื่อแลกกับเงินจำนวนมาก ปรากฏว่าดาราหญิงชื่อดังถูกฆาตกรรมในคฤหาสน์ในคืนวันที่มีการจัดละครการกุศลโดยมีการเชิญคนในชุมชนมาชมการแสดงด้วย 

ผู้ต้องสงสัยก็คือกลุ่มคนที่มาเข้าชมและกองถ่ายทำภาพยนตร์นั่นเอง ด้วยความชาญฉลาดของ Flavia ในฐานะที่เป็นคนพบศพของเธอเป็นคนแรก ก็จัดการเก็บรายละเอียดการตายนำมาปะติดปะต่อเรื่องราวได้ โดยพยายามไล่เรียงคนที่ต้องสงสัย ไม่ว่าจะเป็นคนงานในกองถ่าย ตัวผู้กำกับที่มาพบภายหลังว่าคือลูกชายของผู้ตายเอง อีกทั้งผู้จัดการกองถ่ายหญิงที่เคยเป็นดารามาก่อนก่อนจะตกอับมารับหน้าที่นี้

ซีรีส์นี้ยังดำเนินเรื่องได้อย่างสนุก พล็อตก็เป็นการสร้างเรื่องหลอกคนอ่านได้ เดาได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ที่ทำให้ติดใจคือความคิดความอ่านของตัวละครอย่าง Flavia ที่ฉลาดเกินวัยและเจ้าคารมนี่เอง ทำให้ตามอ่านมาจนถึงเล่มที่ 4 นี่แล้ว

...





# 69

Golding, W. (1980). Rites of passage. New York: Farrar, Straus, Giroux.

หนังสือเป็นการเขียนผ่านบันทึกการเดินทางของชายหนุ่มชื่อ Talbot ซึ่งกำลังเดินทางไปยังดินแดนอาณานิคมของอังกฤษแห่งหนึ่งในช่วงท้ายศตวรรษที่ 19 เรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นบนเรือ ตัว Talbot นั้นเป็นลูกบุญธรรมของข้าราชการระดับสูง เฝ้ามองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนเรือซึ่งมีกัปตันเป็นใหญ่อย่างไม่ใคร่ชอบใจนัก เขาเรียนรู้จนรู้จักผิดชอบชั่วดี เมื่อเห็นกัปตันเรือหาเรื่องบาทหลวงที่กัปตันเกลียดนักเกลียดหนา ก็พยายามเข้าไปช่วย แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ จนต้องจบด้วยการตายของบาทหลวงผู้นั้นเอง 

หนังสือเล่าผ่านบันทึกของ Talbot ก็จริง แต่บางส่วนก็เป็นการเขียนในรูปของจดหมายของบาทหลวงที่ Talbot ไปค้นเจอหลังจากที่เสียชีวิตไปแล้ว ทำให้คนอ่านได้รู้เหตุการณ์เบื้องลึกเบื้องหลังการเกลียดชังของกัปตันไปด้วยนั่นเอง ถือว่าทำออกมาน่าสนใจ แต่เราไม่ค่อยเข้าใจปริบททางสังคมและความเหลื่อมล้ำทางสังคมสมัยนั้นดีพอจะทำความเข้าใจเนื้อเรื่องได้ ก็เลยไม่ค่อยอินเท่าไหร่ 

สังเกตจากอีกเรื่องของคนเขียนที่เคยได้อ่านมาอย่าง Lord of Flies นั้น เป็นการเอาตัวละครไปทิ้งไว้ในกลางเกาะแล้วให้แสดงธาตุแท้ออกมาโดยไม่มีสังคมรอบข้างมาเป็นตัวกำกับ เรื่องนี้เหมือนจับตัวละครมามัดรวมกันที่กลางทะเลบนเรือเช่นกัน เสียแต่เป็นตัวละครที่เป็นวัยผู้ใหญ่แล้ว เรื่องราวก็เลยซับซ้อนมากขึ้นเป็นเท่าตัว

...





# 70

Jonasson, J. (2014). The girl who saved the king of Sweden, translated by Rachel Willson-Broyles. London: Fourth Estate.

ในยุค 1970 Nombeko เด็กสาวคนดำที่เติบโตมาในย่านที่ยากจนของแอฟริกาใต้ แต่เพราะด้วยความอยากรู้และใฝ่รู้ จึงทำให้หาทางร่ำเรียนเขียนอ่านจนรู้หนังสือ เพื่อหนีจากความยากจนและจากการเป็นคนทิ้งถังอุจจาระ เธอหนีมายังเมืองกรุงแต่ดันเจอเข้ากับวิศวกรผิวขาวที่ขับรถมาชนจนได้รับบาดเจ็บ แต่ศาลตัดสินว่าเธอผิดต้องไปทำงานเป็นคนรับใช้อยู่ที่ศูนย์วิจัยนิวเคลียร์กลางทะเลทรายชดใช้ เรื่องน่าสนใจตรงที่ว่า วิศวกรรายนี้ไม่เก่งเอาเสียเลย ได้ตำแหน่งนี้มาด้วยโชคช่วย Nombeko ทำงานบ้านไปก็แอบเข้าไปอ่านหนังสือในห้องสมุดไปจนเข้าใจตำรับตำราวิชาการจนหมดสิ้น และกลับกลายเป็นคนช่วยกู้หน้าเจ้านายอยู่หลายหน แม้กระทั่งการเข้าพบกับประธานาธิบดีจีนที่มาเยือน ก็ไปเล่นล่ามภาษาจีนให้เพราะที่ศูนย์วิจัยฯ มีสามพี่น้องคนจีนคอยสอนให้

Nombeko คิดว่าตนเองอยู่ที่นี่ต่อไปไม่ได้ เลยพยายามหนีออกมา ก็หนีออกมาได้สำเร็จด้วยการเจรจาต่อรองกับทีมสายลับชาวอิสราเอลที่ต้องการนำนิวเคลียร์ไปใช้เอง เธอขอหนีไปยังสวีเดน โดยแลกกับการส่งนิวเคลียร์ไปให้ที่อิสราเอล แต่เรื่องกลับวุ่นเมื่อส่งของผิด นิวเคลียร์กลับไปอยู่ที่สวีเดนด้วย ทำให้ทีมสายลับต้องตามรังควานเธออยู่ร่ำไป

หนังสือตัดสลับเล่ากับความเป็นไปในสวีเดน ซึ่งส่วนนี้เป็นเรื่องของชายชื่อ Holger ที่มีฝาแฝดที่ชื่อเดียวกัน ตนเองจึงเป็น Holger Two เรื่องแปลกตรงที่พี่ชายฝาแฝดนั้นเกลียดราชวงศ์สวีเดนเข้ากระดูกดำเพราะพ่อตัวเองสั่งสอนมา (ผู้เขียนเล่าประวัติตรงส่วนนี้ได้ขำขันดี) คนเป็นน้องพยายามห้ามเท่าไรก็คนเป็นพี่ไม่นำพา เรื่องมายุ่งตรงที่ Holger Two มาพบรักกับ Nombeko และต้องเข้ามาพัวพันกับทีมสายลับที่ตามมาเอานิวเคลียร์ที่เธอซุกเอาไว้ ทั้งคู่พยายามจะพวกนายกฯ และจะเข้าเฝ้ากษัตริย์สวีเดนเพื่อบอกข่าวเรื่องที่เกิดขึ้นก็ไม่มีโอกาสสักที จนเมื่อเวลาร่วมเลยมากว่า 10 ปี สายลับคนสุดท้ายก็ตามมาพบ ปะเหมาะกับมีงานฉลองต้อนรับประธานาธบดีจีนคนเดิมที่ Nombeko เคยเจรจาด้วยพอดี ซึ่งในงานนั้นรวมเอากษัตริย์และประธานาธบดีอยู่ด้วยกัน ทั้งยังมีนิวเคลียร์อยู่ในรถตู้จอดรออยู่หน้างานดินเนอร์ แต่ Nombeko ก็ใช้ความฉลาดของตนช่วยเหลือจนพาทุกคนรวมถึงกษัตริย์สวีเดนให้รอดพ้นจากนิวเคลียร์นี้มาจนได้

เป็นเรื่องที่พิลึกสุดๆ หาความเป็นเหตุเป็นผลไม่ค่อยได้ เพราะเหตุการณ์ในเรื่องดำเนินไปอย่างบังเอิญแทบทุกตอน คิดว่าเป็นความตั้งใจของคนเขียนเองที่ต้องการจะเสียดสีสังคมทั้งสังคมแอฟริกาและสังคมสวีเดน และสังคมโลกผ่านมุมมองและเรื่องราวของ Nombeko คงเพราะความประหลาดแบบไร้เหตุผลนี้เองทำให้จับจุดแล้วอ่านเรื่อยมาเพื่อจะดูว่ามันจะประหลาดไปถึงไหน ก็เพลินดีเหมือนกัน

...





# 71

Malerman, J. (2015). Bird box. London: HarperCollins.

โลกมนุษย์เกิดเหตุประหลาดขึ้น มีคนฆ่าตัวตายโดยไม่ทราบสาเหตุ รู้แต่เพียงว่า พวกเขาเห็นอะไรประหลาดเข้าสักอย่าง แล้วก็ฆ่าตัวตายภายในไม่กี่นาที เหตุเกิดที่รัสเซียก่อนจะลามไปทั่วโลกจนมาถึงสหรัฐฯ ที่ที่ Malorie ผู้กำลังตั้งท้องแบบไร้พ่อเด็กอยู่ร่วมบ้านกับพี่สาว เมื่อมีรายงานข่าวเกิดขึ้นบ่อยเข้าๆ ทุกคนก็ต่างปิดบ้าน ไม่กล้าออกไปไหน รวมทั้ง Malorie กับพี่สาวด้วย แต่สุดท้ายพี่สาวก็ฆ่าตัวตายเพราะเผลอไปมองหลังคาที่เปิดสู่ด้านนอก Malorie ทนไม่ไหว รีบปิดตามขับรถออกไปหาบ้านแห่งหนึ่งซึ่งมีใบปลิวโฆษณาว่าจะมาร่วมกลุ่มกันเพื่อความอยู่รอด ที่นั่นก็ได้พบกับเพื่อนร่วมชะตากรรมอีก 5 คน จากนั้นก็เป็นการพยายามเอาตัวอยู่รอดให้ได้ ประทังชีวิตด้วยอาหารกระป๋องที่เก็บไว้ใต้ดิน เวลาไปตักน้ำมากินมาใช้ที่บ่อน้ำนอกบ้านก็ใช้ผ้าพันตา เพื่อมิให้ต้องเผลอมองไปรอบตัวแล้วเห็นอะไรที่ไม่ควรเห็นเข้า 

เรื่องตัดเล่ากับช่วงปัจจุบันที่เหลือ Malorie อยู่เพียงกับลูกอีกสองคน เนื่องจากเพื่อนร่วมบ้านเสียชีวิตหมดแล้ว ก่อนจะเล่าเรื่อยไปถึงเหตุการณ์อะไรที่คร่าชีวิตเพื่อนไปทีละคน ในปัจจุบันนี้ หญิงสาวตัดสินใจออกจากบ้านไปยังที่ที่มั่นคงปลอดภัยกว่า โดยเคยมีการติดต่อทางโทรศัพท์โดยการสุ่มไปจนพบ สี่ปีที่เลี้ยงลูกมาในภาวะเช่นนี้เธอสอนให้ลูกเงี่ยหูจับเสียงต่างๆ เพราะเมื่อพากันออกจากบ้านโดยใช้ผ้าคาดตาและคลำทางหนีไปทางเรือ เธอก็ใช้ลูกๆ ที่สติและประสาทดีกว่าเป็นผู้คอยฟังเสียงและนำทาง

เป็นเรื่องที่สนุกและตื่นเต้นมากๆ ไม่ได้อ่านอะไรระทึกใจขนาดนี้มานาน ตัวพล็อตและสถานการณ์ที่ทำให้ตัวละครไปตกอยู่ ณ เหตุการณ์นั้นๆ นั่นเองที่ทำให้ลุ่นตามติด คนเขียนบรรยายความรู้สึกอึดอัดของคนที่ต้องปิดตาแล้วเงี่ยหูฟังเสียงอย่างเดียวได้เห็นภาพมาก แม้ว่าจะมีบางประเด็นที่น่าสงสัยในความเป็นไปได้ เช่น  Malorie เลี้ยงลูกมาได้อย่างไรถึง 4 ปีโดยมีแค่อาหารกระป๋อง หรือพฤติกรรมแบบฉลาดน้อยของตัวละครที่พาให้ตัวเองตายเอง แต่ในภาพรวมแล้วถือว่าทำออกมาได้ดีมาก น่ากลัวสุดๆ

...




# 72

Aickman, R. (2014, c1964). Dark entries. London: Faber & Faber.


เป็นร่วมเรื่องสั้นที่ผู้เขียนนิยามเองว่าเป็น “เรื่องแปลก” (ตาม Introduction ของหนังสือ) แต่เอาเข้าจริงส่วนมากก็เป็นเรื่องผีดีๆ นี่เอง แต่ละเรื่องเหมือนพยายามทำบรรยากาศให้น่ากลัว ให้คนอ่านลุ้นไปกับตัวละคร แต่กลับรู้สึกไม่กลัวเท่าไหร่ อารมณ์อยากรู้อาจมีอยู่ แต่ช่วงเข้าได้เข้าเข็มในเรื่องเหมือนรีบเขียนเร็วไปหน่อย ก็เลยเหมือนอารมณ์ไม่สุด ไม่สมกับที่สร้างบรรยากาศมาในตอนต้นเรื่อง ถ้าคิดว่าคงเพราะเป็นเรื่องสั้น ต้องรีบจบแบบหักมุม ก็พอไหว เล่มนี้มีแค่ 6 เรื่อง ที่ชอบสุดน่าจะเป็น “Ringing the Change” (คู่รักพากันไปฮันนิมูนที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในคืนที่ระฆังจากโบสถ์ตีปลุกผี และคนในหมู่บ้านก็มาเต้นรำพร้อมกับผี) กับ “The Waiting Room” (ชายหนุ่มค้างคืนนอนที่ห้องพักผู้โดยสารของสถานีรถไฟแห่งหนึ่ง และได้พบกับบรรดาผีที่ออกมาเดินเล่นตอนกลางคืน เพราะที่ชานชาลานั่นเคยเป็นคุกเก่าที่มีคนตายมาก่อน)

...




 

Create Date : 23 พฤศจิกายน 2558
0 comments
Last Update : 24 พฤศจิกายน 2558 10:43:11 น.
Counter : 839 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


Boyne Byron
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




Friends' blogs
[Add Boyne Byron's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.