Group Blog
 
 
กรกฏาคม 2559
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
7 กรกฏาคม 2559
 
All Blogs
 
:: Midyear Wrap-Up ::






  ...





เพราะมัวแต่ยุ่งๆ เลยไม่ได้เขียนรีวิวหนังสือที่ตัวเองอ่านเลยตั้งแต่ต้นปีอย่างที่เคยทำประจำ แถมปีนี้ยังอ่านนิยายน้อย พอถึงกลางปีภาระเริ่มเบาบางและหนังสือที่อ่านก็มีพอสมควรแล้ว ก็เลยคิดว่าจะรีวิวสักหน่อย หยากไย่ชักจะขึ้นเต็มบล็อกแล้ว เริ่มกันที่ต้นปี จำได้ว่าตอนต้นปี ตั้งใจว่าจะจัดเซตอ่านหนังสือเป็น Asian Reading Month ก็เลยยืมรวมเรื่องสั้นเรื่อง Threshold of Spring ของ Rou Shi จากห้องสมุดมาอ่านเป็นเล่มแรก เรื่องสั้นในเล่มนี้ทั้งหมดเกิดขึ้นที่จีน สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง จัดพิมพ์เพื่อยกย่องนักเขียนที่มีชื่อเสียงของจีน อ่านตั้งแต่ปีใหม่จำเนื้อเรื่องได้คร่าวๆ ว่าทุกเรื่องเสนอฉากชีวิตของชาวชนบทจีนซึ่งใช้ชีวิตท่ามกลางความทันสมัยที่กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

นิยายของ Murakami เรื่อง South of the Border, West of the Sun จะพูดว่าชอบคงพูดได้ไม่เต็มปาก เรื่องของเด็กหนุ่มกับชีวิตรักที่ปักใจกับผู้หญิงคนหนึ่งที่ไม่ลืม เมื่อมีโอกาสมาเจออีกครั้งเมื่ออยู่ในวัยทำงานทั้งๆ ที่ตนเองก็แต่งงานแล้ว ก็อดที่จะเข้าไปพัวพันด้วยไม่ได้ พล็อตไม่ได้มีอะไรมากมายตามสไตล์ของคนเขียน แต่บรรยากาศเศร้าๆ เหงาๆ สะท้อนความว้าเหว่ของตัวละครมีอยู่ครบ จำได้ว่าให้ 3 ดาวไปใน goodreads

The Fugitive เล่มนี้ของ Pramoedya Ananta Toer แอบทำให้ผิดหวังอยู่เหมือนกัน เนื้อเรื่องคือช่วงที่คอมมิวนิสต์และรัฐบาลอินโดฯ กำลังต่อสู้กันอยู่ มีการฆาตกรรมและกวาดล้างคนที่ถูกหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ขนานใหญ่ มีคนตายไปเป็นจำนวนมาก ตัวละครหลักในเรื่องนี้คือผู้ร้ายที่ถูกหมายหัวโดยรัฐบาล หนีกลับมาหาพ่อที่บ้าน เรื่องทั้งเรื่องเหมือนเป็นเพียงบทสนทนาเสียส่วนใหญ่ ไม่มีเหตุการณ์น่าตื่นเต้นเท่าไหร่ ผิดจากนิยายชุดอมตะที่อ่านจบไปก่อนหน้านั้น

The Cat’s Table ของ Michael Ondaatje เลือกมาอ่านโดนไม่คิดอะไรมาก จำได้ตอนที่ซื้อนี่คือ ผ่านไปคิโนะฯ แล้วพอดีเกิดอยากหาอะไรติดมือไปอ่านเพราะตอนนั้นลืมเอาหนังสือที่อ่านค้างไว้มา ปรากฏว่าชอบมาก เป็นเรื่องเล่าย้อนหลังวัยเด็กของ Michael ซึ่งเดินทางขึ้นเรือสำราญเพื่อเดินทางไปเรียนต่อที่อังกฤษ ระหว่างทางได้พบทั้งมิตรภาพของเพื่อนๆ หลากหลายชนนั้น ได้พบกับบุคคลแปลกๆ และที่สำคัญคือคดีฆาตกรรมที่เมื่อเผยตอนท้ายแล้วก็ทำให้ประหลาดใจกันทั้งหมด ถือว่าเป็นเล่มที่ไม่ผิดหวังเลย รู้สึกว่าจะให้ 5 ดาวไป






Asian Reading Month ยังไม่จบเพียงเท่านั้น รู้สึกว่านักเขียนเอเชียหรือเชื้อสายเอเชียเขียนเรื่องได้น่าติดตาม อาจเพราะเป็นคนเอเชียเหมือนกัน ถึงได้เข้าใจความคิดความอ่านและการกระทำต่างๆ ของตัวละครละมัง เล่มต่อมาที่หยิบมาอ่านคือ Confessions of a Mask ของ Yukio Mishima นักเขียนชาวญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงแต่ต้องสิ้นชีพด้วยการฆ่าตัวตายแบบฮาราคีรีตั้งแต่ยังหนุ่มเพื่อต่อต้านการปฏิวัติทางการเมือง นักเขียนผู้นี้สร้างผลงานไว้มากมายที่ถือว่าล้ำลึก ก็เลยลองยืมเล่มนี้มาอ่านดู เล่มนี้เป็นชีวิตของเด็กหนุ่มผู้ต้องการแสดงหาตัวตนที่แท้จริง ซึ่งขณะนั้นเหมือนกับว่าเขากำลังตกหลุมหลงรักเพื่อนชายวัยเดียวกันอยู่ เรื่องเป็นลักษณะแนว coming of age (อ่านๆ ไปเหมือนชีวิตของคนเขียนเอง เพราะไปอ่านชีวประวัติแล้วคล้ายกันเหลือเกิน) เรื่องนี้ต้องละเลียดอ่าน เพราะสำนวนภาษาค่อนข้างยาก ไม่แน่ใจว่าเป็นสำนวนของคนแปลเอง หรือตั้งใจสะท้อนวิธีเขียนของต้นฉบับที่ต้องการให้ลุ่มลึก สรุปว่าเล่มนี้โอเคอยู่ จะลองหาเล่มอื่นมาอ่านอีก นอกจากติดใจผลงานแล้ว ชีวิตส่วนตัวของผู้เขียนก็น่าสนใจ

เล่มต่อไป หันมาอ่านงานประเทศในแถบโซนเดียวกันบ้าง สังเกตว่าตัวเองชอบอ่านนิยายที่สะท้อนประวัติศาสตร์ช่วงอาณานิคมของแต่ละประเทศ คราวนี้เลยลองหยิบ Dusk ของ F. Sionil José เป็นชีวิตของชาวพื้นเมืองแถบ Ilocos ในประเทศฟิลิปปินส์ในยุค 1880 สมัยท้ายๆ การปกครองของสเปนและอเมริกากำลังเข้ามา ตัวเอกเป็นคนพื้นเมืองที่ต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของตัวเอง ส่วนตัวคิดว่าเนื้อเรื่องยังอ่อนไป ไม่เข้มข้นเหมือนของประเทศอื่นอย่างที่เคยอ่านมา จริงๆ นิยายนี้มีเป็นชุด สะท้อนชีวิตตระกูลเดียวกันจากเล่มนี้มาเป็นทอดๆ ไว้ว่างๆ จะหาเล่มต่อมาอ่านอีก

ต่อมาก็หยิบนิยายของ R.K. Narayan มาอ่าน จำได้ว่าซื้อมาจากงานเซลที่ห้องสมุดเนลสันในสภาพดีมากๆ ปกแข็งหุ้มพลาสติกสวยงาม เล่มนี้รวมเอานิยายยุคแรกของผู้เขียนไว้ด้วยกัน 4 เรื่อง Swami and Friends, The Bachelor of Arts, The Dark Room, The English Teacher ปรากฏว่าชอบมาก เรื่องแรกเป็นฉากชีวิตของเด็กชายกับเพื่อน พล็อตเรียบง่ายแต่ประทับใจ เรื่องที่สองเป็นชีวิตวัยหนุ่มของชาวอินเดียที่แสวหาความหมายในชีวิตวัยหนุ่ม ในเรื่องที่สามเป็นภาพแทนของชีวิตคู่ชายหญิงชาวอินเดียในสมัยนั้น (ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง) และเรื่องสุดท้ายเป็นนิยายกึ่งอัตชีวประวัติของผู้เขียนเองที่ต้องเสียภรรยาไปก่อนวัยอันควรและเหลือลูกสาวให้เลี้ยงดูตามลำพัง อ่านแล้วประทับใจมาก บอกได้เลยว่านิยายของ Narayan เรียบง่ายแต่ทรงพลังจริงๆ

ถัดมาก็ยังอยู่ที่อินเดียกับเรื่อง The God of Small Things ของ Arundhati Roy อ่านแล้วเข้าใจเลยว่าทำไมเป็นเป็นหนังสือดีที่คนชอบกันทั่วโลก เรื่องนี้เล่นกับธีมความรู้สึกผิดในวัยเด็ก การใส่ร้ายด้วยความชิงชัง ความรักของคนต่างวรรณะ การแสดงหาตัวตนเมื่อเติบโตขึ้น และความรักระหว่างพี่ชายน้องสาวต้องห้ามของ Esthappen กับ Rahel เนื้อเรื่องเกิดขึ้นทางใต้ของอินเดียเป็นแนวชีวิตครอบครัวที่มีปัญหาซับซ้อนซึ่งไม่มีวันที่จะหาทางออกได้ภายใต้วัฒนธรรมประเพณีของอินเดียที่ยึดมั่นถือมั่น






คราวนี้ไม่ได้ตั้งใจให้เป็นธีมอ่านงานของนักเขียนเอเชียแล้ว แต่บังเอิญเป็นงานของนักเขียนเอเชียซึ่งไปเติบโตที่อเมริกาและเป็นคนเขียนที่เราชื่นชอบ พอเห็นหนังสือ In Other Words ของ Jhumpa Lahiri ออกมาวางจำหน่ายครั้งแรกก็รีบคว้ามาอ่านทันที ทั้งๆ ปกติเป็นคนที่ไม่ค่อยอ่านงานอะไรที่ออกใหม่นัก หนังสือเล่มนี้เป็นงานเขียนเชิงบันทึก ไม่ใช่นิยาย เป็นการบันทึกถึงความพยายามที่ Jhumpa จะเรียนภาษาอิตาลี เธอเริ่มสนใจภาษานี้เมื่อเกือบยี่สิบปีก่อน เรียนลองผิดลองถูกอยู่นาน แต่ก็ยังไม่สามารถเข้าถึงสปิริตของภาษาได้ จนเมื่อเธอและครอบครัวตัดสินใจไปใช้ชีวิตทีอิตาลีนั่นเองที่ทำให้เธอได้เข้าใกล้ความเป็นอิตาลีมากยิ่งขึ้น บันทึกนี้เธอเขียนเป็นภาษาอิตาลีเองทั้งหมด ก่อนที่จะให้คนอื่นแปลเป็นอังกฤษแล้วพิมพ์จำหน่าย ถือเป็นความพยายามอันล้ำเลิศในการเข้าถึงภาษาใหม่ที่ตัวเองไม่เคยสัมผัสมาก่อน อ่านเล่มนี้แล้วเป็นแรงบันดาลใจอย่างสูงให้เราฮึดทำสิ่งที่อยากทำให้สำเร็จ ไม่ว่าจะนานแค่ไหน ถือเป็นเล่มที่จะหยิบกลับมาอ่านในจุดใดของเล่มก็ทำให้รู้สึกดีได้ทุกๆ หน้าจริงๆ

จำได้ว่า หยุดอ่านหนังสือบันเทิงคดีไปนานเพราะต้องไปอ่านอย่างอื่นที่หนักๆ กว่าจะย้อนกลับมาอ่านนิยายอีกก็ปาเข้าไปหลายเดือน ตั้งใจจะหยิบอะไรที่คิดว่า “อ่านได้ง่ายๆ” เลยหยิบ The Snows of Kilimanjaro and Other Stories ของ Ernest Hemingway ซึ่งเป็นรวมเรื่องสั้นมาอ่าน ปรากฏว่าเข้าไม่ถึงเลย อ่านตัวอักษรน่ะง่ายก็จริง แต่ตีความแต่ละเรื่องไม่ออกเลย ถ้าจะมีเรื่องไหนที่เข้าถึงคงเป็นเรื่องแรกซึ่งชื่อเดียวกับชื่อเรื่อง เพราะมีผู้รู้มาชี้แนะให้ว่า สัญลักษณ์ตรงโน้นตรงนี้หมายถึงอะไร โยงเข้ากับสถานการณ์ใด ปัจจัยใดที่ทำให้ตัวละครเป็นเช่นนั้นคืออะไร ยอมรับว่าเรื่องอื่นๆ อ่านเองแล้วไม่เก็ต อาจบางทีต้องอ่านซ้ำทำความเข้าใจหนักๆ ถึงจะเข้าใจละมัง

Goodbye to Berlin ของ Christopher Isherwood เลือกมาอ่านเพราะชอบงานก่อนหน้าเรื่อง The Single Man ที่ได้อ่านไปตอนปลายปีกลาย เรื่องนี้เป็นเรื่องของหนุ่มชาวอังกฤษ (ผู้เขียนใช้ชื่อตัวเองในทำนองนิยายกึ่งอัตชีวประวัติ) ไปทำงานเป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่เบอร์ลินช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง หนังสือเขียนแบบเรื่องสั้นกลายๆ โดยมี Christopher เป็นผู้ดำเนินเรื่อง แต่ละเรื่องก็เล่าเรื่องราวของตัวละครอื่นๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งเรื่องของยิว เรื่องดาราสาวตกยาก ฯลฯ อ่านจบแล้วรู้สึกเฉยๆ ไม่ชอบเท่าเล่มแรก รู้สึกจะให้ไป 3 ดาว

The Twisted Root ของ Anne Perry เล่มนี้ขุดมาจากลังที่บ้านที่ต่างจังหวัด เหมือนซื้อไว้เกือบสิบปีแล้วแต่อ่านไม่จบสักที เป็นเรื่องแนวนักสืบกับฆาตกรรมอำพราง ที่เด่นของเรื่องคือเซตในอังกฤษยุควิคตอเรีย ตัวละครเอกคือนักสืบชื่อ Monk ซึ่งเป็นซีรีส์ของเขาเอง เล่มนี้เป็นช่วงที่ Monk ได้ใช้ชีวิตคู่กับแฟนตัวเองแล้ว เรื่องหลักคือหญิงที่กำลังจะแต่งงานผู้หนึ่งหายตัวไป Monk ตามสืบจนพบความจริง พล็อตไม่ได้ซับซ้อนอะไรมาก เหมือนคนเขียนพยายามจับตัวละครมาใส่เยอะๆ ทำให้ทุกคนต้องสงสัยหมด พยายามชักจูงให้คนอ่านสงสัย แต่ระดับความน่าสงสัยมันหายไปหมดจริงๆ เนื้อเรื่องแอบน่าเบื่อ ไม่ตื่นเต้นเลย






Slow Man ของ J.M. Coetzee เป็นอีกเล่มของนักเขียนคนนี้ที่ได้อ่าน ถามว่าดีไหม ตอบว่าโอเค เนื้อเรื่องงงๆ เล็กน้อย เริ่มที่ Paul ชายวัยใกล้เกษียณถูกรถชนต้องตัดขา กลายเป็นคนพิการต้องการนางพยาบาลมาช่วย ก็ได้เจอกับนางพยาบาลอพยพมาจากโครเอเชีย (เรื่องเซตที่ออสเตรเลีย) เกิดหลงรักทั้งๆ มีลูกมีสามีแล้ว แต่เขาก็รักด้วยความปรารถนาดี เสนอเงินช่วยลูกชายของเธอที่กำลังจะเข้าโรงเรียนประจำจนบาดหมางกับสามี เรื่องมันมางุนงงตรงที่จู่ๆ ก็มีตัวละครเป็นหญิงชราราว 70 ปีโผล่เข้ามาเจ้ากี้เจ้าการคอยเตือน Paul ไม่ได้ทำสิ่งผิด หญิงคนนี้จริงๆ แล้วเป็นตัวละครเด่นในนวนิยายอีกเรื่องของ Coetzee ที่ทำให้งงคือมันไม่มีที่มาที่ไป เหมือนตั้งใจให้ตัวละครตัวนี้ mentor กลายๆ แต่รู้สึกว่าผู้เขียนพยายามยัดเยียดเข้ามามากไปหน่อยเท่านั้นเอง ให้ไป 3 ดาว

The Daydreamer เรื่องนี้น่ารัก เป็นนิยายเด็กของ Ian McEwan ซึ่งเราเป็นแฟนคลับอยู่แล้ว พยายามจะตามอ่านให้ครบทุกผลงาน นิยายเล่มนี้น่าจะตั้งใจให้เด็กราวสิบกว่าขวบอ่านตามอายุตัวเอกที่ชื่อ Peter เขาเป็นเด็กชอบฝันกลางวัน ฝันโน่นฝันนี่จนเป็นเรื่อง ฝันถึงผีตุ๊กตา ฝันว่าได้สลับร่างกับแมว อ่านแล้วชอบและคิดว่าลุงเอียนน่าจะเขียนเรื่องเด็กออกมาอีก

จะบอกว่า ไม่เคยอ่านงานของ Kazuo Ishiguro เลยลองหยิบเล่มนี้มาอ่านก่อน (ทำไมไม่หยิบเล่มดังๆ ของคุณคนนี้มาอ่านก็ไม่รู้ -_-’) The Buried Giant เปิดฉากมาน่าสนใจไม่ใช่น้อย เป็นเรื่องของคู่สามีภรรยาในบริเตนช่วงที่โรมันจากเกาะแห่งนี้ไปแล้ว ทั้งคู่ต้องการออกเดินทางไปตามหาลูกชายของตน ระหว่างทางก็เจอกับทหารแซกซอนที่ไม่ถูกกับกับบริเตน มีการนำตำนานอาร์เธอร์มาปน ตอนแรกคิดว่าจะเป็นนิยายแนวเรียลิสต์สะท้อนประวัติศาสตร์ อ่านไปอ่านมาทำไมมีมังกรหวา กลายเป็นนิยายแฟนตาซีแบบเควสต์ไปเสียงั้น แถมตอนท้ายก็ยังไม่รู้ว่าเจอลูกชายอีกรึเปล่า มีแต่เดินทางไปช่วยอัศวินปราบมังกรได้เท่านั้น เสียใจ ทำไมไม่เป็นดังคิด ไม่เป็นไร ไว้จะลองเอางานที่ดีของคนเขียนมาอ่านใหม่น่าจะดี

Bring Up the Bodies เป็นภาคต่อของ The Wolf Hall ซึ่งอ่านไปเมื่อสองปีก่อน งานของ Hilary Mantel ที่ตั้งใจจะเขียนถึง Thomas Cromwell ผู้อยู่เบื้องหลังการขึ้นและลงของบรรดาภรรยาทั้งหลายของ Henry VIII โดยเฉพาะ Anne Boleyn ในเรื่องแรกนั้นเป็นฉากชีวิตและเรื่องราวกว่าที่เขาจะก้าวเข้ามาเป็นที่ปรึกษาใกล้ชิดของกษัตริย์ได้ ส่วนเล่มนี้เล่าถึงการทำลาย Anne Boleyn ลงไป ระยะเวลาเรื่องนี้สั้นกว่าเมื่อเทียบกับเล่มก่อน เนื้อเรื่องดำเนินไปในลักษณะบรรยายเรื่องผ่านสายตาของ Cromwell การวางแผน ลูกล่อลูกชน และอุบายที่จะใส่ความ Anne Boleyn เพื่อนำเธอลงจากตำแหน่งราชินี เนื่องด้วยกษัตริย์ไม่พิสมัยนางอีกต่อไป เรื่องนี้เป็นซีควัลที่โอเค ไม่ชอบเท่าเล่มแรก แต่ก็ไม่ได้แย่อะไร มาสนุกสุดตอนท้ายๆ เรื่องที่ลุ้นว่าแต่ละคนจะโดนลากเข้ามาร่วมชะตากรรมกับ Anne ยังไง ถือว่าทำได้ดี จะรออ่านเล่มจบต่อไปซึ่งเป็นช่วงที่ Cromwell ลงจากอำนาจ






เคยดูแอนิเมชั่นเรื่อง Howl's Moving Castle ของ Diana Wynne Jones ผ่านยูทูป แต่ดูไม่ทันจบก็โดนลบไปซะก่อน เลยตามหาฉบับนิยายมาอ่าน ปรากฏว่าไม่ค่อยเหมือนกับในการ์ตูนเท่าไหร่ ความโรแมนติกระหว่าง Sophie กับ Howl ในหนังสือไม่มีเลย หนังสือเสนอมิตรภาพระหว่างกันมากกว่า มีการตัดบางส่วนออกไปเหมือนกัน แต่โดยทั่วไปแล้ว อารมณ์และธีมของเรื่องยังอยู่ครบ ฉบับนิยายส่งเสริมจินตนาการโดนแท้ แต่อ่านๆ ไปแล้วชัง Howl อยู่หลายจุด เป็นพ่อมดที่ไม่ค่อยมีตรรกะสักเท่าไหร่ อย่างไรก็ดีตัวเอกอย่าง Sophie ก็ทำให้เรื่องดำเนินไปได้อย่างน่าสนใจ ที่ชอบที่สุดในเรื่องนี้คือ Calcifer ปีศาจไฟในเตาผิงคอยขับเคลื่อนปราสาทด้วยอำนาจไฟของตนเอง 

เล่มถัดมา ลองของอีกแล้ว อยากลองอ่าน Virginia Woolf ดูมั่ง เลยหยิบเล่มเล็กๆ มาอ่านก่อน คิดว่า stream of consciousness คงไม่ทำร้ายคนอ่านมากนัก ปรากฏว่าคิดผิด Jacob's Room ทำเอางงสุดๆ สงสัยเราไม่เหมาะกับงานประเภทใช้เวลามองหาความลุ่มลึกระหว่างบรรทัดอย่างนี้จริงๆ เรื่องเหมือนเล่าชีวิตของ Jacob ตั้งแต่สมัยเล็กๆ ผ่านสายตาคนรอบข้างและคนที่เข้ามาเกี่ยวพันในชีวิตเขา จนเป็นผู้ใหญ่และมีนิสัยชอบเก็บตัวอยู่ในห้อง หนังสือเขียนแบบตัดไปตัดมา จับต้นชนปลายไม่ได้ เช่น ฉากเริ่มที่รถไฟ เล่าไปเล่ามาดันไปโผล่ที่บ้านคนอื่น เล่นเอางงไม่ใช่น้อย เลยคิดว่าคงจะเข็ด เล่มอื่นที่ดังๆ ก็น่าจะแนวนี้ละหนา

The New York Trilogy ของ Paul Auster นี่สิเจ๋งมาก เพิ่งอ่านจบไปหมาดๆ เป็นเรื่องรวมนิยายขนาดสั้นสามเรื่องที่เหมือนจะเป็นคนละเรื่อง แต่ผู้เขียนผูกตัวละครบางตัวและกล่าวอ้างถึงเหตุการณ์บางเหตุการณ์ให้เหลื่อมซ้อนกันได้อย่างน่าทึ่ง โดยเสนอในลักษณะนิยายสืบสวนสอบสวน 

(Spoiler!) City of Glass เป็นเรื่องแรก ในยุคปัจจุบัน (ยุค 1980) ซึ่งเล่าถึงนักเขียนนิยายที่จับพลัดจับผลูมาเป็นนักสืบตามหายชายชราที่เพิ่งออกจากคุก ผู้ว่าจ้างคือลูกสะใภ้ โดยให้จับตาดูเพราะกลัวมาทำร้ายลูกชายตัวเอง Ghosts เรื่องที่สองซึ่งเกิดขึ้นในยุค 1940 เมื่อ Blue ถูกว่าจ้างให้คอยจับ Black แต่นานเข้าเขาทนไม่ไหวจึงไปตามหาความจริง ก็เพราะว่าเป็นการจ้างซ้อนให้เฝ้าสังเกตกันไปมา (ให้นึกถึงกระจก) ส่วนเรื่อง The Locked Room เป็นเรื่องของนักเขียนคนหนึ่งได้รับการติดต่อจากภรรยาของเพื่อนวัยเด็กให้จัดการกับงานเขียนของเพื่อนซึ่งหายตัวไป ในนั้นมีจดหมายบอกว่า ถ้าเขาจากไปแล้วให้ส่งงานเขียนให้เพื่อนคนนี้ไปจัดการต่อ ปรากฏว่าพอเอาไปเสนอสำนักพิมพ์ก็มีแต่คนชอบและได้ตีพิมพ์ทำรายได้อย่างงามในที่สุด จากนั้นเพราะสามีไม่อยู่แล้ว เพื่อนผู้นี้ก็เลยแต่งงานกับภรรยาของเพื่อนเสียเลย และคอยทำงานเป็นเอดิเตอร์ ส่งผลงานทั้งหมดของเพื่อนผู้จากไปทยอยเข้าโรงพิมพ์ ซึ่งสองเรื่องในนั้นคือ Ghosts กับ City of Glass นั่นเอง อย่างไรก็ดีตอนจบของเรื่องออกจะงงๆ ไปเสียหน่อย เมื่อเพื่อนเจ้าของผลงานที่หายตัวไป จู่ๆ ก็ติดต่อกลับมา หลังจากเพื่อนที่ทำหน้าที่เอดิเตอร์เทียวตามหาก็ไม่เจอ แต่ก็ไม่รู้แรงจูงใจในการหัวตัวไปและกลับมา แถมจบดื้อๆ เอาเสียอย่างนั้นอีกต่างหาก กระนั้นก็ดี เรายังชอบบรรยากาศของเรื่อง การดำเนินเรื่องที่กระชับ และการร้อยพล็อตให้ซ้อนทับกันอย่างเก๋ไก๋แบบนี้ เป็นนักเขียนที่น่าสนใจมาก




ซีรีส์ Misborn ของ Brandon Sanderson ประกอบไปด้วย The Final Empire, The Well of Ascension และ The Hero of Ages เรื่องเกิดขึ้นที่แผ่นดินสมมติ ดินแดนนี้แร้นแค้น มีเถ้าควันจากภูเขาไฟปกคลุมอยู่ชั่วนาตาปีและหมอกชื้นปกคลุมยามกลางคืน ทั้งยังมี Lord Ruler คอยปกครองแบบศักดินากดขี่ชนชั้น โดยแบ่งเป็น Skaa พวกที่เป็นทาสคอยรับใช้อยู่ในที่ดินของพวกชนชั้นปกครอง ซึ่งพวกหลังนี้มีพลังพิเศษ สืบเชื้อสายกันมา พลังพิเศษนี้จะผูกโยงกับธาตุต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Brass, Pewter, Iron, Steel, ฯลฯ มีมากกว่า 12 ชนิด คนพวกนี้เรียกว่า Allomancer โดยแต่ละคนสามารถใช้ธาตุได้คนละอย่าง แต่มีพวกหนึ่งที่สามารถรวมพลังทั้งหมดไว้ได้เรียกว่า Misborn เรื่องของเรื่องเริ่มที่ Misborn ที่พลัดเข้าไปเกิดแก่พวก Skaa ต้องการลุกฮือปลดแอกตัวเองออกจากความเป็นทาส ต้องการล้มล้าง Lord Ruler และชนชั้นปกครอง ตัวละครนำคือ Kelsier ผู้พยายามปลุกระดม สร้างความหวังให้แก่ผู้ที่เคยตกเป็นทาส และ Vin เด็กสาวกำพร้าที่ได้รับการรีครูตเข้ามาในกลุ่มผู้ก่อการ จากที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวแต่เธอได้กลายมาเป็นทายาทในการวบรวมแผ่นดินต่างในเล่มอื่นๆ ถัดมาหลังค้นพบพลังพิเศษของตนที่มีมากกว่า Misborn คนอื่น



Source: https://s-media-cache-ak0.pinimg.com/736x/9b/24/3c/9b243cff0f90da046b254ede4adf660a.jpg

เนื้อเรื่องเรื่องนี้เยอะมาก ไม่รู้จะเล่ายังไงดี แต่คิดว่าถ้ามีโอกาสแนะนำให้หามาอ่านเลยสำหรับไฮคอแฟนตาซีแบบนี้ รับรองไม่ผิดหวังจริงๆ เซตนี้เป็นเซตแฟนตาซีแรกที่เราติดหนึบ อ่านติดกับแบบเล่มต่อเล่ม ปกติเป็นคนแพ้หนังสือซีรีส์ยาวๆ เพราะขี้เกียจตามอ่านให้จบ แถมแต่ละเล่มหนาๆ ทั้งนั้น ประมาณ 700 หน้าอัพ แต่เรื่องนี้ถือว่าสุดยอดมากๆ ใส่ไม้ยมกไปสักสิบตัว ไม่ว่าจะเป็นระบบเวทมนต์ที่ใช้ธาตุต่างๆ มาเป็นแหล่งพลังพิเศษ ตัวละครที่แจกบทได้ถ้วนหน้า มีตรรกะในการดำเนินเรื่อง เผ่าพันธุ์ต่างๆ ในเรื่องก็แปลก ไม่เคยเห็นมาก่อน เป็นจินตนาการของผู้เขียนล้วนๆ ตอนที่อ่านก็ตามไปดูพวกแฟนอาร์ต เขาก็สะท้อนจินตนาการออกมาได้ดี ถ้ามีโอกาสอยากให้แปลเป็นไทยมาก เพราะมันต่างจากแฟนตาซีแบบฉบับที่คนไทยเคยพบเจอกันแน่นอน

นี่เป็นตัวอย่างแฟนอาร์ตที่ไปเจอมา 



Source: //inkthinker.deviantart.com/art/Mistborn-RPG-Alloy-Heroic-Archetypes-477273243

ปกเวอร์ชั่นอื่นๆ ก็สวย



ซีรีส์นี้ยังไม่จบ เห็นว่าจะเขียนยาวต่อไปอีก ซึ่งตอนนี้ก็ออกมาอีกสามเล่มแล้ว เป็นภาคต่อจากซีรีส์เดิมสามเล่มแรก ซีรีส์ที่สองเป็นเรื่องที่เกิดขึ้น 300 ปีให้หลัง ซื้อมาแล้วเล่มแรก (เล่มที่ 4 ในซีรีส์) ขอเคลียร์งานแล้วจะลุยอ่านให้สมใจรอ...


...





Create Date : 07 กรกฎาคม 2559
Last Update : 8 กรกฎาคม 2559 9:24:47 น. 2 comments
Counter : 1794 Pageviews.

 
The God of Small Things ภาษาสวยสุดใจ แต่ก็หดหู่สุดกู่ จบแล้วไม่รู้ดีใจหรือไม่ดีใจที่ได้อ่าน

เรากลับคิดว่าฮาวล์ฉบับนิยายน่ารักกว่าละค่ะ ดูเป็นคนธรรมดามากกว่าเทพเจ้า เนื้อเรื่องในนิยายก็ดูลงตัวกว่า จิบลิเอามาทำแล้วตบเข้าแนวทางตัวเองหมดทุกที แต่ก็ชอบอนิเมนะคะ ภาพสวยมากๆ

The New York Trilogy กะ Misborn ดูน่าสนุก *หลบตาหนีสปอย* มาบล็อกคุณบอยน์ได้หนังสือน่าสนใจลงลิสท์เพิ่มทุกที


โดย: Froggie วันที่: 9 กรกฎาคม 2559 เวลา:7:48:01 น.  

 
คุณกบ - ผมเชียร์ Misborn series เต็มที่เลยฮะ
คือเป็นแฟนตาซีที่แจกบทได้ดี ตัวละครพัฒนาได้ดีไม่แบบ ไม่ได้เน้นหนักไปแต่พวกฆ่าฟันหรือทำสงครามกันอย่างเดียว ยิ่งเล่มสองยิ่งเป็นเรื่องวางแผนเชิงการเมืองเสียด้วย
ตัวเอกที่มีทั้งหญิงและชาย อ่านแล้วติดหนึบจริงๆ ฮะ


โดย: Boyne Byron วันที่: 10 กรกฎาคม 2559 เวลา:20:59:28 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Boyne Byron
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




Friends' blogs
[Add Boyne Byron's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.