Group Blog
 
 
มกราคม 2557
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
13 มกราคม 2557
 
All Blogs
 
# 5 :: This Earth of Mankind : Pramoedya Ananta Toer ::









:: This Earth of Mankind : Pramoedya Ananta Toer ::





นิยายแห่งมนุษยธรรมเรื่องนี้ เกิดขึ้นเมื่อประมาณปี 1898 (สมัย ร.5) ช่วงที่อินโดนีเซียยังตกอยู่ภายใต้การปกครองของชาวดัทช์ ซึ่งเข้าปกครอง ยึดเป็นอาณานิคมมากกว่าสามร้อยปีแล้ว ที่น่าสนใจคือยุคอาณานิคมนี้ มีการแบ่งแยกชนชั้นอย่างชัดเจนในสังคมอินโดนีเซียสมัยนั้น ซึ่งยังเรียกชื่อว่า Netherland Indies อยู่ ผู้ที่อยู่สูงสุดของชนชั้น ว่าแน่นอนคือ เจ้าอาณานิคมชาวดัทช์ และชาวยุโรปอื่นๆ เช่น ฝรั่งเศส ที่เข้ามารับจ้างทำงานให้แก่รัฐบาลดัทช์ในกิจการต่างๆ รองลงมาคือ Indo คนกลุ่มนี้คือลูกครึ่งระหว่างคนท้องถิ่นและชาวยุโรป ผู้อยู่ฐานะต่ำสุดคือ Native หรือคนพื้นเมืองชาวชวาและชาวเกาะอื่นๆ ซึ่งชาวพื้นเมืองนี้ก็จะถูกครอบอยู่อีกชั้นโดยชนชั้นผู้นำของตัวเอง อย่าง Priyayi และ Bupati ที่ได้รับการแต่งตั้งและรับรองจากเจ้าอาณานิคม

ภาษาก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจ เนื่องจากมีหลายเผ่าพันธุ์อาศัยอยู่ที่เกาะแห่งนี้ ทำให้ภาษามีความหลากหลาย ภาษาดัทช์ใช้พูดกันในกลุ่มชาวดัทช์ ชนชั้นปกครอง เป็นภาษาราชการ ใช้ในการเรียนการสอนในโรงเรียนชาวดัทช์ ภาษาชวาพูดกันในกลุ่มคนท้องถิ่น และภาษาของกลุ่มชนต่างๆ ที่อาศัยอยู่ก่อนหน้าที่ตะวันตกจะเข้ามา เช่น มาดูรา เป็นต้น ภาษาต่างๆ นี้ถูกจำกัดให้พูดแต่เฉพาะในกลุ่มคนของชนชั้นนั้นๆ ถ้าจะพูดกันข้ามชนชั้นจะให้ภาษามาเลย์เป็นสื่อกลาง ฉะนั้น คนที่จะมีภาษีดีกว่าคนอื่นคือพูดได้หลายภาษา ซึ่งโดยปกติแล้ว ถ้าได้รับการศึกษา หรือคลุกคลีกับระหว่างชนชั้นต่างๆ แล้ว คนคนนั้นมักจะ multilingual โดยอัตโนมัติ

เช่นเดียวกับ Minke ตัวเอกของเรื่องนี้ เขาเป็น Native แต่เพราะเกิดเป็นลูกชายคนที่สองของ Bupati จึงได้เข้าศึกษาในโรงเรียนของชาวดัทช์ จนสามารถเขียนและอ่านภาษาของเจ้าอาณานิคมได้คล่อง เรื่องเริ่มที่เขาถูกเพื่อนชวนไปเยี่ยมบ้านของเพื่อน Indo คนหนึ่ง ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า เป็นลูกที่เกิดจากคนดัชท์กับ Nyai หญิงชาวชวาที่เป็นเมียน้อย ไม่ได้แต่งงานตามกฏหมาย (เรื่องกฏหมายนี้สำคัญมากในยุคนั้น ทุกอย่างจะถูกหรือผิด ได้รับความชอบธรรมหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับการรับรองทางกฏหมายของดัทช์ เรื่องนี้ Nyai ถือว่าไม่ได้เป็นเมีย ลูกที่เกิดตามมาจึงไม่ได้รับการรับรอง)

Minke ได้รู้จักกับ Annelies ลูกสาวของ Nyai แล้วหลงรักทันที ต่างจาก Robert ผู้เป็นพี่ชาย ซึ่งไม่ชอบหน้าเขาแต่แรกเจอ จากนั้น Nyai หรือที่เขาเรียกว่า Mama แทน (เพราะสรรพนามแรกนั้นมีน้ำเสียงของความดูแคลน) เชิญเขาเป็นแขกและพักอยู่ที่บ้านด้วย Minke ได้มารู้ทีหลังว่า บ้านที่ใหญ่โตโอ่อ่านี้ ไม่ใช่เกิดขึ้นโดยแต่น้ำพักน้ำแรกของนายผู้ชายของบ้านนี้ แต่เกิดจากความอุตสาหะดำเนินกิจการของ Nyai เองต่างหาก เพราะนายผู้ชายได้เสียสติ เป็นคนไร้สมรรถภาพเมื่อกว่ายี่สิบปีที่ผ่านมา หลังลูกชายตัวเองเดินทางมาหาจากเนเธอร์แลนด์ พร้อมความแค้นที่จะเอาคืนกับพ่อตัวเอง หลังจากนายผู้ชายเสียสติ Nyai ซึ่งถูกขายโดยพ่อตัวเองมาตั้งแต่เด็ก และแค้นเคืองโชคชะตา ก็เข้าดูแลกิจการปศุสัตว์และเกษตรกรรมแทน เพราะชายผู้ชายสอนให้เธออ่านและเขียนภาษาดัทช์ได้ บังคับให้อ่านหนังสือและเรียนรู้การดำเนินธุรกิจ จากเด็กสาวไร้เดียงสา จึงถูกปลูกฝังให้กลายเป็นผู้หญิงที่ได้รับการศึกษาแบบ self-educated จนสามารถดูแลลูกและกิจการของครอบครัวได้ หลังจากนายผู้ชายเสียสตินั้นเธอต้องรับผิดชอบกิจการทั้งหมด เพราะนายผู้ชายเสียจริตเดินจากบ้านไป ไม่กลับมาเลยในรอบหลายปี

อย่างไรก็ดี หลังจากเป็นแขกอาศัยที่บ้านแห่งนั้น พร้อมกับไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนชาวดัทช์ที่เมือง Surabaya เขาก็ถูกเรียกตัวกลับบ้านที่อยู่ต่างเมือง เพื่อไปรวมงานเฉพาะการรับตำแหน่ง Bupati ของพ่อตัวเอง ในงานนั้นเขาได้ทำหน้าที่เป็นล่ามในการดำเนินพิธีการ จนเป็นที่ประทับใจแก่ผู้ว่าเขตการปกครองชาวดัทช์ ถึงขนาดส่งเทียบเชิญให้ไปจิบน้ำชาที่บ้าน และได้พบกับลูกสาวสองคนของท่านผู้ว่าฯ รวมถึงได้สนทนาในประเด็นปรัชญาเรื่องสิทธิเสรีภาพของมนุษย์ เป็นเหมือนการเพราะเชื้อความคิดที่ว่า ทำไมสิทธิทางกฏหมายที่ชาวตะวันตกบอกว่าตนมีและดี แต่กลับมาใช้กดขี่กับชาวพื้นเมือง

เมื่อกลับมายัง Surabaya เขาก็ต้องตกใจเมื่อพบว่า Annelies ป่วยหนักเพราะเอาแต่คิดถึงเขา กลัวเขาไปตกระกำลำบาก เนื่องจากตอนแรกไม่มีใครรู้ว่าเขาถูกนำตัวไปโดยพ่อของตัวเองให้ไปร่วมงานฉลอง จากการป่วยของ Annelies นี้เอง เขาได้รู้ต่อไปว่า Robert คิดลอบทำร้าย Minke แต่ตัวเอง Robert แพ้ภัยเอง เขาเสเพล เกเรียน ไม่เอาอ่าว จนสุดท้ายไปตกอยู่ที่ซ่องนางโลม และติดเชื้อซิฟิลิสในที่สุด 

ที่โรงเรียน Minke เป็นเด็กฉลาด เขาเขียนบทความได้ดีจนได้ลงหนังสือพิมพ์ดัทช์โดยใช้นามแฝงเป็นชื่อคนดัทช์ จนข่าวกระจายออกไปทั่วและเป็นที่รับรู้กับในโรงเรียน อย่างไรก็ดี เหตุการณ์นี้ทำให้มีคนอิจฉาและคิดทำลายเขาอยู่ไม่น้อย หนึ่งในนั้นคือเพื่อนเรียนของเขาเอง

เหตุการณ์เริ่มยุ่งหนักขึ้นเรื่อยๆ เมื่ออยู่มาวันหนึ่ง มีคนพบศพของนายผู้ชายที่ซ่องนางโลมใกล้ๆ บ้านของ Nyai นั่นเอง ครอบครัวของ Nyai กลับถูกตั้งข้อสงสัยเรื่องการฆาตกรรมและเรื่องถูกโยงให้ยาวออกไปไกล กลายเป็นเรื่องสิทธิของเจ้าอาณานิคมกับชาวชวาพื้นเมือง จากเหตุการณ์นี้ กฏหมายเข้าข้างคนผิวขาวอย่างชัดเจน สิ่งเดียวที่ Minke จะสู้ได้คือการเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ ด้วยความช่วยเหลือของมิตรที่ดี เขาสามารถกระพือกระแสความไม่ยุติธรรมได้สำเร็จ เป็นที่กล่าวขวัญในสังคมสมัยนั้น ทำให้ศาลยุติการไต่สวนเรื่องฆาตกรรม เนื่องจากตามหาคนที่เห็นเหตุการณ์ไม่เจอ เพราะหนีหายไปเสียก่อน

เวลาผ่านไปสามเดือน Minke เรียนจบ เขาก็แต่งงานกับ Annelies ทันที ทั้งนี้เพราะต้องการรักษาเธอจากโรคซึมเศร้าที่เป็นเรื้อรังอยู่ก่อนหน้าด้วย (เพราะการกดดันจากแม่ของเธอเองโดยไม่รู้ตัว ที่ต้องการให้ลูกแข็งแกร่งโดยไว จะได้ช่วยแม่ทำงาน เพราะไม่มีพ่อแล้ว พี่ชายก็ไม่เอาไหน จนถึงจุดหนึ่งเด็กสาวก็มีอาการทางจิตอ่อนๆ คือปฏิเสธการรับรู้ ร้อนจน Minke ต้องดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด เพราะเขาเสมือนสิ่งยึดเหนี่ยวเดียวของเธอ) หลังจากแต่งงานกับไปตามประเพณีโดยมีแม่ของเขาเดินทางมาร่วมแต่เพียงคนเดียว เพราะพ่อซึ่งเป็น Bupati คัดค้าน ปัญหาใหม่ก็เกิดขึ้น คือมีหมายศาลมาถึงบ้านของ Nyai ยื่นมาบอกว่า Maurits Mellema ลูกชายของนายผู้ชายที่เกิดอย่างถูกต้องตามกฏหมายดัทช์ ยื่นร้องขอเป็นผู้ดูแลทรัพย์สินของพ่อตัวเองที่ตายลง พร้อมทั้งขอเป็นผู้พิทักษ์ Annelies ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะด้วย

เหตุการณ์เหมือนฟ้าฝ่าลงกลางบ้านที่เพิ่งฉลองความรื่นเริง อาวุธเดียวที่ Minke จะใช้ปกป้องเมียของตัวเองได้คือการเขียนบทความอีกเช่นเคย เขาพยายามปลุกระดมนักวิชาการมุสลิมให้ออกมาคัดค้านคำสั่งศาลดัทช์ที่บอกว่างานแต่งซึ่งถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลามนั้นไม่ถูกรับรอง จึงเสมือนเป็นการส่งสัญญาณทางการเมืองระรอกใหญ่ จนเริ่มมีการวิพากษ์วิจารณ์กันในหมู่ปัญญาชนสมัยนั้น 

อย่างไรก็ดี คำสั่งศาลยังคงไม่สะเทือน ทางการออกคำสั่งให้ส่งตัว Annelies ไปยังเนเธอร์แลนด์ให้อยู่ภายใต้อำนาจพิทักษ์ของ Maurits ฉากสุดท้ายของเล่มนี้คือความพ่ายแพ้ของ Native ต่อสิทธิอันชอบธรรมของตัวเอง พ่ายให้แก่กฏหมายของคนตะวันตกที่ออกมาครอบคน Native ที่ควรจะมีศักดิ์และสิทธิในสิ่งของ หรือแม้แต่ชีวิตของตัวเอง ท้ายสุด Minke กับ Nyai ก็สู้อำนาจเบื้องบนไม่ได้ จำต้องเฝ้ามอง Annelies ถูกคุมตัวเดินทางจากบ้านไป

ผู้เขียนจบหนังสือเล่มนี้แค่ตรงนี้ จบแบบโศกนาฏกรรมอย่างสะเทือนใจต่อชะตากรรมของมนุษย์ผู้ไม่ได้รับความชอบธรรม แต่จริงๆ หนังสือมีภาคต่ออีก รวมสี่เล่มจบ คิดว่าเนื้อหาที่ค้างอยู่คงไปเฉลยในเล่มสองแน่ๆ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นคนฆ่านายผู้ชาย หรือคนที่ตามสะกดรอย Minke หรือการหายตัวไปของ Robert ก็ยังไม่เฉลย

อ่านเรื่องนี้แล้วสังเกตว่า ถึงแม้ชนชั้นจะเป็นเรื่องใหญ่ในสังคมสมัยนั้น สิทธิและอำนาจถูกริดรอน แต่เหมือนผู้เขียนพยายามเสนอว่า การศึกษาเท่านั้น เป็นสิ่งที่จะทำให้คนเงยหน้าอ้าปากได้ เรียกร้องสิทธิของตัวเองได้อย่างเท่าเทียม เช่น ภาพ Minke ซึ่งเป็นแค่คนชวาแต่สามารถศึกษาเล่าเรียนจนเก่งกาจ สามารถใช้ปากกาต่างอาวุธ ตีแผ่ความอยุติธรรมให้สังคมให้เห็น แม้จะเป็นจุดเล็กๆ ก็ตาม รวมถึงภาพของ Nyai ที่ศึกษาหาความรู้ด้วยตัวเอง จนดูแลกิจการ เลี้ยงลูก และต่อสู้ในยามที่ตัวเองอับจนได้อย่างกล้าหาญ ก็ด้วยความคิดความอ่านซึ่งเติบโตมาจากการศึกษาด้วยตัวเองทั้งสิ้น 

ชอบเรื่องนี้มากๆ ยกให้เป็นหนึ่งในใจในรอบหลายปี ถึงจะจบแบบขัดใจแต่ถือว่าเต็มอิ่ม อยากหาอีกสามเล่มมาอ่านโดยไว เล่มนี้ 5 ดาวเรียกว่าน้อยมากที่จะให้


Toer, P.A. (c1996, 1982). This Earth of Mankind, trans. by Max Lane. New York: Penguin. 




หนังสือเล่มนี้แปลจากภาษาบาฮาซาอินโดนีเซียที่ชื่อ "ภูมิ มนุษยา" โดยปราโมทยา อนันตา โทรฺ 
ชีวิตของคุณตาปราโมทย์ก็น่าสนใจ เป็นนักโทษการเมืองอยู่สองครั้งสองครา ครั้งแรกเมื่อสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนประกาศเอกราช และโดยคณะรัฐบาลซูการ์โนที่ปราบปรามคอมมูนิสต์ และเรืองนี้ก็เกิดขึ้นในคุก ไม่ใช่โดยการเขียน แต่การเล่าจากปาก เพราะกลัวว่าเรื่องจะสูญหาย จนเมื่อพ้นโทษ จึงมีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ก็ถูกแบนอยู่นาน จนทูตชาวออสเตรเลียประจำกรุงจาการ์ตาแปลเรื่องนี้ออกมา ชาวโลกถึงได้รู้จักคุณตาท่าน














Create Date : 13 มกราคม 2557
Last Update : 13 มกราคม 2557 18:39:01 น. 3 comments
Counter : 1444 Pageviews.

 
อ่านแล้วได้แต่สงสารในชะตาชีวิตของคน รออ่านรีวิวเล่มต่อไปนะคะ


โดย: Sab Zab' วันที่: 13 มกราคม 2557 เวลา:19:02:51 น.  

 
อ่านไปด้วยความสนุกเพลิดเพลิน .. และอยากรู้เรื่องอีกนะค่ะ


ที่อ่านเรื่องนี้แล้วอิน อาจจะเพราะว่าคนข้างๆ ก็เป็น
ชนดัตช์ แล้วก็เคยได้อ่านเรื่องราวหลากหลายของ
คนอินโดสมัยก่อนที่ยังเป็นคนในปกครองของดัตช์อยู่
อ่านแล้วมันก็เห็นถึงความเหลื่อมล้ำเยอะแต่ว่าตัวเองก็ยัง
รู้สึกว่ามันไม่น่าเยอะเท่าชนชั้นของเมืองไทยแต่มันก็คงเทียบ
กันไม่ได้เลยเพราะว่าเมืองไทยเราไม่ได้เป็นเมืองขึ้น
หรือว่าอยู่ในการปกครองของใครเลย ..


อ่านไปแล้วก็เศร้าไปด้วยเรื่องชะตาชีวิตของคนจริงๆ ค่ะ


โดย: JewNid วันที่: 14 มกราคม 2557 เวลา:6:37:58 น.  

 
คุณ Sab Zab' - ว่าจะรีบหาเล่มต่อมาเข้าคิวอ่านโดยไวอยู่เหมือนกันฮะ

คุณ JewNid - มีประเด็นหนึ่งในหนังสือเหมือนกัน คือ การเมืองอาณานิคม บางส่วนอยากให้ปกครองกดขี่อย่างที่เห็นที่เป็นอยู่ และอีกกลุ่มที่เห็นความทุกข์ยากของประชาชน แต่บังเอิญว่าพวกแรกได้กุมอำนาจ เลยรีบไถ่เก็บภาษีและกดขี่ต่อไป ซึ่งก็เป็นทุกประเทศที่ตกเป็นเมืองขึ้นเขานะฮะ

เพื่อนคนอินโดที่ให้ยืมหนังสือเล่มนี้มาอ่าน บอกว่า เมื่อเปรียบเทียบเจ้าอาณานิคมทั้งมวลแล้ว ดัทช์กดขี่ชนพื้นเมืองสุด เรียนก็ไม่ให้เรียน ประเทศก็ไม่สร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานให้ดีเท่ากับเจ้าอาณานิคมอื่นๆ (ในทัศนะของเพื่อนเขานะฮะ)


โดย: Boyne Byron วันที่: 15 มกราคม 2557 เวลา:21:29:17 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Boyne Byron
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




Friends' blogs
[Add Boyne Byron's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.