<<
กุมภาพันธ์ 2552
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
 
6 กุมภาพันธ์ 2552
 

ละคร @ สังคีตศาลา : ละครนอก



หลังจากผ่าน การแสดงเบิกโรง ฉุยฉาย และละครใน
ลำดับต่อมาและเป็นการแสดงชุดสุดท้ายคือ ละครนอก


ละครนอกแบบดั่งเดิมโบราณแท้ๆ ใช้ตัวแสดงเป็นผู้ชายล้วน ถือเป็นละครสำหรับชาวบ้าน
มักจะเล่นเรื่องที่เป็นแบบบ้านๆ จริงๆ มีครบรสทั้งชิงรักหักสวาทและรบกัน
แม้จะมีตัวละครเป็นเจ้าเมือง พระมเหสี ก็มีอารมณ์หึง อารมณ์โกรธ แบบอาละวาดมากว่าละครใน ซึ่งเป็นละครผู้ดี อะไรๆ ก็ิเนิบไปช้าๆ แต่งดงาม

การแสดงวันนี้เป็นละครนอกชายล้วน ที่ต้องระบุเช่นนี้ เพราะบางครั้ง ละครนอกก็ใช้ชายจริงหญิงแท้เล่น
โดยคงอารมณ์และโทนการแสดงแบบละครนอก ...อ่ะ เรื่องวิชาการ เดี๋ยวยกมาอ้างอิงช่วงท้าย

เรื่องที่แสดง คือ มณีพิชัย ซึ่งเเป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 เสนอตอน ขอพระมณีพิชัยไปเป็นทาส
เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่จัดแสดงบนเวทีมหรสพงานออกพระเมรุเช่นกัน

เนื้อเรื่องก่อนการแสดง คือ เมื่อพระนางจันทร (แม่พระมณีพิชัย) ใส่ความว่านางยอพระกลิ่นกินแมว ก็เลยถูกขับออกจากเมือง พระอินทร์ (พ่อนางยอพระกลิ่น) ทราบก็กริ้ว..จึงเสด็จลงมาช่วย โดยแปลงกายนางยอพระกลิ่นเป็นพราหมณ์หนุ่ม แล้วสอนเวทย์มนต์พร้อมมอบพระขรรค์ให้เป็นอาวุธ เนรมิตศาลาให้อยู่ที่ชายป่าใกล้เมือง พระอินทรจะแก้แค้นให้ลูกสาว ก็เลยบันดาลให้งูกัดพระนางจันทรขณะที่สรงน้ำจนสิ้นสติไป


การแสดงเริ่มตอนนี้แหละ เมื่อพราหมณ์ยอพระกลิ่นทราบข่าวว่า หากรักษาพระนางจันทรหายจะได้รางวัล ก็อาสา


เสนานำวอมารับ (ตามเรื่อง แต่ในการแสดงจริง ไม่ได้จัดวอนะจ๊ะ) ขึ้นเฝ้าพระมณีพิชัย
พระเอกของเรา เห็นคนอาสารักษาแม่ ก็ดีใจล่ะ ...แต่ก็มองเห็นพราหมณ์เหมือนพระชายาตัวเอง
ราวกับเป็นคนเดียวกัน (ก็คนเดียวกันนั่นแหละ) ก็มีบทเกี้ยวพา นิดนึง...
แต่ก็ผิดหวังไป เพราะพราหมณ์เป็นชาย


พอได้เจรจากัน แจ้งความประสงค์ เล่าอาการพระมารดา...พราหมณ์ยอพระกลิ่นก็ว่า รักษาได้
ถ้ารักษาหายแล้ว จะขอพระมณีพิชัยไปเป็นทาส...ความกตัญญูพระเอกของเราก็รับปาก
งั้นก็ ....ไปเข้าเฝ้าพระมารดาที่ตำหนักกันได้


ฉากต่อไปก็เป็นฉากตลกๆ พระบรรดานางสนม ต้องพาพระนางจันทรที่สลบออกเวที
ตลกกันพอหอมปากหอมคอ...พระเอกกับพราหมณ์ก็ออก...แล้วก็ร่ายเวทย์รักษาพระนางจันทรจนฟื้น




จากนั้น นางเอกของเราก็เฝ้าพระนางจันทรแต่ลำพัง..แล้วบังคับแกมขู่ให้เล่าที่มาของอาการเจ็บป่วย
นางจันทรกลัวคำขู่ ก็เลยเล่าเรื่องที่ใส่ร้ายลูกสะใภ้ให้ฟัง
ก็พอดี ท้าวพิชัยนุราชมาได้ฟังความลับนี้ด้วย


กริ้วโกรธา ก็คว้าไม้มาไล่ตีพระมเหสี มีนางสนมคอยกางกั้น...เป็นช่วงขำๆ อีกช่วงหนึ่ง
แล้วพราหมณ์ยอพระกลิ่น ต้องทูลขอพระราชทานอภัยโทษให้


จากนั้นก็ทวงคำสัญญาจากพระมณีพิชัย...ที่ต้องตามไปเป็นทาสรับใช้
คราวนี้พ่อแม่ลูกก็เลยมีบทโศกาอาดูร


เมื่อท้าวพิชัยนุราชและพระนางจันทรเอาแก้วแหวนเงินแลกคำสัญญาไม่ได้
พระมณีพิชัยก็ต้องออกจากวังติดตามไปเป็นทาสรับใช้พราหมณ์ ณ ศาลาอาศัยที่ชายป่า




เดินทางมาในกลางมรรคา
พระราชาทอดถอนใจใหญ่
โอ้ว่าเวรกรรมได้ทำไว้
จำไปเป็นข้าเจ้าพราหมณ์ชี

อกเอ๋ยไม่เคยจะตกยาก
ลำบากเคืองข้องหมองศรี
ไม่รู้ใจนายร้ายหรือดี
แล้วจะตีกันเล่นไม่เว้นวัน

ครั้นเจ้าพราหมณ์เลี้ยวมาทำหน้าม่อย (อุ๋ยหน่า)
หนามยอกเข้าไปหน่อยน้อยหรือนั่น
ทำนิ่วพักตร์ชักหนามออกเสียพลัน
ค่อยเหยียบยันโขยกเขยกมา



เห็นสุมทุมพุ่มไม้ในไพรชัฎ
เกรงกริ่งสิงห์สัตว์ที่ในป่า
เดินพลางทางนึกภาวนา
ร้องเตือนนายขาระวังตัว

ได้ยินเสียงสกุณีมี่ก้อง
ชะนีเหนี่ยวไม้ร้องเรียกผัว
ใจหายกายสั่นอยู่ระรัว
คิดกลัวผีสางปรางควาญ

ดำเนินเดินตามเจ้าพรหมณ์ไป
เปลี่ยวเปล่าเศร้าใจในไพรสาณฑ์
ขึ้นเขาข้ามน้ำลำธาร
ตัดดั้งดงดานเดินมา


เป็นอันจบการแสดงในวันเสาร์นั้นพอดี...ณ เวลาประมาณสองทุ่มครึ่ง
ด้วยความสนุกสนานเฮฮาและอิ่มกันแล้วถ้วนหน้า
รู้สึกเหมือนพาน้องๆ มาสอนวิชาการละครยังไงก็ไม่รู้นะ
เพราะสาวๆ มีคำถาม...ก็แสดงว่า หลักสูตรการเรียนการสอนตอนเราเรียนกับตอนน้องๆ เค้าเรียน
มันต่างกัน ..อายุเราต่างกัน 10 กว่าปี ...เรื่องไทยๆ แบบนี้ก็ลดน้อยถอยลง
หรือว่า..เป็นเพราะความสนใจในเรื่องนี้ ต่างกันเอง....
แต่ก็ยังดี ที่เราชวนแล้วมาดูด้วยกัน...และถามถึงครั้งต่อๆ ไปด้วย
คืนนั้น ก็แยกย้ายกันกลับบ้านด้วยความอิ่มเอมใจ




ข้อมูลเพิ่มเติมจาก เวปอนุรักษ์ไทยดอทคอม >> //www.anurakthai.com/

ละครนอก


ละครนอก มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เป็นละครที่แสดงกันนอกราชธานี แต่เดิมคงมาจากการละเล่นพื้นเมือง และร้องแก้กัน แล้วต่อมาภายหลังจับเป็นเรื่องเป็นตอนขึ้น เป็นละครที่ดัดแปลงวิวัฒนาการมาจากละคร "โนห์รา" หรือ "ชาตรี" โดยปรับปรุงวิธีแสดงต่างๆ ตลอดจนเพลงร้อง และดนตรีประกอบให้แปลกออกไป

ผู้แสดง ในสมัยโบราณจะใช้ผู้ชายแสดงล้วน ผู้แสดงจะต้องมีความคล่องแคล่วในการรำ และร้อง มีความสามารถที่จะหาคำพูดมาใช้ในการแสดงได้อย่างทันท่วงทีกับเหตุการณ์ เพราะขณะแสดงต้องเจรจาเอง

การแต่งกาย ในขั้นแรกตัวละครแต่งตัวอย่างคนธรรมดาสามัญ เป็นเพียงแต่งให้รัดกุมเพื่อแสดงบทบาทได้สะดวก ตัวแสดงบทเป็นตัวนางก็นำเอาผ้าขาวม้ามาห่มสไบเฉียง ให้ผู้ชมละครทราบว่าผู้แสดงคนนั้นกำลังแสดงเป็นตัวนาง ถ้าแสดงบทเป็นตัวยักษ์ก็เขียนหน้าหรือใส่หน้ากาก ต่อมามีการแต่งกายให้ดูงดงามมากขึ้น วิจิตรพิสดารขึ้น เพราะเลียนแบบมาจากละครใน บางครั้งเรียกการแต่งกายลักษณะนี้ว่า "ยืนเครื่อง"

เรื่องที่แสดง แสดงได้ทุกเรื่องยกเว้น 3 เรื่อง คือ อิเหนา อุณรุฑ และรามเกียรติ์ บทละครที่แสดงมีดังนี้ คือ

  • สมัยโบราณ มีบทละครนอกอยู่มากมาย แต่ที่มีหลักฐานปรากฏมีเพียง 14 เรื่อง คือ การะเกด คาวี ไชยทัต พิกุลทอง พิมพ์สวรรค์ พิณสุริยวงศ์ มโนห์รา โม่งป่า มณีพิชัย สังข์ทอง สังข์ศิลป์ชัย สุวรรณศิลป์ สุวรรณหงส์ และโสวัต


  • สมัยรัตนโกสินทร์ มีบทพระราชนิพนธ์ละครนอกในรัชกาลที่ 2 อีก 6 เรื่อง คือ สังข์ทอง ไชยเชษฐ์ ไกรทอง มณีพิชัย คาวี และสังข์ศิลป์ชัย (สังข์ศิลป์ชัย เป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 3 เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ โดยรัชกาลที่ 2 ทรงแก้ไข)


การแสดง การแสดงละครนอกมีความมุ่งหมายในการแสดงเรื่องมากกว่าความประณีตในการร่ายรำ ฉะนั้นในการดำเนินเรื่องจะรวดเร็ว ตลกขบขัน ไม่พิถีพิถันในเรื่องของขนบธรรมเนียมประเพณี การใช้ถ้อยคำของผู้แสดง มักใช้ถ้อยคำ "ตลาด" เป็นละครที่ชาวบ้านเรียกกันเป็นภาษาธรรมดาว่า "ละครตลาด" ทั้งนี้เพื่อให้ทันอกทันใจผู้ชมละคร

ดนตรี มักนิยมใช้วงปี่พาทย์เครื่องห้า ก่อนการแสดงละครนอก ปี่พาทย์จะบรรเลงเพลงโหมโรงเย็น เป็นการเรียกคนดู เพลงโหมโรงเย็นประกอบด้วย เพลงสาธุการ ตระ รัวสามลา เข้าม่าน ปฐม และเพลงลา

เพลงร้อง มักเป็นเพลงชั้นเดียว หรือเพลง 2 ชั้น ที่มีจังหวะรวดเร็ว มักจะมีคำว่า "นอก" ติดกับชื่อเพลง เช่น เพลงช้าปี่นอก โอ้โลมนอก ปีนตลิ่งนอก ขึ้นพลับพลานอก เป็นต้น มีต้นเสียง และลูกคู่ บางทีตัวละครจะร้องเอง โดยมีลูกคู่รับทวน มีคนบอกบทอีก 1 คน

สถานที่แสดง โรงละครเป็นรูปสี่เหลี่ยมดูได้ 3 ด้าน (เดิม) กั้นฉากผืนเดียวโดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามท้องเรื่อง มีประตูเข้าออก 2 ทาง หน้าฉากตรงกลางตั้งเตียงสำหรับตัวละครนั่ง ด้านหลังฉากเป็นส่วนสำหรับตัวละครพักหรือแต่งตัว


ปล. บทร้องที่นำมานั้น เป็นบทร้องจากเรื่องมณีพิชัย ที่นิยมนำไปร้องเพลง โอ้ลาว

เพลงโอ้ลาวจัดอยู่ในประเภทเพลงเร็วของโบราณ ในอัตราสองชั้นและชั้นเดียว ประเภทหน้าทับสองไม้ และต่อมามีผู้คิดขยายเป็นอัตราสามชั้นหลายทาง โดยทางที่นิยมนำมาบรรเลงกัน เป็นทางของหลวงประดิษฐไพเราะ ซึ่งแต่ราวพ.ศ. 2456 ท่วงทำนองอ่อนหวาน โศก ซึ้ง ใช้บรรเลงในความหมายถึงการคร่ำครวญ รำพึงรำพันถึงความทุกข์ยากในขณะเดินทางไกล หรือแสดงความอาลัยอาวรที่ต้องจากถิ่นที่อาศัย


ปล. อีกที
ภาพชุดการแสดงจาก 3 blog นี้ใช้กล้อง Pentax Optio 750Z ยังไม่คุ้นมือ
ปรับอะไร ก็ไม่ค่อยถูก ทั้งที่ตั้งใจลองหัดปรับนั่นปรับนี่ ...ได้ภาพมาเท่านี้เอง
ยังไม่ค่อยถูกใจเรานัก ไว้ต้องเอากล้องไปฝึกหัดในสถานการณ์อื่นบ้าง




Create Date : 06 กุมภาพันธ์ 2552
Last Update : 7 กุมภาพันธ์ 2552 9:06:08 น. 5 comments
Counter : 20798 Pageviews.  
 
 
 
 

[ของตกแต่งโดนๆคลิกเลย] แวะมาทักทายค่ะ ละครนอกเรื่องมณีพิชัยก็สนุกค่ะ แต่สำหรับดิฉันโดยส่วนตัวชอบเรื่องไกรทอง ตอน"พ้อบน"มากๆสนุกดี
 
 

โดย: เกศสุริยง วันที่: 7 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:0:15:49 น.  

 
 
 
ตามมานั่งชมด้วยคนนะคะ สนุกและได้ความรู้เพียบเลย ส้มว่ารูปสวยออกนะคุณนัทธ์
 
 

โดย: ส้มแช่อิ่ม วันที่: 7 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:11:03:42 น.  

 
 
 
คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ...
เอาบุญมาฝากค่ะ และขออนุญาติ addไว้เป็นเพื่อนบ้านนะคะ
 
 

โดย: เกศสุริยง วันที่: 8 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:1:45:44 น.  

 
 
 
งๅนนี้ท่ๅนนัทธทำกๅรบ้ๅนมๅเยอะนะครับ:->
 
 

โดย: Mr.Chanpanakrit วันที่: 8 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:9:46:30 น.  

 
 
 
^
^
ก็อยากนำเสนออะไรที่เป็นสาระบ้างอ่ะค่ะ...แม้ว่าจะเป็นสาระจากแหล่งอื่นก็ตาม
เอามารวมกันไว้ ได้ประโยชน์แ่ก่ตัวเองด้วยล่ะ
 
 

โดย: นัทธ์ วันที่: 8 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:16:03:51 น.  

Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

นัทธ์
 
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 39 คน [?]





รักที่จะอ่าน รักที่จะเขียน
เปิดพื้นที่ไว้ สำหรับแปะเรื่องราว
มีสาระบ้าง ไม่มีสาระบ้าง ณ ที่นี้



สงวนลิขสิทธิ์
ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์
พ.ศ.2539

ห้ามผู้ใดละเมิด
โดยนำภาพถ่ายและ/หรือข้อความต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นส่วนใดส่วนหนึ่ง
หรือทั้งหมดใน Blog แห่งนี้ไปใช้
และ/หรือเผยแพร่โดยมิได้รับอนุญาต
เป็นลายลักษณ์อักษร

New Comments
[Add นัทธ์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com