เมษายน 2553

 
 
 
 
1
2
3
4
5
7
8
9
10
11
12
13
15
16
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
 
 
สะเก็ดความคิด ตอน แด่บรรณาธิการและนักเขียน
ทุกวันนี้ในแวดวงหนังสือมีนักเขียนหน้าใหม่แจ้งเกิดอยู่ตลอดเวลา บางคนก็ได้รับความนิยม บางคนถึงกับมีแฟนๆ คอยติดตามผลงานอย่างจริงจัง ส่วนหลายคนที่รักการอ่านหนังสือคงจะเคยรู้สึกเหมือนกันว่าตัวเองอยากจะลองเขียนและมีผลงานเป็นของตัวเองดูบ้างสักครั้งหนึ่งในชีวิตนี้

ความรู้สึกที่ว่า “ฉันก็น่าจะทำได้นะ” ที่นำไปสู่การลงมือทำเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่น่าสนับสนุน แต่เมื่อคิดจะเป็นนักเขียน(มือใหม่) แล้ว สิ่งที่เราควรจะลองพยายามทำความเข้าใจตัวเองก็คือแม้เราจะพยายามอย่างสุดฝีมือ แต่งาน(ชิ้นแรก) ของเราอาจจะไม่ดีที่สุดเสมอไป และอาจจะไม่ดีในสายตาคนอื่นด้วยเช่นกันทั้งๆ ที่เราคิดว่ามันดีที่สุดแล้ว และนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมสำนักพิมพ์ถึงมีบรรณาธิการและกองบรรณาธิการ

สมัยที่ยังเป็นสาวเป็นแส้อยู่นั้น (ประมาณห้าปีแสงที่แล้ว) แม้จะชอบอ่านหนังสือแต่ก็จำได้แค่ชื่อนักเขียนเท่านั้น และไม่เคยสนใจจะพลิกดูหน้ารองปกเลย เพราะรู้สึกว่าเป็นข้อมูลที่ไม่รู้ว่าจะรู้ไปทำไม จนพอเริ่มโต(แก่) และทำงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับหนังสือมากขึ้น ถึงได้เริ่มใส่ใจกับบุคคลต่างๆ ที่อยู่เป็นเบื้องหลังการถ่ายทำเหล่านั้น

เท่าที่สังเกตดูรู้สึกว่าบรรณาธิการและกองบรรณาธิการของนิตยสารจะได้รับความสนใจมากกว่าหนังสือเล่ม ไม่ว่าจะเป็นแฟชั่น ออกแบบ ตกแต่งภายใน ดนตรี เศรษฐกิจ หรือนิตยสารอื่นๆ และด้วยความที่ได้ปรากฏตามสื่อต่างๆ มากมายจึงได้รับการยอมรับและความนับถือจากผู้อ่านและผู้คนในแวดวงต่างๆ เช่นกัน ส่วนความเนี้ยบเฉียบขาดในการทำงานและการแสดงความคิดเห็นของบรรณาธิการไม่ว่าจะเป็นนิตยสารหรือหนังสือเล่มก็คงได้พอเห็นผ่านตากันมาบ้างแล้วจากภาพยนตร์ เช่น Devil wears Prada, September Issue, Proposal เป็นต้น

แม้กระทั่งในโลกของการ์ตูนหรือ manga คอการ์ตูนก็คงจะคุ้นชินกับหน้าที่นักเขียนพูดคุยกับคนอ่านและมักจะใส่ข้อขำขันที่เกี่ยวข้องกับบก. เช่นการเร่งต้นฉบับ หรือการเล่าถึงที่มาที่ไปของคาแรคเตอร์ต่างๆ ที่ปรากฏในเรื่อง หรือการปรับเปลี่ยนโครงเรื่องหลังจากคุยกับบก. เช่น ซามูไรพเนจร ผู้ผนึกมาร ฯลฯ ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ในโลกของนักเขียนและแม้กระทั่งนักวาดแล้ว บรรณาธิการและทีมงานก็เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากทั้งสิ้นในการดูโครงเรื่อง ปรับโครงเรื่อง เสนอการปรับภาษา แก้คำผิด เสนอการเรียบเรียงประโยคใหม่ให้สละสลวยยิ่งขึ้น หรือขออนุญาตตัดความเมื่อเนื้อหาบางส่วนทำให้เรื่องเยิ่นเย้อเกินไป

ถึงตอนนี้หลายคนอาจจะเริ่มรู้สึกไม่ค่อยสบายใจแล้วว่าแล้วแบบนี้ “ตัวตน” ของเราจะโดนลบไปไหม ลองนึกย้อนไปถึงสมัยที่เรา(บางคน)ได้เรียนวิชาการเขียนภาษาไทย เวลาเราเขียน เราใส่ตัวตนของเราลงไปด้วยใช่ไหม เมื่ออาจารย์แก้งานเรามา เหตุผลที่อาจารย์แก้งานเรามาคืออะไร อาจารย์ต้องการจะลบตัวตนของเราไหม หรือต้องการจะชี้ให้เห็นมุมมองอื่น หรือต้องการจะลับเราให้คมขึ้น สมัยที่เรียนนั้น บางคนระเบียบความคิดดี แต่ภาษาไม่ดี บางคนภาษาดี แต่โยงความคิดไม่เก่ง จึงต้องใช้เวลาที่จะเรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์เพื่อพัฒนาผลงานของตัวเอง แต่หากเราทำตัวเป็นน้ำล้นแก้วตั้งแต่แรก โดยเฉพาะคนที่คิดว่าตัวเองมีความรู้สูงมีประสบการณ์มาก คิดว่านี่แหละคืองานที่สมบูรณ์ที่สุดแล้ว เราก็จะไม่อยากฟังคำวิจารณ์จากใคร ถึงฟังก็ไม่อยากจะยอมรับ เพราะรู้สึกว่า “ตัวตน” ถูกทำลายและรู้สึกเสียศักดิ์ศรีที่ต้องแก้ตามที่คนบอกมา สิ่งที่จะเกิดตามมาก็คือแม้เราจะได้เขียนเล่มต่อไป แต่ฝีมือเราก็จะเท่าเดิม และเท่าเดิมไปอย่างนั้นเพราะเราเชื่อว่าเราเขียนดีมากแล้วอยู่ตลอดเวลาและยืนยันที่จะไม่รับการแก้ไขจากใคร จริงๆ แล้วถ้าหากนักเขียนมั่นใจในสิ่งที่ตัวเองเขียน เมื่อถูกทักจากบรรณาธิการ นักเขียนสามารถอธิบายได้เต็มที่ว่าเพราะอะไรตรงนั้นตรงนี้ถึงเป็นแบบนี้ ถ้านักเขียนคิดว่าสิ่งที่บรรณาธิการทักมาไม่น่าจะถูก หรือเป็นเรื่องที่นักเขียนน่าจะรู้ดีหรือมีเหตุผลดีกว่าบรรณาธิการ คำอธิบายของนักเขียนจะช่วยเป็นวิทยาทานและเป็นประโยชน์ต่อบรรณาธิการได้เป็นอย่างมากทีเดียว ดีกว่าการมาต่อว่าด้วยท่าทีเหมือนสุภาพแต่ใช้ถ้อยคำที่รุนแรงต่อความรู้สึกหรือดูถูกความรู้และระดับสติปัญญาของบรรณาธิการเป็นไหนๆ

ทุกอาชีพสมควรได้รับการให้เกียรติและความนับถือทั้งสิ้น นักเขียนจึงควรให้เกียรติบรรณาธิการในการทำงานด้วยเช่นกัน อย่างน้อยที่สุดในฐานะเพื่อนร่วมงานก็ยังดี (คุณคงไม่ใจร้ายจวกก้านสมองของเพื่อนร่วมงานแม้ว่าคุณจะคิดว่าเค้าฉลาดน้อยกว่าคุณก็ตาม และคุณก็คงไม่ชอบให้ใครทำแบบนั้นกับคุณเหมือนกัน จริงไหม) ถึงแม้ว่านักเขียนจะรู้สึกว่าบรรณาธิการคนนี้ช่างไม่ได้เรื่องเอาซะเลย แต่อย่างน้อยด้วยมารยาทและมนุษยธรรม เราก็ควรจะคุยกันดีๆ อย่างคนมีการศึกษา เพราะเมื่อบรรณาธิการเสนอให้พิจารณาแก้ไขนั่นคือให้พิจารณาแก้ไข ไม่ได้บังคับหรือสั่งให้แก้ไข ดังนั้นถ้านักเขียนไม่ต้องการแก้ไข ก็เพียงแค่แจ้งมาดีๆ ว่าขออนุญาตคงไว้ ไม่จำเป็นต้องกล่าวโทษว่าทำลายความเป็นตัวตนและจาบจ้วงถึงระดับสติปัญญาของบรรณาธิการที่ไม่สูงเท่านักเขียนและไม่สามารถเข้าถึงนักเขียนได้

สิ่งที่ต้องแยกแยะเกี่ยวกับ “ตัวตน” ก็คือ ตัวตนหรือสไตล์ของนักเขียนนั้นจัดเป็นเรื่องหนึ่ง ความถูกต้องทางภาษาและไวยากรณ์ก็จัดเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ตัวตนของนักเขียนจะอยู่ในเนื้อเรื่องนั้นๆ อยู่เสมอ ความรู้สึกนึกคิดแนวคิดของนักเขียนจะถูกสะท้อนผ่านเนื้อเรื่องอยู่ตลอด แต่การเขียนเรียบเรียงเนื้อเรื่องสละสลวยราบรื่น เขียนถูกต้องตามไวยากรณ์ ใช้คำถูกต้องตามบริบทนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่จะละเลยไม่ได้ แม้จะบอกว่าเป็นสไตล์แต่ถ้าดูแล้วไม่เหมาะกับบริบทหรือขัดกับไวยากรณ์จริงๆ ก็จำเป็นต้องพิจารณา

ส่วนประกอบที่จะทำให้เรื่องราวราบรื่นไม่ติดขัดอีกอย่างหนึ่งคือความสมจริงของเนื้อเรื่อง ความสมจริงนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นความจริงในโลกนี้เสมอไป ในเรื่องแฟนตาซีก็มีความสมจริงได้ เช่น The Lord of the Rings, Harry Potter ฯลฯ ที่ผู้เขียนใส่รายละเอียดและปูพื้นเรื่องอย่างตั้งใจจนรายละเอียดที่วางไว้มีน้ำหนักจนเรารู้สึก “อิน” ไปกับมัน ในขณะที่เรื่องราวที่ตั้งอยู่บนความจริงของโลกในมิติที่เราอยู่นี้บางเรื่องกลับจะดูไม่สมจริงไปเลยหากผู้เขียนไม่ศึกษาหรือใส่ใจในรายละเอียดของสิ่งที่พูดถึงอย่างจริงจังและคิดว่าคนอ่านก็คงไม่รู้ละเอียดเหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพูดถึงเรื่องความรู้ความชำนาญเฉพาะด้าน เช่น การต่อสู้ การพาดพิงถึงวัฒนธรรม การอิงประวัติศาสตร์ ฯลฯ หากบรรณาธิการไม่ท้วงติงในจุดนี้ หรือนักเขียนไม่เต็มใจให้แก้ไขเพราะกลัวจะเสียสำนวนเสียตัวตนของตัวเองไป ผลงานที่ออกไปจะส่งผลเสียทั้งกับตัวนักเขียนและทั้งสำนักพิมพ์ เราไม่รู้ว่าคนที่อ่านผลงานของเราจะเราจะเป็นใครบ้าง อาจจะมีคนที่ไม่รู้ว่านักเขียนมั่ว แต่ก็อาจจะมีคนที่รู้ว่านักเขียนมั่ว และเมื่อรู้ครั้งหนึ่งแล้วเขาจะไม่กลับมาสนใจผลงานของนักเขียนอีกเลย เพราะเท่ากับนักเขียนประเมินระดับความรู้ของคนอ่านตามระดับของเรื่องที่ตัวเองเขียน

ช่วงสัปดาห์หนังสือที่ผ่านมานี้ได้คุยกับเพื่อนเก่า(แก่) เกี่ยวกับหนังสือ โดยส่วนใหญ่ของบทสนทนาพูดถึงนวนิยายในสมัยนี้ เพื่อนบอกว่าอ่านหนังสือเดี๋ยวนี้ก็ทำใจปลงไปครึ่งหนึ่ง ไม่หวังอะไรมาก ที่บ้านจะมี “กองขาย” ตั้งไว้ เรื่องไหนอ่านแล้วไม่สนุกหรือไม่ประทับใจ ก็จะส่งลงกองขายเพื่อเอาไปขายต่อทันทีอย่างไม่เสียดาย เราบอกว่า เดี๋ยวนี้มีนักเขียนเลือดใหม่เยอะ คนมีฝีมือมีความคิดดีก็เยอะ บางคนก็เป็นนักเขียนจับกระแส คืออะไรดังก็เอามาดัดแปลงแต่งใหม่ บางคนเป็นนักก๊อปปี้ โดยคิดว่าคงไม่มีใครรู้ บางคนก๊อปปี้ซีรีย์สเกาหลี(ที่ไม่ดังในบ้านเราแต่เราบังเอิญได้ดู) มาเขียนแล้วแต่งเรื่องเพิ่มเอง บางคนถึงขนาดก๊อปปี้การ์ตูน(ที่เราดันเคยอ่าน)มาทั้งเรื่องเลยทีเดียวแล้วเปลี่ยนชื่อพระเอกนางเอกแล้วเปลี่ยนตอนจบ บางคนมาเป็นนักเขียนได้ยังไงก็ยังไม่รู้ เพราะแค่ผันวรรณยุกต์ก็ไม่ผ่านแล้ว
ยังเขียน “นะคะ” เป็น “นะค่ะ” : เดี๋ยวจะส่งข้อมูลให้นะค่ะ
เขียน “คะ” เป็น “ค่ะ” : สบายดีไหมค่ะ
เขียน “ค่ะ” เป็น “คะ” : เดี๋ยวจัดการให้คะ
เขียน “จ้ะ” เป็น “จ๊ะ” : กินเหมือนกันก็ได้จ๊ะ
เขียน “จ๊ะ” เป็น “จ้ะ” : งั้นไปรอข้างล่างนะจ้ะ
จนอ่านแล้วต้องถามตัวเองว่าตัวเราเองผันวรรณยุกต์ได้ตั้งแต่เมื่อไรนะ ประถมไม่ใช่เหรอ...

เพื่อนฟังแล้วถอนใจแล้วก็ย้ำว่าต้องทำใจ อย่าไปจริงจังกับมันมาก ฟังแล้วก็รู้สึกแปลกเลยบอกไปว่า...

ทำไมเราเป็นคนอ่านเราต้องทนอ่านงานที่ไม่มีคุณภาพ เราเป็นคนอ่านเรามีสิทธิ์จะเลือก จริงอยู่ที่เรามีสิทธิ์ที่จะเลือกไม่ซื้อก็ได้ แต่ในขณะเดียวกันเราก็มีสิทธิ์แม้กระทั่งจะบอกคนเขียนถ้าบางอย่างในเรื่องที่เขาเขียนมันไม่ถูกต้อง การที่คนอ่านยอมหยวนให้คนเขียน (นัก(อยาก)เขียน หรือจะเรียกตัวเองว่าอะไรก็แล้วแต่) จะเป็นการสนับสนุนให้มีงานไม่มีคุณภาพออกมามากขึ้น (เหมือนวงการเพลงที่จะไปไหนก็ไม่ไป ก็อปชาวบ้านไปมาอยู่อย่างนี้) มาตรฐานของคนอ่านมีส่วนทำให้มาตรฐานคุณภาพของงานเขียนเปลี่ยนไปด้วยตามหลัก Demand - Supply ในขณะเดียวกันนักเขียนก็ควรจะพยายามพัฒนาตัวเองให้ก้าวหน้าไปเรื่อยๆ เป็นนักเขียนก็ไม่ได้ต่างจากการทำอาชีพอื่นๆ ที่ต้องพัฒนาศักยภาพตัวเองอยู่ตลอดเวลา การที่ผลงานได้ตีพิมพ์ไม่ได้แปลว่านักเขียนคนนั้นจะสำแดงอิทธิฤทธิ์อีโก้เหนืออาชีพอื่นได้เลย ทำงานบริษัทมีเจ้านายคอยประเมิน เป็นนักเขียนก็มีบรรณาธิการและคนอ่านเป็นผู้ประเมิน นักเขียนเป็นผู้นำภาษามาเรียบเรียงและนำเสนอให้สังคม คุณไม่มีวันรู้หรอกว่าทุกครั้งที่มีคนอ่านผลงานของคุณโดยเฉพาะเด็กและเยาวชน เขาจะเกิดการซึมซับในการใช้ภาษาไปด้วย ดังนั้นในฐานะเจ้าของงานก็ควรมีจรรยาบรรณและรับผิดชอบผลงานของตัวเองเหมือนกัน


ขอเอาใจช่วยนักเขียนทุกคนในการสร้างสรรค์ผลงานและเป็นกำลังใจให้บรรณาธิการและทีมงานในการทำงานเพื่อนำเสนอสิ่งพิมพ์มีคุณภาพให้กับสังคมต่อไปนะคะ



Create Date : 17 เมษายน 2553
Last Update : 17 เมษายน 2553 17:06:11 น.
Counter : 415 Pageviews.

8 comments
  
เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งครับ สมัยนี้มีงานเขียนที่ไม่น่าเชื่อว่าจะได้รับการตีพิมพ์ออกมาได้ หรืองานที่ก๊อปกันไปก๊อปกันมา ในฐานะผู้ซื้อ หลังๆ ทำให้กว่าจะซื้อหนังสือเล่มนึงต้องเปิดดูแล้วเปิดดูอีก (กลัวจะต้องเสียดายเงิน)
ส่วนในฐานะคน (ชอบ) เขียน อ่านแล้วก็รู้สึกว่าเราต้องปรับปรุงและพัฒนาตัวเองอีกมาก เพื่อเป็นการให้เกียรติกับคนที่อ่านหนังสือของเราครับ
โดย: gaius วันที่: 17 เมษายน 2553 เวลา:17:52:24 น.
  
ไม่ได้เป็นนักเขียน ... แต่แวะเข้ามาอ่านคำวิจารณ์ค่ะ
โดย: AsWeChange วันที่: 17 เมษายน 2553 เวลา:19:46:36 น.
  
ทักทายยามค่ำคืนที่ไม่ค่อนอบอ้าวแล้วนะคะ
โดย: cd2lucky วันที่: 17 เมษายน 2553 เวลา:20:28:01 น.
  
โดย: นนนี่มาแล้ว วันที่: 17 เมษายน 2553 เวลา:22:34:53 น.
  
คุณ gaius: จริงๆ ค่ะ ถ้าทำได้จะขอเปิดดูอ่านผ่านๆ ก่อน ถ้าเจอประเภทหุ้มพลาสติกจะคิดหนัก (ฮา)

คุณหาแฟนฯ คุณ AWC คุณ cd2 คุณนนนี่ ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมนะคะ
โดย: bombyxia วันที่: 17 เมษายน 2553 เวลา:22:52:30 น.
  
อืม ถ้าเจอหนังสือหุ้มพลาสติกส่วนใหญ่ผมจะเลือกไม่ซื้อครับ แต่ถ้าไปร้านอื่นแล้วเจอเล่มที่แกะแล้ว ก็จะดูก่อนแล้วค่อยตัดสินใจ ช่วงนี้เงินทองหายากเนอะ
โดย: gaius วันที่: 18 เมษายน 2553 เวลา:20:45:24 น.
  
จริงค่ะ ถ้าไหมเจอพลาสติกก็จะลังเลน๊านนาน ถ้ามองซ้ายขวาไม่มีใครผ่านบางทีจะขอแอบแกะเองด้วยล่ะ (อ๊ายอายค่ะ ความลับเปิดเผย ='_'=)
โดย: bombyxia วันที่: 18 เมษายน 2553 เวลา:22:53:30 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

bombyxia
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed

 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



MY VIP Friend