มีนาคม 2554

 
 
1
2
3
4
5
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 
 
6 มีนาคม 2554
BLACK SWAN
BLACK SWAN [Spoiled] by ช้อย

จิตเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน ทุกอย่างเริ่มต้นและจบลงที่ใจ
ภาพรวมของ Black Swan ในความเห็นส่วนตัวหมายความง่ายๆ ถึงอีกด้านหนึ่งของใจและการยอมรับตัวตนของตัวเอง


ความกลัวที่จะรู้จักตัวเอง ความกลัวที่จะยอมรับความปรารถนาของตัวเอง
ภาพของนีน่าที่แสดงออกตั้งแต่ต้นเรื่องคือหญิงสาวที่น่ารัก อ่อนหวาน เรียบร้อยและเพียบพร้อม ประกอบกับคำพูดที่แม่ใช้เรียกเธออยู่เสมอว่าเป็น “My Sweet Girl” ซึ่งยิ่งตอกย้ำถึงสิ่งที่แม่เชื่อว่านีน่าเป็น สิ่งที่แม่คาดหวังว่านีน่าจะเป็น (ต่อไป) และสิ่งที่นีน่าคิดว่าตัวเองเป็น และควรจะเป็นต่อไป

การถูกตีกรอบด้วยความเชื่อและความรักของแม่ ความยึดมั่นและเชื่อมั่นในการเป็น Sweet Girl ทั้งจากแม่และจากตัวนีน่าเองนั้นทำให้ตลอดเวลาที่ผ่านมานีน่าไม่ได้แสดงออกถึงความคิดความรู้สึกจริงๆ อย่างเต็มที่ ต้องการหรือไม่ต้องการอะไรก็ไม่กล้าแสดงออกอย่างชัดเจนเพราะกลัวว่าการแสดงออกถึงความต้องการบางอย่างนั้นจะไม่เหมาะกับการเป็น Sweet Girl และกลัวว่าการแสดงออกถึงความต้องการที่แท้จริงของตัวเองนั้นจะทำให้เธอสูญเสียความเป็นหญิงสาวที่อ่อนหวานนั้นไป

นอกจากนี้ การยอมรับอิทธิพลจากแม่ที่คอย “เห็นชอบ” และ “เห็นด้วย” กับเธอทุกเรื่อง (เช่น “ลูกสมควรได้บทมากขึ้น” “บทนี้ไม่เหมาะกับลูกหรอก” ฯลฯ) ทำให้นีน่าเหมือนมีกระจกคอยสะท้อนถึงสิ่งที่เธอเป็น และความเป็นตัวตนของเธอต้องได้รับการเห็นชอบอยู่ตลอดเวลา

ในฉากต้นๆ ของเรื่อง ขณะที่นีน่ากำลังยืดเส้นวอร์มร่างกายก่อนจะไปที่คณะบัลเล่ต์นั้น เธอพูดถึงสิ่งที่เธอฝันก่อนจะตื่นถึงการแสดงบัลเล่ต์เรื่อง Swan Lake และในฝันนั้นเธอได้เป็น Swan Queen ขณะที่พูดเธอไม่ได้มองตัวเองในกระจก เธอหลบตาตัวเองจากกระจก ไม่ได้ใช้เสียงดังในระดับที่จะคุยให้แม่ได้ยิน ฟังดูเหมือนรำพึงรำพันกับตัวเองมากกว่า แต่ก็ไม่เบาเกินไปที่จะทำให้ผู้ชมรับรู้ได้ว่าเธออยากได้บทราชินีหงส์นี้จริงๆ

จริงๆ แล้วเป็นที่น่าสงสัยว่าถ้านีน่าไม่ได้ฝันถึงเรื่องนี้มาก่อน เธอจะรู้สึกอยากได้บทราชินีหงส์มากขนาดที่ต้องเอาตัวเข้าแลกขนาดนี้หรือไม่


Princessness กับครอบครัว
ตั้งแต่ต้นเรื่อง ผู้ชมจะเห็นความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับนีน่าอย่างชัดเจน โดยความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองอาจจะดูแปลกสำหรับหลายๆ คนเนื่องจากนีน่าเป็นหญิงสาวที่โตแล้ว แต่ในตอนเช้าแม่กลับเข้ามาปลุกถึงในห้อง สวมเสื้อให้ ก่อนนอนก็มาถอดตุ้มหูให้ ประตูห้องต่างๆ ภายในอพาร์ตเมนต์ไม่มีกลอนไว้ล็อค แม้กระทั่งที่ลูกบิดก็ล็อคไม่ได้ แม้กระทั่งในห้องน้ำ แสดงให้เห็นว่าสองคนนี้ไม่มีความลับระหว่างกัน แม่สามารถเข้าถึงทุกเรื่อง ทุกส่วนของลูกได้ จนเมื่อเรื่องดำเนินไป นีน่าเหมือนวัยรุ่นทั่วไปที่เริ่มมีความลับหรือสิ่งที่ไม่อยากบอกพ่อแม่ (เพียงแต่ในเรื่องเธอโตช้าไปหน่อย ซึ่งถ้าพูดถึงในทางจิตวิทยาแล้ว ลูกที่มีพ่อแม่ overprotect มากๆ มักจะโตช้ากว่าปกติอยู่แล้ว) เริ่มพยายามหาทางปิดประตูไม่ให้แม่เข้าห้อง เริ่มเถียง เริ่มปฏิเสธการดูแลที่ “ทั่วถึงเกินไป”

ความบกพร่องในชีวิตรักของตัวเองทำให้แม่ทุ่มเททุกอย่างให้กับลูกสาวอย่างเต็มที่ หนึ่งคือเชื่อว่าหากคอยดูทุกกระเบียดนิ้วแล้วลูกจะไม่มีวันพลาดอย่างตัวเองอีก สองคือใช้การเลี้ยงลูกเป็นเครื่องสะท้อนคุณค่าของตัวเอง เพราะแม่ล้มเหลวในความรักมาก่อนแล้ว แต่หากเธอสามารถเลี้ยงลูกให้โตได้ด้วยดีก็จะไม่กลายเป็นบุคคลล้มเหลวตลอดไป แม่ต้องการทั้งชดเชย แก้ไขชีวิตที่ผิดพลาดของตัวเอง และใช้ชีวิตที่เธอไม่มีวันจะได้มีผ่านลูกสาวของตัวเอง การดูแลรักลูกทุกกระเบียดอนามัยนี้ทำให้โลกของนีน่าเหมือนเปลือกไข่ซึ่งเปราะบางและแตกได้ เหมือนการเลี้ยงลูก พ่อแม่สามารถเลี้ยงลูกให้อนามัยจัดอยู่ในบ้านได้ แต่ไม่มีกำแพงใดๆ กั้นเราออกจากโลกภายนอก วันหนึ่ง ไม่ช้าก็เร็ว เราก็จะต้องเผชิญโลกภายนอกแต่เพียงลำพังอยู่ดี


แม่กับลูกสาว ความหมกมุ่นและความต้องการที่ยึดเหนี่ยว
งานศิลปะคือเครื่องสะท้อนความในใจของผู้คน เป็นข้อความที่เจ้าของผลงานต้องการสื่อออกไป สิ่งที่น่าสังเกตคือในห้องทำงานของแม่มีแต่ภาพวาดของลูกสาวอยู่มากมาย แต่ภาพเหล่านั้นกลับไม่ใช่ภาพเหมือน แต่เป็นภาพผสมจินตนาการเข้าไปด้วยที่ทำให้นึกถึงงานยุค Expressionism เช่น ผลงานของ Vincent Van Gogh ทั้งการใช้สีและภาพที่สื่อออกมาก็ไม่ได้สะท้อนความเป็น Sweet Girl ของลูกสาวออกมาอย่างที่ตัวเองเรียก ตรงกันข้ามบางภาพกลับให้ความรู้สึกน่ากลัวแบบแปลกๆ แปลว่าแม่เองก็ไม่ได้มองลูกสาวตามความเป็นจริง แต่มองลูกสาวแล้ววาดออกมาตามที่ตัวเองเห็นหรืออยากให้เป็น

ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือการที่ในห้องของคนที่ชอบวาดภาพกลับมีแต่ภาพของลูกสาว ไม่มีภาพดอกไม้ ต้นไม้ สภาพแวดล้อมอื่นๆ เลย สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความหมกมุ่นและยึดติดของแม่ที่มีต่อลูกสาว ซึ่งพฤติกรรมนี้สอดคล้องกับการแสดงออกอื่นๆ ของแม่ที่ปรากฏออกมาในหลายฉาก เช่น ฉากที่แม่อารมณ์เสียที่รู้ว่านีน่ากลับมาเกาจนเป็นผื่นเป็นแผลอีกครั้งและจับนีน่าถอดเสื้อผ้าออกหมดทั้งๆ ที่ลูกสาวของเธอเป็นหญิงสาวที่โตแล้ว ไม่ใช่เด็กเล็กๆ ที่จะจับถอดเสื้อผ้าเพียงเพราะแค่เห็นผื่นแผลเล็กน้อยที่หลัง หรือในฉากที่แม่ซื้อเค้กกลับมาให้นีน่า เมื่อนีน่าปฏิเสธไม่ยอมกิน แม่ก็น้อยอกน้อยใจมากขนาดจะยกเค้กทิ้งไปทั้งปอนด์ ซึ่งถ้าพูดอย่างเป็นกลางแล้วพฤติกรรมนี้ออกจะเป็นการแสดงออกทางอารมณ์ที่เกินกว่าเหตุไปสักหน่อย


Displacement (of Responsibility/ Anger)
ถ้าสังเกตเราจะเห็นว่านีน่ามักจะโยนความผิดให้กับลิลี่และคนรอบข้างอยู่เสมอ ตั้งแต่การออดิชั่นบท Black Swan ที่ต้องใส่อารมณ์ความรู้สึกยั่วยวนลงไปด้วยในการเต้น Coda ในจังหวะที่เธอกำลังเต้นอยู่นั้น ลิลี่เปิดประตูเข้ามาพอดี นีน่าอ้างและกล่าวโทษว่าการเต้นของเธอไม่ “สมบูรณ์แบบ” เพราะลีลี่ทำให้เธอเสียสมาธิ แทนที่จะโทษตัวเองและยอมรับว่าตัวเองเต้นได้ไม่ดีพอเพราะไม่สามารถเข้าถึงบทของ Odile ได้


From SWAN QUEEN To BLACK SWAN
หลายครั้งที่ในหนังแสดงภาพหลอนถึงการค่อยๆ กลายร่างเป็นหงส์(ดำ) สังเกตได้ว่าอาการเหล่านี้เริ่มเกิดขึ้นหลังจากที่นีน่าขโมยของเบ็ธมา ใช้ลิปสติกของเบ็ธไปพบลีรอย จนได้รับบท Swan Queen ตะไบเล็บด้วยที่ตะไบของเบ็ธ ฯลฯ ภาพหลอนเหล่านั้นมักจะปรากฏเมื่อ/ หลังจากที่นีน่านึกถึงความต้องการอย่างลับๆ ที่ตัวเองไม่ใคร่จะยอมรับ ไม่ว่าจะเป็นการขโมยข้าวของของเบ็ธ การจินตนาการถึงการมีเพศสัมพันธ์กับลีรอยซึ่งเคยเป็นคนรักของเบ็ธ การได้แสดงในบทที่ต้องการโดยมาจากความพยายาม “นอกรอบ” ของเธอ การทำให้แม่เสียใจสะเทือนใจกับการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และพฤติกรรมของตัวเอง ภาพหลอนถึงการกลายร่างเป็นหงส์ดำของเธอนั้นจึงอาจสรุปได้ง่ายๆ ว่าเป็นสัญลักษณ์ที่เกิดจากความรู้สึกผิดอยู่ลึกๆ ของเธอนั่นเอง

โดยส่วนตัวแล้วรู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นหงส์ดำที่เด่นๆ นั้นมีอยู่ 2 ฉาก คือตอนที่ปฏิเสธแม่อย่างรุนแรงและไม่ยอมให้เข้าห้อง (ซึ่งผิดคอนเซ็ปท์เจ้าหญิงนีน่า) โดยภาพแสดงให้เห็นว่าขากลายเป็นขาสัตว์ปีกไปอย่างรวดเร็วก่อนที่นีน่าจะล้มลงและหมดสติไป และตอนที่นีน่าฆ่าตัวเอง (ในจินตนาการ) ของเธอไปแล้วและกลายเป็นหงส์ดำเต็มตัวเมื่อขึ้นแสดงเป็น Odile

ในภาพหลอนที่นีน่าเห็นนั้น นอกจากอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับร่างกายของตัวเองแล้ว ที่ปรากฏบ่อยรองลงมาคือภาพของลิลี่

ลิลี่เป็นหญิงสาวที่แตกต่างจากนีน่าโดยสิ้นเชิง ทั้งความคิดและรูปแบบการใช้ชีวิต ลิลี่ดูมีอิสระเหลือเกิน รู้ว่าตัวเองต้องการอะไรและก้าวไปหาสิ่งที่ต้องการอย่างมั่นใจ สมหวังก็ดี ผิดหวังก็เผชิญหน้ากับความจริงด้วยความเข้าใจ ในขณะที่นีน่ายึดมั่นอยู่กับความสมบูรณ์แบบทุกกระเบียด ท่าเต้นเป๊ะ ชีวิตเป๊ะตามขนบจารีตต่างๆ และสิ่งที่สังคมมองว่าควรจะเป็น ไหนจะยังมีแม่มาช่วยเป๊ะอีก แต่ในความเป๊ะนั้นยังคงมีความอยากรู้อยากเห็นที่ถูกกดไว้อยู่ ยังมีอารมณ์และความปรารถนาเหมือนคนทั่วไป เมื่อลิลี่ก้าวเข้ามาในชีวิตเป๊ะของนีน่า หลายสิ่งหลายอย่างก็เริ่มเปลี่ยนไปเหมือนลิลี่เปิดโลกให้นีน่า ทั้งลิลี่ตัวจริงและลิลี่ภาพหลอนช่วยกระตุ้นให้นีน่าแสดงความเป็นตัวตนของตัวเองออกมา ซึ่งบ่อยครั้งมากที่ภาพหลอนของลิลี่เป็นผู้ทำให้อาการ “หงส์ดำ” กำเริบขึ้นกับเธอมากขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้ชัดที่สุดจากตอนที่นีน่าเมายาและหลอนว่าลิลี่มาร่วมรักกับเธอ และในวันแสดงจริงที่เห็นลิลี่แต่งชุด Odile พร้อมจะขึ้นแสดงแทนเธอซึ่งทำให้เธอทนไม่ได้และฆ่าลิลี่ในภาพหลอนนั้นในที่สุด ในจิตใต้สำนึกของนีน่านั้น ดูเหมือนว่าลิลี่คือผู้ทำลายสมดุลในชีวิตเจ้าหญิงที่เปราะบางของเธอ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นผู้นำเธอสู่โลกใหม่ ทำให้ชีวิตที่ราบเรียบของเธอมีรสแปลกใหม่ ทั้งยังเข้าถึงเธอได้แบบที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ทำให้นีน่าทั้งรักทั้งเกลียดลิลี่ไปพร้อมๆ กัน

นอกจากภาพลิลี่แล้ว เราจะเห็นซูซี่ (ที่น่าจะเป็นผู้จัดการ/ ผู้ดูแลเบ็ธ หรืออะไรซักอย่างประมาณนั้น) โผล่มาเป็นครั้งคราว ซูซี่ปรากฏให้เห็นตัวน้อยมาก แต่ชั่วเวลาสั้นๆ กลับมีนัยยะสำคัญต่อนีน่า ช่วงต้นเรื่องที่นีน่าไม่ผ่านการคัดตัว มีฉากที่นีน่านั่งซึมเศร้าเสียใจอยู่คนเดียวหน้ากระจกในห้อง แต่แว่วเสียงแม่คุยโทรศัพท์กับซูซี่ถึงเรื่องที่เธอออดิชั่นไม่ผ่าน หลังจากเกิดพลิกโผ นีน่าได้บทราชินีหงส์ คนที่พานีน่าไปที่ห้องแต่งตัวที่เคยเป็นของเบ็ธคือซูซี่ ก่อนจะออกจากห้อง ซูซี่พูดกับนีน่าสั้นๆ ว่าลีรอยฝากดอกไม้มาให้ และนิ่งไปพักหนึ่ง เกิดเป็นบรรยากาศที่น่าอึดอัด เพราะนีน่าคิดว่าซูซี่รู้ว่าเธอต้องการบทนี้มากแค่ไหน (แม่เม้า) และเมื่อนีน่าได้บท แถมยังได้ดอกไม้จากลีรอย นีน่าก็รู้ทันทีว่าซูซี่คิดอะไร รู้ว่าเธอทำแบบไหนถึงได้บทมา และทำให้เบ็ธต้องออกจากคณะไป

นีน่าจึงไม่สบายใจและเกิดความรู้สึกอยู่ลึกๆ ว่าซูซี่รู้ “ความในใจ” ของเธอและไม่น่าจะชอบเธอมากนัก จากจุดนั้นจึงเป็นสาเหตุว่าทำไมในคืนที่นีน่าออกไปเที่ยวกับลิลี่แล้วเมายา นอกจากภาพหลอนที่ลิลี่มาร่วมรักกับเธอแล้ว ภาพสุดท้ายก่อนจะเมาหลับไปจึงเปลี่ยนเป็นภาพของซูซี่ที่ถือหมอนอยู่และกดลงบนหน้าเธอเหมือนตั้งใจฆ่าให้ตาย


Me, Myself and My Worst Enemy
หนึ่งในบรรดาคนหลอนต่างๆ ที่นีน่าเห็นนั้นปรากฏว่ามีภาพของตัวเองอยู่ด้วย ในส่วนนี้คิดว่านีน่ากลัวความคิดอีกด้านหนึ่งของตัวเอง กลัวที่จะยอมรับความต้องการของตัวเอง กลัวที่จะยอมรับว่าเธอไม่ใช่เจ้าหญิง กลัวที่จะยอมรับว่าเธอมีอารมณ์ปรารถนาเหมือนคนอื่นๆ กลัวที่จะยอมรับว่าเธอต้องการบทนี้แค่ไหน กลัวที่จะยอมรับว่าเธอต้องการให้ลีรอยมองเธอเพียงคนเดียว

ขณะที่ภาพหลอนอื่นๆ เกิดขึ้นในอิริยาบทต่างๆ แต่(ถ้าจำไม่ผิด) มีเพียงภาพหลอนของนีน่าเองเท่านั้นที่เกิดขึ้นในลักษณะกระจกเงาหรือในกระจกเงาตลอดเวลา ครั้งที่นีน่าซึ่งอยู่ในชุดขาวกำลังเดินผ่านทางแคบๆ และมีผู้หญิงคนหนึ่งที่มีลักษณะละม้ายคล้ายคลึงกับเธอและแต่งตัวคล้ายกันเพียงแต่เป็นสีดำกำลังเดินสวนมา จังหวะนั้นโทรศัพท์มือถือของเธอดัง เธอหยิบขึ้นมาดู และได้ทันเห็นว่าอีกฝ่ายหนึ่งก็ทำท่าคล้ายกัน “มากไป” จนเหมือนส่องกระจกจึงรู้สึกหลอนขึ้นมา ทั้งคู่เดินเข้าหากันด้วยความเร็วเท่ากัน และหันกลับมามองกันและกันในจังหวะเดียวกันอีกด้วย คอนเซ็ปท์ชุดขาวชุดดำก็เป็นประเด็นคลาสสิกคือด้านสว่างและด้านมืด นีน่าใส่ชุดขาว ส่วนผู้หญิงที่เมื่อเดินสวนใกล้ๆ แล้วเห็นว่าหน้าคล้ายเธอเองนั้นก็คือตัวนีน่าอยู่ในชุดดำ ความต้องการบทอย่างรุนแรงนี้ถูกแทนด้วยสีดำ เพราะเจ้าหญิงไม่ควรเป็นสีดำนั่นเอง

นอกจากฉากนี้แล้วฉากอื่นๆ นีน่ามักจะหลอนตัวเองในกระจกเสมอ ทั้งตอนที่ไปวัดตัวที่เห็นเงาตัวเองยื่นหน้ามาเกาหลังในจุดที่จะกลายเป็นปีก หรือตอนที่ซ้อมดึกก่อนวันจริง ซึ่งก็น่าจะสื่อถึงสิ่งที่นีน่ารู้สึกต่อตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นความไม่มั่นใจหรือความกลัวต่างๆ


บทบาทของ Rothbart
ตามเนื้อเรื่องดั้งเดิมแล้ว Rothbart มีบทบาทพอสมควร เริ่มต้นด้วยการสาปเจ้าหญิง Odette ให้เป็นหงส์แต่ไม่ได้บอกว่าสาปเพราะอะไร ในคำสาปบ่งไว้ว่าจะกลับเป็นคนได้ต่อเมื่อมีคนที่รักนางอย่างจริงจังและจริงใจ หาไม่แล้วนางจะต้องเป็นหงส์ต่อไปอย่างนี้จนกว่าจะตาย ปรากฏว่าวันหนึ่งเจ้าชาย Siegfried จากดินแดนหนึ่งออกมาล่าสัตว์และมาเจอเจ้าหญิงที่คืนร่างเป็นคนตอนกลางคืน ก็เต้นรำเกี้ยวกันรักกันอย่างมีความสุข เจ้าหญิงก็เปิดเผยความจริงให้เจ้าชายฟัง เจ้าชายก็ยืนยันเป็นมั่นเหมาะว่าเขารักนางด้วยความจริงใจและจะกลับมาขอนางแต่งงานแน่นอน เจ้าหญิงก็ดีใจกระพือปีกไปลั้นลา

แต่อนิจจา! Rothbart มีลูกสาวชื่อ Odile ซึ่งมีหน้าตาเหมือนกับเจ้าหญิง Odette ทุกประการ ในวันที่เจ้าชายตั้งใจจะประกาศเรื่องแต่งงาน Rothbart ส่งลูกสาวมายั่วยวนเจ้าชายจนเจ้าชายหลงใหลและเข้าใจผิดว่าเธอคือเจ้าหญิง Odette และได้ขอแต่งงานกับ Odile ต่อหน้าธารกำนัล โดยมีเจ้าหญิงยืนปีกหักมองอยู่นอกหน้าต่าง เท่านี้ก็สมใจ Rothbart แล้ว เจ้าหญิงจะต้องอยู่ในร่างของหงส์ตลอดไป แม้หลังจากนั้นเจ้าชายจะค้นพบความจริงก็ตาม แต่คำสาปนั้นไม่อาจถอนได้แล้ว เจ้าหญิง Odette จึงตั้งใจจบชีวิตของนางลงด้วยการฆ่าตัวตาย เจ้าชายยืนยันเช่นกัน และในช่วงเวลาที่เจ้าหญิงทุ่มตัวลงบึงน้ำเพื่อจบชีวิต Rothbart ก็ปรากฏตัวขึ้น เจ้าชายก็กระโดดตามไป ทันใดนั้นคำสาปของ Rothbart ก็เสื่อมสลายลง บรรดาข้าราชบริพารของเจ้าหญิงก็กลับกลายเป็นมนุษย์ตามเดิม ส่วนเจ้าหญิง Odette และเจ้าชาย Siegfried ก็ได้ขึ้นสวรรค์และครองรักกันชั่วนิรันดร์

ส่วนในหนังนั้นบทบาทของ Rothbart กลับไม่ค่อยชัดเจนนัก เรียกกว่าน้อยจนแทบไม่เกี่ยวกับนางเอกเลยก็ว่าได้ ก็เลยคิดเล่นๆ อันนี้คิดเล่นจริงๆ ว่าสมมติลีรอยคือตัวแทนของรอธบาร์ตในเรื่องนี้ (เพราะฮีก็ไม่ได้แลดูเหมือนเจ้าชายแต่อย่างใด) ฮีไม่ได้มีลูกสาวมาแย่งความรักจากนางเอกหรอก แต่ฮีเป็นคนทำให้หงส์ดำเกิดขึ้นในตัวนางเอกเลยล่ะ


Masturbation VS Intercourse
เพราะอะไรจึงมีการพูดถึงเรื่องเซ็กซ์บ่อยครั้ง เพราะอะไรเซ็กซ์ในเรื่องจึงไม่ใช่ Intercourse แต่เป็น Masturbation

เรื่องน่าจะเริ่มตั้งแต่ตอนที่ลีรอยคุยกับนีน่าที่อพาร์ตเมนท์ของเขาหลังจากงาน Fundraising Gala พร้อมนางเอกหน้าใหม่ ลีรอยพูดหลายครั้งถึงการเต้นเป๊ะของนีน่าว่าสวยสง่าเหมาะกับหงส์ขาวจริง แต่ความสวยสง่ากลับดูเป๊ะเกินไปสำหรับบทหงส์ดำซึ่งต้องเต้นออกมาให้ดูยั่วยวนแตกต่างจากหงส์ขาว ลีรอยถามว่านีน่ามีแฟนไหม เคยมีไหม เคยมีเพศสัมพันธ์ไหม เมื่อนีน่าอึกอัก ลีรอยจึงบอกว่าไม่เป็นไร ให้การบ้านกลับไปลอง “Touch yourself” ดู

ตอนแรกฟังแล้วรู้สึกละลาบละล้วง แต่ก็พยายามคิดว่าคนเขียนบทคงไม่เขียนส่งๆ เลยลองพยายามคิดดูว่าทำไมกับแค่จะเต้นบทหงส์ดำให้ดูยั่วยวนสมจริงถึงไปเกี่ยวกับเรื่องเพศอย่างจริงจังได้

(โดยมาก) การจะทำอะไรให้ดูยั่วยวน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยความตั้งใจ) ได้นั้นน่าจะเกิดมาจากความมั่นใจในสรีระตัวเองและรู้จักจุดอ่อนจุดแข็งของตัวเองเป็นพื้นฐาน เมื่อรู้จักตัวเองดีแล้วจึงจะสามารถนำจุดแข็งมากลบจุดอ่อนเพื่อขับให้ตัวเองเด่นและดึงดูดความสนใจได้ อีกมุมมองหนึ่ง การยั่วยวนเพศตรงข้าม ทั้งในสัตว์และในคนเป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นสัญชาติญาณของสิ่งมีชีวิตที่มีความต้องการสืบพันธุ์ ในกรณีของนีน่า ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ลีรอยเห็นคือความรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง หรือการพยายามระงับความต้องการตามธรรมชาติไว้ด้วยกรอบต่างๆ แต่ถ้านึกถึงสิ่งที่ลีรอยและลิลี่พูดกับนีน่าบ่อยๆ ว่า “Live a life!” “Live a little!” สิ่งที่ลีรอยอยากให้นีน่าปลดปล่อยจากกรอบต่างๆ อาจจะเป็นการปลดปล่อยตัวเองให้ไหลไปตามอารมณ์ตามธรรมชาติก็ได้

ส่วนที่ว่าทำไมถึงเป็น Masturbation ไม่ใช่ Intercourse นั้นอาจจะเป็นเพราะว่าสำหรับผู้หญิง การยอมรับว่าตัวเองมีความรู้สึกถึงขนาดจับต้องตัวเองนั้นต้องใช้ความกล้าและแรงขับจากภายในมากกว่าการร่วมกับผู้ชายซึ่งเป็นการใช้พลังและแรงขับแบบหารสองก็เป็นได้

ส่วนที่ว่าทำไมบทรักตอนเมายาถึงเกิดกับลิลี่ได้พูดถึงไปแล้ว ใจอยากจะค้านคนที่พูดอย่างถ่มถุยว่าเป็นเรื่องนี้แค่ “หนังเลสเบี้ยน” ใจคิดว่าคนทำหนังกับคนเขียนบทพยายามทำหนังจิตขนาดนี้ ฉากสำคัญแบบนี้น่าจะมีที่มาที่ไปมากกว่าแค่เลสเบี้ยนธรรมดาๆ


การยอมรับตัวเอง การเอาชนะตัวเอง
เมื่อเรื่องราวดำเนินมาถึงใกล้วันแสดงจริง นีน่าเริ่มมีอาการมากขึ้นเรื่อยๆ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เธอท้อถอยหรือยอมเลิกเพื่อให้อาการเหล่านั้นหายไป ตรงข้ามกลับพยายามกัดฟันสู้จนนาทีสุดท้าย เห็นได้ชัดว่าเจ้าหญิงบอบบางอ่อนหวานในต้นเรื่องได้พัฒนาเป็นเจ้าหญิงที่ดุดันเด็ดเดี่ยว พร้อมจะสู้และไม่ลังเลที่จะก้าวไปสู่จุดที่ตัวเองต้องการ แม้ว่าการไปถึงจุดนั้นอาจต้องใช้ตัวเองเข้าแลกก็ตาม

ก่อนนีน่าขึ้นแสดงเป็นหงส์ดำนั้น นีน่าเปิดห้องแต่งตัวเข้าไปและพบว่าลิลี่แต่งชุดหงส์ดำเตรียมพร้อมจะขึ้นเวทีแทนเธออยู่ นาทีนั้นนีน่าเริ่มมีปากเสียงกับลิลี่ ก่อนที่ลิลี่จะกลายเป็นนีน่าตัวหลอน (แม้กระนั้น นางก็มิแคร์แต่อย่างใด) เธอจับตัวเองกระแทกกระจกจนนีน่าตัวหลอนทรุดลงนอนหงายกองกับพื้น แต่จู่ๆ นางตัวหลอนก็พยายามบีบคอนีน่าตัวจริง จนนีน่าตัวจริงหยิบเศษกระจกที่แตกมาแทงที่ท้องนีน่าหลอนจนตายในที่สุด แต่สิ่งที่นี่น่าตัวจริงเห็นกลับกลายเป็นลิลี่นอนตายอยูกับพื้นแทน สิ่งที่น่าสนใจช่วงเวลานี้คือนีน่าไม่ได้แสดงอาการตื่นกลัวหรือสติแตกที่ฆ่าคนตาย ซึ่งถ้าเทียบกับนีน่าที่แสนเปราะบางตอนต้นเรื่องแล้ว นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของตัวละครเลยทีเดียว นีน่ารีบจัดการซ่อนศพอย่างรวดเร็ว ก่อนจะไปนั่งแต่งหน้า แม้จะร้องไห้ แต่ก็คุมตัวเองได้ นั่นแปลว่าความต้องการของเธอใหญ่โตกว่าความกลัวใดๆ แล้ว

ทำไมต้องลิลี่
จากที่เกริ่นไปว่าตั้งแต่ลิลี่โผล่เข้ามา ชีวิตของนีน่าก็เหมือนเสียสมดุลไป และยิ่งลีรอยชมลิลี่ ความอิสระ ความเป็นตัวของตัวเองและความมั่นใจของลิลี่ การที่ลีรอยเลือกลิลี่ให้รับบทตัวสำรองของนีน่า รวมถึงภาพ “การสบตา” ของทั้งสองระหว่างซ้อม (ซึ่งเธอคงไม่รู้ว่าเป็นภาพจริงหรือคิดไปเอง) ยิ่งทำให้นีน่ารู้สึกไม่มั่นคงและมองลิลี่ว่าเป็นอุปสรรคทั้งต่องานและความรักของเธอ การเห็นลิลี่ก่อนแสดงหงส์ดำจึงเหมือนการสะท้อนจิตใต้สำนึกของนีน่า ว่าเป็นเหมือนอุปสรรคหนึ่งที่จะขัดขวางงานและความรักของเธอ เป็นสิ่งที่ทำให้เธอกลัวว่าจะสูญเสียงานและความรักไป

ทำไมต้องนีน่า
[Nina goes to her dressing room to find Lily sat at her dressing table putting on make-up]
Lily: Rough start, huh? Must have been pretty humiliating.
Nina Sayers: Get out of my room!
Lily: See, I'm just...I'm worried about the next act. I'm just not sure you're feeling up to it.
Nina Sayers: Stop. Please stop!
Lily: How about I dance...
[Lilly turns to face Nina when her face suddenly changes to Nina's double]
Nina's Double: ...the Black Swan for you.
Nina Sayers: Leave me alone!

[Nina pushes the double into the wall length mirror crashing it, the double falls unconscious but suddenly wakes to grab Nina's neck strangling her]

อย่างที่พูดถึงแล้วเช่นกันถึงทัศนคติที่นีน่ามีต่อตัวเองว่าเป็น Worst Enemy คือตัวเองกลัวที่จะยอมรับตัวเอง จริงๆ ในบทความอื่นๆ จะเรียกนีน่าหลอนว่าเป็นด็อปเปลแกงเกอร์ (evil twin) โดยตามความเชื่อแล้วด็อปเปลแกงเกอร์จะมีนิสัยตรงข้ามกับเจ้าของร่าง ในเรื่องหนึ่งที่เคยอ่าน นางเอกเป็นคนนิสัยดี แอบรักผู้ชายคนหนึ่งมาก แต่ไม่กล้าแสดงออก และตั้งแต่นั้นก็เจอตัวเองตามฆ่าตัวเองตลอดเวลา จนเมื่อเธอสารภาพรักไปเรื่องราวถึงจบลง ถ้านี่เป็นกรณีใกล้เคียงกัน การที่นีน่าเห็นตัวเองและแทงตัวเองจนตายนั้นอาจเป็นเครื่องแสดงว่าเธอยอมรับความปรารถนาของตัวเองแล้ว และได้ปลดปล่อยตัวเองจากความกลัวและความรู้สึกผิดนั้นแล้ว

ด้วยการปลดปล่อยตัวเองและความมั่นใจว่าปราศจากอุปสรรคแล้วจึงทำให้นีน่าสงบใจได้ในที่สุดและขึ้นแสดงในฐานะหงส์ดำได้อย่างสมบูรณ์แบบ โดยระหว่างที่เต้นอยู่นั้นขนปีกก็งอกออกมาเรื่อยๆ จนกลายเป็นปีกหงส์ดำอย่างสมบูรณ์ ทั้งๆ ที่เธอเคยกังวลและคอยปิดบังรอยแดงที่หลังเธอมาตลอด แต่ขนปีกดำที่งอกออกมาจนกลายร่างเป็นหงส์ดำต่อหน้าผู้ชมนับร้อยนั้นกลับไม่ทำให้นีน่ารู้สึกประหม่า กังวล เกรงกลัว หรืออะไรเลย นีน่ายอมรับหงส์ดำในตัวเองแล้ว ยอมรับความต้องการของตัวเองแล้ว และตอกย้ำความคิดนี้ด้วยการวิ่งไปจูบลีรอยต่อหน้าทุกคนโดยไม่ห่วงอะไรอีก


ตื่น
เมื่อกลับลงไปที่ห้องแต่งตัวเพื่อเปลี่ยนชุดเป็นหงส์ขาวอีกครั้ง นีน่าเห็นว่ามีเลือดไหลนองออกมาจากห้องน้ำที่เธอซ่อนศพลิลี่ไว้ เธอรีบหาผ้าขนหนูมาซับเลือดนั้น ก่อนจะชะงักไปเมื่อได้ยินเสียงเคาะประตู

ผู้ที่มาเคาะประตูคือลิลี่ เธอแวะมาแสดงความยินดีและชื่นชมในความสามารถของนีน่าอย่างจริงใจ เมื่อเธอไปแล้ว นีน่าที่ยังคงงงและตกใจก็รีบเปิดประตูห้องน้ำออกดู และพบว่าไม่มีใครอยู่ในนั้น ไม่กี่วินาทีจากนั้น นีน่าก็พอจะเริ่มเข้าใจอะไรบางอย่าง และรู้สึกเจ็บที่ช่วงท้อง เมื่อก้มดูและใช้นิ้วมือควานดูจึงพบเศษกระจกที่เธอใช้ฆ่านีน่า(หลอน) คนนั้นนั่นเอง

เลือดที่ไหลนองออกมาจากห้องนั้นน่าจะเป็นสัญลักษณ์แทนความรู้สึกร้อนตัวกลัวความผิด กลัวจะมีคนรู้ว่าเธอเป็นคนฆ่าลิลี่ กลัวอยู่จนกระทั่งลิลี่ตัวจริงตัวเป็นๆ มายืนคุยอยู่ตรงหน้า นีน่าถึงได้เริ่มรู้สึกตัวว่าที่แท้สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นอาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่เห็นและไม่ได้เป็นอย่างที่คิด และเมื่อรู้สึกตัวแล้ว รับรู้ความจริงแล้วจึงไม่มีภาพหลอนใดๆ ปรากฏขึ้นอีกต่อไป


“My Little Princess” บทสรุปของ “Perfection” ในมุมมองของ “Dying Swan”
[after she's done her final act and fallen on the mattress, she can hear everyone clapping]
Thomas Leroy: Can you hear them? They love you! They love you! My little princess. I always knew you had it in you. Come on. Let's take your bow.
……….
Nina Sayers: [weakly] I felt it.
Thomas Leroy: What?
Nina Sayers: Perfect. I was perfect.

เมื่อแรกเริ่ม นีน่าเพียงต้องการได้บท Swan Queen เท่านั้น แต่ไปๆ มาๆ เริ่มหลงรักลีรอยและเริ่มอยากให้เขามองเธอคนเดียว ความปรารถนาใฝ่ฝันลึกๆ นี้เคยสะท้อนผ่านบทสนทนาระหว่างลิลี่กับนีน่าตอนไปเที่ยวผับกัน เมื่อลิลี่บอกว่าการที่ลีรอยเรียกเบ็ธว่า ‘My Little Princess’ นั้นช่างน้ำเน่าชวนอ้วกเสียเหลือเกิน ขณะที่นีน่ากลับอ้อมแอ้มตอบว่า “I think it's sweet.”

ในตอนสุดท้ายเมื่อลีรอยเรียกเธอว่า “My little Princess” จริงๆ นีน่าถึงได้พูดออกมาอย่างนั้น คือได้ทุกอย่างครบแล้ว ทั้งบทที่ต้องการ การแสดงที่ต้องการ เสียงปรบมือและการยอมรับที่ต้องการ และคำเรียกหาและความสนใจจากผู้ชายที่ตัวเองแอบรัก

ความรู้สึกว่าไม่สมบูรณ์แบบและอยากให้สมบูรณ์แบบนั้นเกิดจากความคิดและเชื่อว่าสิ่งต่างๆ ยังดีไม่พอ นีน่าอยากเต้นให้เป๊ะโดยเชื่อว่าเป๊ะคือสมบูรณ์แบบ ซึ่งความสมบูรณ์แบบในความคิดของเธอจะทำให้เธอได้บทที่ดีขึ้น ใหญ่ขึ้น มีตัวตนมากขึ้น การเต้นหงส์ดำที่ไม่สมบูรณ์แบบนอกจากจะทำให้ตัวเองไม่พอใจตัวเองแล้ว ยังทำให้ผู้ชายที่ตัวเองแอบรักไม่พอใจด้วย นั่นยิ่งทำให้เธอรู้สึกว่าตัวเองยังดีไม่พอมากขึ้นไปอีก เมื่อทุกอย่างคลี่คลายในตอนจบ เธอได้ทุกอย่างที่ต้องการแล้ว เธอจึงรู้สึกถึงความสมบูรณ์แบบอย่างแท้จริง ซึ่งคือใจที่พอแล้วนั่นเอง เธอจึงมีความสุข ถึงจะรู้ว่าตัวเองอาจจะตายก็ตาม

.....





เขียนไปตามความคิดความรู้สึกจากที่ดูนะคะ ยังไม่ได้อ่านบทวิเคราะห์จากไหนเพราะกลัวโดนสปอยล์เองเหมือนกัน ๕๕

สิ่งที่เขียนนี่ไม่ได้แปลว่าถูกหรือผิดอะไรยังไงเลยค่ะ ถ้ามีใครคิดเห็นแตกต่างจากนี้จะเม้ามอยเพิ่มเติมแลกเปลี่ยนความเห็นกันก็ยินดีค่ะ :)





Create Date : 06 มีนาคม 2554
Last Update : 7 มีนาคม 2554 8:43:20 น.
Counter : 745 Pageviews.

6 comments
  
ยาวม๊ากกก แต่อ่านรวดเดียว จบแล้วขึ้นนอน(ได้สะทีคืนนี้) แธ็งกิวมักมาย

ยังไม่ได้ดุเลยครับ Black Swan คงต้องรอหนังแผ่นเสียแล้ว
โดย: ซ่อนรอยยิ้ม วันที่: 7 มีนาคม 2554 เวลา:0:05:06 น.
  
ขอบคุณมากนะคะที่อุตส่าห์อ่านรวดเดียวจบ เลยนอนดึกเลย ^^''
ไว้ถ้ามีโอกาสดูแล้วกลับมาคุยกันอีกนะคะ :)
โดย: bombyxia วันที่: 7 มีนาคม 2554 เวลา:8:31:43 น.
  
โอ้ว ยาวมาก เก็บรายละเอียดเนี้ยบมากเลยฮะ
วิเคราะห์ได้เนี้ยบมากเลย ได้มุมใหม่ๆเยอะ


,,,,,,,,,,,,,,,,,
จริงๆเราก็ไม่แน่ใจนัก แต่เราไปทึกทักเอาเองว่าเรื่อวนี้ควรจะได้รับอิทธิพลจากทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์อยู่นะ

เรามองไปเรื่องทางจิตของนีน่า เรื่องลิบิโด เรื่อง id เรื่อง superego เหมือน id กับ superego ของเธอกำลังต่อสู้กันอย่างหนักหน่วง

เหมือนกับว่า อยาก แต่ก็ไม่กล้า อยาก แต่ก็ไม่กล้า ยังติดอยู่ในกรอบเพราะชีวิตอยู่แต่ในนี้มาทั้งชีวิต แน่นอนว่าแม่เป็นส่วนสำคัญที่หลอมเธอให้เป็นคนแบบที่มี ทัศนคติ มโนธรรม ค่านิยม อะไรแบบนี้ เพราะแม่นีน่าก็คงเป็นโรคจิตเหมือนกัน เหมือนเป็นประเภทที่หลงรักลูกตัวเอง



ฟรอยด์บอกว่า พฤติกรรมหรือบุคลิกภาพของเราที่ปรากฎก็เกิดจากพัฒนาการทางเพศด้วย ตั้งแต่วัยเด็ก ถ้าวัยเด็กมีปมในใจ มันอาจจะเก็บมาแสดงเมื่อโตขึ้น


อาการทางจิตของนีน่า พอเกิดอาการเครียดที่ความต้องการ(เพอเฟค คนยอมรับ) ไม่ได้รับการตอบสนอง จิตไร้สำนึกเราจะสร้างกลไกในการป้องกันตัวเองเพื่อบรรเทาความเจ็บปวด ซึ่งนีน่าก็แสดงอาการพวกนี้ออกมาชัดมาก เช่น เก็บกด ป้ายความผิดให้คนรอบข้าง เข้าข้างตัวเอง เลียนแบบคนที่เรายกย่อง แยกตัวเองจากผู้อื่น หาสิ่งต่างๆมาระบายความโกรธของตัวเอง ฝันกลางวันในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในความจริง

อีกอย่างเราติดใจเรื่องปมอิเล็คตร้าด้วย เกี่ยวกับช่วยตัวเองของนีน่า ไม่แน่ใจว่านีน่าจะเป็นเลสเบี้ยนหรือเปล่า (คือถ้ามองในมุมแปลกๆของเราอ่ะนะ)

,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,
จริงๆเรายังไม่ค่อยตกผลึกนัก เราไม่เข้าใจว่าจะเชื่อมโยงอีกหลายๆฉากเข้าทฤษฎียังไง รวมถึงองค์ทั้ง4ที่แสดงด้วย
ยังไม่แน่ใจว่าจะแทนหงส์ดำเป็นอะไร หงส์ขาวเป็นอะไรดี

ถ้าแทนด้วยสัญชาติญาณแห่งการมีชีวิตกับสัญชาติญาณแห่งความตายของฟรอยด์ เราจะโขกไปทางไหนดีนะนี่ ยังคิดไม่ออก


แต่คร่าวๆว่าอโรนอฟสกี้ต้องศึกษางานของฟรอยด์บ้างแหละ

โดย: inert gas วันที่: 12 มีนาคม 2554 เวลา:2:53:27 น.
  
ชอบบทวิจารณ์นี้มาก ๆ ครับ ผมดูครั้งแรกก็ยังสับสนไม่เข้าใจในหลายประเด็น พอได้อ่านบทวิจารณ์นี้แล้วก็ถึงบางอ้อ..ขอบคุณที่เฉลยปมต่าง ๆ ที่หนังต้องการจะสื่อ เป็นหนังดี ดาราแสดงได้ถึงบททุกคน โดยเฉพาะนาตาลี พอร์ตแมน ฝันของเธอเป็นจริง เธอคือ swan queen ทั้งในหนังและชีวิตการแสดงโดยแท้
โดย: psw2548 (psw2548 ) วันที่: 19 มีนาคม 2554 เวลา:18:32:47 น.
  
ขอบคุณมากคะ วิเคราะห์หนังเรื่องนี้ได้ละเอียดมากเลย
กำลังเรียนจิตวิทยาอยู่พอดี มาอ่านเลยยิ่งชอบ
อาจจะลองไปดูหนังเรื่องนี้ ถ้าไม่ออกจากโรงไปซะก่อน :)
โดย: a girl frozen in time วันที่: 24 มีนาคม 2554 เวลา:22:44:14 น.
  
ขอบคุณทุกคนที่เข้ามาอ่านและร่วมคอมเม้นนะคะ ดีใจจังเลย :)

@คุณ inert gas เห็นด้วยนะคะว่าทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์น่าจะมีอิทธิพลกับเรื่องนี้พอสมควร ยิ่งถ้าผู้กำกับหรือคนเขียนบทไม่ได้อิงการศึกษาทฤษฎีที่ว่า ก็ยิ่งแปลว่าออกมาจากแรงจูงใจและพฤติกรรมเบื้องลึกของมนุษย์จริงๆ ค่ะ ถ้าจำไม่ผิด รู้สึกฟรอยด์จะสนับสนุนพลังขับที่สำคัญที่สุดของมนุษย์อย่างนึงคือแรงขับทางเพศ ถ้าใช่จริงๆ ประเด็นนี้ก็น่าจะเป็นอีกประเด็นใหญ่ที่น่าสนใจของเรื่องนี้นะคะ

@psw2548 ขอบคุณมากๆ เลยค่ะสำหรับคอมเม้น นาตาลีและนักแสดงทุกคนเล่นถึงแก่นจริงๆ ช่วยตบมือให้อีกคนค่ะ :)

@a girl frozen in time ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมนะคะ ถ้ามีตรงไหนเพิ่มเติมเกี่ยวกับจิตวิทยาที่น่าสนใจก็แปะได้เลยนะคะ เผื่อไหมมีผิดพลาดตรงไหน ได้แลกเปลี่ยนความคิดกันค่ะ :D อยากเรียนจิตวิทยาเหมือนกัน แต่เลือกไม่ทัน (ฮา) เลยได้มาแต่วิชาเลือกนิดๆ หน่อยๆ เองค่ะ ^^''''

โดย: bombyxia วันที่: 8 เมษายน 2554 เวลา:15:39:41 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

bombyxia
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed

 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



MY VIP Friend