“Slow Travel” จากทะเลน้อยถึงกระบี่ ขี่ไปเที่ยวไป
เรื่องเล่าจากทางบ้าน : โดย : สุปรียา ห้องแซง


ยามเช้าที่ทะเลน้อย(ภาพ : กองบก.)
       การเดินทางที่เราสามารถละเลียดเรื่องราวริมทางได้อย่างละเมียดละไม ฉันขอยกความดีให้กับการปั่นสองล้อด้วยพลังกายและพลังใจของเรานี่แหละ การปั่นจักรยานทำให้เรามีโอกาสมองเห็นเรื่องราวที่ผ่านพบระหว่างทาง ได้มีเวลาเก็บภาพไว้ในร่องรอยของความทรงจำได้เป็นอย่างดี

       ระยะเวลา 6 วัน กับการเดินทางตั้งแต่ทะเลน้อยถึงทะเลสาบสงขลา ซึ่งเป็นทริปการปั่นกับชาวคณะร่วมยี่สิบชีวิต และจากสงขลาไปจนถึงกระบี่ที่ฉันเดินทางแบบฉายเดี่ยว ในระยะทางเกิน 500 กิโลเมตร เป็นการปั่นจักรยานแบบปั่นไปเที่ยวไป ถือเป็นการปั่นจักรยานทางไกลครั้งแรก แต่ฉันก็ไม่ได้คิดกังวลไปต่างๆ นานาถึงเหตุการณ์ล่วงหน้าหรอกว่า จะทำได้ไหม จะเหนื่อยเกินไปหรือเปล่า จนกว่าจะได้เผชิญกับเหตุการณ์นั้นในแต่ละวันจริงๆ โน่นแหละ จิตใจที่เราได้สัมผัสเหตุการณ์ในแต่ละวันจะเป็นคำตอบให้เราได้ดี

       ถือว่าการท่องเที่ยวครั้งนี้ได้สอนวิธีคิดให้กับฉันตั้งแต่เริ่มต้นเดินทางเลยทีเดียว วิธีคิดที่จะอยู่กับปัจจุบันขณะ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละวันก็ทำให้ฉันได้เข้าใจคำว่าอยู่กับปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นความเหนื่อยกายหรือความสุขใจ สิ่งสำคัญระหว่างนั้นฉันได้สัมผัสกับความสวยงามทั้งภายนอกและภายในหลายเรื่องราว

       ระหว่างทางจากทะเลน้อยไปลำปำ ฉันได้มองเห็นแสงสีทองของพระอาทิตย์ในยามอรุณรุ่งที่โผล่พ้นผิวน้ำขึ้นมาสาดแสงฉาบไล้ยอจำนวนมากตรงปากประ ได้มองเห็นชีวิตของผู้คนที่ขับเรือหางยาวออกมาจากริมฝั่งน้ำแล่นผ่านยอที่กลางลำน้ำ ภาพนี้สะท้อนให้เห็นวิถีชาวประมงของคนปากประได้เป็นอย่างดี


วังเจ้าเมืองพัทลุง
       ครั้นปั่นมาถึงลำปำเมืองเก่าของพัทลุง ฉันได้รับรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ของเมืองจากวังเก่า ซึ่งเป็นวังของเจ้าเมืองพัทลุง (น้อย จันทโรจนวงษ์) เป็นเรือนไทยแบบภาคกลาง สร้างด้วยไม้ทั้งหลัง เพราะเจ้าของวังเป็นข้าราชการมาจากภาคกลาง และวังใหม่ที่สร้างโดยพระยาอภัยบริรักษ์จักราวิชิตพิพิธภักดี (เนตร จันทโรจนวงษ์) ตัวเรือนเป็นส่วนผสมทั้งไม้และการก่ออิฐถือปูน ปัจจุบันลูกหลานของตระกูลได้มอบวังแห่งนี้ให้เป็นสมบัติของชาติให้คนรุ่นหลังได้เข้ามาเรียนรู้

       เมื่อปั่นมาอีกไม่ไกล ฉันก็ได้ยลความงดงามของจิตรกรรมฝาผนังสีฝุ่นภายในอุโบสถของวัดวัง สันนิษฐานว่าเขียนขึ้นจากฝีมือช่างศิลป์ในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติและเทพชุมนุม แต่ก็ยังมีภาพสะท้อนถึงวิถีชีวิตของชุมชนด้วย ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นภาพวาดควายกลางลำน้ำอยู่ด้วย วัดนี้สร้างตามแบบวัดหลวงของรัตนโกสินทร์ ภายในพระอุโบสถไม่มีเสาแต่ใช้คานกั้น ตัวโบสถ์ประดับด้วยช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ ด้านหน้ามีมุขเด็จยื่นออกมา มีระเบียงคด และมีพระพุทธรูปปูนปั้นโดยรอบ สะท้อนให้เห็นทั้งความงดงามและความเก่าแก่


วิถีประมงพื้นบ้านที่ปากประ
       พอออกจากเมืองเก่าลำปำปั่นมาตามเส้นทางสายเล็กๆ ที่ผ่านหมู่บ้านตามรายทางจนถึงปากรอ ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลสาบสงขลา รอยต่อระหว่างปากพยูนของพัทลุงและสิงหนครของสงขลา ฉันก็ได้สัมผัสดวงอาทิตย์ยามเย็นย่ำกำลังลับขอบน้ำ มองเห็นโพงพางและกระชังกลางน้ำ เห็นเรือกำลังแล่นเข้าฝั่ง และเห็นบ้านริมน้ำซุกซ่อนภายใต้ร่มไม้ สองล้อได้พาฉันให้พบท้องฟ้า ท้องน้ำ และตะวันดวงเดียวกันที่ขึ้นและตกคนละฝั่ง แต่วิถีชีวิตของผู้คนที่ผูกพันกับสายน้ำทั้งที่ปากประและปากรอนั้นไม่ต่างกัน การปั่นทำให้เราได้ค่อยๆ ซึมซับกับธรรมชาติตั้งแต่ฟ้าสางจนฟ้ามืดมิด


พักเหนื่อยที่สะพานติณสูลานนท์
       ฉันได้มายืนมองฟ้าสางอีกครั้งที่สะพานติณสูลานนท์ ดวงอาทิตย์ที่ซ่อนตัวอยู่หลังฟ้าฉาบแสงสีทองอมแดงระบายทั่วฟ้าผสานกับก้อนเมฆสีเทารูปร่างสวยงามที่ค่อยๆ เคลื่อนตัวอย่างช้าๆ คงไม่ต่างจากการท่องเที่ยวแบบช้าๆ เมื่อฉันได้ปั่นจักรยานไปเก็บภาพในหลายจุดทั่วเกาะยอ ฉันพาสองล้อไปทักทายกระชังปลาและยอจำนวนมากมายกลางทะเลสาบสงขลา ได้ปั่นไปตามถนนรอบเกาะยอ ซึ่งเป็นทั้งไหล่เขาและที่ราบเชิงเขา ทำให้พื้นที่ตรงนี้เหมาะแก่การเพาะปลูก การเที่ยวเกาะยอนอกจากได้มองท้องทะเลแล้ว ยังได้สัมผัสความสดชื่นของความเขียวขจี โดยเฉพาะในยามเช้าที่แสงอาทิตย์เริ่มส่องสว่างลอดผ่านใบไม้ในสวนสมรมของชาวบ้าน

       ผลไม้ต่างๆ จากในสวนไม่ว่าจะเป็นเงาะ ทุเรียน มังคุด ลางสาด หรือจำปาดะ ซึ่งเป็นผลไม้มีชื่อของเกาะยอ รวมถึงผลผลิตหลากหลายจากผืนดินและท้องน้ำ เราจะได้พบเห็นอยู่ในตลาดชุมชนตรงวัดแหลมพ้อ ซึ่งช่วงเช้าในตลาดแห่งนี้จะคลาคล่ำไปด้วยผู้คนทั่วทั้งเกาะมาจับจ่ายและพบปะ ภาพของตลาดจะสะท้อนถึงวิถีชีวิตของชุมชนได้เป็นอย่างดี ถัดจากตลาดตรงวัดแหลมพ้อก็มีพระพุทธรูปปางไสยาสน์ประดิษฐานให้ได้กราบไหว้


วัดท้ายยอ
       เกาะยอยังมีวัดที่น่าสนใจตั้งอยู่ท้ายเกาะและติดริมฝั่งทะเล ฉันเดาว่าชื่อวัดท้ายยอแห่งนี้คงมาจากสถานที่ตั้งของวัดแห่งนี้ วัดท้ายยอเป็นวัดเก่าแก่สร้างมาสองร้อยกว่าปีแล้ว มีกุฏิแบบปั้นหยาที่ทั้งเก่าแก่และสวยงาม รวมถึงศาลาที่ตั้งอยู่กลางวัด หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา ตอนที่ฉันปั่นสองล้อมาเก็บภาพเป็นช่วงเช้าที่แสงแดดอ่อนกำลังส่องทาบทาผิวกระเบื้อง ดูงดงามมาก ในอดีตเกาะยอมีชื่อเสียงเรื่องกระเบื้องดินเผาที่ทำจากโคลนในทะเลสาบสงขลา ฉันจึงยังได้พบเจอบ้านไม้เก่าแก่ที่มุงหลังคาด้วยกระเบื้องดินเผาอยู่บ้างประปราย แต่สถานที่ที่เราจะได้เห็นกระเบื้องเกาะยอได้เต็มตาคือ อาคารเรียนของโรงเรียนวัดท้ายยอ


เจดีย์ วัดพะโคะ
       จากทะเลสาบสงขลาฉันปั่นสองล้อมาที่ทะเลน้อยอีกครั้ง โดยผ่านเส้นทางสายสิงหนคร สทิงพระ และระโนด แต่ระหว่างทางก็ตั้งใจไปกราบนมัสการหลวงพ่อทวดที่วัดราชประดิษฐานหรือวัดพะโคะที่อำเภอสทิงพระ ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่อายุอานามหลายร้อยปี ตามพงศาวดารเมืองพัทลุงนั้น วัดนี้สร้างในสมัยอยุธยารัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ต่อมาในสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ได้มีการสร้างพระโคตมะหรือพระพุทธรูปไสยาสน์ ซึ่งยังคงประดิษฐานอยู่ในวิหารบนเนินเขาจนทุกวันนี้ ข้างวิหารพระนอนคือ พระสุวรรณมาลิกเจดีย์ศรีรัตนมหาธาตุ เจดีย์องค์ใหญ่คล้ายพระมหาธาตุที่นครศรีธรรมราช นอกจากได้กราบพระเจดีย์แล้วฉันได้เดินวนรอบลานเจดีย์ทั้งสี่ทิศ และกราบขอพรจากพระพุทธรูปตรงระเบียงใต้ฐานเจดีย์ทั้งสี่ด้านด้วย
       ความน่าสนใจของวัดพะโคะที่เล่าขานกันมานาน น่าจะเป็นเรื่องปาฏิหาริย์ของหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด เมื่อโจรสลัดอยากลองดีโดยการจับสมเด็จพะโคะลงเรือไป แต่เกิดเหตุการณ์ที่เรือแล่นต่อไปไม่ได้ ต้องจอดอยู่หลายวันจนน้ำจืดหมดลง สมเด็จพะโคะจึงเอาเท้าซ้ายแช่ลงไปในน้ำทะเลเกิดเป็นประกายโชติช่วง น้ำทะเลกลายเป็นน้ำจืด คงเป็นเพราะเรื่องเล่านี้เอง ฉันจึงเห็นคนจำนวนมากมากราบไหว้รูปหล่อหลวงพ่อทวดทั้งที่ตั้งอยู่ทางขึ้นเจดีย์และรูปหล่อปางจาริก


ฝูงควายกินอร่อยที่ทะเลน้อย
       จากสทิงพระปั่นมาถึงระโนดในยามบ่ายคล้อย ฉันจอดสองล้อเพื่อบันทึกภาพฝูงควายที่กำลังเล็มหญ้าอยู่กลางทะเลน้อยฝั่งหนึ่งและทะเลหลวงอีกฝั่งหนึ่ง โดยมีสะพานข้ามทะเลเป็นเส้นกั้นเขตแดนของท้องทะเลทั้งสองแห่ง และเป็นรอยเชื่อมต่อของสงขลาและพัทลุง

       การปั่นจากสงขลามาถึงอำเภอควนขนุนเป็นเส้นทางราบทำให้ไม่ต้องออกกำลังขามากนัก แต่หมุดหมายของฉันคือ การพาสองล้อไปสัมผัสหาดทราย สายลม ฟ้าคราม และฟังเสียงคลื่นทะเลซัดสาดกระทบฝั่งที่กระบี่ เส้นทางจากควนขนุนไปถึงกระบี่นั้นไปได้สามเส้นทาง ทั้งผ่านตรัง ผ่านอำเภอบางขัน และอำเภอทุ่งสงของเมืองคอน แต่ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางไหนก็จะมีควนให้สองขาได้ออกกำลังกาย การสอบถามข้อมูลจากคนท้องถิ่นเป็นเพียงความอุ่นใจเบื้องต้นว่า การเดินทางไปในหนทางเบื้องหน้าก็มีแสงสว่างส่องนำทางให้ แต่การตัดสินใจเป็นเรื่องของเราเอง และเราก็ต้องรับผิดชอบกับผลที่จะเกิดขึ้น

       ฉันเลือกเส้นทางสายท้องถิ่นที่ผ่านหมู่บ้านเล็กๆ จากควนนางหงส์ เข้าเขตอำเภอบางขัน ก่อนจะเข้าสู่เขตของกระบี่ที่อำเภอลำทับ ต่อด้วยอำเภอคลองท่อม อำเภอเหนือคลอง และเข้าเขตตัวเมืองกระบี่ นอกจากจะเป็นเส้นทางที่ผ่านหมู่บ้านต่างๆ ทางเส้นนี้ยังระยะทางใกล้ที่สุด แต่กลับเป็นเส้นทางที่ทำให้ฉันต้องดูแลสองขาเป็นอย่างดี


เติมพลังด้วยขนมจีน
       เมื่อออกจากควนขนุน ฉันเพิ่มพลังให้ร่างกายที่เพิงเล็กๆ ริมทาง ขนมจีนน้ำยากะทิปักษ์ใต้มาพร้อมผักเหนาะ น้ำในขันสังกะสีใบย่อม และนั่งกินบนแคร่ที่ปูด้วยเสื่อกระจูด นั่นก็เพราะการปั่นจักรยานทำให้ฉันได้มีเวลาชายตามองตามรายทางจนมาเจอของกินพื้นถิ่นแท้ๆ อาหารมื้อนี้ประทับใจขันใส่น้ำเป็นที่สุด เพราะไม่ได้พบเจอมานานหลายปี อิ่มท้องก็พร้อมออกแรงเต็มที่ ปั่นผ่านทางหลวงมานานก็เข้าสู่ทางชนบทในยามสาย มาถึงจุดตรงบ้านควนนางหงส์ถือเป็นทางขึ้นเขาที่ชันทีเดียว ฉันมองหนทางสูงเบื้องหน้าจึงไม่หาญกล้าจะพาสองขาปั่นสองล้อในยามตะวันโด่งกลางฟ้า แดดหน้าร้อนช่างแผดเผากายได้แสบผิวนัก ฉันจึงพาสองขาเดินจูงสองล้อขึ้นเขาด้วยกัน


บรรยากาศกระบี่ยามเช้า
       ฉันรู้ว่าตัวเองต้องเผชิญกับการเหนื่อยกายถ้าเลือกทางเส้นนี้ แต่ฉันก็ยอมรับมันตั้งแต่แรก เพราะเชื่อว่าเมื่อมีเส้นทางขึ้นเขาในฝั่งหนึ่ง อีกฝั่งหนึ่งของภูเขาก็จะเป็นทางลงเขา ซึ่งฉันสามารถนั่งบนหลังอานและพาสองล้อลงเขาฝ่าแสงแดดในยามบ่ายและปะทะกับความเย็นของสายลมที่พัดผ่าน ก็สัจธรรมของธรรมชาติมันต้องมีสองด้านเสมอนี่นา

       เมื่อลงจากเขาด้วยความสดชื่นจากสายลม และข้อมูลของคนท้องถิ่นที่บอกว่าเส้นทางนี้ขึ้นเขาเพียงจุดเดียว ก็ทำให้ค่อยเบาใจ แต่ภูเขาหินปูนเบื้องหน้าก็ทำให้ฉันคิดได้เองว่า แม้จะไม่ได้ขึ้นเขาแต่ก็ต้องมีควนหรือเนินแน่นอน ช่างปะไรละ เมื่อมีเนินขึ้นก็ต้องมีเนินลงเป็นธรรมดา ฉันจึงเตรียมพร้อมกับการปั่นสองล้อขึ้นลงเนินเป็นระยะๆ สูงบ้างเตี้ยบ้าง ซึ่งก็ต้องเหนื่อยกายเป็นธรรมดา แต่อีกด้านหนึ่งในระหว่างทางเส้นนี้ ฉันก็ได้รับความสุขใจเข้ามาทดแทน


พักเหนื่อยริมเส้นทางขึ้นเขา
       เมื่อแวะเติมพลังในยามบ่ายที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ที่เจ้าของร้านขายข้าวแกงอนุญาตให้หลบแดดร้อน นอนพักเหนื่อย แถมยังใจดีเอาหมอนมาให้หนุนนอนอีกต่างหาก เมื่อชีวิตต้องเผชิญกับความเหนื่อย ชีวิตก็ต้องมีช่วงเวลาที่หายเหนื่อยได้เช่นกัน และเรายิ่งจะหายเหนื่อย เมื่อมาพบคนที่ต้องเผชิญกับเหตุการณ์เดียวกัน แต่เขากลับเผชิญหนักกว่าเราอีก

       ยามบ่ายคล้อยของวันนั้น เมื่อได้งีบเอาแรงและปั่นสองล้อขึ้นลงเนินมาจนถึงอำเภอบางขัน ระหว่างทางฉันได้พบฝรั่งสองหนุ่มสาวตอนที่เราหลบฝนตรงศาลาริมทาง พวกเขาปั่นจักรยานมาจากเกาะภูเก็ตเพื่อจะเดินทางเข้ามาเลเซียที่ด่านสะเดา เมื่อพบคนที่หอบของพะรุงพะรังมากกว่าฉันถึงสองสามเท่า และพวกเขาปั่นในระยะที่ไกลกว่ามาก จากที่คิดว่าเหนื่อย ฉันหายเหนื่อยเลยทีเดียว

หาดนพรัตน์ธารา
       และการเดินทางมาถึงจุดหมาย จะทำให้เราหายเหนื่อยขึ้นมาทันที บ่ายวันต่อมา หลังจากที่ปั่นสองล้อผ่านเส้นทางขึ้นเนินลงเนินเป็นระยะๆ เช่นเดิม จนพาจักรยานมาชื่นชมความสวยงามตามธรรมชาติของท้องทะเลที่หาดนพรัตน์ธาราและเลียบไปถึงอ่าวนาง สองล้อเพื่อนยากได้ย่ำเปลือกหอยบนผืนทราย ยืนท้าทายสายลม มองท้องฟ้าสีครามที่กระจ่างใส ฝ่าคลื่นน้ำกระทบหาดได้สมใจอยาก

       การเดินทางไกลอาจจะทำให้เหนื่อยกายเหนื่อยใจบ้าง แต่เรื่องดีๆ ความสวยงามของธรรมชาติและผู้คนระหว่างทางก็ทำให้เราสบายใจได้ ทั้งหมดต้องยกนิ้วให้สองขาและสองล้อ ที่ทำให้ฉันได้เก็บความประทับใจไว้ในรอยของความทรงจำที่ดี


ที่มา://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9550000077951



Create Date : 27 มิถุนายน 2555
Last Update : 27 มิถุนายน 2555 12:20:45 น.
Counter : 2494 Pageviews.

1 comments
  
โดย: Kavanich96 วันที่: 28 มิถุนายน 2555 เวลา:10:36:07 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

bobobull
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]



Fight.. Fight !!
มิถุนายน 2555

 
 
 
 
 
4
5
6
10
14
18
19
21
22
23
24
26
28
29
30
 
All Blog