จตุธาตุววัตถาน
"จตุธาตุววัตถาน" ได้แก่
การกำหนดธาตุ ๔ คือธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม
อันมีอยู่ในกายของตน

โดยกำหนดเอาว่า
🥔 สิ่งที่มีลักษณะแข็งในร่างกาย 
💧 สิ่งที่มีลักษณะซึมซาบ/เหลวในร่างกาย 
🔥 สิ่งที่มีลักษณะอบอุ่นในร่างกาย 
🌪 สิ่งที่มีลักษณะเบา/เคลื่อนไหวได้ในร่างกาย

กำหนดให้มองเห็นสิ่งนั้นๆชัดเจน
จนเห็นชัดในใจว่า

กายนี้เต็มไปด้วยธาตุทั้ง ๔
หรือเป็น กลุ่มธาตุทั้ง ๔

แล้วกำหนดสิ่งที่มีลักษณะเป็นธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม
ในภายนอกที่มาสัมผัสเข้ากับกายนี้
หรือที่เราต้องกินดื่มใช้สอยอยู่ทุกวันนั้นว่า
เป็นแต่ธาตุทั้งสิ้น

ในขณะที่ระลึกถึงธาตุทั้ง ๔ นั้น
ความเข้าใจเรื่อง
“ข้าพเจ้า”
“ของข้าพเจ้า”
“ผู้ชาย”
“ผู้หญิง”
จะหมดไป
จิตจะตั้งมั่นในความคิดที่ว่ามีเฉพาะธาตุ ๔ เท่านั้น
ไม่มีความรู้สึกทางอายตนะ
ไม่มีความเป็นอยู่ที่แท้จริง

กายที่มีธาตุ ๔ เป็นอารมณ์
อารมณ์นี้เป็นอารมณ์ที่มีความคิด
เรื่องธรรมชาติของธาตุ ๔  
ตามที่ปรากฏเป็นจุดยึด

ในขณะเจริญภาวนาด้วยจิตที่พิจารณาธาตุทั้ง ๔
สมาธิย่อมเกิดขึ้น
แต่สมาธิจะไม่สูงเกินกว่าอุปจารสมาธิ
จิตที่มีสมาธิเช่นนี้ย่อมยึดธรรมชาติของธาตุชนิดต่างๆ
เป็นส่วนประกอบอันเดียวกัน
และหลังจากนั้นจะนำไปสู่ปัญญาอันสมบูรณ์

สำหรับผู้มีสติปัญญาไม่เฉียบแหลมในพระสูตรเหล่านี้
ท่านอธิบายธาตุแต่ละอย่างไว้ ๒ ลักษณะ
คือ ลักษณะภายใน และ ลักษณะภายนอก
ใน ๒ อย่างนี้
ธาตุ ๔ ของแต่ละบุคคลแบ่งออกเป็น ๔๒ ลักษณะ
คือ  
🥔ธาตุดินมี ๒๐ ได้แก่ส่วนของร่างกายที่แข็ง
เริ่มต้นด้วยผมบนศีรษะ และลงท้ายด้วยอุจจาระ
💧ธาตุนํ้ามี ๑๒ ได้แก่ ส่วนที่เหลว
เริ่มจากน้ำดี และลงท้ายด้วยนํ้าปัสสาวะ
🔥ธาตุไฟมี ๔ คือ
ความร้อนที่ทำให้ร่างกายอบอุ่น
ความร้อนที่เกิดจากความแก่
ความร้อนที่เกิดจากการเผาไหม้
และความร้อนจากการย่อย
🌪ธาตุลมมี ๖ ได้แก่
ลมพัดขึ้นเบื้องบน
ลมพัดลงเบื้องล่าง
ลมในท้อง
ลมในไส้
ลมที่ช่วยให้มีการเคลื่อนไหวของแขนขา
ลมหายใจเข้าและลมหายใจออก

ธาตุ ๔ อย่าง ของแต่ละบุคคล
เรียกว่า “มหาธาตุ”

จุดมุ่งหมายสำคัญของสมาธินี้ก็คือ
1)การทำจิตให้เป็นอิสระ
จากความสำคัญว่ามีตัวตนในแต่ละบุคคล
2)เพื่อเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง
ซึ่งธรรมชาติอันเป็นพื้นฐานของร่างกาย
โดยไม่คิดเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล
 



Create Date : 20 มกราคม 2564
Last Update : 20 มกราคม 2564 12:30:31 น.
Counter : 894 Pageviews.

2 comments
  
มหาราหุโลวาทสูตร กล่าวถึงธาตุ ๕ อย่าง
ธาตุที่ ๕ ได้แก่ อากาศ
ซึ่งมี ๒ ลักษณะ
คือเป็นของบุคคล และ ไม่ใช่ของบุคคล

คำว่าอากาศสำหรับบุคคล
ใช้กับอวัยวะที่มีช่องว่าง
เช่น ปาก รูจมูก หู เป็นต้น
ซึ่งเรียกว่า “อุปาทารูป”
ซึ่งสร้างขึ้นโดย
ส่วนประกอบของธาตุ ๔
อย่างอื่น
หรืออาศัยส่วนประกอบของธาตุ ๔ อย่างอื่น
ข้อนี้รวมถึงช่องว่างระหว่างส่วน ๒ ส่วนของร่างกายด้วย
ซึ่งเรียกว่า “ปริจเฉทรูป”
ได้แก่
ช่องว่างโดยรอบหรือส่วนแยกของรูป
ที่มองเห็นธาตุ ๔ หรือธาตุ ๕ เหล่านี้
ท่านให้ไว้เพื่อเป็นอารมณ์กรรมฐานประเภทหนึ่ง
ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับอรูปกรรมกรรมฐาน

ในธาตุวิภังคสูตร
ท่านกล่าวอธิบายธาตุไว้ ๖
ธาตุที่ ๖ เป็นวิญญาณธาตุ
ซึ่งท่านกำหนดให้เป็นอารมณ์กรรมฐานที่ว่าด้วยอรูปกรรมฐาน
โดย: สมาชิกหมายเลข 6217887 วันที่: 20 มกราคม 2564 เวลา:12:34:48 น.
  
พระสาวกควรหลีกเลี่ยงไปอยู่ ณ ที่
ที่เหมาะสมและที่วิเวก
และเจริญกรรมฐานข้อนี้เป็น ๔ แนว ดังนี้
๑ พิจารณา “ส่วนประกอบ”ของธาตุ ๔
โดยวิธีสงเคราะห์ (รวบรวม)
๒ พิจารณา “ส่วนประกอบ” ของธาตุ ๔
โดยวิธีวิเคราะห์ (แยกแยะ)
๓ พิจารณา “ลักษณะ” ของธาตุ ๔
โดยวิธีสงเคราะห์ (รวบรวม)
๔ พิจารณา “ลักษณะ”ของธาตุ ๔
โดยวิธีวิเคราะห์ (แยกแยะ)

เมื่อดำเนินการตามวิธีที่ ๑ ใน ๔ วิธีข้างบนนี้
ธรรมชาติที่เป็นพื้นฐานของร่างกายย่อมปรากฎขึ้น
และขจัดเสียซึ่งความคิดเรื่องตัวตน
ในขณะที่ส่งจิตไปจดจ่ออยู่กับธาตุ ๔ อย่าง
ในลักษณะไม่ขาดสาย
อุปจารฌานย่อมเกิดขึ้น

ถ้าอารมณ์กรรมฐานไม่ประจักษ์แจ้ง
พระสาวกควรพิจารณาธาตุทั้ง ๔ วิเคราะห์
และแบ่งส่วนประกอบของธาตุเหล่านั้น
เกี่ยวกับธาตุ ๒ อย่างแรก
ควรพิจารณาอาการ ๓๒ ในร่างกายตามที่กล่าวแล้ว
ในตอนที่ว่าด้วยกายคตาสติกรรมฐาน
กำหนดว่าแต่ละส่วนไม่มีวิญญาณ
และไม่มีบุคคลตัวตนที่แท้จริง
โดยทำนองเดียวกัน
ควรวิเคราะห์และพิจารณาส่วนประกอบของธาตุ ๒
อย่างที่เหลือว่าปราศจากวิญญาณ
และไม่มีความเป็นบุคคลตัวตนที่แท้จริง
เป็นเพียงธาตุที่ประกอบกันเป็นร่างกายเท่านั้น
ในขณะที่ตั้งจิตกำหนดเช่นนี้
ลักษณะของธาตุตามธรรมชาติย่อมปรากฎในตัวมันเอง
และจิตก็จะเข้าสู่อุปจารฌาน

::: อ่านเพิ่มเติม :::
//thaibuddhistmeditation.blogspot.com/2016/10/blog-post_83.html?m=1
โดย: สมาชิกหมายเลข 6217887 วันที่: 20 มกราคม 2564 เวลา:12:41:54 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สมาชิกหมายเลข 6217887
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed

 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



มกราคม 2564

 
 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
25
29
30
31
 
 
20 มกราคม 2564