ฉันเป็นดั่งนกไร้ขา บินไปบินมาไร้จุดหมาย โอกาสลงดินนั้นไซร้ ต่อเมื่อความตายมาเยือน
Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2553
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
25 พฤศจิกายน 2553
 
All Blogs
 
สู้เพื่อเธอ อองซานซูจี แด่วีรสตรีที่โลกจารึก - A Very short introduction to “Aung San Suu Kyi”

บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกที่เวบ POPpaganda


//www.poppaganda.net/lifestyle/606/


ผู้เขียนขอขอบคุณบก.ตี้สำหรับการเอื้อเฟื้อพื้นที่ให้กับบทความนี้ครับ

หากบทความนี้จะมีความดีอยู่บ้าง ผมขออุทิศมันให้กับประชาชนชาวพม่าที่เรียกร้องประชาธิปไตยทุกท่านครับ


*************

สู้เพื่อเธอ อองซานซูจี แด่วีรสตรีที่โลกจารึก

A Very short introduction to “Aung San Suu Kyi”


โดย ฟ้าดิน





“Please do not give up hope, there is no reason to lose heart.” (อองซานซูจี, 14 พฤศจิกายน 2010)


ข่าวที่ดังที่สุดและอยู่ในความสนใจของชาวโลกมากที่สุดในช่วงนี้ คงหนีไม่พ้นข่าวการปล่อยตัวนางอองซานซูจีหลังจากถูกกักบริเวณอยู่ในบ้านพัก มานานกว่า 20 ปี (โดยระหว่างนั้น เธอได้รับการปล่อยตัวออกมาเป็นพักๆ แต่ทหารก็มักจะหาเหตุผลในการกักบริเวณเธอใหม่ได้เรื่อยๆ) ซึ่งสร้างความปิติยินดีให้กับประชาชนชาวพม่าและคนนอกประเทศที่ฝันอยากเห็น ประชาธิปไตยเบ่งบานในพม่าเป็นอย่างมาก ที่คับข้องหมองใจต่อเหตุการณ์นี้จะมีก็แต่กลุ่มเผด็จการทหารพม่าเท่านั้น ซึ่งไม่ว่าจะผ่านไปนานเท่าไร ผู้หญิงตัวเล็กที่ไม่มีอาวุธคนนี้ก็ยังคงเป็นเสี้ยนหนามที่ไม่วันกำจัดออก ได้


คงไม่ผิดนักถ้าจะบอกว่า อองซานซูจี หรือที่ชาวพม่าต่างเรียกเธอว่า ดอว์ซู (ดอว์ ในภาษาพม่าแปลว่าพี่สาว เป็นศัพท์ที่ใช้ในเชิงเคารพยกย่อง) ผู้หญิงที่มักจะปรากฏตัวด้วยสีหน้าสงบ ใส่ผ้าซิ่น เสื้อแบบพม่า และมีดอกไม้ร้อยอยู่ในมวยผมอยู่ตลอดเวลานั้น เป็นนักโทษการเมืองที่โด่งดังและได้รับการเอาใจช่วยจากชาวโลกมากที่สุดในขณะ นี้ เธอเคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อปี 1991 ซึ่งรางวัลนี้ทำให้เธอโด่งดังไปทั่วโลกและส่งผลให้การเรียกร้องประชาธิปไตย ของชาวพม่ากลายเป็นที่สนใจของชาวโลกเป็นอย่างมาก มีนักวิชาการหลายท่านเคยวิเคราะห์ว่า หากไม่มีซูจีแล้ว ชะตากรรมของชาวพม่าคงไม่ถูกสปอตไลท์ฉายหรือไม่ได้รับการเหลียวแลจากสายตาชาว โลกมากเท่านี้ โดยปัจจุบันนี้ อองซานซูจี ได้เป็นกลายเป็นสัญลักษณ์ของนักสู้ทางการเมืองสมัยใหม่ที่โด่งดังไม่แพ้ มหาตมะ คานธี, เช เกวาร่า หรือเนลสัน แมนเดล่าเลย แต่ความโด่งดังของเธอนั้นก็เหมือนเป็นดาบสองคม นั่นคือ ทำให้คนมากมายมองเธอเป็นเหมือนสัญลักษณ์แบบลอยๆ แต่กลับไม่เคยรู้ถึงเรื่องราวชีวิตหรือการต่อสู้ของเธออย่างลึกซึ้ง (ซึ่งการเข้าใจไม่ถ่องแท้นั้นอาจก่อให้เกิดเป็นความลักลั่นได้ ยกตัวอย่างเช่น คนบางกลุ่มยกย่องเช เกวาร่าหรือจิตร ภูมิศักดิ์เป็นวีรบุรุษในดวงใจ แต่กลับมีความเกลียดกลัวขยะแขยงแนวคิดคอมมิวนิสต์ที่ทั้งสองท่านนั้นสังกัด อยู่จนขึ้นสมอง เป็นต้น)


บทความนี้จึงถูกเขียนขึ้นมาในลักษณะของ A Very short introduction เพื่อแนะนำให้ท่านผู้อ่าน POPpaganda ได้รู้จักกับอองซานซูจีและการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในพม่าของเธอมากขึ้น เพื่อที่จะได้ทราบว่า เหตุใดผู้หญิงตัวเล็กๆ คนนี้ถึงดูยิ่งใหญ่ในสายตาบุคคลทั่วไป ดูน่ากลัวในสายตาทหารพม่าที่ถึงแม้จะมีอาวุธครบมือก็ยังทำอะไรเธอไม่ได้ และได้รับการคารวะจากคนทั่วโลกมากถึงขนาดนี้

ก่อนที่จะพูดถึงอองซานซูจี ต้องขออนุญาตอธิบายถึงสถานะของประเทศพม่าในปัจจุบันคร่าวๆ ก่อน ซึ่งคิดไปคิดมาก็น่าประหลาดใจเมื่อเทียบว่า เรารู้ว่าแฟชั่นปารีสหน้าร้อนปีหน้าเป็นอย่างไร หรือรู้ถึงประวัติศาสตร์ราชวงศ์เกาหลีใต้จนแทบจะหลับตาท่องได้ แต่เรากลับรู้เรื่องราวของประเทศเพื่อนบ้านเราน้อยเหลือเกิน ถ้าไม่เชื่อลองถามคนรอบข้างท่านดูว่าประธานาธิบดีของลาวชื่ออะไร หรือหนังทำเงินอันดับหนึ่งตลอดกาลของมาเลเซียคือเรื่องอะไร ใครที่สามารถตอบได้โดยไม่ใช้ google คงต้องเชิญมารับของรางวัลเป็นถ้วยรางวัลและเสื้อสามารถจากมือบก.ตี้กันเลยที เดียว


แต่ก็ไม่น่าแปลกใจที่พวกเราจะรู้จักพม่าในปีพศ.นี้น้อยมาก ก็ในเมื่อแบบเรียนวิชาประวัติศาสตร์ของเด็กไทยหรือหนังประวัติศาสตร์ยุคใหม่ ของไทยยังพูดถึงพม่าในเชิงไทยรบพม่า อยุธยาเสียกรุง พม่ามาขโมยทองกันอยู่เลย (เมื่อเร็วๆ นี้ก็มีพระชื่อดังท่านหนึ่งเคยหลุดวาจาออกมาว่า ที่พม่าต้องเจอกับโศกนาฏกรรมพายุนากีสเกิดจากผลกรรมที่ทำกับกรุงศรีอยุธยา เอาไว้!) ทั้งๆที่ทุกวันนี้กงล้อประวัติศาสตร์มันหมุนไปเป็นล้านๆ รอบแล้ว อันที่จริงถ้าเราละทิ้งแนวคิดแบบชาตินิยมลงเสียบ้าง เราก็จะเห็นถึงชะตากรรมที่น่าเศร้าของเพื่อนบ้านเราประเทศนี้





ย้อนหลังกลับไปในอดีต ตอนที่พม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษในวันที่ 4 มค. 1948 พม่าเคยเป็นประเทศที่เจริญเป็นอันดับต้นๆ ของภูมิภาคนี้ เนื่องมาจากรากฐานการศึกษาที่อังกฤษวางไว้ให้ พม่ามีมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพ ประชาชนเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษ บวกกับทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ทำให้หนทางของพม่าดูช่างสดใส แต่เส้นทางสู่ความรุ่งโรจน์นั้นก็จบลงด้วยเหตุการณ์การรัฐประหารของนายพลเน วินเมื่อปี 1962 ด้วยเหตุผลเรื่องต้องการรักษาความสงบในบ้านเมือง และต้องการปราบชนกลุ่มน้อยซึ่งก่อความวุ่นวายเพื่อต้องการแยกตัวเป็นอิสระ โดยกลุ่มผู้ก่อการรัฐประหารได้ให้สัญญาว่า จะคืนอำนาจให้ประชาชนโดยเร็ว แต่เวลาผ่านไป 40 กว่าปี ประชาชนพม่าก็ยังไม่ตื่นจากฝันร้ายคราวนั้น ทหารยังคงเป็นกลุ่มคนที่ยึดครองอำนาจสูงสุดในประเทศ ด้วยการปกครองแบบเผด็จการและไร้ประสิทธิภาพ ประเภทที่ว่าอยากทำอะไรก็ทำ อยากเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นเมียนมาร์หรือเมืองหลวงจากย่างกุ้งเป็นเนปิดอร์ก็ ทำแบบดื้อๆ (ซึ่งทั้งหมดนี้ มีหลายคนเชื่อว่า สาเหตุเกิดจากผู้นำประเทศเชื่อหมอดู!) ทำให้พม่ากลายเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดและประชาชนถูกละเมิดสิทธิมาก ที่สุดในช่วงเวลาเพียงแค่ 1 ชั่วอายุคน ทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ในประเทศถูกแปลงให้เป็นเงินเข้ากระเป๋า บริษัทข้ามชาติที่ได้รับสัมประทาน และผลกำไรนั้นก็ถูกส่งเข้ากระเป๋าของทหารและเครือข่ายเผด็จการไม่กี่คนอีก ต่อหนึ่ง


พม่าเป็นประเทศที่ถูก ปกครองด้วยระบบเผด็จการทหารที่ยังเหลืออยู่เพียงไม่กี่ประเทศ ซึ่งก็เป็นเหมือนประเทศเผด็จการทั่วไป นั่นคือ ชอบอ้างว่าประเทศตัวเองเป็นประชาธิปไตย โดยอ้างเหตุผลว่า เป็นระบอบประชาธิปไตยแบบพม่าที่ต่างชาติไม่มีวันเข้าใจ (เป็นเหตุผลที่หลายประเทศใช้กันเกร่อจริงๆ) และแม้จะมีหลายเสียงเรียกร้องให้นานาชาติบอยคอทพม่า แต่การบอยคอทนั้นทำได้มากที่สุดก็แค่ด่าให้พอหอมปากหอมคอ สร้างภาพว่าตัวเองดูเป็นคนดีจากนั้นก็เข้าไปติดต่อธุรกิจกับทหารพม่าต่อ เนื่องจากทรัพยากรในพม่าเป็นผลประโยชน์มหาศาลจนไม่สามารถหมางเมินได้ อีกทั้งพม่ายังมีจีนคอยหนุนหลัง จึงไม่น่าแปลกใจที่พม่าจะยังสามารถเข้ามาเป็นสมาชิกอาเซียนได้ บวกกับการที่ชาวพม่าส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธที่เชื่อเรื่องผลกรรม เชื่อว่าความเลวร้ายในชีวิตที่พวกเขาต้องประสบไม่ได้เกิดจากสภาพสังคมที่เอา เปรียบแต่เกิดจากผลกรรมที่เคยทำไว้ (เหมือนถูกปลูกฝังให้เชื่อว่า จงอย่าไปประท้วงในสิ่งตัวเองพึงได้ แต่จงอยู่อย่างสงบๆ และพอใจในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่แบบนิ่งๆ ต่อไป-เอ๊ะ คุ้นๆ อีกแล้ว) ด้วยเหตุนี้ทหารพม่าจึงยังคงยึดอำนาจได้แบบชิลๆ ชิมิชิมิอยู่จนถึงทุกวันนี้


ท่ามกลางความพลิกผันของการเมืองพม่า อองซานซูจีได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี 1945 เธอเป็นบุตรสาวของนายพลอองซาน วีรบุรุษผู้มีส่วนร่วมในการทำให้พม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษ แต่เธอกลับไม่เคยได้เห็นหน้าพ่อของเธอเนื่องจากนายพลอองซานถูกลอบสังหาร เมื่อเธออายุได้เพียง2 ขวบ ต่อมาแม่ของเธอได้รับการแต่งตั้งให้เป็นทูตพม่าประจำประเทศอินเดีย เธอจึงย้ายตามแม่ของเธอไปศึกษาต่อที่อินเดียและย้ายไปศึกษาต่อระดับ มหาวิทยาลัยต่อที่ประเทศอังกฤษ ที่นั่นเธอได้พบรักกับไมเคิล อาริสซึ่งเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน ทั้งคู่ได้แต่งงานกันและมีบุตรด้วยกัน 2 คน (ซึ่งการแต่งงานกับชาวต่างชาติ -และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับชาวอังกฤษซึ่งเคยปกครองพม่ามาก่อน- กลายเป็นประเด็นสกปรกที่กลุ่มศัตรูของนางอองซานนำมาโจมตีเธอมาจนถึงปัจจุบัน นี้)

ชีวิตที่เรียบง่ายของเธอมีอันต้องพลิกผัน ในเดือนมีนาคม 1988 เมื่อเธอเดินทางกลับมาพม่าอีกครั้งหลังจากไปหลายปีเพื่อกลับมาดูแลแม่ของเธอ ที่ป่วยหนักด้วยโรคหัวใจ ซึ่งในขณะนั้นสถานการณ์ในพม่ากำลังตึงเครียด เกิดภาวะเงินเฟ้อ ประชาชนยากจน เกิดกระแสความไม่พอใจรัฐบาลเผด็จการมากขึ้น ทำให้ประชาชนชาวพม่าเดินทางมาหาเธอมากมายเพื่อมาปรับทุกข์ด้วยเห็นว่าเธอ เป็นบุตรสาวของนายพลอองซาน อดีตวีรบุรุษของชาวพม่า เหตุการณ์ในพม่ารุนแรงถึงขีดสุดเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม1988 ซึ่งเป็นที่เรียกกันในภายหลังว่าเหตุการณ์ “8888” เกิดเหตุทหารสังหารโหดนักศึกษาและประชาชนที่ออกมาชุมนุมทวงคืนประชาธิปไตย จากรัฐบาลทหารที่ปกครองประเทศมากว่า 26 ปี จนทำให้มีประชาชนล้มตายไปหลายพันคน ในเวลาเพียงแค่ 4 วัน โดยเธอได้ตอบโต้เหตุการณ์นั้นด้วยการปราศรัยประนามรัฐบาลทหารและเรียกร้อง ให้เกิดประชาธิปไตยขึ้นในพม่า ซึ่งการปราศรัยครั้งนั้นมีผู้สนใจเข้ามาฟังเธออย่างล้นหลามถึง 5 แสนคน ต่อมาซูจีได้มีส่วนร่วมในการตั้งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD (National League for Democracy) และเริ่มปราศรัยโจมตีรัฐบาลทหารพม่า และนั่นเป็นเหตุผลที่ทหารพม่าใช้เป็นข้ออ้างในการใช้อำนาจพรก.ฉุกเฉินกัก บริเวณเธอไว้ในบ้านของเธอเอง ซึ่งถึงแม้ว่าเธอและสมาชิกพรรคของเธอจะไม่ได้รับอนุญาตให้ออกไปหาเสียงเลย แต่ก็ไม่มีอะไรขัดขวางความต้องการของมหาชนได้ เมื่อผลการเลือกตั้งในปี 2533 ออกมาว่า พรรค NLD ของเธอได้รับคะแนนเสียงอย่างท้วมท้น ถึง 80 กว่าเปอร์เซ็นต์ ถือเป็นการตอกหน้ารัฐบาลทหารที่คิดว่าตัวเองเป็นเสียงของประชาชนอย่างรุนแรง


แต่การที่เธอได้คะแนนเสียงจากประชาชนอย่างท่วมท้น ก็ไม่ได้หมายความว่าเธอจะสามารถปกครองประเทศได้ เมื่อรัฐบาลทหารพม่าที่มองว่าการเลือกตั้งตัดสินอะไรไม่ได้ ได้ตัดสินใจล้มกระดานการเลือกตั้งนั้น แถมยังมีการจับกุมกวาดล้างสส.ที่ได้รับการเลือกตั้ง และสมาชิกพรรค NLD ไปอีก บรรยากาศความเป็นเผด็จการในตอนนั้นเข้มข้นถึงขั้นว่า รัฐสั่งห้ามไม่ให้ประชาชนพูดถึงชัยชนะของพรรค NLD หรือแม้กระทั่งชื่ออองซานซูจี ไม่งั้นอาจถูกจับไปขังในคุกอินเส่ง คุกที่มีสภาพเลวร้ายที่สุดแห่งหนึ่งของโลกได้


ตัวอองซานซูจีถูกกักบริเวณให้อยู่แต่ในบ้านพัก ไม่สามารถออกไปจากบ้านของเธอได้ ด้วยเหตุนี้ทำให้เธอไม่สามารถไปรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพของเธอเธอได้ ลูกชายทั้งสองของเธอจึงต้องเป็นคนไปรับแทน ระหว่างการถูกกักบริเวณนั้น เธอไม่เคยเขียนจดหมายถึงครอบครัวด้วยกลัวว่าทหารพม่าจะใช้เป็นข้ออ้างได้ว่า พวกเขาได้ให้อภิสิทธิ์พิเศษกับเธอ แล้ว อีกทั้งเธอยังไม่เคยรับเงินจากทหารพม่าแม้แต่สักจ๊าด (สกุลเงินพม่า) เดียว โดยเธอหาเงินมาซื้ออาหารและของใช้จำเป็นจากการนำเอาข้าวของเครื่องใช้ในบ้าน ของเธอไปขาย หลายครั้งที่เธอต้องอดอาหารจนร่างกายอ่อนแอ หลายครั้งที่เธอทหารพม่าข่มเหงทางจิตใจ แต่เธอก็ตอบโต้ด้วยความสงบและอหิงสาเรื่อยมา


อย่าว่าแต่ให้อดอาหารหรือถูกคุกคามเลย ลองให้อยู่แต่ในบ้านบ้านห้ามออกไปไหนเลยเป็นเวลา 15 ปี ไม่ได้ออกไปพบปะผู้คนหรือเดินเที่ยว ท่านผู้อ่านก็คงพอจินตนาการออกว่ามันเป็นความทรมานแสนสาหัสแค่ไหน


บททดสอบครั้งสำคัญในชีวิตเริ่มขึ้น เมื่อดร.ไมเคิล อาริสสามีของเธอป่วยเป็นโรงมะเร็งต่อมลูกหมากระยะสุดท้าย เขาพยายามติดต่อสถานฑูตพม่าประจำประเทศไทยเพื่อขอวีซ่าเข้าประเทศพม่า เพื่อที่จะได้พบหน้าภรรยาของเขาแต่ครั้งสุดท้าย แต่รัฐบาลทหารพม่าก็ใช้เรื่องนี้เป็นข้อต่อรองด้วยการไม่ออกวีซ่าให้เขาแต่ ให้คำแนะนำกลับไปว่า อองซานซูจีควรจะเป็นฝ่ายไปเยี่ยมเขาเอง ซึ่งแน่นอนว่าหากเธอออกไป เธออาจไม่ได้กลับมาเหยียบแผ่นดินพม่าอีก เธอจึงปฏิเสธที่จะออกไปพบเขาที่ประเทศไทย ในที่สุดดร.ไมเคิลก็เสียชีวิตลงในเวลาต่อมาไม่นาน ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นอีกประเด็นที่นำมาโจมตีเธอในเวลาต่อมาว่า เธอไม่เห็นแก่ครอบครัว

ผู้ใกล้ชิดเธอมักจะบอกตรงกันว่า เธอมักจะเงียบหรือเปลี่ยนเรื่องพูดเวลามีใครถามถึงครอบครัวของเธอ และเวลาที่เธอปราศรัยหรือให้สัมภาษณ์ เรื่องราวหลักที่ออกมาจากปากเธอก็มักจะเป็นเรื่องการเมืองหรือประชาชน มากกว่าเรื่องส่วนตัว มีไม่กี่ครั้งที่เธอพูดถึงครอบครัวของเธอ อย่างเช่น ตอนที่เธอพูดถึงสามีที่เพิ่งจากไปว่า เธอโชคดีแค่ไหนที่ได้รู้จักเขาและมีเขาเป็นคู่ชีวิต





แต่ก็ใช่ว่า แนวทางของอองซานซูจีจะได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่าย มีบางคนมองว่าเธอสมควรเคลื่อนไหวที่ต่างประเทศ (แต่เธอยืนยันว่าเธอจะประท้วงร่วมกับชาวพม่าในประเทศตัวเองเท่านั้น) อีกทั้งมีคนมองว่าการใช้วิธีสงบสันติอหิงสากับทหารพม่านั้นเหมือนเป็นการ กระทำที่สูญเปล่าเนื่องจากทหารพม่าโหดเหี้ยมและไม่แคร์สายตาชาวโลก อีกทั้งมีคนมองว่าต่อให้เธอได้เป็นผู้นำประเทศจริงก็ใช่ว่าจะปกครองประเทศ หรือแก้ไขปัญหาชนกลุ่มน้อยได้ แต่ถึงยังงั้นก็มีหลายฝ่ายมองว่า แม้การต่อสู้ของเธอจะไม่สำเร็จแต่มันก็อาจเป็นกุญแจที่นำไปสู่ความเปลี่ยน แปลงของพม่าในอนาคตก็ได้


เวลา ผ่านไป 20 ปีนับจากที่เธอถูกกักตัวครั้งแรก คนพม่าได้พบกับความพลิกผันทางการเมืองหลายครั้ง ทั้งเหตุการณ์ “ปฏิวัติชายจีวร” ที่ทหารใช้อาวุธปืนปราบปรามประชาชนและพระสงค์ผู้เข้าร่วมประท้วงเมื่อปลายปี 2007 และเหตุการณ์พายุนากีสถล่มแต่ประชาชนกลับไม่ได้การช่วยเหลือจากรัฐบาล เป็นต้น แต่ถึงกระนั้นอำนาจของรัฐบาลทหารพม่าก็ยังอยู่ทนทานต่อไป อาจเปลี่ยนแค่ตัวผู้นำ แต่ระบบเผด็จการยังคงอยู่เหมือนเดิม ดังนั้นการที่ซูจีถูกปล่อยตัวให้เป็นอิสระในครั้งนี้ จึงไม่อาจเรียกได้ว่า happy ending แต่สมควรเรียกว่าเป็น happy beginning มากกว่า เพราะยังมีปัญหามากมายในพม่าที่ต้องแก้ไขและระบบมากมายที่ต้องสะสาง ถึงแม้ประชาธิปไตยในพม่าจะดูเป็นฝันที่เลื่อนลอยและดูห่างไกล แต่ถ้าหากเราเชื่อในบทกวีที่ว่า “ไม่มีอำนาจใดในโลกหล้า ผู้ปกครองต่างมาแล้วสาบสูญ ไม่มีใครล้ำเลิศน่าเทิดทูน ประชาชนสมบูรณ์นิรันดร์ไป เมื่อยืนหยัดต่อสู้ผู้กดขี่ ประชาชนย่อมมีชีวิตใหม่ เมื่อท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” แล้ว ก็คงไม่ใช่เรื่องฝันเฟื่องที่เราจะยังฝันเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในพม่า ก็ขนาดระบบสตาลินในรัสเซียหรือซูฮาร์โต้ในอินโดนีเซียที่ว่าเข้มแข็งจนน่า กลัวยังเคยล้มมาแล้ว ดังนั้นน่าจะอุ่นใจได้ระดับหนึ่งว่าอย่างน้อยอำนาจของรัฐบาลทหารพม่าคงไม่มี ทางอยู่ได้จวบชั่วฟ้าดินสลายแน่นอน


หมายเหตุ 1 -ข้อมูลเกี่ยวกับพม่าบางส่วน ผู้เขียนนำมาจาก นิตยสารสารคดี นิตยสารฅ.คน วารสารฟ้าเดียวกัน และหนังสือของคุณวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

หมายเหตุ 2 -ท่านสามารถชมภาพยนตร์เรื่อง Burma VJ สารคดีที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาสารคดียอดเยี่ยม ซึ่งว่าด้วยเหตุการณ์ปฏิวัติชายจีวรและเหตุการณ์วุ่นวายในพม่าได้จากเวบ https://www.youtube.com/watch?v=t6DfCLqLVU










Create Date : 25 พฤศจิกายน 2553
Last Update : 25 พฤศจิกายน 2553 5:32:32 น. 3 comments
Counter : 3848 Pageviews.

 
อ่านได้แล้วความรุ้มากมาย ไม่น่าเชื่อเลยว่าผู้หญิงคนหนึ่งจะทำให้ประเทศได้ถึงเพียงนี้ ขอชื่นชมและนับถือครับ


โดย: Khunshine วันที่: 25 พฤศจิกายน 2553 เวลา:7:37:12 น.  

 
ถ้ามองมุมให้ลึกทำไมอเมริกานั้นวุ่นวายจะเป็นจะตายให้ได้กับเรื่องพม่า หรือเรื่องของตะวันออกกลาง ทรัพยากรนั้นแหละคือคำตอบ พม่ามีมากมายเหลือเฟือ น้ำมันก๊าซขนาดที่ว่าต่อท่อขายให้ไทยเราเป็นกอบเป็นกำเกือบครึ่งที่ใช้ในบ้านเราก็ของพม่าเขานี่แหละ ยังไม่รวมป่าไม้ เหมืองทองคำ ทองแดงเพรชพลอย อีกมากมาย พม่าน่าจะเป็น1-3 ของประเทศในโลกปัจจุบันที่ระบบนิเวศน์อะไรต่างๆยังสมบูรณ์ที่สุดประเทศหนึ่งของโลกทำไม่ ทีติมอร์เกิดปัญหาในประเทศไม่เห็นไอ้กันมันเป็นเดือดเป็นแค้นอะไร ปล่อยให้คนอื่นๆๆดูแลกันไปไอ้กันมีข้อคิดอย่างหนึ่งอเมริกา คนอเมริกาสำคัญที่สุดอย่างอื่นค่อยว่ากัน ทุกประเทศเขามีปัญหากันไปไม่ว่าไทยเราหรือเพื่อนบ้าน ถ้าปล่อยเขาดูแลแก้ปัญหากันไปมันก็ไม่ได้เป็นเรื่องแปลกกันไป ไอ้มีที่3นี่แหละตัวปัญหา เราได้รับบทเรียนจากสงครามอินดดจีนมาแล้วไอ้กันมันอยู่ตั้งครึ่งค่อนโลกบ้านก้ไม่ได้ใกล้เราซะหน่อยแล้วมายุ่งอะไรกันเล่า ปัญหาสงครามความวุ่นวายทุกวันนี้ไอ้กันมีส่วนทำให้เกิดทุกสงครามนั้นแหละ


โดย: mini IP: 124.120.48.99 วันที่: 25 พฤศจิกายน 2553 เวลา:10:27:12 น.  

 
ขอบคุณนะคะ สำหรับความรู้ดีๆ แบบนี้


โดย: Issy IP: 183.89.60.254 วันที่: 25 กรกฎาคม 2555 เวลา:13:17:16 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ฟ้าดิน
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]




ความจำสั้น ความฝันยาว.....
Friends' blogs
[Add ฟ้าดิน's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.