ฉันเป็นดั่งนกไร้ขา บินไปบินมาไร้จุดหมาย โอกาสลงดินนั้นไซร้ ต่อเมื่อความตายมาเยือน
Group Blog
 
<<
กันยายน 2553
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
24 กันยายน 2553
 
All Blogs
 

+-+-+-+-+-+แนะนำให้ดู - ชั่วฟ้าดินสลาย: กัลปาวสานอาจนานเกินไป+-+-+-+-+-+-+

แนะนำให้ดู
ชั่วฟ้าดินสลาย: กัลปาวสานอาจนานเกินไป

โดย ฟ้าดิน

เผยแพร่ครั้งแรก ที่ //www.poppaganda.net/entertainment/493/

ขอขอบคุณ บก.ตี้ ผู้เอื้อเฟื้อพื้นที่ให้บทความนี้ ในเวบไซต์ poppaganda
และเพื่อนๆ ใน facebook สำหรับการจุดประเด็นบางอย่าง
ชื่อบทความนำมาจาก หนังสือของคุณทรงกลด บางยี่ขัน

***********************************************



ไม่รู้ว่าตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงวิกฤตของหนังไทยหรือเปล่า ถึงทำให้หนังไทยเกือบทุกเรื่องทำรายได้น้อยกว่าที่คิด มีที่ไปถึงดวงดาวแค่เรื่องสองเรื่อง หนังไทยบางเรื่องฉายโรงได้ 3 วันก็ถูกลดรอบให้เหลือแค่รอบสองรอบซะแล้ว ยิ่งหนังทำเงินน้อยก็ยิ่งทำให้นายทุนต้องรัดเข็มขัด ลดทุนสร้างของหนังลง ผลที่ตามมาก็คือ ทุนสร้างที่น้อยลงนั้นยิ่งทำให้คุณภาพของหนังแย่ลงตามไปด้วย สุดท้ายคนดูก็จะยิ่งหมางเมินหนังไทย จนทำให้รายได้ลดลงยิ่งขึ้นกว่าเดิมอีก สืบเนื่องกันเป็นงูกินหางกินกลางตลอดตัวอยู่อย่างนี้ไม่มีที่จบสิ้น

ด้วยความที่หนังไทยถูกลดทุนสร้าง จึงทำให้เป็นเรื่องยากที่จะเห็นหนังไทยโปรดักชั่นดีๆ งานสร้างอลังการในยุคนี้ (หนังไทยที่มีงานสร้างอลังการในช่วงนี้ เรื่องที่ผมคิดออกมีอยู่เรื่องเดียวคือ องค์บาก3) เพราะความอลังการก็ใช่ว่าจะช่วยการันตีเรื่องรายได้ได้เสมอไป สู้ลดงบทุนสร้าง ทำโปรดักชั่นไม่แพงมาก เอาเงินไปจ้างดาราตลกชื่อดังมาเล่น หรือทำหนังเอาใจคนดูให้ถึงขีดสุด ยังจะช่วยการันตีความสำเร็จทางรายได้ได้มากกว่าเสียอีก ด้วยสถานการณ์แบบนี้ การที่เราจะได้เห็นหนังไทยย้อนยุคอลังการทุนสร้างสูง แบบที่ไม่มีเนื้อหาปลุกใจรักชาติหรือไม่มีฉากแอ็คชั่นเอาใจคนดูเพื่อเรียกแขกคงเป็นเรื่องยากสักหน่อย
แต่ท่ามกลางความซ้ำซากจำเจของวงการหนังไทย ยุคที่หนัง Feel good หนังตลกคลายเครียดและหนังผีแบบร้อยเนื้อทำนองเดียวครองตลาดอย่างในยุคนี้ กลับมีหนังย้อนยุคลงทุนสูง มีความละเมียดละไมในการสร้าง แถมเนื้อหาในเรื่องยังเป็นแนวดราม่าหนักๆ แบบ Feel bad ซึ่งสะท้อนถึงความหดหู่ในธรรมชาติของมนุษย์ ลงโรงฉาย ซึ่งนี่คงไม่ใช่หนังไทยในแนวที่จะได้ดูกันบ่อยๆ ผมจึงใคร่ขอแนะนำให้ทุกท่านลองหาโอกาสไปรับชมกันดู ก่อนที่จะถูกหนังเรื่องอื่นเบียดโรงฉายไป (เนื่องจากตอนที่ผมไปดู มีคนในโรงน้อยมากจนน่าใจหาย) เพราะว่าหากหนังเรื่องนี้ประสบความสำเร็จ อย่างน้อยก็น่าจะทำให้นายทุนกล้าที่จะเปิดไฟเขียวให้กับหนังแปลกๆ หรือหนังที่มีลักษณะแตกต่างจากท้องตลาดเรื่องอื่นบ้าง

ใช่ครับ หนังเรื่องที่ผมกำลังจะพูดถึงต่อไปนี้คือ หนังเรื่อง “ชั่วฟ้าดินสลาย” นั่นเอง

ชั่วฟ้าดินสลาย เป็นเรื่องราวของ “พะโป้” (ธีรพงศ์ เหลียวรักวงศ์) คหบดีชาวพม่าผู้ปกครองปางไม้ทางเหนืออันใหญ่โตราวกับอาณาจักรประหนึ่งเจ้าชีวิต ตอนที่เขามางานเลี้ยงในเมืองบางกอก เขาได้พบกับ”ยุพดี” (เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์) เลขาสาวแม่หม้ายวัย 20 กว่าผู้มีความคิดความอ่านก้าวหน้ากว่าหญิงสาวทั่วไป เธอกับเขาตกลงใจที่จะแต่งงานกันอย่างรวดเร็วแม้ว่าอายุของทั้งคู่จะแตกต่างกันราวพ่อกับลูก เธอย้ายมาอยู่กับเขาที่ปางไม้ ที่นี่เธอได้พบกับ ”ส่างหม่อง” (อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม) หลานของพะโป้ซึ่งเพิ่งเรียนจบมาจากมหาวิทยาลัยที่พม่า พะโป้ปล่อยให้ส่างหม่องอยู่กับยุพดีสองต่อสองด้วยความไว้ใจ ด้วยแรงปรารถนาทำให้ยุพดีและส่างหม่องได้มีความสัมพันธ์กันแบบลับๆ จนสุดท้ายเรื่องราวทั้งหมดก็จบลงด้วยโศกนาฏกรรมและคำว่าชั่วฟ้าดินสลายที่ท่านได้ฟังจะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป

ชั่วฟ้าดินสลายเป็นผลงานการกำกับของมล.พันธุ์เทวนพ เทวกุลหรือหม่อมน้อยซึ่งคนรุ่นใหม่หลายคนอาจคุ้นชื่อเขาในฐานะผู้กำกับละครและผู้ฝึกสอนการแสดงชื่อดัง แต่ถ้าเป็นคนรุ่นเก่าๆ อาจจำได้ว่าในอดีตเขาคือผู้สร้างหนังซึ่งเป็นที่น่าจดจำมากมาย อาทิเช่น ช่างมันฉันไม่แคร์, ฉันผู้ชายนะยะ, เพลิงพิศวาส, มหัศจรรย์แห่งรัก และอันดากับฟ้าใสซึ่งเป็นหนังเรื่องสุดท้ายของเขาเมื่อ 13 ปีที่แล้ว (หนังเรื่องนี้มีพระเอกชื่อว่า อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม) จึงเป็นที่น่าติดตามว่าหลังจากหายจากจอเงินไป 13 ปี เขาจะกลับมาคืนฟอร์มเดิมเหมือนในสมัยก่อนได้หรือไม่



เนื้อเรื่องของหนังเรื่องนี้ดัดแปลงมาจาก นวนิยายขนาดสั้นเรื่องคลาสสิคของ “เรียมเอง” ซึ่งเป็นนามปากกาของ ”มาลัย ชูพินิจ” หนึ่งในนักเขียนกลุ่มสุภาพบุรุษซึ่งมีโดยกุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา) เป็นผู้นำ บทประพันธ์นี้ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2486 ก่อนจะมาถึงฉบับปัจจุบัน บทประพันธ์นี้เคยถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์มาแล้ว 3 ครั้ง ฉบับแรกในปี 2496 ซึ่งมี’รงค์ วงษ์สวรรค์นักเขียนชื่อดังร่วมแสดงอยู่ด้วยแต่เนื่องจากความผิดพลาดในการล้างฟิล์มทำให้ฟิล์มหนังเสียหายจนไม่สามารถออกฉายได้, ฉบับที่สองในปี 2498 ผลงานการสร้างของรัตน์ เปสตันยีซึ่งเป็นฉบับที่ได้รับการยกย่องที่สุด (ท่านสามารถหาซื้อ DVD ฉบับนี้ได้จากมูลนิธิหนังไทย ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก //www.thaifilm.com) และฉบับที่ 3 ในปี 2523 กำกับโดยชาลี อินทรวิจิตร สาเหตุที่บทประพันธ์เรื่องนี้ได้รับความนิยมและถูกจดจำมาถึงทุกวันนี้ไม่ใช่เรื่องที่เกินความคาดหมาย เหตุเพราะความน่าติดตามของเนื้อเรื่องและประเด็นเรื่องกิเลสตัณหาและความโหดร้ายของจิตใจมนุษย์ซึ่งไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปีก็ไม่มีวันเชย

หากจะถามผมตรงๆ ว่า รู้สึกยังไงกับหนัง ชั่วฟ้าดินสลาย ฉบับนี้ ผมคงไม่สามารถตอบได้แบบตรงๆ ไม่ใช่เป็นเพราะเล่นตัว แต่เป็นเพราะมีองค์ประกอบหลายอย่างในหนังเรื่องนี้ที่ผมชอบมาก แต่ก็มีอีกหลายอย่างที่ผมไม่ชอบเช่นกัน จนพูดคำว่ารักได้ไม่เต็มปาก ไม่สามารถชี้ชัดไปตรงๆ ได้ว่าชอบหรือไม่ชอบ แต่ถึงกระนั้นหนังเรื่องนี้ก็มีหลายอย่างที่น่าสนใจ จนสามารถพูดได้อย่างชัดเจนเลยว่าเป็นหนังที่สมควรไปดู

หนังมีองค์ประกอบที่ดีมาก อาทิเช่น งานสร้าง ประเด็นในเรื่อง (ซึ่งสิ่งนี้ต้องขอบคุณบทประพันธ์ที่ยอดเยี่ยมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว) การถ่ายภาพ ฉาก ดนตรีประกอบ การควบคุมโทนสีในเรื่อง รวมไปถึงการแสดง แต่ถึงแม้จะมีองค์ประกอบที่ดีเยี่ยมขนาดนี้แต่หนังเรื่องนี้ก็ยังไม่ดีมากพอที่จะก้าวไปสู่ความเป็นหนังคลาสสิค เนื่องจากติดด้วยเหตุผลหลายอย่าง อาทิเช่น ความแปร่งและลักลั่นของหนังหลายอย่าง อาทิเช่น บทพูดของหนังที่ถึงแม้จะนำมาจากหนังสือโดยตรงแต่ก็ให้ความรู้สึกไม่เป็นธรรมชาติ และไม่เข้ากับปากตัวละคร ซึ่งสิ่งนี้เคยเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับหนังเรื่อง “ข้างหลังภาพ” ของเชิด ทรงศรีมาแล้ว (อาจเป็นเพราะสังคมปัจจุบันที่เปลี่ยนไปจากเมื่อ 60 ปีก่อน จนทำให้สิ่งที่เคยเป็นปกติในตอนนั้นกลับกลายเป็นสิ่งที่ดูฝืนธรรมชาติในตอนนี้ไปแล้ว) หรือหนังสือของนางเอกทั้ง 2 เล่มอย่างปรัชญาชีวิตและบ้านตุ๊กตาในหนังที่ถูกเน้นย้ำจนเกินเหตุแถมชอบโผล่มาในหนังแบบผิดจังหวะจนทำให้คนดูเหวอ ยังไม่รวมองค์ประกอบที่ชวนให้สะดุดอีกหลายอย่าง อาทิเช่น ดอกกล้วยไม้บ้านที่งอกอยู่ในป่า เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ทำให้คาดว่า สุดท้ายหนังเรื่องนี้น่าจะได้รับการชิงรางวัลทางด้านเทคนิคหลายสาขาแต่ถ้าจะไปให้ถึงขั้นหนังยอดเยี่ยมนั้นคงยาก

ในหนังมีประเด็นมากมายที่น่าพูดถึง เนื่องจากถ้าพูดถึงหมดทุกประเด็นจะทำให้บทความนี้ยาวจนผู้อ่านขี้เกียจอ่าน (ผู้เขียนก็พลอยขี้เกียจเขียนด้วย) ผมขอพูดถึงประเด็นที่น่าสนใจเพียงแค่บางส่วน ดังต่อไปนี้

หนังเรื่องนี้นอกจากจะมีประเด็นหลักอยู่ที่การเสียดเย้ยความรักโรแมนติกและการรักกันตราบชั่วฟ้าดินสลายว่าเป็นเรื่องเหลวไหล (จนนึกอยากจะเอาเพลง สิ่งเหล่านี้ ของ Greasy Café มาประกอบหนังให้รู้แล้วรู้รอดไปเลย) หนังยังสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจ นั่นคือ การปะทะกันระหว่างอำนาจเก่าและอำนาจใหม่ ดังจะเห็นได้จากฉากเปิดเรื่องซึ่งทหารกลุ่มคณะราษฎรกำลังก่อการปฏิวัติมิถุนายน 2475 และได้ควบคุมตัวพระองค์เจ้าปริวัตร (ที่น่าสนใจคือ ตัวละครนี้เล่นโดยพงษ์พัฒน์ วชิระบรรจง) ที่กำลังอยู่ในงานเลี้ยงอันหรูหรา
สิ่งที่น่าสนใจในหนังเรื่องนี้คือ การจัดวางอำนาจที่แตกต่างกันของตัวละครทั้งสาม ให้เป็นเหมือนสัญลักษณ์แทนกลุ่มคน 3 กลุ่ม จึงไม่น่าแปลกใจที่มีหลายคนมองหนังเรื่องนี้ในฐานะหนังการเมือง!



ตัวละครพะโป้ มีความเป็นนักเลงเก่า ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมสมัยเก่าที่ไม่สนใจมุมมองเรื่องนิติรัฐหรืออะไรทั้งสิ้น เขาเป็นนายห้างที่ครอบครองอาณาจักรปางไม้อันใหญ่โตและกุมอำนาจแต่เพียงผู้เดียวโดยไม่มีอำนาจอื่นมาถ่วงดุล ในยามที่เขาดีกับใคร เขาจะดีแบบใจหาย และด้วยภาพลักษณ์ภายนอกที่ดูเป็นคนใฝ่ธรรมะธรรมโมทำให้เขาดูเหมือนผู้ปกครองในอุดมคติในสายตาของใครหลายคน แต่เวลาที่มีใครมาลบหลู่ศักดิ์ศรีเขา เขาจะเปลี่ยนจากพ่อพระเป็นมารร้ายและพร้อมจะทำลายคนที่เขาโกรธแค้นให้ถึงที่สุด เพียงแต่วิธีการแก้แค้นของเขาไม่ได้ใช้วิธีแบบรุนแรงตาต่อตาฟันต่อฟัน แต่เป็นไปในแบบเดียวกับคำคมของฝรั่งที่ว่า “Revenge is a dish best served cold” หรือ “การล้างแค้นคืออาหารที่ควรเสิร์ฟเมื่อตอนเย็นแล้ว” นั่นคือเยือกเย็นและลุ่มลึกพอที่จะทำให้ผู้ที่ถูกลงทัณฑ์หัวเราะเยาะใส่ด้วยความคิดว่าเป็นวิธีการที่ไร้สาระสิ้นดี แต่พอเวลาผ่านไป ผู้ที่ถูกลงทัณฑ์ก็รู้ตัวว่าวิธีนี้น่ากลัวขนาดไหนจนสู้ให้เอาปืนมายิงหัวให้ตายยังจะดีเสียกว่า!

ตัวละครพะโป้ยังเป็นแสดงให้เราเห็นถึงอำนาจที่ไร้การตรวจสอบ นั่นคือถึงแม้ภาพลักษณ์และพฤติกรรมของพะโป้จะดูเป็นผู้ปกครองในอุดมคติ ใจดี มีเมตตา ใฝ่ธรรมะธรรมโม แต่ทันทีที่เขาปล่อยให้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผลและใช้อำนาจจนเกินพอดี ผลที่เกิดขึ้นก็คือโศกนาฏกรรม จึงเป็นอุทาหรณ์ที่ชวนให้คิดต่อไปว่า การปล่อยให้คนที่เป็นคนดี (หรือสร้างภาพให้ตัวเองเป็นคนดี) ปกครองโดยไม่มีการตรวจสอบกับการปล่อยให้คนไม่ดี (หรือคนที่มีภาพลักษณ์ไม่ดี) ปกครองโดยวางอำนาจตรวจสอบไว้อย่างแน่นหนา อย่างไหนถึงจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่ากัน



อีกตัวละครหนึ่งที่น่าสนใจคือ ยุพดี ซึ่งมีความเป็น Feminist สูง ความน่าสนใจของตัวละครนี้ คือ เป็นหญิงยุคใหม่ที่หัวก้าวหน้า มั่นใจในตัวเองและมีความคิดความอ่านแบบที่อาจเรียกได้ว่ามาก่อนกาล เธอเคยหย่าร้างมาครั้งหนึ่งแล้ว ไม่มีใครรู้เหตุผลแน่ชัดว่าเพราะเหตุใด เธอจึงตัดสินใจแต่งงานกับพะโป้ แต่เราสามารถคาดเดาได้จากคำพูดของเธอช่วงหนึ่งว่า เธอต้องการอิสรภาพ และต้องการจะหนีไปจากคุกที่ชื่อว่าบางกอก แต่น่าเศร้าที่สุดท้าย หนทางที่เธอคิดว่าจะเป็นประตูนำไปสู่อิสรภาพ กลับเป็นกรงขังขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่ง และกรงขังที่นี่กลับยิ่งเลวร้ายกว่าบางกอกตรงที่เธอไม่มีทางหนีไปที่ไหนได้อีก จนทำให้สุดท้ายเธอต้องเลือกว่าจะอยู่ในกรงขังต่อไปหรือเลือกที่จะเดินทางไปสู่อิสรภาพชั่วนิรันดร์

น่าเสียดายที่ถึงแม้ตัวละครยุพดีจะมีความน่าสนใจ แต่ตัวหนังกลับไม่ส่องสป็อตไลท์ไปที่ตัวละครตัวนี้เท่าไร หนังสร้างความคลุมเครือในความสัมพันธ์ระหว่างพะโป้และส่างหม่อง (จนมีหลายคนตีความว่าที่ พะโป้โกรธขนาดนี้ไม่ได้เป็นเพราะเขาหึงยุพดีแต่เขาหึงส่างหม่องต่างหาก) และยุพดีถูกนำในเสนอในเชิง “เพศหญิงคือตัวอันตราย” ที่ทำให้มิตรภาพของชายหนุ่มต้องพังทลาย (ซึ่งเป็นการมองหนังในเชิงปิตาธิปไตย-หรือแนวคิดผู้ชายเป็นใหญ่) บวกกับการแสดงของเฌอมาลย์ที่ถ่ายทอดตัวละครตัวนี้ได้ไม่ดีพอ ทำให้ตัวละครตัวนี้ออกแนว bitch มากกว่าจะเป็นสาวหัวก้าวหน้า ผลก็คือผู้ชมไม่รู้สึกสะเทือนใจกับการตัดสินใจของตัวละครตัวนี้ในตอนท้ายเท่าที่ควร



ส่วนส่างหม่องนั้น ถึงแม้จะเป็นนักเรียนนอกที่น่าจะมีหัวคิดที่ก้าวหน้าและกล้าท้าทายระบบ แต่ตัวหนังกลับถ่ายทอดตัวละครตัวนี้เหมือนเด็กที่ไม่รู้จักโต ซึ่งจากตอนแรกที่เขามองโลกอย่างบริสุทธิ์ดั่งผ้าขาว เวลาผ่านไปเขาได้ปล่อยให้ตัณหาราคะกับความโกรธแค้นเข้าครอบงำจิตใจมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ผ้าขาวที่เห็นในฉากแรกกลายเป็นผ้าเลอะสีที่ไม่มีล้างออกในฉากสุดท้าย

ถึงแม้ในช่วงปฏิวัติโดยคณะราษฎรในตอนต้นเรื่อง จะมีฉากที่ยุพดีจะบ่นถึงเรื่องการเมืองให้พะโป้ฟังว่า การเมืองเป็นเรื่องของกลุ่มนักการเมืองแย่งอำนาจกันไปมา เราไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยว (หากใช้ศัพท์ฮิตในปัจจุบัน อาจมีบางคนอธิบายพฤติกรรมของยุพดีว่าเป็น “สลิ่ม”) แต่ถือเป็นเรื่อง irony ที่ในที่สุด ชีวิตของยุพดีก็ต้องเผชิญความยุ่งยากทางการเมืองในปางไม้ของพะโป้ไปเต็มๆ นั่นแสดงให้เห็นว่าแม้เราจะไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับการเมืองแต่สุดท้ายการเมืองก็มีอำนาจอยู่เหนือคนตัวเล็กๆ ที่ไม่มีอำนาจอยู่เสมอ

ใช่แต่ยุพดี ส่างหม่องก็เช่นกันที่มีชีวิตยุ่งยากเพราะการลงทัณฑ์ของพะโป้ แต่ที่น่าเศร้าคือ ทั้งยุพดีและส่างหม่องกลับไม่มีทีท่าที่จะต่อต้านหรือปฏิวัติ (Revolution) อำนาจอันมิชอบของพะโป้ ขนาดแค่เอาปืนยิงโซ่ให้ขาดซึ่งเป็นวิธีการเอาตัวรอดแบบง่ายๆ ทั้งสองคนนั้นยังไม่ทำเลย! แม้จะวางตัวเป็นเหมือนคู่ปรับแต่สุดท้ายเราจะเห็นว่า หนังถ่ายทอดให้ตัวส่างหม่องเป็นเหมือนมวยคนละรุ่นกับพะโป้ซึ่งมีอำนาจและบารมีเหนือกว่า ทั้งยุพดีและส่างหม่องมีทีท่าที่ยอมจำนนต่ออำนาจอย่างง่ายดาย และสุดท้ายถึงแม้จะโดนผู้ปกครองกระทำถึงขั้นนั้นแต่ผู้ถูกปกครองก็ยังต้องซมซานกลับมาอยู่ภายใต้อำนาจของผู้ปกครองอยู่ดี
เป็นที่น่าสนใจว่า ทั้งๆ ที่ชั่วฟ้าดินสลายเป็นหนังสือที่เขียนไว้ตั้งแต่ปี 2486 และเหตุการณ์ในฉบับหนังเกิดขึ้นเมื่อปี 2475 แต่เหตุการณ์ในท้องเรื่องกลับสามารถเทียบเคียงได้กับเหตุการณ์ในประเทศไทยในยุคปัจจุบัน ซึ่งเป็นไปตามที่นักรัฐศาสตร์บางท่านให้ข้อสังเกตว่า สถานการณ์ในเหตุการณ์ปฏิวัติ 2475 กับสถานการณ์ในช่วงเวลาปัจจุบันมีความใกล้เคียงหลายอย่าง ซึ่งเมื่อคิดถึงเรื่องนี้แล้วก็อดรู้สึกเศร้าไม่ได้ว่า ถึงแม้เวลาจะผ่านไปหลายปีแล้วแต่กงล้อประวัติศาสตร์ของไทยก็ยังคงหมุนวนกลับมาซ้ำรอยเดิมอยู่ดี แต่ถึงกระนั้นความรู้สึกเศร้าก็แฝงไปด้วยความรู้สึกสงสัยใคร่รู้ ว่าวงล้อของประเทศไทยที่อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้กำลังจะหมุนไปในเส้นทางไหนต่อไป

เพราะหนังก็ได้บอกไว้แล้วว่า แม้จะอยากให้ทุกสิ่งเป็นเหมือนดังเดิม แต่ก็ไม่มีสิ่งไหนที่จะอยู่ได้แบบชั่วฟ้าดินสลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอำนาจหรือว่าเรื่องความรัก






 

Create Date : 24 กันยายน 2553
1 comments
Last Update : 24 กันยายน 2553 18:14:55 น.
Counter : 6592 Pageviews.

 

เป็นบทความที่น่าสนใจทีเดียว..

มีหลายมุมเลย ที่น่าสนใจ..

ปล. ชอบ turn left, turn right ในช่องคอมเม้นท์เหมือนกันเลยค่ะ..

 

โดย: VELEZ 24 กันยายน 2553 20:02:51 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ฟ้าดิน
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]




ความจำสั้น ความฝันยาว.....
Friends' blogs
[Add ฟ้าดิน's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.