ฉันเป็นดั่งนกไร้ขา บินไปบินมาไร้จุดหมาย โอกาสลงดินนั้นไซร้ ต่อเมื่อความตายมาเยือน
Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2553
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
5 ธันวาคม 2553
 
All Blogs
 

Movie review - สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่ารัก: สิ่งไม่เล็กที่เรียกว่าแฟนตาซี! (สามดาว)

หมายเหตุ -บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ ดูหนังในหนังสือ นิตยสาร Starpics ฉบับปักษ์หลัง เดือนกันยายน 2553

นำมาเผยแพร่ที่นี่อีกครั้ง เนื่องจากหนังของแฟนผมเรื่องนี้ (อิอิ) ได้รับการเผยแพร่อีกครั้งในรูปแบบ DVD และ VCD

ทางผู้เขียนขอขอบคุณกองบก.นิตยสาร Starpics สำหรับการเอื้อเฟื้อพื้นที่ในนิตยสารให้กับบทความนี้ครับ


***************************************


สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่ารัก: สิ่งไม่เล็กที่เรียกว่าแฟนตาซี! สามดาว

ฟ้าดิน




ไม่ทราบว่าเป็นเพราะเสียงของคุณพลอย เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์ ในตัวอย่าง “ชั่วฟ้าดินสลาย” ที่เปิดฉายก่อนหนังเรื่องนี้ ซึ่งกระซิบบอกผม (และคนอื่นๆ ในโรง) ว่า “ปล่อยให้หัวใจของเธอได้เป็นอิสระบ้างเถอะค่ะ อย่าใช้สมองให้มันมากนักเลย” หรือเปล่า ที่ทำให้ผมปล่อยตัวปล่อยใจไปกับหนังเรื่องนี้ได้ตลอดทั้งเรื่อง จนทำให้หนังเรื่องนี้กลายเป็นหนึ่งในหนังที่ผมชอบมากที่สุดในรอบปี แน่นอนว่าหนังเรื่องนี้ไม่ใช่หนังที่เรียกได้ว่า ดีเยี่ยมสมบูรณ์แบบ ที่จริงแล้วตัวหนังมีปัญหาในหลายจุด และมีหลายฉากที่ออกมาถ้าไม่หนักมือไปก็เบามือไป (เห็นได้ชัดในตอนจบ) แต่ด้วยเสน่ห์ที่มีอยู่เหลือเฟือในหนังเรื่องนี้ ทั้งความจริงใจในการนำเสนอ (หนังในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งมีความจริงใจในการนำเสนอมากไม่แพ้กันเพียงเรื่องเดียวที่ผมนึกออก คือหนังเรื่อง “สามชุก”) ความเป็นธรรมชาติของเนื้อเรื่องและการแสดง บรรยากาศต่างจังหวัดแบบสมจริงที่ไม่ค่อยได้เห็นในหนังไทยทั่วไป การนำเสนอที่ลื่นไหล บวกกับประเด็นในเรื่องที่หลากหลายและชวนให้เก็บเอามาคิดต่อ ทำให้คนดูสามารถผ่านฉากชวนเลี่ยนหรือฉากยัดเยียดบางฉากไปได้อย่างสะดวกโยธิน ทำให้หนังเรื่องนี้กลายเป็นหนังประเภทเดียวกับเพื่อนสนิท นั่นคือ ถ้าดูแยกเป็นฉากๆ จะรู้สึกเฉยๆ แต่ถ้าดูหนังโดยรวมแล้วกลับมีพลังเพิ่มขึ้นและมีเสน่ห์มากขึ้นอย่างเห็นได้ ชัด จึงไม่น่าแปลกใจที่สุดท้าย หนังเล็กๆ ที่ชื่อว่า “สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่ารัก” เรื่องนี้จะกลายเป็นหนังเซอร์ไพรส์ประจำปีที่ประสบความสำเร็จทั้งรายได้และ คำวิจารณ์ และเก็บรายได้ไปได้สม่ำเสมอจนรายได้แทบไม่ตกในสัปดาห์ต่อๆ มา ซึ่งครั้งสุดท้ายที่เกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้นนั้นคงต้องย้อนกลับไปตั้งแต่สมัย “โหมโรง” ทั้งที่ถ้าเราวัดจากเครดิตเก่าๆ ของทีมงาน (ใครกันที่จะลืมความเจ็บช้ำจากการดูหนังของบริษัทเวิร์คพ้อยท์ในยุคหลังๆ หรือหนังมาริโอในชุดนักเรียนเรื่องล่าสุดอย่าง “friendship เธอกับฉัน”ได้ลง) การโปรโมตที่เข้าข่ายธรรมดาได้อีก หรือกระแสก่อนหนังฉายที่แผ่วเบา เรียกได้ว่าไม่มีสัญญาณเตือนให้รู้เรื่องหน้าเลยว่าหนังจะประสบความสำเร็จ ถึงขั้นนี้ ความสำเร็จนี้แสดงให้เห็นว่า กระแสปากต่อปากยังไม่ตาย และกลับยิ่งเป็นการโปรโมตที่ทรงพลังมากขึ้นทุกทีในยุคโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คมา แรงอย่างในยุคนี้

ปฏิเสธไม่ได้ว่า สาเหตุที่หนังเรื่องนี้กลายเป็นม้าตีนปลาย ได้รับความนิยม ทำเงินและขึ้นแท่นกลายเป็นหนังในดวงใจของใครหลายๆ คนได้ถึงขนาดนี้ นอกจากตัวหนังที่ดูสนุกและชวนบอกต่อเองแล้ว ยังเกิดจากการกลยุทธของหนังซึ่งเลือกที่จะเล่นกับอาการ Nostalgia ของผู้ชม แบบเดียวกับหนังแฟนฉัน นั่นคือ ใส่เหตุการณ์หลักที่ทำให้ผู้ชมส่วนใหญ่รู้สึกมีส่วนร่วม (มีใครบ้างที่ไม่เคยแอบชอบเพื่อนร่วมโรงเรียนที่ดูเหมือนจะสูงเกินเอื้อม!) บวกกับเหตุการณ์ย่อยๆ ที่คาดว่าผู้ชมหลายคนต้องเคยทำมาแล้ว เช่น เดินผ่านหน้าห้องเรียนที่เขานั่งเรียนอยู่บ่อยๆ หรือแอบเอาของขวัญไปให้เขาโดยที่เขาไม่รู้ตัว เป็นต้น จึงไม่แปลกที่คนดูจะเชียร์ตัวละครให้ประสบความสำเร็จเพราะนั่นก็เหมือนกับ การเชียร์คนที่มีประสบการณ์เหมือนตัวเอง (หรืออีกนัยหนึ่งคือ การเอาตัวเองไปทาบทับตัวละคร เพื่อให้คนดูเกิดการเชียร์ตัวเองนั่นเอง)

หนังเล่าเรื่องผ่านมุมมองของน้ำ (พิมพ์ชนก ลือวิเศษไพบูลย์) หญิงสาวหน้าปลวก (คำที่ใช้ในหนัง) เธอแอบชอบหนุ่มฮ็อตของโรงเรียนอย่างพี่โชน (มาริโอ เมาเร่อ) โดยตลอดทั้ง 3 ปีที่พี่โชนและน้ำเรียนอยู่ที่เดียวกัน เธอทำทุกอย่างเพื่อให้พี่โชนหันมาสนใจเธอ เธอเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีขึ้นทั้งหน้าตาและการเรียน การยอมรับตำแหน่งสุดหินอย่างดรัมเมเยอร์ และทำอะไรหลายอย่างเพื่อเขาแม้ว่าเขาจะไม่รู้ตัว และสุดท้าย เธอก็ได้บทเรียนเกี่ยวกับมิตรภาพระหว่างเพื่อน ชีวิต ความรัก ครอบครัว และการไล่ตามความฝันของตัวเอง....

อ่านเรื่องย่อของหนัง ตรงย่อหน้าข้างบนแล้ว ชมรมคนต่อต้านหนังฟีลกู้ดฟีลเลี่ยนทั้งหลายอย่าเพิ่งเบือนหน้าหนี เพราะตัวหนังจริงๆ ทำได้ลงตัวและสนุกกว่าที่ผมเล่าให้ฟังในบรรทัดที่แล้วซะอีก การที่ผมซึ่งไม่ชอบหนังสไตล์ฟีลกู้ดแต่สนุกไปกับหนังเรื่องนี้นั้น ตอนแรกผมคิดว่า เป็นเพราะความ Pure และความสมจริงของหนัง แต่พอผมดูหนังเรื่องนี้รอบที่สอง ผมก็ได้ฉุกคิดว่า หนังเรื่องนี้ไม่ได้เพียวหรือสมจริงขนาดนั้น แต่หนังมันมีจุดเด่นตรงที่หนังสามารถกลบความ fantasy เอาไว้ได้อย่างพอเหมาะ จนคนดูหลับตาให้กับความ fantasy และความไม่สมจริงในหนังเรื่องนี้ได้อย่างสะดวกใจ หรืออีกนัยหนึ่งคือ หนังสามารถทรงตัวอยู่บนเส้นด้ายบางๆ ที่คั่นระหว่าง reality และ fantasy ได้อย่างน่าชื่นชม

หากพูดแบบหยาบๆ ก็คือ หนังเรื่อง สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่ารัก ก็คือ “ซินเดอเรลล่า” ที่ถูก ดัดแปลงให้อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงนั่นเอง ซึ่งถ้าจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัด คงต้องยกตัวอย่างหนังเรื่อง Ever After (1998, แอนดี้ เทนแนนท์) ซึ่งเป็นหนัง ”ซินเดอเรลล่า” ที่ลดโทนเทพนิยาย (นางฟ้า, แม่มดใจร้าย, รถฟักทอง) ลงไป เหลือแต่ฉากหลังในโลกแห่งความเป็นจริง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า แนวความคิดที่แฝงอยู่ใน Ever After ยังคงเป็น fantasy อยู่ดี ทั้งการที่นางเอกได้เลื่อนชนชั้นไปเป็นคู่รักของเจ้าชายได้อย่างรวดเร็วหรือ อุปสรรคในเรื่องถูกแก้ไขได้อย่างง่ายดาย จนถึงแม้องค์ประกอบหนังจะถูกทำให้เป็น reality โคตรๆ ขนาดไหนก็ไม่ทำให้หนังดู real ขึ้นมาในภาพรวมได้ ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าเป็นขั้วตรงข้ามกับ Memories of Matsuko (2006, เท็ตซึยะ นาคาชิมะ) ซึ่งถึงแม้ภาพในหนังจะโอเว่อร์เหนือจริงขนาดไหน แต่ด้วยโทนเรื่องหลักก็ได้ทำให้ Memories of Matsuko กลายเป็นหนังสะท้อนชีวิตจริงได้อย่างน่าขนลุก!



ตามหลักการสร้างหนัง แล้ว การเล่นกับ nostalgia ของผู้ชมในหนัง coming-of-age นั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าจำเป็นต้องใช้ชุดเหตุการณ์เชิง reality ที่ผู้ชมล้วนแต่มีส่วนร่วมในประสบการณ์จริงมาแล้ว ซึ่งแน่นอนว่า กลุ่มผู้ชมส่วนใหญ่ที่เข้ามาดูหนังเป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้มีชีวิตหวือหวา ไม่ได้มีประสบการณ์ “แปลกแต่จริง” หรือ “ชีวิตเหมือนดั่งนิยาย” สักเท่าไร ดังนั้นภาพยนตร์ที่ทำให้ผู้ชมกลุ่มนี้รู้สึกมีส่วนร่วมได้ดีที่สุดก็คือ ตัวละครที่มีความสมจริง ไม่หวือหวา เป็นคนธรรมดาทั่วไปเพื่อให้ผู้ชมสามารถเชื่อมโยงกับตัวละครได้ง่าย (แน่นอนว่า ถ้าตัวละคร “น้ำ” เป็นคุณหนูบ้านรวย 100 ล้านหรือมี BB ใช้ตั้งแต่ม.ต้นผู้ชมก็คงไม่อยากจะเชื่อมโยงด้วย ทั้งๆ ที่อาจจะเป็นคนที่มีประสบการณ์ความรักเหมือนกับเราทุกอย่าง) แต่ขณะเดียวกัน ด้วยความที่สังคมไทยมีการมองศิลปะภาพยนตร์เป็นสิ่งบันเทิง ดูแล้วต้องคลายเครียดรู้สึกดี ทำให้มีภาพยนตร์ในแนว feel-good เกิดขึ้นมามากมาย ซึ่งภาพยนตร์แนวนี้ถูกใช้เป็นยุทธวิธีหลักประดั่งหัวหอกทะลวงฟันในการเรียก เก็บเงินจากคนดู จากค่ายหนังยักษ์ใหญ่ของไทยบริษัทหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าการเติมเต็มผู้ชมที่ชีวิตจริงอาจไม่ได้สมหวังเหมือนในหนังได้ จำเป็นจะต้องอาศัยความเหนือจริงพาฝันหรือ Fantasy เข้ามาเสริม ดังนั้นจึงเกิดเป็นความท้าทายของผู้สร้างว่าจะผสมแนวทาง reality กับ fantasy ที่เปรียบเสมือนน้ำกับน้ำมันให้เข้ากันได้อย่างไร ซึ่ง “สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่ารัก” นี้ถือว่าประสบความสำเร็จในการกลบฝังแง่มุมพาฝันหรือความเป็น ซินเดอเรลล่า ลงไปได้อย่างมิดชิดด้วยแง่มุมของความสมจริง แต่ถึงกระนั้นแม้หนังเรื่องนี้หนังเรื่องนี้จะเต็มไปด้วยฉากสมจริงและผู้ชม พร้อมที่โยงตัวเองเข้ากับหนังได้อย่างเต็มที่ แต่ภาพรวมของหนังเรื่องนี้ก็คือ fantasy เหมือนหนัง Ever After อยู่ดีนี่เอง

ด้วยเหตุนี้ หนังเรื่องนี้จึงมีความใกล้เคียงกับหนังยอดนิยมเรื่อง “รถไฟฟ้ามาหานะเธอ” มากกว่า”แฟนฉัน” (ที่เน้นไปที่ nostalgia มากกว่า) ตรงที่มีการสอดแทรก fantasy แทรกซึมเข้าไปในหนังที่มีเนื้อเรื่องและตัวละครแบบ reality (แต่ข้อดีของสิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่ารักที่มีเหนือกว่ารถไฟฟ้ามาหานะเธอ คือ หนัง treat ตัวละครเหมือนเป็นคนมีชีวิตจิตใจจริงๆ และพยายามใส่ปมและแง่มุมความเป็นมนุษย์ให้กับตัวละครทุกตัวไม่เว้นแม้แต่ตัว ละคร male interest ที่เหมือนจะแบนราบอย่างพี่โชน)

ฉากที่น่าสนใจและก่อให้เกิดการถกเถียงจากผู้ชมมากมาย นั่นคือ ฉาก “ในห้องส่ง” ตอนจบของหนังเรื่องนี้ซึ่งมีหลายคนบ่นว่าทำให้หนังเสียหายนั้น ที่จริงแล้วความผิดของฉากนี้ไม่ได้อยู่ที่มันไม่เข้ากับภาพรวมของหนังหรอก แต่อยู่ที่ความเป็นแฟนตาซีซึ่งหนังกลบมันไว้ได้ดีตลอดทั้งเรื่อง (อีกทั้งผู้ชมก็พยายามหลับตามองไม่เห็นแฟนตาซีที่ถูกกลบ – เหมือนกรวดที่อยู่ในรองเท้าซึ่งผู้ชมทำไม่รู้ไม่ชี้) เกิดแล่บขึ้นมาจนเตะตาผู้ชม,kdเกินไปจนยากที่จะทำเป็นมองไม่เห็นได้อีกต่อไป ต่างหาก อีกยังเป็นการกระชากผู้ชมออกจากอารมณ์ Nostalgia ซึ่งผู้ชมเชื่อมโยงด้วยออกมาอย่างรุนแรง (ไม่แพ้ฉากรีโมตใน funny game,ฉากที่วู้ดดี้ อัลเลนหันมาพูดกับคนดูในหนังหลายเรื่องของเขา และฉากในตอนรักต้องลุ้นของน้ำตาลแดง ที่ทำให้ผู้ชมตื่นจากภวังค์ทันทีว่านี่เป็นเพียงแค่หนัง) และนั่นก็ทำให้อารมณ์เชื่อมโยงกับตัวละครก่อนหน้านี้พังทลายไปในพริบตา แต่ด้วยความที่ตอนในห้องส่งคิดเป็นไม่กี่นาทีจากตัวหนัง ทำให้ผู้ชมหลายคนสามารถลบความทรงจำฉากนี้ออกไปจากหัวได้อย่างไม่ขะเขิน

อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ หนังมีมายาคติเกี่ยวกับ “คนหน้าตาดีได้เปรียบกว่าคนหน้าตาไม่ดี” สอดแทรกอยู่ในตัวหนัง เพียงแต่ไม่ได้ชัดเจนจนทิ่มตาคนดู เพราะตัวหนังสามารถกลบมายาคตินี้ไปกับตัวหนังได้อย่างมิดชิดไม่แพ้กัน โดยจะเห็นว่า การที่คุณภาพชีวิตของนางเอกดีขึ้นเช่นกัน อาทิเช่น ได้เป็นดรัมเมเยอร์ มีหนุ่มๆ จีบ มีคนสนอกสนใจ ได้ของขวัญวันวาเลนไทน์ ได้ขึ้นบอร์ดโรงเรียน เป็นต้น นั้นเกิดจากนางเอกมีหน้าตาดีขึ้น (ซึ่งความสวยในตอนท้าย เป็นไปตามความสวยในมุมมองของคนไทยยุคนี้คือ ต้องขาว สูง หมวย ผมยาว ไม่ใช่ผิวคล้ำ หน้าคม) แต่หนังก็พยายามกลบมุมมองนี้ด้วยการใส่แง่มุมความมุ่งมั่น พยายาม และเด็ดเดี่ยวของนางเอกลงไปด้วย


จะสังเกตว่านางเอกในช่วง ต้นเรื่อง (ที่ต้องยอมรับว่า มีความน่ารักในอีกแบบหนึ่ง) กับนางเอกในช่วงท้ายเรื่อง นอกจากจะมีหน้าตาที่สวยขึ้นแล้ว บุคลิกของนางเอกยังมีการเปลี่ยนไปเป็นคนที่มีจริตของคนสวยมากขึ้น ซึ่งนั่นอาจมองว่าเป็นการ transformation ของตัวละครจากตัวละครนึงไปเป็นอีกตัวละครนึงเลยก็ได้ และหนังก็ได้แสดงให้เห็นว่าตัวละครพี่โชนแอบหลงรักนางเอกตั้งแต่ช่วงที่ เริ่มจะสวยแล้ว จึงน่าคิดว่า ตัวตนที่พี่โชนหลงรักนั้นคือตัวตนดั้งเดิมหรือตัวตนที่ผ่านการ transform แล้วของนางเอก และนั่นทำให้ผู้เขียนอดคิดเรื่อยเปื่อยไม่ได้ว่า ถ้าผู้สร้างหนังใจถึงกว่านี้ ให้โชนหลงรักน้ำตั้งแต่ฉากมะม่วงมั้ย ที่ได้มีปฏิสัมพันธ์กันครั้งแรก หรือหนังทำให้น้ำมีหน้าตาแบบนี้ตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง หรือถ้าจะให้สุดขีดกว่านั้นคือ ถ้าหนังโยกให้ตัวละครอย่าง”เชียร์”เป็นนางเอกแทน หนังที่ออกมานั้นยังจะได้อารมณ์แบบนี้อยู่อีกไหม หรือผู้ชมจะมองว่ามันกลายเป็นหนังตลกหรือหนังรันทดแนวเสียดสีแบบหนังอย่าง Precious ไปเลย





แต่อย่างที่บอกว่าหนังเรื่องนี้เก่งในการกลบมายาคตินี้ เพราะหนังมีการใส่แง่มุมความตั้งใจและพยายามให้กับตัวละครเอกทั้งสอง (ซึ่งทำให้ตัวละครมีหลายแง่มุมที่น่าสนใจมากกว่าความหน้าตาดี) อีกทั้งหนังได้ใส่ฉากที่แสดงให้เห็นว่า ครูอินสามารถพิชิตใจครูโบ๊ต ครูพละรูปหล่อทั้งที่หน้าตาเป็นรองครูอร คู่แข่งทางความรักของเธอได้ แต่เนื่องจากหนังใส่ฉากนี้ในฐานะ”มุขตลก” มุขหนึ่ง ผลสุดท้ายก็เลยทำให้มายาคติ “การเมืองเรื่องหน้าตา” ยังคงเด่นชัดในหนังเรื่องนี้ต่อไป

เขียนถึงตอนนี้แล้ว ผู้เขียนก็ยังอดหัวเราะ (อย่างที่เคยหัวเราะบ่อยๆ) ในความ irony ของตัวเอง ไม่ได้ว่า เขียนถึงการเมืองเรื่องหน้าตาซะดิบดี แต่สุดท้ายผู้เขียนก็ตกอยู่ในวังวนนี้ซะเอง เพราะขณะที่เขียนบทความนี้ ในขณะเดียวกันผู้เขียนก็ยังเซฟรูปน้องใบเฟิร์นลงในคอมพิวเตอร์เพื่อเซ็ตเป็น หน้าวอลล์เปเปอร์ไปด้วยในเวลาเดียวกัน แต่ไม่เป็นไร ถือซะว่าเป็นตัวอย่างเพื่อให้ผู้สนใจนำไปศึกษาต่อแล้วกัน อิอิ


สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่ารัก กำกับ - พุฒิพงศ์ พรหมสาขา ณ สกลนคร, วศิน ปกป้อง บทภาพยนตร์ - พุฒิพงศ์ พรหมสาขา ณ สกลนคร, วศิน ปกป้อง, วรลักษณ์ กล้าสุคนธ์ อำนวยการสร้าง – ประภาส ชลศรานนท์ แสดง - มาริโอ้ เมาเร่อ, พิมพ์ชนก ลือวิเศษไพบูลย์, สุดารัตน์ บุตรพรม, อัครณัฐ อริยฤทธิ์วิกุล, พิจิตรา สิริเวชพันธ์, พีรวัชร์ เหราบัตย์







 

Create Date : 05 ธันวาคม 2553
6 comments
Last Update : 5 ธันวาคม 2553 9:16:55 น.
Counter : 7120 Pageviews.

 

เขียนได้ดีมากเลยครับ
เพิ่งเข้าใจครับ ว่าฉากสุดท้าย มันออกเป็น fantasy ชัดไปหน่อย ทำให้เชื่อยากไปนิด

 

โดย: thungsum IP: 118.174.101.68 5 ธันวาคม 2553 14:55:38 น.  

 

เขียนรีวิวเก่งจังเลยค่ะ
ยังไม่เคยดูหนังเรื่องนี้เลย แต่ชักอยากไปหามาดูบ้างแล้ว

แอบอ่านไปหลายหน้า
เราว่าคุณเป็นคนเขียนเก่งนะคะ แอบชอบตัวหนังสือคุณ ^^"
(บอกขนาดนี้แล้ว เรียกว่าแอบมั้ยเนี่ย ฮาๆ :D)

 

โดย: เด็กหญิงริมขอบฟ้า 6 ธันวาคม 2553 0:27:10 น.  

 

ชอบการเขียน review ของคุณมากเลยค่ะ ,, ประกอบกับถ้าเราดูหนังเรื่องที่คุณยกตัวอย่างมาด้วยแล้ว ทำให้เหมือนมีประสบการณ์ร่วมค่ะ ,, สนุกดีค่ะ ขอให้เขียนแบบนี้ไปเรื่อยๆนะคะ :)

 

โดย: call me J IP: 124.122.108.188 8 ธันวาคม 2553 23:39:37 น.  

 

ดูแล้วในโรงภาพยนตร์ ชอบพอประมาณครับ

 

โดย: คนขับช้า IP: 182.53.171.167 11 ธันวาคม 2553 11:56:19 น.  

 

แอบเสียใจนิดๆว่าถ้าให้นางเอกสวยขึ้นแต่คงบุคลิกเดิมไว้ (เช่นเสื้อหลวมเหมือนเดิมที่ดูดีขึ้น กางเกงแค่เข่าที่ดูเข้าท่าขึ้น ผิวสีเดิม ท่าทางไม่สาวขึ้นถึงขนาดผิดไปเป็นคนละคน) จะทำให้หนังลงตัวขึ้นอีกมาก

ใช่แล้ว แป๋วไม่ชอบฉากห้องส่งเลยค่ะ แม้ว่าตอนหลังๆดูทีวีจากเมืองไทยบ่อยๆ จะพอรับได้ว่ามุกนี้อาจเป็นไปได้ก็เถอะ รู้สึกว่ามันจบง่ายไปหน่อย

ข้อดีที่ชอบที่สุดของหนังเรื่องนี้คือเป็นหนังดูสบายอารมณ์ ละเมียดละไม สนุกโดยไม่ต้องมีคำหยาบเลยสักคำเดียว

 

โดย: SevenDaffodils 26 มกราคม 2554 12:53:57 น.  

 

ขอบคุณคับ

 

โดย: apiwat IP: 101.109.21.53 17 มีนาคม 2555 15:15:13 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ฟ้าดิน
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]




ความจำสั้น ความฝันยาว.....
Friends' blogs
[Add ฟ้าดิน's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.