Group Blog
 
 
มกราคม 2548
 
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
14 มกราคม 2548
 
All Blogs
 

การเลือกและใช้น้ำมันเครื่อง

การเลือกและใช้น้ำมันเครื่อง

เพราะ น้ำมันเครื่องแต่ละชนิดมีกำหนดการใช้งานที่เหมาะสม ไม่สามารถยืดอายุหรือระยะเวลาออกไปได้ การเลือกน้ำมันเครื่องไม่จำเป็นต้องดูยี่ห้อหรือรุ่นว่าเด่นดังหรือเปล่า เพราะคุณสมบัติที่แท้จริงของน้ำมันเครื่องมีระบุอยู่ข้างกระป๋องเสมอน้ำมันเครื่องสังเคราะห์แม้ราคาแพง แต่ค่าใช้จ่ายต่อกิโลเมตรอาจประหยัดกว่าก็เป็นได้

******* เลือกน้ำมันเครื่องด้วย 3 คุณสมบัติ ืคือ ชนิด & คุณภาพ & ความหนืด
น้ำมันเครื่องสังเคราะห์บางรุ่นมีอายุการใช้งานนานกว่าก็จริง แต่อาจมีเกรดคุณภาพต่ำกว่าน้ำมันเครื่องธรรมดาก็เป็นได้

******* 1. ชนิด - เกี่ยวข้องกับอายุการใช้งานของน้ำมันเครื่องเป็นหลัก
*** น้ำมันเครื่องธรรมดา ผลิตจากน้ำมันหล่อลื่นขั้นพื้นฐานที่กลั่นจากน้ำมันปิโตรเลียม แพร่หลายที่สุด ใช้งานได้ในระยะทางประมาณ 3,000-5,000 กิโลเมตร
*** น้ำมันเครื่องกึ่งสังเคราะห์ ผลิตจากการผสมน้ำมันหล่อลื่นขั้นพื้นฐานชนิดธรรมดากับชนิดสังเคราะห์ในอัตราส่วนที่เหมาะสม และแตกต่างกันออกไปในแต่ละรุ่น ใช้งานได้ในระยะทางประมาณ 4,000-7,000 กิโลเมตร (เทคโนโลยีไม่สามารถทำให้น้ำมันเครื่องธรรมดากลายเป็นน้ำมันเครื่องกึ่งสังเคราะห์ได้ นอกจากจะทำให้มีความสามารถใกล้เคียงกับน้ำมันเครื่องกึ่งสังเคราะห์เท่านั้น)
*** น้ำมันเครื่องสังเคราะห์ ผลิตจากน้ำมันหล่อลื่นขั้นพื้นฐานที่สังเคราะห์ขึ้นจากน้ำมันปิโตรเลียม ใช้งานได้ในระยะทางประมาณ 8,000-10,000 กิโลเมตร
*** โดยระยะทางข้างต้นได้ประยุกต์ลดลงตามสภาพอากาศ ฝุ่น และสภาพการจราจรของเมืองไทย ที่ดุเดือดกว่าหลายประเทศ

******* น้ำมันเครื่องสังเคราะห์ แท้&เทียม
น้ำมันเครื่องสำเร็จรูปที่ระบุว่าเป็นชนิดสังเคราะห์ 100% ส่วนใหญ่เลือกใช้น้ำมันหล่อลื่นขั้นพื้นฐานชนิดสังเคราะห์ โพลีแอลฟาโอลีฟิน (POLYALPHAOLEFIN-PAO) ซึ่งไม่สามารถละลายสารเพิ่มคุณภาพบางตัวหรือละลายได้ไม่ดี จึงอาจมีการละลายสารเพิ่มคุณภาพด้วยน้ำมันหรือสารอื่นก่อนผู้ผลิตบางรายเน้นความประหยัด โดยนำสารเพิ่มคุณภาพไปผสมกับน้ำมันหล่อลื่นชนิดธรรมดาก่อน เมื่อนำมาผสมกับน้ำมันหล่อลื่นขั้นพื้นฐานจึงเกิดข้อสงสัยว่า จะเป็นน้ำมันเครื่องสำเร็จรูปชนิดสังเคราะห์ 100% ได้อย่างไร ในเมื่อมีน้ำมันชนิดธรรมดาผสมอยู่ด้วยจากการช่วยทำละลายสารเพิ่มคุณภาพ
มีผู้ผลิตไม่มากนักที่ยอมลงทุนนำสารเพิ่มคุณภาพไปละลายกับน้ำมันหล่อลื่นชนิดสังเคราะห์อื่นที่มีราคาแพง ไม่เหมาะกับการใช้งานในเครื่องยนต์รถยนต์ แต่ทำละลายได้ดี เช่น น้ำมันหล่อลื่นเครื่องบินเจ็ต (DIBASICESTER) เมื่อนำไปผสมกับน้ำมันหล่อลื่นขั้นพื้นฐานชนิดสังเคราะห์ ก็จะกลายเป็นน้ำมันเครื่องสำเร็จรูปชนิดสังเคราะห์ 100% ทุกหยดจริงๆ ต่างจากกรณีแรกที่มีน้ำมันชนิดธรรมดาช่วยทำละลายสารเพิ่มคุณภาพผสมอยู่ด้วย
ในการเลือกใช้ ไม่ต้องกังวลว่าจะมีน้ำมันธรรมดาช่วยทำละลายสารเพิ่มคุณภาพผสมอยู่ด้วยหรือไม่ เพราะส่วนใหญ่มีปริมาณน้อยมาก และไม่น่าจะทำให้ประสิทธิภาพโดยรวมลดลง คุณภาพที่แท้จริงอยู่ที่น้ำมันหล่อลื่นขั้นพื้นฐานและสารเพิ่มคุณภาพที่ผู้ผลิตเลือกใช้มากกว่า กรณีที่มีการผสมน้ำมันธรรมดาเข้าไปในปริมาณมาก และไม่ได้เน้นแค่ช่วยทำละลายสารเพิ่มคุณภาพ ต้องถือว่าเป็นน้ำมันเครื่องสำเร็จรูปชนิดกึ่งสังเคราะห์ แต่ส่วนใหญ่จะไม่มีการเปิดเผยกันว่ามีน้ำมันหล่อลื่นธรรมดาผสมอยู่กี่เปอร์เซ็นต์

******* 2. เกรดคุณภาพ
เกี่ยวข้องกับคุณภาพและประสิทธิภาพเกือบทุกด้านกำหนดขึ้นจากการทดสอบคุณสมบัติด้านต่างๆ เช่น หล่อลื่น ระบายความร้อน ป้องกันสนิม และชะล้างทำความสะอาด ฯลฯมีหลายสถาบันทั่วโลกทดสอบและตั้งมาตรฐานหรือเกรดคุณภาพของน้ำมันเครื่อง เช่น
API - AMERICAN PETROLEUM INSTITUTE
SAE - SOCIETY OF AUTOMOTIVE ENGINEERS
US MILITARY CLASSIFICATION - สถาบันทางทหารของสหรัฐอเมริกา
ASTM - AMERICAN SOCIETY FOR TESTING AND MATERIALS
CCMC - COMITTEE OF COMMON MARKET CONSTRUCTION

******* การแบ่งเกรดคุณภาพมี 2 กลุ่มหลัก คือ
เกรดคุณภาพน้ำมันเครื่องสำหรับเครื่องยนต์เบนซิน ตามหลังอักษรย่อ API ใช้ตัวอักษรย่อ S (STATION SERVICE-SPARK IGNITION) นำหน้าเสมอ แล้วตามด้วยตัวอักษรย่อที่บอกเกรดคุณภาพของน้ำมันเครื่อง ไล่เรียงตั้งแต่แย่สุดคือ A ขึ้นไปเรื่อยๆ B, C...H และ J เช่น API SE, API SH จนถึง API SJ โดยไม่มี API SI ข้ามไปเพราะตัว I คล้ายเลข 1 (เช่นเดียวกับที่นั่งบนเครื่องบินที่ไม่มีตัว I) มี SJ สูงสุด รองลงมาเป็น SH และ SG ส่วนเกรดคุณภาพต่ำๆอย่าง SA และ SB ปัจจุบันไม่นิยมผลิต เพราะไม่เหมาะกับเครื่องยนต์เบนซินยุคใหม่
ควรเลือกใช้น้ำมันเครื่องที่มีเกรดคุณภาพสูงสุดหรือใกล้สูงสุด ทว่าไม่จำเป็นต้องเลือกสูงสุด หากไม่มีโอกาส แต่ควรให้ใกล้เคียงระดับสูงสุดไว้เครื่องยนต์เบนซิน ควรเลือก API SJ หรือ SH อนุโลม API SG ได้ (แต่มาตรฐานในไทยกำหนดให้แค่ SG)

หากน้ำมันเครื่องผ่านการทดสอบจาก API นอกจากจะมีการระบุเป็นตัวอักษรย่อ ยังต้องมีสัญลักษณ์รูปวงกลมหรือโดนัทระบุรายละเอียดด้วย วงนอกเป็นมาตรฐาน API SERVICE S.../C... และวงกลมตรงกลางระบุมาตรฐานความหนืดตาม SAE โดยถ้าน้ำมันเครื่องนั้นช่วยประหยัดเชื้อเพลิง ก็จะมีการระบุคำว่า ENERGY CONSERVING ไว้บริเวณวงล่างของโดนัทด้วย

ถ้าไม่มีสัญลักษณ์รูปโดนัทแสดงว่าไม่ผ่านการทดสอบจาก API แต่เป็นการทดสอบเองหรือสถาบันอื่นทดสอบ โดยใช้มาตรฐานอ้างอิงจาก API แล้วระบุผลออกมาเป็นตัวอักษรย่อ API S.../C...ไม่มีสัญลักษณ์รูปโดนัทข้างกระป๋อง (ส่วนมากน้ำมันเครื่องที่ผลิตในประเทศไทยจะอยู่ในกลุ่มนี้)

******* รายละเอียดการกำหนดเกรดคุณภาพของน้ำมันเครื่องโดย API มีดังนี้
เกรดคุณภาพน้ำมันเครื่องสำหรับเครื่องยนต์เบนซิน
SA - เป็นน้ำมันหล่อลื่นขั้นพื้นฐานล้วนๆ ไม่มีการเติมสารเพิ่มคุณภาพเลย ปัจจุบันยกเลิกแล้ว
SB - ประกาศใช้ปี 1930 เพิ่มเพียงสารเพิ่มคุณภาพบางชนิด เช่น สารป้องกันการสึกหรอ สารป้องกันการทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ ปัจจุบันยกเลิกแล้ว
SC - ประกาศใช้ปี 1964 เพิ่มสารชะล้าง ป้องกันตะกอนและสนิม
SD - ประกาศใช้ปี 1968 เพิ่มทุกด้านของประสิทธิภาพและสารเพิ่มคุณภาพให้ดีขึ้นจาก SC ไม่ควรเลือกใช้ในปัจจุบัน
SE - ประกาศใช้ปี 1972 เพิ่มทุกด้านของประสิทธิภาพและสารเพิ่มคุณภาพให้ดีขึ้นจาก SD ไม่ควรเลือกใช้ในปัจจุบัน
SF - ประกาศใช้ปี 1980 เพิ่มทุกด้านของประสิทธิภาพและสารเพิ่มคุณภาพให้ดีขึ้นจาก SE และเน้นป้องกันการทำปฏิกิริยากับออกซิเจนมากขึ้น ไม่ควรเลือกใช้ หากไม่จำเป็น (เป็นน้ำมันมาตรฐานของศูนย์รถมอเตอร์ไซค์ยี่ห้อหนึ่งในประเทศไทย)
SG - ประกาศใช้ปี 1988 เพิ่มทุกด้านของประสิทธิภาพและสารเพิ่มคุณภาพให้ดีขึ้นจาก SF เน้นป้องกันการเกิดตะกอนตม-ยางเหนียวเพิ่มขึ้น ลดการเกิดเขม่าบนหัวลูกสูบ-ห้องเผาไหม้ และลดการสึกหรอของวาล์ว ยังพอเลือกใช้ได้ถ้าจำเป็น (มาตรฐานของประเทศไทย ถูกกำหนดและให้ความรู้กับคนทั่วไปโดยน้ำมันยี่ห้อหนึ่งที่มียอดขายสูงที่สุด)
SH - ประกาศใช้ปี 1992 เพิ่มทุกด้านของประสิทธิภาพและสารเพิ่มคุณภาพให้ดีขึ้นจาก SG เน้นการลดมลพิษและลดการสึกหรอเพิ่มขึ้น สามารถเลือกใช้ได้
SJ - ประกาศใช้วันที่ 15 ตุลาคม 1996 เป็นน้ำมันเครื่องสำหรับเครื่องยนต์เบนซินที่มีเกรดคุณภาพสูงสุดในปัจจุบัน (ไม่รวม SL ที่มีแต่ของรถยนต์เท่านั้นในตอนนี้) เพิ่มทุกด้านของประสิทธิภาพและสารเพิ่มคุณภาพให้ดีขึ้นจาก SH เน้นการระเหยต่ำ ค่าฟอสฟอรัสต่ำ ป้องกันการทำปฏิกิริยากับออกซิเจนดีขึ้น มีอายุการใช้งานนานขึ้น และเน้นการลดแรงเสียดทานในเครื่องยนต์ เด่นที่สุดในการเลือกใช้

ต้องผ่านการทดสอบพิเศษด้วยมาตรฐานเหนือกว่า API SH อีก 7 ประการ คือ
1. จำกัดปริมาณของฟอสฟอรัส
2. ระดับการระเหยต่ำ
3. ทดสอบการเกิดเขม่าในอุณหภูมิสูง
4. ทดสอบการเกิดโฟมในอุณหภูมิสูง
5. ทดสอบการรวมตัวกับน้ำ
6. การรวมตัวได้ของสารหล่อลื่น
7. ความสามารถในการคงสภาพการหล่อลื่นเมื่ออุณหภูมิต่ำ

น้ำมันเครื่องเกรดคุณภาพ SJ มีคุณสมบัติโดดเด่น คือ
1. ช่วยยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์บำบัดไอเสีย (แคตตาลิติก คอนเวอร์เตอร์) เพราะมีการควบคุมปริมาณของฟอสฟอรัสไว้ต่ำมาก (ระบบบำบัดไอเสียเพิ่งจะมีการผลิตให้กับรถมอเตอร์ไซค์ในประเทศไทยเมื่อไม่กี่ปีมานี้)
2. ช่วยประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง
3. ลดการปล่อยมลพิษ
4. คงสภาพทุกช่วงอุณหภูมิได้ดี
5. การใช้น้ำมันเครื่องต่างชนิดต่างรุ่นผสมกันใช้งานด้วยความจำเป็น มีความเสี่ยงต่อการแยกตัวหรือส่งผลลบน้อย

******* ไม่มีตรงไหนระบุไว้ว่า น้ำมันเครื่องเกรดที่สูงกว่า SG มีการเพิ่มสารหล่อลื่นเข้าไปในน้ำมันเครื่อง ที่อาจจะทำให้เกิดอาการครัชลื่นได้ เหมือนกับที่โฆษณาโดยน้ำมันหล่อลื่นยี่ห้อหนึ่งในไทย


น้ำมันเครื่องทุกรุ่นทุกยี่ห้อสามารถใช้กับเครื่องยนต์เบนซินหรือดีเซลได้ แต่จะดีหรือไม่ต้องขึ้นอยู่กับผลการทดสอบตามมาตรฐานของ API โดยไม่จำเป็นต้องดูเพียงข้างกระป๋องว่าน้ำมันเครื่องรุ่นนี้รุ่นนั้นเหมาะสำหรับเครื่องยนต์เบนซินหรือดีเซล นั่นเป็นเพียงกลยุทธ์ทางการตลาด ให้ดูตาม API เป็นหลักเพราะก่อนน้ำมันเครื่องจะวางจำหน่าย มักถูกนำไปทดสอบกับเครื่องยนต์ทั้งเบนซินและดีเซลตามมาตรฐานของ API และเมื่อทดสอบออกมาแล้ว ถ้าเกรดคุณภาพสำหรับเครื่องยนต์เบนซินเด่นกว่า ก็จะนำเกรดคุณภาพนั้นระบุไว้นำหน้า ตามหลังด้วยเกรดคุณภาพสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล เช่น API SJ/CE แล้วโฆษณาว่าเป็นน้ำมันเครื่องสำหรับเครื่องยนต์เบนซิน
ในทางกลับกัน ถ้าทดสอบแล้วผลออกมาว่าเกรดคุณภาพสำหรับเครื่องยนต์ดีเซลเด่นกว่า ก็จะนำเกรดคุณภาพนั้นระบุไว้นำหน้า ตามหลังด้วยเกรดคุณภาพสำหรับเครื่องยนต์เบนซิน เช่น API CG-4/SF แล้วโฆษณาว่าเป็นน้ำมันเครื่องสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล แต่ถ้าทดสอบแล้วเกรดคุณภาพด้านใดเด่นมาก แต่อีกด้านแย่สุดๆ ก็อาจระบุเฉพาะเกรดคุณภาพที่เด่นเท่านั้น เพราะระบุด้านรองไว้ก็ไม่มีความน่าสนใจหรือเสียชื่อเสียง รวมทั้งอาจระบุชัดเจนว่าเหมาะสำหรับเครื่องยนต์เบนซินหรือดีเซล เช่น API SJ หรือ API CG-4 ไปเลยก็มีปัจจุบันเริ่มมีน้ำมันเครื่องบางรุ่นในบางยี่ห้อ มีมาตรฐานคุณภาพสูงสุดทั้งจากการทดสอบกับเครื่องยนต์เบนซินและดีเซล API SJ/CH-4 ออกมาจำหน่ายกันบ้างแล้ว

******* 3. เกรดความหนืด
เกี่ยวข้องกับการสร้างชั้นเคลือบและการไหลเวียนของน้ำมันเครื่อง เป็นอัตราการไหลของปริมาณน้ำมันเครื่องต่อขนาดและความยาวของรู ต่อหน่วยเวลา ณ อุณหภูมิหนึ่ง เช่น น้ำมัน 60 ซีซี (ลูกบาศก์เซนติเมตร) ไหลผ่านรูขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.77 มิลลิเมตร ความยาวของรู 12.25 มิลลิเมตร ณ อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียสโดยมีหลายหน่วยการวัด เช่น ระบบเมตริก หน่วย cSt เซนติกโตส, สหรัฐอเมริกา หน่วย SUS, SSU วินาทีเซย์โบลต์, อังกฤษ หน่วย RW1 เรดวู๊ด และยุโรป E อิงเลอร์ โดยมีความแตกต่างกันในรายละเอียดและทุกอุณหภูมิการวัด

หน่วยการวัดข้างต้นเกี่ยวข้องกับงานอุตสาหกรรมเป็นหลัก ล้วนมีความยุ่งยากในการจดจำ ไม่เป็นสากล และไม่สะดวกในการเลือกใช้น้ำมันเครื่องทั่วโลก จึงมีสมาคมในสหรัฐอเมริกาที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก กำหนดเกรดความหนืดที่สะดวกและชัดเจนขึ้นใหม่ และง่ายต่อการเลือกของผู้บริโภค เปรียบเทียบกับหลายหน่วยการวัดข้างต้นได้แม่นยำ หน่วยงานนั้นคือ สมาคมวิศวกรรมยานยนต์ SAE - SOCIETY OF AUTOMOTIVE ENGINEERSโดยกำหนดใช้อักษรย่อ SAE ตามด้วยเกรดความหนืดเป็นตัวเลขจำนวนเต็มที่ลงท้ายด้วย 5 หรือ 0 เช่น 15, 30 หรือ 50 ฯลฯ เลขมากยิ่งหนืด เลขน้อยยิ่งใส เช่น 50 หนืดกว่า 40 และ 5 ใสกว่า 20 โดยวัดที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส (210 องศาฟาเรนไฮต์) ซึ่งใกล้เคียงกับอุณหภูมิของน้ำมันเครื่องที่ไหลเวียนขณะเครื่องยนต์ทำงาน

ถ้าวัดที่ -18 องศาเซลเซียส (0 องศาฟาเรนไฮต์) ซึ่งใกล้เคียงกับอุณหภูมิของอากาศในบางประเทศที่หนาวจัด เพื่อป้องกันปัญหาน้ำมันเครื่องหนืดเกินไปจนไหลไม่ไหว จะตามท้ายตัวเลขด้วยตัวอักษร W-WINTER เช่น 5W, 10W หรือ 20W ฯลฯ การเลือกน้ำมันเครื่องในไทย ให้สนใจตัวเลขเปล่าๆที่ไม่ได้ตามท้ายด้วย W เพราะไม่มีอุณหภูมิติดลบ อากาศปกติก็ 20-35 องศาเซลเซียสอยู่แล้ว (ยอดดอยก็ยังไม่ถึงเลย)

การเลือกใช้น้ำมันเครื่องในด้านเกรดความหนืด ต้องเกี่ยวข้องกับอุณหภูมิอากาศทั่วไป และสภาพความหลวมของชิ้นส่วนภายในเครื่องยนต์ เพราะต้องมีความหนืดเหมาะสมต่อการไหลเวียนภายในเครื่องยนต์ เช่น ถ้าอากาศภายนอกเย็นจัด น้ำมันเครื่องก็ควรใส ไหลง่าย ในช่วงสตาร์ทเครื่องยนต์และยังไม่ร้อน ถ้าน้ำมันเครื่องหนืดเกินไปก็ไหลเวียนไม่ทัน และอาจทำให้เครื่องยนต์สึกหรอหรือพัง

หากอากาศร้อนหรือเมื่อเครื่องยนต์ร้อนแล้ว แต่น้ำมันเครื่องใสเกิน ก็จะมีชั้นเคลือบบางเกินไป ทำให้เกิดการสึกหรอ และสิ้นเปลืองน้ำมันเครื่องจากการเล็ดลอดผ่านแหวนลูกสูบหรือยางหมวกวาล์วได้ น้ำมันเครื่องทุกชนิดสามารถแบ่งแยกได้อีกโดยเกรดความหนืด คือ เกรดเดี่ยว-เกรดความหนืดเดี่ยว (SINGLE GRADE) และเกรดรวม-เกรดความหนืดรวม (MUTI GRADE)

******* น้ำมันเครื่องเกรดความหนืดเดี่ยว
เรียกสั้นๆ ว่า น้ำมันเครื่องเกรดเดี่ยว ผลิตขึ้นมาเพื่อใช้ในภูมิประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิน้อย เช่น ร้อนหรือเย็นไปเลย ทั้งกลางวันกลางคืนและในฤดูต่างๆน้ำมันเครื่องไม่สามารถปรับความหนืดให้เหมาะสมเมื่ออุณหภูมิเปลี่ยนแปลงได้ เช่น น้ำมันเครื่องเมืองหนาว ถ้านำมาใช้เมืองร้อนก็ใสเกินไปและไม่สามารถปรับตัวให้หนืดขึ้นได้ ส่วนน้ำมันเครื่องเมืองร้อน ถ้านำมาใช้เมืองหนาวก็ข้นเกินไป ไหลไม่ไหว และไม่สามารถปรับตัวให้ใสได้ จำเป็นต้องเลือกใช้ให้ตรงกับอุณหภูมิ เมืองร้อนจะเลือกใช้น้ำมันเครื่องของเมืองหนาวเกรดความหนืดเดี่ยวที่วัดและระบุเป็น SAE ?W ไม่ได้

สำหรับน้ำมันเครื่องเมืองร้อน มีการผลิตและวัดความหนืดที่ 100 องศาเซลเซียส (ประเทศไทย) ระบุเป็นตัวอักษรย่อ SAE ตามด้วยตัวเลขเปล่าๆ เช่น SAE 20 น้ำมันเครื่องเมืองหนาว มีการผลิตและวัดความหนืดที่ -18 องศาเซลเซียส ระบุเป็นตัวอักษรย่อ SAE ตามด้วยตัวเลขและอักษร W เช่น SAE 10W? ปัจจุบันน้ำมันเครื่องเกรดเดี่ยวได้รับความนิยมน้อย เพราะผู้ผลิตหันไปทุ่มเทกับน้ำมันเครื่องเกรดความหนืดรวมซึ่งสามารถจำหน่ายได้ทั่วโลกทั้งเมืองร้อนเมืองหนาว

******* น้ำมันเครื่องเกรดความหนืดรวม
เรียกสั้นๆ ว่า น้ำมันเครื่องเกรดรวม ผลิตขึ้นมาเพื่อใช้ในภูมิประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิมากในแต่ละช่วงเวลาหรือฤดู หรือผลิตสูตรเดียวแต่สามารถจำหน่ายได้ทุกภูมิภาคทั่วโลก (ประหยัดต้นทุนในการผลิตและเก็บสินค้า) น้ำมันเครื่องเกรดรวมสามารถปรับหรือคงความหนืดให้เหมาะสมสำหรับการใช้งานทุกอุณหภูมิได้ เมื่อร้อนจะปรับตัวให้หนืด และถ้าเย็นลงจะปรับตัวให้ใส

โดยมีการผลิตและวัดความหนืด ณ 2 อุณหภูมิ คือ ที่ -18 องศาเซลเซียส ระบุเป็นตัวเลขอยู่ด้านหน้าตัวอักษร W เช่น 10W และที่ 100 องศาเซลเซียส ระบุเป็นตัวเลขเปล่าๆ เช่น 20 แล้วนำมาระบุรวมกันตามหลังตัวอักษรย่อ SAE โดยนำการวัดที่ -18 องศาเซลเซียสนำหน้าแล้วคั่นด้วยเครื่องหมาย - เช่น SAE 20W-50การผลิตน้ำมันเครื่องเกรดความหนืดรวมให้สามารถปรับความหนืดได้ เมื่อร้อนแล้วหนืด เย็นแล้วใส ต้องมีการเติมสารปรับความหนืด ซึ่งส่วนใหญ่นิยมใช้สารโพลีเมอร์ ที่เป็นโมเลกุลสายยาว เมื่อเย็นจะหดตัว น้ำมันเครื่องจึงใส ถ้าร้อนจะขยายและยืดตัวออก ทำให้น้ำมันเครื่องข้นขึ้น

โพลีเมอร์ แม้จะทำให้น้ำมันเครื่องสามารถปรับความหนืดได้ แต่เมื่อผ่านการใช้งานไประยะหนึ่ง โมเลกุลสายยาวของโพลีเมอร์มักจะขาดออกจากกัน เมื่อร้อนการขยายตัวจะน้อยลง และทำให้น้ำมันเครื่องมีความหนืดลดลงบ้าง ต่างจากน้ำมันเครื่องเกรดความหนืดเดี่ยวในมาตรฐานเดียวกันซึ่งไม่มีการเติมสารโพลีเมอร์ จะคงความหนืดเมื่ออายุการใช้งานผ่านไปได้ดีกว่า (เช่น SAE 20W50 เมื่อใช้ไปนานๆ ก็จะเหลือความหนืดไม่ถึง 50 อาจจะกลายเป็น SAE 20W 45 ก็ได้)

ตัวเลขที่ระบุความหนืด ลงท้ายด้วยตัวอักษร W วัดที่ -18 องศาเซลเซียส ตามด้วยตัวเลขเปล่าๆ วัดที่ 100 องศาเซลเซียส เช่น SAE 10W-50 ยิ่งมีตัวเลขห่างกัน เช่น 10 กับ 50 เกินกว่า 35 (50-10) แสดงว่าน้ำมันเครื่องนั้นสามารถปรับความหนืดตามการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิได้มาก ปรับตัวให้ใสหรือข้นได้มากแต่เมื่อผ่านการใช้งานไปแล้ว ความหนืดของน้ำมันเครื่องเมื่อร้อนหรือประมาณ 100 องศาเซลเซียส มีแนวโน้มว่าจะลดลงได้เร็วกว่าน้ำมันเครื่องที่มีเลขเกรดความหนืดห่างกันน้อยๆ เช่น ตามตัวอย่างจากเดิม SAE 10W-50 ความหนืดอาจเหลือเทียบได้เป็น SAE 10W-40 (แล้วถ้าน้ำมันเครื่องยี่ห้อหนึ่งที่มีความหนืด SAE 10W30 เมื่อใช้ไปนานๆ จะเหลือความหนืดเท่าไหร่อาจจะเหลือแค่ 10W20 ก็ได้ น้ำมันออโต้ลุ๊ปมีความหนืดประมาณ SAE 20)

ปัจจุบันน้ำมันเครื่องเกรดความหนืดรวมได้รับความนิยมทั้งในการผลิตและใช้งาน เพราะครอบคลุมทุกอุณหภูมิ ทั้งที่ในบางประเทศที่อุณหภูมิไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงอย่างไทย สามารถเลือกใช้น้ำมันเครื่องเกรดความหนืดเดี่ยวได้ก็ตาม อากาศในไทยมีอุณหภูมิเฉลี่ย 25-40 องศาเซลเซียส และเครื่องยนต์ก็ร้อนมาก หากเลือกใช้น้ำมันเครื่องเมืองหนาว ไม่ว่าเกรดความหนืดเดี่ยวหรือรวม การวัดค่าความหนืดตามตัวอักษรย่อ SAE และลงท้ายด้วยตัวอักษร W ที่ -18 องศาเซลเซียส จะไม่เกี่ยวข้องและไม่ต้องสนใจ ให้ดูที่การระบุความหนืดด้วยตัวเลขเปล่าๆ เป็นหลัก

การเลือกความหนืดของน้ำมันเครื่องให้ดูจากคู่มือประจำรถยนต์หรือรถมอเตอร์ไซค์ แล้วใช้ให้ตรงตามกำหนด โดยเน้นเฉพาะตัวเลขที่ไม่ได้ตามด้วยตัวอักษร Wแต่ถ้าไม่มีคู่มือให้เลือกตามนี้ เมืองไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนมาก และไม่มีติดลบ สามารถเลือกใช้น้ำมันเครื่องทั้งแบบเกรดความหนืดเดี่ยวและเกรดความหนืดรวมสำหรับเมืองร้อน โดยสนใจค่าความหนืดเฉพาะค่า SAE ที่ไม่ได้ลงท้ายด้วยตัวอักษร W เป็นความหนืด 40 หรือ 50 (เช่น เวลลอย มี 2 เกรด คือ SAE 40, SAE 20W50)

เครื่องยนต์ใหม่ สามารถใช้น้ำมันเครื่องความหนืด SAE 40 ใสหน่อยได้ เพราะชิ้นส่วนยังไม่มีช่องว่างห่างมากนัก และอนุโลมให้ใช้ความหนืด 50 ได้ ส่วนเครื่องยนต์ที่เริ่มเก่า ควรใช้ความหนืด SAE 50

หากเลือกใช้เองเป็นความหนืด SAE 40 ให้ดูด้วยว่ามีการกินน้ำมันเครื่องมากผิดปกติไหม (ไม่ควรเกิน 2,000-3,000 กิโลเมตรต่อน้ำมันเครื่อง 0.5-1 ลิตร) และมีควันสีขาวจากการเผาไหม้น้ำมันเครื่องที่เล็ดลอดเข้าห้องเผาไหม้ผสมออกมากับไอเสียหรือไม่ ถ้าผิดปกติให้เปลี่ยนไปใช้ความหนืด SAE 50

เครื่องยนต์ที่ผ่านการใช้งานไปสักระยะหนึ่ง จะมีช่องว่างระหว่างชิ้นส่วนต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะแหวนลูกสูบ ลูกสูบ และกระบอกสูบ แม้จะใช้น้ำมันเครื่องที่มีความหนืดตามกำหนดในคู่มือประจำรถยนต์แล้ว ก็ควรดูว่าในการใช้งานจริงเครื่องยนต์มีการกินน้ำมันเครื่องผิดปกติไหม ถ้ามากควรเปลี่ยนไปใช้น้ำมันเครื่องที่มีความหนืดเพิ่มขึ้นสัก 10 เบอร์ เช่น เดิมใช้ SAE 30 ก็ขยับไปเป็น SAE 40 แล้วดูอาการซ้ำอีก ยังไม่ควรข้ามจาก SAE 30 ไปยัง SAE 50 หรือเปลี่ยนครั้งเดียวเพิ่มขึ้น 20 เบอร์ไปเลย

เครื่องยนต์ส่วนใหญ่ถูกกำหนดให้ใช้น้ำมันเครื่องความหนืด SAE 40-50 ในช่วงแรก ส่วนใหญ่ก็ควรเลือกใช้ SAE 40 หรือ 50 เพื่อให้ชั้นเคลือบของน้ำมันเครื่องหนาเหมาะสมกับระยะห่างของชิ้นส่วนต่างๆ

การใช้มันเครื่องใสเกินไป ทำให้ชั้นเคลือบของน้ำมันเครื่องบางเกินไปจนเกิดการสึกหรอมาก (SAE 30) แต่ก็ทำให้เครื่องยนต์และปั๊มน้ำมันเครื่องรับภาระน้อยลง เพราะน้ำมันเครื่องไหลง่าย เครื่องยนต์ก็หมุนง่ายไม่หนืด เครื่องยนต์ที่ใช้ในการแข่งขันนิยมใช้ความหนืดของน้ำมันเครื่องพอดีๆ หรือใสไว้หน่อย เน้นกำลังของเครื่องยนต์โดยไม่กลัวการสึกหรอ แต่สำหรับการใช้งานทั่วไป ไม่ควรเลือกใช้น้ำมันเครื่องใสเกินไป เพราะจะเกิดการสึกหรอมาก แต่ก็ไม่ควรใช้หนืดเกินไป เพราะถึงแม้ชั้นเคลือบจะหนา แต่น้ำมันเครื่องไหลยากอาจหมุนเวียนไม่ทัน และสร้างภาระจนทำให้เครื่องยนต์กำลังตกลงได้

******* น้ำมันเครื่องปลอม & การเปลี่ยน อย่าเหนือห้องทดลองโดยการวัดด้วยตาหรือปลายนิ้ว
น้ำมันเครื่องปลอมหรือไม่ ไม่อาจทราบได้ด้วยตาหรือการสัมผัส ต้องทดสอบในห้องทดลอง จึงควรซื้อในร้านหรือแหล่งที่ไว้ใจได้การตัดสินใจเปลี่ยนน้ำมันเครื่องไม่สามารถเดาได้เอง เช่น สีคล้ำ แตะนิ้ว น้ำมันเครื่องมีสีคล้ำเร็วเกิดจาก 2 กรณี คือ มีการชะล้างที่ดี หรือภายในเครื่องยนต์สกปรก น้ำมันเครื่องที่ดำช้ามี 2 กรณี คือ ชะล้างไม่ดี หรือภายในเครื่องยนต์สะอาด (ไม่ค่อยเป็นไปได้) สีของน้ำมันเครื่องไม่สามารถสรุปได้ว่าคุณสมบัติด้านอื่นยังคงอยู่หรือเปล่า

การดึงก้านวัดน้ำมันเครื่องขึ้นมาแล้วใช้ปลายนิ้วแตะเพื่อวัดความหนืด ไม่มีความชัดเจน เพราะการวัดความหนืดและประสิทธิภาพด้านอื่นต้องเข้าห้องทดลอง ความรู้สึกของปลายนิ้วไม่สามารถบอกว่าน้ำมันเครื่องนั้นสามารถสร้างชั้นเคลือบได้ดีหรือไม่ ไฉนแค่ปลายนิ้วสัมผัสจะเก่งกว่าห้องทดลองอันแม่นยำ

******* เมื่อไหร่น้ำมันเครื่องเสื่อม
มิได้เสื่อมได้ด้วยระยะทางเท่านั้น แต่เกี่ยวข้องกับ 3 อย่าง คือ ระยะทาง ลักษณะการใช้งาน และเวลา

***ระยะทาง
เกี่ยวข้องกับชนิดของน้ำมันเครื่องเป็นหลัก แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับองค์ประกอบอื่นด้วยน้ำมันเครื่องชนิดสังเคราะห์ใช้งานได้ระยะทางมากกว่า โดยเฉลี่ยใช้งานทั่วไปได้ 10,000 กิโลเมตร ชนิดธรรมดา 5,000 กิโลเมตร และแบบกึ่งสังเคราะห์อยู่กึ่งกลาง คือ 5,000-7,000 กิโลเมตร (ไม่ใช่เอาน้ำมันเครื่องธรรมดามาบอกว่าใช้การผลิตชั้นสูงแล้วให้เปลี่ยนจาก 4,000 กม. เป็น 8,000 กม.)

โดยผู้ผลิตในต่างประเทศกำหนดระยะทางใช้งานไว้มากกว่านี้ แต่การแนะนำข้างต้นได้ประยุกต์ลดลงมา ด้วยเหตุผลอันแตกต่างสำหรับการใช้งานในเมืองไทย และอ้างอิงตามกำหนดของศูนย์บริการทั่วไป

***ลักษณะการใช้งาน
ส่งผลโดยตรงและเกี่ยวข้องกับระยะทางที่ใช้น้ำมันเครื่อง

การจราจรติดขัดในไทย เครื่องยนต์ยังทำงาน น้ำมันเครื่องยังหมุนเวียน แต่ระยะทางเพิ่มขึ้นน้อยมาก 1 ชั่วโมงอาจได้ระยะทางเพียง 5-10 กิโลเมตร แต่การขับรถยนต์หรือรถมอเตอร์ไซค์เดินทางไกลหรือในต่างประเทศ 1 ชั่วโมงน่าจะได้ระยะทาง 60 -120กิโลเมตร
แต่ถ้าใช้งานบนการจราจรติดขัดไม่มาก หรือสลับระหว่างการจราจรติดขัดกับทางไกล ก็เพิ่มระยะทางที่เหมาะสมขึ้นได้ ส่วนเส้นทางที่เต็มไปด้วยฝุ่นก็ลดทอนระยะทางที่เหมาะสมลงบ้าง เพราะฝุ่นที่เล็ดลอดผ่านไส้กรองอากาศเข้าไปในกระบอกสูบ จะเล็ดลอดผ่านแหวนลูกสูบลงไปผสมกับน้ำมันเครื่องได้
เวลา
รถยนต์หรือรถมอเตอร์ไซค์บางคันจอดมากกว่าใช้งานน้ำมันเครื่องสามารถเสื่อมลงได้แม้เครื่องยนต์ไม่ค่อยถูกใช้งาน เพราะมีการทำปฏิกิริยากับอากาศมากบ้าง น้อยบ้าง แม้ระยะทางไม่ครบกำหนด น้ำมันเครื่องกึ่งสังเคราะห์และสังเคราะห์ควรเปลี่ยนทุก 6-9 เดือน และน้ำมันเครื่องธรรมดาไม่เกิน 3-4 เดือน

น้ำมันเครื่องที่เหลือในกระป๋องต้องปิดฝาให้สนิท เก็บไว้ในที่แห้งและไม่ร้อนมาก จะคงสภาพได้ประมาณ 1-2 ปี

******* บทสรุปการเลือก
ไม่จำเป็นต้องถามไถ่หรือสนใจการประชาสัมพันธ์แบบเลื่อนลอยไม่ใช้คำพูดกำกวมเพื่อให้เข้าใจผิดว่า เป็นน้ำมันเครื่องเกรดสูงกว่าความเป็นจริง ควรตัดสินใจด้วยการอ่านจากข้างกระป๋องน้ำมันเครื่องเอง เพราะจะมีรายละเอียดของทั้ง 3 คุณสมบัติระบุไว้เสมอ คือ ชนิด, เกรดคุณภาพ และเกรดความหนืด

เลือกไล่เรียงกันให้ครบและตรงตามต้องการในแต่ละคุณสมบัติแล้วค่อยสรุป คือ
ชนิด = ธรรมดา & กึ่งสังเคราะห์ & สังเคราะห์ เกี่ยวข้องกับอายุการใช้งานของน้ำมันเครื่อง น้อยไปหามาก
เกรดคุณภาพ API / เครื่องยนต์เบนซิน = SJ & SH & SG ... / เครื่องยนต์ดีเซล = CG-4 & CF-4 & CE ... เกี่ยวข้องกับคุณภาพด้านต่างๆ ของน้ำมันเครื่องโดยตรง
เกรดความหนืด SAE ...W/40 & SAE ... W/50 & SAE 40 & SAE 50 เกี่ยวข้องกับการสร้างชั้นเคลือบและการไหลเวียน
เครื่องยนต์เบนซิน ควรเลือกน้ำมันเครื่องสังเคราะห์ API SJ หรือ SH อนุโลม SG ความหนืด SAE 40-50 (แต่มาตรฐานในไทยกำหนดให้แค่ SG ถ้าเป็นน้ำมันที่นำเข้าเกรดจะสูงกว่าเช่น MOBIL 1 SAE SJ, PETRONAT SJ, CALTEX REVTEX SYNTHETIC SJ ฯ)

******* อุณหภูมิที่เหมะสมกับความหนืดของน้ำมันเครื่อง
SAE 30 อุณหภูมิอากาศภายนอก 10-35 องศาเซลเซียส
20W-40,20W-50 อุณหภูมิอากาศภายนอก -10-50 UP องศาเซลเซียส
15W-40,15W-50 อุณหภูมิอากาศภายนอก -15-50 UP องศาเซลเซียส
10W-40อุณหภูมิอากาศภายนอก -20-50 UP องศาเซลเซียส
10W-30 อุณหภูมิอากาศภายนอก -20-35 องศาเซลเซียส
5W-30อุณหภูอากาศมิภายนอก ต่ำกว่า-40-35 องศาเซลเซียส




 

Create Date : 14 มกราคม 2548
0 comments
Last Update : 14 มกราคม 2548 22:44:55 น.
Counter : 1399 Pageviews.


ผมร้อยตำรวจเอกสมชายปลอมตัวมา
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




ยินดีต้อนรับทุก ๆ ท่าน เข้าสู่โรงพัก เอ๊ย!! เข้าสู่ Weblog ของกระผม

ถ้ามีสิ่งหนึ่งสิ่งใดบกพร่องไป ทางเจ้าภาพก็กราบขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย
Friends' blogs
[Add ผมร้อยตำรวจเอกสมชายปลอมตัวมา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.