Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2551
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
7 สิงหาคม 2551
 
All Blogs
 
วันรพี



วันที่ 7 สิงหาคม เวียนมาบรรจบอีกครั้งหนึ่ง บรรดาเหล่านักกฎหมายทั้งหลาย ต่างน้อมรำลึกและร่วมพิธีวางพวงมาลาสักการะอนุสาวรีย์พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เนื่องใน “วันรพี”

รศ.ธงทอง จันทรางศุ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะนักกฎหมายผู้หนึ่ง กล่าวถึงความสำคัญของวันนี้ให้ฟังว่า วันรพีเป็นวันที่มีความสำคัญและมีความหมาย ให้น้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระนามเดิมว่า พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ พระราชโอรสองค์ที่ 14 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเป็นพระราชโอรสรุ่นแรกที่ได้เสด็จไปศึกษาต่อยังทวีปยุโรป ทรงเลือกศึกษาวิชากฎหมาย ทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีเกียรตินิยมทางกฎหมาย จากมหาวิทยาลัยออกซ ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จในกรมฯ ทรงฝึกหัดราชการในกรมราชเลขานุการ ด้วยทรงมีพระสติปัญญาเฉลียวฉลาดมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ทรงแสดงพระปรีชาสามารถ ทั้งทรงพระวิริยอุตสาหะในพระภารกิจเป็นอย่างยิ่ง ทรงสามารถปฏิบัติงานในกรมนั้นได้ทุกตำแหน่ง โดยเฉพาะการร่างพระราชหัตถเลขา เป็นที่พอพระราชหฤทัยยิ่งนัก ถึงกับทรงออกพระนามพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นี้ว่า
“เฉลียวฉลาดรพี”


พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ ทรงเป็นกำลังสำคัญในการ ปฏิรูประบบการศาล ระบบกฎหมายและระบบการศึกษากฎหมาย ของประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 และที่สำคัญยิ่ง ทรงได้ริเริ่มการก่อตั้งระบบการศึกษากฎหมาย อย่างเป็นทางการขึ้นในประเทศไทย จากเดิมที่มีการศึกษาในครอบครัวตามแบบจารีตประเพณี จาก ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ เคยปฏิบัติกันมาอย่างไร ได้รับการถ่ายทอดสืบต่อๆกันมาอย่างนั้น

จัดตั้งโรงเรียนกฎหมายขึ้น สังกัดกระทรวงยุติธรรม เนื่องจากในสมัยนั้นยังไม่มีมหาวิทยาลัย ทรงสอนด้วยพระองค์เองและจัดการระบบทั้งหมด นักเรียนที่เรียนจบจากโรงเรียนกฎหมายแห่งนี้ ได้รับวุฒิการศึกษาที่เรียกว่า เนติบัณฑิต ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่สอนในวิชากฎหมาย ในเวลาต่อมา

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงได้รับการยกย่องให้เป็น “บิดาแห่งกฎหมายไทย” และเรียกวันที่ 7 สิงหาคม อันเป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของพระองค์ทุกปีว่า “วันรพี” นักกฎหมายไทยที่สำเร็จการศึกษาในเมืองไทย ควรตระหนักว่าความรู้ส่วนหนึ่งที่ได้รับมา มีรากฐาน มีพื้นฐานมาจากพระสติปัญญา ความทุ่มเทของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระองค์นี้

“การปฏิรูปกฎหมายนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะในอดีตกฎหมายดั้งเดิมของไทย เป็นกฎหมายจารีตประเพณี อาทิ กฎหมายตรา 3 ดวง ศาลแยกอำนาจตุลาการออกมาอย่างเด็ดขาดเฉกเช่นในปัจจุบัน มีการปะปน สอดแทรก กลืนเป็นเนื้อเดียวกันกับอำนาจ บริหารอย่างชนิดที่แยกกันไม่ได้ ไม่มีความชัดเจน รวมทั้งโรงเรียนกฎหมายยังไม่ปรากฏ แต่พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ทำได้และสำเร็จอย่างงดงาม”

นอกจากทรงวางรากฐานกฎหมาย ระบบศาลแล้ว ทรงเน้นย้ำเรื่องของจริยธรรม คุณค่าของความดี ความงามทั้งหลาย ทรงสั่งสอนลูกศิษย์อยู่เสมอว่า คนเราเวลาจะทำอะไรควรคิดถึงคนอื่นให้มาก นักกฎหมายที่เป็นผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายอยู่ ไม่ว่าจะเป็นผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ นิติกรตามกระทรวงต่างๆ หรือในอาชีพอื่นใดที่ต้องใช้กฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง ครูคนแรกได้บอกไว้ว่า ความรู้ทางกฎหมายนั้น จริงอยู่ต้องเรียน ต้องขวนขวาย แต่การที่จะนำความรู้มาใช้นั้น ต้องให้เป็นประโยชน์ของส่วนรวม ไม่กลั่นแกล้งรังแกใคร ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ

ระบบการศึกษากฎหมายในปัจจุบันสิ่งที่เป็นห่วงคือ เรื่องของการเรียนการสอน ไม่ใช่แค่มี ห้องเรียน โต๊ะ เก้าอี้ มีครู มีคนมายืนบอกหนังสืออยู่หน้าชั้นผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นครูมาสอนนั้น น่าจะต้องมีองค์ความรู้ทางกฎหมายอย่างแตกฉานลึกซึ้งมากพอสมควร ในเรื่องที่ตนเองเป็นผู้สอน ไม่ใช่ว่าคนรู้กฎหมายทุกคนจะเป็นครูสอนเรื่องกฎหมายได้ ด้วยเหตุที่ว่า บางคนอาจจะไม่ได้ติดตามความก้าวหน้าทางวิชาการ


เพราะกฎหมายมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกปี เนื่องจากถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายเลย ก็เท่ากับว่า คนตายปกครองคนเป็น เพราะคนตายเขียนกฎหมายหลายสิบปีมาแล้ว บางท่านเสียชีวิตไปแล้ว แต่กฎหมายที่ท่านเขียนยังอยู่ คนจึงมักให้เหตุผลว่า เพราะเป็นกฎหมายเก่าก่อนจึงต้องเคารพ นับถือ คงไว้ ซึ่งในความเป็นจริง กฎหมายนั้นต้องทำให้มีฐานะเป็นปัจจุบันมากที่สุด เพื่อตอบคำถามของสังคม และแก้ปัญหาของสังคมในแต่ละยุคแต่ละสมัยได้

ในส่วนต่อมา ครูกฎหมายน่าจะสอดแทรกเรื่องของคุณค่าทางจริยธรรมลงไปในบทเรียนด้วย ไม่จำเป็นจะต้องจำแนกออกมา ซึ่งอาจจะมีหลักวิชาจริยธรรมสำหรับนักกฎหมาย แต่ไม่ได้เป็นความรับผิดชอบของผู้สอนวิชานั้นอยู่คนเดียว คิดว่าวิชาอะไรก็ตาม ครูที่สอนกฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา กฎหมายนอกประเทศ กฎหมายสิทธิมนุษยชน กฎหมายว่าด้วยเรื่องกฎหมายหุ้น ต้องมีวิธีอันชาญฉลาดหรือแยบยลที่แนบเนียนว่าสอดเสริมคุณค่าทางจริยธรรมลงไปให้กับผู้ที่จะเป็นนักฎหมายได้

“กฎหมายเป็นเรื่องที่ยากแก่การเข้าใจ ในส่วนนี้ต้องยอมรับ ซึ่งแท้จริงวิชากฎหมายก็เหมือนกับวิชาอื่นๆ เพราะเมื่อเป็นวิชาขึ้นมาแล้ว จึงเกิดสาระและเนื้อหา มีแม้กระทั่งศัพท์สแลงบางอย่างซึ่งเป็นการภายใน คงคล้ายกับวิชาทางการแพทย์ ที่เราฟังหมอพูดกันไม่รู้เรื่อง ใครที่ฟังวิศวกรพูดกันรู้เรื่องบ้าง ซึ่งถ้าคิดว่าเป็นการแกล้งไม่ให้ประชาชนรู้คงไม่ถูกนัก เพราะศาสตร์ที่เรียนมาเป็นเช่นนั้น แต่ความรับผิดชอบของทุกศาสตร์รวมทั้งนักกฎหมายด้วย ที่ต้องช่วยกันทำให้ประชาชน มีโอกาสเข้าถึงข้อมูลทางด้านกฎหมาย หรือข้อมูลในด้านต่างๆ ที่จำเป็นต่อการครองชีพ เช่น หมอ คนที่รู้เรื่องทางการแพทย์ ควรให้ความรู้ประชาชนว่าด้วยเรื่องของการป้องกัน รักษาโรคต่างๆ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับประชาชน”

เช่นเดียวกันกับความรู้ทางกฎหมายสำหรับประชาชนเรื่องการเผยแพร่ความรู้นักกฎหมายควรที่จะทำในบทบาท หน้าที่ของตนเองให้มีศักยภาพมีความพร้อม กระทรวงยุติธรรมโดยกรมคุ้มครองสิทธิ และเสรีภาพ มหาวิทยาลัยต่างๆ เนติยสภา พนักงานศาล อัยการ สำนักงานศาล ใครมีเครื่องมือ มีคน มีเวลาว่าง ควรออกไปแนะนำชาวบ้านต่างจังหวัด ในชุมชน มีการนัดหมาย มีการพูดคุยกัน เพื่อเผยแพร่ความรู้ในเรื่องของกฎหมาย เพราะการป้องกันย่อมดีกว่าการรักษา ถ้า ทุกฝ่ายช่วยกันทำอย่างนี้ได้ กฎหมายก็จะเป็นมิตรกับประชาชน ไม่***งเหินจนพูดคุยกันไม่รู้เรื่อง

กฎหมายไม่ใช่ใครที่ไหนเขียนที่จริงแล้วประชาชนเป็นคนเขียนกระบวนการการเลือกตั้ง กระบวนการการใช้สิทธิใช้เสียง ในระบอบประชาธิปไตย ทำให้ได้ผู้แทน ได้คนมาทำหน้าที่แทนเราอยู่ในองค์กรนิติบัญญัติ และเป็นคนออกกฎหมาย ฉะนั้นกฎหมายจริงแล้วมีกำเนิดมาจากประชาชน จึงขออย่าได้เห็นว่า กฎหมายเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ไกลตัว ไม่เกี่ยวกับเรา เพราะกฎหมายเป็นของทุกคน ถ้าเห็นว่าไม่ดี เก่า ล้าหลัง ไม่เป็นธรรม ควรแสดงความคิดเห็น ต้องรู้ ต้องวิพากษ์วิจารณ์ได้ นักกฎหมายทั้งหลายต้องรับฟังและทำให้กฎหมายเข้าใจง่าย รวมทั้งมีการบอกกล่าวให้ประชาชนทราบกฎหมายในส่วนต่างๆ

“วันรพี ปีหนึ่งมีครั้งเดียว อย่างน้อยนักกฎหมายทุกคน ในวันที่ 7 ส.ค. ของทุกปี หากย้อนถามตนเองว่าได้ทำหน้าที่ของนักกฎหมายที่สมบูรณ์แบบแล้วหรือยัง บกพร่องในส่วนใดก็ทำให้ดีขึ้น ปฏิบัติภารกิจหน้าที่ต่าง ๆ ในแนวทางที่พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ บำเพ็ญ ประพฤติเป็นแบบอย่าง สิ่งนี้เป็นเครื่องบูชาสักการะที่งดงามยิ่งกว่าพวงมาลัยดอกไม้ที่นำมาถวายที่หน้าอนุสาวรีย์เสียอีก” รศ.ธงทอง กล่าวทิ้งท้าย

เพื่อให้กฎหมายไทยจะ ได้คงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ตลอดไป


ที่มา:หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


ข้าพเจ้า ในฐานะนักศึกษากฎหมาย ขอน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณของพระองค์ และจะปฏิบัติตนเป็นคนดี เป็นนักกฎหมายที่ดีตามแนวทางที่พระองค์ประพฤติเป็นแบบอย่างค่ะ







Create Date : 07 สิงหาคม 2551
Last Update : 7 สิงหาคม 2551 23:48:40 น. 0 comments
Counter : 2399 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

zeazamean
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




นักศึกษากฎหมายนอกคอก ที่ไม่ชอบท่องตำรา
รักการท่องเที่ยวเป็นชีวิตจิตใจ
มีความหวัง ความฝัน เหมือนคนทั่วๆไป
อยากเที่ยวรอบโลก
อยากเป็นผู้พิพากษา
ที่สำคัญจะทำให้เป็นจริงให้้ได้ด้วย
Friends' blogs
[Add zeazamean's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.