Group Blog
 
 
กันยายน 2548
 
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
9 กันยายน 2548
 
All Blogs
 

ครูนูญ

ฉันกลับบ้านพร้อมกับแบกความรู้สึกกลับมาหลายหลาก
ด้วยความรู้สึกคิดถึงบวกกับไม่มีที่ไป
เหมือนพ่ายแพ้แต่ก็ไม่ถึงกับแพ้ซะทีเดียว
ยังมีข่าวคราวของความสำเร็จเฉพาะในความรู้สึกของเรากลับมาฝากพ่อกับแม่
พ่อบอกฉันว่าไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากให้ลูกอยู่ไกลบ้าน ไกลอ้อมอกอุ่นๆ
ส่วนเราก็อยากบอกพ่อเหมือนกันว่า
จะมีลูกคนไหนอยากอยู่ไกลบ้านบ้างก็แล้วแต่
แต่ลูกอย่างฉันไม่เคยอยากอยู่ห่างบ้านเลย

ฉันมีกำหนดเดินทางไปอเมริกาอย่างคร่าวๆ อีกประมาณ 2 เดือน
ด้วยอารมณ์อยากบอกว่า “ลูกทำได้แล้วนะพ่อ”
แม้บางคนในเมืองหลวงหรือแม้แต่คนที่มีโอกาสดีกว่าฉันจะได้เดินทางไปเป็นร้อยๆครั้งในรอบปี
แล้วกระดกริมฝีปากถากถางฉันก็ตาม
แต่ในใจลึกๆฉันเองก็ภูมิใจที่มีแรงต่อสู้ดิ้นรน
รวมทั้งขวนขวายจนมีแววจะได้ไปและในที่สุดฉันก็ได้ไปจริงๆ

โครงการ AuPair Care
เป็นโครงการร่วมกันระหว่างรัฐบาลอเมริกากับประเทศเพื่อนบ้าน
เปิดโอกาสให้เด็กผู้หญิงซึ่งมีอายุตั้งแต่ 18 - 26 ปี
ได้เรียนและทำงานที่อเมริกา มีเงินค่าเล่าเรียนให้ในระยะสั้น
มีที่พักและอาหารให้ตลอดระยะเวลา 1 ปี
ซึ่งเราจะตอบแทนเขาโดยการทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงดูแลเด็กในครอบครัวที่เข้าร่วมโครงการนี้
แม้จะยังไม่เกิดขึ้นแต่ฉันก็รู้สึกตื่นเต้น
ฉันจำเป็นต้องเก็บชั่งโมงในการอยู่กับเด็กเล็กๆถึง 200 ชั่วโมง
การเลือกมาทำอะไรอย่างนี้ที่บ้านด้วยเหตุผลอย่างเดียวคือประหยัดเงิน

20 กันยายน เป็นวันเริ่มต้นของการเก็บชั่วโมง
ฉันใช้เวลาอยู่กับเด็กตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 3 โมงเย็น ทุกวันจันทร์ถึงศุกร์
ฉันรู้สึกว่าเวลาช่วงนี้ของฉันเชื่องช้ากว่าปกติ ไม่น่าเชื่อหมู่บ้านที่เคยครึกครื้น
จนได้ชื่อว่า “เมืองม่วน” (ม่วน - สนุก) จะเงียบเหงาเพียงนี้
ครั้งหนึ่งตั้งใจไปหาซื้อกระติบใส่ข้าวเหนียวฝากเพื่อน
กว่าจะหาได้ยากกว่าที่คิด ต่างกับเมื่อครั้งที่ฉันเป็นเด็ก
พวกจักสานมีให้เห็นเกลื่อนกลาด ผู้เฒ่าผู้แก่ที่เคยจักสานเป็นในอดีต
คงล้มหายตายจากไปเกือบหมดแล้ว
กระติบข้าวธรรมดาๆเลยดูเป็นของมีค่าหายากในปัจจุบัน

เดินหาซื้อตามคำบอกของคนต่อคน ชี้ไปบ้านโน้นต่อไปบ้านนี้
ชี้ไปบ้านนี้ต่อไปบ้านโน้น จนมาถึงบ้านหลังที่มีกระติบข้าวให้ซื้อได้จริง
ยายเจ้าของบ้านยิ้มทักทายอย่างสนิทสนมคงเป็นเพราะพ่อของฉันเป็นที่รู้จักของชาวบ้าน
เนื่องจากเคยทำงานรับใช้สังคมในฐานะ “กำนัน” นานถึง 6 ปี
ฉันมองไปรอบๆด้วยความรู้สึกเหงาจับใจ บ้านไม้หลังเก่าๆ 4 - 5 หลัง
มีผู้เฒ่านั่งแกะลำไยอบแห้งอยู่ใต้ถุนบ้าน 3-4 คน เด็กตัวเล็กๆ
ฉันเดาเอาว่าน่าจะเป็นหลานมากกว่าลูก
วิ่งไล่กันสนุกสนานบนลานกว้างระหว่างบ้าน มีคำถามเกิดขึ้นกับฉันมากมาย
คนหนุ่มสาวหรือแม้กระทั่งผู้ใหญ่วัยทำงานหายไปไหนหมด
ฉันซื้อกระติบข้าวโดยไม่ต่อราคายายเลยแม้แต่บาทเดียว
ต่างกับทุกครั้งที่ซื้อของในเมืองกรุง ฉันส่งกระติบข้าวให้เพื่อนทางไปรษณีย์
คิดนึกในใจว่าเพื่อนคงชอบของขวัญชิ้นนี้มาก พอๆกับฉัน

เช้าวันพุธ ที่ 22 อากาศสดชื่นกว่าวันใดๆ
นับตั้งแต่ฉันเริ่มเก็บชั่วโมงกับเด็กมา ฟ้ากระจ่างใสไม่มีฝนเหมือนวันก่อน
ฉันไปโรงเรียนเร็วกว่าปกติ เพราะชอบขี่มอเตอร์ไซค์ยื่นหน้าบานๆโต้ลมเย็นๆ
มันทำให้รู้สึกเหมือนเราได้สัมผัสกับตัวจริงของลม
ระหว่างทางมีโอกาสได้แวะทักทายผู้คนเรื่อยมาจนถึงโรงเรียน สังคมบ้านนอก
(ฉันชอบคำนี้จัง “บ้านนอก” ) มักมีอะไรเล็กๆน้อยๆให้ได้ชุ่มชื่นหัวใจอย่างนี้เสมอ
มิตรไมตรี รอยยิ้มบวกกับสภาพแวดล้อมที่เงียบสงบ ต่างกับในเมืองใหญ่
ผู้คนต้องเร่งรีบแข่งขัน ขาดการแบ่งปัน บ้างมีน้ำใจ บ้างหลอกลวง
บ้างหวังผลต่างๆนานา

ฉันเดินดูโดยรอบโรงเรียน แต่ก่อนอาคารเรียนแต่ละหลังยังเป็นอาคารไม้
ชาวบ้านช่วยกันลงทุนลงแรง เพื่อให้ลูกหลานได้มีที่เรียนหนังสือ
ตั้งแต่เกิดพายุเมื่อครั้งปี 2533 อาคารคอนกรีตขนาดใหญ่ก็ถูกสร้างขึ้นใหม่
ทดแทนของเก่าที่สูญหายไปกับภัยธรรมชาติ
อาคารเรียนไม้หลังเก่าออกแบบง่ายๆไม่สลับซับซ้อน
ด้านหลังอาคารเป็นทุ่งนา เด็กหลายคนแอบมุดรั้วไปวิ่งเล่นบ่อย
หนึ่งในหลายคนคือฉันด้วย อาคารไม้ชั้นเดียวยกสูงจากพื้น
ฉันกับเพื่อนๆยังได้จับแปรงทาสี
ลงแชล็คกันเองตอนที่โรงเรียนประกาศซ่อมแซมอาคาร
เดินย้อนอดีตเรื่อยเปื่อยจนถึงที่ๆเคยเป็นสนามเด็กเล่น
ตอนนี้กลายเป็นห้องเรียนวิชาเกษตรไปเสียแล้ว
ฉันไม่เคยนึกตำหนิการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
บางครั้งแค่รู้สึกเสียดายภาพความทรงจำเก่าๆที่นานวันยิ่งเลือนลางตามกาลและเวลา

ห้องเรียนวิชาเกษตร ซึ่งแต่ก่อนเคยใช้เป็นสนามเด็กเล่น
ดูมีชีวิตชีวามากกว่าห้องเรียนอื่นๆใน โรงเรียน
ฉันถือวิสาสะเดินเข้าไปดูโดยไม่ได้ขออนุญาตใคร
“สวัสดีค่ะครู”
ฉันแปลกใจเมื่อเห็นครูประจำวิชานั่งทำงานในห้องคนเดียวแต่เช้า “ครูมนูญ”
หรือ“ครูนูญ” ที่ทุกคนรู้จัก เจ้าของห้องเรียนเกษตรอันร่มรื่น
“ว่าไง...มาถึงนี่ได้ยังไงวันนี้” คำถามที่คล้ายคำทักทายแรกของเช้าวันนี้
แม้จะเคยทักทายกันบ้าง ในบางวันที่ได้เจอ
แต่วันนี้ความรู้สึกฉันดูเหมือนจะพิเศษมากกว่าวันอื่นๆ
ครูลุกขึ้นจากเก้าอี้ให้ฉันนั่ง ฉันบอกครูว่า
วันนี้อากาศดีเลยทำให้อยากมาโรงเรียนแต่เช้า
ครูตอบว่าแกก็รู้สึกอย่างนั้นเหมือนกัน
ครูกำลังนั่งเขียนเอกสารเกี่ยวกับมะขามอยู่
ตั้งใจจะรวบรวมเป็นเล่มแต่ยังไม่มีโอกาส
ฉันจึงไม่อยากรบกวนแค่ถือโอกาสขออนุญาตเดินดูรอบๆอีกซักหน่อย

บอร์ดนิทรรศการเล็กๆตั้งอยู่ข้างฝา รูปภาพของเด็กๆร่วมมือกันทำแปลงผัก
อัดฟางลงถุงเพาะเห็ด มีภาพของชาวบ้านร่วมทำกิจกรรมกับเด็ก
มีผลงานเป็นชิ้นสำเร็จตั้งอวดโฉมยืนยันรูปภาพอีกที
ฉันนึกย้อน...ถึงวันที่ครูเคยสอนให้ฉันติดตาต่อกิ่ง
ฉันไม่ใช่เด็กเก่งแต่อาศัยว่าขยันและเผอิญติดตาต่อกิ่งได้ดีกว่าเพื่อน
ครูส่งฉันไปประกวดการติดตาในงานวันเด็กประจำอำเภอ
ฉันยังจำความรู้สึกวันนั้นได้ดี ฉันซ้อมติดตากับต้นมะม่วงทุกวัน
พอไปแข่งขันดันไปทำกับต้นเฟื่องฟ้า
ซึ่งจริงๆแล้วมันก็ไม่ได้แตกต่างกันมากมาย
เพียงแต่ฉันรู้สึกว่ามันทำยากกว่าต้นมะม่วงที่ฝึกมาหลายเท่า ตำแหน่งที่
1และที่ 2 เลยตกเป็นของโรงเรียนอื่น ส่วนฉันได้แค่ที่ 3
เพราะมีกันแค่สามคน ฮ่าๆๆ
จวบจนปัจจุบันฉันจบปริญญาตรีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะเกษตร
สาขาวิชาพืชสวน ได้เรียนรู้เรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับพืชมากขึ้น
แต่ความรู้วิชาเกษตรจากชั้นประถมที่ครูนูญสอนก็ยังติดตัวมาจนถึงทุกวันนี้

ฉันโตพอที่จะมองเห็นว่า นโยบายในการพัฒนาประเทศนั้นสำคัญมาก
แนวทางที่จะนำพาประเทศให้เป็นไปใน
ทิศทางใดนั้นขึ้นอยู่กับแผนพัฒนาประเทศทั้งหมด ตอนฉันเรียนอยู่ชั้น ป.6
คุณครูวิชาสปช. (ส่งเสริมประกบการณ์ชีวิต) สอนว่า ประเทศไทยต้องเป็น
"นิกส์" ทราบจากการท่องจำว่า "นิกส์ คือ ประเทศอุตสาหกรรม"
ความจริงแล้วประเทศไทยเป็นเมืองของเกษตรกร
ผู้คนส่วนใหญ่ทำมาหากินภาคเกษตร
ดังนั้นเราน่าจะเจริญเติบโตในทิศทางที่เกื้อหนุนพื้นฐานใดๆที่เรามีอยู่แล้ว
เพราะถือว่านั้นคือต้นทุน
แต่นั่นแหล่ะฉันก็เป็นแค่พลเมืองในประเทศคนหนึ่งที่ต้องยอมรับและปฏิบัติตามแนวทางเหล่านั้น
เช่นเดียวกันกับพลเมืองคนอื่นๆ

"คุณครูคะ ตอนนี้ครูมีโครงการอะไรที่อยากทำบ้างไหมคะ"
"ครูหรือ" ครูนูญคงงงๆที่อยู่ๆฉันก็ถามขึ้นมาเฉยๆ
หลังจากเจอกับครูนูญวันนั้น ให้หลังอีกสองวัน ฉันก็หาโอกาสแวะ
มาเยี่ยมเยียนห้องเรียนเกษตรอีกครั้ง
"ก็มีเหมือนกันนะ ครูคิดมานานแล้ว แต่ไม่ได้ทำซักที
ครูอยากทำไร่นาสวนผสม ปลูกหลายๆอย่างรวมกัน อยากให้เด็กมีรายได้"
"ยังไงหล่ะคะ" ฉันพอจะรู้จักคำว่า เกษตรผสมผสานมาบ้าง
และคิดวางแผนไว้ว่าจะทำหลังจากกลับจากอเมริกา
"ก็มีปลูกทั้งไม้ผล พืชผักสวนครัว พืชไร่ ปลูกผสมกันทุกอย่าง
อย่างพืชสวนครัวเราก็จะได้รายได้เป็นรายวัน พืชไร่ก็เป็นรายเดือน
ไม้ผลก็จะเป็นรายปี"
ครูเล่ายาวถึงโครงการที่ตนคิดอยากทำ
แต่ไม่ได้ทำเนื่องจากโรงเรียนไม่มีที่ดินว่างเพียงพอที่จะให้ทำอย่างที่คิด
"วิชาเกษตรนอกจากนั่งสอนทฤษฎีในห้องเรียนแล้ว
เด็กๆต้องได้ฝึกปฏิบัติกันจริงๆ ถึงจะบรรลุวัตถุประสงค์ ที่เคยทำมา
ก็ทำได้เท่านี้" ครูชี้ให้ดูแปลงผักบุ้ง 2-3 แปลง
ซึ่งอยู่ในบริเวณห้องเรียนเกษตร ครูเล่าให้ฉันฟังถึงที่ดินแปลงเล็กๆ
ซึ่งอยู่นอกโรงเรียน
“แต่ก่อนเคยทำเป็นเล้าไก่ ให้เด็กๆได้ฝึกปฏิบัติ และขายได้กำไรดีทีเดียว
แต่ชาวบ้านใกล้ๆเค้า ไม่ชอบใจ เพราะขี้ไก่ส่งกลิ่นไปรบกวนชาวบ้านเค้า
โครงการเลยหยุดชะงักไป”
เช้านี้ฉันสังเกตเห็นเด็กๆเดินเข้าออกห้องเรียนเกษตรตลอด
ครูบอกก่อนที่ฉันจะเอ่ยปากถาม
"เด็กๆจะดีใจมาก
ถ้าได้เก็บผลผลิตและได้เงินกำไรจากสิ่งที่พวกเค้าทำเพราะหมายความว่าเค้าจะได้เงินไปซื้อเชื้อเห็ดก้อนใหม่"
กริ่งสัญญาณเคารพธงชาติดังขึ้น ฉันขอตัวครูกลับไปเตรียมตัวสอน
"ครูคะ วันหลังหนูขออนุญาตมาคุยกับครูอีกนะคะ"
ครูยิ้มให้ฉันแทนคำตอบรับ

ฉันหาโอกาสไปนั่งคุยกับครูอีกหลายครั้ง
ภาพของครูคนหนึ่งชัดเจนมากในความรู้สึกของฉัน 32 ปีในอาชีพครู
ประสบการณ์และระยะเวลาอันยาวนานบนหนทางนี้
หาได้สั่งสมเป็นความท้อแท้และเหนื่อยหน่ายไม่
ครั้นแต่จะก่อตัวขึ้นมาเป็นมวลแห่งความศรัทธา เชื่อมั่นและพลังอันแน่วแน่
น้อยคนนักที่จักมีความสุขกับงานได้นาน
แม้จะได้ค่าตอบแทนมากมายขนาดไหนหรือแม้แต่จะเป็นงานที่ตนรัก
ทุกคนมีขอบเขตของความอดทนเสมอ แต่ไม่ใช่กับครูคนนี้

"อยากให้ผลส่งถึงชาวบ้าน สมมุติว่า เราสอนเรื่องการปลูกมะขามกับเด็กๆ
แล้วเด็กสามารถนำความรู้ที่ได้ ไปถ่ายทอดให้กับชาวบ้านได้
เหมือนเป็นวิทยากรน้อย เป็นสื่อกลางให้เรากับชาวบ้าน
อยากจะพัฒนาคุณภาพชีวิต เคยเห็นสภาพชาวบ้านแล้วเราสงสาร
เค้าไม่ค่อยมีรายได้" นี้คือเป้าหมายสูงสุดในการทำงานของครูนูญ
ครูนูญบอกกับฉันว่าตลอดชีวิตของความเป็นครู
ครูไม่สามารถทำเป้าหมายนี้ให้สำเร็จได้และรู้สึกเสียใจที่เป้าหมายของตนไม่บรรลุ
ฉันถามว่าแล้วทุกอย่างที่ครูทำมาไม่ถือเป็นความสำเร็จแล้วหรือ ครูบอกว่าใช่
แต่เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น
ฉันถามครูถึงสาเหตุที่ทำให้โครงการหลายอย่างของครูไม่บรรลุเป้าหมาย
ครูบอกว่าเป็นเพราะเราไม่มีสวนสาธิต เราทำให้เขาดูไม่ได้
ชาวบ้านเขาไม่เกิดศรัทธา เขาก็ทำการเกษตรแบบเก่าๆต่อไป

แต่ด้วยเป้าหมายที่แน่วแน่ของครูนูญ
เด็กนักเรียนหลายคนนำความรู้ที่ได้จากวิชาเพาะเห็ดไปบอกต่อพ่อกับแม่ที่บ้าน
ด.ช.จำลอง ราภิยะ เด็กนักเรียนชั้น ม.3
ด้วยลักษณะที่กล้าแสดงออกและตำแหน่งเจ้าหน้าที่ห้องสมุด
จำลองได้รับหน้าที่เป็นผู้อ่านเกร็ดความรู้หน้าเสาธงให้เพื่อนๆฟังเป็นประจำทุกวัน
จำลองบอกว่าตนเคยนำเรื่องการเพาะเห็ดของครูนูญไปอ่านหน้าเสาธงตอนตนเรียนอยู่ชั้น
ม.2 ที่สำคัญจำลองได้เรียนรู้เรื่องการเพาะเห็ดตั้งแต่เรียนอยู่ชั้น ม.1

"มีเห็ดฟาง เห็ดหูหนูแล้วก็เห็ดนางรมครับ" จำลองตอบด้วยท่าทางหนักแน่นอย่างทหาร
"ทำขายด้วยกินด้วยครับ พอได้เงินมาเราก็เอาทุนไปคืนครู ส่วนกำไรเราก็เอาไปซื้อเชื้อมาเพาะต่อ"
ฉันขอให้จำลองเล่าถึงวิธีการเพาะเห็ดอย่างคร่าวๆให้ฟัง
เผื่อว่าวันใดฉันสนใจจะได้ใช้ความรู้ที่ได้จากจำลองมาประกอบอาชีพบ้าง
"ตอนแรกก็ซื้อฟางจากชาวบ้านมาแช่น้ำก่อน 1 คืน แล้วเอามากองและหว่านปุ๋ย ทิ้งไว้ 3 วัน พี่ก็กลับกองฟาง แล้วก็ใส่ปูนขาวกับดีเกลือ"
"ปุ๋ยสูตรอะไรครับผม" ฉันถาม
"46-0-0 ครับ" จำลองตอบอย่างรวดเร็ว
"เสร็จแล้วก็ทิ้งไว้อีก 3 วัน พี่ก็กลับกองฟางอีกครั้ง คลุกผสมให้เข้ากัน
อัดฟางใส่ถุงจากนั้นก็เอาไปนึ่งในถัง 200 ลิตร
พอนึ่งเสร็จก็เอาไปเก็บไว้ในห้องที่ลมสอบถึง
เปิดจุกสำลีแล้วเทเชื้อที่ซื้อมาใส่ อย่าวางสำลีกับพื้นนะครับ ให้ถือด้วยนิ้วก้อยไว้ ปิดจุกสำลี
แล้วนำไปเรียงเก็บไว้ในห้องมืดเหมือนเดิม ทิ้งไว้ประมาณ 3-4 อาทิตย์
มันจะออกมาคล้ายๆใยสีขาว เราจะเอามีดกรีดถุง รอให้ดอกออก ก็เก็บผลผลิตได้"
"เอ้อๆๆ เก็บดอกก่อนนะครับ ค่อยรดน้ำ แล้วคอยเก็บดอกชุดต่อไป" จำลองเล่าอย่างผู้ชำนาญการ
"เราเก็บเห็ดได้ตลอด จนกว่าถุงจะขาดหรือฟางจะเน่าหมดถุง"
จำนองเป็นเด็กขยัน เขานำความรู้จากการเรียนไปเล่าให้พ่อฟัง พร้อมกับแนะให้พ่อเพาะเห็ดอย่างที่เค้าเคยทำ
"ผมคิดว่าเราซื้อเห็ดตามตลาดมันแพง อยากเพาะกินเอง เพราะวิธีทำมันใช้ทุนน้อย
ซื้อแต่เชื้อ ขวดละ 6 บาทและผม
ก็ชอบกินเห็ดฟางมากครับ" นั่นเป็นความคิดเห็นของ ด.ช.จำลอง
ที่มีต่อวิชาเพาะเห็ดและดอกเห็ดที่เค้าโปรดปราน

ขณะที่เด็กๆกำลังจะเรียนรู้เรื่องราวของการประกอบอาชีพพื้นฐานในบ้านเกิด
เชียงม่วนกลับเงียบเหงาเพราะผู้คนต่างพากันโยกย้ายถิ่นฐานเพื่อไปทำงานหาเลี้ยงชีพในต่างแดน
ผู้เฒ่าผู้แก่ ปู่ย่าตายาย รอคอยการกลับมาเยี่ยมเยือนของลูกหลานวันแล้ววันเล่า
ในวันเทศกาลเชียงม่วนจึงดูครึกครื้นเป็นพิเศษ มีรอยยิ้มเกิดขึ้นทั่วทุกครัวเรือน
แม้ว่า...วันหนึ่งพวกเค้าเหล่านั้นจะกลับมาแค่เผาศพบุพการีก็ตามแต่
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ พวกเค้าต้องการเงินในการดำรงชีพ
แนวคิดของครูนูญทำให้ฉันต้องกลับมานั่งคิด ทบทวนการกระทำอีกครั้ง
วันนี้เรากำลังทำอะไรอยู่…

ครูนูญสุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง ครูเป็นโรคความดัน
ครูบอกว่าบางครั้งเจ็บขึ้นหน้าอก บางครั้งปวดตา ปวดหัว ลุกนั่งเร็วไม่ค่อยได้
ฉันมองภาพจริงของครูที่นั่งอยู่ตรงหน้า ผมขาวเริ่มทำหน้าที่ตามวันและเวลา
ริ้วรอยเหี่ยวย่นก็เหมือนกัน มันทำหน้าที่ของมันได้อย่างซื่อสัตย์
รอบตาขาวครูเห็นเป็นเส้นเลือดเล็กๆ สีแดง
ทุกอย่างกำลังเป็นไปตามธรรมชาติ
"ช่วงนี้ครูไม่ค่อยไหวแล้ว สุขภาพไม่ดี เคยคิดจะยื่นใบลาออกครั้งหนึ่งแล้วกับแฟนครู
แต่ก็ต้องล้มเลิกไปเพราะเศรษฐกิจในครอบครัวยังไม่พร้อมจะให้ออก"
ครูนูญเล่าไปยิ้มไปเหมือนว่าเรื่องราวที่เล่าไม่ได้ทำให้แกทุกข์ใจแต่อย่างใด
ฉันนึกถึงบทความหนึ่งของธีรภาพ โลหิตกุล จากหนังสือเรื่อง "คนดลใจ"
ในตอนที่พูดถึง "ลุงหลู่"
ครูที่รักและเห็นคุณค่าศิลปะการรำนกและรำดาบของพวกไทใหญ่
ท่านได้ถ่ายทอดศิลปะนั้นให้กับเด็กๆจนเสียชีวิตตามวัยและเวลา
ฉันจำข้อความหนึ่งได้แม่น ธีรภาพ เขียนไว้ว่า "งานศพที่ดูต่ำต้อยของ "ครู" ผู้ยิ่งใหญ่"
น่าเสียดายที่ลุงหลู่มิอาจรับรู้ได้ว่าวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ของแก
ถูกนำมากล่าวยกย่องหลังจากแกได้จากโลกนี้ไปเสียแล้ว เช่นเดียวกัน
ฉันเองก็ไม่อยากยกย่องครูนูญ วีรบุรุษในใจ
ในตอนทื่ไม่มีท่านอยู่บนโลกนี้แล้ว

ด้วยความมีน้ำใจ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงานหรือเพื่อนต่างสายงาน
ในฐานะที่ครูนูญเคยทำงานเป็นคณะกรรมการสร้างคู่มือการอบรมของกรมการศึกษา
ดังนั้นเมื่อใดที่มีการทำตำแหน่งเกิดขึ้น
ครูทั้งในและนอกโรงเรียนต่างต้องการครูที่ปรึกษาคนนี้เสมอ
"ก็ช่วยเค้า เท่าที่พอจะทำได้ หลายครั้งครูจากแถบอีสาน ภาคกลาง
ภาคตะวันออก ภาคเหนือเขียนมาขอคำปรึกษาการจัดทำผลงานทางวิชาการ
เราก็ต้องช่วยเค้าเพราะเราสงสารเค้า"
"บางที่หาข้อมูลให้เค้าถึงเที่ยงคืน ตีหนึ่งยังไม่ได้นอน
ก็ต้องยอมเพราะเราอยากช่วย แต่ช่วงนี้ครูไม่ค่อยไหวแล้ว"
ครูนูญบอกว่า
พวกเขาทราบที่อยู่และเบอร์โทรจาก
ปกหลังของหนังสือแนวทางการพัฒนาผลงานทางวิชาการโครงการปฎิรูปการเรียนรู้สู่การพัฒนาวิชาชีพครู
สายงานครูผู้สอน เพราะครูนูญเป็นหนึ่งในคณะกรรมการที่จัดทำหนังสือเล่มนั้น
พอพวกเขาเห็นก็ติดต่อมา
“ครูรู้สึกดีใจที่ได้ช่วยให้ครูด้วยกันมีตำแหน่งที่สูงขึ้น
นั่นหมายถึงอัตราเงินเดือนที่เพิ่มมากขึ้นด้วย”
"โอ้ย สุดยอดลุงนูญ บ่มีใผเหมือนแกแหมแล้ว ตอนครูทำต๋ำแหน่ง
แกก็ให้คำปรึกษาชี้แนะ แถมยังจ้วยตรวจทานให้อีกหลายสิบรอบ
แกจะมีน้ำใจ๋กับทุกคนอย่างนี้เสมอเลยหล่ะ" คุณครูอรุณศรี
เพื่อนร่วมงานในตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวย
การโรงเรียนกล่าวชม
ส่วนฉันแนะให้ครูเลิกช่วยใครต่อใครเสียที
ฉันเห็นว่าไม่จำเป็นเลยซักนิดถ้าต้องเอาสุขภาพ
เพราะนั้นหมายถึงชีวิตของเราไปแลก
"ไม่ไหว เราก็พักก่อนแล้วค่อยทำใหม่" เป็นคำพูดสั้นๆของครูนูญ

ด้วยลักษณะนิสัยของครูนูญที่เป็นเช่นนี้อยู่แล้ว
การเรียนการสอนจึงมีเรื่องของคุณธรรมแทรกในบทเรียนอยู่เสมอ
ครูนูญบอกว่า เด็กนอกจากพัฒนาทางด้านการเรียนแล้ว
ด้านความคิดก็ต้องพัฒนาด้วย
ดังนั้นหนังสือประกอบการเรียนการสอนเกือบทุกเรื่อง ที่ครูนูญเขียนไว้
จึงมีคุณธรรมสอดแทรกไว้เสมอ เช่น หนังสือเรื่องการเพาะเห็ดต่างๆ ได้แก่
เห็ดนางรม เห็ดฟางและเห็ดหูหนู ครูนูญเขียนเล่าเป็นนิทาน
โดยมีตัวละครเป็นเด็กๆ ดำเนินเรื่อง หนังสือดังกล่าว บริษัทสำนักพิมพ์แม็ค
จำกัด ขอซื้อลิขสิทธิ์จากครูนูญเพื่อนำไปเผยแพร่
เนื่องจากเป็นหนังสือที่ให้ทั้งความรู้ และความบันเทิง แก่เด็กๆได้เป็นอย่างดี
ลุงนูญของเพื่อนร่วมงานต่างวัย ครูนูญของเด็กนักเรียนหลากหลาย
ครูผู้เปิดหน้าต่างความคิดของฉันว่า…

..คนเราแม้ไม่สามารถยิ่งใหญ่ในความคิดของใครๆ
แต่เราสามารถเลือกที่จะยิ่งใหญ่ในใจเราเองได้….

ฉันเดินทางตามความคิดที่ปราศจากการให้
เดินทางตามกระแสความต้องการของตัวเอง หาได้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นไม่
ครูนูญเป็นแบบอย่างของคนคิดดี น้อยคนนักที่จักตั้งคำถามกับตัวเองว่า
วันนี้เราทำประโยชน์อะไรให้คนอื่นบ้าง
ถึงแม้ครูนูญจะไม่มีผลงานชิ้นโบว์แดงมาอวดโชว์ให้ฉันดู
แต่ฉันรับรู้ถึงคุณค่าทางความคิดของครูคนนี้ได้เป็นอย่างดี

จากการเก็บชั่วโมงกับเด็กๆ
ทำให้ฉันมีโอกาสได้สัมผัสกับชีวิตของคนเป็นครูมากขึ้น
พวกเค้ากำลังพยายามทำอะไรเพื่อตอบสนองแนวทางหรือนโยบายของประเทศชาติอยู่ทุกๆวัน
ไม่ว่าผลจะออกมาสำเร็จหรือล้มเหลวก็ตาม
จิตวิญญาณในวิชาชีพของคนกลุ่มนี้ ถูกใส่และถ่ายทอดให้กับเด็กเล็กๆ
จนกระทั่งเติบใหญ่
เด็กเหล่านี้จักเติบโตเป็นคนดีของสังคมและประเทศชาติหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับกลุ่มคนเหล่านี้อย่างแท้จริง

ฉันนึกย้อนกลับไปมองวัยเด็กของฉัน ฉันมาโรงเรียนเพื่อเรียนหนังสือ
ถ้าคุณครูของฉันสอนให้ฉันรู้หนังสือเพียงอย่างเดียว
ฉันคงไม่เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่สามารถคิดนึกและไตร่ตรองต่อสิ่งใดๆได้มากเท่านี้
ฉันคงแค่อ่าน พูดและเขียนได้เท่านั้น
หลายคนแลกอาชีพความเป็นครูกับค่าตอบแทนที่เรียกว่า เงินเดือน
สังคมเปลี่ยนแปลงด้วยเทคโนโลยี และสิ่งอำนวยความสะดวกที่เพิ่มขึ้น
เด็กๆมีโอกาสสัมผัสกับด้านคมของความเจริญเหล่านั้นมากขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต
ครูต้องเพิ่มความเข้มแข็งในหน้าที่มากขึ้นหลายเท่า
เพื่อสร้างเกราะป้องกันที่แข็งแรงให้กับเยาวชน
และเขาเหล่านั้นก็จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีต่อไป

1 ปีที่อเมริกา
คงทำให้ฉันได้เห็นความเจริญทางวัตถุ อันเป็นที่สุดของโลกปัจจุบันมากขึ้นกว่าเดิม
และ 1 ปีที่อเมริกาชีวิตของคุณครูคนหนึ่ง คงไม่ทำให้ฉันลืมที่จะตั้งคำถามกับตัวเองว่า " เรามาที่นี่ทำไม? "







 

Create Date : 09 กันยายน 2548
13 comments
Last Update : 8 พฤศจิกายน 2549 4:08:39 น.
Counter : 705 Pageviews.

 

ยาวจัง อ่านไปครึ่งนึงแล้วล่ะ
เดี๋ยวมาอ่านไหมนะคะ

ชอบสไตล์และตัวตน จขบ.นะ
รักษาเอาไว้ล่ะ..ชัดเจนดี

อืมม์ ลองไปอ่าน..หลายมุมหลากอารมณ์..
หัวข้อ..สูญสลาย..
แล้วเม้นท์หน่อยสิคะ อยากอ่านจัง

 

โดย: p_tham 28 กันยายน 2548 9:35:21 น.  

 

 

โดย: p_tham 3 ธันวาคม 2548 3:14:11 น.  

 


 

โดย: p_tham 31 ธันวาคม 2548 7:59:36 น.  

 


ไม่อัพบล็อกเล่าเรื่องราวหน่อยรึ
รออ่านอยู่นะคะ

 

โดย: p_tham 8 กุมภาพันธ์ 2549 4:49:31 น.  

 

กำลังรอติดตามต่อเชียวครับ :)

 

โดย: ธามาดา IP: 210.246.74.247 10 กุมภาพันธ์ 2549 21:26:42 น.  

 

แวะมาทักทายค่า ติดตามอ่านอยู่นะค่ะ

 

โดย: Milky ออแพร์สาว (Dekpladib ) 6 เมษายน 2550 10:42:53 น.  

 

ใครเอาชื่อเราไปแต่งเป็นเรื่องน้อ
ก็สนุกดีครับ
ผมอยู่ม 6 โรงเรียนเชียงม่วนวิทยาคม
กำลังจะศึกษาใน คณะบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชา
การเงินการธนาคาร มหาวิทยาลัยภาคกลาง จ.นครสวรรค์
แล้วครับ

 

โดย: จำลอง ราภิยะ IP: 61.7.231.139 7 กุมภาพันธ์ 2551 15:41:06 น.  

 

ใครเอาชื่อเราไปแต่งเป็นเรื่องน้อ
ก็สนุกดีครับ
ผมอยู่ม 6 โรงเรียนเชียงม่วนวิทยาคม
กำลังจะศึกษาใน คณะบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชา
การเงินการธนาคาร มหาวิทยาลัยภาคกลาง จ.นครสวรรค์
แล้วครับ

 

โดย: จำลอง ราภิยะ IP: 61.7.231.139 7 กุมภาพันธ์ 2551 15:41:31 น.  

 

คิดถึงโรงเรียนเก่าจังเลย
ง่อมขนาด

 

โดย: จำลอง ราภิยะ IP: 61.7.231.139 7 กุมภาพันธ์ 2551 15:42:42 น.  

 

น้องจำลอง ติดต่อพี่ได้นะที่บล๊อคนี้ ถ้าจะให้ดี ทิ้งอีเมล์ให้พี่ด้วยนะจ้ะ

 

โดย: ก้อนหินริมทาง 4 มีนาคม 2551 0:33:20 น.  

 

พี่เอก็ศิษย์เก่า ร.ร.ชุมชนบ้านหลวง อยู่ ป4.ตอนปี2525(แล้วก็ย้ายไปเรียนที่กาญจนบุรี) แฮะ แฮะ นานไปหน่อย แต่ยังจำบรรยากาศได้เหมือนพึ่งเกิดขึ้น ตอนที่สร้างตึกอาคารชั้นเดียวด้านทิศเหนือยังยืนต่อคิวกันขนทรายส่งต่อกันเป็นทอดๆ (สนุกมาก) อาหารอร่อย ส้มตำ .50สตางค์เอง โดยอาแก้ว ภรรยา ครูศรีวง ท่านเคยเป็นครูประจำชั้น ป.3 หรือ 4นี่แหละ ขนมจีนน้ำเงี้ยวจาน 1บาทแต่ความอร่อยเกินร้อย (ไม่เว่อนะอร่อยจริงๆได้เยอะด้วย) ตอนเรียน ป.1 ครูลี เป็นครูประจำชั้น เวลาพักทานข้าวใครเอาข้าวใส่ปิ่นโตมากินก็จะนั่งล้อมวงกินกันหน้าห้อง มีเพื่อนทำวงแตกอึราดกางเกง เหม็นชิบ วงแตก อ๊วกแตกอ๊วกแตนกินไม่ลง(ไม่ได้เอามาขายนะตอนนั้นอยู่ ป.1 เอง ก.น.ยังไม่แข็งแรง) เฮ้อ คิดถึงอดีตจัง ถ้าใครมีอดีตกับ ร.ร ที่รักของเราก็ เล่าสู่กันอ่านด้วยนะค่ะ

 

โดย: พี่เอ IP: 203.150.206.90 26 ตุลาคม 2553 16:01:48 น.  

 

ผมเรียนอยู่ ร.ร.ชุมชนบ้านหลวง ถึงแค่ ป.3 เอง แล้วก็ย้ายตามแม่ไปต่อ ป.4 ที่ อ.ปง แต่ก็จำครูนูญ ได้เสมอ เพราะบ้านอยู่ไกล้กัน อยู่ ป.3 เมื่อปี พ.ศ.2526 ประมาณนี้แหละถ้าจำไม่ผิด ตอนนั้นที่สนามหน้าอำเภอเชียงม่วนมักจะมีหนังมาล้อมผ้าเก็บตังค์อยู่เป็นประจำ ผมกับอุ้ยชอบดูหนังมาก ผมมักถูกครูนูญตีหน้าเสาธงเกือบทุกครั้ง เพราะครูจะอนุญาติให้ไปดูได้เฉพาะคืนวันศุกร์และวันเสาร์เท่านั้น ไม่ได้พบเจอครูนูญเป็น 10ปีแล้ว ครูเป็นครูที่ดีมาก ไม่เคยมีพ่อแม่ของเด็กนักเรียนคนไหนโกรธครูนูญเลยหากลูกของตัวถูกตี ในสมัยนั้นเพราะทุกคนรักและเคารพครู

 

โดย: องอาจ IP: 119.31.88.92 3 พฤษภาคม 2554 9:35:20 น.  

 

ใครรู้จัก นาย วิจิตร กล้าหาญ (นาย อู) ฝากบอกว่าผมคิดถึง ติดต่อได้ที่ ardjadee007@hotmail.co.th

 

โดย: องอาจ IP: 119.31.88.92 3 พฤษภาคม 2554 9:46:12 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ก้อนหินริมทาง
Location :
Boston United States

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add ก้อนหินริมทาง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.