<<
เมษายน 2554
 
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
 
1 เมษายน 2554
 
 

ไหว้พระจังหวัดอ่างทอง – สิงห์บุรี กับ ขสมก เขต 6 (ตอนจบ)

อาทิตย์ 20 กุมภาพันธ์ 2554



ความเดิมต่อจากบล็อกที่แล้ว

ถึงเพื่อนชาวบล็อก


นู๋เมี่ยงขอขอบคุณที่เข้ามาอ่านบล็อกบันทึกการท่องเที่ยวทริปไหว้พระสิงห์บุรี และได้อนุโมทนาบุญมาด้วย

มีเพื่อนๆ สนใจทริปไหว้พระกับขสมก. และอยากทราบรายละเอียดเพิ่มเติม ข้อนี้สามารถโทรถามข้อมูลได้จากขตเดินรถที่ใกล้บ้านท่าน หรือที่ท่านเดินทางสะดวกได้โดยตรง อย่างนู๋เมี่ยงอยู่เขตภาษีเจริญ ใกล้กับอู่เขต 6 (อู่รถเมล์สาย ปอ 509 วัดม่วง) ก็มักจะใช้บริการเขตเดินรถนี้ซะโดยมาก เสียดายว่าเขตนี้มีโปรแกรมให้เลือกน้อย ไม่หลากหลายเท่าเขตเดินรถที่ 1 (อู่บางเขน)

ถ้าหากท่านไม่ทราบว่าอู่เดินรถเขตไหนอยู่ใกล้บ้าน สะดวกกับตัวท่านแล้ว (ตอนแรกนู๋เมี่ยงก็ไม่รู้เหมือนกัน) ให้ลองโทรไปที่เบอร์กลาง “184” แล้วแจ้งความประสงค์ ขอรายละเอียดเกี่ยวกับเขตการเดินรถ ทางเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ ก็จะให้หมายเลยอู่เดินรถ ที่สะดวกกับท่านมากที่สุด .... ลองดูนะคะ ส่วนค่าใช้จ่ายโดยสารรถตกอยู่ประมาณ 400 กว่าบาทนิดหน่อยค่ะ

........
........

มาเที่ยวกันต่อค่ะ... ทริปนี้ไม่มีโปรแกรมแวะพักเบรค จอดรถเพื่อรับประทานอาหาร ทั้งนี้เพราะทุกสถานที่ท่องเที่ยว (คือวัด) ที่พวกเราลงไปกราบพระ ชมสถานที่นั้นก็จะมีแผงอาหาร เครื่องดื่ม รถเข็นไว้ให้ผู้โดยสารช้อปปิ้ง เลือกซื้อกันตามอัธยาศัยดีอยู่แล้ว วัดบางแห่งยังมีโรงทานเปิดให้บริการอีกแน่ะ อย่างข้าวต้มและโอเลี้ยงที่นู๋เมี่ยงทานที่วัดพระนอนจักรสีห์นั่นไง เป็นต้น

11.50 น. รถเมล์ยูโรก็นำพวกเรามาถึงวัดพิกุลทอง ซึ่งเป็นวัดขนาดใหญ่ ที่มีถนนตัดพื้นที่วัดแบ่งออกเป็น 2 ส่วน จัดว่าเป็นวัดอกแตกอีกวัดหนึ่ง เจ้าหน้าที่ฯ ให้เวลาเที่ยวชม ไหว้พระที่นี่ 40 นาที


วัดพิกุลทอง



- ถ่ายภาพขณะนั่งอยู่ในรถ -


วัดพิกุลทองตั้งอยู่ที่อำเภอท่าช้าง จังหวัดสิงห์บุรี ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน้อย สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2434 พื้นที่ประมาณ 103 ไร่เศษ แบ่งออกเป็น 2 เขต คือ “เขตสังฆาวาส” เป็นสถานที่พักอาศัยของพระภิกษุสามเณร และสิ่งปลูกสร้างเสนาสนะภายในวัด และ “เขตพุทธาวาส” หรือ “เขตพุทธสถาน” เป็นที่ประดิษฐานองค์พระใหญ่ ปางประทานพร โดยรอบมีต้นไม้น้อยใหญ่

“วัดพิกุลทอง” นั้นเดิมมีชื่อว่า “วัดใหม่พิกุลทอง” แต่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า “วัดใหม่” เพราะเป็นวัดที่สร้างขึ้นใหม่ โดยไม่ได้เป็นวัดร้างมาก่อน ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดพิกุลทอง” เมื่อปี พ.ศ. 2483



“หลวงพ่อใหญ่” เป็นพระพุทธรูปศิลปะสมัยสุโขทัย ปางประทานพร หน้าตักกว้าง 11 วา 2 ศอก 7 นิ้ว ความสูงเฉพาะองค์พระถึงสุดพระเกตุ 15 วา 1 คืบ 7 นิ้ว ความสูงจากพื้นดินถึงสุดพระเกตุ 21 วา 1 คืบ 3 นิ้ว (มีใครพอจะประมาณเป็นเมตรให้นู๋เมี่ยงได้บ้างคะ?) สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก องค์พระประดับด้วยโมเสดทองคำ 24K จากประเทศอิตาลี ได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน นามว่า “พระพุทธสุวรรณมงคลมหามุนี”



ด้านหลังอยู่พระ ยังระบุวัตถุประสงค์ของผู้สร้าง “องค์พระพุทธสุวรรณมงคลมหามุนี“ ว่ามีอยู่ 3 ประการ คือ

1) เพื่อเป็นพุทธานุสสติ ระลึกถึงพระปัญญาคุณ พระกรุณาคุณ และพระวิสุทธิคุณ
2) เพื่อเป็นทัศนานุตริยะ สงเคราะห์ผู้ได้เห็น เลื่อมใส กราบไหว้ เกิดบุญ
3) เพื่อเป็นบุญนิธิ ผู้บริจาคถือว่าสร้างขุมทรัพย์บำรุงการศึกษา สืบอายุพระพุทธศาสนา

จากหลวงพ่อโตองค์ใหญ่ ใกล้ที่สุดคือวิหารรูปเหมือนหลวงพ่อแพ องค์ใหญ่ ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือขององค์พระใหญ่ประทานพร


- วิหารหลวงพ่อแพ –


ด้านในประดิษฐานรูปเหมือนหลวงพ่อแพ หล่อด้วยโลหะ ปิดทอง



พระธรรมมุนี (หลวงพ่อแพ) เจ้าอาวาสรูปที่ 5 ของวัดพิกุลทอง ตั้งแต่ พ.ศ.2474 – 2542 (68 ปี)



รูปเหมือนหลวงพ่อแพก่อสร้างด้วยทองเหลืองลงรักปิดทอง หน้าตักกว้าง 6 เมตร

ออกจากวิหารแล้ว เข้าไปกราบพระประธานในพระอุโบสถกันต่อค่ะ


- พระอุโบสถ -



- บานหน้าต่าง และใบเสมาบริเวณมุมอาคารพระอุโบสถ -



- "พระพุทธศรีวิริยโสภิต" พระประธานในพระอุโบสถ –




นู๋เมี่ยงกลัวว่าตัวเองจะทำเวลาไม่ค่อยดี ตัดสินใจไม่เดินในเขตพุทธสถานต่อ เลยไม่ได้สักการะพระพิฆเณศวร กราบพระสังกัจจายนะ พระสีวลี และหลวงพ่อโต พรหมรังสี

เดินเข้ามาในเขตฝั่งสังฆาวาส เข้าไปกราบศพของหลวงพ่อแพและรูปเหมือนหุ่นขี้ผึ้งท่านในพิพิธภัณฑ์หลวงพ่อแพ


- พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อแพ -


เป็นที่ตั้งศพของพระเดชพระคุณหลวงพ่อแพ และรูปเหมือนหุ่นขี้ผึ้งขนาดเท่าองค์จริง เป็นสถานที่ที่ศิษยานุศิษย์ และประชาชนทั่วไปเข้ามาสักการะบูชา




- รูปเหมือนหุ่นขี้ผึ้งหลวงพ่อแพ -


เที่ยงครึ่ง กลับมาขึ้นรถ พร้อมเดินทางต่อไป วิ่งกลับเข้ากรุงเทพ เพิ่งจะบ่ายโมง ทางเจ้าหน้าที่ขสมก. เห็นว่าพอมีเวลา เลยแถมจอดแวะให้ผู้โดยสารเข้าไปชมวัดขุนอินทรประมูล จังหวัดอ่างทอง ให้เวลาไหว้พระที่นี่ 20 นาที


วัดขุนอินทรประมูล


วัดนี้ตั้งอยู่ในตำบลบางพลับ อำเภอโพธิ์ทอง ห่างจากตัวเมืองอ่างทองประมาณ 7 กิโลเมตร องค์พระนอนหันพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ พระเศียรหันไปทางทิศตะวันออก มีความยาว 2 เส้น 2 วา นับว่าเป็นพระพุทธไสยาสน์ (พระนอน) ที่ยาวเป็นอันดับ 2 รองจากพระนอนจักรสีห์ ตั้งอยู่กลางแจ้งไม่มีวิหารคลุม

นู๋เมี่ยงได้อ่านเจอประวัติของวัดแห่งนี้ในเวปหนึ่งแล้ว เห็นว่าน่าสนใจดี เลยอยากขออนุญาตย่อเนื้อหาเก็บไว้เล่าในบล็อกของนู๋เมี่ยงด้วยค่ะ

ประวัติเดิม


เป็นเพียงสำนักสงฆ์ที่ใช้เป็นที่วิปัสสนา สร้างเป็นเพิงพักเครื่องไม้ไผ่หลังคามุงแฝกฝีมือชาวบ้าน บริเวณเดิมเป็นโคกสูง น้ำท่วมไม่ถึง สมัยโบราณจึงเป็นแหล่งที่ชาวบ้านนำวัวควายมาปลูกเพิงอาศัยดูแลในฤดูน้ำท่วม (เดือน 11 – 12 ของทุกปี) เมื่อน้ำลดก็นำวัวควายกลับ เป็นดังนี้มาตลอด .....



ตามตำนานสิงหนวัติกล่าวไว้ว่า ในสมัยกรุงสุโขทัยยังรุ่งเรือง พระยาเลอไทได้เสด็จจากกรุงสุโขทัยเดินทางโดยชลมารค (มาทางแม่น้ำยม เข้าสู่แม่น้ำปิง แล้วเข้ามาสู่แม่น้ำเจ้าพระยาแยกแม่น้ำมหาศร) มานมัสการพระฤาษีสุกกะทันตะผู้เป็นอาจารย์ ณ เขาสมอคอน เขตกรุงละโว้ เมื่อนมัสการพระอาจารย์แล้ว พระองค์ได้พักแรมอยู่เขาสมอคอน 5 เพลา (= 5 วัน?) ได้เสด็จข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาตามแม่น้ำน้อย ผ่านมาตามคลองบางพลับเพื่อเสด็จประพาสท้องทุ่ง เนื่องด้วยเวลาที่เสด็จมานั้นเป็นเวลาน้ำเหนือป่า จึงได้แวะประทับโดยสร้างพลับเพลา ณ โคกบางพลับแห่งนี้



ขณะประทับแรมอยู่ ณ โคกบางพลับ เวลาสาม เกิดศุภนิมิตทอดพระเนตรเห็นลูกไฟดวงใหญ่ลอยขึ้นเหนือยอดไม้ หายไปในอากาศทางทิศตะวันออก เกิดปีติโสมนัส ดำริสร้างพระพุทธไสยาสน์ขึ้นเป็นพุทธบูชา ด้วยคติว่าพระองค์ประทับแรมอยู่ ณ ที่แห่งนี้

พระองค์ทรงมอบหมายให้นายบ้านเกณฑ์แรงงานทั่วแคว้นแดนลุ่มแม่น้ำน้อยทั้งหมดขุดหลุมกว้าง 200 วา นำท่อนซุงนับร้อยท่อนวางขัดตารางเป็นฐาน แล้วขุดบ่อในทุ่งด้านหลัง ขนดินขึ้นถมสูง 3 วา และระดมผู้คนทำอิฐเผา ใช้เวลานาน 5 เดือนจึงสร้างแล้วเสร็จ ในปีพ.ศ. 1870 องค์พระพุทธไสยาสน์ยาว 20 วา สูง 5 วา

เมื่อสร้างพระพุทธไสยาสน์เสร็จ ขนานนามว่า “พระพุทธไสยาสน์เลอไทนฤมิต” แล้วเสด็จนิวัตรสู่กรุงสุโขทัย แต่เนื่องจากพระพุทธไสยาสน์เลอไทนฤมิต ถูกทอดทิ้งตากแดดตากฝนท่ามกลางป่ารกอยู่นาน ขาดการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง ในที่สุดก็ถูกทิ้งร้างมานานจนกรุงสุโขทัยเสื่อมอำนาจ



จนถึงกลางสมัยกรุงศรีอยุธยา รัชสมัยพระเจ้าบรมโกศ ในครั้งนั้นมีนายอากรตำแหน่งที่ขุนอินทประมูล นายบ้านบางพลับ ในประวัติเล่าสืบต่อมาว่า ขุนอินทประมูลนั้นมีจิตใจใฝ่ในการพระศาสนาอย่างยิ่ง ปรารภว่าจะพยายามซ่อมสร้างพระพุทธไสยาสน์ และสร้างวัดนี้ให้สำเร็จด้วยอุตสาหะแห่งตนให้จงได้ เริ่มแรกได้นำทรัพย์สินส่วนตัวที่เก็บออมไว้ออกมาสร้างวิหาร และเจดีย์ขึ้นได้สำเร็จเรียบร้อย

ต่อมา เห็นว่าพระพุทธไสยาสน์ทรุดโทรมลงทุกวัน องค์พระแทบพังทั้งหมด ทลายลงกองกับพื้นดิน จึงดำริถากถางป่าและซ่อมองค์พระพุทธไสยาสน์ขึ้นใหม่ รวมทั้งจัดสร้างหลังคาคลุมองค์พระขึ้น

การซ่อมสร้างพระพุทธไสยาสน์ในครั้งนั้นนับเป็นมูลค่าหลายร้อยชั่ง ขุนอินทประมูลนำทรัพย์ส่วนตัวออกมาสร้างจนหมด จึงมีเจตนายักยอกพระราชทรัพย์หลายร้อยช่างนำมาสร้างต่อจนสำเร็จ


- ผูกสายสิญจน์ไว้กับต้นสาละ -


แม้พยายามจะปกปิดไว้ แต่เรื่องนี้ได้แพร่งพรายถึงพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้นำขุนอินทประมูลขึ้นไต่สวน แต่ขุนอินทประมูลไม่ยอมรับผิด อ้างว่าเป็นทรัพย์ส่วนตนจัดสร้างขึ้นทั้งหมด จนที่สุดทนการลงทัณฑ์ของราชมัณฑ์ไม่ไหวจึงสิ้นใจตาย ก่อนสิ้นใจได้รับสารภาพผิดว่าได้ยักยอกทรัพย์ไปจริง แต่มุ่งเพื่อเป็นการเสริมพระบารมี

พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศได้เสด็จมาทอดพระเนตรด้วยตนเอง ทรงเห็นว่าขุนอินทประมูลมีความศรัทธาต่อพุทธศาสนาอย่างยิ่ง จึงโปรดให้ฝังร่างของขุนอินทประมูลไว้ในเขตพระวิหาร ด้านหลังองค์พระพุทธไสยาสน์ หลังจากทำพิธียกเกศทองคำหนัก 100 ชั่ง พระราชทานประดับเหนือเศียรพระพุทธไสยาสน์ และพระราชทานนามวัดว่า “วัดขุนอินทประมูล” และถวายนามพระพุทธไสยาสน์ว่า "พระพุทธไสยาสน์ขุนอินทประมูล"



หลังจากสูญสิ้นกรุงศรีอยุธยา วัดขุนอินทประมูลถูกทอดทิ้งร้างจมอยู่ในป่าโคกวัด จนล่วงสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ในครานั้นสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆังได้เดินทางขึ้นมาตรวจสอบพื้นที่ที่จะสร้างพระพุทธรูปนั่งพระมหาพุทธพิมพ์ ณ วัดเกศไชโย จังหวัดอ่างทอง เป็นช่วงฤดูน้ำหลาก สมเด็จฯ ให้ชาวบ้านผู้ติดตามแจวเรือลัดทุ่งมานมัสการพระพุทธไสยาสน์ที่วัดขุนอินทประมูล และพำนักพักค้างคืนอยู่ ณ บริเวณโคกวัดเป็นเวลา 1 คืน หลังจากสมเด็จฯ กลับไปวัดระฆังแล้ว ได้เข้าเฝ้าถวายพระพรเรื่องพระพุทธไสยาสน์วัดขุนอินทประมูลให้รัชกาลที่ 4 ทรงทราบ

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว ได้เสด็จมานมัสการพระพุทธไสยาสน์วัดขุนอินทประมูล ในปี พ.ศ. 2421 และปี พ.ศ. 2451

ข้อมูลจากเวปไซค์ //www.amulet.in.th/forums/view_topic.php?t=1870




- ซากปรักหักพัง ดูคล้ายวิหารเก่า -




เข้าไปกราบองค์พระด้านใน ได้ยินว่าที่นี่เคยมีโจรเข้ามาลักตัดเศียรองค์พระถึงในนี้ด้วย สุดท้ายก็สามารถนำเศียรท่านกลับคืนมาได้



จากวัดขุนอินทประมูล รถยูโรได้พาพวกเรามายังสถานที่ท่องเที่ยวแหล่งสุดท้ายของโปรแกรมในวันนี้ค่ะ คือ วัดนางใน อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง สักการะหลวงพ่อนุ่ม


วัดนางในธรรมมิการาม


จำได้ว่า ตอนที่รถบัสกำลังเลี้ยวปากทาง (ซุ้มประตู) ทางเข้าวัดนั้น จำต้องถอยรถเพื่อหักพวงมาลัยปรับระยะตัวรถลอดช่องประตูเข้าไปได้


- หลวงพ่อนุ่ม -

นู๋เมี่ยงมองหาพระอุโบสถ คิดอยากเข้าไปกราบพระประธานสักหน่อย แต่รู้สึกว่าโบสถ์จะปิด


- น่าจะเป็นกุฏิพระสงฆ์? -


ออกจากเขตวัด ข้างๆ ใกล้กันนั้นคือตลาดศาลเจ้าโรงทอง


ตลาดศาลเจ้าโรงทอง





- ป้ายประตูทางเข้าตลาด -


คณะของพวกเรามาถึงตลาดเพิ่งจะบ่าย 2 โมงเศษ แต่เหมือนตลาดข้างในจะวายเสียแล้ว เอาล่ะ ในเมื่อตลาดปิดแล้วไม่เป็นไร งั้นขอแวะชมศาลเจ้าโรงทองเสียหน่อยว่าอยู่ตรงไหน เดินไปเดินมาลึกเข้าไป เจอแล้ว ศาลเจ้า


- ศาลเจ้าพ่อกวนอู วิเศษชัยชาญ -


ไม่ใช่ “ศาลเจ้าโรงทอง” แต่เป็น "ศาลเจ้าพ่อกวนอู" ได้ยินเสียงกลอง ปี่ เครื่องดนตรีจีนดังออกมาจากข้างใน เห็นน้องๆ กำลังฝีกซ้อมดนตรีกันอยู่นี่เอง



ขึ้นบันไดเข้าไปดูข้างบนกันดีกว่า



หลังคาประดับด้วยปูนปั้นลวดลายหงส์ มังกร ตามคติความเชื่อของชาวจีน ซึ่งพบให้ได้ทั่วไปตามศาลเจ้า หรือวัดจีนทั้งหลาย



เดินเข้าประตูเข้าไปด้านใน จะเห็นแท่นบูชาเทพเจ้ากวนอูและเทพองค์อื่นๆ หันหน้าตรงเข้าหาประตูเลยทีเดียว



ที่น่าสนใจในศาลเจ้าแห่งนี้คือรูปเขียนบนผนังด้านบน มีทั้งภาพวาดตอนกวนอูออกรบ ตอนพระถังซำจังเดินทางแสวงบุญ (มีตือโป้ยไก่ ซัวเจ่งติดสอยห้อยตาม และเห้งเจียกำลังสู้รบ) ภาพวาดพระอรหันต์จี้กง ภาพสามก๊กตอนสาบานตนเป็นพี่น้อง (เล่าปี่ กวนอู เตียวหุย) และอื่นๆ ไม่รู้เรื่องอะไรบ้าง ฯลฯ



15.00 น. ได้เวลาเดินทางกลับเข้ากรุงเทพแล้ว แต่เนื่องจากผู้โดยสารบอกว่าอุตส่าห์พามาที่ตลาด แต่กลับไม่มีของกินขายเลย (ต่อว่ากลายๆ) ระหว่างเส้นทางวิ่งเข้ากรุงเทพ ทางเจ้าหน้าที่ฯ เลยแวะหาร้านอาหารให้ผู้โดยสารลงไปเลือกซื้ออาหารรับประทานได้ตามอัธยาศัย นู๋เมี่ยงไม่รู้สึกหิว... ก็ลงไปยืดเส้นยืดสาย เข้าทำธุระส่วนตัว แล้วก็กลับขึ้นรถ



ระหว่างที่อยู่บนรถ เจ้าหน้าที่ขสมก. ได้เล่าเรื่องสนุกสนานให้ผู้โดยสารฟังจนถึงกรุงเทพฯ สร้างความประทับใจให้กับผู้โดยสารได้เป็นอย่างดี

การได้ออกต่างจังหวัด มาไหว้/กราบพระ จะไปคนเดียว หรือหลายคนก็ดี หากโอกาสอำนวย ก็น่าจะไปดูนะคะ

แล้วพบกันใหม่ค่ะ


บันทึกจากภาพความทรงจำ
พฤหัสบดี 31 มีนาคม 2554





 

Create Date : 01 เมษายน 2554
3 comments
Last Update : 1 เมษายน 2554 22:09:47 น.
Counter : 6193 Pageviews.

 

เย้ เย้ สองวันนี้เคยไปมาแล้ว วัดพิกุลทอง กะวัดขุนอิน

แต่ว่า เด๋วนี้รู้สึกว่าแถวอ่างทองหรือไงเนี่ยมีวัดอีกวัดหนึ่งพระองค์โตมากกกก
ไม่รู้ว่าเทียบกับหลวงพ่อแพวัดพิกุลทองแล้วองค์ไหนจะใหญ่กว่า ^^

 

โดย: น้ำ-ฟ้า-ป่า-เขา 1 เมษายน 2554 23:28:07 น.  

 

คนอ่างทอง ตามมาเที่ยวด้วยคนค่ะ

 

โดย: kwan_3023 2 เมษายน 2554 7:31:47 น.  

 

เอ ขาดวัดป่าโมกนะเนี่ย ขสมก ไม่ยอมพาไปวัดหลวงพ่อพูดได้

 

โดย: rungsoda 3 สิงหาคม 2554 9:57:51 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

 

มามะ.. เมี่ยงเองค่ะ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




[Add มามะ.. เมี่ยงเองค่ะ's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com