บ้านรักษ์ไทย ขอร่วมส่งเสริมและสํานึกรัก ศิลปวัฒนธรรมไทย และภาคภูมิใจในศิลปวัฒนธรรมของชาติ ให้คงอยู่ยืนยาวตลอดไป
Group Blog
 
 
สิงหาคม 2551
 
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
22 สิงหาคม 2551
 
All Blogs
 

ชุดการแสดงประเภทฟ้อน


ฟ้อน หมายถึง ศิลปะการร่ายรำแบบพื้นเมืองที่มีลีลาการร่ายรำค่อนข้างช้า การแต่งกายและเครื่องดนตรีเป็นแบบพื้นเมือง มีจุดประสงค์เพื่อแสดงความงดงามอ่อนช้อย พร้อมเพรียง และแสดงออกถึงวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี
ฟ้อน แบ่งตามลักษณะการแสดงได้หลายประเภทดังนี้

1) ฟ้อนที่สืบเนื่องมาจากการนับถือผี เป็นการฟ้อนที่เกี่ยวกับความเชื่อ ความศรัทธาและพิธีกรรมที่เก่าแก่มีมาช้านานแล้ว เช่น ฟ้อนผีบ้านผีเมือง เป็นต้น

2) ฟ้อนแบบเมือง เป็นการฟ้อนที่มีลีลาการแสดงเป็นแบบฉบับของคนเมือง มีความอ่อนช้อยสวยงาม เช่น ฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียน ฟ้อนมาลัย ฟ้อนสาวไหม เป็นต้น

3) ฟ้อนแบบม่าน เป็นการฟ้อนที่ผสมผสานกันระหว่างศิลปะการฟ้อนของพม่ากับไทยลานนา เช่น ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา เป็นต้น

4) ฟ้อนแบบเงี้ยว เป็นการฟ้อนที่รับอิทธิพลมาจากชาวไทยใหญ่ผสมกับชาวไทยลานนา เช่น ฟ้อนเงี้ยว ฟ้อนไต มองเซิง เป็นต้น

5) ฟ้อนที่ปรากฏในบทละคร เป็นการฟ้อนที่มีผู้คิดสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อใช้ประกอบการแสดงละคร เช่น ฟ้อนลาวแพน ฟ้อนม่านมงคล เป็นต้น


ชุดการแสดงประเภทฟ้อน


ฟ้อนเล็บ



ฟ้อนเล็บ เป็นการฟ้อนของชาวไทยภาคเหนือ การแสดงจะมีดนตรีบรรเลงประกอบ จะมีเนื้อร้องหรือไม่มีเนื้อร้องก็ได้ โอกาสที่แสดง ในงานเทศกาลหรืองานนักขัตฤกษ์ต่าง ๆ
ผู้แสดง ฟ้อนแต่ละชุดจะใช้จำนวนคนแตกต่างกันไป นิยมกันมี ๔ คู่ ๖ คู่หรือ ๘ คู่

การแต่งกาย จะแต่งกายแบบไทยชาวภาคเหนือสมัยโบราณ คือ เกล้าผมทัดดอกไม้และอุบะ นุ่งผ้าตามแบบชาวเหนือ สวมเสื้อทรงกระบอกแขนยาว คอกลม ห่มสไบเฉียง นุ่งผ้าซิ่นลายขวาง และสวมเล็บมือยาวทั้ง ๘ นิ้ว เว้นแต่นิ้วหัวแม่มือ
การแสดง ผู้แสดงจะร่ายรำตามทำนองเพลงที่เชื่องช้า
ส่วนการใช้ท่าฟ้อนเล็บนั้น ช่างฟ้อนมักจะจำต่อๆ กันมา เป็นท่าฟ้อนดั้งเดิมของชาวเหนือ คือ
๑. ท่าพายเรือ
๒. ท่าบิดบัวบาน
๓. ท่าหย่อน
ต่อมาเมื่อนาฎศิลป์ทางภาคกลางแพร่มาสู่ภาคเหนือ การฟ้อนเล็บก็มีการปรับวิธีการฟ้อนให้เข้ากับท่ารำแม่บท เพิ่มท่ารำให้มากขึ้นและแตกต่างกันไป

เครื่องดนตรีที่ใช้ในการฟ้อน เป็นเครื่องดนตรีของชาวภาคเหนือ ได้แก่ กลองแอร์ กลองตะโล้ดโป๊ด ฉาบ ฆ้องโหม่งใหญ่ ฆ้องโหม่งเล็ก ฉิ่ง ปี่ เวลาดนตรีบรรเลง เสียงปี่ดังไพเราะเยือกเย็นมาก ท่วงทำนองเชื่องช้า
เสียงกลองจะตีดัง ตะ ตึ่ง นง ตึ่ง ต๊ก ถ่ง อย่างนี้เรื่อยไป ส่วนช่างฟ้อนก็จะฟ้อนช้าๆ ไปตามลีลาของเพลง




ฟ้อนเทียน



ฟ้อนเทียน เป็นการฟ้อนของชาวไทยภาคเหนือ ผู้ฟ้อนจะถือเทียนจุดไฟมือละเล่มทั้งสองมือ ตามปกติใช้ฟ้อนในที่กลางแจ้ง ในเวลากลางคืน ความสวยงามอยู่ที่ใช้ผู้ฟ้อนเป็นจำนวนมาก และแสดงเทียนที่เป็นประกายขณะที่เคลื่อนไหวไปตามลีลาของเสียงเพลง

การฟ้อนนี้แต่เดิมมาคงใช้เป็นการฟ้อนสักการะบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และพิธีสำคัญในคุ้มเจ้าหลวง รูปแบบการฟ้อนที่ปรากฎอยู่นี้ พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ทรงให้ครูฟ้อนในคุ้มปรับปรุงรูปแบบขึ้น และให้ฟ้อนถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว คราวเสด็จประพาสมณฑลพายัพ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙ ต่อมา นางลมุล ยมะคุปต์ ผู้เชี่ยวชาญการสอนนาฏศิลป์ วิทยาลัยนาฏศิลป์ กรมศิลปากร ได้ฝึกหัดจดจำนำมาถ่ายทอดให้กับศิลปินและนักเรียนของกรมศิลปากรสืบมา

ดนตรีประกอบการแสดงฟ้อนเทียนนี้ ใช้วงดนตรีพื้นเมืองหรือวงปี่พาทย์
บทร้องเป็นบทพระนิพนธ์ของพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ต่อมาภายหลัง นายมนตรี ตราโมท ผู้เชี่ยวชาญด้านดุริยางค์ไทย กรมศิลปากร และศิลปินแห่งชาติ ได้ประพันธ์ขึ้นใหม่ ประกอบด้วย บทเกริ่นทำนองโยนก ซอยิ้น และจ้อยเชียงแสน

การแต่งกาย แต่งกายตามแบบกุลสตรีชาวเหนือ นุ่งซิ่นป้ายลายขวาง สวมเสื้อแขนกระบอก ห่มสไบ มวยผมประดับดอกไม้ ถ้าเป็นแบบแผนของคุ้มเจ้าหลวง ผู้แสดงต้องสวมกำไลเท้า
ลักษณะท่ารำ เป็นการร่ายรำตามทำนองเพลง มีจุดประสงค์เพื่อเป็นการฟ้อนบวงสรวงหรือฟ้อนต้อนรับตามประเพณีของชาวเหนือ
ความยาวของชุดการแสดงโดยประมาณ ใช้เวลาประมาณ ๑๐–๑๒ นาที (มีบทร้อง) ใช้เวลาประมาณ ๕-๘ นาที (ไม่มีบทร้อง)




ฟ้อนลาวดวงเดือน



ประวัติของเพลงลาวดวงเดือน มีอยู่ว่า เมื่อกรมหมื่นพิไชยมหินทโรดมได้เสด็จไปนครเชียงใหม่ และเกิดชอบพอกับเจ้าหญิงชมชื่น พระธิดาองค์โตของเจ้าราชสัมพันธวงศ์และเจ้าหญิงคำย่น ณ ลำพูน ทรงโปรดให้ข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพเป็นเถ้าแก่เจรจาสู่ขอ แต่ได้รับการทัดทาน ไม่มีโอกาสที่จะได้สมรสกัน ทำให้พระองค์โศกเศร้ามาก และได้ทรงพระนิพนธ์เพลงนี้ขึ้น เมื่อใดที่ทรงระลึกถึงเจ้าหญิงชมชื่น ก็จะทรงดนตรีเพลงลาวดำเนินเกวียน (ลาวดวงเดือน) เพลงนี้ หรือให้มหาดเล็กเล่นให้ฟัง มาตลอดพระชนม์ชีพ

เพลงลาวดวงเดือน เป็นเพลงสำเนียงลาว อัตรา ๒ ชั้น มี ๓ ท่อน เป็นพระนิพนธ์ของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิชัยมหินทโรดม เมื่อคราวเสด็จตรวจราชการในราว พ.ศ.๒๔๕๑ (ปลายรัชกาลที่ ๕)โดยทางเกวียน ได้ทรงแต่งเพลงทำนองลาวขึ้นเพลงหนึ่ง เป็นอัตรา ๒ ชั้น ให้เข้ากับเพลงลาวดำเนินทราย ประทานชื่อว่า “ลาวดำเนินเกวียน” เพื่อเป็นอนุสรณ์ในการเสด็จนั้น

นอกจากจะทรงนิพนธ์ทำนองเพลงขึ้นแล้ว ก็ยังทรงนิพนธ์บทร้องประจำเพลงนี้ด้วย และเมื่อนำออกร้องและบรรเลง ก็ได้รับความนิยมจากวงดนตรีไทยอย่างแพร่หลาย แต่เนื่องจากบทร้องนี้ขึ้นต้นว่า “โอ้ละหนอดวงเดือนเอย” และตอนที่จบท่อน ก็มักมีคำว่า “ดวงเดือน” ผู้ที่ไม่รู้จักชื่อเพลงนี้ เมื่อต่อหรือจดจำมาร้อง และบรรเลง หรือใครที่ได้ยินได้ฟัง ต่างเรียกเพลงนี้ว่า “ลาวดวงเดือน” กันทั้งนั้น ดังนั้นเพลงนี้จึงมีชื่อเรียกว่า “ลาวดวงเดือน” จนทุกวันนี้

ต่อมาในพ.ศ.๒๔๗๔ ครูมนตรี ตราโมท ได้นำเพลงลาวดวงเดือนนี้มาแต่งขยายขึ้นเป็นอัตราสามชั้น ประเภทหน้าทับสองไม้ มี ๓ ท่อน และตัดลงเป็นชั้นเดียว พร้อมทั้งแต่งบทร้องขึ้นใหม่จนครบเป็นเพลงเถาและตั้งชื่อใหม่ว่า “เพลงโสมส่องแสง เถา”

ผู้ขับร้องเพลงนี้เป็นคนแรกคือ นายเชื้อ นักร้อง

เพลงลาวดวงเดือนนี้ต่อมามีผู้นำเพลงมาใส่ท่ารำ ทำให้เกิดการแสดงชุดนี้ขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง เป็นการแสดงที่มีลักษณะการเกี้ยวพาราสีระหว่างชายหนุ่ม หญิงสาว

บทขับร้องเพลงลาวดวงเดือน...

เพลงลาวดวงเดือน....
โอ้ละหนอดวงเดือนเอย พี่มาเว้ารักเจ้าสาวคำดวง
โอ้ดึกแล้วหนอพี่ขอลาล่วง อกพี่เป็นห่วงรักเจ้าดวงเดือนเอย
ขอลาแล้วเจ้าแก้วโกสุม พี่นี้รักเจ้าหนอขวัญตาเรียม
จะหาไหนมาเทียมโอ้เจ้าดวงเดือนเอย จะหาไหนมาเทียมโอ้เจ้าดวงเดือนเอย (ซ้ำ)
หอมกลิ่นเกสร เกสรดอกไม้ หอมกลิ่นคล้ายคล้ายเจ้าสูของเรียมเอย (ซ้ำ)
หอมกลิ่นกรุ่นครันหอมนั้นยังบ่เลย เนื้อหอมทรามเชยเอยเราละเหนอ

โอ้ละหนอนวลตาเอย พี่นี้รักแสนรักดังดวงใจ
โอ้เป็นกรรมต้องจำจากไป อกพี่อาลัยเจ้าดวงเดือนเอย
เห็นเดือนแรมเริศร้างเวหา เฝ้าแต่เบิ่งดูฟ้า(ละหนอ)เห็นมืดมน
พี่ทนทุกข์ทุกข์ทนโอ้เจ้าดวงเดือนเอย พี่ทนทุกข์ทุกข์ทนโอ้เจ้าดวงเดือนเอย
เสียงไก่ขันขานเสียงหวานเจื้อยแจ้ว หวานสุดแล้วหวานแจ้วเจื้อยเอย (ซ้ำ)
ถึงจะหวานเสนาะหวานเพราะกระไรเลย บ่แม้นทรามเชยเราละเหนอ (ซ้ำ)





ฟ้อนมาลัย



ฟ้อนมาลัย หรือลาวดวงดอกไม้ เป็นการแสดงที่นำมาจากการแสดงละครพันทางเรื่องพระยาผานอง ซึ่งกรมศิลปากรปรับปรุงขึ้นแสดง ณ โรงละครแห่งชาติเมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๑ โดย อาจารย์มนตรี ตราโมท เป็นผู้แต่งทำนองเพลงและบทร้อง
ท่านผู้หญิงหม่อมแผ้ว สนิทวงศ์เสนีย์ เป็นผู้ประดิษฐ์ท่ารำ
ฟ้อนชุดนี้ออกเป็นเพลงซุ้ม ซึ่งเป็นเพลงลาวชั้นเดียว
ปัจจุบันใช้แสดงในโอกาสงานมงคล หรืองานเบ็ดเตล็ดทั่วไป

เนื้อร้องมีดังนี้
ชมดอกไม้เบ่งบานสลอน ฝูงภมรวะว่อนใฝ่หา
ดอกพิกุลยี่สุ่นจำปา ลมพัดพารำเพยขจร
เกดกระถินส่งกลิ่นหอมฟุ้ง กำจายจรุงระรื่นเกสร
จันทน์กะพ้อช่างล่อภมร ให้หลงเริงร่อนบินว่อนตอม
โอ้ดอกไม้ก็ได้ใช้กลิ่น อวดประทินที่แสนสุดหอม
เร้าฤทัยเราให้ใฝ่ดอม ช่างน่าถนอมจริงหนอ
พวกดอกไม้ก็ไม่งามเท่า พักตร์แม่เจ้าแม่ท้าวคำปิน
สำรวยเลิศช่างเฉิดโฉมฉิน บ่มีมลทินทั่วสรรพางค์
กลิ่นดอกไม้ก็ไม่ระรื่น หอมชุ่มชื่นเท่าคุณพระนาง
ข้าเจ้าภักดีบ่มีจืดจาง จนชีวิตวางวายเนอ





ฟ้อนวี



คำว่า “วี” เป็นคำพื้นเมืองของภาคเหนือ แปลว่า “พัด” ซึ่งนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น พัดให้คลายร้อน พัดไล่ยุงหรือแมลง
วีของภาคเหนือมีหลายลักษณะ วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ได้นำวีมาสร้างสรรค์เป็นชุดการแสดง ครั้งแรกแสดงในงานศิลปวัฒนธรรมและนิทรรศการของสถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ ๓ รอบ ณ วิทยาลัยนาฏศิลปสุโขทัย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๔ นายคำ กาไวย์ ครูสอนนาฏศิลป์พื้นเมืองของวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ และศิลปินแห่งชาติ ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการประดิษฐ์ท่ารำ โดยนำวิธีการและประโยชน์ของการใช้ “วี” ในลักษณะต่าง ๆ ตามท่าทางธรรมชาติมาประดิษฐ์เป็นท่ารำที่อ่อนช้อย แสดงให้เห็นถึงอารมณ์รื่นเริงสนุกสนานของหญิงสาวล้านนา

ท่ารำทั้งหมดมี ๑๕ ท่า เช่น ท่าป้าวก๋อยใบ ท่าบัวบาน ท่ารอลม ท่าวีผมตากแดด ท่ายืนกาดกล้าไปมา เป็นต้น
ดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดง ใช้วงประสมของเครื่องดนตรีพื้นเมืองภาคเหนือ ประกอบด้วย สะล้อใหญ่ สะล้อกลาง สะล้อเล็ก ซึงใหญ่ ซึงกลาง ซึงเล็ก ปี่จุม กลองพื้นเมือง

การแต่งกายของผู้แสดง นุ่งซิ่นตีนจก สวมเสื้อคอกลมเข้ารูปแขนสามส่วน สไบคล้องคอ เครื่องประดับเข็มขัด สร้อยคอ กำไลข้อมือ ต่างหู เกล้าผมมวยสูงดึงช่อผมสูงจากมวยปักปิ่น ดัดแปลงปรับปรุงจากข้อมูลการแต่งกายของหญิงสาวล้านนา จากจิตรกรรมฝาผนังที่วัดพระสิงห์วรวิหารจังหวัดเชียงใหม่ และวัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน
การแสดงชุดนี้ใช้เวลาแสดงประมาณ ๑๒ นาที




ฟ้อนเงี้ยว



ฟ้อนเงี้ยว เป็นการแสดงพื้นเมืองของชาวเขาเผ่าหนึ่งซึ่งเรียกว่า “เงี้ยว” มีภูมิลำเนาอยู่ทางภาคเหนือของประเทศไทย
นางลมุล ยมะคุปต์ (ผู้เชี่ยวชาญการสอนนาฏศิลป์ไทย) ได้มีโอกาสไปสอนละครที่คุ้มหลวง เจ้าแก้วนวรัฐผู้ครองนครเชียงใหม่
และได้เห็นการแสดงฟ้อนเงี้ยวที่คุ้มหลวง ซึ่งมีนางหลง บุญจูหลงเป็นผู้ฝึกสอนโดยความควบคุมของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ในรัชกาลที่ 5

ต่อมานางลมุล ยมะคุปต์ ได้เข้ารับราชการเป็นครูสอนวิชานาฏศิลป์ที่วิทยาลัยนาฏศิลป กรมศิลปากร (ขณะนั้นยังเป็นโรงเรียนนาฏดุริยางค์ศาสตร์) และได้นำลีลาท่ารำฟ้อนเงี้ยวแบบเดิม มาปรับปรุงขึ้นใหม่ให้งดงามตามแบบฉบับนาฏศิลป์ไทย แล้วบรรจุไว้ในหลักสูตรวิชานาฏศิลป์ เมื่อปี พ.ศ.2478
ส่วนบทร้องของฟ้อนเงี้ยวมีลักษณะเป็นบทอวยพร อาราธนา
พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และขอให้เทพยดาสิ่งศักดิ์ทั้งหลายมาปกป้องคุ้มครองอวยชัยให้พรเป็นสวัสดิมงคลสืบไป

เครื่องดนตรี ใช้วงปี่พาทย์ ซึ่งอาจเป็นเครื่องห้า เครื่องคู่ หรือเครื่องใหญ่ตามเหมาะสม
การแต่งกาย แต่งได้ทั้งแบบชาวเขาและแบบที่กรมศิลปากรประดิษฐ์ขึ้น สามารถแสดงได้ทั้งชุดหญิง-ชายและหญิงล้วน
ที่น่าสังเกตคือผู้แสดงจะถือกิ่งไม้ไว้ในมือทั้งสองเพื่อเป็นการปัดเป่าสิ่งที่ไม่ดีให้พ้นไป

เนื้อเพลง (ภาษาเหนือ)
ขออวยจัยพุทธิไกรจ้วยก๊ำ ทรงคุณเลิศล้ำไปทุกทั่วตัวตน
จงได้ฮับสรรพมิ่งมงคล นาท่านนาขอเตวาจ้วยฮักษาเตอะ
ขอหื้ออยู่สุขขาโดยธรรมานุภาพเจ้า เตพดาจ้วยเฮาหื้อเป๋นมิ่งมงคล
สังฆานุภาพเจ้าจ้วยแนะนำผล สรรพมิ่งทั่วไปเนอ
มงคลเตพดาทุกแห่งหน ขอบันดลจ้วยก๊ำจิ่ม


คำแปล (ภาษากลาง)
ขออวยชัยพุทธิไกรช่วยค้ำ ทรงคุณเลิศล้ำไปทุกทั่วตัวตน
จงได้รับสรรพมิ่งมงคล นาท่านนาขอเทวาช่วยรักษาเถิด
ขอให้อยู่สุขขาโดยธรรมานุภาพเจ้า เทพยดาช่วยเราให้เป็นมิ่งมงคล
สังฆานุภาพเจ้าช่วยแนะนำผล สรรพมิ่งทั่วไปเทอญ
มงคลเทพยดาทุกแห่งหน ขอบันดลช่วยค้ำจุน





ฟ้อนไต



ฟ้อนไต เป็นศิลปะการฟ้อนของชาวพื้นเมืองเหนือที่ได้รับอิทธิพลมาจากชนชาติไทยใหญ่ ฟ้อนกันทั่วไปแถบ จังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดเชียงใหม่ที่มีชาวพื้นเมืองที่สืบเชื้อสายมาจากชนชาติไทยใหญ่มาแต่เดิม ซึ่งมีการฟ้อนโดยทั่วไปทั้งชายและหญิง ผู้แสดง ใช้ผู้หญิงแสดง ฟ้อนเป็นชุด ชุดหนึ่งประมาณ 12 คน หรือมากกว่านั้น

ในพ.ศ. 2509 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จไปจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นครั้งแรก ทางจังหวัดจึงได้จัดเตรียมการฟ้อนไตถวาย

การแต่งกาย นุ่งผ้าซิ่นไหมสีต่าง ๆ หรือนุ่งผ้าซิ่นที่มีดอกสดใส ยาวกรอมเท้า ใช้พับข้างหน้าแล้วขมวดเหน็บเอวข้างซ้ายหรือขวาตามถนัด เสื้อแขนยาวทรงกระบอก ตัวสั้นแค่เอวหรือสูงกว่าเอวเล็กน้อย ด้านหน้าป้ายข้างเป็นลักษณะเสื้อไต (หรือเสื้อพม่า) ติดกระดุม 3 เม็ด เกล้ามวยผมทรงสูงแล้วปล่อยชายผมลงมาไว้ข้าง ๆ มีผ้าคล้องคอยาว ๆ ปล่อยชายไว้ทั้ง 2 ข้าง

วิธีแสดงและการฟ้อนไตนั้น ผู้ฟ้อนจะยืนเรียงแถวแล้วฟ้อนเช่นเดียวกับฟ้อนเมืองของพื้นเมืองเหนือ ท่าที่ใช้ฟ้อนเป็นลักษณะของไทยใหญ่ ต่อมานายแก้ว และนางละหยิ่น ทองเขียว ได้ใช้ท่าแม่บทของภาคกลางมาประกอบ และเรียงลำดับท่าการฟ้อนให้ต่อเนื่องกันเพื่อความสวยงาม

ฟ้อนไต ได้รับความนิยมเรื่อยมา วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ ได้ช่วยอนุรักษ์และเผยแพร่ ไปยังสถาบันการศึกษาต่างๆ การแสดงชุดนี้ สามารถใช้แสดงในงานสำคัญๆ และงานมงคลต่างๆ ตลอดจนกิจกรรมของทางโรงเรียนได้อีกด้วย

ดนตรีที่ใช้ประกอบการฟ้อน ถ้าเป็นการฟ้อนไตโดยทั่วไปจะใช้วงกลองมองเซิง สำหรับการฟ้อนไตที่แม่ฮ่องสอนใช้วงดนตรีของไทยใหญ่ และเพลงไทยใหญ่ ประกอบการฟ้อน ไม่มีการขับร้อง

เครื่องดนตรีมีดังนี้
1. กลอง (กลองเมา) 2. ฆ้องแผง (มองวาย) 3. ระนาดเหล็ก (ป้าดเหล็ก) 4. แน (แนยี แนแวง แนแหง่) 5. ฉิ่ง ฉาบ กรับ 6. เป่าใบไม้ ฯลฯ




ฟ้อนโยคีถวายไฟ



ฟ้อนโยคีถวายไฟ เป็นกระบวนฟ้อนชุดหนึ่งที่เกิดขึ้นจากดำริของเจ้าแก้วนวรัฐฯ ซึ่งเป็นเจ้าผู้ครองนครองค์สุดท้ายของเชียงใหม่ เป็นการคิดขึ้นเพื่อเตรียมรับเสด็จฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิจฯ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๖๓ โดยจ้างครูฟ้อนชาวพม่ามาถ่ายทอดให้ แล้วมอบหมายหน้าที่ให้พ่อเลี้ยงน้อยสม สมุทรนาวี คหบดีชาวเชียงใหม่ดำเนินการทั้งหมด การฟ้อนครั้งแรกคราวนั้นใช้ผู้แสดงเป็นชายทั้งหมดเพราะเพลงที่ใช้ร้องเป็นบทร้องของผู้ชาย และท่าฟ้อนเกือบทั้งหมดจะใช้การเคลื่อนไหวด้วยการเต้นเป็นส่วนใหญ่ มีการแสดงเพียงครั้งเดียว

ต่อมาประมาณปีพุทธศักราช ๒๔๗๗ จังหวัดเชียงใหม่ได้รับเชิญไปร่วมแสดงในงานเผยแพร่วัฒนธรรมประจำภาคที่กรุงเทพมหานคร ที่ท้องสนามหลวง เจ้าแก้วนวรัฐฯ จึงได้ฟื้นฟูการแสดงชุดนี้ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยมอบหมายให้พ่อเลี้ยงน้อยสมเป็นผู้จัดการเช่นเดิม พ่อเลี้ยงน้อยสมได้มอบหมายให้ นางทวีลักษณ์ สามะบุตร หลานสาวเป็นผู้ฝึกหัดช่างฟ้อนชุดใหม่โดยเปลี่ยนเป็น "หญิง" ทั้งหมด เพราะนางเป็นคนหนึ่งที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากครูพม่าคนแรก จุดประสงค์ครั้งแรกของพ่อเลี้ยงน้อยสม สมุทรนาวี (เดิมชื่อ อูลานดู่) ต้องการให้บุตรหลานแสดงต้อนรับกรมพระนครสวรรค์ฯ แต่แม่เลี้ยงบุญปั๋น ผู้ภรรยาไม่ยอมให้บุตรหลานสาวๆ ออกแสดงฟ้อนโยคีถวายไฟ โดยช่างฟ้อนหญิงนี้ เคยจัดให้มีขึ้นอีกก่อนไปแสดงที่กรุงเทพฯ ในงานประจำปีที่โรงเรียนดาราวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่

เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๕ ทางโรงเรียนทูลเชิญพระราชชายาฯ เสด็จไปเป็นประธานฯ ทรงทอดพระเนตรชุดนี้ด้วย และทรงพอพระทัยจึงเรียกนางทวีลักษณ์ไปสอนให้ตัวละครของพระองค์ อันได้แก่ นางสมพันธ์ โชตนา นางขิมทอง ณ เชียงใหม่ นางยุพดี สุขเกษม นางอัญชัน ปิ่นทอง นางนวลฉวี เสนาคำ นางสมหมาย ยุกตยุตร นางสมพร สุรจินดา เป็นเหตุให้แพร่หลายมาจนทุกวันนี้

การแต่งกายของผู้แสดงชุดนี้ แต่งเป็นชายพม่า โพกผ้า นุ่งโสร่งป้าย (ข้าง) หน้า มือถือไม้เท้า ใช้วงปี่พาทย์บรรเลงประกอบการฟ้อน แต่ไม่มีการร้อง และมักจัดผู้แสดงฟ้อนเป็นคู่ จัดรูปการแสดงแบบปกติ คือ คู่หน้าหรือคู่ที่หนึ่ง อยู่หน้าสุดติดขอบเวที คู่ที่สอง แสดงอยู่ต่ำลงมา ผู้แสดงทั้งสองจะยืน (ระยะ) แคบลงมา คู่ที่สาม แสดงอยู่ต่ำกว่าคู่ที่สอง ยืนแสดงแคบกว่าคู่ที่สอง ในวงการนักแสดงนักวิชาการนาฏศิลป์ เรียกว่า "ยืนเป็นรูปปาก (ปลา) ฉลาม" ท่ารำส่วนมากเป็นการเต้นตามจังหวะเพลงมากกว่ารำ

การฟ้อนโยคีถวายไฟดังกล่าว จะเห็นได้ว่าก่อนนั้นเป็นการแสดงเชิงนาฏศิลป์ทั่วไป ภายหลังพบว่ามีการนำไปแสดงหน้าเมรุก่อนมีการเผาศพ ด้วยเห็นว่ามีคำว่า "ถวายไฟ" และได้เห็นตัวอย่างจากการแสดงโขนหน้าไฟของภาคกลางด้วย




ฟ้อนนกกิงกะหล่า



นกกิงกะหล่า เป็นนกในจินตนาการ เชื่อกันว่ามีตัวเป็นมนุษย์แต่มีปีกเป็นนก ครั้นเมื่อพุทธกาลหลังจากที่พระพุทธเจ้าจำพรรษา ในวันออกพรรษา บรรดามนุษย์และสัตว์ทั้งหลายต่างออกมาแสดงความยินดีต้อนรับพระพุทธเจ้า นกกิงกะหล่า ก็ออกมาร่ายรำต้อนรับด้วย การฟ้อนนกกิงกะหล่านี้เป็นการแสดงของชาวไทยใหญ่ ซึ่งจะมีท่าร่ายรำในการ ขยับปีกและหางที่สวยงามในลักษณะต่างๆของนก บางแห่งเรียก “ ฟ้อนนางนก “เพราะเป็นการเลียนแบบธรรมชาติของนกนั่นเอง

การแต่งกายจะแต่งด้วยเสื้อผ้าสีดำหรือสีอื่น ๆ ก็ได้ สวมกางเกง มีปีกหางทำด้วยโครงไม้ไผ่ที่บุด้วยผ้าแพรหรือผ้ามีสีปักดิ้นเงินดิ้นทอง ตกแต่งเป็นลวดลายสวยงาม มีเชือกผูกติดปีกหางโยงมายังมือผู้ฟ้อน เพื่อให้เคลื่อนไหวได้ และมีเครื่องประดับต่าง ๆ ให้ดูงดงามมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวตามท้องถิ่นทางภาคเหนือ




ฟ้อนดาบ



ฟ้อนดาบ เป็นศิลปะการแสดงลีลาท่าทางในการต่อสู้ป้องกันตัวด้วยมีดดาบของชาวเหนือ โดยผู้แสดงจะย่างไปข้างหน้า ถอยหลัง หันซ้าย ขวา ในลักษณะของการระวังตัว ระวังคู่ต่อสู้ ปัจจุบันใช้แสดงความสามารถในการใช้ดาบติดไว้ตามร่างกายเป็นจำนวนหลายเล่ม อีกมือหนึ่งจะถือปลอกมีดไว้ปัดป้อง มีมาแต่สมัยโบราณ ใช้กลองสะบัดชัยตีประกอบจังหวะ

ท่าทางของการฟ้อนดาบที่มีความงดงามและได้รับการสืบทอดสูงสุดในล้านนาขณะนี้ มีความเป็นเอกลักษณ์ของล้านนา คือ มีการตบบะผาบ ๙ ท่า เป็นปฐมเบื้องต้น หลังจากตบบะผาบเป็นที่เรียบร้อย ก็จะมีการรำลึกถึงคุณครูบาอาจารย์ พระแม่ธรณี เทวดา ท่าฟ้อนดาบแต่ละท่านั้นมีความหมายตามลักษณะของนามธรรม สิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ และสิ่งที่ถือว่าเป็นมงคลสามารถป้องกันภยันตรายได้

ผู้แสดงสวมชุดพื้นบ้านภาคเหนือ (นุ่งกางเกงครึ่งแข้ง สวมเสื้อม่อฮ่อม มีผ้าขาวม้าคาดเอว)
การแสดงชุดนี้ใช้เวลาประมาณ ๑๐ - ๓๐ นาที




ฟ้อนที



คำว่า “ที” หมายถึง “ร่ม” เป็นคำภาษา “ไต” ใช้เรียกในจังหวัดแม่ฮ่องสอน “ที” ทางภาคเหนือมีลักษณะและรูปทรงแตกต่างกันไปแต่ละจังหวัด “ที” ที่ชาวแม่ฮ่องสอนนิยมใช้มีรูปทรงสวยนำมาใช้เป็นอุปกรณ์ประกอบการรำได้ฟ้อนทีเป็นผลงานประดิษฐ์สร้างสรรค์ของวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ จัดแสดงในงานนิทรรศการและการแสดงศิลปวัฒนธรรมของสถานศึกษาในสังกัดกองศิลปศึกษา กรมศิลปากร เพื่อเทิดพระเกียติมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ ๖๐ พรรษา ณ โรงละครแห่งชาติ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๓๕ การแสดงชุดนี้นำร่มมาใช้ประกอบลีลานาฎศิลป์โดยมีท่าฟ้อนเหนือของเชียงใหม่ผสมกับท่ารำไตของแม่ฮ่องสอน มีการแปรแถว และลีลาการใช้ร่มในลักษณะต่าง ๆ ที่งดงาม เช่น การถือร่ม การกางร่ม การหุบร่ม เป็นต้น

ดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดง ใช้ดนตรีพื้นเมืองภาคเหนือประสมวง ได้แก่ สะล้อกลาง สะล้อเล็ก ซึ่งใหญ่ ซึงกลาง ซึงเล็ก ขลุ่ย กรับคู่ กลองพื้นเมือง

การแต่งกาย มุ่งเน้นความสวยงามของเครื่องแต่งกายตามประเพณีนิยมภาคเหนือ แบ่งเป็น ๒ แบบ คือ แบบหญิงไทลื้อ และแบบหญิงล้านนา

แบบไทลื้อ นุ่งซิ่นลายขวาง เสื้อปั๊ด เกล้าผมสูงประดับดอกไม้เงิน ผ้าเคียนศีรษะประดับกำไลข้อมือ ต่างหู
แบบล้านนา นุ่งซิ่นตีนจก ผ้าคาดเอว เสื้อเข้ารูปแขนยาว เกล้าผมมวยตั้งกระบังผมหน้าสูง ประดับดอกไม้เงิน เครื่องประดับมีเข็มขัด กำไลข้อมือ สร้อยคอ ต่างหู
การแสดงชุดนี้ใช้เวลาประมาณ ๑๐ นาที







กลับขึ้นต้น





 

Create Date : 22 สิงหาคม 2551
0 comments
Last Update : 7 กันยายน 2552 22:22:13 น.
Counter : 171368 Pageviews.


บ้านรักษ์ไทย
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




Friends' blogs
[Add บ้านรักษ์ไทย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.