บ้านรักษ์ไทย ขอร่วมส่งเสริมและสํานึกรัก ศิลปวัฒนธรรมไทย และภาคภูมิใจในศิลปวัฒนธรรมของชาติ ให้คงอยู่ยืนยาวตลอดไป
Group Blog
 
 
สิงหาคม 2551
 
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
22 สิงหาคม 2551
 
All Blogs
 

การแสดงประเภทระบํา

ระบำ


ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน แปลว่า การฟ้อนรำเป็นชุด หรืออีกนัยหนึ่ง คือ การฟ้อนรำมุ่งหมายเพียงเพื่อความงดงามของศิลปะการรำ และการรื่นเริงบันเทิงใจไม่แสดงเป็นเรื่องราว ประกอบด้วยผู้แสดงจำนวนมากกว่า 2 คนขึ้นไป มีจุดประสงค์เพื่อแสดงความงดงาม ความพร้อมเพรียง การแปรแถวในขณะแสดง ประกอบกับการแต่งกายที่สวยงาม และเพลงดนตรีที่ไพเราะน่าฟัง

ระบำ แบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ 2 ประเภท คือ ระบำมาตรฐาน และ ระบำเบ็ดเตล็ด

1) ระบำมาตรฐาน หมายถึง การแสดงที่มีลักษณะการแต่งกายยืนเครื่องพระ-นาง ตลอดจนท่ารำเพลงร้องและดนตรีได้กำหนดไว้เป็นแบบแผน มีลักษณะเฉพาะตัว ตามแบบของนาฏศิลป์ไทย ซึ่งบรมครูทางนาฏศิลป์ได้กำหนดแบบแผนกระบวนการรำ เป็นที่ยอมรับกันมาช้านานแล้ว ไม่ควรแก้ไขดัดแปลงไปจากเดิม เช่น ระบำสี่บท ต่อมาได้มีผู้ประดิษฐ์ระบำเลียนแบบระบำสี่บทขึ้นอีกหลายชุด ได้แก่ ระบำย่องหงิด ระบำดาวดึงส์ ระบำกฤดาภินิหาร ระบำพรหมมาสตร์ และระบำเทพบันเทิง เป็นต้น

2) ระบำเบ็ดเตล็ด หมายถึง การแสดงที่ประดิษฐ์คิดค้นหรือปรับปรุงขึ้นใหม่ตามความประสงค์ ตามเหตุการณ์ ตามสมัยนิยม ตามเนื้อเรื่องที่ผู้ประพันธ์ต้องการ หรือเป็นระบำที่ใช้ประกอบการแสดงละคร การแต่งกายจะแต่งตามรูปแบบลักษณะของการแสดงนั้นๆ เช่น ระบำนพรัตน์ ระบำกราวอาสา ระบำชุมนุมเผ่าไทย ระบำเริงอรุณ ระบำวิชนี ระบำไกรลาสสำเริง ระบำฉิ่ง ระบำโบราณคดี รำสีนวล รำโคม เป็นต้น

ระบำกฤดาภินิหาร



ประดิษฐ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๖ เพื่อใช้ประกอบการแสดงละครเรื่อง เกียรติศักดิ์ไทย ในสมัยพระอนุมานราชธนเป็นอธิบดีกรมศิลปากร (หลังยุคละครหลวงวิจิตรวาทการ) ประดิษฐ์ท่ารำโดยหม่อมต่วน ภัทรนาวิก และนางลมุล ยมะคุปต์ ประพันธ์บทโดย สุดา บุษปฤกษ์ ในครั้งแรกนั้นใช้วงดนตรีสากลของกรมศิลปากรบรรเลงประกอบการแสดง ภายหลังจึงใช้วงปี่พาทย์ไม้นวม และแยกออกเป็นชุดระบำเบ็ดเตล็ดที่นิยมใช้ในการอวยพรในงานมงคลต่างๆ เพลงที่ใช้ประกอบคือเพลงรัวดึกดำบรรพ์ ครวญหา จีนถอนและจีนรัว เนื้อเพลงกล่าวยอพระเกียรติสมเด็จพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระราชกฤดาภินิหารอันยิ่งใหญ่ของไทย ที่พระเกียรติลือกระฉ่อนถึงเทวดาชั้นฟ้า

การแต่งกายของผู้แสดงนั้น แต่งยืนเครื่องตัวพระและตัวนาง ตัวพระสวมศิราภรณ์ชฏา ตัวนางสวมศิราภรณ์มงกุฎกษัตริย์ มีลักษณะท่ารำเป็นระบำหมู่คู่พระ-นาง ออกรำในเพลงรัวดึกดำบรรพ์ ตีบทตามคำร้องเพลงครวญหา แล้วรำท่าจีนรัว โปรยดอกไม้ สามารถแสดงได้สองรูปแบบ คือ รำตามบท ร้องสี่คำกลอน
แล้วตัดไปโปรยดอกไม้ในเพลงจีนรัว ซึ่งใช้เวลาแสดงประมาณ ๕ นาที และอีกแบบหนึ่งรำเต็มบทร้องหกคำกลอน โปรยดอกไม้ตามบทร้องและในเพลงจีนรัว ซึ่งใช้เวลาแสดงประมาณ ๖ นาที
การแสดง ใช้ผู้แสดง ๑-๒ คู่
โอกาสที่ใช้ในการแสดง ในงานพิธีมงคลและงานเบ็ดเตล็ด

บทร้อง
ปราโมทย์แสนองค์อัปสรอมรแมนแดนสวรรค์
ยินกฤดาภินิหารมหัศจรรย์เกียรติไทยลั่นลือเลื่องเรืองรูจี
ต่างเต็มตื้นชื่นชมโสมนัสโอษฐ์เอื้อนอรรถอวยพรสุนทรศรี
แจ้วจำเรียงเสียงเพลงสดุดีดนตรีรี่เรื่อยประโคมประโลมลาน
แล้วลีลาศเริงรำระบำร่ายกรกรีดกรายโปรยมาลีสีประสาน
พรมน้ำทิพย์ปรุงปนสุคนธารจักรวาลฉ่ำชื่นรื่นรมย์ครัน





ระบำดาวดึงส์



ระบำดาวดึงส์เป็นระบำมาตรฐานที่สร้างสรรค์รูปแบบท่ารำใหม่ แตกต่างจากระบำมาตรฐานแบบดั้งเดิม เช่น ระบำสี่บทที่ท่ารำตีบทความหมายของคำร้องระบำดาวดึงส์เป็นระบำประกอบในการแสดงละครดึกดำบรรพ์เรื่องสังข์ทอง ตอนตีคลี ซึ่งจัดแสดงที่โรงละครดึกดำบรรพ์ วังบ้านหม้อ ปลายสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

บทร้องเป็นพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ พรรณนาถึงความงดงามโอฬารของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์และทิพยสมบัติของพระอินทร์ หม่อมเข็ม กุญชร ณ อยุธยา ได้ปรับปรุงท่ารำเลียนแบบท่าเต้นในพิธีแขกเจ้าเซ็น ซึ่งเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีทรงประดิษฐ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

ดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงชุดนี้ ใช้วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ซึ่งสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงปรับปรุงแตกต่างจากวงปี่พาทย์เครื่องคู่และเครื่องใหญ่ คือ ลดเครื่องดนตรีบางชิ้นให้มีเสียงทุ้มนุ่มนวล ไม่แกร่งกร้าวเสียงแหลมสูง เครื่องบรรเลง ได้แก่ ระนาดเอกตีด้วยไม้นวม ระนามทุ้ม ระนาดทุ้มเหล็ก ฆ้องวงใหญ่ ขลุ่ยเพียงออ ขลุ่ยอู้ ซออู้ ตะโพน กลองตะโพนคู่ (ถอดเท้าตั้งขึ้นตีแทนกลองทัด) ฉิ่ง ฆ้องหุ่ยเจ็ดลูก (๗ เสียงเรียงลำดับ) กลองแขก ทำนองเพลงประกอบลีลาท่ารำ คือ เพลงเหาะ เพลงตะเขิ่ง เพลงเจ้าเซ็น เพลงรัว

ในส่วนของการแต่งกาย ตัวพระเทพบุตร แต่งกายยืนเครื่องเต็มตัว นุ่งผ้ายกตีปีกจีบโจงไว้หางหงส์ทับบนสนับเพลาเชิงงอน สวมเสื้อรัดรูปปักดิ้น
เลื่อมลายกนกแขนสั้นเหนือศอก ติดกนกปลายแขน สวมเครื่องประดับถนิมพิมพาภรณ์ครบชุด ศิราภรณ์ชฎายอดชัย ตัวนางอัปสร แต่งกายยืนเครื่องนางเต็มตัว นุ่งผ้ายกจีบหน้านางทิ้งชายพก สวมเสื้อในนางรัดรูป ห่มผ้าห่มนางเต็มผืนปักดิ้นเลื่อมลายกนก สวมเครื่องประดับถนิมพิมพาภรณ์ครบชุด ศิราภรณ์มงกุฎกษัตริย์ ลีลาท่ารำจะผสมผสานนาฏศิลป์ไทยกับท่าเต้นทุบอกในพิธีแขกเจ้าเซ็น ท่ารำเข้าคู่พระ-นาง ในรูปแบบรำหมู่ เพลงเหาะ รัว ใช้ แม่ท่านาฏศิลป์ไทย ต่อจากนั้นเป็นการผสมผสานท่ารำไทยกับท่าเต้นในพิธีเจ้าเซ็น ซึ่งดูสง่างาม
การแสดงชุดนี้ใช้เวลาแสดงประมาณ ๘ นาที

บทร้อง
ดาวดึงส์เทวโลกมโหฬาร เป็นที่อยู่สำราญฤทัยหรรษ์
สารพัดงามจริงทุกสิ่งอัน สารพันอุดมสมใจปอง
เทพบุตรผุดพรรณโฉมยง งามทรงอาภรณ์ไม่มีหมอง
นางอัปสรงอนสงวนนวลละออง งามทรงเครื่องทองและเพชรนิล
สมเด็จพระอัมรินทร์ปิ่นมงกุฎ ทรงวชิราวุธธนูศิลป์
รักษาเทวสีมาเป็นอาจิณ อสุรินทร์อรีไม่บีฑา (ซ้ำ)
อันอินทรปราสาททั้งสาม (ซ้ำ) ทรงงามสูงเงื้อมกลางเวหา
สี่มุขหุ้มมาศสะอาดตา ใบระกาแกมแก้วประกอบกัน
ช่อฟ้าช้อยเฟื้อยเฉื่อยชด (ซ้ำ) บราลีที่ลดมุขกระสัน (ซ้ำ)
มุขเด็ดทองคาดกนกพัน บุษบกสุวรรณชามพูนุท (ซ้ำ)
ราชยานเวชยันตร์รถแก้ว (ซ้ำ) เพริศแพร้วกำกงอลงกต (ซ้ำ)
แอกงอนอ่อนสลวยชวยชด (ซ้ำ) เครือขดช่อตั้งบัลลังก์ลอย
รายรูปสิงห์อัดหยัดยัน สุบรรณจับนาคหิ้วเศียรห้อย (ซ้ำ)
ดุมพราววาววับประดับพลอย แปรกแก้วกาบช้อยสะบัดบัง
เทียมด้วยสิงธพเทพบุตร ทั้งสี่บริสุทธิ์ดั่งสีสังข์
มาตลีอาจขี่ขับประดัง ให้รีบรุดสุดกำลังดังลมพา





ระบำเทพบันเทิง



ระบำเทพบันเทิงเป็นระบำที่นายมนตรี ตราโมท ผู้เชี่ยวชาญด้านดุริยางค์ไทย กรมศิลปากรและศิลปินแห่งชาติ แต่งบทร้องและบรรจุทำนองเพลงประกอบการแสดงละครในเรื่องอิเหนา ตอนลมหอบ กล่าวถึงเทพบุตรนางฟ้าฟ้อนรำบำเรอองค์ปะตาระกาหลา กรมศิลปากรจัดแสดงให้ประชาชนชม ณ โรงละครศิลปากร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙ ผู้ประดิษฐ์ลีลาท่ารำ คือ นางลมุล ยมะคุปต์ ผู้เชี่ยวชาญการสอนนาฏศิลป์ วิทยาลัยนาฏศิลป กรมศิลปากร นางมัลลิ คงประภัศร์ และ นางศุภลักษณ์ ภัทรนาวิก (หม่อมครูต่วน) โดยเป็นการรำเข้าคู่พระ-นาง ตีบทตามคำร้อง แปรแถวโดยผู้แสดงแต่งยืนเครื่องเทพบุตร-นางฟ้า
การแสดงชุดนี้ใช้เวลาแสดงประมาณ ๙ นาที

ดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงใช้วงปี่พาทย์ไม้นวมเครื่องห้าหรือเครื่องคูหรือเครื่องใหญ่ ทำนองเพลงแขกเชิญเจ้า เพลงยะวาเร็ว เข้าปี่พาทย์

คําร้อง
เหล่าข้าพระบาท ขอวโรกาส เทวฤทธิ์อดิศร
ขอฟ้อนกรายรำร่ายถวายกร บำเรอปิ่นอมรปะตาระกาหลา
ผู้ทรงพระคุณยิ่งบุญบารมี เพื่อเทวบดี สุขสมรมยา
เถลิงเทพพระสิมา พิมานสำราญฤทัย
สุรศักดิ์ประสิทธิ์ สุรฤทธิ์กำจาย
ทรงสราญพระกาย ทรงสบายพระทัย
ถวายอินทรีย์ต่างมาลีบูชา ถวายดวงตาต่างปทีปจำรัสไข
ถ้อยคำอำไพต่างธูปหอมจุณจันทน์ ถวายดวงจิตอัญชลิตวรคุณ
ที่ทรงการุณย์ผองข้ามาแต่บรรพ์ ถวายชีวันรองบาทจนบรรลัย
สุรศักดิ์ประสิทธิ์ สุรฤทธิ์กำจาย
ทรงสราญพระกาย ทรงสบายพระทัย
ร่วมกันร้องทำนองลำนำ มาฟ้อนมารำให้รื่นเริงใจ (ซ้ำ)
ให้พร้อมให้เพรียงเรียงประดับ เปลี่ยนสับท่วงทีหนีไล่
เวียนไปได้จังหวะกัน อัปสรฟ้อนส่ายกรีดกรายออกมา
ฝ่ายฝูงเทวาทำท่ากางกั้น (ซ้ำ) เข้าทอดสนิทไม่บิดไม่ผัน (ซ้ำ)
ผูกพัน ผูกพันสุขเกษม ปลื้มเปรมปลื้มเปรมปรีดา





ระบำกินรีร่อน



เป็นชุดการแสดงที่กองการสังคีต กรมศิลปากร ปัจจุบันคือสถาบันนาฏดุริยางคศิลป์ ได้สร้างสรรค์ขี้นเพื่อนำไปเผยแพร่ในต่างประเทศ
ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี ผู้เชี่ยวชาญนาฏศิลป์ไทย กรมศิลปากร และศิลปินแห่งชาติ ตัดตอนปรับปรุงท่ารำมาจากการแสดงละครเรื่องมโนห์รา ตอนนางกินรีเล่นน้ำที่สระโบกขณี ซึ่งจัดแสดงให้ประชาชน ณ โรงละครศิลปากร เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๘ โดยปรับปรุงท่ารำให้กลมกลืนกับท่วงทำนองเพลงเชิดจีนผสมกับท่าเหินบินของกินรี ต่อมาได้เพิ่มเติมนำลีลาท่ารำบูชายัญของนางมโนห์รามารำต่อท้ายเพลงเชิดจีน

การแสดงระบำกินรีร่อนจัดแสดงได้สองรูปแบบคือ รำเฉพาะเพลงเชิดจีนแบบหนึ่ง หรือรำมโนห์ราบูชายัญต่อท้ายเพลงเชิดจีนอีกแบบนึ่ง
การแสดงชุดนี้ได้รับความนิยมว่ากระบวนรำงดงาม กะทัดรัด ลีลาท่ารำแปลกตา มีลักษณะผสมนาฏศิลป์ไทยกับนาฏศิลป์สากล

ใช้วงปี่พาทย์เครื่องห้าหรือเครื่องคู่หรือเครื่องใหญ่เป็นดนตรีประกอบการแสดงตามความเหมาะสมกับโอกาสที่จัดแสดง ทำนองเพลงเชิดจีนตัวหนึ่งและเชิดกลอง หรือเพิ่มเติมเพลงเร็วแขกบูชายัญในตอนท้าย

แต่งกายยืนเครื่องลำลองแบบนางกินรี นุ่งผ้าจีบหน้านางคลี่สองชายพก คาดรัดสะเอว สวมเสื้อยกทรงเข้ารูปปักดิ้นเลื่อม กรองคอ สวมเครื่องประดับถนิมพิมพาภรณ์ ใส่ปีกหาง สวมเล็บมือ ศิราภรณ์มงกุฏกินรี มีลีลาท่ารำนาฏศิลป์ไทยผสมนาฏศิลป์สากล บางท่าเลียนแบบกิริยาอาการเคลื่อนไหวของนกบิน บางท่าเลียนแบบท่าเต้นทุบอกในพิธีศาสนาอิสลามนิกายเจ้าเซ็น
การแสดงชุดนี้ใช้เวลาแสดงประมาณ ๙ นาที




ระบำนพรัตน์



ระบำนพรัตน์อยู่ในละครนอกเรื่องสุวรรณหงส์ ตอนสุวรรณหงส์พาพราหมณ์เกศสุริยงไปชมถ้ำแก้ว ซึ่งกรมศิลปากรจัดแสดงให้ประชาชนชม ณ โรงละครศิลปากร เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๔๙๒ ปัจจุบันระบำชุดนี้นิยมนำมาแสดงเป็นชุดระบำเอกเทศ เพราะบทร้องและทำนองเพลงไพเราะ ท่ารำและเครื่องแต่งกายงาม ผู้แต่งบทร้องและทำนองเพลงนพรัตน์ คือ นายมนตรี ตราโมทผู้เชี่ยวชาญด้านดุริยางค์ไทย กรมศิลปากร และศิลปินแหงชาติ ผู้ประดิษฐ์ท่ารำ คือ นางลมุล ยมะคุปต์ ผู้เชื่ยวชาญการสอนนาฏศิลป์ วิทยาลัยนาฏศิลป กรมศิลปากร นางมัลลิ คงประภัศร์ และนางศุภลักษณ์ ภัทรนาวิก (หม่อมครูต่วน)

ดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดง เป็นวงปี่พาทย์ไม้นวมเครื่องห้า หรือเครื่องคู่ หรือเครื่องใหญ่ ทำนองเพลงนพรัตน์ เพลงสุรินทราหู เพลงเร็วท้ายสมเด็จ
ผู้แสดงแต่งชุดพระราชนิยมไทยจักรี หรือไทยจักรพรรดิ หรือแต่งกายแบบเบ็ดเตล็ดห่มสไบเฉียงตามสีอัญมณีทั้งเก้าชนิด พร้อมถนิมพิมพาภรณ์ ศิราภรณ์เกี้ยวดอกไม้ไหว รำท่าตามบทร้องของอัญมณีแต่ละชนิดในเพลงนพรัตน์ และเพลงสุรินทราหู แล้วรำรวมพร้อมกันในเพลงเร็วท้ายสมเด็จ

ระบำนพรัตน์จัดแสดงได้สองแบบ คือ แบบที่หนึ่งรำเต็มทุกบทร้อง และเพลงเร็วท้ายสมเด็จใช้เวลาแสดงประมาณ ๑๒ นาที แบบที่สองรำเฉพาะเพลงสุรินทราหูกับเพลงเร็วท้ายสมเด็จ ใช้เวลาแสดงประมาณ ๕ นาที

คำร้อง: นายมนตรี ตราโมท
รัตนคูหากายสิทธิ์ ล้วนวิจิตรนวรัตน์จรัสฉาย
แสงมณีสีวามอร่ามพราย เป็นเลื่อมลายแลสลับระยับตา
...อันเพชรดีสีขาวรุ้งพราวเพริศ
สุดประเสริฐแสงสีวิเลขา
ใครประดับเพชรดีมีราคา
เรืองเดชานุภาพด้วยดวงมณี
ทับทิมแท้แลดูแดงอร่าม
แสงแวววามแจ่มจรัสรัศมี
กำจัดปวงโรคาพยาธี
พูนทวีสินทรัพย์นับอนันต์
มรกตสดขจีสีเขียวขำ
แสงงามล้ำเลอเลิศประเสริฐสรรพ์
ประดับกันเขี้ยวงาสารพัน
คุ้มภยันตรายถ้วนมวลพาลา
อันมณีสีเหลืองเรืองวิรุจน์
นี้คือบุษราคัมเลิศล้ำค่า
เป็นอาภรณ์พูนสวัสดิ์วัฒนา
ชนม์พรรษายืนดำรงคงนิรันดร์
แก้วโกเมนแดงก่ำน้ำใสสด
แสนงามงดรูจีแสงสีสรรพ์
ผู้ประดับรับเคารพอภิวันทน์
ประชานันต์นับถือเลื่องลือนาม
นิลกาฬน้ำเงินก่ำล้ำหมอกเมฆ
รุจิเรขรุ่งโรจน์โชติอร่าม
อำนวยสรรพ์สุขารมณ์อภิราม
สิ่งดีงามหลามหลั่งสะพรั่งมา
สีขาวหม่นหมอกมัวสลัวแสง
บอกแสดงมุกดาหารตระการสง่า
ดลขจัดสัตว์ร้ายพ่ายเดชา
อสรพิษนานาล่าหลีกไกล
แก้วเพทายพรายแสงสีแดงเรื่อ
พรรณอะเคื้อลำยองผุดผ่องใส
นำศิริมงคลดลโชคชัย
กำจัดภัยผองอุบาทว์ให้คลาดคลาย
แก้วไพฑูรย์ขุ่นฉวีสีไม้ไผ่สังวาล
ไหมสาแหรกผ่านประสานสาย
บันดาลชัยชนะหมู่ศัตรูร้าย
แผ่กำจายเสน่ห์ติดจับจิตเอย
.....สีขาวผ่อง เพชรดี
ทับทิมสี มณีแดง
เขียวใสแสง มรกต
เหลืองใสสด บุษราคัม
แดงแก่ก่ำ โกเมนเอก
สีหมอกเมฆ นิลกาฬ
มุกดาหาร หมอกมัว
แดงสลัว เพทาย
สังวาลสาย ไพฑูรย์
เจิดจำรูญ นพรัตน์ อวยสวัสดิ ภาพล้น
ปวงวิบัติ ขจัดพ้น ผ่านร้ายกลายดี





ระบำชุมนุมเผ่าไทย



เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๘ กรมศิลปากรได้จัดการแสดงละครประวัติศาสตร์ เรื่องอานุภาพแห่งความเสียสละ บทประพันธ์ของ ฯพณฯ พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ ซึ่งมีระบำชุมนุมเผ่าไทยเป็นฉากนำ กล่าวถึงการรวมชาวไทยในดินแดนสุวรรณภูมิ
ผู้แสดงจะแต่งกายตามแบบชนชาติไทยเผ่าต่างๆเริ่มด้วยชาวไทยในภาคกลาง ไทยลานนา ไทยใหญ่ ไทยลานช้าง ไทยสิบสองจุไท และไทยอาหม การแสดงจะรำออกมาทีละเผ่า

นายมนตรี ตราโมท ผู้เชี่ยวชาญดนตรีไทยและศิลปินแห่งชาติเป็นผู้แต่งทำนองเพลง
นางลมุล ยมะคุปต์ ผู้เชี่ยวชาญการสอนนาฏศิลป์ไทย เป็นผู้ประดิษฐ์ท่ารำ

มีเนื้อร้องดังนี้
นี่พี่น้องของเราไทยลานนา อยู่ด้วยกันนานมาแต่ก่อนเก่า
ได้ร่วมแรงร่วมใจสร้างไทยเรา เป็นพงศ์เผ่าญาติสนิทและมิตรแท้
นี่ไทยใหญ่อยู่ใกล้ๆทางทิศเหนือ เป็นชาติเชื้อพี่ชายของไทยแน่
ยังรักษาความเป็นไทยไม่ผันแปร ขยายแผ่สาขาตระกูลไทย
นี่คือไทยลานช้างอยู่ข้างเคียง เคยร่วมเรียงอยู่เป็นสุขทุก
แม่น้ำโขงกั้นเขตประเทศไว้ แต่ไม่กั้นดวงใจที่รักกัน
นี่พี่น้องชาวสิบสองจุไทย เป็นพี่ใหญ่แน่แท้ไม่แปรผัน
ต้นเชื้อสายไทยน้อยแหล่งสำคัญ ครั้งสมัยดึกดำบรรพ์ขุนบรม
พี่น้องพวกสุดท้ายที่เข้ามา ก็เป็นไทยชื่อว่าไทยอาหม
ล้วนเลือดเนื้อเชื้อไทยใฝ่นิยม ให้อาณาประชาคมไทยสมบูรณ์





ระบําชุดโบราณคดี


ระบำทวารวดี



ทวารวดีเป็นยุคที่นักวิชาการทางโบราณคดีประมาณว่าอยู่ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๑–๑๖ ระบำทวารวดีนี้เป็นระบำชุดที่ ๑ ในระบำโบราณคดีซึ่งมีทั้งหมดด้วยกันรวม ๕ ชุด นายธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ได้ริเริ่มขึ้นโดยทำการสอบสวนค้นคว้าจากหลักฐานภาพปั้นและภาพจำหลักที่ขุดค้นพบ ณ โบราณสถานสมัยทวารวดี เช่นที่ คูบัว อู่ทอง นครปฐม โคกไม้เดนและจันเสน

หลังจากนั้น นายมนตรี ตราโมท ผู้เชี่ยวชาญด้านดุริยางค์ไทย กรมศิลปากร และศิลปินแห่งชาติ ได้สร้างสรรค์ทำนองเพลง และมอบหมายให้นายสนิท ดิษฐ์พันธ์ เป็นผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย นางลมุล ยมะคุปต์ ผู้เชี่ยวชาญการสอนนาฏศิลป กรมศิลปากร และนางเฉลย ศุขะวณิช ผู้เชี่ยวชาญการสอนนาฏศิลป์ วิทยาลัยนาฏศิลป กรมศิลปากร และศิลปินแห่งชาติ เป็นผู้ประดิษฐ์ลีลาท่ารำตามทำนองเพลงที่นายมนตรี ตราโมท ได้สร้างสรรค์ขึ้น

นักปราชญ์ทางโบราณคดีได้วินิจฉัยไว้ตามหลักฐานที่พบว่าประชาชนชาวทวารวดีเป็นมอญหรือเผ่าชนที่พูดจาภาษามอญ เพราะฉะนั้น ดนตรีและลีลาท่ารำในระบำชุดนี้จึงมีสำเนียงและท่ารำเป็นแบบมอญ ระบำชุดนี้ได้จัดแสดงถวายทอดพระเนตรเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๐ ในงานเปิดอาคารสร้างใหม่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร

เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงระบำชุดนี้ ประกอบด้วย พิณ ๕ สาย จะเข้ ขลุ่ย ระนาดตัด ตะโพนมอญ ฉิ่ง ฉาบ และกรับคู่
การแสดงชุดนี้ใช้เวลาแสดงประมาณ ๕ นาที




ระบำศรีวิชัย



ระบำศรีวิชัยเป็นระบำชุดที่ ๒ ของระบำโบราณคดีซึ่งมีทั้งหมดด้วยกันรวม ๕ ชุด โดยความคิดริเริ่มของนายธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐ มีนางลมุล ยมะคุปต์ ผู้เชี่ยวชาญการสอนนาฏศิลป์ วิทยาลัยนาฏศิลป กรมศิลปากร และนางเฉลย ศุขะวนิช ผู้เชี่ยวชาญการสอนนาฏศิลป์ วิทยาลัยนาฏศิลป กรมศิลปากร และศิลปินแห่งชาติ เป็นผู้ประดิษฐ์ท่ารำ โดยอาศัยท่าทางของนาฏศิลป์ชวามาผสมผสานเข้าด้วยกัน และมีนายมนตรี ตราโมท ผู้เชี่ยวชาญด้านดุริยางค์ไทย กรมศิลปากรและศิลปินแห่งชาติ เป็นผู้ประดิษฐ์ทำนองเพลง

จากหลักฐาน ซึ่งนักปราชญ์ทางโบราณคดีส่วนใหญ่ลงความเห็นว่าสมัยศรีวิชัยอยู่ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๓–๑๘ มีอาณาเขตตั้งแต่ตอนใต้ของประเทศไทย ลงไปจรดดินแดนมาเลเซียและอินโดนีเซียบางส่วนในปัจจุบัน

การสร้างสรรค์ระบำชุดนี้อาศัยการสอบหลักฐานจากศิลปกรรมภาพจำหลักที่พระสถูปโรพุทโธในเกาะชวา ซึ่งเชื่อว่าอยู่ในสมัยราชวงศ์ไศเลนทร รวมกับศิลปะวัตถุสมัยศรีวิชัยและศิลปกรรมอื่น ๆ ประกอบกัน ส่วนทำนองเพลงก็แต่งให้ใกล้ไปทางสำเนียงชวา

เครื่องดนตรีซึ่งใช้บรรเลงเพลงชุดศรีวิชัย ประกอบด้วย กระจับปี่ ๓ ตัว ซอสามสาย ขลุ่ยเพียงออ ตะโพน กลองแขก ฉิ่ง ฉาบเล็ก และกรับ
นายสนิท ดิษฐ์พันธ์ เป็นผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย ตามหลักฐานศิลปกรรมภาพจำหลักที่พระสถูปบุโรพุทโธ ในเกาะชวา




ระบำลพบุรี



เป็นระบำโบราณคดีเพลงหนึ่ง เกิดขึ้นโดยเลียนแบบลักษณะท่าทางของเทวรูป ภาพเขียน ภาพแกะสลัก รูปปั้น รูปหล่อโลหะและภาพศิลาจำหลัก-ทับหลังประตู ตามโบราณสถาน ที่ขุดพบในสมัยลพบุรี ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๙ ศิลปวัตถุโบราณประเภทนี้อยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น ปราสาทหินพิมาย ในจังหวัดนครราชสีมา พระปรางค์สามยอดลพบุรี แล้วนำมากำหนดยุกต์สมัยตามความเก่าแก่ของโบราณสถานและโบราณวัตถุ ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากชนเผ่าเขมร โดยสังเกตได้จากมงกุฎที่ผู้แสดงใช้สวมศรีษะ แล้วมาสร้างเป็นระบำสมัยนั้นขึ้น

ลีลาท่าทางของศิลปวัตถุเป็นภาพนิ่ง(ท่าตาย) เหมาะเป็นท่าเทวรูปมากกว่า เมื่ออาศัยหลักทางด้านนาฎศิลป์เข้ามาดัดแปลงเป็นท่ารำ ทำให้มีความอ่อนช้อย สวยงาม
ผู้ประดิษฐ์ท่ารำคือครูลมุล ยมะคุปต์ ร่วมด้วยครูเฉลย ศุขะวณิช ผู้เชี่ยวชาญนาฎศิลป์ไทย กรมศิลปากร

นาฎยศัพท์ที่ใช้ประกอบการรำ
จีบมือ จีบมือแบบลพบุรี ได้รูปแบบมาจากลักษณะนิ้วของพระพุทธรูปในสมัยลพบุรี มีลักษณะดังนี้ คือ ปลายนิ้วหัวแม่มือจรดเหนือข้อแรกของปลายนิ้วชี้ นิ้วที่เหลือเหยียดตึง

ถองสะเอว แขนขวางอศอก ให้ข้อศอกจรดเอว หักข้อมือ ตั้งวง กดไหล่ขวา ศีรษะเอียงขวา มือซ้ายตั้งวงสูงระดับแง่ศีรษะ เป็นการถองสะเอวขวา ถ้าจะถองสะเอวข้างซ้ายก็ทำเช่นเดียวกัน

เดี่ยวเท้า เดี่ยวเท้าขวา ยืนด้วยเท้าซ้าย ยกฝ่าเท้าขวาขึ้นแนบกึ่งกลางด้านข้างขาพับซ้าย ถ้าจะเดี่ยวเท้าซ้ายก็ทำเช่นเดียวกัน

ตั้งวง ลักษณะการตั้งวงจะตั้งวงพิเศษ คือ ยกเขนตั้งวงสูงไม่ตกศอก ให้ปลายนิ้วจรดกลางศีรษะ

โขยกเท้า แบ่งเป็นโขยกเคลื่อนตัวกับโขยกเท้าอยู่กับที่ เป็นอาการแบบก้าวเท้า วางจมูกเท้าเคลื่อนตัว เช่น ก้าวเท้าขวาไปข้างหน้า ชักเท้าซ้ายตามไปวางด้วยจมูกเท้าใกล้ๆ และวางจมูกเท้านั้นแบ่งน้ำหนักมาด้วย เพื่อยันให้เท้าขวากระเถิบนิดหนึ่ง แล้วยกเท้าที่โขยก (คือเท้าที่ยันด้วยจมูกเท้า) ก้าวไปข้างหน้า วางเต็มเท้า ให้เท้าขวากระเถิบอยู่ก่อน แล้วเป็นฝ่ายยันด้วยจมูกเท้าบ้าง เท้าที่ยันด้วยจมูกเท้านี้ เรียกว่า เท้าโขยก

โหย่งหรือกระหย่ง หมายถึง ลักษณะการจรดปลายเท้าไม่ให้ฝ่าเท้าถูกพื้น ซึ่งท่ารำชนิดนี้มีทั้งท่ายืนและท่านั่ง เช่น โหย่งส้นเท้าซ้าย ใช้เท้าขวายืนเต็มเท้า ย่อเข่า ยกส้นเท้าซ้ายแตะกับข้อเท้าขวา

เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงระบำลพบุรี
๑.ซอสามสาย
๒. พิณน้ำเต้า
๓. ปี่ใน
๔. กระจับปี่
๕ โทน




ระบำเชียงแสน



เป็นระบำโบราณคดีที่สร้างขึ้นตามแบบศิลปะและโบราณสถานสมัยเชียงแสน และได้แพร่หลายไปทั่วดินแดนภาคเหนือของไทย ซึ่งในสมัยโบราณเรียกว่า "อาณาจักรล้านนา" และต่อมามีนครเชียงใหม่เป็นเมืองหลวงของอาณาจักรนั้น ศิลปะแบบเชียงแสนได้แพร่หลายลงมาตามลุ่มแม่น้ำโขง เข้าไปในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่เรียกว่า "ลานช้าง" หรือ "กรุงศรีสัตนาคนหุต" แล้วแพร่หลายเข้ามาในประเทศไทยทางจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนด้วย

โดยเหตุนี้ระบำเชียงแสน ตลอดจนดนตรีที่สร้างจังหวะของระบำชุดนี้ จึงมีลีลาและสำเนียงพื้นเมืองเป็นไทยชาวเหนือแบบพื้นเมือง คละเคล้าระคนไปด้วยลีลาและสำเนียงพื้นเมืองของชาวไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือปะปนอยู่ด้วย




ระบำสุโขทัย



เป็นระบำโบราณคดี ที่ได้สร้างขึ้นตามความรู้สึกจากแนวสำเนียงของถ้อยคำไทยในศิลาจารึก ประกอบด้วยลีลาท่าเยื้องกรายอันนิ่มนวลอ่อนช้อยของรูปภาพปูนปั้นหล่อในสมัยสุโขทัย ได้แก่พระพุทธรูปปางสำริตและรูปภาพปูนปั้นปางลีลา รูปพระพุทธองค์เสด็จลงจากดาวดึงส์และท่าทีของพระพรหมและพระอินทร์ที่ตามเสด็จ
การแสดงระบำสุโขทัยจะรำตามจังหวะดนตรีไม่มีเนื้อร้อง

นาฎยศัพท์ที่ใช้ประกอบการรำ
๑. จีบหังสัสยะหัสต์ โดยการนำนิ้วหัวแม่มือจรดข้อสุดท้ายของนิ้วชี้ หักข้อนิ้วชี้ลงมา นิ้วที่เหลือกรีดดึงออกไป
๒. ท่าปางลีลา เป็นท่าออก โดยมือซ้ายจีบแบบหังสัสยะหัสต์ มือขวาแบส่งไปหลัง หงายท้องแขนขึ้น เอียงศีรษะด้านซ้าย ก้าวเท้าขวามาข้างหน้า เท้าซ้ายเปิดส้นเท้า
๓. ท่าดอกบัว คิดจากการเคารพบูชากราบไหว้ มือทำเป็นรูปดอกบัว อยู่ระหว่างอกเป็นดอกบัวตูม ชูมือขึ้นแล้วค่อยๆบานปลายนิ้วออกเป็นบัวบาน
๔. ท่าพระนารยณ์ แทนองค์พระนารายณ์ พระอิศวร ท่าจีบแบบหังสัสยะหัสต์ ตั้งวงกลางข้างลำตัว กระดกเท้าซ้าย
๕. ท่ายูงฟ้อนหาง คิดจากท่านาฎศิลป์ แบมือ แขนทั้งสองตึงส่งหลัง หงายท้องแขนขึ้น
๖. ท่าบัวชูฝัก คิดจากการขอพร อีกมือหนึ่งไว้ข้างสะโพก มือจีบคว่ำแล้วสอดมือขึ้นเป็นท่าสอดสูงเหนือศีรษะ
๗. ท่าชะนีร่ายไม้ คิดจากมนุษย์โลกต้องการดำรงชีวิต หมุนเวียนเปลี่ยนไป โดยหมุนเป็นวงกลมแทนการเวียน ว่าย ตาย เกิด มือข้างหนึ่งตั้งวงสูง มืออีกข้างหนึ่งหงายท้องแขน ลำแขนตึง แบมือและชี้ปลายนิ้วลง มองมือสูง




ระบำศรีชัยสิงห์



เป็นระบำโบราณคดีที่วิทยาลัยนาฏศิลป์ กรมศิลปากร ได้สร้างสรรค์ประดิษฐ์ท่ารำขึ้นใหม่จากจินตนาการศิลปกรรมภาพจำหลัก ซึ่งภาพจำหลักนี้ ได้ลอกเลียนแบบมาจากปราสาทเมืองสิงห์ เป็นโบราณสถานที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ดัดแปลงมาจากท่ารำของนางอัปสรบายน ในสมัยขอมบายน มาเป็นหมู่ระบำนางอัปสรฟ้อนรำถวายพระนางปรัชญาปารมิตา ซึ่งเป็นพระมารดาแห่งพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร

ดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงระบำศรีชัยสิงห์
๑. ระนาดเอก ๒. ระนาดทุ้ม ๓. ระนาดเอกเหล็ก ๔. ระนาดทุ้มเหล็ก
๕. ฆ้องวงใหญ่ ๖. ฆ้องวงเล็ก ๗. ปี่นอก ๘. โทน ๙. ฉิ่ง
๑๐. ฉาบเล็ก ๑๑. กรับ ๑๒. โหม่ง

เครื่องแต่งกายตัวเอก
เสื้อ เป็นชุดรัดรูปสีน้ำตาลอ่อน คอกลม แขนสั้นเหนือศอก
ผ้านุ่ง เป็นกระโปรงสำเร็จรูปแบบป้าย ทบซ้อนหน้า สีเหลืองทอง ยาวคลุมเข่า มีลูกไม้แถบสีทองเดินลายและปักเลื่อมดอกสีทองประปราย ตัดเย็บด้วยผ้าผาดไทยชนิดมีลวดลายในตัว

เครื่องประดับ
ศีรษะของตัวเอก ประกอบด้วย
๑. กะบังหน้า ทำด้วยหนัง ลงลายรักปิดทอง ประดับพลอย และกระจกสีต่างๆ
๒. ยี่ก่า ๓. เกี้ยว ๔. พู่หนัง ๕. สาแหรก ๖. ปลียอด ๗. ดอกไม้ไหว
๘. ลายท้าย

รัดต้นแขน ทำด้วยหนัง ลงลายรักปิดทอง ประดับด้วยพลอยสี และกระจกสีต่างๆ
สร้อยคอ ๑ เส้น ทำด้วยหนัง ลงลายรักปิดทอง ประดับด้วยพลอยสี และกระจกสีต่างๆ
กำไลมือ ทำด้วยหนัง ลงลายรักปิดทอง ประดับด้วยพลอยสี และกระจกสีต่างๆ
กำไลเท้า ทำด้วยหนัง ลงลายรักปิดทอง ประดับด้วยพลอยสี และกระจกสีต่างๆ
กรองคอ ทำด้วยหนัง ลงลายรักปิดทอง ประดับกระจก และพลอยหลากสี
สังวาล ๒ เส้น ทำด้วยหนัง ลงลายรักปิดทอง ประดับกระจก และพลอยหลากสี

เครื่องแต่งกายตัวรอง
เสื้อ เป็นชุดรัดรูปสีน้ำตาลเข้ม คอกลม แขนสั้นเหนือศอก
ผ้านุ่ง เป็นกระโปรงสำเร็จรูปแบบป้ายทบซ้อนหน้าสีน้ำตาลเข้ม ยาวคลุมเข่า มีลูกไม้แถบสีทอง เดินลายและปักเลื่อมดอกสีทองประปราย ด้านหน้าเดินลูกไม้แถบทึบเป็นลวดลายหางปลา ตัดเย็บด้วยผ้าพื้นไม่มีลวดลาย
กรองคอ ทำด้วยผ้าต่วนมันสีน้ำตาล ขลิบริมด้วยลูกไม้แถบสีทอง ปักเลื่อมดอกประปราย

เครื่องประดับ
มวยผมสูง ทำด้วยไหมพรมสีดำแทนผมจริง เดินเส้นลูกไม้แถบทองปักเลื่อมดอกสีทอง เลียนแบบลักษณะเกี้ยวครอบผม
สร้อยคอ ทำด้วยหนัง ลงลายรักปิดทอง ประดับด้วยพลอยสี
ข้อมือ ทำด้วยหนัง ลงลายรักปิดทอง ประดับกระจก และพลอยหลากสี
ข้อเท้า ทำด้วยหนัง ลงลายรักปิดทอง ประดับกระจก และพลอยหลากสี
ต่างหู ทำด้วยหนัง ลงลายรักปิดทอง ประดับพลอยหลากสี
ต้นแขน ทำด้วยหนัง ลงลายรักปิดทอง ประดับกระจก และพลอยหลากสี
สังวาล ๒ เส้น ทำด้วยโลหะ ชุบทอง ประดับพลอย

นาฏยศัพท์ที่ใช้ประกอบการรำ
๑. จีบมือ ได้รูปแบบมาจากลักษณะนิ้วของพระพุทธรูปขอมบายน เมื่อนำมาผสมผสานกับลีลาทางนาฏศิลป์ จะมีลักษณะดังนี้ คือ ปลายนิ้วหัวแม่มือจรดเหนือข้อแรกของปลายนิ้วชี้ นิ้วที่เหลือเหยียดตึง

๒. ถองสะเอว แขนขวางอศอก ให้ข้อศอกจรดเอว หักข้อมือ ตั้งวง กดไหล่ขวา ศีรษะเอียงขวา มือซ้ายตั้งวงสูงระดับแง่ศีรษะ ถ้าจะถองสะเอวข้างซ้ายก็ปฏิบัติเช่นเดียวกัน

๓. เดี่ยวเท้า เดี่ยวเท้าขวา ยืนด้วยเท้าซ้าย ยกฝ่าเท้าขวาขึ้นแนบกึ่งกลางด้านข้างขาพับซ้าย ถ้าจะเดี่ยวเท้าซ้ายก็ปฏิบัติเช่นเดียวกัน

๔. ตั้งวง ลักษณะการตั้งวงจะตั้งวงพิเศษ คือ ยกแขนตั้งวงสูงไม่ตกศอก ให้ปลายนิ้วจรดกลางศีรษะ

๕. โขยกเท้า แบ่งเป็นโขยกเคลื่อนตัวกับโขยกเท้าอยู่กับที่ เป็นอาการแบบก้าวเท้า วางจมูกเท้าเคลื่อนตัว เช่น ก้าวเท้าขวาไปข้างหน้า ชักเท้าซ้ายตามไปวางด้วยจมูกเท้าใกล้ๆ และวางจมูกเท้านั้นแบ่งน้ำหนักมาด้วยเพื่อยันให้เท้าขวากระเถิบนิดหนึ่ง แล้วยกเท้าที่โขยก ก้าวไปข้างหน้า วางเต็มเท้า ให้เท้าขวากระเถิบอยู่ก่อน แล้วเป็นฝ่ายยันด้วยจมูกเท้าบ้าง เท้าที่ยันด้วยจมูกเท้านี้เรียกว่า เท้าโขยก

๖. โหย่งหรือกระหย่ง หมายถึง ลักษณะการจรดปลายเท้าไม่ให้ฝ่าเท้าถูกพื้น ซึ่งท่ารำชนิดนี้มีทั้งท่ายืนและท่านั่ง เช่น โขย่งส้นเท้าซ้าย ใช้เท้าขวายืนเต็มเท้า ย่อเข่ายกส้นเท้าซ้ายแตะกับข้อเท้าขวา




ระบำสี่ภาค



เป็นการแสดงที่สวยงามชุดหนึ่งที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่ เพื่อให้เห็นลีลาท่ารำ ตลอดจนสำเนียงดนตรีการแต่งกาย และอาชีพที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทยนอกจากนี้ ยังชี้ให้เห็นถึง ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนไทย ถึงแม้จะอยู่คนละภาคกัน
การแต่งกาย ผู้แสดงจะแต่งกายตามประจำภาคที่ตนแสดง
โอกาสที่แสดง ใช้แสดงในงานรื่นเริงทั่วไป




ระบำฉิ่ง



เป็นการแสดงในรูปแบบสร้างสรรค์อีกชุดหนึ่ง โดยนำเครื่องประกอบจังหวะของวงดนตรีไทยมาประดิษฐ์เป็นการแสดงในรูปแบบระบำเบ็ดเตล็ด

ที่มาของระบำชุดนี้คือ พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล เคยทอดพระเนตรการแสดงของชาวธิเบต ใช้ฉิ่งประกอบท่ารำ จึงทรงขอให้นายมนตรี ตราโมท ผู้เชี่ยวชาญด้านดุริยางค์ไทย กรมศิลปากร และศิลปินแห่งชาติ แต่งทำนองเพลง นางลมุล ยมะคุปต์ ผู้เชี่ยวชาญการสอนนาฏศิลป์ วิทยาลัยนาฏศิลป์ กรมศิลปากร และนางเฉลย ศุขะวณิช ผู้เชี่ยวชาญการสอนนาฏศิลป์ วิทยาลัยนาฏศิลป กรมศิลปากร และศิลปินแห่งชาติ ประดิษฐ์ลีลาท่ารำระบำฉิ่ง เพื่อแสดงในงาน “นาฏลีลาน้อมเกล้า” เนื่องในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติปีที่ ๓๖ ณ โรงละครแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๔ แสดงโดย นักเรียนวิทยาลัยนาฏศิลป จำนวน ๘ คน
การแสดงครั้งแรกนั้นใช้ฉิ่งธิเบตของพลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล ประกอบการแสดง

การแสดงระบำฉิ่งแสดงได้สองรูปแบบคือ ระบำฉิ่งล้วน หรือระบำอวยพรแล้วต่อท้ายด้วยระบำฉิ่ง โดยรูปแบบของการแสดงนั้น เน้นจังหวะการตีฉิ่งในแบบต่าง ๆ ได้แก่ รัวฉิ่ง ตีฉิ่งจังหวะเดี่ยว จังหวะฉิ่ง-ฉับ สองชั้นและชั้นเดียว ตีประกบฉิ่ง กระบวนการแปรแถว ลีลานาฏศิลป์ไทยผสมนาฏศิลปสากล เช่น วิ่งเขย่งปลายเท้า วาดแขน ฯลฯ

ดนตรีประกอบการแสดง ใช้วงปี่พาทย์ไม้นวมเครื่องห้า หรือเครื่องคู่ หรือเครื่องใหญ่ ตามความเหมาะสมแก่โอกาส ท่วงทำนองเพลงและจังหวะ เป็นเพลงประเภทอัตราสองชั้นและชั้นเดียว ไม่มีบทร้อง ไม่ใช้ฉิ่งในวงดนตรีตีประกอบจังหวะ แต่ใช้ฉิ่งของผู้รำตีตามจังหวะช้าหรือเร็วตามจังหวะช้า-เร็วของท่วงทำนองเพลง

การแต่งกายของผู้แสดง แต่งแบบยืนเครื่องลำลอง นุ่งผ้ายกดิ้น หรือผ้าพิมพ์ลายทองแบบจีบหน้านาง ห่มผ้าสไบกรองทองปักลายดิ้นเลื่อม ห่มทับสไบแพรจีบ สวมเครื่องประดับถนิมพิมพาภรณ์อย่างน้อย เกล้าผมประดับเกี้ยวดอกไม้ไหว หรือเกี้ยวหางหงส์
การแสดงชุดนี้ใช้เวลาแสดงประมาณ ๙ นาที







กลับขึ้นบน





 

Create Date : 22 สิงหาคม 2551
0 comments
Last Update : 11 สิงหาคม 2552 20:19:27 น.
Counter : 373030 Pageviews.


บ้านรักษ์ไทย
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




Friends' blogs
[Add บ้านรักษ์ไทย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.