บ้านรักษ์ไทย ขอร่วมส่งเสริมและสํานึกรัก ศิลปวัฒนธรรมไทย และภาคภูมิใจในศิลปวัฒนธรรมของชาติ ให้คงอยู่ยืนยาวตลอดไป
Group Blog
 
 
สิงหาคม 2551
 
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
22 สิงหาคม 2551
 
All Blogs
 

การแสดง ประเภทรํา


รำ
หมายถึง ศิลปะแห่งการร่ายรำที่มีผู้แสดงตั้งแต่ 1-2 คน เช่น การรำเดี่ยว การรำคู่ การรำอาวุธ เป็นต้น มีลักษณะการแต่งกายตามรูปแบบของการแสดง ไม่เล่นเป็นเรื่องราวอาจมีบทขับร้องประกอบการรำเข้ากับทำนองเพลงดนตรี มีกระบวนท่ารำ โดยเฉพาะการรำคู่จะต่างกับระบำ เนื่องจากท่ารำจะมีความเชื่อมโยงสอดคล้องต่อเนื่องกัน และเป็นบทเฉพาะสำหรับผู้แสดงนั้นๆ เช่น รำเพลงช้า – เพลงเร็ว รำแม่บท รำเมขลา – รามสูร เป็นต้น

รําแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
1) รำเดี่ยว หมายถึง การรำที่ใช้ผู้แสดงเพียงคนเดียว เช่น รำฉุยฉาย รำพลายชุมพล รำมโนราห์บูชายัญ เป็นต้น
2) รำคู่ หมายถึง การรำที่ใช้ผู้แสดง 2 คน
การรำคู่ แบ่งลักษณะการรำออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
2.1 รำคู่ในเชิงศิลปะการต่อสู้ เช่น กระบี่กระบอง ดาบสองมือ โล่ เขน ดั้ง ทวน เป็นต้น
2.2 รำคู่ในชุดสวยงาม เช่น หนุมานจับนางเบญจกาย พระรามตามกวาง พระลอตามไก่ รามสูรเมขลา รจนาเสี่ยงพวงมาลัย เป็นต้น
3) รำหมู่ หมายถึง การรำที่ใช้ผู้แสดงมากกว่า 2 คน โดยนับเอาลักษณะของจำนวนคน ส่วนระบำนั้นก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของรำหมู่เช่นเดียวกัน เช่น รำโคม รำพัด รำวง เป็นต้น นอกจากนั้นก็มีการแสดงพื้นเมืองของชาวบ้านก็ถือว่าเป็นการรำหมู่ ได้แก่ รำกลองยาว เซิ้งกระติบข้าว ฟ้อนเล็บ เป็นต้น


รำฉุยฉายพราหมณ์



รำฉุยฉายพราหมณ์ เป็นส่วนหนึ่งของการร่ายรำที่งดงามของตัวละครประเภทพระ จากบทพระราชนิพนธ์เบิกโรงดึกดำบรรพ์ เรื่องพระคเณศเสียงา ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เนื้อเรื่องย่อมีอยู่ว่า ปรศุรามเจ้าแห่งพราหมณ์ทะนงตัวว่าเป็นที่โปรดปรานของพระอิศวร คิดจะเข้าเฝ้าในโอกาสที่ไม่สมควรพระคเณศได้ห้ามปราม ในที่สุดเกิดการวิวาท ปรศุราม ขว้างขวานโดนงาซ้ายพระคเณศหักสะบั้นไป พระอุมากริ้วปรศุรามจึงสาปให้หมดกำลังล้มกลิ้งดั่งท่อนไม้พระนารายณ์ทรงเล็งเห็นและเกรงว่าคณะพราหมณ์จะขาดผู้ปกป้อง อีกทั้งทรงทราบว่าพระอุมา ทรงเมตตาต่อเด็ก จึงแปลงกายเป็นพราหมณ์น้อย ซึ่งเป็นปฐมเหตุให้เกิดการรำฉุยฉายพราหมณ์ขึ้น เนื้อเรื่องต่อไปพระอุมาประทานพรให้พราหมณ์ และสามารถแก้ไขคำสาปให้กลับกลายเป็นดีได้ในที่สุด

การรำฉุยฉายพราหมณ์มีกำเนิดขึ้นในครั้งนั้น และเชื่อกันว่าเป็นศิลปะการร่ายรำที่งดงาม เป็นที่รู้จักแพร่หลายทั่วไป ลีลาท่ารำนั้นเชื่อกันว่าเป็นผลงานของพระยานัฏกานุรักษ์ (ทองดี สุวรรณภารต) สืบทอดผ่านมา แต่รูปแบบท่าร่ายรำในปัจจุบันของกรมศิลปากร เป็นผลงานการปรับปรุงของนางลมุล ยมะคุปต์ อดีตผู้เชี่ยวชาญการสอนนาฏศิลป์ วิทยาลัยนาฏศิลป กรมศิลปากร โดยเป็นลีลาท่ารำของตัวพระที่มีลักษณะของความเป็นหนุ่มน้อยที่มีความงดงามและท่าที่นวยนาดกรีดกราย

โอกาสที่ใช้แสดง ใช้เป็นการรำเบิกโรงและการแสดงในงานเบ็ดเตล็ดทั่วไป

ดนตรีประกอบการแสดง ใช้วงปี่พาทย์บรรเลง
การบรรเลงดนตรีในเพลงฉุยฉาย
ฉุยฉายเป็นเพลงในอัตราจังหวะ ๒ ชั้น มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่เดิมการร้องเพลงฉุยฉาย ใช้ดนตรีรับ ๑ - ๒ เที่ยวทุกๆท่อน แต่ปัจจุบันนิยมใช้ปี่รับเพียงเที่ยวเดียว ตามปกติเพลงฉุยฉายจะมีเพลง ๒ เพลงรวมอยู่ด้วยกัน คือเพลงฉุยฉาย และเพลงแม่ศรี โดยที่ในตอนแรกจะร้องเพลงฉุยฉายก่อน ร้องหมดท่อนหนึ่งก็มีปี่เป่าเลียนทำนอง และเสียงร้องเพียงชิ้นเดียวก่อน แล้วจึงบรรเลงรับต่อด้วยเพลงแม่ศรีติดต่อกันไป การที่ต้องร้องเพลงฉุยฉาย และเพลงแม่ศรีติดต่อกันนั้น เพราะถือว่า เพลงฉุยฉายเป็นเพลงช้า เพลงแม่ศรีเป็นเพลงเร็วซึ่งเป็นเพลง ๒ ชั้น เรียกตามหน้าทับว่า "สองไม้" การบรรเลงดนตรีจะเริ่มด้วยเพลงรัว ร้องเพลงฉุยฉาย และเพลงแม่ศรี จบด้วยเพลงเร็ว - ลา ซึ่งเป็นลักษณะที่นิยมโดยทั่วไป
โดยมีบทร้องดังนี้

...ปี่พาทย์ทำเพลงรัว
ร้องฉุยฉาย
ฉุยฉายเอย
ช่างงามขำช่างรำโยกย้าย
สะเอวแสนอ่อนอรชรช่วงกาย
วิจิตรยิ่งลายที่คนประดิษฐ์
สองเนตรคมขำแสงดำมันขลับ
ชม้อยเนตรจับช่างสวยสุดพิศ

สุดสวยเอย
ยิ่งพิศยิ่งเพลินเชิญให้งงงวย
งามหัตถ์งามกรช่างอ่อนระทวย
ช่างนาดช่างนวยสวยยั่วนัยนา
ทั้งหัตถ์ทั้งกรก็ฟ้อนถูกแบบ
ดูยลดูแยบสวยยิ่งเทวา

ร้องแม่ศรี
น่าชมเอย น่าชมเจ้าพราหมณ์
ดูทั่วตัวงาม ไม่ทรามจนนิด
ดูผุดดูผ่อง เหมือนทองทาติด
ยิ่งเพ่งยิ่งพิศ ยิ่งคิดชมเอย

น่ารักเอย น่ารักดรุณ
เหมือนแรกจะรุ่น จะรู้เดียงสา
เจ้ายิ้มเจ้าแย้ม แก้มเหมือนมาลา
จ่อจิตติดตา เสียจริงเจ้าเอย
...ปี่พาทย์ทำเพลงเร็ว-ลา

หมายเหตุ การรำฉุยฉายพราหมณ์นี้สามารถตัดทอนให้สั้นลงได้ตามความเหมาะสม เช่น ร้องฉุยฉายบทแรกต่อด้วยแม่ศรีบทใดบทหนึ่ง
เนื้อร้องในหนังสืออธิบายนาฏศิลป์ไทยของนายธนิต อยู่โพธิ์ ในบทสุดสวยเอย มีที่แตกต่างจากปัจจุบัน คือใช้ว่า "งามหัตถ์งามกรช่างฟ้อนระทวย"

การแต่งกายของผู้แสดงนั้น แต่งยืนเครื่องพระสีขาว สวมกระบังหน้า ไว้ผมมวย มีเกี้ยวครอบ ความยาวของชุดการแสดงนั้นแตกต่างกัน คือ ฉุยฉายพราหมณ์แบบเต็ม ใช้เวลาแสดงประมาณ ๑๒ นาที ฉุยฉายพราหมณ์แบบตัดใช้เวลาแสดงประมาณ ๗ นาที




รำฉุยฉายเบญกายแปลง



เป็นลีลาการร่ายรำของตัวนางเบญกาย บุตรีของพิเภก พญายักษ์ ซึ่งเป็นน้องของทศกัณฐ์ ฉะนั้นเบญกายจึงมีศักดิ์เป็นหลานของทศกัณฐ์ เมื่อพิเภกถูกขับไล่จากลงกา นางก็หมดอำนาจวาสนา ครั้งหนึ่งทศกัณฐ์วางอุบายที่จะล่อลวงพระรามว่านางสีดาตายเสียแล้ว จึงใช้ให้เบญกายแปลงเป็นสีดา เบญกายจำเป็นต้องรับอาสาด้วยเกรงภัยที่จะตกแก่ตนและแม่ เบญกายไม่เคยเห็นว่าสีดามีรูปโฉมอย่างไร จึงทูลขออนุญาตไปดูเสียก่อน เมื่อกลับมาจากอุทยานท้ายกรุงลงกาจึงแปลงกายเป็นสีดา ด้วยเหตุนี้จึงให้กำเนิดชุดนาฏศิลป์ที่งดงามคือฉุยฉายเบญกาย กระบวนลีลาท่ารำแฝงไว้ด้วยความหมายว่า แม้ใครได้เห็นรูปที่แปลงนี้จะต้องหลงใหลในความงดงาม ประดุจต้องศรปักอก

บทร้องประกอบการรำฉุยฉายเบญกายนี้ ปรากฎอยู่ในบทพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงค์ เป็นครั้งแรก ในชุดที่เรียกว่า ตับนางลอย ต่อมาจึงแพร่หลายนำไปประกอบการแสดงโขน ชุดนางลอย ในฉบับอื่น ๆ ทุกครั้งกระบวนลีลาท่ารำสันนิษฐานว่า หม่อมครูท่านต่าง ๆ ของเจ้าพระยาเทเวศร์วงค์วิวัฒน์ (ม.ร.ว.หลาน กุญชร) เป็นผู้คิดประดิษฐ์ขึ้นและถ่ายทอดสืบมายังครู อาจารย์ท่านต่าง ๆ อาทิ นางเฉลย ศุขะวนิช สืบทอดมาจากหม่อมครูนุ่ม นวรัตน์ ณ อยุธยา นางสาวจำเรียง พุทธประดับ สืบทอดมาจากหม่อมครู ศุภลักษณ์ (ต่วน ภัทรนาวิก) ซึ่งมีความงดงามวิจิตรบรรจงทัดเทียมกัน คือ เป็นลีลาท่ารำของตัวนางเบญกายที่แปลงกายเป็นนางสีดาขึ้นเฝ้าทศกัณฐ์เพื่อให้ดูว่าตนแปลงได้เหมือนสีดาเพียงไร
ลักษณะท่ารำแสดงความภาคภูมิใจยั่วยวนด้วยจริตมารยา
ดนตรีประกอบการแสดง ใช้วงปี่พาทย์บรรเลง โดยมีบทร้องดังนี้

ปี่พาทย์ทำเพลงรัว
ร้องฉุยฉาย
ฉุยฉายเอย
จะไปไหนนิดเจ้าก็กรีดกราย
เยื้องย่างเจ้าช่างแปลงกาย
ละเมียดละม้ายสีดานงลักษณ์
ถึงพระรามเห็นทรามวัย
จะฉงนพระทัยให้อะเหลื่ออะหลัก

งามนักเอย
ใครเห็นพิมพ์พักตร์ก็จะรักจะใคร่
หลับก็จะฝันครั้นตื่นก็จะคิด
อยากเห็นอีกสักนิดให้ชื่นใจ
งามคมดุจคมศรชัย
ถูกนอกทะลุในให้เจ็บอุรา

ร้องแม่ศรี
แม่ศรีเอย แม่ศรีราษศรี
แม่แปลงอินทรีย์ เป็นแม่ศรีสีดา
ทศพักตร์มลักเห็น จะตื่นจะเต้นในวิญญาณ์
เหมือนล้อเล่นให้เป็นบ้า ระอาเจ้าแม่ศรีเอย

อรชรเอย อรชรอ้อนแอ้น
เอวขาแขนแมน แม้นเหมือนกินรี
ระทวยนวยนาด วิลาสจรลี
ขึ้นปราสาทมณี เฝ้าพระปิตุลาเอย
...ปี่พาทย์ทำเพลงเร็ว - ลา

หมายเหตุ อาจตัดทอนได้ตามความเหมาะสม โดยใช้บทฉุยฉายบทแรกและแม่ศรีบทใดบทหนึ่งเช่นเดียวกับฉุยฉายพราหมณ์
การแต่งกาย แต่งยืนเป็นเครื่องนาง สวมมงกุฎกษัตริย์ ความยาวของชุดการแสดงนั้น ฉุยฉายเบญกายแบบเต็มใช้เวลาแสดงประมาณ ๑๐ นาที ฉุยฉายเบญจกายแบบตัดใช้เวลาแสดงประมาณ ๗ นาที




รำมโนห์ราบูชายัญ



มโนห์ราบูชายัญ เป็นการแสดงตอนหนึ่งจากละครชาตรีเครื่องใหญ่ (ทรงเครื่อง) เรื่องมโนห์รา ซึ่งกรมศิลปากรได้ปรับปรุงและนำออกแสดง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๘

เนื้อเรื่องย่อมีอยู่ว่า มโนห์ราและพี่นางทั้ง ๖ เป็นนางกินรี ธิดาของท้าวทุมราช วันหนึ่งได้พากันมาเล่นน้ำที่สระโบกขรณี พรานบุณใช้บ่วงนาคคล้องจับนางมโนห์ราไปได้ นำไปถวายพระสุธนพระยุพราชแห่งเมืองปัญจาล พระสุธนรับนางไว้เป็นชายา ซึ่งทำให้ปุโรหิตไม่พอใจเป็นอย่างยิ่งจึงหาทางกำจัดนาง วันหนึ่งสบโอกาสที่พระสุธนยกทัพออกจากเมืองและท้าวอาทิตย์วงศ์ประชวร ปุโรหิตยุยงให้บูชายัญนางมโนห์ราเพื่อสะเดาะพระเคราะห์ ก่อนที่นางจะเข้าสู่พิธีบูชายัญได้ทูลขอปีกหางและฟ้อนรำตามเพศกินรี สบโอกาสนางจึงบินหนีกลับบ้านเมืองได้

ดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดง ใช้วงปี่พาทย์ชาตรี ประกอบด้วยเพลงรัวบูชายัญ และเพลงเร็วแขกบูชายัญ
ประพันธ์ทำนองเพลงโดย นายมนตรี ตราโมท ผู้เชี่ยวชาญด้านดุริยางค์ไทย กรมศิลปากร และศิลปินแห่งชาติ

การแต่งกายแต่งยืนเครื่องกินรี นุ่งผ้าจีบ (ชักชายพก ๒ ข้างแล้วคลี่ออก) ใส่เสื้อในรัดรูป คาดรัดสะเอว ใส่ปีก สวมกรองคอ รัดพาหุรัด (ต้นแขน) กำไลมือผ้า กำไลเท้าติดลูกกระพรวน จี้นาง คาดเข็มขัด สวมเล็บ ใส่มงกุฎนางกินรี (ประดิษฐ์ขึ้นใหม่โดยนายชิต แก้วดวงใหญ่)

ลีลาท่ารำ ซึ่งประดิษฐ์โดยท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี ผู้เชี่ยวชาญด้านนาฏศิลป์ไทย กรมศิลปากร และศิลปินแห่งชาติ มีลักษณะเป็นท่าของนกที่บินฉวัดเฉวียนหลอกล่ออยู่หน้ากองไฟ ท่านผู้ประดิษฐ์ท่ารำได้นำลีลาของนาฏศิลป์ชั้นสูงเป็นหลักในการประดิษฐ์ จัดได้ว่ามีความงดงามเป็นเลิศ เป็นที่รู้จักทั่วไปทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ความยาวของชุดการแสดงโดยประมาณ ๗ นาที




รำซัดชาตรี



เป็นการแสดงที่นิยมจนมีแบบแผนเป็นของตนเอง ในแบบศิลปะทางใต้ของไทย ปรับปรุงมาจากรำซัดไหว้ครูของละครชาตรี ซึ่งเคยเป็นละครรำแบบเก่าชนิดหนึ่งของไทย ถือว่าเป็นต้นกำเนิดของละครรำประเภทต่างๆ ซึ่งได้รับการปรับปรุงในสมัยต่อมา ประเพณีการแสดงละครชาตรี ถือธรรมเนียมกันว่าผู้แสดงตัวพระ จะต้องรำไหว้ครูเป็นการเบิกโรงเรียกว่า " รำซัด " โดยมีโทน ปี่ กลอง กรับ ประกอบจังหวะ

ต่อมากรมศิลปากรได้ดัดแปลงรำซัด และปรับปรุงให้มีผู้รำทั้งฝ่ายชาย(ตัวพระ) และหญิง(ตัวนาง) เพื่อให้น่าดูมีชีวิตชีวา โดยรักษาจังหวะอันเร่งเร้าไว้อย่างเดิม สิ่งสำคัญของการรำนั้น จะมีการรวมจุดที่กำหนดเป็นอย่างดีระหว่างท่าทางที่เคลื่อนไหว ในระหว่างที่รำอยู่ในจังหวะที่เร่งเร้าของผู้รำ กับจังหวะของการตีกลอง ผู้ตีกลองจะต้องตีกลองไปตลอดเวลาไปพร้อมๆ กับผู้ที่ร่ายรำจนครบจังหวะของการแสดง ให้ประสานกลมกลืนกัน จนเป็นที่นิยมชมชอบจากผู้ชมที่ได้ชมการแสดงชุดนี้เสมอมา




โขน ชุด หนุมานจับนางสุพรรณมัจฉา



การแสดงชุดนี้อยู่ในการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ชุดจองถนนโดยดำเนินเรื่องว่า พระรามทรงใช้ให้สุครีพคุมพลวานรไปจองถนนเพื่อจะยกพลข้ามไปฝั่งลงกา ในขณะที่บรรดาพลวานรกำลังทุ่มหินถมลงในมหาสมุทรอยู่นั้น นางสุพรรณมัจฉาผู้เป็นราชธิดาของทศกัณฐ์พาฝูงบริวารปลามาคาบขนก้อนหินไป สุครีพสงสัยจึงสั่งให้หนุมานประดาน้ำลงไปสำรวจดู ได้พบนางสุพรรณมัจฉาจึงตรงเข้าไขว่คว้าโลดไล่จับนางสุพรรณมัจฉาได้สำเร็จ




รำสีนวล



สีนวล เป็นชื่อของเพลงหน้าพาทย์ที่ใช้ประกอบการแสดงละคร ประกอบกิริยาไปมาของสตรีที่มารยาทกระชดกระช้อย ทำนองเพลงมีท่วงทีซ่อนความพริ้งเพราไว้ในตัว ต่อมามีผู้ประดิษฐ์ทำนองร้องขึ้นประกอบการรำซึ่งทำให้ความหมายของเพลงเด่นชัด ปรากฏเป็นภาพงดงามเมื่อมีผู้ร่ายรำประกอบ

แต่เดิมการรำเพลงสีนวลมีอยู่แต่ในเรื่องละคร ภายหลังจึงแยกออกมาใช้เป็นระบำเบ็ดเตล็ด เพราะมีความงดงามไพเราะทั้งในชั้นเชิงของทำนองเพลง และท่ารำความหมายของการรำสีนวล เป็นไปในการบันเทิงรื่นรมย์ของหญิงสาวแรกรุ่นที่มีจริตกิริยางดงามตามลักษณะกุลสตรีไทย ด้วยความที่ทำนองเพลง บทขับร้อง และท่ารำที่เรียบง่ายงดงาม จึงเป็นชุดนาฏศิลป์ชุดหนึ่งที่ได้รับความนิยมแพร่หลายเป็นที่รู้จักกันทั่วไปจำนวนผู้แสดง ใช้แสดงเป็นหมู่ หรือแสดงเดี่ยวก็ได้ ตามโอกาสที่เหมาะสม

ดนตรีประกอบการแสดง ใช้วงปี่พาทย์ บทร้องที่ใช้แสดงมีอยู่ ๓ รูปแบบ
แบบที่ ๑
...ปี่พาทย์ทำเพลงสีนวล
ร้องสีนวล
สีนวลชวนชื่นเมื่อยามเช้า
รักเจ้าสาวสีนวลหวนคิดถึง
แม้ไม่แลเห็นเจ้าเฝ้าคำนึง
อยากให้ถึงวันที่รำสีนวล
...ปี่พาทย์ทำเพลงเร็ว - ลา


แบบที่ ๒ ประพันธ์บทร้องโดย นายมนตรี ตราโมท ผู้เชี่ยวชาญทาง
ด้านดุริยางค์ไทย กรมศิลปากรและศิลปินแห่งชาติ
....ปี่พาทย์ทำเพลงสีนวล
ร้องสีนวล
อันการรำสีนวลกระบวนนี้
เป็นแบบที่ร้องรับไม่จับเรื่อง
เป็นการรำเริงรื่นของพื้นเมือง
เพื่อเป็นเครื่องพักผ่อนหย่อนอารมณ์
ได้ปลดทุกข์สุขใจเมื่อไร้กิจ
เข้ารำชิดเคียงคู่ดูเหมาะสม
ขอเชิญชวนมวลบรรดาท่านมาชม
รื่นอารมณ์ยามที่รำสีนวล
...ปี่พาทย์ทำเพลงเร็ว - ลา


แบบที่ ๓
ปี่พาทย์ทำเพลงสีนวล
ร้องสีนวล
สีนวลชวนชื่นเมื่อยามเช้า
รักเจ้าสาวสีนวลหวนคิดถึง
แม้ไม่แลเห็นเจ้าเฝ้าคำนึง
อยากให้ถึงวันที่รำสีนวล

ร้องอาหนู
เจ้าสาวสาวสาวสาวสะเทิ้น
เจ้าค่อยเดินค่อยเดินเดินตามทาง
ฝูงอนงค์ทรงสำอาง
นางสาวศรีห่มสี (ซ้ำ)
ใส่กำไลแลวิลัย ทองใบอย่างดี ทองก็ดี
ประดับสีเพชรพลอยพลอยงามดูงาม
ใส่ต่างหูสองหู หูทัดดอกไม้
สตรีใดชนใดในสยาม
จะหางามงามกว่า
มาเคียง ไม่เคียง (ซ้ำ)
ชวนกันเดิน พากันเดิน รีบเดินมา รีบเดินมา
ร่ายรำทำท่าน่ารักเอย
... ปี่พาทย์ทำเพลงเร็ว - ลา


หมายเหตุ บทร้องอาหนู เป็นบทพระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (ท่อนสุดท้ายปรับปรุงขึ้นใหม่แตกต่างจากบทพระนิพนธ์) ผู้แสดงนุ่งผ้าโจง ห่มสไบจีบ สยายผมทัดดอกไม้ ใส่เครื่องประดับ (เข็มขัด กำไลมือ กำไลเท้า)
ความยาวของชุดการแสดงจะแตกต่างกันคือรำสีนวล ออกเพลงเร็ว-ลา ใช้เวลาแสดงประมาณ ๕ นาทีรำสีนวล ออกเพลงอาหนู เพลงเร็ว-ลา ใช้เวลาแสดงประมาณ ๘ นาที





รำกลองยาว



การรำกลองยาว มีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น เถิดเทิง เทิ่งบองกลองยาว สันนิษฐานว่าแต่เดิมเป็นการเล่นของพวกทหารพม่าในสมัยที่มีการต่อสุ้กันปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา และเข้าใจว่าคนไทยนำมาเล่นในสมัยกรุงธนบุรี เพราะจังหวะสนุกสนานเล่นง่าย เครื่องดนตรีก็คล้ายของไทยและจังหวะก็ปรับมาเป็นแบบไทย ๆ เพื่อประกอบการรำ แต่การแต่งกายยังคงคล้ายรูปแบบของพม่า เช่น โพกหัวแบบพม่า นุ่งโสร่ง เสื้อคอกลมแขนกว้าง แต่บางครั้งจะพบแต่งกายตามสบาย

โอกาสที่แสดงนิยมในงานรื่นเริง เช่น ขบวนแห่นาค ขบวนแห่ผ้าป่า กฐิน งานฉลอง ขบวนขันหมาก ผู้รำร่วมก็จะแต่งกายตามสบาย แต่จะนิยมประแป้งพอกหน้าให้ขาว ทัดดอกไม้ เขียนหนวดเครา แต้มไฝ ลีลาท่าทางอาจจะแปลกพิสดารที่ทำให้ชวนหัวเราะ ยั่วเย้ากันเองในหมู่พวกหรือคนดู และบางครั้งก็อาจไปรำต้อนคน
ดูเข้ามาร่วมวงสนุกไปด้วย ผู้รำจะมีทั้งชายและหญิง ส่วนพวกตีเครื่องประกอบจังหวะก็จะทำหน้าที่ร้องและเป็นลูกคู่ไปด้วย

ลักษณะการแสดงรำกลองยาว
เครื่องดนตรี ประกอบด้วยกลองยาวหลายขนาด ซึ่งจะให้เสียงต่างกันออกไปจำนวนไม่จำกัด มีเครื่องประกอบจังหวะอื่น ๆ เช่น ฉิ่ง ฉาบ กรับ โหม่ง และปี่ชวาการโห่ร้อง เป็นที่นิยมของการรำกลองยาวก่อนจะเริ่มบรรเลง จะมีการโห่สามลา โดยผู้นำวงจะโห่ยาว และลูกคู่จะร้องรับด้วยคำว่าฮิ้ว กลอง ฉิ่ง ฉาบ กรับ โหม่ง จะรัวรับสามครั้ง จากนั้นกลองจะบรรเลงเป็นจังหวะประกอบท่ารำ
เพลงร้องประกอบ เป็นเพลงง่าย ๆ สนุกสนาน เนื้อหาไม่เป็นสาระ ไม่บอกประวัติ หรือตำนานใด ๆ
การแสดงประกอบอื่น ๆ ในการรำกลองยาว หรือเถิดเทิงหรือเทิ่งบอง เป็นการเรียกเลียนจากเสียงของกลองยาว




การแสดงชุดเชิงศิลปะการต่อสู้



ดาบสองมือและพลองไม้สั้น
แต่เดิมจัดอยู่ในประเภทศิลปะการต่อสู้และป้องกันตัว แต่ในปัจจุบันได้ปรับปรุงให้เป็นรูปแบบการแสดงโดยใช้พื้นฐานลีลาทางด้านนาฏศิลป์ เข้าไปผสมผสานให้เป็นรูปแบบการแสดงที่งดงาม ตื่นเต้น เร้าใจ และได้รับความนิยมเป็นอย่างยิ่งทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ
ดาบสองมือ
ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว เป็นศิลปะที่ชาวไทยทุกคนจำเป็นต้องเรียนรู้ สามารถใช้ประโยชน์ทั้งในยามปกติ และยามสงคราม แม้หญิงไทยในอดีตก็เคยฝึกฝนเพลงดาบให้ประจักษ์ฝีมือในการสงครามป้องกันชาติอยู่หลายครั้ง ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว หรือกระบี่กระบอง มีแม่ไม้หลักที่สำคัญได้แก่ แม่ไม้ขนาน (ตัดคอ) แม่ไม้เฉียง (สะพายแล่ง) แม่ไม้งัด (สวนทางกับสะพายแล่ง) และไม่ไม้หัว (ฟันตรง) ผู้ใช้จำเป็นต้องฝึกหัดแม่ไม้ให้ใช้ได้อย่างชำนิชำนาญ สามารถรุกและรับอาวุธของคู่ต่อสู้ได้อย่างคล่องแคล่วว่องไว ดาบสองมือ ก็มีแม่ไม้หลักดังกล่าว นายธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ค้นคว้าไว้ว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ วีรกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาทรงเชี่ยวชาญในการใช้ดาบสองมือ ถึงกับเคยทรงใช้เป็นอาวุธคู่พระหัตถ์เข้าต่อสู้กับกองทัพพม่า เมื่อคราวมาล้อมกรุงศรีอยุธยาเมื่อปี พ.ศ. ๒๑๒๙
ในปัจจุบันการต่อสู้ด้วยดาบสองมือ เป็นศิลปะการต่อสู้ที่แสดงถึงความกล้าหาญเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้ของชายไทย นิยมจัดแสดงในงานมหรสพทั่วไป โดยมีลีลาท่ารำเป็นการร่ายรำไหว้ครู แล้วเข้าต่อสู้ด้วยลีลาชั้นเชิงตามลักษณะประเภทอาวุธ
ผู้แสดงนุ่งกางเกงขาสั้น (ขาสามส่วน) ใส่เสื้อแขนกุด ลงยันต์ ผูกผ้าประเจียด สวมมงคล ดนตรีประกอบการแสดง ใช้วงกลองแขก ปี่ชวาบรรเลง
การแสดงชุดนี้ ใช้เวลาแสดงประมาณ ๘ นาที
พลองกับไม้สั้น
เป็นศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวอีกรูปแบบหนึ่ง คือ พลอง (ไม้กลมวัดผ่าศูนย์กลาง ขนาด ๒ นิ้วฟุต และยาวราว ๔ ศอก หรือ ๒๐๐ เซนติเมตร) ไม้สั้น (ไม้ขนาดสั้นราว ๑ ศอก หรือ ๕๐ เซนติเมตร ข้างหนึ่งของไม้มีห่วงสำหรับสอดแขนตรงใต้ข้อศอก อีกข้างหนึ่งมีหลัก ๒ อัน อันหนึ่งสำหรับกำมือถือ อีกอันหนึ่งอยู่เหนือกำมือ สำหรับรับอาวุธของคู่ต่อสู้ที่จะกระทบกำมือ คนหนึ่งใช้ไม้สั้น ๒ อัน สำหรับสอดถือทั้งสองมือ)

ศิลปะแห่งการใช้ไม้สั้นอยู่ที่ความคล่องแคล่วว่องไวของผู้ใช้และจะต้องเป็นฝ่ายรุกเข้าประชิดตัวคู่ต่อสู้เสมอ ซึ่งตรงข้ามกับผู้ใช้พลอง ถ้าต่อสู้กับผู้ใช้ไม้สั้นจะต้องถอย ให้ห่างตัวคู่ต่อสู้ จึงจะทำร้ายคู่ต่อสู้ได้ ถ้าผู้ใช้ไม้สั้นเข้าประชิดตัวเสียแล้วผู้ใช้พลองก็มักทำอะไรไม่ได้ นอกจากรูดมือทั้งสองมากำไว้ที่ปลายไม้แล้วใช้กระทุ้งกระแทกอย่างไม้สั้น

ในปัจจุบันศิลปะการต่อสู้ด้วยพลองกับไม้สั้น นิยมนำไปแสดงในงานมหรสพ เป็นศิลปะการต่อสู้ระหว่างอาวุธยาวและสั้นที่งดงาม และสนุกสนานตื่นเต้นเร้าใจแก่ผู้ชมทั้งไทยและต่างประเทศ เป็นลีลาการต่อสู้ที่ตื่นเต้นสนุกสนาน ฝ่ายไม้สั้นมีความคล่องแคล่วเปรียบได้กับฝ่ายวานรในการแสดงโขน ฝ่ายพลองเข้มแข็งดุดันเปรียบได้กับฝ่ายยักษ์

ดนตรีประกอบการแสดง ใช้วงกลองแขก ปี่ชวาบรรเลงการแสดงชุดนี้ ใช้เวลาแสดงประมาณ ๑๒ นาที







กลับขึ้นบน





 

Create Date : 22 สิงหาคม 2551
0 comments
Last Update : 11 สิงหาคม 2552 20:18:42 น.
Counter : 313507 Pageviews.


บ้านรักษ์ไทย
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




Friends' blogs
[Add บ้านรักษ์ไทย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.