Advanced and Caring
Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2552
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
9 พฤศจิกายน 2552
 
All Blogs
 

ผีอำ

ผีอำ (sleep paralysis) เป็นอาการของจิตใจแบบหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นในขณะกำลังเคลิ้มหลับหรือใกล้ตื่นนอน ในขณะนั้นสภาพจิตใจเริ่มรู้ต้วขึ้นบ้างแต่ยังไม่รู้ตัวเต็มที่ อาจรับรู้ทางหูหรือทางตาได้บ้าง แต่อาจแปลเสียงหรือภาพไปในทางน่ากลัว ซึ่งอาจสัมพันธ์กับความฝันที่เกิดขึ้นก่อน อาจเห็นภาพผี ได้ยินเสียงร้องหรือรู้สึกเหมือนมีคนมาจับขา มาฉุดขา ในสภาพครึ่งหลับครึ่งตื่นตอนนั้น ร่างกายจะไม่สามารถเคลื่อนไหวตามคำสั่งสมองได้ ทำให้รู้สึกตกใจกลัวเพราะเคลื่อนไหวหนีหรือต่อสู้ไม่ได้ รู้สึกอึดอัด บางทีเหมือนมีอะไรมาทับหน้าอกไว้ เพราะเคลื่อนที่ไม่ได้นี่เอง ความรู้สึกเหมือนถูกผีหลอกนี้เองทำให้คนทั่วไปเรียกว่า "ผีอำ"

อาการหมดแรงอย่างสมบูรณ์หรือเพียงบางส่วน ทำให้มีลักษณะเหมือนเป็นอัมพาตทั้งตัว ขยับแขนขาไม่ได้ ลืมตาไม่ได้ พูดไม่ได้ หรือหายใจลึกๆ ไม่ได้ ในขณะที่รู้สึกว่าตนเองตื่นอยู่ มักจะมีการเห็นภาพหลอน ได้ยินเสียงหลอน หรือฝันร้ายร่วมด้วย ทำให้ตกใจกลัวมากขึ้น คนที่เกิดผีอำมักจะรู้สึกถึงสภาพหมดแรงที่เกิดขึ้นได้ดี ทั้งที่อยู่ในสภาพครึ่งหลับครึ่งตื่น เพราะกำลังจะหลับหรือกำลังจะตื่น และมักจะจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ดีเมื่อตื่นขึ้น ผู้ที่เกิดผีอำครั้งแรกมักจะตกใจกลัวมาก จนรู้สึกเสมือนว่า ตนเองกำลังจะตาย โดยเฉพาะถ้าเห็นภาพหลอนหรือได้ยินเสียงหลอนที่คุกคามชีวิตของตนด้วย เมื่อตกใจตื่นขึ้นในอีกไม่กี่นาทีต่อมา จึงอาจร้องเอะอะโวยวาย ร้องไห้ หอบเหนื่อย หน้าซีด ตัวสั่น หรือแสดงอาการตกใจกลัวอื่นๆ

ผู้ที่เกิดผีอำมาแล้วหลายๆ ครั้งจะไม่ค่อยตกใจกลัว เพราะรู้ว่าอาการดังกล่าวไม่มีอันตรายอะไร และมักเป็นอยู่ชั่วครู่เดียว ไม่เกิน 10 นาที

สาเหตุ

  1. อาการผีอำที่เกิดขึ้นในขณะที่กำลังจะหลับ มักจะเกิดจากโรคลมหลับ (narcolepsy) และโรคผีอำตามกรรมพันธุ์ (familial sleep paralysis)
  2. อาการผีอำที่เกิดขึ้นในขณะที่กำลังจะตื่น อาจจะเกิดจากโรคลมหลับ หรืออาจจะเกิดในคนที่อดนอนหรือนอนไม่พอมาหลายวัน หรือเข้านอนผิดเวลาได้
  3. อาการผีอำมักเกิดทันทีเมื่อหมดช่วงการหลับแบบตากระตุก จะเป็นอยู่ไม่กี่นาที แล้วค่อยๆ หายหรือหายทันที เมื่อถูกเรียก ถูกสัมผัส ถูกปลุก โดยใครก็ได้ ผู้ที่เป็นผีอำจะรู้สึกว่าตนนั้นตื่นอยู่ แต่ขยับเขยื้อนไม่ได้ ทั้งที่ตนได้พยายามขยับเขยื้อนแล้ว พยายามตะโกนเรียกให้คนช่วยแล้ว แต่ไม่มีคนได้ยิน เพราะไม่มีเสียงออกมา และเมื่อตื่นขึ้นจะจำเหตุการณ์ และเล่าประสบการณ์ที่เกิดขึ้นได้
  4. อาการที่ชาวบ้านนิยมเรียกกันว่าผีอำนั้น แท้ที่จริงคือ ล้มตัวลงนอนด้วยความเหนื่อยล้าโดยเฉพาะหลังจากทำงานหรือดูหนังสือ แม้กระทั่งดูโทรทัศน์ เมื่อเรานอนด้วยความล้า ก็เกิดการประสานกันระหว่างสารเคมีกับสภาพชีวเคมีของร่างกาย เกิดอาการทั้งกดทั้งค้าง ทำให้เราขยับเขยื้อนไม่ไหว
  5. ในขณะนั้นเราตื่นอยู่ สมองเราก็ทำงานได้ แต่ร่างกายเรา ขยับเขยื้อนไม่ไหว เหมือนมีคนมาคุมเราอยู่ มาจับเราอยู่ มาตรึงเราอยู่ เราเลยเกิดเชื่อมโยงว่ามีผีมาจับตัวเรา ในที่สุดแล้วก็ไม่ใช่ผีสางที่ไหน ที่แท้คือความไม่สัมพันธ์กันระหว่างสมองกับร่างกายของเรา ซึ่งเป็นอาการชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้นเอง
  6. อาการผีอำเกิดจากการที่กล้ามเนื้อของร่างกายเข้าสู่ภาวะการหลับที่เรียกว่า REM (Rapid Eye Movement) แต่สมองส่วนที่เป็นจิตสำนึกยังตื่นอยู่ อาการผีอำเป็นอาการที่ร่างกายกับจิตสำนึกหลับไม่พร้อมกัน หรือ ตื่นขึ้นมาไม่พร้อมกัน
  7. ผีอำเป็นสภาวะที่คล้ายๆ กับการฝัน เพราะขณะที่ถูกผีอำคนคนนั้นจะอยู่ในสภาวะที่ขยับตัวไม่ได้ ในภาวะหลับแบบตากระตุก (REM sleep) จะมีการฝัน กล้ามเนื้อต่างๆ จะผ่อนคลายหมด ขยับตัวไม่ได้ ยกเว้นต้องตื่น คำว่าตื่น หมายถึงต้องมีการเขย่าตัวรุนแรง แล้วในช่วงเวลานั้นถ้ามีสิ่งเร้าอะไรที่มาทำให้ไม่สบาย เช่น อาจจะมีหมอนข้างมาวางอยู่บนตัวหรือขา หรืออาจจะนอนในท่าที่ไม่สบายนักก็จะมีการแปลภาวะนั้นเป็นความไม่สบาย แล้วบางทีก็ไปผูกเรื่องกับความฝัน ทำให้อยากจะออกจากสถานการณ์นั้น แต่ว่าทำไม่ได้เพราะกล้ามเนื้อมันคลายไปหมดแล้ว เพราะฉะนั้นในภาวะอย่างนั้น ก็จะเป็นสภาวะที่รู้สึกเหมือนกับว่าใครมากดทับ เป็นสภาวะที่หลีกหนีไปไม่ได้ แต่สักพักหนึ่งจะค่อยๆ ดีขึ้นเอง

อาการ

  1. อึดอัดหายใจไม่ออก ขยับตัวก็ไม่ได้แม้เพียงปลายนิ้ว เหมือนกับร่างกายถูกตรึงด้วยอำนาจลึกลับที่ถาถมสู่ร่างกายอย่างน่าสะพรึงกลัว บางคนถึงกับอยากตะโกนร้องขอความช่วยเหลือจากคนที่อยู่บริเวณนั้น แต่ทำไม่ได้ ได้แต่นอนตัวแข็งอยู่บนเตียงด้วยหัวใจเต้นตูมตาม
  2. ผู้ที่ถูกผีอำส่วนใหญ่จะนอนอยู่บนเตียง มีเป็นส่วนน้อยที่จะโดนอำในท่านั่งหลับบนเก้าอี้ หรือท่าที่ไม่น่าจะสบายนัก และมักจะเกิดกับคนที่นอนหงายมากที่สุด ระยะเวลานานตั้งแต่ 2-3 วินาที จนถึง 10 นาที โดยจะหายไปเอง หรือไม่ก็ผู้ที่ถูกผีอำพยายามเอาชนะอาการเอง หรือมีคนมาช่วยสะกิดปลุกให้ตื่นขึ้น
  3. อาจโดยมีอาการหลอนทางประสาทสัมผัสเกิดร่วม ได้แก่ หลอนว่าตัวลอยหรือบินได้ หรือเหมือนกำลังออกจากร่าง หมุนเคว้ง หลอนทางสัมผัสกาย เช่น มีใครมากดทับหน้าอก หรือ มีใครมาสัมผัสตัว หรือ ดึงตัวเอาไว้กับเตียง บางทีก็รู้สึกว่าผ้าคลุมเตียงเคลื่อนไหว บางคนก็โดนเขย่าตัว หรือ มีความเจ็บปวดเกิดขึ้น หลอนทางการได้ยิน เช่น ได้ยินเสียงย่างเท้า เสียงเคาะประตู เสียงหายใจ เสียงคุย เสียงกระซิบ เสียงฮัม เสียงหึหึ หลอนทางการมองเห็น เช่น เห็นหมอกควัน หรือ ความมืดคลึ้ม เห็นร่างคน สัตว์ หรือ อสูรกาย บางทีก็มีการโต้ตอบทั้งทางกายหรือวาจากับสิ่งที่เห็นนั้น อย่างเป็นเรื่องเป็นราว หลอนทางการได้กลิ่น เช่น ได้กลิ่นเครื่องหอม กลิ่นสาบ
  4. โดยทั่วไปมักจะเกี่ยวข้องกับการนอน และสัมพันธ์กับสถานการณ์ ในชีวิตประจำวัน เช่น สถานการณ์ที่ทำให้เขากังวล ตื่นเต้น พูดได้ว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่คนจะถูกผีอำได้ ไม่ใช่ความผิดปกติทางจิตใจอะไรหรอก เป็นเพียงตะกอนความคิดที่เกิดจากชีวิตประจำวัน บางคนหาทางออกไม่ได้ ก็ไปออกในช่วงที่นอน เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าคนคนนั้นเริ่มมีภาวะความเครียด แล้วเดี๋ยวร่างกายก็ปรับสมดุลได้เอง ไม่มีที่นอนแล้วผีอำทุกวัน ไม่ถือเป็นโรค ไม่มีอะไรน่ากลัวแล้วมันจะหายเอง
  5. รายที่เป็นมาก แสดงว่ามีปัญหามาก แล้วมักจะเก็บไปฝัน ซึ่งบางคนอาจจะมาในแง่ฝันร้าย ถ้าฝันร้ายแล้วหลับสนิท ก็จะเล่นไปในฝัน แต่ถ้าตื่นขึ้นมานิดนึงก็จะรู้สึกว่าขยับตัวไม่ได้ ครึ่งหลับครึ่งตื่น กำลังเคลิ้ม เหมือนจริง เป็นสภาวะของผีอำ

การรักษา

  1. ผีอำไม่มีอันตราย ในคนปกติก็เกิดขึ้นได้ โดยไม่ต้องการการรักษาใดๆ ทั้งสิ้น
  2. เมื่อรู้สึกว่าโดนผีอำอยู่ ให้รีบตั้งสติทันที อย่าตกใจ การออกจากผีอำจะได้ผลดีที่สุดเมื่อรีบทำตั้งแต่มันเกิด พยายามขยับกล้ามเนื้อตา กล้ามเนื้อนิ้ว อะไรที่เล็กๆก่อน เพราะหากขยับได้ มันจะทำให้เราหลุดออกทันที
  3. ถ้านานๆ เป็นครั้ง หรือเกิดจากการอดนอน นอนไม่พอ หรือนอนผิดเวลา ไม่ต้องรักษา นอกจากนอนพักผ่อนให้พอ และอย่านอนผิดเวลาเท่านั้น ถ้าเป็นบ่อยหรือเป็นมาก กลัวมาก หรือไม่สามารถหลับให้พอได้เอง การใช้ยาที่ลดการหลับแบบตากระตุก เช่น ยาอิมิพรามีน (imipramine เม็ดละ 25 มิลลิกรัม) 1-2 เม็ดก่อนนอน จะช่วยให้หลับแบบตาไม่กระตุกเพิ่มขึ้น ทำให้อาการผีอำและอาการหลอน ซึ่งเกิดในการหลับแบบตากระตุก ลดลง และทำให้อาการผีอำดีขึ้น หรือหายไปได้
  4. ผ่อนคลายความเครียดก่อนนอนสัก 1- 2 ชั่วโมง ไม่ทำอะไรที่มันตื่นเต้น เช่น ดูโทรทัศน์ เล่นเกมส์ ก่อนนอนอาจจะอาบน้ำอุ่น หรือดื่มนมอุ่นๆ โดยเฉพาะนมถั่วเหลือง จะทำให้หลับสบายขึ้น หรืออาจจะใช้วิธีสะกดจิตเข้าช่วยโดยการโปรแกรมจิตใหม่ก็จะช่วยได้
  5. กรณีที่มีอาการมากๆ อาจใช้ยาคลายเครียด หรือยาต้านเศร้า ซึ่งจะทำให้หลับสนิทขึ้นโดยไม่ฝันมากนัก คือคนที่ผีอำจะฝันปนอยู่ด้วย เราก็ทำความฝันนั้นให้น้อยลง อาการผีอำก็จะลดลงเหมือนกัน หลักง่ายๆ เวลาโดนผีอำให้นอนเฉยๆ สักพักอาการจะหายไปเอง

สรีรวิทยาของการนอนหลับ

โดยปกติการหลับของคนเราแบ่งเป็น 2 ลักษณะ

  1. ลักษณะแบบตาไม่กระตุก (non–rapid eye movement sleep หรือ non–REM หรือ synchronized sleep)
  2. ลักษณะแบบตากระตุก (rapid eye movement sleep หรือ desynchronized sleep หรือ fast wave sleep)

เมื่อคนเราเริ่มหลับ การหลับจะเริ่มด้วยแบบตาไม่กระตุกก่อน ประมาณ 60-90 นาที แล้วเปลี่ยนเป็นแบบตากระตุกประมาณ 5-10 นาที แล้วจะเปลี่ยนเป็นแบบตาไม่กระตุกใหม่ สลับกันไปเรื่อยๆ เช่นนี้ โดยช่วงที่หลับแบบตาไม่กระตุกจะสั้นลงๆ และช่วงที่หลับแบบตากระตุกจะยาวขึ้นๆ เมื่อใกล้ตื่น

โดยเฉลี่ยช่วงที่หลับแบบตาไม่กระตุก รวมทั้งหมดจะประมาณ ร้อยละ 75-80 ของเวลาหลับทั้งหมด ส่วนช่วงที่หลับแบบตากระตุก รวมทั้งหมดจะประมาณร้อยละ 20-25 และการหลับช่วงสุดท้ายก่อนที่จะตื่นขึ้นตามธรรมชาตินั้นจะเป็นการหลับแบบตากระตุก

การหลับแบบตาไม่กระตุก

การหลับแบบตาไม่กระตุก แบ่งออกได้เป็น 4 ลักษณะ ตามลักษณะของคลื่นไฟฟ้าสมอง

  • ระยะที่ 1 เป็นระยะที่คลื่นไฟฟ้า สมองเริ่มช้าลง เป็นระยะที่ปลุกให้ตื่นได้ง่าย แม้เพียงแค่เรียกชื่อเบาๆ แตะตัวเบาๆ หรือปิดประตูเบาๆ
  • ระยะที่ 2 เป็นระยะที่คลื่นไฟฟ้า สมองช้าลงอีก และเป็นลักษณะคลื่นหลับ เป็นระยะที่ปลุกให้ตื่นได้ยากขึ้น

คนที่อยู่ในระยะที่ 1-2 คือคนที่กำลังจะหลับ หรือ หลับๆ ตื่นๆ ซึ่งตาจะกลอกไปมาช้าๆ ในขณะที่หลับอยู่ซึ่งการหายใจในช่วงนี้จะไม่สม่ำเสมอและอาจจะมีการหยุดหายใจเป็นพักๆ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ

ระยะที่ 3 เป็นระยะที่คลื่นไฟฟ้า สมองช้าและใหญ่ขึ้นอย่างมาก และพบคลื่นไฟฟ้าสมองแบบนี้อย่างน้อยร้อยละ 20 แต่ไม่เกินร้อยละ 50 ของคลื่นไฟฟ้าสมองที่บันทึกได้ ระยะนี้กินเวลาเพียงไม่กี่นาที ก็จะเข้าระยะที่ 4

  • ระยะที่ 4 เป็นระยะที่คลื่นไฟฟ้า สมองที่ช้าลงและใหญ่มากนี้จะพบได้เกินร้อยละ 50 และระยะนี้จะกินเวลา ประมาณ 20-40 นาที

ระยะที่ 3-4 นี้ เป็นระยะที่คนหลับลึก หลับสนิท ตาทั้งสองข้างหยุดการเคลื่อนไหว การหายใจจะเปลี่ยนเป็นแบบสม่ำเสมอและหายใจช้าลงๆ ชีพจรจะเต้นช้าลงๆ ความดันเลือดจะลดลงๆ กล้ามเนื้อจะอ่อนตัวลง แต่ไม่ถึงขั้นอัมพาต

การหลับที่เข้าสู่ระยะที่ 3-4 นี้ เป็นระยะที่ปลุกให้ตื่นได้ยาก คนที่หลับอยู่ในระยะนี้ ถ้าถูกปลุกอย่างรุนแรงจนตื่นจะมีอาการสับสนเลอะเลือน ละเมอเพ้อพก หรือจำในสิ่งที่ตนเองทำไปไม่ได้เลยอย่างเช่น การเดินละเมอ ปัสสาวะรดที่นอน หรือขบเขี้ยวเคี้ยวฟันขณะหลับ

ประมาณกันว่าในคืนหนึ่งๆ คนเราจะมีการพลิกตัว ขยับตัวหรือเปลี่ยนท่าทางการนอนอย่างน้อย 8-9 ครั้ง เมื่อลักษณะการหลับเปลี่ยนจากแบบหนึ่งไปเป็นอีกแบบหนึ่ง จากแบบตาไม่กระตุกเป็นแบบตากระตุก

การหลับแบบตากระตุก

การหลับแบบตาไม่กระตุก เป็นการหลับที่คลื่นไฟฟ้าสมองมีลักษณะเหมือนกับในขณะที่ตื่นอยู่ การหลับแบบนี้เป็นการหลับที่ประกอบด้วยการกระตุก การเคลื่อนไหวเร็วๆ ของตาทั้งสองข้างเป็นพักๆ ภายใต้หนังตาที่หลับอยู่ ช่วงนี้การหายใจจะไม่สม่ำเสมอ และช้าลงกว่าแบบตาไม่กระตุก มีการหายใจทางท้อง หายใจโดยใช้กระบังลม เป็นสำคัญ กล้ามเนื้อทั่วร่างกายจะเอนตัวลงมากเหมือนเป็นอัมพาต ยกเว้นกล้ามเนื้อตาที่ยังทำงานให้ตากระตุกเป็นพักๆ

ในขณะที่หลับแบบตากระตุกนี้ เป็นช่วงที่ปลุกให้ตื่นได้ง่าย หรือบางคนก็อาจจะตื่นเอง และมักจะจดจำความฝันต่างๆ ในช่วงก่อนตื่นได้ เพราะฝันในช่วงที่หลับแบบตากระตุกนี้

ที่มา : นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือรับคำปรึกษาจากแพทย์ได้ ที่นี่




 

Create Date : 09 พฤศจิกายน 2552
0 comments
Last Update : 9 พฤศจิกายน 2552 16:08:47 น.
Counter : 709 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


bangkokhospital
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add bangkokhospital's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.