บ้านที่มีความรักและความอบอุ่นคือจินตนาการของคนไทยยามนี้ !
Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2548
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
29 พฤศจิกายน 2548
 
All Blogs
 
วิเคราะห์โลกด้วยภูมิปัญญาตะวันออก





วิเคราะห์โลกด้วยภูมิปัญญาตะวันออก (1)

โดย ยุค ศรีอาริยะ 21 พฤศจิกายน 2548 18:56 น.


งานนี้ ผมนำเสนอเรื่อง ค่าแห่งภูมิปัญญาตะวันออก คงต้องขอออกตัวก่อนว่า ไม่ง่ายสำหรับผมที่จะเขียนงานชิ้นนี้ เพราะผมมีชีวิตอยู่กับการเรียนรู้ในระบบการศึกษาในแบบตะวันตกมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก จนจบมหาวิทยาลัย และจบปริญญาเอก

อาจจะนับว่า โชคดี (หรือไม่ก็โชคร้าย) ที่ผมเป็นคนชอบคิด ความชอบคิดของผมทำให้ผมเริ่มตั้งข้อสงสัยต่อสิ่งที่ผมเรียนรู้ และศึกษามา

พอจบการศึกษาปริญญาเอก ผมเริ่มสงสัยว่า สิ่งที่ผมเรียนมาเกือบทั้งหมดคือ อวิชชา ที่มีฐานรากมาจากการเข้าใจโลกแบบอัตตา เป็นตัวเป็นตน แยกเป็นเขาเป็นเรา และมองโลกผ่านมิติแห่งสงคราม หรือ การต่อสู้เอาชนะ

ปรัชญาความเชื่อแบบนี้มีรากที่มาจากวิถีวัฒนธรรมแบบตะวันตก ที่มากับกระแสที่ยกย่องความสูงสุดของวิถีวัฒนธรรมแบบหนึ่งเท่านั้น วิถีวัฒนธรรมนี้นักวิชาการฝรั่งเรียกว่า Westernization ซึ่งมีฐานะครอบโลก ครอบเหนือการเรียนรู้และการศึกษาไทยมาจนถึงปัจจุบัน

ผมมารู้ตัวว่าหลงอยู่ในโลกอวิชชาและโลกแห่งสงคราม ผมจึงพยายามมองหาเส้นทางวัฒนธรรมทางเลือกแบบอื่นๆ

ผมพบว่า วิถีวัฒนธรรมแบบเอเชียโบราณ ซึ่งมีฐานคิดแบบพุทธ เต๋า และขงจื้อ เป็นวิถีที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

ดังนั้น คำว่า "ภูมิปัญญาตะวันออก" ในที่นี้ ผมใช้ในความหมายที่ค่อนข้างเจาะจง ไม่ได้มีความหมายครอบคลุมไปทุกชุดภูมิปัญญาที่ก่อเกิดขึ้นในโลกตะวันออก

และคงขอย้ำว่า การเสนอเช่นนี้ ไม่ได้หมายความว่า วิถีวัฒนธรรมตะวันตก "เลวร้าย" และตะวันออก "ดี"

และไม่ได้หมายความว่า วัฒนธรรมโลกสามารถแยกออกเป็น "ออก" เป็น "ตก" อย่างง่ายๆ

ก่อนหน้านี้ ผมเขียนเรื่องภูมิปัญญาตะวันออกมาหลายชิ้น อย่างเช่นงานเรื่อง จีน : มังกรผงาดฟ้า และงานเรื่อง ภูมิปัญญาตะวันออก : ฝ่ามรสุมโลกาภิวัตน์

ทั้งหมด คือความพยายามอันหนึ่งที่จะนำเอา "คุณค่า" แห่งวิถีคิดและวัฒนธรรมแบบตะวันออก มานำเสนอ และใช้ประโยชน์

ผมเองไม่ได้คิดว่า ความรู้มีพรมแดนสังกัดที่แน่นอน ทุกชุดความรู้ และสายธารแห่งวัฒนธรรมนั้น ล้วนแต่มี "คุณค่า" ทั้งนั้น

เราเองต้องรู้จักที่จะเลือกสรรอย่างไม่ติดยึด รู้จักนำเอาความรู้ แม้แต่จะกล่าวว่า "โบราณ" มาปรับใช้ให้สอดคล้องกับความเป็นจริงที่เปลี่ยนแปลงไป

ที่ผมนำเสนอ "ภูมิปัญญาตะวันออก" และ "วัฒนธรรมตะวันออก" เพราะคิดว่า วิถีตะวันออก น่าจะสอดคล้องกับปัญหาวิกฤต หรือกลียุคของบ้านเมือง และระบบโลกในปัจจุบัน

ปัจจุบัน นักวิชาการในโลกตะวันตกจำนวนหนึ่งได้หันมาเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมตะวันออก บางท่านมาเรียนการนั่งสมาธิแบบพุทธ บางคนสนใจเรียนชี่กง บางคนเรียนโยคะ บางคนเดินทางมาถึงเมืองไทยเพื่อเรียนการนวดของไทย

เราคนไทยต่างหาก ที่หันหัวกลับเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ โยนทิ้งทุกอย่างที่เป็นวัฒนธรรมของโบราณ และกระโดดรับความเป็นตะวันตก

งานชิ้นนี้ คงไม่ใช่เพียงแค่การพยายามนำเอา "ค่า" แห่งวัฒนธรรมตะวันออกโบราณมานำเสนอเท่านั้น แต่ในเวลาเดียวกัน จะพยายามนำเสนอให้เห็นว่า วิถีวัฒนธรรมตะวันออกนี้ น่าจะนำมาใช้ในการวิเคราะห์วิจัยธรรมชาติ ระบบสังคม และประวัติศาสตร์วัฒนธรรมได้ในเวลาเดียวกันด้วย

วันหนึ่งผมได้รับเชิญไปสอนเรื่อง ภูมิปัญญาตะวันออก ซึ่งก็นับว่า "แปลก" เพราะโดยทั่วไปผมจะถูกเชิญไปสอนเรื่องโลกาภิวัตน์

จนนักวิชาการบางท่านเรียกผมอย่างเล่นๆ ว่า มิสเตอร์โลกา

ผู้เชิญบอกผมว่า เขาอ่านงานเรื่อง คลื่นปฏิวัติโลกใหม่สู่อารยธรรมไร้พรมแดน ชอบบทความที่ผมกล่าวถึงวิถีพุทธ และการแพทย์แผนไทยมากๆ

ท่านจึงขอให้ผมนำเสนอว่า นอกจากเราจะนำเอาภูมิปัญญาตะวันออกมาใช้ในด้านจิตใจ และเรื่องการแพทย์ทางเลือกแล้ว เรายังสามารถนำเอาวิถีคิดแบบตะวันออกมาใช้ในการวิเคราะห์สังคม และวิเคราะห์ระบบโลกได้หรือไม่ อย่างไร

เล่นเอา มิสเตอร์โลกา ต้องนั่งคิดปวดหัวอยู่หลายวัน ว่าจะสอนอย่างไร

ทุกครั้งที่ผมสอนหนังสือ ผมมักจะสอนแบบคุยกันไปเรื่อยๆ เพราะนี่เป็นวิถีการศึกษาเรียนรู้แบบตะวันออก การคุย และการสอนทำให้ทั้งผู้เรียน และผู้สอนไม่เครียด และเป็นกันเอง

ผมมักจะเริ่มประเด็นคุย จากคำถามของนักศึกษาเอง

นักศึกษาท่านหนึ่งเอ่ยถามผมว่า

"ทำไมอาจารย์หันมาสนใจเรื่องวัฒนธรรม และภูมิปัญญาตะวันออก"

ผมตอบว่า "เรื่องมันค่อนข้างยาว....นะ"

นักศึกษาอีกท่านหนึ่งกล่าวว่า

"ถึงจะยาว....ก็อยากฟัง"

ผมเริ่มเล่าว่า

"ผมก็คงไม่ต่างจากพวกคุณนัก นับแต่พวกเราเรียนหนังสือ เราถูกสอนด้วยชุดความรู้ที่มาจากโลกตะวันตกเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ แม้จะมีวิชาแบบตะวันออกบางอย่างเช่น เรื่องประวัติศาสตร์ไทย เราก็เรียนรู้ประวัติศาสตร์ไทยจากมุมมองแบบตะวันตก"

นักศึกษาทำหน้างงๆ และเอ่ยถามว่า

"ประวัติศาสตร์ไทยแบบตะวันตกเป็นอย่างไร"

ผมตอบว่า

"ประวัติศาสตร์ไทยเกือบทั้งหมด เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสงคราม"

เราไม่ได้เรียนประวัติศาสตร์วัฒนธรรมไทย และภูมิปัญญาไทย ทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น หรือเรียนให้รู้ว่า วัฒนธรรมไทยมีความงาม มีความอุดม และมีคุณค่า อย่างไร

เราจึงเรียนเรื่องประวัติศาสตร์วัฒนธรรมไทย และภูมิปัญญา (โบราณ) แบบผ่านๆ และแบบขอไปที

เราไม่ได้เรียนภูมิปัญญาไทยโบราณ ไม่ว่าเรื่อง การแพทย์ การดำเนินชีวิต และการสร้างระบบเศรษฐกิจ สังคมการเมือง รวมทั้งเรื่องศิลปวัฒนธรรมไทย เนื่องจากเราเข้าใจว่าเป็นเรื่อง "โบราณ" หรือไม่ก็เป็นวิถีแห่งไสยะ หรือไม่ใช่ "วิทยาศาสตร์" จึงไม่จำเป็นต้องเรียน ต้องสอน

แม้แต่เรื่อง พุทธศาสนา ซึ่งถือว่าเป็นศาสนาประจำชาติ เราก็ไม่ได้ศึกษาอย่างเอาจริงเอาจัง หรือศึกษาอย่างแยกแยะให้ถึงรากที่มาทางปรัชญา ฐานคิด พัฒนาการ และการอธิบายแยกแยะถึงความแตกต่างกันระหว่างสายพุทธนิกายต่างๆ

ที่สำคัญ ผู้รับผิดชอบด้านการศึกษาของไทย เปลี่ยนวิชาที่ควรเรียกว่า "พุทธศาสนา" ให้กลายเป็นวิชาว่าด้วย "ศีลธรรม" อย่างมีเจตนา

สิ่งที่พวกเราเรียนรู้เกี่ยวกับพุทธจึงมีแต่เรื่องหลักศีล 5 ประการ และ 8 ประการ

พูดอย่างสรุปคือ การเรียนรู้ตามสถาบัน ตามโรงเรียน จนถึงอุดมศึกษา มหาวิทยาลัย ได้ถอนรากคนไทยออกจากฐานรากวัฒนธรรมไทยและภูมิปัญญาไทยอย่างสิ้นเชิง

เราจึงกลายเป็น คนไทยที่ไร้ราก

เราจึงกลายเป็น "พุทธ" แบบงูๆ ปลาๆ

หรือเป็น พุทธแต่ "ปาก" หรือเป็นพุทธเพราะกลัวบาป กลัวตกนรก และเชื่อกฎแห่งกรรม ว่าเป็นกฎที่ตายตัว และจริงแท้แน่นอน

กล่าวอย่างสรุป ในช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ชนชั้นนำไทยที่รับผิดชอบเรื่องการศึกษาไทย ตกเป็นทาสภูมิปัญญาแบบตะวันตก และเชื่อในความสูงสุดและยิ่งใหญ่ของวัฒนธรรมตะวันตก

การศึกษาแบบ "ตะวันตก" ไม่เพียงแต่สอนให้เรารู้เรื่องราวปรัชญาตะวันตก ที่เริ่มจาก กรีก โรมันและมาถึงปรัชญาและชุดความรู้ที่เรียกว่า "วิทยาศาสตร์" แก่เราเท่านั้น

สุดยอดนักปราชญ์ในความรับรู้ของเราคือ อริสโตเติล และ เปลโต้

สุดยอดนักวิทยาศาสตร์ก็คือ นิวตัน และ ไอน์สไตน์

โดยตั้งใจ หรือไม่ได้ตั้งใจ การศึกษาดังกล่าวได้สร้าง "ค่า" นิยมให้เราชุดหนึ่ง

"ค่า" นิยมนี้ก็คือ การใช้ชีวิตแบบตะวันตก ที่เน้นความหรูหรา ความทันสมัย และการก้าวให้ทันเทคโนโลยีตะวันตก

แต่ที่สำคัญกว่าค่านิยมคือ ปรัชญาความเชื่อ

นักศึกษา และนักเรียนทุกคนจะถูก "ปลูกฝัง" ด้วยความคิดเรื่อง "การต่อสู้ และการเอาชนะ" และ "สงคราม"

การศึกษาดังกล่าวได้สร้างวัฒนธรรมความเชื่อแบบปัจเจกบุคคล ที่ติดยึดใน "อัตตา" หรือ ตัวกูของกู ขึ้นมาเป็นศูนย์กลาง

เราต้องเป็นที่หนึ่ง หรือเป็นผู้ชนะ เพราะผู้ชนะเท่านั้นจึงจะได้รับรางวัล.....สูงสุด

ในช่วงที่ผมเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ ผมจำได้ อาจารย์ย้ำแล้ว ย้ำอีกว่า

"มนุษยชาติต้องเอาชนะธรรมชาติ"

ราวกับว่า มนุษย์กับธรรมชาติ เป็นศัตรูกัน และต้องทำสงครามล้มล้างกัน

วิชาทางสังคมก็ไม่ต่างกันนัก เกือบทั้งหมดของประวัติศาสตร์กลายเป็นเรื่องที่ว่าด้วย "สงคราม"

วีรบุรุษในใจของพวกเราคือ กษัตริย์นักรบผู้ยิ่งใหญ่

เราเข้าใจว่า สงครามและความรุนแรง คือ ความชอบธรรมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ทฤษฎีทางสังคมศาสตร์อื่นๆ ก็สอนแต่เรื่อง การเอาชนะคู่แข่ง เราจึงมอง "คนอื่น" "ประเทศอื่น" "ชนชาติอื่นๆ" เป็นคู่แข่ง เป็นฝ่ายตรงข้าม เป็นศัตรู

ระบบโลก และระบบสังคม ถูกอธิบายว่าตั้งอยู่บนฐานแห่งผลประโยชน์ทางชนชั้น และผลประโยชน์แห่งปัจเจกชน

ที่ชนชั้นหนึ่งได้ (หรือคนหนึ่งได้) อีกชนชั้นหนึ่ง (หรืออีกคนหนึ่ง) ต้องเสียไป

เราจึงเข้าใจว่า โลกจะเคลื่อนไปด้วยพลวัตแห่งสงคราม

ดังนั้น การต่อสู้หรือสงครามทางชนชั้นหรือระหว่างบุคคล เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

แม้แต่การแต่งงาน หรือการมีครอบครัว ก็เป็นเรื่องของผลประโยชน์ ต้องทำสัญญากันระหว่างคู่แต่งงาน เวลาจะหย่าร้างกัน ก็เกิดสงครามช่วงชิงลูก และทรัพย์สมบัติกัน

ชีวิตทุกชีวิตจึงมีมิติแห่ง "สงคราม" เป็นศูนย์กลางดำรงชีวิต

ทุกคนจึงกลายเป็นศัตรูของทุกคน

ผมมองหน้านักศึกษาแล้วถามว่า

"ใช่ไหม ระบบการศึกษาที่ผ่านมาสอนให้พวกเราคิดอย่างนี้ ไม่มาก ก็น้อย"

ผมจึงกล่าวเชิงสรุปว่า

"เราจึงเติบโตจากการเป็น "เด็กไทย" ที่อาโนเนะ น่ารัก น่าเอ็นดู แต่พอผ่านเข้าระบบการศึกษา ในที่สุดเราก็เติบโตเป็น "ผู้ใหญ่" ที่เต็มไปด้วยเขี้ยวเล็บ ราวกับสัตว์ป่าที่พร้อมจะ "เอาชนะ" "ทำลาย" และ "ฆ่า" ผู้อื่น หรือใครก็ตามที่มายืนขวางทางความเจริญ หรือความรุ่งเรืองของเรา"

ถ้าอธิบายแบบพุทธ เราก็อาจจะสรุปว่า

ระบบการศึกษาที่ผ่านมา สอนสิ่งที่เรียกว่า "อวิชชา" ให้แก่ผู้คน นี่คือที่มาของการก่อเกิดความมีตัวมีตน "ตัวกู-ของกู" เราเอา "ตัวกูของกู" เป็นศูนย์กลางของทุกอย่าง และขยายภาพตัวกูของกูด้วยระบบความเชื่อและผลประโยชน์ การได้มาเสียไประหว่างชนชั้นและชั้นชน และการเข้าใจว่า ระบบโลก และสังคมทั้งหมดแบ่งออกเป็นชั้นๆ เป็นส่วนๆ ที่เป็นอิสระจากกัน และเผชิญหน้ากัน

อวิชชานี่เองคือที่มาแห่งทุกข์ หรือการสร้างโลกแห่งสงครามซึ่งฝังลึกอยู่ในจิตวิญญาณหรือความเป็นมนุษย์

ในเวลาเดียวกัน ภาพยนตร์ ละคร เกม และสารคดี ก็สอนให้ผู้คนหลงคิดและเชื่อในวัฒนธรรมแบบนี้

เรื่องราวทั้งหมดเป็นเรื่องของการต่อสู้ ช่วงชิง และสงคราม มีพระเอก นางเอก ผู้ร้าย ต่อสู้และ ฆ่าฟันกัน

จนเราถือว่า สงคราม คือหัวใจในการดำเนินชีวิต และความรุนแรงเป็นเรื่อง "ธรรมดา"

ผมถามนักศึกษาว่า

"จริงหรือว่า โลกนี้ คือโลกแห่งสงคราม และการต่อสู้เอาชนะเท่านั้น"

ผมถามต่อว่า

"มีแบบวัฒนธรรมทางเลือก แบบอื่นไหม หรือว่าไม่มีทางเลือกอื่นๆ อีกแล้ว หรือ คนที่มีชนชั้นที่ต่างกัน หรือชนชาติที่ต่างกัน ต้องทำสงคราม "เข่นฆ่ากัน" ทางชนชั้น ผู้ชนะเท่านั้นคือผู้ที่ครองโลก"

หรือว่า คำอธิบายประวัติศาสตร์แบบนี้ ก็คือการสร้างคุณค่า และสร้างความชอบธรรมให้แก่วิถีแห่งวัฒนธรรมตะวันตกที่เราเรียกว่า Westernization ที่เน้นการใช้ความรุนแรง ความเป็นผู้ชาย การรวมศูนย์อำนาจ และการปล้นชิง

อารยธรรมตะวันตกแบบนี้ ได้ขยายตัวครอบโลกด้วยการล่าอาณานิคม ด้วยสงครามจนก่อให้เกิดระบบโลกขึ้น

แต่ในสมัยที่ผมยังเป็นเยาวชน ผมเข้าใจว่า ความเชื่อแบบตะวันตกนี้คือความจริงแท้แน่นอน และเป็น "วิทยาศาสตร์"

ผมเปิดให้บรรดานักศึกษาถกกันพักใหญ่เรื่องวัฒนธรรมตะวันตก และนำเสนอการมองแบบวัฒนธรรมที่แตกต่างจากตะวันตก

นักศึกษาบางคนเริ่มเห็นอันตรายของวัฒนธรรมตะวันตก และการครอบงำของวัฒนธรรมตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการใช้ความรุนแรง สงคราม เรื่องการทำลายล้างธรรมชาติ และการล่าอาณานิคม (ยังมีต่อ)





Create Date : 29 พฤศจิกายน 2548
Last Update : 29 พฤศจิกายน 2548 12:18:37 น. 5 comments
Counter : 547 Pageviews.

 
รอติดตามตอนต่อไปค่ะ


โดย: rebel วันที่: 29 พฤศจิกายน 2548 เวลา:11:59:40 น.  

 
แวะมาอ่านครับ มีสาระประโยชน์
ขอบคุณครับ
รออ่านตอนต่อไปด้วยครับ


โดย: ตี๋น้อย (Zantha ) วันที่: 29 พฤศจิกายน 2548 เวลา:12:30:33 น.  

 
โห........สาระล้วนๆ


โดย: ครีเอทีฟ หัวเห็ด วันที่: 29 พฤศจิกายน 2548 เวลา:13:04:22 น.  

 
ผมคนนึง...ที่ภูมิใจ..ในภูมิปัญญาตะวันออกครับ..

ป.ล.เพลงถูกใจมากครับ...


โดย: กุมภีน วันที่: 29 พฤศจิกายน 2548 เวลา:14:39:10 น.  

 
ตะวันออกก็มีวัฒนธรรมโบราณ อะค่ะ


โดย: อินทรีทองคำ วันที่: 29 พฤศจิกายน 2548 เวลา:21:24:34 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

คนเดินดินฯ
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]








ปณิธาน

การเดินทางของชีวิตของทุกผู้คน
ทุกคนต่างต้องการประสบความสำเร็จในชีวิต
แต่จะมีสักกี่คนที่จะก้าวไปถึง
เมื่อเราก้าวถึงจุดนั้น
ขออย่าลืมการแบ่งปันและเจือจาน
แก่ผู้ด้อยโอกาสในสังคม

เราจะเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อม ๆ กัน
เพื่อสร้างสรรค์สังคมใหม่ที่ดีงาม

เพื่อให้อนุชนคนรุ่นหลัง
ได้ใช้ชีวิตของเขา
ตามศักยภาพและความตั้งใจของเขา
ตราบเท่าที่เขาต้องการ







เดินไปสู่ความใฝ่ฝัน


ชีวิตหนึ่งร่วงหล่นไปตามกาลเวลา
คลื่นลูกใหม่ไล่หลังคลื่นลูกเก่า
นั่นคือวัฏจักรของชีวิตที่ดำเนินไป

เยาว์เธอรู้บ้างไหม
ว่าประชาราษฎรนั้นทุกข์ยากเพียงใด
เสี้ยวหนึ่งของชีวิตที่เหลืออยู่
เธอเคยมีความใฝ่ฝันที่แสนงามบ้างไหม

สักวันฉันหวังว่าเธอจะเดินไปตามทางสายนี้
ที่อาจดูเงียบเหงาและโดดเดี่ยว
แต่ภายใต้ฟ้าเดียวกัน
ฉันก็ยังมีความหวัง
ว่าผู้คนในประเทศนี้
จะตื่นขึ้นมา
เพื่อทวงสิทธิ์ของพวกเขา
ที่ถูกย่ำยีมาช้านาน
และฉันหวังว่าเธอจะเดินเคียงคู่ไปกับพวกเขา

เพื่อสานความใฝ่ฝันนั้นให้เป็นความจริง
สัญญาได้ไหม
สัญญาได้ไหม
เยาว์ที่รักของฉัน


***********



ขอมีเพียงเธอเป็นกำลังใจ




ทอดสายตามองออกไปยังทิวทัศน์ข้างหน้า
แลเห็นต้นหญ้าโบกไสว
เห็นดอกซากุระบานอยู่เต็มดอย
ความงามที่อยู่ข้างหน้า
เป็นสิ่งที่ฉันจะเก็บมันไว้
ยามที่จิตใจอ่อนล้า...

ชีวิตยามนี้แม้ผ่านมาหลายโมงยาม
แต่จิตใจข้างในยังคงดูหงอยเหงา
หลายครั้งอยากมีเพื่อนคุย
หลายครั้งอยากมีคนปรับทุกข์
และหลายครั้งต้องนั่งร้องไห้คนเดียว

รางวัลสำหรับชีวิตที่ผ่านมา
มันคืออะไรเคยถามตัวเองบ่อย ๆ
ความสำเร็จ...เงินตรา...เกียรติยศชื่อเสียง
มันใช่สิ่งที่เราต้องการหรือเปล่า
ถึงจุดหนึ่งชีวิตต้องการอะไรอีกมากไปกว่านี้

หลายชีวิตยังคงดิ้นรนต่อสู้
เพื่อปากท้องและครอบครัว
มันเป็นความจริงของชีวิตมนุษย์
ที่ต้องดำรงชีพเพื่อความอยู่รอด
มีทั้งพ่ายแพ้ มีทั้งชนะ
แต่ชีวิตต่างต้องดำเนินไป
ตามวิถีทางของแต่ละคน

ลืมความทุกข์ ลืมความหลังที่เจ็บปวด
มองออกไปข้างหน้า
ค้นให้พบตัวตนของตนเองอีกครั้ง
แล้วกลับไปสู้ใหม่
การเริ่มต้นของชีวิตจะต้องดำเนินต่อไป
จะต้องดำเนินต่อไป

ตราบจนลมหายใจสุดท้ายของชีวิต....




@@@@@@@@@@@




การเดินทางของความรัก

...ฉันเดินไปด้วยหัวใจที่ว่างเปล่า
สมองได้คิดใคร่ครวญ
ความรักในหลายครั้งที่ผ่านมา
ทำไมจึงจบลงอย่างรวดเร็ว

ฉันเดินไปด้วยสมองอันปลอดโปร่ง
ความรักทำให้ฉันเข้าใจโลก
และมนุษย์มากขึ้น
และรู้ว่าความแตกต่าง
ระหว่างความรักกับความหลงเป็นอย่างไร?

ฉันเดินไปด้วยดวงตาที่มุ่งมั่น
บทเรียนของรักในครั้งที่ผ่าน ๆ มา
มันย้ำเตือนอยู่เสมอว่า
อย่ารีบร้อนที่จะรัก
แต่จงปล่อยให้ความสัมพันธ์
ค่อย ๆ พัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป
เรียนรู้และทำเข้าใจกันให้มากที่สุด

ก่อนที่จะเริ่มบทต่อไปของความรัก...




*******************



จุดไฟแห่งศรัทธาและความมุ่งมั่น

เข้มแข็งกับอ่อนแอ
สับสนหรือมุ่งมั่น
จะยอมแพ้หรือลุกขึ้นท้าทาย
กับชีวตที่เหลืออยู่
ทุกสิ่งล้วนอยู่ที่ใจเราจะกำหนด

ไม่ใช่เพราะอิสระเสรี
ที่เราต้องการหรอกหรือ?
ที่มันจะนำทางชีวิต
ในห้วงเวลาต่อไป
ให้เราก้าวทะยานไป
สู่วันพรุ่งที่สดใส

มีแต่เพียงคนที่รู้จักตนเองอย่างดีพอเท่านั้น
จะสามารถทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้
เมื่อผ่านการสรุปบทเรียน
จากปัญหาต่าง ๆ ที่ประสบ
เราก็จะมีความจัดเจนกับชีวิตมากขึ้น
และการเผชิญกับอุปสรรคต่าง ๆ
ในอนาคตก็จะเป็นเพียงปัญหาที่เล็กน้อยสำหรับเรา
ในการที่จะก้าวผ่านไป



ด้วยศรัทธาและความมุ่งมั่นที่มีอยู่ในใจ
ที่จะต้องย้ำเตือนตัวเองอยู่เสมอ
หนทางในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ
ย่อมอยู่ไม่ไกลห่างอย่างแน่นอน

*********************



ก้าวย่างที่มั่นคง

บนทางเดินแคบ ๆ ที่เหลืออยู่
หากขาดความมั่นใจที่จะก้าวเดินต่อไป
ชีวิตก็คงหยุดนิ่งและรอวันตาย
แม้ทางข้างหน้าจะดูพร่ามัว
และไม่รู้ซึ่งอนาคต
แต่สิ่งที่ดีที่สุดในปัจจุบัน
คือก้าวย่างไปอย่างมั่นคง
และมองไปข้างหน้าอย่าเหลียวหลัง
เก็บรับบทเรียนในอดีต
เพื่อจะได้ระมัดระวังไม่ให้ผิดพลาดอีกในอนาคต

"""""""""""""""""""""""""""""""""



ใช้สามัญสำนึกทำงาน

ไม่มีแผนงานที่สวยหรู
ไม่มีปฏิบัติการใดที่สมบูรณ์แบบ
ในยามนี้มีเพียงการทำงานด้วยการทุ่มเท
ลงลึกในรายละเอียดเท่านั้น
จึงจะสามารถคลี่คลายปัญหาของงานลงได้
บางครั้งโจทย์ที่เจออาจยากและซับซ้อน
แต่เมื่อลงไปคลุกคลีอย่างแท้จริง
โจทย์เหล่านี้ก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

""""""""""""""""""""""""""""""""



เรียบ ๆ ง่าย ๆ


อย่ามองสิ่งต่าง ๆ ด้วยแว่นสีที่ซับซ้อน
เพราะในโลกนี้มีเพียงสิ่งสามัญที่เรียบง่าย
สำหรับคนที่สงบนิ่งเพียงพอเท่านั้น
จึงจะแก้โจทย์และปัญหาต่าง ๆ
ด้วยกลวิธีที่เรียบ ๆ ง่าย ๆ
ไม่ซับซ้อนและตรงจุดได้อย่างเพียงพอ

""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""

ใจถึงใจ

บนหนทางไปสู่ความสำเร็จ
บนหนทางของการสร้างสรรค์สิ่งใหม่
มีเพียงคนที่เข้าใจในสภาพจิตใจของคนทำงานเท่านั้น
จึงจะสามารถนำทีมงานไปสู่เป้าหมายได้
อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน








Friends' blogs
[Add คนเดินดินฯ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.