Group Blog
ธันวาคม 2554

 
 
 
 
1
2
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
17
18
19
21
22
23
27
28
29
31
 
All Blog
สวดมนต์ข้ามปี รับปีใหม่
การเจริญพระพุทธมนต์มีจุดกำเนิดมาจากการศึกษาเล่าเรียนพระพุทธพจน์ เพื่อทรงจำ
สวดมนต์ข้ามปี
และสืบต่อคำสั่งสอนของพระพุทธองค์โดยตรง โดยพระสงฆ์สาวกสมัยพุทธกาลได้นำ
พระสูตรต่างๆ มาสวดสาธยายในรูปแบบการบริกรรมภาวนาให้เกิดเป็นสมาธิ จึงเรียก
ว่า พระพุทธมนต์เมื่อบริกรรมภาวนาพระพุทธพจน์จนจิตเป็นสมาธิ ย่อมเกิดพลานุภาพ
ในด้านต่างๆ เช่น ทำให้เกิดสิ่งที่ดีงามขึ้นในชีวิต จิตใจไม่ดีก็จะดี ชีวิตไม่ดีก็จะดี สุขภาพไม่ไก้ก็จะดี หน้าที่การงานไม่ดีก็จะดี ครอบครัวไม่ดีก็จะดี ในขณะเดียวกันก็ต้านทานสิ่งที่ไม่ดีออกไปจากชีวิต ต่อมาจึงมีผู้นิยมนำพระพุทธพจน์มาใช้เป็นพระพุทธมนต์เพื่อต้านทานสิ่งไม่ดีทั้งหลาย พระพุทธมนต์จึงถูกเรียกว่า “พระปริตร” แปลว่า เครื่องต้านทาน ป้องกัน รักษา ต่อมาภายหลัง พระพุทธมนต์ที่มีอานุภาพในการต้านทาน คุ้มครอง ป้องกัน รักษา จึงถูกเรียกว่า พระปริตร ตามไปด้วย

การศึกษาเล่าเรียนพระพุทธพจน์ในครั้งพุทธกาลนั้น ใช้วิธีเรียนแบบบอกปากต่อปาก แล้วท่องจำสวดสาธยายต่อๆ กันมาเรียกว่า มุขปาฐะ วิธีเล่าเรียนพระพุทธพจน์ที่เรียกว่ามุขปาฐะนี้ พระสาวกใช้มาตั้งแต่สมัยพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ โดยพระสงฆ์ในสมัยนั้นแบ่งหน้าที่กันท่องเป็นหมู่คณะตามความถนัด เช่น

๏ พระอุบาลีเถระทำหน้าที่ทรงจำพระวินัย ภิกษุผู้สนใจเกี่ยวกับพระวินัยก็เรียนพระวินัยจากพระอุบาลีเถระ

๏ พระอานนท์เถระทรงจำพระสูตร ภิกษุผู้สนใจเกี่ยวกับพระสูตรก็เรียนพระสูตรต่อจากพระอานนท์เถระ

๏ พระสารีบุตรเถระทรง จำพระอภิธรรม ภิกษุผู้สนใจเกี่ยวกับพระอภิธรรมก็เรียนพระอภิธรรมต่อจากพระสารีบุตรเถระ แล้วก็ร่วมกันสวด สาธยายเป็นหมู่คณะๆ ตามโอกาส แม้ที่พักอาศัยก็จะอยู่รวมกันเป็นคณะ เพื่อสะดวกต่อการร่วมกันสวดสาธยายพระพุทธพจน์ที่ตนถนัด




Create Date : 25 ธันวาคม 2554
Last Update : 25 ธันวาคม 2554 12:22:06 น.
Counter : 430 Pageviews.

7 comments
  
การสืบต่อพระพุทธพจน์ด้วยวิธีท่องจำยังปรากฏว่า ครั้งหนึ่ง พระเถระรูปหนึ่งชื่อว่าโสณกุฏิกัณณะเดินทางจากชนบทห่างไกลมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ทรงรับสั่งให้พระเถระพักอยู่ในพระคันธกุฎีเดียวกับพระองค์ พอตกดึก จึงให้ท่านสวดพระสูตรให้สดับ พระเถระสวดพระสูตรให้พระพุทธองค์ สดับถึง ๑๖ สูตรก็พอดีสว่าง และเมื่อพระพุทธองค์ประชวรก็ได้ให้ พระ มหาจุนทะสวดโพชฌงคสูตรให้สดับ จนหายจากอาการประชวร

นอกจากนั้น ในพระวินัยปิฎกยังระบุว่า ในอาวาสที่มีพระภิกษุจำพรรษาอยู่มากรูป จะต้องให้มีพระภิกษุสวดปาติโมกข์ คือ การสวดทบทวนศีล ๒๒๗ ข้อของพระสงฆ์ได้หนึ่งรูปเป็นอย่างน้อย หากไม่มีจะต้องขวนขวายส่งไปเรียนยังสำนักที่มีผู้สวดได้ หาก ไม่ทำเช่นนั้นก็จะปรับอาบัติแก่เจ้าอาวาสเพราะโทษที่ไม่ใส่ใจจะให้มี ผู้ทรงจำพระปาติโมกข์ แสดงให้เห็นว่าสมัยพุทธกาลนั้นได้มีการนำ พระพุทธพจน์มาท่องบ่นสาธยายกันอย่างกว้างขวางอยู่แล้ว

ลำดับพระเถระที่สืบต่อพระพุทธพจน์
ในสมันตปาสาทิกา คัมภีร์อรรถกถาอธิบายพระวินัยปิฎกได้ แสดงลำดับพระเถระที่สืบต่อพระวินัยตั้งแต่พระอุบาลีเถระจนถึง สังคายนาครั้งที่ ๓ สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช มีลำดับพระเถระ ๕ ท่าน ดังนี้

๏ พระอุบาลีเถระ ทรงจำไว้เฉพาะพระพักตร์พระพุทธเจ้า

๏ พระทาสกะ ทรงจำต่อจากพระอุบาลีเถระ

๏ พระโสณกะ ทรงจำต่อจากพระทาสกะ

๏ พระสิคควะ ทรงจำต่อจากพระโสณกะ

๏ พระโมคคัลลีบุตรติสสะ ทรงจำต่อจากพระสิคควะ

นอกจากนั้น เมื่อพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ พระสารีบุตร เถระได้มีการริเริ่มจัดหมวดหมู่พระพุทธพจน์ไว้เป็นแบบอย่างแล้ว เพื่อสะดวกแก่การทรงจำ จนเกิดพระสูตรๆ หนึ่งชื่อสังคีติสูตร แปลว่า พระสูตรว่าด้วยการสังคายนา หรือพระสูตรว่าด้วยการจัดระเบียบ คำสอนนั่นเอง

ภายหลังพระพุทธองค์ปรินิพพานได้ ๓ เดือน ได้มีการจัดระเบียบแบบแผนการทรงจำคำสอนใหม่อย่างเป็นระบบ เรียกว่า การสังคายนา โดยพระอรหันต์ ๕๐๐ รูป มีพระมหากัสสปเถระเป็นประธาน และได้มีมติจะรักษาพระพุทธพจน์ที่จัดระเบียบไว้แล้วด้วยวิธีมุขปาฐะ หรือวิธีท่องจำ ภายหลังพระพุทธองค์ปรินิพพานประมาณ ๔๕๐ ปี จึงได้มีการบันทึกพระพุทธพจน์เป็นตัวหนังสือที่ลังกาทวีป สาเหตุมาจากบ้านเมืองมีความผันผวนอันเกิดจากภาวะสงครามจึงยากแก่การทรงจำพระพุทธพจน์

โดย: ใบไม้เบาหวิว วันที่: 25 ธันวาคม 2554 เวลา:12:23:02 น.
  
การสวดมนต์ และอานุภาพแห่งการสวดมนต์

พระพุทธพจน์นั้น ดำรงอยู่ในรูปคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ ที่พระสงฆ์สาวกทรงจำไว้และสืบต่อมาเพื่อนำผู้ปฏิบัติออกจากทุกข์ แต่หากพระพุทธพจน์ถูกนำมาใช้สำหรับเป็นบทบริกรรมภาวนาหรือสวด สาธยายตามความเหมาะสมแก่โอกาส พระพุทธพจน์จึงถูกเรียกว่า พระพุทธมนต์ เมื่อพระพุทธมนต์อาศัยจิตที่เป็นสมาธิเกิดอานุภาพในการต้านทาน คุ้มครอง ป้องกัน รักษา พระพุทธมนต์ก็ถูกเรียกว่า พระปริตรตามอานุภาพแห่งการต้านทานไปด้วย ปัจจุบันจึงมีผู้นิยมเรียก พระปริตรแทนพระพุทธมนต์กันอย่างกว้างขวาง

การนำพระพุทธพจน์มาเจริญภาวนา ในรูปแบบการเจริญพระ พุทธมนต์ จนเกิดอานุภาพในการต้านทานนั้น มีมาแล้วตั้งแต่ครั้งพุทธกาล เช่น พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ภิกษุสวดขันธปริตรเพื่อป้องกันอันตรายจากสัตว์ร้าย และทรงห้ามเรียนเดรัจฉานวิชา ซึ่งเป็นวิชาที่ขวางการบรรลุธรรม แต่เรียนพระพุทธมนต์เพื่อ คุ้มครองป้องกันตนได้

บทสวดมนต์ที่มีพลานุภาพ ในการคุ้มครอง ป้องกัน รักษา

พระพุทธมนต์จะทรงพลานุภาพในการต้านทาน คุ้มครอง ป้องกัน รักษาได้ ต้องอาศัยจิตที่อ่อนโยนมีเมตตาเป็นสมาธิมั่นคงแน่วแน่เป็นหลักการที่สำคัญ พระพุทธพจน์ที่นำมาเป็นพระพุทธมนต์นั้น บางสูตรพระพุทธองค์ทรงใช้สวดเอง บางสูตรทรงแนะนำให้พระสงฆ์สาวกใช้ บางสูตรเทวดาเป็นผู้ นำมาแสดง

โพชฌงคสูตร เป็นพระสูตรที่พระพุทธองค์สวดให้พระมหากัสสปะ และมหาโมคคัลลานะฟังจนหายจากเป็นไข้ไม่สบาย และเมื่อ พระองค์ประชวรก็ได้ให้พระมหาจุนทะสวดโพชฌงคสูตรให้สดับ จนหายจากอาการประชวรเช่นกัน

กรณียเมตตสูตร เป็นพระสูตรที่พระพุทธองค์ทรงแนะนำภิกษุ ให้แผ่เมตตาจิตไปในมวลสรรพสัตว์ ตลอดจนเทพเทวาภูติผีปีศาจทั้งหลาย ไม่มีประมาณ ไม่มีขอบเขต ไม่จำกัดว่าสัตว์นั้นหรือเขาผู้นั้นจะเกี่ยวข้อง กับเราหรือไม่ นอกจากเทวดาจะไม่แสดงสิ่งที่น่ากลัวหลอกหลอนแล้ว ยังมีใจอนุเคราะห์ภิกษุโดยไมตรีจิตด้วยความอ่อนโยนมีเมตตา

โดย: ใบไม้เบาหวิว วันที่: 25 ธันวาคม 2554 เวลา:12:23:45 น.
  
รัตนสูตร เป็นพระสูตรที่พระพุทธองค์ทรงแนะนำให้พระอานนท์เถระน้อมระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย คือ พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ และ สังฆรัตนะแล้วทำสัจกิริยา คือ การตั้งสัจอธิษฐานตามความเป็นจริง เป็นหลักการที่สำคัญ ของการเจริญพระพุทธมนต์ ที่จะทำให้เกิดอานุภาพ ให้เกิดเป็นอานุภาพขจัด ปัดเป่าภัยพิบัติที่เกิดแก่ชาวเมืองเวสาลี ภายหลังได้กลายเป็นแบบอย่างใน การทำน้ำพระพุทธมนต์สำหรับพระสงฆ์สาวกต่อมาจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนั้น ยังปรากฏในประวัติพระองคุลิมาลเถระว่า พระพุทธองค์ ทรงแนะนำให้พระองคุลิมาลเถระทำสัตยาธิฐานเพื่อให้ หญิงคนหนึ่งคลอดบุตรง่าย เมื่อพระเถระกล่าวคาถาจบทารกก็คลอด โดยง่าย มีความปลอดภัยทั้งแม่และลูก อานุภาพนั้นได้คุ้มครองไปถึงผู้ที่ ป่วยด้วยโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ด้วย

สำหรับอาฏานาฎิยสูตร เป็นคาถาที่ท้าวจาตุมหาราชผูกขึ้นมา แสดงแก่พระพุทธองค์ เพื่อให้ภิกษุสวดป้องกันเหล่าอมนุษย์บางพวกที่ ไม่หวังดีต่อพระสงฆ์สาวกที่ไปบำเพ็ญเพียรอยู่ตามป่าเขาลำเนาไพร เมื่อ ไม่มีอะไรป้องกัน เหล่าอมนุษย์ที่ไม่เลื่อมใสก็จะรบกวนเบียดเบียนให้ ได้รับความลำบาก ท้าวมหาราชจึงได้แสดงเครื่องป้องกันรักษาชื่อ อาฏานาฏิยรักษ์นี้ไว้

พระพุทธมนต์ตามที่กล่าวมานั้น จะมีอานุภาพต้องอาศัยการสวดอย่างสม่ำเสมอจนจิตแน่วแน่มั่นคงเป็นสมาธิเป็นพื้นฐานที่สำคัญ

การเจริญสมาธิภาวนาไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด ย่อมมีพลานุภาพในการต้าน ทานสิ่งไม่ดีทั้งหลาย ในเบื้องต้นสามารถต้านทานกิเลสภายในตัวเองก่อน แล้วขยายอานุภาพออกไปสู่การต้านทานสิ่งไม่เป็นมงคลอันเกิดจากมนุษย์ และอมนุษย์ที่เป็นพาลสันดานหยาบทั้งหลาย ในขณะเดียวกันก็เป็นพลัง แห่งการก่อเกิดสิ่งดีงาม คือ ความอ่อนโยนมีเมตตาเอื้ออาทรภายในตน เองก่อน แล้วขยายอานุภาพกว้างออกไปสู่การก่อเกิดสิ่งอันเป็นมงคลภายนอกทั้งหลาย ทำให้มีความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า ประสบผลสำเร็จในสิ่งปรารถนาทุกประการ
โดย: ใบไม้เบาหวิว วันที่: 25 ธันวาคม 2554 เวลา:12:24:23 น.
  
ในอรรถกถาคัมภีร์อธิบายพระไตรปิฎก ได้แสดงวิธีการเจริญ พระพุทธมนต์ไว้ว่า

หากเรียนด้วยความตั้งใจจนเกิดความช่ำชองคล่องปาก ไม่ตกหล่นทั้งอรรถและพยัญชนะ มีจิตประกอบด้วยเมตตาหวังให้ผู้คน พ้นจากทุกข์ บริกรรมพระพุทธมนต์แผ่เมตตาไปไม่เห็นแก่ลาภ ย่อมจะ บังเกิดเป็นอานุภาพคุ้มครองป้องกันเหล่าอมนุษย์และสรรพอันตรายทั้งหลาย

สำหรับผู้เจริญพระพุทธมนต์ และผู้ฟังการเจริญพระพุทธมนต์ หากกระทำด้วยจิตเลื่อมใส ไม่มีกิเลสมาครอบงำจิต ไม่มีกรรมหนัก มาตัดรอน อีกทั้งยังไม่ถึงวาระสิ้นอายุขัย พระพุทธมนต์ย่อมจะมีอานุภาพ ในการบำบัดทุกข์โศกโรคภัย ความเจ็บป่วยไข้ และสรรพอันตรายทั้งหลายได้ สามารถดับความเร่าร้อนกระวนกระวายใจ ขจัดลางร้ายและฝันร้ายทั้งหลาย ปัดเป่าเสนียดจัญไร อุบัติเหตุ สิ่งอัปมงคลอันเกิดจาก บาปเคราะห์ ฤกษ์หามยามร้ายและสิ่งที่ไม่พึงพอใจต่างๆ ป้องกันแม้ โจรภัย อัคคีภัย วาตภัย อุทกภัย อสรพิษ สัตว์ร้าย อมนุษย์ ภูตผีปีศาจ ยักษ์ นาค คนธรรพ์ และเทวดาที่ไม่หวังดีทั้งหลาย คุ้มครอง ป้องกันรักษาให้ปราศจากทุกข์โศกโรคภัยนานาประการ แคล้วคลาด ปลอดภัย จากผู้จองเวรที่คอยจ้องผลาญ นอนหลับก็สบายไม่ฝันร้าย เป็นผู้ มีอายุ วรรณะ สุขะ พละ และเจริญงอกงามในพระพุทธศาสนาตลอด กาลทุกเมื่อ

พระพุทธมนต์ที่สวดด้วยจิตเลื่อมใสเป็นสมาธิแน่วแน่ ย่อม แผ่อานุภาพคุ้มครองป้องกันตลอดทั้งหมู่ญาติ พวกพ้องและบริวารทั้งหลาย

โดย: ใบไม้เบาหวิว วันที่: 25 ธันวาคม 2554 เวลา:12:25:43 น.
  
เหตุที่ต้องสวดมนต์เป็นภาษาบาลี
การเจริญสมาธิภาวนา คือ การที่จิตผูกหรือเพ่งอยู่กับคำใดคำหนึ่ง หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น พุทโธ พุทโธ, พองหนอ-ยุบหนอ, สัมมา-อะระหัง เป็นต้น ให้จิตเกาะเกี่ยวไหลไปตามกระแสของคำนั้นๆ เพื่อเป็นสื่อให้จิตเข้าถึงความสงบ มีค่าเท่ากับจิตผูกเพ่งอยู่กับการสวดมนต์ที่จิตเกาะเกี่ยวไปกับทุกอักระของบทสวดมนต์

จิตที่ไหลไปเป็นกระแสตามทุกอักขระเช่นนี้ ไม่เปิดโอกาสให้นิวรณ์ ๑ คือ สิ่งที่ขวางกั้นจิตไม่ให้ทำความดี เช่น ความรักโลภ โกรธหลง กามราคะ อาฆาตพยาบาท หงุดหงิด ฟุ้งซ่าน รำคาญ เบื่อหน่ายแทรกเข้ามาครอบงำจิตได้ ทำให้จิตมีความผ่องใส เป็นจิตมีพลังในการต้านทานกิเลสที่จะเข้ามามีอำนาจเหนือสติปัญญา มีความฉับไวต่อการรับรู้อารมณ์ และคมต่อการแยกแยะความถูกผิด

การสวดมนต์ คือ การเจริญสมาธิภาวนา
การเจริญพระพุทธมนต์ เป็นรูปแบบของการเจริญสมาธิภาวนาอย่างหนึ่ง แต่แทนที่จะใช้วิธีนั่งบริกรรม ให้จิตเกาะเกี่ยวอยู่กับคำใดคำหนึ่ง หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงอย่างเดียว เช่น พุทโธ พุทโธ เป็นต้น เพื่อเป็นสื่อให้เข้าถึงความสงบ ก็ใช้วิธีให้จิตเกาะเกี่ยวไปกับอักขระเป็นกระแสเช่นนี้ ไม่ปล่อยให้ความ รักโลภโกรธหลง กามราคะ อาฆาตพยาบาทได้โอกาสแทรกเข้ามา ครอบงำจิต ทำให้จิตมีความผ่องใสเป็นจิตมีพลังในการต้านทานกิเลสที่จะ เข้ามามีอำนาจเหนือสติปัญญา

จิตเช่นนี้เป็นจิตสงบ คือ สงบจากกาม ราคะ อาฆาตพยาบาท หงุดหงิดฟุ้งซ่าน รำคาญ เบื่อหน่ายจึงชื่อว่า “จิตเป็นสมาธิ”
การสวดมนต์คือการทรงจำพระพุทธพจน์
การสวดมนต์ คือ การท่องบ่นสาธยายพระพุทธพจน์ ซึ่งถูกบันทึกไว้เป็นภาษาบาลี เพื่อการทรงจำคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าให้ยืนยาวสืบต่อไป

การสวดมนต์ในอีกด้านหนึ่งก็คือการเจริญสมาธิภาวนาที่ได้นำเอาพระพุทธพจน์มาเป็นบทบริกรรมภาวนา ให้จิตเกาะเกี่ยวไปกับทุกขณะของอักขระที่กำลังสาธยาย ไม่ปล่อยให้ นิวรณ์แทรกเข้ามาทำให้จิตเศร้าหมองได้นั่นเอง

พระสงฆ์สาวกสมัยพุทธกาล นอกจากจะมีหน้าที่ในการเจริญสมาธิภาวนาเพื่อนำตนออกจากทุกข์แล้ว ยังมีภาระหน้าที่ในการทรงจำพระพุทธพจน์ เพื่อสืบต่อคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ควบคู่กันไปอีกด้วย พระสาวกสมัยพุทธกาลจึงถือเป็นหน้าที่สำคัญยิ่งที่จะต้องท่องบ่น สาธยายพระพุทธพจน์ เพื่อรักษาคำสอนของพระพุทธองค์เป็นหลัก ในขณะเดียวกันก็ต้องเร่งความเพียรเพื่อนำตนออกจากทุกข์ในสังสารวัฏ จึงหาวิธีที่จะ ทรงจำพระพุทธพจน์ให้เป็นกิจกรรมในการดำเนินชีวิตควบคู่ไปกับการ เจริญสมาธิภาวนา

โดย: ใบไม้เบาหวิว วันที่: 25 ธันวาคม 2554 เวลา:12:26:27 น.
  
การเจริญพระพุทธมนต์ ที่ต้องสวดเป็นภาษาบาลีเพราะเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาพระพุทธพจน์ ซึ่งกระทำควบคู่ไปกับการเจริญสมาธิภาวนา เป็นกิจวัตรในการดำเนินชีวิตของพระสงฆ์สาวกในสมัยพุทธกาล ที่ถ่ายทอด สืบต่อมาสู่พระสงฆ์สาวกในยุคปัจจุบัน

การสวดมนต์ช่วยให้เกิด การจัดระบบความสมดุลทางกายและจิต

การสวดมนต์ช่วยปรับความสมดุลทางกายและทางจิตเป็นการสร้างความสงบเยือกให้กับจิต ทำให้ความเครียดที่มีอยู่สลายลงได้ แล้วความรู้สึกดีๆ ของจิตสำนึกก็จะเกิดขึ้นมาแทนที่

เมื่อจิตสงบนิ่ง เย็นสบาย ย่อมทำให้ร่างกายสบายขึ้นตามไปด้วย เพราะลมหายใจที่สูดเข้าไปในขณะเปล่งเสียงสวดมนต์ จะทำให้ปอดขยายในจังหวะที่พอเหมาะสม่ำเสมอ เพิ่มออกซิเจนในเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนได้ดี ทำให้ผิดพรรณเปล่งใบหน้าเอิบอิ่มตามไปด้วย ในขณะเดียวกันก็ทำให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นอวัยวะทุกสัดส่วนไม่เกรง เป็นการผ่อนคลายระบบประสาททุกสัดส่วนของร่างกาย ทำให้ลดความตึงเครียดลงได้

ผู้ที่สวดมนต์เป็นปกติ จะลดอัตราการเสี่ยงต่อการเป็นเส้นเลือดในสมองแตก เพราะจิตที่สงบนิ่งราบเรียบจะจัดความสมดุลของเส้นเลือดในสมองให้เกิดความสมดุล เนื่องจากหัวใจไม่เต้นแรงผิดธรรมชาติ ทำให้การสูบฉีดเลือดในหัวเป็นปกติ แม้จะตกอยู่ในสภาวะหน้าสิ่วหน้าขวาน

โดย: ใบไม้เบาหวิว วันที่: 25 ธันวาคม 2554 เวลา:12:27:11 น.
  
อานิสงส์ของการสวดมนต์
จิตที่สงบราบเรียบละเอียดอ่อนจากการสวดมนต์ จะทำให้เกิดความรู้สึกนึกคิดที่เปี่ยมล้นด้วยพลังแห่งความดีงาม ย่อมส่งผลดีต่อร่างกายได้ จิตที่สงบสุขย่อมอยู่ในร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง ปราศจากความอ่อนแอ ในขณะเดียวกันร่างกายที่มีโรคภัยไข้เจ็บ ย่อมจะทำให้จิตใจอ่อนแอตามไปด้วย

ผู้ที่สวดมนต์เป็นประจำ มักจะมีสุขภาพที่ดีภายใต้จิตใจที่เบิกบานแจ่มใส อยู่ในโลกได้อย่างมีความสุข การสวดมนต์เป็นประจำมีอานิสงส์ ดังนี้

๏ ทำให้เป็นคนไม่เคร่งเครียด หากความเคียดเกิดขึ้นก็จะคลายลงได้ จนกระทั่งความเครียดนั้นจางหายไปในที่สุด

๏ ทำให้จิตใจสงบนิ่งเยือกเย็น ผู้ที่มีจิตใจเร่าร้อนเป็นไฟอยู่เสมอ การสวดมนต์จะช่วยให้ความเร่าร้อนทางอารมณ์ที่โหมไปด้วยเพลิงโทสะ เพลิงโมหะ เพลิงอิจฉาริษยาลดลงได้ ทำให้เป็นสุภาพชนที่มีลักษณะสุขุมเยือกเย็น ภายใต้จิตใจที่อ่อนโยนงดงาม

๏ ทำให้หลับสบายตื่นก็เป็นสุข ผู้ที่นอนหลับยาก การสวดมนต์จะช่วยปรับความสมดุลทางจิตให้ก้าวลงสู่ความหลับอย่างสบายไม่กระสับกระส่าย เพราะจิตใจไม่แปรปรวน ตื่นขึ้นมาก็สดชื่นไม่ง่วงซึม

๏ ทำให้อาการผิดปกติของระบบทางเดินอาหารหมดไป ความเครียดทำให้เกิดระบบทางเดินอาหารผิดปกติ เพราะน้ำย่อยหรือน้ำดีจะหลั่งออกมาจากตับแล้วทำให้ระคายเคืองผนังกระเพราะอาหาร ผู้ที่มีเครียดมักจะปวดท้อง หรืออาเจียน

การสวดมนต์ช่วยให้ลดระดับการเกร่งของประสาททุกส่วนในร่างกาย จึงทำให้ความเคียดลดลง และทำให้อาการผิดปกติของระบบทางเดินอาหารหายไปด้วย เมื่อไม่มีความเครียดปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารก็หมดไป เท่ากับว่าการสวดมนต์ช่วยปรับความสมดุลของระบบทางเดินอาหารในกระเพาะ

๏ ทำให้ปฏิบัติหน้าที่การงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากร่างกายมีสุขภาพดี จิตใจก็ย่อมปลอดโปร่งมีความสุข จิตใจที่ปลอดโปร่งย่อมทำงานได้ผลอย่าง มีประสิทธิภาพ

๏ ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ผู้ที่มีจิตปลอดโปร่งเป็นสมาธิ ย่อมมีวิสัยทัศน์กว้างไกล ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ มากมาย

๏ ครอบครัวมีความสุข มีอนาคต เป็นทรัพยากรบุคคลของชาติที่มีค่ายิ่ง ประเทศชาติจะกว้าไปข้างหน้าด้วยดีทุกวิถีทาง คนที่มีคุณงามความดีขนาดนี้แล้ว เรื่องที่ไม่ดีย่อมจะไม่มีให้เห็นได้เลย เพราะการสวดมนต์บำบัดนั้นมีผลดีมากมายและแปลกประหลาด

๏ ผู้คนก็เมตตาเทวดาก็รัก เป็นที่รักของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย จะอยู่ที่ไหน เทวดาก็ให้การคุ้มครองรักษา

บทความโดย : พระวจิตรธรรมาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ

สมณศักดิ์เดิม พระครูปลัดสุวัฒนธีรคุณ (เทอด ญาณวชิโร) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ


โดย: ใบไม้เบาหวิว วันที่: 25 ธันวาคม 2554 เวลา:12:27:55 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ใบไม้เบาหวิว
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]



Friends Blog
[Add ใบไม้เบาหวิว's blog to your weblog]