Group Blog
มกราคม 2555

1
2
3
4
6
7
8
10
13
14
15
16
17
18
20
21
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 
 
All Blog
สิ่งที่คนไข้มักเข้าใจผิด
สิ่งที่คนไข้มักเข้าใจผิด ... เรื่องเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความเข้าใจผิดของคนไข้ที่ได้มีประสบการณ์ตรงนะครับ เห็นว่าหลายคนเข้าใจผิดกันเยอะ แล้วมีผลต่อการรักษา ก็เลยคิดว่าน่าจะมาเล่าให้ฟังบ้างครับ คุณหมอท่านอื่นเรียนเชิญเสริมได้เลยนะครับ เพราะวันหนึ่งเราตรวจคนไข้ประมาณ 100-200 คนต่อวัน บางครั้งอาจจะไม่มีเวลามาอธิบายเรื่องเหล่านี้ เพื่อประโยชน์ของคนไข้นะครับ

1. ยาฉีด VS ยากิน

เป็น หนึ่ง ในความเข้าใจผิดหลายๆครั้งในการรักษา เปรียบเป็นมวย มวยคู่นี้ถ้าขึ้นชก จัดได้ว่าเป็นการขึ้นชกที่บ่อยที่สุด เพราะเชื่อมั่นเหลือเกินว่า ผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย รวมทั้งท่านผู้อ่านหลายๆท่าน ยังคงสงสัย งง งวย เกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่มากก็น้อย แต่อย่างว่าครับ มวยคู่นี้ถ้าขึ้นชกก็เป็นมวยสูสีมีดีคนละแบบ รึจริงๆแล้ว เค้าเป็นพี่น้องฝาแฝดกันนั่นเอง

พอๆ เลิกเพ้อเจ้อแล้วเข้าเรื่อง สิ่งที่ต้องการจะสื่อก็คือ ยังมีผู้ป่วยหลายๆท่านเข้าใจว่า ยาฉีดดีกว่ายากินเสมอ มาโรงพยาบาลต้องฉีดยา ฉีดยาเข็มเดียวก็หาย เป็นโรคอะไรก็ตามขอเพียงฉีดยาก็สามารถหายได้เร็ว และหายได้ทันที ถ้ากินต้องกินนาน ซึ่ง ในความเป็นจริงแล้ว .......................เป็นความเข้าใจที่ไม่ค่อยถูกนักนะจ๊ะ

จริงๆแล้วยาฉีดกับยากินมีดีคนละแบบ อย่างที่บอก บางครั้งจริงๆเป็นยาตัวเดียวกันนี่ละ แต่อยู่ในรูปกิน กับรูปฉีดนั่นเอง (ดั่งพี่น้องฝาแฝด)

จะยากินหรือยาฉีดแพทย์ จะเลือกตามความเหมาะสมครับ โดยดูจากอาการ ถ้าต้องการให้อาการดีขึ้นแบบทันทีหรือทุเลาอาการไปก่อน แพทย์มักเลือกยาฉีด หรือถ้าเป็นหนักมากๆต้องการให้ยาเข้าสู่กระแสเลือดโดยตรงและประเมินแล้วว่าโรคที่ผู้ป่วยเป็นมีความจำเป็นต้องใช้ยาฉีดจะดีกว่า หรืือถ้าใช้ยากินต้องกินขนาดยาปริมาณมาก แพทย์ก็มักจะใช้ยาฉีด (อ้าว แล้วถ้างั้น ทำไมไม่ฉีดยาให้หมดเลยละคะ...ทำหน้าแบ๊ว) เพราะในบางกรณี ฉีดไม่ได้เพราะ.......

1. ยาชนิดนั้นไม่มียาฉีด (หรือบางครั้งมีในโลกแต่ในโรงพยาบาลนั้นๆไม่มี)

2. การฉีดยาหมายความว่าต้องมีการใช้เข็มฉีดยาซึ่งมีโอกาสทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อบริเวณที่ฉีดได้ (แม้โอกาสจะเกิดการติดเชื้อบริเวณที่ฉีดจะน้อยมากๆๆๆๆๆๆๆๆๆก็ตาม แต่ถ้าเลือกไำด้ และหากแพทย์คิดว่ายาฉีดไม่จำเป็น ก็จะไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อให้ผู้ป่้วยครับ)

3. ฉีดแล้วเจ็บง่ะ กลัวเข็มด้วย (บางคนกลัวจนเป็นลมไปเลยก็มีนะครับ เห็นมาแล้ว)

4. กรณีใช้ยาฉีดคนไข้ก็ต้อง อยู่โรงพยาบาลเพราะคนฉีดก็ต้องเป็นผู้ที่ฝึกมาเนาะ เช่น คุณพยาบาล ไงครับ (ยกเว้นกรณียาฉีดเบาหวานที่ผู้ป่วยเบาหวานบางรายฉีดยาเอง แต่ก่อนฉีดก็ต้องได้รับการสอนมาเหมือนกัน) เมื่อเป็นกรณีที่ผู้ป่วยกลับบ้านก็ต้องเปลี่ยนเป็นยากินครับ เพราะถ้าใช้วิธีนัดมาฉีดยาเอาทุกวัน ก็จะไม่สะดวกต่อคนไข้

5. ในบางครั้ง หากเป็นยาฉีด ต้องมีการอยู่สังเกตอาการแพ้ที่โรงพยาบาลด้วยครับ เพราะยาฉีดบางตัวจะมีอาการแพ้ที่รุนแรงและรวดเร็วกว่ายากิน เพราะยาจะเข้ากระแสเลือดโดยตรง

ดังนั้น แพทย์แต่ละคนจึงเลือกยาฉีดกับยากินที่แตกต่างกันแล้วแต่บุคคล ไม่ใช่จำเป็นว่าจะต้องใช้ยาฉีดทุกคน ขึ้นอยู่กับ อาการ โรค ผู้ป่วยในสภาวะนั้นๆ ตัวยาที่มีอยู่ปัจจุบัน ผลการรักษาที่คาดว่าจะได้ ตามนั้นครับ

และ ส่วนใหญ่ในผู้ป่วยนอก หรือ ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับไว้รักษาในโรงพยาบาล ถ้าเลือกระหว่างยาฉีดกับยากิน แพทย์มักเลือกยากินก่อนละครับ เพื่อความสะดวกของผู้ป่วย แต่ต้องขึ้นอยู่กับข้อแม้ที่ว่า ยานั้นในรูปแบบกินสามารถรักษาผู้ป่วยได้เป็นอย่างดีด้วยนะครับ

ผู้ป่วยทุกท่านจึงมั่นใจได้ครับว่า การที่แพทย์เลือกยากินหรือยาฉีดให้นั้น ตามความเหมาะสมและความจำเป็น ไม่ใช่ว่าการฉีดยาต้องดีว่าการกินยาเสมอไปครับ

2. เอกซเรย์บอกได้ทุกอย่าง

“คุณหมอรู้สึกปวดๆท้อง วันนี้ตั้งใจจะมาขอเอกซเรย์ได้ไหมคะ” “คุณหมอรู้สึกปวดหัว เป็นมานานแล้วขอเอกซเรย์หน่อยได้ไหม” “คุณหมอ ผมชอบเธอมานานมากแล้ว ขอเอกซเรย์หัวใจเธอหน่อยได้ไหม....... จุ๊กกรู้” (คนหลังนี่มาจีบพยาบาลที่ช่วยฉีดยาให้นะครับ)

อย่างไรก็ตามแต่ การเอกซเรย์ ไม่สามารถบอกโรคได้ทุกโรคอย่างในโดเรมอน (ทันไหม) นะครับ

ก่อนอื่นก็ต้องรู้ก่อนว่า เอกซเรย์นี่มีหลายแบบนะครับ เอกซเรย์ธรรมดา (Plain film x-ray) เอกซเรย์พิเศษ(ใส่ไข่) เช่น การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงหรืออัลตร้าซาวนด์(Ultrasound) การถ่ายภาพคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เป็นต้น

สิ่งที่ต้องการจะสื่อคือ การเอกซเรย์เราสามารถเห็นสิ่งที่อยู่ภายในร่างกายได้จริงๆครับ แต่เป็นพียงภาพที่ ผ่านเสียง คลื่นแม่เหล็ก รังสี มาอีกต่อหนึ่งในบางครั้งโอกาสผิดพลาด หรือการวินิจฉัย อาจไม่แม่นยำ 100 % ไม่เท่าการผ่าตัดให้เห็นจะๆกันไปเลย แต่จะมาผ่าตัดเข้าไปดูซะอย่างนั้นในผู้ป่วยทุกคนทั้งหมดก็คงจะไม่ได้ เอกซเรย์เหล่านี้จึงเข้ามามีบทบาทร่วมในการวินิจฉัยโรค

ดังนั้นการจะวินิจฉัยโรคโดยเอกซเรย์ ต้องอาศัยทั้งประวัติตรวจร่างกาย และจึงพิจารณาว่าคิดถึงโรคอะไรต้องเอกซเรย์หรือไม่ ถ้าจะเอกซเรย์ต้องใช้ประเภทใดถึงจะเหมาะสมและเห็นโรคนั้นๆที่เป็นอยู่ชัดเจนที่สุด ประมาณนั้นครับ และด้วยความที่เอกซเรย์มีหลายประเภทหลายรูปแบบมากนี่เองทำให้ เอกซเรย์แต่ละประเภทก็จะเหมาะในการวินิจฉัยโรคแต่ละโรคที่แตกต่างกันครับ เช่น

นิ่วในถุงน้ำดี อัลตร้าซาวนด์ ก็จะเหมาะมากกว่า MRI หรือการวินิจฉัย ว่าเป็นปอดบวมหรือไม่ จะไป อัลตร้าซาวนด์ปอดก็คงไม่ชัดเจนและรอคิวการทำนานกว่าเมื่อเทียบกับ เอกซเรย์ปอดธรรมดาดีกว่า หรือการดูว่าก้อนเนื้อมะเร็งตับในผู้ป่วย จะแพร่กระจายหรือยัง อยู่ในระยะใดการทำ ซีทีสแกน (CT Scan) ก็จะช่วยมากกว่าการไปเอกซเรย์ท้องธรรมดา (plain film) ครับ

หรือแม้กระทั่งในบางโรค การเอกซเรย์ก็ไม่ได้ช่วยในการวินิจฉัย เช่นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ก็ใช้อาการและผลการตรวจปัสสาวะเพื่อยืนยัน การเอกซเรย์ดูกระเพาะปัสสาวะ ก็อาจไม่ช่วยในการวินิจฉัยกระเพาะปัสสาวะอักเสบเท่าใดนักครับ (แพทย์บางท่านอาจจะส่งเอกซเรย์เพิ่มเติมกรณีกระเพาะปัสสาวะอักเสบเพื่อดูโรคอื่นด้วยเช่นนิ่วในกระเพาะปัสสาวะครับ)

และการพิจารณาเอกซเรย์นั้นต้องตามความจำเป็นของโรคและค่าใช้จ่ายของเอกซเรย์นั้นๆที่ผู้ป่วยหรือรัฐต้องจ่ายไป ไม่ให้เป็นการขี่ช้างจับตั๊กแตนด้วยครับ หรือพูดง่ายๆว่าเอกซเรย์นั้น ทำแล้ว ต้องคุ้มค่าใช้จ่ายและช่วยในการวินิจฉัยโรคได้ดีนั่นเอง

ดังนั้นโดยสรุปแพทย์จะเลือกการตรวจเอกซเรย์ที่เหมาะสม ตามอาการที่นำผู้ป่วยมาโรงพยาบาล ว่าจำเป็นต้องเอกซเรย์หรือไม่ และหากต้องเอกซเรย์ ต้องเอกซเรย์แบบใด ไม่ใช่ว่า "เอกซเรย์เดี๋ยวก็รู้" ไปซะทุกโรคครับ



2. ขอบคุณการขยายความเรื่องเอกซเรย์ นะครับ เรื่อง MRI และ ultrasound ไม่ใช่ เอกซเรย์ครับ หมายถึงไม่ได้ใช้รังสีเอกซ์ในการสร้างภาพขึ้นมา แต่ที่ผมขออนุญาตใช้คำว่าเอกซเรย์๋ เพราะจะให้เข้าใจง่ายนะครับ เพราะเวลาเราคุยกับคนไข้ ยังมีแพทย์บางท่านติดปากว่า "เอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า" และผู้ป่วยโดยส่วนใหญ่เข้าใจว่า เอกซเรย์ คือการถ่ายภาพให้เห็นภายในร่างกาย (ไม่ได้คำนึงว่าต้นกำเนิดภาพมาจากรังสีเอกซ์ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า คลื่นเสียงนะครับ)
ความเข้าใจของแพทย์ : เอกซเรย์คือการถ่ายภาพในร่างกาย(รังสีวินิจฉัย)ด้วยรังสีเอกซ์ (อธิบายง่ายๆนะครับ)
ความเข้าใจของคนไข้ : เอกซเรย์คือการถ่ายภาพให้เห็นอวัยวะในร่างกาย (จะใช้อะไรเป็นต้นกำเนิดก็ช่าง)


จุดประสงค์ที่ต้องการจะสื่อ ในข้อ 2 ก็คือ การถ่ายภาพให้เห็นในร่างกาย(รังสีวินิจฉัย)นั้นมีหลายแบบ แต่ละแบบก็เหมาะกับแต่ละโรค และบางโรคก็ไม่ต้องใช้ครับ ....^^




3. ยาแก้อักเสบ VS ยาฆ่าเชื้อ
"หมอ ฉันคออักเสบมา 3 วันแล้ว ไปหาหมอมาแล้ว เค้าให้แต่ยาฆ่าเชื้อมา ไม่เห็นให้ยาแก้อักเสบฉันเลย วันนี้ฉันจะมาเอายาแก้อักเสบ"
" หมอแผลมันมีหนองด้วย ฉันอยากได้ยาแก้อักเสบ"
" หมอ ปวดขามา 2 วันแล้ว ขอยาแก้อักเสบหน่อย"


เอาละสิ !! ท่าน ผู้อ่านคิดว่า มันเหมือนกันไหมครับ ยาแก้อักเสบ กับ ยาฆ่าเชื้อ เนี่ย ผมเชื่อว่าหลายๆท่านคิดว่า มันเป็นคนละยา และมีอีกจำนวนหนึ่งที่เข้าใจว่าเป็นยาตัวเดียวกัน และมีอีกจำนวนหนึ่งเข้าใจว่าเป็นยาคนละตัวกันแต่เวลาพูดเข้าใจผิดว่าเป็นยา ตัวเดียวกัน ว้อยยยยยยยงงงง???!!!!!!!!!!!!

สรุปเลยแล้วกัน จริงๆแล้ว คือ เป็นยา คนละตัวกัน ครับ แต่ด้วยกระบวนการรักษาอาจมีการเข้าใจผิดในระหว่างการสื่อสารได้

ยาแก้อักเสบ โดยความหมายหรือการใช้งานของแพทย์ ก็คือยาลดอาการอักเสบครับ (อ่าวทุบดินซะเจ็บมือ) มักหมายถึงยากลุ่ม NSAID หรือ Non-steroidal anti-inflammatory drugs (ยา ลดอาการอักเสบกลุ่มที่ไม่ใช่ สเตียรอยด์) หรือในบางคนอาจจะหมายรวมถึง ยากลุ่ม สเตียรอยด์ เข้าไปด้วย ก็คือยาที่จุดประสงค์หลักของการใช้ก็คือ การลดอาการอักเสบครับ

ยาฆ่าเชื้อ ก็คือ Antibiotic drug หรือ ยาแอนตี้ไบโอติก หรือยาฆ่าเชื้อนั่นแหละครับ จุดประสงค์ในการใช้ก็แน่นอน ไว้ฆ่าเชื้อโรค(กรณีเป็นเชื้อแบคทีเรีย)ไง

ดังนั้นยาทั้ง 2 กลุ่ม เป็นคนละกลุ่มตัวยากันเลยครับ คราวนี้ความเข้าใจผิดมันมายังไงละ ขอยกตัวอย่าง ดังนี้ละกัน

นายตุ้มเปรี๊ยะ มาพบแพทย์ สาเหตุคือมีอาการเจ็บคอเป็นมา 2-3 วันแล้วมีไข้ด้วยละ มาหาหมอปุ๊บ คุณหมอสุดหล่อก็ทำการวินิจฉัย หลังจากนั้น ก็บอก ตุ้มเปรี๊ยะคุงว่า คุณเป็นภาวะ คออักเสบติดเชื้อ(แบคทีเรีย) ครับ แต่ในแพทย์บางคนอาจจะพูดเหลือแค่ว่า คุณเป็นคออักเสบครับ หรือคนไข้บางคนก็จะเข้าใจว่า อ่อเราเป็นคออักเสบนั่นเอง ถามว่ามีใครผิดไหม ไม่มีเลยครับ กะอีแค่ "คออักเสบ" กับ "คออักเสบติดเชื้อ" เนี่ย เพียงแต่การย่อหรือเข้าใจนี้อาจจะทำให้ คนไข้บางคนเข้าใจผิดต่อๆไปได้

คำว่า “คออักเสบติดเชื้อ” ก็คือ คอเราเนี่ยมันอักเสบครับ ถูกต้อง แต่ที่มันอักเสบนั่นมันเกิดมาจากการติดเชื้ออีกที และกระบวนการอักเสบในร่างกายคนเรานั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุครับ เช่น ติดเชื้อ(ในภาวะติดเชื้อต่างๆ) การกระแทกต่างๆ(เช่นอุบัติเหตุกระแทกมีกล้ามเนื้ออักเสบ) มีสารแปลกปลอมอื่นไปอยู่ในร่างกาย(ซึ่งไม่ใช่เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย) ดังนั้น การที่ร่างกายคุณอักเสบนั้น ไม่ได้หมายความว่าคุณติดเชื้อเสมอไปครับ การติดเชื้อนั้นเป็นเพียงหนึ่งในหลายๆสาเหตุที่ทำให้เกิดการอักเสบได้ เพราะฉะนั้นการรักษาไม่เพียงแต่ต้องลดการอักเสบลง แต่ต้องรักษาไปถึงที่ต้นเหตุด้วยครับ ถ้าเราสามารถหาสาเหตุที่ชัดเจนได้

ดังเช่นกรณีนายตุ้มเปรี๊ยะครับ ซึ่งเป็นคออักเสบติดเชื้อ สรุปก็คือ การอักเสบที่คอนั้นเกิดจากมีเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย หรือการติดเชื้อนั่นเอง ดังนั้นการรักษาต้องให้ ยาฆ่าเชื้อ ซึ่ง แน่นอนเมื่อผู้ป่วยได้รับยาไป ก็จะเข้าใจว่า ตัวเองเป็นคออักเสบ ยาที่ได้ไปก็ต้องเป็น ยาแก้อักเสบ นะสิ ดังนั้น จึงมีการเข้าใจผิดไปว่า ยาแก้อักเสบ คือ ยาฆ่าเชื้อ เป็นตัวเดียวกันนั่นเองครับ และเมื่อแพทย์จ่ายยาฆ่าเชื้อ ให้ผู้ป่วยบางคนจึงมีการถามเกิดขึ้นว่า “เป็นคออักเสบ หมอไม่ให้ยาแก้อักเสบเหรอครับ (ทำไมให้ยาฆ่าเชื้อละ)” จริงๆการรักษาคออักเสบ(ติดเชื้อ) การรักษาหลอดลมอักเสบ(ติดเชื้อ) การให้ยาฆ่าเชื้อ จึงเป็นการรักษาที่ต้นเหตุ ครับ เชื้อโรคตาย การอักเสบก็จะลดลงไปเองโดยที่ไม่ต้องไปกินยาแก้อักเสบ(จริงๆ) เลย

คราวนี้หลายคนคง งง งวย งวย งง ว่าแล้ว ยาแก้อักเสบ(จริงๆ ที่ไม่ใช่ยาฆ่าเชื้อ)ละ มีไว้ทำอะไร ยาแก้อักเสบ(จริงๆ ที่ไม่ใช่ยาฆ่าเชื้อ) คือยาลดอาการอักเสบอื่นๆที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคครับ เช่น เวลาเราปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออักเสบก็เกิดจากการที่เราใช้งานมาก ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อโรคแต่อย่างใด ดังนั้น ก็ให้ยาแก้อักเสบกลุ่มนี้ได้เลย ไม่ได้ให้ยาฆ่าเชื้อนะจ๊ะ

ตัวอย่าง ยาฆ่าเชื้อ(แบคทีเรีย) ที่เข้าใจว่าเป็นยาแก้อักเสบก็เช่นยา Amoxicillin Roxithromycin ประมาณนี้ครับ

ส่วนยาแก้อักเสบที่เป็นยาแก้อักเสบจริงๆ ก็เช่นยา Ibuprofen fenac ประมาณๆนี้ ลองไปหาข้อมูลต่อได้ครับ

คงพอเข้าใจบ้างแล้วนะครับ ว่าจริงๆแล้วยาแก้อักเสบ กับยาฆ่าเชื้อนั้นเป็นคนละตัวกันเลย เพียงแต่การให้การรักษาในบางครั้ง การลดการอักเสบซึ่งเกิดจากการติดเชื้อมักทำให้เกิดการเข้าใจผิดไปว่า ฉันเป็นโรคคออักเสบ ทำไมยาที่ได้จากแพทย์ไป เป็นยาฆ่าเชื้อ ทำไมแพทย์ไม่ให้ยาแก้อักเสบล่ะ เข้าใจกันมากขึ้นนะครับ

4. กินยามากไตเสื่อม

“คุณหมอคะ กินยามากๆนี่ไตไม่เสื่อมเหรอคะ” เป็นอีก 1 คำถามที่พบบ่อยครับ จริงๆแล้วเนี่ย คำถามนี้ คำตอบก็คงต้องตอบว่า ใช่ครับ กินยามาก ไตเสื่อม แต่ปัญหาคือ กินยามาก ต้องตอบให้ได้ก่อนครับว่า ยา อะไร? และมากเท่าไร? (เอาละสิ)

ในชีวิตของเราคงไม่มีใครอยากกินยาหรอกครับ (ยาคูลท์หรือ ยาหยีว่าไปอย่าง) แต่คำถามนี้มักมาจากท่านผู้ป่วยทั้งหลายที่เป็นโรคเรื้อรังครับ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง กระดูกสันหลังทับเส้นประสาทซึ่งรักษาด้วยการกินยา หรือโรคข้อเข่าเสื่อมอักเสบเป็นต้น

ท่านทั้งหลายเหล่านี้มักมีคำถามคาใจ(พี่เจ ทันมะ?) เวลาไปรักษา หรือเวลาไปติดตามอาการ แล้วแพทย์มีการเพิ่มยา หรือรู้สึกว่ายาที่กินทำไมมันเยอะจัง (แค่ยาก่อนอาหารกินจะอิ่มแล้วเนี่ย) และเวลาไปรักษากับแพทย์ ในบางครั้งแพทย์มักจะบอกว่า “ไตเสื่อมแล้วนะครับ เป็นผลจากการกินยามานานด้วย ต้องเปลี่ยนยาแล้ว” หรือ “ยาแก้อักเสบกินมากมีผลต่อไตนะครับ” ทำให้บางครั้ง ผู้ป่วยรู้สึกกลัวและกังวลมากว่าฉันกินยามากไปไหมเนี่ย!!

แต่ ปัญหาที่ว่ามานี้จะยังไม่เกิดปัญหาใดๆครับเพราะเป็นเพียงการสงสัย แต่ที่ผมต้องนำมาไขข้อข้องใจคือ ผู้ป่วยบางราย เช่นเบาหวานหรือความดันโลหิตสูง บางท่าน จะ หยุดยาเองเลยครับ(คุณพระ!!!) หรือไม่กินยาตามที่แพทย์แนะนำ โดยให้เหตุผลว่า กลัวไตเสื่อม กลัวตับเสื่อม จึงเลือกที่จะหยุดยาเอง หรือไม่กินครบ เลือกกินเองบางตัว คราวนี้ ปัญหาก็บังเกิดละครับ เบาหวานก็ขึ้น ความดันก็ไม่ลง สุขภาพแทนที่จะดีขึ้น ก็เสื่อมจริงๆละคราวนี้

ยา ที่เรากินเข้าไปเนี่ย มันจะเข้าสู่กระแสเลือดครับ แล้วก็จะไปที่ ตับ และไตด้วยซึ่งตับและไตนี่เองที่ มีส่วนช่วยในการแปรสภาพยาให้ทำงานและมีส่วนช่วยในการกำจัดยาหรือส่วนประกอบ ที่ไม่เกิดประโยชน์ออกจากร่างกายด้วย

หากบางครั้งเรากินยาที่มีผลต่อไตหรือตับมากเข้า การทำงานของไตและตับเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ตับและไตเสื่อมเร็วขึ้น แต่ ช้าก่อนท่านพี่ทั้งหลาย!!!!!!!!!!!!!

โปรดอ่านต่อสักเล็กน้อย(จริงๆอ่านเยอะก็ดีครับ)

จริงๆแล้ว ก็เป็นความคิดที่ถูกส่วนหนึ่งครับ กับการระวังการกินยา แต่จริงๆแล้วจะเรียนให้ทราบว่า ในผู้ป่วยเบาหวานกับความดันโลหิตสูง หรือผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรังที่ต้องกินยาเหล่านี้ แพทย์จะมีการเจาะเลือดเป็นระยะๆอยู่แล้วครับ บาง ครั้ง เจาะทุก 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี เพื่อดูค่าการทำงานของไต และระมัดระวังให้ผู้ป่วยอยู่แล้ว แต่ขึ้นกับผู้ป่วยด้วยนะครับ ว่าจะไปเจาะเลือดตามที่แพทย์แนะนำ และตรวจติดตามอย่างสม่ำเสมอหรือเปล่า

ดังนั้นจึงไม่ต้องห่วงครับ หากท่านไปตรวจอย่างสม่ำเสมอ ตามที่คุณหมอแนะนำไม่ต้องห่วงว่ากินยาไปจะเป็นอันตรายต่อไตแต่อย่างใด เพราะมีการติดตามอย่างสม่ำเสมอแน่นอนครับ เพียงแต่มีบางอย่างที่อยากจะฝากไว้ครับ
• ตรวจตามที่แพทย์แนะนำ ไปตรวจติดตามสม่ำเสมอ และกินยาให้ครบตามที่แพทย์แนะนำ
• อย่าหาซื้อยามารับประทานเอง โดยเฉพาะยาชุดหรือยาที่ไม่ได้มาตรฐาน
• สมุนไพรหรือยาวิเศษหรืออาหารเสริมทั้งหลายแหล่ที่มีการอวดอ้างสรรพคุณต่างๆ แก้เบาหวาน แก้ความดัน แก้โรคอ่อนแรง แก้สมองเสื่อม แก้ปวดเมื่อย แก้โรคหัวใจ แก้อัมพาต แก้ไตวาย มีส่วนผสมของ เกล็ดหยกขาวบัวหิมะ ผสม วิตามิน อีก 6351 ชนิด(โอ้วนี่่มันยาเทพชัดๆ!) รบกวนตรวจสอบให้แน่ใจจริงๆก่อนนะครับ เพราะยาเหล่านี้บางตัว ทำลายไตได้โดยตรงเลย (เคยเห็นมาแล้วครับ กิน 2 วัน วันที่ 3 ไตวาย บวมทั้งตัวมาเลย)
• มีปัญหาปรึกษาแพทย์นะคะคุณ! และอย่าฟังมากครับคำว่า "เค้าว่า...." เพราะพอถามไปถามมา "เค้าว่า...."เนี่ย ไม่รู้เค้าไหน อย่าเดาเองจ้าเพื่อสุขภาพของตัวท่านเองเนาะ
สรุปก็คือ หากไปตรวจสม่ำเสมอ กินยาตามที่แพทย์แนะนำ ไม่จัดหายามากินเอง จะกินยาอะไรปรึกษาแพทย์ก่อน และรักษาสุขภาพ เท่านี้ก็จะถือว่าเป็นการดูแลและระวังเรื่องของ "กินยาแล้วไตเสื่อม" ได้อยู่แล้วครับ




Create Date : 11 มกราคม 2555
Last Update : 11 มกราคม 2555 18:04:47 น.
Counter : 360 Pageviews.

0 comments

ใบไม้เบาหวิว
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]



Friends Blog
[Add ใบไม้เบาหวิว's blog to your weblog]