ลูกดิ้นบอกอะไร



lozocaelozocae


จำได้ว่า เมื่อสองสัปดาห์ก่อน หลังจากสอนนักเรียนแพทย์เสร็จก็เดินออกจากห้องคลอด วันนั้นเป็นวันที่ยุ่งมากในห้องคลอด แต่จริงๆ แล้วทุกๆ วันในห้องคลอดก็เป็นวันที่ยุ่งเหยิงอยู่แล้ว คนที่ยังไม่เคยใช้บริการของห้องคลอดอาจจะนึกภาพไม่ออก แต่ถ้าใครเคยใช้บริการห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล โดยเฉพาะโรงพยาบาลของรัฐฯ ก็อาจจะร้องอ๋อ เพราะห้องคลอดก็เปรียบเสมือนห้องฉุกเฉินเล็กๆ อีกห้องหนึ่งนั่นเอง

ในห้องคลอดจะเต็มไปด้วยคุณแม่และว่าที่คุณแม่ทั้งหลาย บางคนกำลังนอนอมยิ้มหน้าตาเบิกบาน นึกถึงลูกที่กำลังจะคลอดในขณะที่รอคลอดและยังไม่เจ็บครรภ์ แต่บางคนก็กำลังร้องด้วยความเจ็บปวด ในขณะที่คุณแม่บางคนก็กำลังเบ่งเพื่อที่จะให้ลูกน้อยคลอดออกมาเร็วที่สุด…



อุทาหรณ์สอนใจแม่

พอเดินออกจากห้องคลอดเพื่อที่จะไปดูคนไข้ตามตึก สายตาหมอก็เผอิญเหลือบไปเห็นคุณแม่คนหนึ่งนั่งอยู่หน้าห้องคลอด มือของคุณแม่กำลังลูบคลำท้องไปมา แต่ที่แปลกก็คือ คุณแม่คนนั้นร้องไห้สะอึกสะอื้นอยู่ด้วย เพราะความเหน็ดเหนื่อย หมอจึงพยายามเดินผ่านคุณแม่คนนั้นไป เพื่อที่จะไปขึ้นลิฟต์ แต่เดินไปได้สองก้าว ก็ต้องเดินย้อนกลับมาด้วยความสงสัยว่า เกิดอะไรขึ้นกับคุณแม่คนนั้นนะ เผอิญมีเก้าอี้ข้างๆ ว่างอยู่ก็เลยหย่อนก้นเข้าไปนั่งใกล้ซะเลย ถือว่าเป็นการนั่งพักไปในตัว

หลังจากแนะนำตัวตามประสาแล้ว หมอก็เริ่มพูดคุยเพื่อที่จะพยายามไขข้อข้องใจของตัวเอง พอถามว่าเกิดอะไรขึ้นเท่านั้นแหละ คุณแม่คนนั้นก็ปล่อยโฮใหญ่ออกมาเลย เล่นเอาหมองงเป็นไก่ตาแตกไปพักใหญ่ พอตั้งสติได้ก็ต้องค่อยๆ ปลอบโยนด้วยหลักจิตวิทยาที่ร่ำเรียนมาอีกนั่นแหละ จนในที่สุดก็ได้ความว่า ลูกน้อยที่อยู่ในท้องของเธอนั้นหยุดดิ้นไปเรียบร้อยแล้ว พูดง่ายๆ ก็คือ ลูกเธอเสียชีวิตไปแล้วนั่นเอง

พอได้ทราบอย่างนี้แล้ว หมอคิดว่า ทุกคนคงมีอารมณ์คล้อยตามไปกับหมอด้วย คือรู้สึกเศร้าไปกับเธอ คิดดูสิครับ ลูกคนนี้เป็นลูกคนแรกซึ่งเธออุ้มท้องมานานถึง 8 เดือนกว่า และอีกไม่นานลูกน้อยของเธอ ก็จะลืมตาขึ้นมาดูโลกแล้ว แต่ยังไม่ทันไรเลยครับความหวังก็พังทลาย เมื่อคุณหมอบอกเธอว่า ลูกในท้องที่เธอเฝ้าฟูมฟักนับวันนับคืนที่จะเห็นหน้านั้นอยู่ๆ ก็จากไปซะเฉยๆ เป็นใครก็คงทำใจไม่ได้

หมอได้ฟังแล้วก็นั่งอึ้งไปพักใหญ่แต่พอสติเริ่มกลับมา ด้วยความอยากรู้อยากเห็นก็ถามคำถามคุณแม่ต่อว่า เกิดอะไรขึ้น คุณแม่เลยค่อยๆ เล่าไปร้องไห้ไปว่า เธอฝากท้องมาด้วยดีตลอด จนกระทั่งก่อนที่จะมาโรงพยาบาลสักสองวันเธอรู้สึกว่าลูกเธอดิ้นน้อยลง แต่ก็ไม่ได้เอะใจอะไร แถมตอนนั้นงานก็ยุ่งและยังไม่ถึงกำหนดเวลาที่คุณหมอนัด จึงคิดว่าคงไม่มีอะไร เอาไว้ค่อยมาบอกคุณหมอเมื่อถึงวันนัดก็ได้

พอวันรุ่งขึ้นคุณแม่ก็ยังไม่แน่ใจคิดว่าจะรอต่อ เพราะอีกสองวันจะถึงวันที่คุณหมอนัดแล้ว แต่อยู่ๆ ลูกก็หยุดดิ้นไปเลย รอจนทั้งคืนลูกก็ไม่ดิ้น รุ่งเช้าเลยบอกแฟนให้รีบพามาโรงพยาบาลแต่ก็สายไปเสียแล้ว… เมื่อพูดถึงตอนนี้ก็เห็นแฟนของเธอเดินคอตกเข้ามา นัยต์ตายังแดงก่ำเหมือนกับคนเพิ่งร้องไห้หมอได้แต่ปลอบใจ อยากจะช่วยแต่ก็ทำอะไรไม่ได้

เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์สำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์หรือกำลังจะตั้งครรภ์ทุกคนนะครับ สิ่งหนึ่งที่หมอมักจะพูดกับคุณแม่ทั้งหลายก็คือ เวลาที่มาฝากครรภ์นั้นคุณหมอใช้เวลาตรวจเพียงไม่กี่นาที แต่ลูกในท้องนั้นอยู่กับเราตลอดเวลา เพราะฉะนั้นเราเองจะต้องมีความรู้และคอยดูแลตัวเองอยู่เสมอ ว่าลูกในท้องของเรายังปลอดภัยอยู่หรือไม่ อย่างไร ฉะนั้นวันนี้เราจะมาพูดกันถึงเรื่องลูกดิ้นว่า มีความสำคัญอย่างไรครับ



ดิ้นนี้ที่รอคอย

ในเรื่องการดิ้นของลูกนั้นเป็นความรู้สึกของผู้เป็นแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ทั้งหลาย โดยปกติในครรภ์แรก ลูกมักจะดิ้นเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 18-20 สัปดาห์ และในครรภ์หลังๆ ลูกจะดิ้นเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 16-18 สัปดาห์ โดยอายุครรภ์ที่นับเป็นสัปดาห์ ในทางการแพทย์นั้นจะเริ่มนับตั้งแต่วันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้าย ไม่ใช่นับตั้งแต่วันที่ขาดประจำเดือนเหมือนกับที่เราคิดกันทั่วๆ ไป ด้วยเหตุนี้จึงมักจะเกิดความสับสนกันบ่อยๆ ระหว่างคุณแม่ที่ตั้งครรภ์กับคุณหมอที่ดูแล ทำให้การคำนวณอายุครรภ์ผิดพลาดได้

สำหรับสาเหตุที่ทำให้ลูกในคุณแม่ครรภ์แรกดิ้นช้ากว่าลูกในคุณแม่ครรภ์หลัง ไม่ใช่เป็นเพราะเจ้าตัวน้อยในครรภ์หลังแข็งแรงกว่าหรือโตกว่าหรอกนะครับ แต่เป็นเพราะคุณแม่ในครรภ์หลังมีประสบการณ์ความรู้สึกลูกดิ้นมาแล้ว ทำให้รู้ว่าที่มีอะไรขยับในท้องนั้นเป็นการดิ้นของลูก ในขณะที่คุณแม่ครรภ์แรกถึงแม้ลูกจะดิ้นแล้ว แต่คุณแม่ก็ยังไม่รู้ว่านั่นคือการดิ้นของลูก กว่าคุณแม่จะรู้ ลูกในครรภ์ต้องมีขนาดที่โตและดิ้นแรงแล้วจึงจะรู้สึกได้ ถ้าลองถามเพื่อนๆ ที่ตั้งครรภ์บางคนในรุ่นราวคราวเดียวกัน อาจจะพบว่าตั้งครรภ์ 6 เดือนแล้ว ลูกก็ยังไม่ดิ้น โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีหน้าท้องหนา เพราะฉะนั้นเมื่อลูกยังไม่ดิ้นเมื่อถึงอายุครรภ์ที่กล่าวมา อาจจะยังไม่ต้องวิตกกังวล แต่ในทางตรงกันข้ามก็อย่าชะล่าใจมากเกินไป ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้การดูแลต่อไปก็จะดีครับ



ลูกเริ่มต้นเมื่อ…

มาดูกันว่าจริงๆ แล้ว ลูกในครรภ์จะเริ่มดิ้นตั้งแต่เมื่อไร ถ้าเราใช้เครื่องตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง หรือเครื่องอัลตราซาวนด์ที่เรารู้จักกันดีตรวจ ก็จะพบว่าลูกในครรภ์เริ่มมีการขยับตัวราวอายุครรภ์ประมาณ 6-7 สัปดาห์ แต่เป็นการขยับตัวที่เบามากจนคุณแม่ไม่รู้สึก ฟังดูแล้วไม่น่าเชื่อใช่มั้ยครับ เพราะเราเคยเชื่อกันว่า อายุครรภ์ขนาดนี้ลูกยังเป็นเพียงก้อนเลือดอยู่เลย แต่เปล่าหรอกครับ…อายุครรภ์ขนาดนี้ เป็นตัวเรียบร้อยแล้ว เริ่มมีตุ่มแขนตุ่มขางอกออกมาและหัวใจก็เริ่มเต้นตุ้บตั้บแล้ว ใครที่เคยดูอัลตราซาวนด์ในช่วงอายุครรภ์ขนาดนี้ คงเป็นพยานได้หลังจากนั้นความถี่และความแรงของการดิ้นก็จะมากขึ้นตามอายุครรภ์จนคุณแม่รู้สึกได้



ดิ้นแค่ไหนถึงจะดี

เคยมีการศึกษาโดยให้คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ปกตินับลูกดิ้น พบว่าที่อายุครรภ์ 20 สัปดาห์ ลูกจะดิ้นเฉลี่ยประมาณ 200 ครั้ง/วัน ถึงตอนนี้คุณแม่ที่กำลังอ่านอยู่อย่าเพิ่งตกใจนะครับ การศึกษานี้เขาให้คุณแม่นั่งสังเกตลูกดิ้นและจดเพียงอย่างเดียว ไม่ต้องทำอย่างอื่น เพราะการรู้สึกลูกดิ้นจะต้องอาศัยองค์ประกอบหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสมาธิของคุณแม่ ความแรงของการดิ้น และความหนาของผนังหน้าท้อง เป็นต้น ฉะนั้นคุณแม่ที่ต้องทำงานแบบเราๆ ท่านๆ คงรู้สึกลูกดิ้นไม่มากเท่านี้หรอกครับ แต่ถ้าช่วงไหนเราอยู่ว่างๆ ไม่ได้ทำอะไรจะลองนับเล่นดูก็ได้นะครับ ว่าเท่าที่เขาบอกหรือเปล่า อาจจะเพลินไปอีกแบบ

หลังจาก 20 สัปดาห์แล้ว ลูกก็จะดิ้นถี่ขึ้นและแรงขึ้น จนอายุครรภ์ประมาณ 32 สัปดาห์ ลูกจะดิ้นเฉลี่ยประมาณ 500 ครั้ง/วัน หลังจากนั้นจะค่อยๆ ลดลงจนเฉลี่ยประมาณ 282 ครั้ง/ วัน เมื่อคลอดการที่ลูกดิ้นน้อยลงในระยะท้ายๆ ของการตั้งครรภ์นั้นเชื่อว่าเกิดจากการที่ลูกในท้องของคุณแม่หลับยาวขึ้น ซึ่งแต่ละครั้งอาจหลับได้ยาวถึง 75 นาที นั่นหมายความว่าในช่วงหลังๆ ของการตั้งครรภ์ลูกอาจจะหยุดดิ้นไปได้ถึง 75 นาที จากการหลับของลูก ฉะนั้นการสังเกตนับลูกดิ้นอาจจะต้องสังเกตวันละหลายครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้อยู่ในช่วงหลับของลูก



4 ลีลา ท่าดิ้นลูก

ถึงตอนนี้อาจจะมีคำถามจากคุณแม่ว่า แล้วการที่ลูกดิ้นเบา ดิ้นแรงมีความหมายอะไรหรือไม่ จะบ่งบอกถึงสุขภาพของเด็กได้หรือเปล่า ถ้าดูรายละเอียดของการดิ้นแล้วจะพบว่า การดิ้นของลูกในท้องตามความรู้สึกของแม่อาจจะแบ่งได้เป็น 3-4 อย่างใหญ่ๆ คือ

1. การดิ้นเบาๆ
2. การดิ้นแรงๆ หรือการเตะ หรือการเคลื่อนไหวแบบกระตุก
3. การเคลื่อนแบบเป็นคลื่น
4. การกระตุกเป็นจังหวะหรือการสะอึก

ถ้าพูดกันจริงๆ แล้ว การดิ้นทั้ง 4 แบบ ก็ไม่ค่อยได้มีความหมายแตกต่างกันมากนัก เพราะอย่างที่ได้กล่าวตอนต้นแล้วว่า การรู้สึกถึงลูกดิ้นมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายอย่าง ดังนั้น อย่างน้อยขอให้ดิ้นไว้ก่อนก็ยังแสดงว่าลูกปลอดภัยนะครับ

ในทางทฤษฎีแล้วการดิ้นเบาๆ จะเป็นการดิ้นของลูกอายุครรภ์น้อยๆ เช่น อายุครรภ์ประมาณ 16-18 สัปดาห์ แต่เมื่ออายุครรภ์มากขึ้น การดิ้นก็จะเริ่มเปลี่ยนแปลงเป็นการดิ้นแบบที่ 2 ส่วนการดิ้นแบบแรกก็จะเริ่มลดลง สำหรับการดิ้นแบบที่ 3 เป็นการดิ้นที่พบได้ปะปนกันไปในทุกอายุครรภ์ ส่วนการสะอึกนั้น มักพบในช่วงท้ายๆ ของการตั้งครรภ์ ซึ่งก็เหมือนกับการสะอึกของเราๆ ท่านๆ ทั้งหลายแหละครับ

แต่เมื่อไรก็ตามที่รู้สึกว่าลูกดิ้นเป็นจังหวะสม่ำเสมอ เราอาจจะต้องแยกให้ออกจากการเต้นของหลอดเลือดแดง ซึ่งคุณแม่อาจจะรู้สึกได้ ทั้งนี้เนื่องจากมดลูกของคุณแม่จะวางอยู่บนแนวของเส้นเลือดแดง ที่วิ่งจากหัวใจลงสู่ส่วนล่างของร่างกาย ดังนั้นเมื่อเรานอนหงายหรือนั่งเอนหลัง มดลูกก็จะไปวางบนลำของเส้นเลือดแดง ซึ่งจะทำให้มีการส่งผ่านของการเต้นมาที่มดลูก ทำให้คุณแม่รู้สึกว่ามีการเต้นเป็นจังหวะที่สม่ำเสมอได้

วิธีง่ายๆ ที่จะแยกว่าเป็นการดิ้นของลูกในท้องหรือเป็นการเต้นของเส้นเลือดคุณแม่เอง ก็ทำได้โดยการจับชีพจรตัวเองบริเวณข้อมือเทียบกับความรู้สึกของการเต้น ถ้าการเต้นเป็นจังหวะเดียวกันกับชีพจร ก็แสดงว่าเป็นการเต้นของเส้นเลือดคุณแม่นั่นเอง แต่ถ้าจังหวะการเต้นแตกต่างกันก็แสดงว่าการเต้นนั้นเป็นการดิ้นของลูกอย่างเป็นจังหวะครับ



คลายสงสัยเรื่องลูกดิ้น

มีคำถามหลายคำถามที่คุณแม่มักจะถามกันมาบ่อยๆ และหมออยากจะนำมาเล่าสู่กันฟังต่อดังนี้ครับ…

คำถามแรกก็คือ " ลูกดิ้นน้อย หรือดิ้นมากไปจะหมายถึงสุขภาพของเด็กที่ไม่ดีหรือไม่ ?"

คำถามที่คงไม่มีคำตอบสุดท้าย เพราะผู้รู้หลายๆ ท่านเองก็ยังสรุปไม่ได้ เพียงแต่มีความเห็นตรงกันว่า เมื่อไรก็ตามที่ลูกหยุดดิ้นมากกว่า 12 ชั่วโมง ถือว่าเด็กมีปัญหา แม้ว่าอัตราการเต้นของหัวใจลูกจะยังปกติอยู่ก็ตาม ลูกจะต้องรีบได้รับการตรวจรักษา หรือรีบให้คลอดเพื่อป้องกันการเสียชีวิตของลูกในครรภ์ อย่างเช่นคุณแม่ที่ได้กล่าวมาข้างต้น อย่ามัวแต่ชะล่าใจว่าลูกหลับหรือรออีกหน่อยนะ …เดี๋ยวก็คงดิ้นเอง เพราะเมื่อวานยังเป็นอย่างนี้เลย…ถ้าคิดอย่างนี้บางครั้งอาจจะสายเกินไปก็ได้นะครับ

แล้วถ้าเป็นอย่างที่ว่านี้ คุณหมอจะให้การรักษาอะไรได้บ้าง ? คงมีคนเริ่มคิดขึ้นมาในสมองอันไวเฉียบแล้วใช่ไหมครับ

ถ้าพบว่าลูกหยุดดิ้นแต่หัวใจยังเต้นเป็นปกติ คุณหมอก็คงต้องตรวจคลื่นหัวใจเด็กโดยใช้เครื่อง เพื่อดูอัตราการเต้นของหัวใจว่าเป็นอย่างไร ซึ่งคุณหมอพอจะบอกได้ว่าดีหรือไม่ ในกรณีที่ไม่แน่ใจอาจจะใช้เครื่องมือที่ส่งเสียงออกมาคล้ายเสียงออดวางไว้ที่หน้าท้องบริเวณหัวลูก เพื่อกระตุ้นให้ลูกเคลื่อนไหว ถ้าลูกยังไม่เคลื่อนไหว ก็แสดงว่าลูกอยู่ในภาวะอันตราย แต่ถ้าลูกเคลื่อนไหว ก็จะดูอัตราการเต้นของหัวใจว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ซึ่งพอจะบอกได้ว่าลูกยังมีสุขภาพดีอยู่หรือไม่ ในกรณีที่ไม่แน่ใจคุณหมออาจจะต้องใช้เครื่องตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงตรวจโดยจะต้องดูหลายๆ อย่างร่วมกัน เช่น ดูการเคลื่อนไหวของลูก ดูการหายใจของลูก ดูปริมาณน้ำคร่ำ เป็นต้น ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะช่วยบอกได้เช่นกัน

ปัจจุบันมีวิธีใหม่ๆ ที่เข้าไปดูการไหลเวียนของเลือดในเส้นเลือดลูก โดยอาจดูที่เส้นเลือดแดงที่สายสะดือ ที่บริเวณเส้นเลือดใหญ่ของลำตัว หรืออาจจะดูเส้นเลือดในสมอง ซึ่งต้องใช้เครื่องมือเครื่องไม้ที่ดี และต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเป็นพิเศษจึงจะสามารถแปลผลได้ถูกต้อง ในกรณีที่ผลการตรวจออกมาไม่ดี โอกาสที่จะต้องทำให้การตั้งครรภ์สิ้นสุดจะมีสูง ทั้งนี้เพื่อพยายามช่วยให้ลูกน้อยมีชีวิตลืมตาดูโลกอย่างปลอดภัยนั่นเองครับ

คุณแม่บางท่านมักจะบ่นว่า เวลานอนตะแคงแล้วรู้สึกลูกดิ้นมาก กลัวว่าจะไปกดทับทำให้ลูกอึดอัดหรือเปล่า ?

จริงๆ แล้วในเรื่องของการนอนตะแคง คุณหมอมักจะแนะนำให้คุณแม่ที่ท้องแก่ๆ นอนในท่านี้นะครับ โดยเฉพาะคุณแม่ที่ท้องโตๆ เช่น ท้องแฝด เพราะการนอนท่านี้จะทำให้มดลูกหนีจากเส้นเลือดดำใหญ่ของลำตัว ทำให้เลือดไปเลี้ยงมดลูกได้ดีขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อลูกในท้องของเรา นอกจากนี้ก็ยังช่วยให้อาการบวมที่ขาน้อยลงด้วย แต่เมื่อนอนตะแคงแล้วคุณแม่รู้สึกลูกดิ้นมากขึ้น ส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจากการที่ลูกอยู่ใกล้ผนังมดลูกมากขึ้น ทำให้คุณแม่รู้สึกได้ดีขึ้น ไม่มีอันตรายอย่างที่เข้าใจนะครับ เพราะฉะนั้นคงไม่ต้องวิตกกังวลว่าจะไปกดทับลูกแต่อย่างไร



ความจริงเรื่องลูกดิ้นและสิ่งพึงระวัง

การดิ้นของลูกก็ไม่มีส่วนสัมพันธ์กับเพศของลูกอย่างที่บางคนเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นลูกชายหรือลูกสาวก็ดิ้นไม่แตกต่างกันครับ จะบอกว่าลูกคนก่อนดิ้นแรงเป็นลูกชาย ลูกคนนี้ดิ้นเบาน่าจะเป็นลูกสาว คงจะบอกไม่ได้ ผิดมานักต่อนักแล้ว การดิ้นเองก็ไม่มีส่วนสัมพันธ์กับเวลา ไม่ว่าจะเป็นเช้า สาย บ่าย เย็น ก่อนอาหารหรือหลังอาหาร ถ้าเขาไม่หลับก็มักจะมีการขยับตัว ลองสังเกตดูจากตัวเองก็ได้ครับว่าเรานั่งนิ่งๆ ได้สักกี่นาทีโดยไม่ขยับอะไรเลย

แต่การรับประทานยาบางตัว เช่น ยากล่อมประสาท ยาคลายเครียด หรือแม้แต่คุณแม่ที่สูบบุหรี่ ลูกก็จะดิ้นน้อยลงเช่นกัน เพราะฉะนั้นใครที่สูบบุหรี่ก็หยุดเสียก่อนที่จะท้องนะครับ เพราะบุหรี่ไม่ใช่แต่ว่าจะทำให้ลูกดิ้นน้อยเท่านั้น แต่ยังทำให้ลูกมีความพิการแต่กำเนิดด้วย คุณแม่คงไม่อยากให้ลูกพิการนะครับ แล้วโทษของบุหรี่ก็ยังมีผลต่อสุขภาพแม่เช่นกัน…อ้อ แต่อย่าเพิ่งดีใจนะครับที่ไม่ได้สูบบุหรี่ เพราะถ้าคุณพ่อบ้านสูบบุหรี่แล้วเราอยู่ใกล้ๆ เราและลูกก็อาจจะได้รับพิษภัยจากบุหรี่เข้าไปด้วยโดยไม่เต็มใจได้เหมือนกันครับ



(update 17 พฤษภาคม 2003)
[ ที่มา.. นิตยสารรักลูก ปีที่ 19 ฉบับที่ 219 เมษายน 2544 ]

lozocaelozocae
Create Date : 24 พฤษภาคม 2552
Last Update : 24 มิถุนายน 2552 5:26:56 น.
Counter : 6238 Pageviews.

0 comments

เจ้าแม่แฟชั่น
Location :
  Maldives

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



Group Blog
พฤษภาคม 2552

 
 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
20
21
22
23
25
27
28
29
30
31
 
 
24 พฤษภาคม 2552
All Blog