รักก็คือรัก ไม่มีอะไรมากหรือน้อยไปกว่านั้น#คือรัก ดวงตะวัน
|
||||
๑๖ - ไซคี (Psyche) ; สุชาคริยา - สตรีจิตพิสุทธิ์ผู้กุมหัวใจเทพแห่งความรัก - ไ ซคี ( P sy c h e ) สตรีจิตพิสุทธิ์ผู้กุมหัวใจเทพแห่งความรัก นวนิยายโดย : สุชาคริยา สำนักพิมพ์ : ทำมือ พิมพ์ครั้งที่1 : มิถุนายน 2560 ราคาเล่มละ : 750 บาท (ปกแข็ง) จำนวนหน้า : 618 หน้า
รายละเอียด ขวัญจิตสรวง นักจิตวิทยาประจำโรงพยาบาล รับเคสดูแลคนไข้ใหม่รายหนึ่ง การพูดคุยตรวจสอบเป็นไปเหมือนทุกครั้งที่ทำงาน แต่ใครจะคิดว่าจู่ๆ คนไข้ก็กระโดดเข้ามาบีบคอโดยไม่ส่งคำเตือน ชายคนนี้พึมพำ ถ้อยคำไม่เป็นศัพท์ชวนขนลุก น่ากลัวนัก ฟังแล้วหนาวสะท้าน เธอพยายามสะบัดให้หลุด แต่อีกฝ่ายแข็งแรงมาก มือดั่งปกเหล็ก มิหนำซ้ำยังถูกจับเหวี่ยงสภาพไม่ต่างจากตุ๊กตาที่ถูกหมาบ้าฟัด
เธอหมดแรง คนไข้นั่งคร่อมตัว สองมือนั่นบีบคอแน่น เจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยกันหลายคน แต่ไม่สำเร็จ
ความมืดเคลื่อนเข้ามา ปกคลุมจนเหมือนเมฆลอยดำเต็มท้องฟ้า แววตาคนไข้เลื่อนลอย ส่วนเธอเริ่มตาเหลือก หน้ามืด หายใจไม่ออกทุกขณะ เสียงน่ากลัวนั่นดังชัดกว่าเสียงอื่นอย่างน่าแปลกใจ ราวกับจะเรียกวิญญาณให้หลุดจากร่างโดยพลัน
และเมื่อได้สติอีกครั้ง สถานะคือถูกส่งตัวให้เป็นเจ้าสาวของอสูร เป็นตัวตายตัวแทนของเจ้าหญิงแสนงามผู้หลีกหนีพิธีวิวาห์ นางฆ่าตัวตาย ทิ้งร่างเจ้าปัญหาให้เธอตามแก้ไข
ฉันไปติดหนี้ใครไว้ ถึงต้องมาชดใช้แบบนี้
เอียรอส (ERCS) เทพเจ้าผู้ประสิทธิ์ประสาทความรัก มีเหตุจำเป็นต้องช่วยหญิงงามนามไซคี นางอ่อนหวานทั้งกายใจ กิริยาใดล้วนงดงาม เขาตกหลุมรัก แต่ไม่เคยคิดเลยว่าไซคีคนนั้น ไฉนจึงกลายร่าง กล้าทำร้ายร่างกาย เตะต่อยผู้เป็นสามีอย่างอาจหาญ ลงมือให้เนื้อช้ำถึงเพียงนี้
ผู้ใดเล่นเล่ห์กับเทพอย่างเขากันแน่!
บันทึกหลังอ่าน สุชาคริยา คือนักเขียนที่มีฝีมือโดดเด่นด้านงานเขียนสไตล์จินตนิยาย แฟนตาซีแบบไทยๆ ซึ่งเรื่องที่เราชอบมาก เป็นหนึ่งในใจเลยคือเรื่อง พักตร์อสูร แต่มาคราวนี้สุชาคริยาไม่ได้พาเราทะลุมิติเป็นยังเมืองสมมติที่มีบรรยากาศแบบไทยๆ เจ้าข้า เจ้าขาแล้ว ทว่าผู้เขียนพาเราข้ามขอบฟ้าไปยังโลกของเทพแห่งเทือกเขาโอลิมปัส เรื่องราวความรักของ เอียรอส (หรือ คิวปิด) เทพแห่งความรัก กับ ไซคี มนุษย์สาวผู้เลอโฉม สำหรับเรา เราเคยผ่านหูผ่านตาเรื่องเทพตำนานกรีกเหล่านี้มาบ้าง รู้จักกิตติศัพท์ความเจ้าชู้ของซุส รู้วีรกรรมที่โพไซดอนทำกับเมดูซ่า แต่สำหรับความรักของเอียรอสกับไซคี นี่ชักลืมๆ ชักเลือนรางไปหมดแล้ว แต่จำได้ว่าค่อนข้างดราม่า โศกเศร้ามากเลยทีเดียว เมื่อสุชาคริยาหยิบยกเรื่องราวของนางมาเขียนตามฉบับของตนเอง จึงเป็นอะไรที่ค่อนข้างน่าสนใจสำหรับเรา นักอ่านที่คุ้นเคยหรือรู้เรื่องเทพกรีกก็คงอ่านเรื่องนี้ได้อย่างสนุกสนาน แต่สำหรับนักอ่านที่ไม่รู้จักเทพเหล่านี้ ไม่รู้จักเทือกเขาโอลิมปัสมาก่อน ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่สนุก ด้วยการเล่าเรื่องของผู้เขียนบวกกับปมที่ซุกซ่อนไว้ชวนให้ค้นหา น่าสนใจมาก สิ่งที่เป็นปัญหาสำหรับเรา ดูเหมือนจะเป็นเรื่องการตีความเรื่องราวของไซคีและเหล่าเทพเจ้าทั้งหลายในรูปแบบใหม่ตามจินตนาการของผู้เขียน ทำให้เราค่อนข้างสับสนว่าอะไรคือเรื่องจริง อะไรที่ระบุไว้ในตำราหรือตำนานทั้งหลาย อะไรคือจินตนาการ คือการตีความของผู้เขียน แต่พอไม่คิดถึงเรื่องนี้ก็เริ่มอ่านได้สนุกและไหลลื่นมากขึ้น แต่ถ้าจะให้ดีอยากให้มีคำตามในช่วงท้ายว่าส่วนไหนที่มาจากจินตนาการของผู้เขียน มีตัวละครตัวไหนที่เพิ่มเข้ามาไหม ฯลฯ แต่สิ่งที่ลึกซึ้ง และเป็นจุดที่เราประทับใจในเรื่องนี้ ชื่นชมในจินตนาการของผู้เขียนคือการตีความให้ ไซคี ไม่ใช่แค่เป็นมนุษย์สาวผู้เลอโฉม งดงามจนเทพีแห่งความงามริษยา แต่ไซคีในเรื่องนี้คือโฉมงามผู้ตกเป็นหมากในกลเกมทางการเมืองของเหล่าเทพชั้นสูง และผู้หญิงที่อยู่ในร่างไซคีก็คือ ขวัญจิตสรวง นางเอกของเรื่องนั่นแล เธอเป็นนักจิตวิทยาสาวที่ถูกคนไข้ปองร้ายจนตาย และดวงวิญญาณก็เข้ามาอยู่ในร่างไซคี ไซคี คือหญิงสาวหนึ่งเดียวในดวงใจของ เอียรอส เทพแห่งความรัก สิ่งที่ทำให้เอียรอสผู้ไม่เคยมีรักแท้ของสตรีใดๆ แต่ต้องมาพ่ายแพ้แก่หัวใจของไซคีผู้นี้ เพราะไซคี (หรือขวัญจิตสรวงในร่าง) คือสตรีที่มีดวงจิตอันบริสุทธิ์ มีความรัก ความปรารถนาดีต่อคนทุกคน และไม่เคยคิดชั่วร้าย คิดประหัตประหาร หรือทำร้ายใคร เรียกได้ว่าสำหรับเอียรอสแล้ว ไซคีผู้นี้งดงามทั้งร่างกายและจิตใจ แต่เรายังสัมผัสถึงดวงใจอันบริสุทธิ์ของไซคีได้ไม่ชัดเจนนัก ซึ่งเรามองเห็นเป็นนามธรรมมากกว่ารูปธรรม เป็นการเน้นย้ำผ่านทางคำพูด ความรู้สึกของเอียรอสถ้ามีการกระทำของไซคีที่ชัดเจนว่านี้ ที่ทำให้เราเชื่อได้มากกว่านี้ ว่าเธอมีจิตใจอันบริสุทธิ์จริงๆ เราจะเชื่อมากขึ้นและจะชอบมากกว่านี้ อาจจะเพิ่มไปในเรื่องราวสมัยที่ขวัญจิตสรวงยังไม่อยู่ในร่างไซคี ว่าทำไมเธอถึงเป็นนักจิตวิทยา เธอทำความดีอะไรมาบ้างที่ทำให้จิตใจเธอยิ่งบริสุทธิ์ ถึงแม้เรื่องจิตใจอันบริสุทธิ์ของไซคีจะยังไม่ทำให้เราเห็นภาพชัดเจน แต่สิ่งที่ชัดเจนสำหรับเราคือความรักที่เอียรอสมีให้กับไซคี เป็นความรักที่ต้องอดทน รักที่ต้องฝ่านฟันอุปสรรค รักที่ต้องปกป้องสตรีที่เขารัก ปกป้องด้วยพละกำลังและที่สำคัญกว่าพละกำลังนั่นคือสติปัญญา หากไร้ซึ่งสติปัญญาและไหวพริบ เขาไม่มีทางรักษานางผู้เป็นหนึ่งเดียวในใจเขาได้ตลอดไป เอียรอส
พระเอกเรื่องนี้ฉลาดมาก! มากด้วยปัญญา มากด้วยคุณธรรม เป็นเทพที่บริสุทธิ์ที่หาได้ยากจากบรรดาทวยเทพในเรื่องนี้ ควรแค่แก่การที่ไซคีจะรักและภักดี สิ่งที่ทำให้ ไซคี ยิ่งสนุก ยิ่งน่าสนใจคือการเล่มเกม การชิงไหวชิงพริบของเหล่าเทพทั้งหลาย กิเลสตัณหา ความโลภที่ครอบงำ ทำให้ต่างลุ่มหลงในอำนาจของตน ปรารถนาที่จะเป็นใหญ่เหนือใคร จุดนี้ทำให้เรารู้สึกว่าเทพในเรื่องนี้ (ยกเว้นเอียรอส เทพอะพอลโล และเทพฮีฟิสทัส) ไม่ใช่เทพผู้มีใจบริสุทธิ์ หรือมีคุณธรรมประจำตัวเลยสักนิด แต่มีด้านเทาที่เข้มขนเกือบจะดำสนิทกันทั้งสิ้น ที่เรารังเกียจที่สุดคงเป็นเทพโพไซดอน ปมที่ตัวเองถูกกดขี่ข่มเหงให้ต้อยต่ำ เลยทำให้ตัวเองมีความสุขเวลาอยู่เหนือคนอื่น เวลาได้กดขี่ข่มเหงคนอื่นบ้าง เรามองว่าผู้ที่มีความคิดแบบนี้คงต้องมีอาการทางจิตแฝงอยู่ด้วยแน่ๆ ที่เราทั้งรังเกียจ ทั้งไม่ชอบ แต่ก็แฝงด้วยความเห็นใจ ก็คือเทพีอเธน่า เทพีที่งดงามด้วยสติปัญญา เทพีแห่งสงคราม ถือตนว่าสูงส่ง ไม่เคยก้มหัวให้ใคร แต่สุดท้ายเธอก็ไม่เหลือใครแม้กระทั่งผู้ชายที่เธอรัก ผู้ชายที่เธอรู้สึกดีด้วย ส่วนเทพที่เราสงสารที่สุดก็คือ เทพีอะโฟรไดต์ แม่ของเอียรอส ด้วยความอิจฉาริษยาที่เธอมีต่อมนุษย์นางหนึ่ง ทำให้กำแพงที่ขวางกั้นระหว่างเธอกับลูก ค่อยๆ ใหญ่ขึ้น ใหญ่ขึ้น จนยากที่จะทลายกำแพงนั้นได้ และสุดท้าย
ลูกที่เธอรักก็ไม่สามารถอยู่กับเธอได้ ส่วนเรื่องของซุสกับเฮรา เราประทับใจที่ผู้เขียนเล่าให้เราเห็นในมุมมองของความรักที่ซุสมีให้เฮรา ซึ่งเรารู้จักซุสในด้านของความเจ้าชู้เท่านั้น ไม่เคยรู้หรือเข้าใจว่าอะไรทำให้ซุสรักมเหสีเอกอย่างเฮราผู้หึงโหด บทส่งท้ายที่ให้เทพทั้งหลายเป็นผู้เล่าเป็นส่วนที่ดีมาก เพราะทำให้เราเข้าใจและเข้าถึงความคิด ความรู้สึกของตัวละครแต่ละตัวได้จริงๆ ด้วยตัวละครมีมาก ด้วยการเล่มเกมการชิงไหวชิงพริบของเหล่าเทพที่มีความซับซ้อนทางความคิดและการกระทำ ทำให้ยิ่งต้องใช้สติและความใจเย็นในการอ่านนิยายเรื่องนี้ การเล่าเรื่องที่ซับซ้อนของผู้เขียนยังมีบางส่วนที่ทำให้งง ไม่ค่อยเข้าใจ ต้องกลับมาอ่านซ้ำ อาจเป็นเพราะเราอ่านเรื่องนี้ช่วงเปิดเทอมใหม่ๆ ซึ่งอ่านแล้ววาง อ่านแล้ววาง ไม่ค่อยได้ต่อเนื่องมากนัก แต่พออ่านจบก็ทำให้เรารู้ว่าผู้เขียนทำการบ้านมาดีและหาข้อมูลเยอะมากกว่าที่จะเขียนนิยายเรื่องนี้จนจบ สำนวนภาษาเรื่องนี้ดี เป็นการบรรยาย พรรณนาอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดของตัวละคร ที่ใช้ถ้อยคำธรรมดาแต่พอมาร้อยเรียงกันแล้วเกิดความสละสลวย สัมผัสได้ถึงความสุภาพ ความอ่อนน้อมที่มนุษย์มีต่อเทพ หรือเทพมีต่อเทพด้วยกัน แต่บ่อยครั้งที่ตัวละครไม่ได้พูดตรงๆ แต่เป็นการพูดอ้อมที่ยิ่งทำให้เราต้องตีความ และทำความเข้าใจในความคิดของตัวละครตัวนั้นๆ เป็นจินตนิยายที่หยิบยกเรื่องราวของเทพเจ้ากรีกมาตีความได้อย่างเข้มข้น น่าสนใจ และชวนติดตาม อุ้มสม ๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๐
Pre ไว้เหมือนกัน แต่ปัจจุบัน สถานะ ดอง
![]() โดย: Prophet_Doll
![]() |
อุ้มสม
![]() ![]() ![]() ![]() ![]() แฟนเพจ "อุ้มสม" Group Blog All Blog
Friends Blog
Link |
|||
Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved. |