พฤศจิกายน 2552

1
2
7
9
11
13
14
20
21
23
24
26
27
29
 
 
All Blog
อมตะ - วิมล ไทรนิ่มนวล
สัญชาตญาณอำมหิต วิทยาศาสตร์ และสัจวิถี

Photobucket

อมตะ
ผู้เขียน วิมล ไทรนิ่มนวล
จำนวน 222 หน้า
สยามประเทศสำนักพิมพ์
พิมพ์ครั้งที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2543
ราคา 120 บาท

นวนิยายซีไรท์ ประจำปี 2543 เป็นเรื่องในยุคสมัยที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก้าวหน้าจนสามารถโคลนมนุษย์ได้ มีตัวละครหลัก 3 ตัวคือ พรหมินทร์ ชีวัน และอรชุน แก่นแกนหลักของเรื่องคือสงครามระหว่างพรหมินทร์และอรชุนบนนาทีชีวิตของชีวัน เพื่อพิสูจน์ว่าอะไรคือ อมตะ ที่แท้จริง มหัศจรรย์แห่งเทคโนโลยี หรือ สัจวิถีแห่งไตรลักษณ์

พรหมินทร์เป็นเจ้าของธุรกิจครบวงจรยักษ์ใหญ่ของประเทศ รวมไปถึง ฟาร์มสัตว์ โรงพยาบาล และสถาบันวิจัยเกี่ยวกับการโคลนสิ่งมีชีวิต เขาพยายามผลักดันให้รัฐบาลออกกฎหมายที่เอื้อต่อธุรกิจหลายๆ อย่างของเขา หนึ่งในร่างกฏหมายที่เขาพยายามผลักดันมาตั้งแต่ 22 ปีก่อนคือ ร่างกฎหมายเกี่ยวกับการโคลนนิ่งมนุษย์ (เพื่อใช้ในทางการแพทย์ และการพาณิชย์ในวาระต่อไป) เบื้องต้นเพื่อใช้ตัวโคลนเป็นอะไหล่ เปลี่ยนถ่ายอวัยวะเมื่อทรุดโทรม ระหว่างทีีกฎหมายยังไม่ผ่านเขาอาศัยช่องโหว่ของกฎหมายทำการโคลนมนุษย์ และหนึ่งในนั้นคือ โคลนของเขาเอง ซึ่งเขาเลี้ยงดูมาในฐานะลูกชายคนหนึ่ง - ชีวัน

เมื่อถึงเวลาที่เขาต้องการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ ภรรยาของเขาซึ่งไม่เห็นด้วยได้บอกเรื่องนี้กับชีวันซึ่งไม่เคยรู้มาก่อน หลังจากสับสนและหนีหายไปพักหนึ่ง ชีวันก็กลับมาด้วยยอมจำนนให้พรหมินทร์ใช้เป็นอะไหล่ ด้วยหัวใจที่ห่อเหี่ยว ทั้งภรรยาของพรหมินทร์และชีวินต้องได้รับการฟื้นฟูทางจิต โดยได้พบกับอรชุนผู้เชี่ยวชาญด้านการบำบัดจิต ก่อนจะรู้ภายหลังว่า อรชุนคือโคลนของพรหมินทร์ที่หนีไป และตั้งใจกลับมา เพื่อแก้แค้น และช่วยเหลือ แล้วสงครามระหว่างพรหมินทร์และอรชุนก็เริ่มขึ้น...



*** ต่อไปจะเป็นการพูดคุยซึ่งอาจ SPOILED นะคะ ***

ได้อ่านนิยายของคุณวิมลมาบ้าง และให้บังเอิญว่าเป็นการพูดถึงพุทธศาสนาทั้งสิ้น อาทิ งู คนทรงเจ้า-เจ้าแผ่นดิน และเรื่องนี้โดยความตั้งใจของผู้เขียนเพื่อให้เป็น ธัมมิกวรรณกรรม - วรรณกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับธรรมะในพระพุืทธศาสนา คุณวิมลก็นำเสนอแนวคิดทางพุทธศาสนาผ่านนิยายวิทยาศาสตร์ได้อย่างกลมกลืน ตื่นตาตืนใจ (และใจตื่น) และไม่ิทิ้งลายการเสียดสีสังคม

คำถามมากมายผุดขึ้นระหว่างอ่านหนังสือเล่มนี้ หลายๆ ครั้งเหมือนโดนตบหัวแรงๆ ให้หันกลับมามองตัวเอง ส่วนว่าเป็นเรื่องอะไรนั้น เก็บไว้ให้ทุกท่านไปค้นหากันเองดีกว่า แต่จะขอยกภาพเปรียบเทียบที่น่าสนใจในเรื่องมาคุยตรงนี้แทน เช่น

การใช้เลขเบิ้ล คุณวิมลจะใช้เลขเบิ้ลในบทบรรยายสม่ำเสมอตลอดเรื่อง เช่น พรหมินทร์อายุ 55 ปี ชีวันอายุ 22 ปี อาคารสูง 99 ชั้น สถิติอายุเฉลี่ยของคน (ในเรื่อง) คือ 66 ปี ฯลฯ จนต้องเผลอเพ่งมองว่า เลขสองตัวที่เหมือนกันอย่างกับแกะนั้น มันคือสิ่งเดียวกันหรือเปล่า เลขสองตัวที่เหมือนกันอย่างกับแกะนั้น มีตรงไหนที่แตกต่างกันหรือไม่ หรือแท้ที่จริงมันไม่ใช่ตัวเลขเดียวกันเลย

การเปรียบเทียบการโคลนหรือการเพาะเลี้ยงเพื่อผลประโยชน์ โคลนสัตว์ไว้กิน หรือไว้ล่า โคลนคนเพื่อใช้เป็นอะไหล่หรือใช้ประโยชน์อื่นใด (ใช้แรงงาน ใช้บริการทางเพศ ฯลฯ) ไม่ต่างจากการเหยียดผิว ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ถูกย่ำยีไม่มีเหลือ เพียงเพราะเห็นว่าเขาต่างจากเรา (เกิดโดยการปฏิสนธิหรือเกิดโดยการโคลน / สีผิวต่างกัน) แล้วเราจะทำอะไรกับเขาก็ได้ตามแต่ที่เห็นสมควร

อะไรมีผลต่อตัวตนของแต่ละคนมากกว่ากัน ความผูกพันการเลี้ยงดู หรือสายเลือด ชีวันและอรชุนเป็นโคลนของพรหมินทร์เหมือนกันแต่ความคิดแตกต่างกัน ชีวันตัวโคลนมีความรักความผูกพันต่อพ่อและแม่มาก ขณะที่รติรัตน์ลูกสาวแท้ๆของพรหมินทร์ ไม่มีความผูกพันกับพ่อแม่

มีอีกสองสิ่งที่เห็นและสะท้อนใจจากในเรื่องนี้ หากเมื่อเงยหน้าและมองออกไปก็เห็นมันซ้อนทับอยู่กับเรื่องราวตรงหน้า เป็นเรื่องปกติธรรมดาในสังคมปัจจุบัน เรื่องหนึ่งคือ การศัลยกรรม การที่ผ่าตัดเปลี่ยนเอาสมองพรหมินทร์ไปใส่ในร่างกายของอรชุน ก็ไม่ห่างไกลจากการทำศัลยกรรมเท่าใดนัก และอรชุนเองก็ได้มองการทำศัลยกรรมเฉพาะของเขาเอง (ทำเพื่อหลบหนีการตามตัว) ว่าเป็นการหลบหนีตัวเองอยู่หลังใบหน้าใหม่ อีกเรื่องคือภาพของฟาร์มโคลนที่อรชุนได้เข้าไปเห็น อ่านแล้วคิดภาพตาม รู้สึกว่าภาพมันเริ่มจะซ้อนลงมาเป็นสังคมของเราในปัจจุบันที่ต่างคนต่างอยู่ เพื่อนน้อยลง ปฏิสัมพันธ์กันน้อยลง แต่ละคนเหงา โดดเดี่ยว อ้างว้าง

สุดท้ายชอบความหมายที่ซ่อนอยู่หลังชื่อตัวละครหลักทั้งสาม

ชื่อพรหมินทร์ (พระเจ้าผู้สร้างโลก) นามสกุลธนบดินทร์ (เจ้าแผ่นดินและทรัพย์สินทั้งมวล) เป๊ะ!

ชื่อชีวัน ไม่ว่าจะหมายถึง ผู้มีชีวิตสำหรับแม่ หรือ ผู้ที่จะนำชีวิตกลับคืนมาสู่ร่างกายโรยราสำหรับพรหมินทร์ หรือ เขาคือชีวิตสำหรับอรชุน

อรชุน (ใส, สว่าง) ภควัต (นามพระพุทธเจ้า) นอกจากอาจหมายถึง แสงสว่างแห่งพระพุทธเจ้าแล้ว ยังมีนัยเรื่องอรชุนแห่งภควัตคีตา

โดยเป็นเรื่องราวในมหาภารตยุทธ์ หรือ สงครามมหาภารตะมหากาพย์เรื่องยาวของอินเดียโบราณ เป็นการรบพุ่งของสองพี่น้องฝ่าย คือฝ่ายปานฑพ (ฝ่ายธรรมมะ) และ เการพ (ฝ่ายอธรรม) โดยอรชุนเป็นขุนศึกใหญ่ฝ่ายปานฑพ เมื่อเริ่มสงคราม อรชุนได้เกิดอาการท้อแท้ไม่อยากรบ เมื่อเห็นคนที่ตนต้องทำสงครามด้วยนั้นล้วนเป็นญาติสนิทมิตรสหายทั้งสิ้น ท่านกฤษณะได้กล่าวบทสนทนาอันแฝงไปด้วยปรัชญาลึกซึ้งในเชิงให้กำลังใจและส่งเสริมความฮึกเหิมในการทำสงครามต่ออรชุน บทสนทนานี้ได้ถูกจัดให้เป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของชาวฮินดู ตั้งชื่อว่าภควัทคีตา (บทเพลงของพระเจ้า) สองฝ่ายก็ได้รบพุ่งประจัญบานกันที่ทุ่งกุรุเกษตร เป็นเวลาถึง 18 วัน ท้ายที่สุดสงครามยุติ ฝ่ายปาณฑพเป็นฝ่ายชนะ

ขอใช้บางส่วนจากเพลงของคาราบาวสรุปความในส่วนที่เห็นภาพของอรชุนในเรื่องนะคะ

พวกเราคือนักรบ พวกเราคือสงคราม พวกเรารบต่อความอยุติธรรม
พวกเราคือนักรบ พวกเราคือสงคราม พวกเรารบด้วยจิตใจไม่ใช่ศาตรา
เรามารบกัน ต่างมารบกัน รบราฆ่าฟัน นั้นมีจุดหมาย
แม้เราต้องอยู่ หรือเราต้องตาย กระดูกมอดไหม้ วิญญาณยังอยู่
(จากเพลงศรอรชุน)

รบเถิดอรชุน หากท่านตายในสนามรบ
สวรรค์ยังรอท่านอยู่ยังเปิดประตูรอผู้ปราชัย
แม้หากว่าท่านชนะ ความเป็นใหญ่ในแผ่นดินนี้
ทุกพงผืนปฐพี รอให้ท่านเข้ามาครอบครอง
(จากเพลงภควัตคีตา)

ข้อมูลเกี่ยวกับภควัตคีตาจาก
//www.oknation.net/blog/print.php?id=348322
//topicstock.pantip.com/rajdumnern/topicstock/2008/11/P7212645/P7212645.html


สำหรับคนที่ชอบนิยายวิทยาศาสตร์ สนใจพุทธศาสนา(แต่ไม่รู้จะเริ่มตรงไหน) ชอบตลกร้าย ไม่อยากให้พลาดเรื่องนี้ค่ะ


หนังสือเล่มนี้ใช้ตอบโจทย์ WWR 5-7.[อมราวตี] อ่านจินตนิยาย (นิยายเกี่ยวกับโลกสมมุติ) เช่น นิยายวิทยาศาสตร์ แฟนตาซี



Create Date : 08 พฤศจิกายน 2552
Last Update : 8 พฤศจิกายน 2552 21:01:39 น.
Counter : 17860 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

เที่ยงวัน
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]