someday we write , someday we wrong









เขียนถึงญี่ปุ่น : คนไทยไม่รู้จักมุราคามิ ฮารูกิ



เขียนถึงญี่ปุ่น : ปราบดา หยุ่น (เขียน) : สำนักพิมพ์ใต้ฝุ่น



เขียนถึงญี่ปุ่นเป็นหนังสือรวมบทความที่คัดสรรมาจากคอลัมน์ From a Tropical Storm (จากพายุโซนร้อน)
ซึ่งพูดถึงสังคมญี่ปุ่นในทุกแง่มุมผ่านสายตาของคนภายนอกอย่างคนไทย...ที่ชื่อปราบดา หยุ่น
โดยคุณปราบดาเขียนคอลัมน์นี้แล้วส่งต่อไปให้เพื่อนชาวญี่ปุ่นแปลเป็นภาษาแดนปลาดิบ
ลำเลียงไปตีพิมพ์ในนิตยสาร Eye Scream ก่อนจะวางแผงขายเฉพาะในญี่ปุ่น

มองในแง่นึงคนญี่ปุ่นที่ก็แคร์สายตาชาวบ้านพอสมควร ถึงขนาดจ้างคนไทยมาช่วยเขียนให้อ่านหน่อยว่ามองคนญี่ปุ่นเป็นคนยังไง
แต่มองในอีกแง่นึง คนญี่ปุ่นก็น่ารักไม่หยอกที่อยากจะทราบข้อดีข้อเสียของตนผ่านสายตาคนอื่น ทั้งเพื่อรู้ไว้เล่นๆและนำไปปรับปรุง

สำหรับใครที่กำลังกังวลว่า หนังสือเล่มนี้จะเป็นหนังสือรวมบทความยกยอปอปั้นสังคมญี่ปุ่น
สร้างภาพความเป็นอยู่ของคนญี่ปุ่นว่าเลิศเลอกว่าคนไทย หรือช่วยเขียนแก้ต่างให้คนญี่ปุ่น...ก็โปรดสบายใจได้
เพราะตัวหนังสือของ “เขียนถึงญี่ปุ่น” ค่อนข้างจะจิ๊กโก๋ก๋ากั่นในคราบสุภาพบุรุษ แอบตบหน้าผู้คนชนิดไม่ให้เจ็บแต่ถึงขั้นชา
และไม่อยู่ในอารมณ์พิศวาสพอจะ “Kiss ass” ใคร ไม่ว่าจะเป็นคนญี่ปุ่น(ผู้จ่ายค่าต้นฉบับ)หรือพี่น้องคนไทย(ร่วมสายเลือด)


ดังนั้นจึงไม่จำเป็นว่าต้องสนใจเรื่องราวของญี่ปุ่น
ไม่ว่าใครก็สามารถมองหาความเพลิดเพลิน(และเจ็บเนื้อเจ็บตัวจากการถูกแทงใจดำ)จากหนังสือเล่มนี้ได้
ขอเพียงเป็นมนุษย์ที่ใจกว้างพอจะมองดูข้อดีข้อเสียของตัวเองแล้วหัวเราะใส่มัน

ในเหล่าบรรดาแง่มุมทั้ง 32 บทที่ครอบคลุมเนื้อหาทั้งเทคโนโลยี สังคม ศิลปะ ดนตรี ภาพยนตร์ การ์ตูน และชีวิตความเป็นอยู่ ฯลฯ
ผมขอหยิบยกประเด็นที่ปราบดาพูดถึง “วรรณกรรม” มารีวิว เพื่อให้เข้ากับคอนเซปต์ของบล็อกหนังสือ
และในประเด็นนั้น ปราบดาแสดงให้เราเห็นว่า พวกเรา“คนไทยไม่รู้จักมุราคามิ ฮารูกิ”…
โดยความน่าสนใจมันอยู่ตรงที่ คำว่า “คนไทย” ที่ว่านั้นหมายความถึง “คนไทยที่เคยอ่านหนังสือของมุราคามิ ฮารูกิ!!!”


ในประเด็นนี้ “เขียนถึงญี่ปุ่น” ชี้ให้เรามองตามว่าเหล่าหนังสือแปลทั้งหลาย ต่างก็ถูกบุคลิกของผู้แปลเข้าไปเจือจางบุคลิกของผู้เขียนด้วยกันทั้งนั้น
ปราบดายกตัวอย่างว่า ตอนที่เขาอ่าน Norwegian Wood นิยายอันโด่งดัง(หรือหนังสือเล่มอื่นๆ)ของมุราคามิ ฮารูกิแล้วรู้สึกชื่นชอบเนี่ย
เป็นเพราะเขาชื่นชอบเนื้อหา(ของคนเขียน)หรือสำนวนภาษา(ของผู้แปล) หรืออาจจะทั้งสองอย่างแต่อันไหนล่ะที่มีอัตราส่วนมากกว่ากัน

ในที่นี้ปราบดาเปรียบเปรยว่า หนังสือแปลนั้นเสมือนเป็น “เรื่องที่ได้ยินมา” ไม่ใช่เรื่องที่ฟังมาจากปากผู้เล่า(คนเขียน)โดยตรง
(ไม่เหมือนอย่างเวลาที่เราอ่านนิยาย “ที่แต่งโดยคนไทย” ที่ได้สัมผัสทั้งความคิดและภาษาจากเวอร์ชั่นต้นฉบับ)
และให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า “หนังสือของมุราคามิที่ได้แปลเป็นภาษาไทย แทบทุกเล่มเป็นการแปลจากภาษาอังกฤษอีกทอดหนึ่ง
ซึ่งยิ่งสร้างปัญหาสำหรับผู้ต้องการเข้าใจความเป็นมุราคามิที่แท้จริงเข้าไปใหญ่
ไม่นับปัญหาเรื่องสำนวนการแปลของนักแปลแต่ละคน ที่มีมาตรฐานไม่เท่ากัน และมีความเข้าใจลึกซึ้งในภาษาที่ตนแปลไม่เหมือนกัน”


ปราบดายกตัวอย่างว่า เขาเคยถามรุ่นน้องสาวคนนึงว่าทำไมถึงชอบงานของมูราคามิ เธอตอบว่า “เพราะมูราคามิเข้าใจผู้หญิง”
คำตอบนั้นของเธอได้สร้างคำถามใหม่ขึ้นมาว่า “แล้วคนญี่ปุ่นรุ่นเดียวกันกับเธอจะรู้สึกอย่างเดียวกันไหม”
(ในเมื่อรุ่นน้องคนนี้อ่านงานที่แปลมา 2 ทอดจากภาษาญี่ปุ่นและอังกฤษ กับคนญี่ปุ่นที่ได้อ่านจากต้นฉบับภาษาญี่ปุ่นแท้ๆ)

ปราบดาจบว่า “การแปลเป็นกิจกรรมทางวรรณกรรมที่ค่อนข้างแปลก
มันนำพาชื่อและความคิดของใครคนนึ่งเดินทางไปได้ไกลเกือบถึงทุกขอบโลก
แต่ในขณะเดียวกันตัวตนของคนคนนั้นก็ค่อยๆสลายหาย หรือกลายไประหว่างการเดินทาง”


อ่านแล้วเล่นเอา(หัว)ใจหายไป 2 ห้องครึ่ง
เพราะถ้าหากหนังสือแปลในดวงใจแท้จริงแล้วคนเขียนเขาไม่ได้เขียนอะไรสิ่งที่ทำให้เราชอบที่ว่าเลย
คงจะพาลให้รู้สึกแย่ไม่ต่างอะไรกับหลงรักใครสักคนผ่านจดหมายรัก แล้วมารู้ทีหลังว่าเขาแอบไปวานให้คนอื่นเขียนให้

ดังนั้นเมื่ออ้างอิงจากเรื่องของการตกหล่นและกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นจากการแปล (รวมไปถึงการตีความ นำมาเล่าต่อ และบอกกันชนิดปากต่อปาก)
...จึงสามารถขอออกตัวก่อนได้ว่า “ถ้าผมเขียนรีวิวนี้ไม่ดีก็ไม่ได้หมายความว่าหนังสือเล่มนี้ไม่น่าสนใจนะครับ”...


Create Date : 21 กุมภาพันธ์ 2551
Last Update : 6 ธันวาคม 2552 15:27:19 น. 25 comments
Counter : 1468 Pageviews.

 
เจิม ...เย้! คนแรก
เดี๋ยวค่อยอ่าน
จองที่นั่งก่อน


โดย: Jevanni วันที่: 21 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:16:55:06 น.  

 
เจิมคนที่สอง

จองที่นั่งอ่านจ๊ะ


โดย: พยัคฆ์ร้ายแห่งคลองบางหลวง วันที่: 21 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:17:00:27 น.  

 
อืมมมมม์ ในฐานะที่เป็นคนอ่าน มุราคามิ อีกคน

ผมไม่รู้จะพูดว่าอย่างไร เพราะจริง ๆ ผมก็ไม่เข้าถึงเค้านะเพราะอ่านแต่ฉบับแปลสำนวนไทย

แต่สิ่งที่ทำให้ผมชอบ มุราคามิ คือ ความมีจังหวะในการเขียนของเขา

มุราคามิ เป็น คนที่เล่นเป็น


โดย: พยัคฆ์ร้ายแห่งคลองบางหลวง วันที่: 21 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:17:02:26 น.  

 
เกี่ยวกับการแปล ผู้แปลบางคนก็จะใส่ตัวตน (และความเห็นของตัวเอง) ลงไปค่ะ

ยกตัวอย่าง (อาจจะนอกเรื่อง ขออภัย)
จำลอง พิศนาคะ แปลมังกรหยก เวอร์ชั่นแรก เขาใช้ชื่อมังกรหยกที่เขาตั้งเอง ทั้งที่ความจริงชื่อเรื่องไม่ใช่แบบนี้

ซ้ำยังเล่าเรื่องที่บ้านของเขาไฟไหม้ลงไปในดาบมังกรหยกด้วย (ฉบับรวมเล่ม ระหว่างบทในเรื่องเลยค่ะ ไม่ใช่บทส่งท้ายหรือบันทึกผู้แปลนะ)

ด้วยความที่อ่านต้นฉบับไม่ออกจึงไม่รู้ว่าเขาดัดแปลงเพิ่มเติมอะไรลงไปอีกบ้าง

กลับมาสู่งานของมูราคามิ -- สำหรับเราสังเกตว่ามีคนอ่านงานของเขาเยอะนะ อย่างในบล็อกแก็งนี่ก็เห็นพูดถึงกันหลายคน

แต่ในสังคมส่วนใหญ่ อาจไม่ค่อยอ่านก็ได้มั้ง? ไม่แน่ใจ

เราว่าผลงานของเขาเป็นแนวแปลก เข้าใจยาก (บางครั้งก็ง่าย จนระแวงว่ามีอะไรแฝงอยู่หรือเปล่า)

ส่วน "มูราคามิเข้าใจผู้หญิง"... เราว่า "ผู้หญิงต่างหากที่เข้าใจมูราคามิ"

ทั้งหมดเป็นความเห็นส่วนตัวค่ะ


โดย: Jevanni วันที่: 21 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:17:08:03 น.  

 
อ่านชื่อเรื่องแล้ว ตกใจ นึกว่าคุณจะบอกว่า ปราบดาบอกว่าคนไทยไม่รู้จักมูราคามิ เพราะเท่าที่อ่านหนังสือเล่มนี้มา ปราบดาก็ไม่ได้บอกเช่นนั้น

การอ่านหนังสือแปล คนอ่านต้องตระหนักค่ะ ว่าไม่ได้อ่านจากเจ้าของภาษาเขียนเอง หลายๆ ครั้งที่ตัวเองอ่านงานแปล เพราะติดใจสำนวนแปลด้วย

ส่วนการที่จะรู้จักมูราคามิด้วยภาษาญี่ปุ่นนั้น

อืม


โดย: grappa วันที่: 21 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:18:01:45 น.  

 
กลายเป็น lost in translation ไปเสียอย่างนั้น


ยังไม่ได้อ่านหนังสือของปราบดาเล่มนี้เลย แต่ว่าอ่านมูราคามิแล้ว อิอิ


โดย: waidhaya วันที่: 21 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:18:20:49 น.  

 
สวัสดีค่ะ มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน

เราเองก็รู้ค่ะว่า งานของมูราคามิที่เราได้อ่าน ถูกแปลมาจากเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ ซึ่งแน่นอนหละ ความเป็นตัวตนแบบเต็มร้อย น่าจะหายไปบ้าง

แต่เราไม่คิดว่ามันจะเหลือขนาดศูนย์น่ะ

เพราะงั้นเราถึงไม่เห็นด้วยว่า "ไม่รู้จัก" มูราคามินะคะ

แต่เป็น "รู้จัก" ไม่ถ่องแท้มากกว่า


เพราะเราเชื่อว่า เนื้อหาหลักๆ เลยไม่น่าจะเปลี่ยนแปลง

บุคลิกตัวละครไม่น่าจะเปลี่ยนแปลง

ซึ่งสองอย่างนี้ ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เรารักหนังสือของมูราคามิน่ะค่ะ


แต่..โอเคหละ สำนวนบางอย่าง อาจไม่เป๊ะ

และก็ต้องยอมรับว่า สำนวนการแปลก็มีผลกับเราเหมือนกัน


เพราะฉะนั้นก็อย่างที่บอกหละค่ะ

เราว่า..ก็น่าจะประมาณรู้จักไม่ถ่องแท้มากกว่าไม่รู้จักเอาซะเลยน่ะนะคะ



แต่อ่านรีวิวแล้วรู้สึกว่าเล่มนี้น่าสนใจดีค่ะ

อยากรู้ว่าปราบดารู้สึกกับคนญี่ปุ่นในแง่มุมไหนบ้าง

มีแง่มุมที่เรารู้สึกบ้างหรือเปล่าน่ะค่ะ


โดย: สาวไกด์ใจซื่อ วันที่: 21 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:19:24:29 น.  

 
จริงด้วยล่ะค่ะว่าการแปลกับการอ่านต้นฉบับบางทีอารมณ์มันไม่เหมือนกัน

เหมือนเรื่อง "Life of Pi" ชอบเวอร์ชั่นแปลไทยนักหนา พออ่านเวอร์ชั่นจริง อ้าว มันไม่ได้ตลกเหมือนภาคไทยนี่นา แม้ว่าเนื้อเรื่องจะเหมือนกันก็ตาม

ชอบสำนวนของคุณปราบดาเสมอค่ะ
“การแปลเป็นกิจกรรมทางวรรณกรรมที่ค่อนข้างแปลก
มันนำพาชื่อและความคิดของใครคนนึ่งเดินทางไปได้ไกลเกือบถึงทุกขอบโลกแต่ในขณะเดียวกันตัวตนของคนคนนั้นก็ค่อยๆสลายหาย หรือกลายไประหว่างการเดินทาง”

ขอบคุณเจ้าของบล็อคนะคะที่นำมาแนะนำให้รู้จักกัน


โดย: TaMaChAN (narumol_tama ) วันที่: 21 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:19:53:59 น.  

 
มาส่งกำลังใจค่ะ ขอโทษที่มาช้า แต่ก็คงดีกว่าไม่มาเลยใช่ไหมคะ เป็นกำลังใจให้เสมอนะคะ ขอให้คุณชุดนอนมีความสุขในทุกๆวันนะคะ สู้ๆค่ะ


โดย: rizzonte วันที่: 21 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:20:06:42 น.  

 
แวะมาอีกรอบ...
เรื่องนิยายแนวสืบสวนที่เชียร์ให้อ่าน เพิ่ม "Goth คดีตัดข้อมือ" อีกเล่มด้วยค่ะ

ปล. ไม่อ่านริง จริงๆเหรอ (มันไม่ได้เน้นผีเหมือนในหนังเลยนะ -- แต่ก็หลอนอยู่บ้าง เอ่อ...นิดหน่อยมั้ง?)

ปปล. ขอ Request Network นะคะ


โดย: Jevanni วันที่: 21 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:20:32:22 น.  

 
ต่อให้เป็นนักเขียนไทยด้วยกันก็เถอะครับ
มีใครรู้จักนักเขียนไทยอย่างถ่องแท้บ้าง
แน่ใจได้ยังไงว่าเราตีความหนังสือของเขาถูกต้องตามเจตนารมณ์ของนักเขียน
นักแปลเขาก็แปลอย่างดีที่สุดตามอาชีพเขา ผมว่าปราบดา ไม่น่าเอาเรื่องนี้มาเป็นประเด็นเลยนะ
ตัวเขาน่าจะเข้าใจดี เพราะอยู่วงการหนังสือเหมือนกัน
ตราบใดที่เรายังอ่านภาษาญี่ปุ่น จีน ฝรั่งเศส เยอรมัน ฯลฯ ไม่ออก ก็ยอมรับงานแปลภาษาไทยบ้างเถอะครับ

คนเราอ่านหนังสือเล่มเดียวกันยังเข้าใจไม่ตรงกันเลย เพราะงั้นอย่าหวังว่าจะ "รู้จักนักเขียน" อย่างถ่องแท้ดีกว่า
อ่านอย่างสบายใจ ชอบก็ชอบ ไม่ชอบก็ไม่ชอบ แค่นั้นก็จบ


โดย: นักเดินทางจากดวงดาวอันไกลโพ้น วันที่: 21 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:21:24:42 น.  

 
อ่านแล้วรู้สึกว่า เอ่อ.. จริงนะ

ตัวตนของคนเขียน จะถูกเคลือบด้วยตัวตนของคนแปล

อืมๆ น่าคิดๆ


โดย: ..ยออู.. วันที่: 21 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:21:40:57 น.  

 
เล่มนี้น่าซื้อค่ะ (แต่นึกได้ว่าเงินไม่มี)
เราว่าส่วนสำคัญที่เป็นปัจจัยต่อความสนุกของเรื่อง นอกจากเนื้อเรื่องแล้ว คนแปลก็มีความสำคัญค่ะ เราเคยอ่านการ์ตูนเรื่องนึง เนื้อเรื่องดีมาก แต่แปลมาแบบว่าไม่เป็นประโยคเลยค่ะ เหมือนจะแปลโดยวางตำแหน่งของคำตามญี่ปุ่นไปหน่อย อ่านไปก็เซ็งไป
แล้วถ้าจะให้ดีก็ต้องห้ามสะกดผิดด้วยค่ะ ไม่งั้นก็เซ็งเหมือนกัน
ตอนนี้คิดว่าถ้ามีเงินเมื่อไหร่จะซื้อหนังสือภาษาอังกฤษอ่านแทนฉบับแปลไทยค่ะ (เมื่อไหร่จะมีเงินน้อ)


โดย: PinGz (Kai-Au ) วันที่: 21 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:21:54:56 น.  

 
อ่านแล้วติดใจตรงเรื่องการแปลอยู่เหมือนกันค่ะ

ส่วนเรื่องมูราคามิ โนคอมเมนต์ค่ะ เพราะไม่เคยอ่านงานของเขาเลย


โดย: BoOKend วันที่: 21 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:22:18:54 น.  

 
เราเป็นคนรักการอ่าน
ที่อาจจะอยู่ในโลกของการอ่านที่แคบหน่อยนะ
จึงทำให้ยังไม่เคยอ่านงานของมุราคามิเลยซักเล่มเดียว

ไม่รู้ว่าจะออกความเห็นว่าอย่างไร
คนข้างบนก็คงพูดไปหมดแล้ว
แต่อย่างหนึ่งที่ต้องยอมรับก็คือ
คนแปล...มีความสำคัญกับหนังสือไม่น้อย
หากคนแปลไม่ได้เข้าใจเจตนารมณ์ของผู้แต่งอย่างแท้จริง
สารที่ถูกส่งมายังผู้อ่านก็อาจเปลี่ยนได้เช่นกัน

ปล.ตอนเม้นท์ เรายังแอบงง ไม่รู้ว่าความเห็นของเราใช่เรื่องเดียวกันกับรีวิวของจขบ.รึเปล่า


โดย: nikanda วันที่: 21 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:22:25:21 น.  

 
ปล.งานของปราบดาก็ยังไม่เคยอ่านเหมือนกัน


โดย: nikanda วันที่: 21 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:22:27:14 น.  

 
ขอชิงตอบ 3 คนก่อนเพื่อป้องกันความเข้าใจผิดนะครับ

# คุณ grappa คุณสาวไกด์ใจซื่อ และคุณนักเดินทางจากดวงดาวอันไกลโพ้น
เกี่ยวกับการรู้จักนักเขียนอย่างถ่องแท้ผมเห็นด้วยกับคุณนักเดินทางจากดวงดาวอันไกลโพ้นครับ
ว่าต่อให้อ่านงานของนักเขียนคนไทย...เราก็คงเข้าไม่ถึงตัวตนของเขาอย่างถ่องแท้หรอก...แต่นั่นก็ขึ้นอยู่กับว่าใครมองว่ามันสำคัญ

ทั้งนี้ผมไม่ได้หมายความว่าการแปลทำให้เนื้อหาเสียอรรถรสแต่อย่างใด
กลับกัน การแปลต่างหากที่ทำลายกำแพงภาษา ช่วยให้เราไม่ต้องเผชิญหน้ากับสำนวนเฉพาะถิ่น หรือมุขตลกเฉพาะกลุ่ม
ด้วยการแปลมันออกมาเป็นสำนวนไทยเข้าใจง่าย พร้อมแปลงความตลกให้ถูกปากคนอ่านไทยอย่างเราๆ

ซึ่งด้วยการตีความของผมเอง(ที่ไม่รู้จะถูกผิดอย่างไร)...
ผมเพียงเห็นว่าปราบดาชี้ชวนคิดให้เรารู้ในสิ่งที่เรา(คนอ่าน)ทราบกันดีอยู่แล้ว(แต่บางทีก็ไม่ได้ไปคิดถึงมัน บางคนคิดว่ามันไม่ได้สำคัญอะไรด้วยซ้ำ)
นั่นคือ “การแปลนั้นเจือปนบุคลิกของคนเขียน” ปราบดาชี้ให้คนญี่ปุ่นที่อ่านนิตยสารทราบว่า
อันด้วยสืบเนื่องมาจากการแปลมันมีความเป็นไปได้ที่คนไทยจะรู้จักนักเขียนญี่ปุ่นในคนละความรู้สึกกับคนถิ่นเดียวกัน
แต่พวกเราคนอ่านที่ทราบดีและตระหนักรู้ คงไม่มีใครไปนั่งมองหรอกว่า นี่ทำให้หนังสือเสียรสชาติ
แต่นี่สิคือสิ่งที่ทำให้หนังสือมีรสหวานหอมยิ่งกว่าเดิม จึงไม่น่าแปลกใจที่บางคนถึงขั้นไม่ดูคนเขียน
แต่หยิบหนังสือไปจ่ายเงินด้วยเพราะเห็นชื่อคนแปลที่ชื่นชอบสำนวน

ฉะนั้นผมเองนั้นในฐานะที่ปักหลักอ่านแต่งานภาษาไทย ผมจึงชูธง “ยอมรับการแปลไทย” จากทุกผู้แปลและสำนักพิมพ์อยู่แล้ว
โดยส่วนตัวแล้วผมก็มีนักแปลในดวงใจอยู่หลายคน ไม่เฉพาะหนังสือด้วยนะ แต่ทั้งการ์ตูนหรือภาพยนตร์ก็ด้วย
เช่น ม.ประภาที่แปลหงสาจอมราชันย์ได้คมคายและล้ำลึก หรือค่ายพันธมิตรที่ให้เสียงพากย์หนังอันสนุกสนานและตลกกว่าต้นฉบับโข

เมื่อเราเลือกที่จะดูหนังผ่านเสียงไทยหรือซับไทย อ่านการ์ตูนลิขสิทธิ์แปลไทย หรือหนังสือแปลไทย
ผู้แปลจึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการเลือกรับชมศิลปะเหล่านั้น ไม่ใช่สิ่งที่ทำให้งานเหล่านั้นด่างพร้อยแต่อย่างใด
กลับกันนี่แหละคือ ช่องให้คนไทยที่มีความสามารถเยาะรสชาติให้กับงานศิลปะต่างชาติก่อนนำมาเสิร์ฟผู้บริโภคคนไทยด้วยกัน

โดยส่วนตัวแล้วผมไม่เคยอยากจะรู้จักตัวตนของนักเขียนเลยครับ
ผมแค่อยากจะรู้จักตัวตนของหนังสือที่อ่านมากกว่า...อยากรู้จักในแบบที่มันเป็น...ในแบบที่ผมสามารถจะทำความรู้จักกับมันได้

ปล หากใครคิดว่าประเด็นนี้น่าสนใจ
ใน “เขียนถึงญี่ปุ่น” ยังมีประเด็นอื่นๆที่เขี่ยประเด็นนี้จนกระเด็นด้วยความน่าสนใจที่มากกว่า
ว่างๆลองไปหาอ่านดูนะครับ ^^



โดย: ขอรบกวนทั้งชุดนอน วันที่: 21 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:23:46:27 น.  

 
# คุณพยัคฆ์ร้ายแห่งคลองบางหลวง
ผมยังไม่เคยอ่านงานของมุราคามิเลยครับ (หาอ่านไม่ได้เลย) แต่คงด้วยผมอับจนปัญญาในการหาเอง
คงต้องพยายามกันต่อไป เพราะผมเองก็อยากจะลองดูสิว่า “เล่นเป็น” ในความหมายของคุณนั้นจะเป็นอย่างไร ^^


# คุณ Jevanni
“ผู้หญิงเข้าใจมุราคามิ” หรอครับ อ่านแล้วชักอิจฉามุราคามินิดๆแฮะ 555+
หนังสือคดีตัดมือนี่ที่จริงผมสนใจและออกไปมองหาตั้งแต่ตอนอ่านรีวิวแล้วครับ
แต่หาไม่ได้(ของหมด)แล้วข้อมูลในคอม(ของคนขาย)ยังบอกว่า มันราคาตั้ง 200 กว่าบาท...
ถ้าจะเริ่มที่เล่มนี้ผมคงต้องหยอดกระปุกก่อนครับ แต่รับรองว่าไม่นานเพราะเริ่มหยอดตั้งแต่ตอนได้อ่านรีวิวแล้ว ^^

# คุณ...ยออู...
คิดซะว่าเหมือนลูกกวาดน่ะครับ มันเป็นการเคลือบหวานให้เราได้อร่อยกับรสเข้มข้นของไส้ใน(เนื้อหา)ได้คล่องปากขึ้น


# คุณ PinGz
เป็นอย่างที่คุณว่าเลยครับ คนแปลถ้าผิดพลาดไปก็จะส่งผลให้งานอ่านไม่สนุก
กลับกันถ้างานมาในเนื้อหาที่ไม่สนุกอยู่ก่อนแล้ว ก็ต้องขึ้นอยู่กับคนแปลเช่นกันว่าจะ “เข็นขึ้น” หรือพากัน “ตกเหว”

# คุณ BoOKend
ผมก็โนคอมเมนต์ครับ ไม่เคยอ่านเหมือนกัน เลยได้แต่หยิบสิ่งหนังสือเขียนไว้มายกตัวอย่าง


# คุณ nikanda
หลายคนตั้งแง่ว่างานของปราบดานั้นอ่านยาก อันนี้ก็อยู่ที่รสนิยมในการอ่านด้วยนะผมว่า
โดยส่วนตัวแล้วผมว่าไม่ยากนะ แล้วรู้สึกว่าหลังๆเขาจะเขียนให้อ่านง่ายขึ้นด้วย
ยิ่งเล่มนี้ ปราบดาเขียนไว้ในคำนำประมาณว่า เขาไม่สามารถเล่นสำนวนได้มาก เพราะกลัวคนแปล(ที่เป็นคนญี่ปุ่น)จะลำบากในการแปล
เขาเลยเขียนด้วยภาษาเรียบๆ ง่ายๆ แต่เนื้อความยังคงไว้ซึ่งความช่างคิดที่ดุดัน
ถ้าจะลองงานของปราบดาสักเล่ม ผมว่าเล่มนี้เหมาะมากเลยครับ


โดย: ขอรบกวนทั้งชุดนอน วันที่: 22 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:0:05:39 น.  

 
การชอบเรื่องราว จากวรรณกรรม มันมีหลายมิติว่าเราชอบด้านไหน อรรถรสภาษา เรื่องราว แก่นเรื่อง แง่คิด
โดยทั่วไป การอ่านงานแปล

อรรถรสของวรรณกรรมส่องผ่านเลนส์ของผู้แปล
ช่องว่างระหว่างภาษาต้นฉบับกับภาษาที่แปล
ช่องว่างระหว่างผู้เขียนกับผู้แปล
การดัดแปลงระหว่างวัฒนธรรมต้นฉบับกับของผู้แปล
และการปรุงแต่งสำนวณภาษาโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจของการเลือกภาษาที่ถ่ายทอด
หากคนอ่านหลงรักอรรถรสนี้ ก็ไม่อาจรับประกันได้ว่าจะรู้สึกเหมือนเดิมหรือไม่เมื่ออ่านต้นฉบับ เหมือนดูหนังพากษ์กับเสียงในฟิลม์

ทว่า (ถ้าไม่นับที่แปลผิด) หากชื่นชอบแก่นของเรื่อง มุมมองของวิธีการเล่นพล็อต หรือพวก Authorial Intent แก่น แง่คิด ความเบี่ยงเบนทางภาษามีผลต่อความชอบแก่นเรื่องไม่มากนัก

การเข้าใจผู้เขียนมีส่วนให้เราเข้าถึงเรื่องราว และในทางกลับกันการเข้าใจเรื่องราวก็ทำให้เข้าใจผู้เขียน เราจำเป็นต้องรู้จักผู้เขียนไหม ถ้าพูดถึงความชอบบางเรื่องที่อ่าน บางทีเราก็ไม่ได้ไปสนใจด้วยซ้ำว่าผู้เขียนเป็นใครมาจากไหน เช่นถ้าเราอ่านCLAMPเราไม่ได้ไปวิเคราะห์ว่าพื้นเพพวกป้าเป็นใคร แต่ถ้าเราอ่านคลื่นลูกที่สาม เราจำเป็นต้องรู้ว่าหลักคิดแบบที่สร้างขึ้นมามาจากใครภูมิหลังแบบไหน

ความชอบงานเขียนไม่เฉพาะด้านผู้เขียน ผู้แปล แต่อีกด้านนึงคือความตั้งใจของผู้อ่านเองด้วยว่าแสวงหาอรรถรสจากมิติไหนและระดับใดบ้าง

สำหรับเรา เป็นคนนึงที่อ่านงานของอ.มุราคามิ จากฉบับแปลอังกฤษ เรามองว่าอรรถรสทางภาษาเป็นเพียงส่วนเพิ่มเท่านั้น เราชอบวิธีการส่งเรื่องและแง่คิดสอดแทรกของ อ.มากกว่า และเราก็ยังไม่ได้มีความสนใจในเชิงลึกว่าอยากรู้จักอ.เป็นการส่วนตัว อิอิ


โดย: lost_color วันที่: 22 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:1:12:43 น.  

 
เราว่าทีมพากย์พันธมิตรเปรียบเหมือนผู้แปลที่สามารถเปลี่ยนทิศทางของเรื่องได้เลยค่ะ
หนังเครียดหลายๆเรื่อง แกก็ภาคเป็นหนังตลกได้


โดย: PinGz (Kai-Au ) วันที่: 22 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:21:54:32 น.  

 
^^^
เห็นด้วยค่ะ มีบางคนบอกว่าหนังเรื่องเดียวกันบางเรื่อง คนไทยดูแล้วสนุกกว่าชาติอื่น บางเรื่องฮากลิ้งจริงๆ

เคยดูเรื่องหนึ่งจำชื่อไม่ได้ เฉินหลงไปช่วยคุ้มกันเด็กจากการลักพาตัวขำแทบตกเก้าอี้

ส่วนเรื่องมุราคามิ อ่านเล่มเดียว การปรากฏตัวของหญิงสาวในคืนฝนตกที่คุณโตมรแปลค่ะ
ชอบมากตามซื้อเก็บยังไมได้จนวันนี้

ตามเล่มอื่นมาอ่านแต่คนแปลคนละคน
เราว่าเราอ่านแล้วมึนๆ อ่านไม่จบสักเล่มเลย









โดย: January Friend วันที่: 24 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:10:13:01 น.  

 
ยังไม่เคยอ่านหนังสือ ของ คุณ ปราบดา หยุ่น เลยครับ
แต่เคยได้ยินคนพูดมาว่า เค้าเคยเขียนรึให้สัมภาษณ์ถึงคนญี่ปุ่นในหนังสือเล่มนึงว่า " คนญี่ปุ่น นี่แปลก วันแรกที่ไปถึง เจอเพื่อนญี่ปุ่น ต้อนรับขับสู้ดูแลเค้าอย่างดี หาน้ำหาท่าให้ทาน แต่พอเช้าอีกวัน กลับไม่พูดไม่จาไม่สนใจ กลายเป็นอีกอย่างนึง ไม่เข้าใจว่าเพราะอะไร ถ้าเป็นแบบนั้น ให้มาต่อยตัวๆ กันดีกว่า ดีกว่า มาทำอะไร อย่างนั้น" ประมาณนี้น่ะ

หนังสือเล่มนี้ น่าสนใจนะครับ แต่ยังหาซื้อแถวบ้านไม่ได้เลยครับ



โดย: แคปซูลสีฟ้า วันที่: 24 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:20:33:27 น.  

 
สวัสดีคะ
อัมไม่ค่อยได้อ่านงานของปราบดา หยุ่นเท่าไหร่นักคะ
อาจเป็นเพราะยังไม่เข้าใจสิ่งที่ผู้เขียนอยากสื่อออกมา
ให้คนอ่านได้ทราบ

ปล. อัมไปซื้อไร้เลือดมาแล้วนะคะไว้อ่านจบจะมาส่งข่าวคะ


โดย: กาแฟเย็น (อาจารย์บ้านนอก ) วันที่: 24 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:22:44:38 น.  

 

มีตัวตนของคนแปลเจือในนั้น เป็นเรื่องปกติ มองเรื่องนี้ว่าเป็นการเอาน้ำจืดไปผ่านแผ่นกรอง ถึงจะกรองได้ละเอียด-หยาบอย่างไร ก็มีีสิ่งเจือปนจากตัวกรองในน้ำที่กรองแล้วแน่ๆ เวลาอ่านหนังสือแปล บางครั้งเราอ่านแล้วกลับชอบฝีมือหรือสำนวนการแปล กลิ่นนมเนยมันจางเป็นกลิ่นกะปิน้ำปลานิดๆ อร่อยไปอย่าง แต่ความถูกต้องควรยังคงอยู่นะ บางครั้งถ้าติดกลิ่นนมเนยอย่างต้นฉบับมากไป กลับไม่ชอบเสียอีก


ตอนอ่าน Kafka on the shore จบ ยังคิดว่าทำไมเราจึงเลือกซื้อเล่มนี้ทั้งที่เคยอ่านมุราคามิฉบับแปลไปสองเล่ม แต่จบจริงๆ แค่หนึ่งเล่มครึ่งและคิดว่าไม่อ่านอีกแล้ว เราเกลียด Norwegian Wood ฉบับแปลเป็นไทยชมัด ผู้แปลอาจแปลได้ดีก็ได้ค่ะ แต่ไม่เข้าใจคนเขียน เวลาอ่านแล้วเหมือนมีหมอกควันลอยฟุ้งบังไม่ให้เห็นภาพชัดๆ ตอบง่ายๆ ว่า เพราะอยากลองชิมอีกสักที เพื่อนบล็อกหลายท่านพูดถึงเล่มนี้กัน อ่านจบก็ชอบ ชอบพล็อตเรื่อง แต่ก็สรุปไม่ได้ว่าที่ชอบมาจากตัวงานเขียนเอง หรือมาจากการแปลเป็นภาษาอังกฤษเพราะอ่านภาษาญี่ปุ่นไม่ออก (ยังไม่ได้อ่านฉบับแปลเป็นไทย) ไม่แน่นะ ถ้าอ่านฉบับแปลเป็นไทยอาจอ่านไม่จบเพราะ เจ้าพวกไอละอองฟุ้งล่องลอยอาจมากเกินไปจนสำลักก็ได้


ผลงานของปราบดา หยุ่น ยังไม่เคยอ่านงานแปล อ่านแค่งานเขียน ไม่ได้ตามงานต่อเนื่องมานานแล้ว ชอบความคิดของเขาเวลาที่เป็นประโยค ดุดันกำลังดี แต่เวลามาเป็นเล่ม รุนแรงเกินกว่าจะรับได้ทันในเวลาเดียวกัน เหมือนถูกหลายกระบวนท่าซัดเข้าทีเดียวจนยืนไม่อยู่ แต่ถ้ามาเป็นทีละเพลงดาบก็ยังพอรับได้ ถ้าจะอ่านงานก่อนๆ ทั้งเล่ม คงใช้เวลานานมาก เพราะจะอ่านทีละย่อหน้า

มันก็ตลกดีนะ (ไม่ได้เสียดสีหรือประชดประชัน ด้วยความสัตย์จริง) ที่คุณปราบดาเขียนถึงการแปลว่าอย่างนั้น ในงานเขียนที่ถูกแปลไปเป็นภาษาญี่ปุ่นอีกที



ตอบยาวจัง ...


โดย: อั๊งอังอา IP: 124.120.120.251 วันที่: 25 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:14:32:06 น.  

 
ไชโย ออสการ์ประกาศแล้ว ได้ดังใจจริงๆ


โดย: beerled IP: 203.154.187.189 วันที่: 25 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:16:24:17 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ขอรบกวนทั้งชุดนอน
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 25 คน [?]




Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2551
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
242526272829 
 
21 กุมภาพันธ์ 2551
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add ขอรบกวนทั้งชุดนอน's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.