น้ำท่วม......จะคลายเครียดได้อย่างไร ที่นี่มีคำตอบ
ตั้งแต่เกิดมาก็หลายสิบฤดูฝนแล้ว เพิ่งเห็นน้ำท่วมมากก็คราวนี้แหละครับ พ่อแม่เคยเล่าให้ฟังว่าในปี ๒๕๘๕ สมัยพ่อแม่ยังหนุ่มสาวเคยมีน้ำท่วมทั่วกรุงเทพ พ่อซึ่งรับราชการอยู่ทางใต้ทราบข่าวก็ห่วงบ้านเกิดที่คลองสี่ ลาดกระบัง จึงเดินทางกลับมาช่วยเหลือปู่ ย่า และญาติพี่น้อง จนถูกผู้บังคับบัญชาลงทัณฑ์ พ่อเล่าว่าที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ที่หัวลำโพง น้ำท่วมมากจนต้องใช้เรือแจวในการสันจรไปมา เผอิญเมื่อสองสามวันนี้ ทีวีช่อง Thai PBS ได้นำภาพยนตร์ซึ่งถ่ายสภาพน้ำท่วมในปีนั้นมาออกอากาศ ทำให้หวลระลึกถึงคำบอกเล่าของพ่อแม่ได้อีกครั้ง น้ำท่วมภาคกลาง และชานกรุงเทพฯปีนี้ก็คงไม่ต่างจากปี ๘๕ เท่าใดนัก เพียงแต่ว่ามีความพยายามที่จะไม่ให้น้ำท่วมเข้ามาชั้นในเมืองหลวงเท่านั้น ซึ่งขณะที่เขียนบันทึกอยู่นี้ก็ยังคาดเดาไม่ได้ว่าจะได้ผลมากน้อยเพียงใด

แม้ว่าคุณย่า และผมจะอยู่ต่างจังหวัด ห่างไกลจากกรุงเทพฯ ไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมคราวนี้โดยตรงก็จริง แต่ได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจไม่แพ้ผู้ประสบภัยเหมือนกัน เพราะป๊ะป๋า ของเปาเปาและน้อง น้องเอม มีบ้านอยู่ที่ตำบลบางศรีเมือง เมืองนนท์ ซึ่งน้ำเริ่มไหลเข้ามาแล้ว พ่อหนูพรีมก็มีบ้านอยู่ที่หลักสี่ ซึ่งเป็นจุดเสี่ยงน้ำท่วมเหมือนกัน ส่วนญาติพี่น้องที่ลาดกระบัง ก็ถูกน้ำท่วมบ้างแล้ว บ้านเพื่อนรักที่วัดพระแม่สกลสงเคราะห์ บางบัวทอง น้ำท่วมสูงเกือบเมตร แล้ว

การเดินทางเข้าไปกรุงเทพฯเพื่อช่วยเหลือคนที่เรารัก ไม่น่าจะช่วยอะไรได้มาก รังแต่จะเพิ่มภาระให้กับเขาเสียละมากกว่า ก็ได้แต่ติดตามข่าว แนะนำแนวทางในการสู้กับน้ำ ซึ่งแนวคิดมีอยู่ว่า ถ้า เราไม่สามารถป้องกันไม่ให้ถูกน้ำท่วมได้แล้ว เราควรจะทำอะไรให้เราเสียหายน้อยที่สุด เดือดร้อนน้อยที่สุด เป็นภาระกับคนอื่นให้น้อยที่สุด และเราจะอยู่กับสภาพน้ำท่วมขังให้ดีที่สุดได้อย่างไร

สภาพน้ำท่วมอย่างนี้คงทำให้หลายๆคน ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงและทางอ้อม เกิดความเครียดได้ วิธีที่จะไม่ให้เครียดหรือทำให้ลดน้อยลงมีแน่นอนครับ

เมื่อต่อสู้กับปัญหาเรื่องน้ำท่วมด้วยการช่วยเหลือตัวเอง ช่วยเหลือผู้อื่น และช่วยเหลือตัวเองและช่วยเหลือผู้อื่นไปพร้อมกันแล้ว ก่อนพักผ่อนให้หามุมสงบ นั่งทำสมาธิ มีสติระลึกรู้อยู่กับลมหายใจเข้าออก ถ้าจิตจะหนีไปคิดถึงเรื่องอื่นๆหรือเหตุการณ์ต่างๆที่ผ่านมา ก็ให้รู้ว่าจิตของเราไปคิดถึงเรื่องนั้นๆ แล้วกลับมาอยู่กับลมหายใจเข้าออกอีก ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ถ้าจิตมันหนีไปคิดเรื่องอื่นอีก เรียกว่าจิตมันฟุ้งซ่าน (เป็นทุกคน โดยเฉพาะคนที่เพิ่งฝึกนั่งสมาธิใหม่ๆ) ก็อย่าท้อใจ กลับมาอยู่ที่ลมหายใจเข้าออกอีก อาจใช้กลอุบายด้วยการกำหนดคำบริกรรม เช่นใช้คำว่า “พุทธ” เมื่อหายใจเข้า และ “โธ” เมื่อหายใจออก ก็ได้ จะทำให้จิตมีเครื่องยึดเหนียว ทำอย่างนี้สัก๕ – ๑๐ นาทีต่อวัน ถ้าจิตสงบไม่ฟุ้งซ่านบ่อยนัก จึงค่อยๆเพิ่มเวลาขึ้นในวันถัดๆไป อย่างนี้จิตของเราก็จะได้พักผ่อนบ้าง ความเครียดจะลดลง ทำบ่อยๆทำทุกวัน ดีกับตัวเองและคนรอบข้าง ผมรับรอง ถ้าจิตมันสงบระงับ ไม่ฟุ้งซ่านได้นานๆ ค่อยเอาจิตที่สงบดีแล้วนั่นแหละพิจารณาปัญหาต่างๆว่า มันไม่ยั่งยืนถาวรไปได้ เช่นน้ำมันท่วมได้ ก็ลดได้แห้งได้ มันไม่คงทนอยู่ได้เนิ่นนาน อาจจะช้าไปบ้าง ก็เพราะมันมีเหตุมีปัจจัยให้เป็นเช่นนั้น ข้าวของที่เสียหาย ถ้าน้ำไม่ท่วมมันก็ต้องเสื่อมต้องเสียหายเหมือนกัน มันไม่อยู่กับเราตลอดไป มันเสียหายไปเราก็หามาใหม่ได้

นี่เป็นการเอาวิกฤตน้ำท่วมเป็นโอกาสในการฝึกปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา ไปเลย

หลายคนอาจจะค่อนขอดว่า ใครไม่โดนกับตัวเองก็พูดได้ซิ ลองมาโดนมั่งจะทำจิตทำใจได้ไหมล่ะ

ผมอยากจะบอกว่าไม่มีอะไรยั่งยืนหรือจีรังหรอกครับ แม้แต่ความทุกข์หรือความสุข ไม่มีใครที่จะทุกข์ตลอดไปหรือจะสุขไปจนตาย ใช่ไหมครับ




Create Date : 21 ตุลาคม 2554
Last Update : 21 ตุลาคม 2554 17:14:57 น.
Counter : 1250 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

อุษา
Location :
แพร่  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]



ตุลาคม 2554

 
 
 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
11
12
13
15
16
17
18
22
23
24
25
26
28
30
31
 
 
All Blog