ความคิดเรื่องกรรมเก่าในพุทธศาสนา

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่ามีลัทธิเดียรถีย์(ติตถายตนะ) ผิดหลักพุทธศาสนา

 


เพราะเป็นไปเพื่อการไม่กระทำ อยู่ ๓ ลัทธิ คือ

 


(แต่พุทธศาสนาถือหลักการกระทำ)

 


๑. ลัทธิกรรมเก่า   

 


                เรียกสั้นๆ ว่า ปุพเพกตวาท   สุข-ทุกข์หรือไม่ ย่อมเป็นตามกรรมที่ได้ทำไว้แต่ปางก่อน

 


๒. พวกลัทธิพระเป็นเจ้าบันดาล 

 


                เรียกสั้นๆ ว่า  อิศวรนิรมิตวาท   สุข-ทุกข์หรือไม่ แล้วแต่เทพเจ้าดลบันดาล

 


๓. ลัทธิแล้วแต่โชค  

 


                เรียกสั้นๆ ว่า  อเหตุวาท   สุข-ทุกข์หรือไม่ ย่อมเป็นไปเอง

 


เรื่องกรรมที่เชื่อกันในแง่กรรมเก่านี้ มีจุดพลาดอยู่ ๒ แง่ คือ

 


๑. ไปจับเอาส่วนเดียวเฉพาะอดีต ทั้งที่กรรมนั้นเป็นกลางๆ ไม่จำกัด ถ้าแยกตามกาลเวลาก็ต้องมี ๓ กรรม ต้องมองให้ครบ คือ
                กรรมเก่า  (ในอดีต)
                กรรมใหม่ (ในปัจจุบัน)
                กรรมข้างหน้า (ในอนาคต)

 


๒. มองแบบแยกขาดตัดตอน  ไม่มองให้เห็นความเป็นไปของเหตุปัจจัยที่ต่อเนื่องกันมาโดยตลอด 
คือไม่มองเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลา เลยไปมองเหมือนกับว่ากรรมเก่าเป็นอะไรก้อนหนึ่งที่ลอยตามเรามาจากชาติก่อนแล้วมารอทำอะไรกับเราอยู่เรื่อยๆ

 


จุดสังเกตในการทำความเข้าใจ

 


หนึ่ง  กรรมเก่าที่ทำทั้งหมด คือกรรมที่ได้ทำไปแล้ว ส่วนกรรมใหม่(ในปัจจุบัน) คือที่กำลังทำอยู่ต่อไปก็จะกลายเป็นกรรมเก่า กรรมข้างหน้าก็ยังมาไม่ถึง เช่น ถ้าจะศึกษาหรือตัดสินคน ก็ดูจากกรรมเก่าย้อนหลังไปก็ใช้เป็นประโยชน์ได้

 


สอง  กรรมเก่านั้นสำคัญยิ่งต่อเราทุกคน เพราะเราแต่ละคนที่เป็นอยู่ขณะนี้ ก็คือผลรวมจากกรรมที่สะสมมา กรรมเก่านี้ก็ให้ผลแก่เราเต็มที่อยู่ เช่น เรามีวิสัยขีดความสามารถทางกาย วาจา ทางจิตใจ และปัญญาเท่าไร และจะทำอะไรต่อไปได้แค่ไหน ก็อยู่ที่กรรมเก่าดังว่า

 


สาม  แม้กรรมเก่าจะสำคัญมาก ก็ไม่ใช่เรื่องที่เราจะไปสยบยอมต่อมัน แต่ตรงข้าม เรามีหน้าที่พัฒนากรรมเก่านั้นให้ดีขึ้น

 


                สรุปวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องต่อกรรมทั้ง ๓ ส่วนว่า

 


กรรมใหม่ (ในปัจจุบัน) คือกรรมที่เราทำได้ และจะต้องตั้งใจทำให้ดีที่สุด

 


กรรมเก่า (ในอดีต) เราทำอะไรไม่ได้ แต่เราควรรู้ เอาความรู้จักนั้นมาใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปรับปรุงกรรมใหม่ให้ดียิ่งขึ้น

 


กรรมข้างหน้า (ในอนาคต) เรายังทำมันไม่ได้ แต่สามารถเตรียมหรือวางแผนเพื่อจะทำกรรมที่ดีที่สุด ด้วยการทำกรรมปัจจุบันที่จะพัฒนาเราให้ดีงามและงอกงามยิ่งขึ้น เมื่อเวลานั้นมาถึงเราก็จะสามารถทำกรรมที่เป็นกุศลอย่างเยี่ยมยอด
         
ขอย้ำอีกครั้งว่า  กรรมใหม่สำหรับทำ กรรมเก่าสำหรับรู้ อย่ามัวรอกรรมเก่าที่เราทำอะไรมันไม่ได้แล้ว แต่หาความรู้จากกรรมเก่านั้น เพื่อเอามาปรับปรุงการทำกรรมปัจจุบัน จะได้พัฒนาตัวเราให้สามารถทำกรรมอย่างเลิศประเสริฐได้ในอนาคต

 


จาก ธุรกิจฝ่าวิกฤติ สนทนา-ตอบปัญหาธรรม กับ คุณอานันท์ ปันยารชุน และคณะ พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) สำนักพิมพ์สุขภาพใจ --กรุงเทพฯ พฤศจิกายน ๒๕๔๓, หน้า ๒๐๐ - ๒๑๑

 



 



 



 


เกิดแต่กรรม?: กรรมเก่าเท่านั้นหรือ

 


 16 พฤศจิกายน 2009 เวลา 4:51 น.

 


ปุจฉา:
                เคยได้ยินพระบางรูปสอนว่า การที่เราเกิดมา เป็นคนจนเพราะ"กรรมเก่า" ที่เราทำไว้แต่ชาติ ปางก่อน ดังนั้นเราจึงต้องก้มหน้ารับกรรมนั้นต่อไป เพราะไม่มีใครทำให้เราเป็นเช่นนั้นได้ นอกจากตัวเราเป็นผู้ทำกรรมนั้นด้วยตัวเอง ทัศนะอย่างนี้มีความเป็นจริงแค่ไหน
วชิรวิทย์/เชียงใหม่
วิสัชนา:
                แนวคิดที่ว่าความเป็นไปในชีวิตของเรานั้นเป็น ผลมาจาก"กรรมเก่า"ที่เราทำไว้แต่ชาติปางก่อน มีความถูกต้องเพียงครึ่งเดียว และเป็นแนวคิดที่อันตรายมาก เพราะจะทำให้ผู้ที่เชื่อถือ

 


กลายเป็น บุคคลประเภทยอมจำนนต่อชะตากรรมของตนเอง อย่างไม่คิดที่จะสู้ และทัศนะอย่างนี้ยังเป็นช่องทางให้มีคนนำไปใช้อ้างอย่างผิดๆด้วย เช่น นาย ก เห็นผู้หญิงคนถูกกระทำทารุณกรรมทางเพศ  แทนที่จะคิดหาทางช่วยเหลือหรือแก้ไข กลับวางเฉยเสียด้วยคิดว่าไม่ควรจะเข้าไปยุ่ง เพราะเป็น "กรรมเก่า"ของผู้หญิงคนนั้นนั่นเอง หรือบางคน ถูกคนอื่นเอารัดเอาเปรียบอย่างซึ่งๆหน้า แทนที่จะหาวิธีแก้ไข ก็กลับมานั่งทำใจว่าปล่อยให้เขาเอาเปรียบไปเถิด มันเป็นกรรมของเราเองที่เคยไปทำไว้กับเขามาแต่ชาติปางก่อน ความเชื่อที่ว่าอะไรๆในชีวิตก็แล้วแต่"กรรมเก่า" บันดาลให้เป็นไปนั้น ไม่ใช่คำสอนในพระพุทธศาสนา เพราะพระพุทธศาสนาสอนว่า สิ่งต่างๆ ในชีวิตของเรานั้นล้วนขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย แวดล้อมต่างๆมากมาย ทั้งเหตุปัจจัยในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ดังนั้นแทนที่พระพุทธเจ้า จะตรัสว่าชีวิตเป็นผลผลิตของกรรมเก่าหรือเป็น ผลผลิตของกรรมในปัจจุบันเพียงอย่างเดียว พระองค์กลับตรัสว่า "เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี" นี่คือคำสอนแบบสายกลางที่ต้องการให้เรารู้จัก มองสิ่งต่างๆ อย่างเป็นกลาง กล่าวคือ รู้จักมองว่าวิถีชีวิตของคนเรานั้นล้วนมีเงื่อนไขมากมาย เข้ามาเกี่ยวข้องให้เป็นอย่างนี้ ไม่ใช่เอียงไปหาลัทธิกรรมเก่าจนสุดโต่ง ถึงขนาดยกความ
เป็นไปในชีวิตให้เป็นเรื่องของกรรมเก่า เพราะถ้าทุกอย่างเป็นเรื่องของกรรมเก่าไปเสียทุกหมด
เราก็ไม่ควรจะทำอะไรใหม่ๆ แต่ควรนั่งนอนอยู่เฉยๆ รอให้กรรมเก่าบันดาลชีวิตให้เป็นไปตามวิถีของกรรมเก่ามิดีกว่าหรือ ความจริงลัทธิที่เชื่อว่าอะไรๆก็แล้วแต่ "กรรมเก่า"นั้น เป็นลัทธิที่ผิดหลักความจริง ผิดหลักธรรมชาติ และผิดหลักพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าตรัสว่า ลัทธิที่สวนทางกับหลัก พระพุทธศาสนามีอยู่ ๓ ลัทธิคือ
                ๑.ลัทธิแล้วแต่กรรมเก่า
                ๒.ลัทธิแล้วแต่พระเจ้าบันดาล
                ๓.ลัทธิแล้วแต่โชคชะตาจะพาให้เป็นไป
                ลัทธิแล้วแต่กรรมเก่าก็คือลัทธิที่สอนว่า ชีวิตจะเป็นไปอย่างไรทั้งในทางดีและในทางเสื่อม
ล้วนแล้วแต่ "กรรมเก่า" บันดาลให้เป็นไป

 


                ลัทธิแล้วแต่พระเจ้าบันดาลก็คือลัทธิที่สอนว่าชีวิตอยู่ภายใต้อุ้งหัตถ์ของพระเจ้า พระเจ้าพอใจจะให้ชีวิตของใครเป็นไปอย่างไร พระองค์ก็ทรงลิขิตไว้แล้ว ลัทธินี้คือที่มาของความเชื่อประเภท "พรหมลิขิต"
                ลัทธิแล้วแต่โชคชะตาจะพาให้เป็นไปก็คือลัทธิที่ สอนว่าชีวิตจะเป็นอย่างไรก็เป็นไปของมันเอง  ไม่มีเหตุปัจจัย อะไรจะเกิด มันก็เกิด อะไรจะเป็นอย่างไร ถึงเวลาก็เป็นไปเอง ลัทธินี้คือที่มาของการมอบชะตากรรมไว้ให้เป็นเรื่องของดวงดาว ฤกษ์พานาที หรือแม้แต่ปล่อยให้เป็นเรื่องของ "ดวง" หรือ "โชค" "เคราะห์" จะพาให้เป็นไปเอง ไม่มีต้นสายปลายเหตุ  อะไรจะเป็นก็ปล่อยให้มันเป็นไป
                ทั้งสามลัทธิหรือทั้งสามระบบความเชื่อดังกล่าวมานี้ ถ้าใครไปเชื่อเข้าก็ย่อมจะทำให้
กลายเป็นคนที่ "ยอมจำนน" ต่อชีวิต ไม่อยากสู้ชีวิต ไม่อยากสร้างสรรค์พัฒนาตนเอง เอา
แต่นอนรอคอยให้กรรมเก่า พระเจ้า หรือโชค/ เคราะห์บันดาลให้เป็นไป ตกทุกข์ได้ยาก
ถูกกระทำ ถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกกลั่นแกล้ง  ทำร้าย หรือแม้แต่เกิดมาเป็นคนจนก็ทนหรือ
เต็มใจที่จะนั่งอยู่เฉยๆ ไม่ลุกขึ้นมาป้องกันแก้ไข ปล่อยชีวิตลอยไปเหมือนกอสวะกลางแม่น้ำใหญ่
ที่ไม่รู้ชะตากรรม
                ลัทธิทั้งสามนี้พึงทราบว่าเป็นลัทธินอกพระพุทธศาสนา ไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า ใคร
สมาทานเข้าก็มีแต่เสื่อมลง มองไม่เห็นทางว่าจะสร้างสรรค์พัฒนาชีวิตให้เจริญก้าวหน้าไปได้อย่างไร  เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ลัทธิทั้งสามจะไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า แต่คนไทยก็เชื่อมั่นในลัทธิกรรมเก่ากันอย่างแน่นแฟ้น จนทุกวันนี้ ใครมีปัญหาชีวิตอะไร ก็พานยกให้เป็นเรื่องที่เนื่อง
มาแต่กรรมเก่าไปเสียทั้งหมด
ว.วชิรเมธี
จากหนังสือ ธรรมะทำไม

 






Free TextEditor



Create Date : 18 พฤษภาคม 2553
Last Update : 18 พฤษภาคม 2553 17:09:35 น.
Counter : 1966 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

อุษา
Location :
แพร่  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]



พฤษภาคม 2553

 
 
 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
 
 
All Blog