Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2554
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
21 มิถุนายน 2554
 
All Blogs
 
อมรรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ 7) โดย วิษณุ เครืองาม จาก เดลินิวส์


ใครรู้วิชาโหรน่าจะลองผูกดวง พระชะตาพระเจ้าอยู่หัว

รัชกาลที่ 7 ดูว่าเป็นอย่างไร เพราะแปลกเหลือหลาย

เมื่อแรกประสูติจนทรงเป็นหนุ่ม ไม่มีใครคาดคิดว่าต่อไป

“ทูลกระหม่อมเอียดน้อย” สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์

พระราชโอรสพระองค์สุดท้องในรัชกาลที่ 5 ประสูติจากสมเด็จ

พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี และเป็นลำดับที่ 76 จากทุกพระครรภ์

จะได้ครองราชสมบัติเพราะยังมีพระเชษฐาร่วมพระครรภ์

อีกหลายพระองค์ ความจริงหลังจากประสูติ 1 วัน

สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาได้ประสูติพระราชธิดาเป็นลำดับที่ 77

แต่อยู่ได้วันเดียวก็สิ้นพระชนม์

คนมักสะกดคำว่า “ศักดิเดชน์” ผิดเป็น “เดช” ซึ่งแปลว่าอำนาจ

แต่ “เดชน์” แปลว่าลูกศร เมื่อครองราชย์แล้วจึงทรงใช้

ตราประจำพระองค์เป็นรูปศร 3 เล่ม เมื่อทรงพระเยาว์

พระสุขภาพไม่ดีเจ็บออด ๆ แอด ๆ มาตลอด แพทย์แนะนำ

ให้ทรงเรียนวิชาทหารเพื่อจะได้ออกพระกำลัง

เสด็จกลับจากอังกฤษแล้ว

จึงได้ทรงเข้าทำราชการในสมัยรัชกาลที่ 6

ตอนต้นรัชกาลที่ 6 เข้าใจกันว่าถ้าแม้นไม่มีพระราชโอรส

พระราชอนุชาที่ทรงพระชนม์และอยู่ในลำดับถัดไปคือ

สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ

น่าจะได้สืบราชสมบัติ เพราะรัชกาลที่ 6 ทรงโปรดและ

เจ้าชายพระองค์นี้ก็ทรงพระปรีชาสามารถมาก

เรื่องของเจ้าชายพระองค์นี้น่าสนใจ รัชกาลที่ 5 ทรงส่งไป

เรียนที่รัสเซีย พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 กษัตริย์รัสเซียที่เคยช่วยไทย

ให้รอดจากการถูกยุโรปคุกคามทรงรับเป็นผู้ปกครอง

วันหนึ่งเจ้าฟ้าหนุ่มจากสยามได้ทรงพบกับสาวรัสเซียใน

งานเลี้ยงหรูหราที่พระราชวังปีเตอร์ฮอฟ กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก

จนเกิดเป็นความรักและเสกสมรสด้วยจนมีพระโอรส

คือพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์

ผมเคยไปชมวังปีเตอร์ฮอฟ ไกด์รัสเซียอธิบายละเอียดลออว่า

ทรงพบกันตรงนี้ เสด็จไปเต้นรำตรงนั้น ดนตรีเล่นเพลงอะไร

วัทอะโรแมนติก! แต่เมื่อเสด็จกลับไทย รัชกาลที่ 5 กริ้วมาก

วังของกรมหลวงพิษณุโลกฯ อยู่ข้างกระทรวงศึกษาธิการชื่อ

“วังปารุสกวัน” ทรงมีพระอารมณ์ขันว่าไหน ๆ ฝรั่งก็ออก

พระนามว่า “ปรินซ์ จักรกระบอง” (จักรพงษ์) จึงทรงคิดตรา

ประจำพระองค์เป็นรูปจักรมีกระบองสอด ยังติดอยู่หน้าประตู

วังปารุสก์ ถนนราชดำเนินนอก ผ่านไปมาลองสังเกตดู

ต่อมากรมหลวงพิษณุโลกฯ ทรงหย่าจากหม่อมชาวรัสเซีย

วันหนึ่งเสด็จไปราชการที่สิงคโปร์ กลับจากงานเลี้ยง

ก็ประชวรสิ้นพระชนม์ที่นั่น

เมื่อเจ้าฟ้าประชาธิปกฯ ทรงผนวชประทับที่วัดบวรฯ

และจะทรงลาผนวช สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ เจ้าอาวาส

และพระอุปัชฌาย์ทรงแนะนำว่าน่าจะบวชต่อไป เพราะสึกไป

ก็คงเอาดีทางโลกยาก พี่ชายก็มีอยู่หลายคน แม้นครองผ้าเหลือง

ต่อไปอาจได้ดีเป็นใหญ่ทางคณะสงฆ์ แต่ทูลกระหม่อมทูลว่า

ไปหลงรักผู้หญิงเข้าแล้ว

ลาผนวชแล้วได้เสกสมรสกับ ม.จ.รำไพพรรณี สวัสดิวัตน์

พระธิดากรมพระสวัสดิ์ฯ (พระราชโอรสรัชกาลที่ 4

ประสูติจากเจ้าจอมมารดาเปี่ยม จึงทรง

เป็นน้าแท้ ๆ ของเจ้าฟ้าประชาธิปกฯ)

พระเชษฐาร่วมพระครรภ์ของเจ้าฟ้าประชาธิปกฯ ค่อย ๆ

สิ้นพระชนม์ไปจนหมด คราวนี้มีวี่แววแล้วว่าอาจทรงเป็น

รัชทายาทราชบัลลังก์สยาม รัชกาลที่ 6

จึงเริ่มให้ทรงศึกษาระบบระเบียบราชการเตรียมไว้

แต่ความไม่แน่นอนก็ยังมีเพราะใน พ.ศ. 2468 พระนางเจ้าสุวัทนาฯ

ทรงพระครรภ์ ถ้าประสูติเป็นชาย เจ้าฟ้าพระองค์ใหม่

ก็จะเป็นกษัตริย์ อย่างมากเจ้าฟ้าประชาธิปกฯ

ก็แค่สำเร็จราชการแทนพระองค์

วันที่ 24 พฤศจิกายน 2468 รัชกาลที่ 6 ประชวรหนัก

พระนางเจ้าสุวัทนาฯ ได้ประสูติพระราชธิดา นาทีนั้นจึงแน่แล้วว่า

เจ้าฟ้าประชาธิปกฯ กรมหลวงศุโขทัยธรรมราชา

จะได้ครองราชย์ วันต่อมารัชกาลที่ 6 สวรรคต

ขณะพระชนมพรรษา 45 พรรษา

เจ้านายและเสนาบดีเปิดประชุมทันที และทูลเชิญ

เจ้าฟ้าประชาธิปกฯ พระชนมายุ 32 พรรษา ทรงรับราชสมบัติ

แต่ตรัสถ่อมพระองค์ว่า พระชนมายุและพระประสบการณ์ยังน้อย

พระเชษฐาต่างพระราชชนนีที่มีความสามารถยัง

มีอีกหลายพระองค์ โดยเฉพาะสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรฯ

กรมพระนครสวรรค์วรพินิต

กรมพระนครสวรรค์ฯ คุกเข่าลงถวายบังคมทูลย้ำว่า

ขอให้ทรงรับราชสมบัติเพราะเป็นไปทั้งตาม

กฎมณเฑียรบาล พ.ศ. 2467 ที่รัชกาลที่ 6 ทรงตราไว้

และพระราชประสงค์รัชกาลที่ 6 ที่ทรงสั่งไว้ ทุกพระองค์

ขอปฏิญาณความจงรักภักดีและสนองราชการแบ่งเบาพระราชภาระ

นั่นแหละจึงทรงรับ

รัชกาลที่ 7 เป็นพระเจ้าแผ่นดิน 9 ปี จึงสละราชสมบัติ

ที่จริงเป็นความยากลำบากในการเป็นผู้นำประเทศขณะนั้น เพราะ

เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ในอเมริกาเกิดเหตุ

ยิ่งกว่าฟองสบู่แตกเรียกว่า Great Depression โรงงานในญี่ปุ่น

หลายแห่งต้องปิด คนว่างงานทั่วโลก ในสยามการเก็บภาษี

ก็ทำได้น้อย การค้าขายฝืดเคือง รัฐบาลขาดเงินสดจน

ต้องเลื่อนบรรดาศักดิ์แทนขึ้นเงินเดือนข้าราชการ

บางปีก็ต้อง “ดุลย์” คือ เอาข้าราชการออก พระเจ้าอยู่หัว

ต้องทรงลดเงินปีของพระองค์และค่าใช้จ่ายประเทศ

ในสมัยรัชกาลที่ 1 พระน้องนางเธอของรัชกาลที่ 1

ชื่อพระองค์เจ้าหญิงกุ กรมหลวงนรินทรเทวี

มีวังอยู่ข้างวัดโพธิ์ คนทั่วไปเรียกว่าเจ้าครอกวัดโพธิ์

ทรงเป็นนักบันทึกจดหมายเหตุความทรงจำ จะว่าเป็น

คนไทยคนแรกที่เขียนไดอารี่ก็ได้ เคยทรงบันทึกไว้ว่า

เวลาลงเสาหลักเมืองพระนครนั้น เห็นงูอยู่ที่ก้นหลุม

จะเขี่ยออกก็ไม่ทัน หลักเมืองเลื่อนลงไปทับพอดี

จึงมีคำพยากรณ์ว่าพระนครจะอยู่แค่ 150 ปี

ข้อที่คนโบราณร่ำลือกันเรื่องคำทำนายอายุพระนคร

ไม่ใช่ว่าคนจะเชื่อตามไปหมด บางคนที่รู้เรื่องดีก็แย้งว่า

สมัยรัชกาลที่ 4 เคยมีการยกเสาหลักเมืองใหม่อีกหน

จึงเท่ากับแก้เคล็ดไปแล้ว บ้างก็ว่าถ้าจะสิ้นพระนคร

ก็น่าจะสิ้นเสียตั้งแต่รัชกาลที่ 5 เมื่อฝรั่งเศสและอังกฤษ

เข้ามาคุกคาม เมื่อรอดจากคราวนั้นจึงเห็นจะไม่มีอีก

รัชกาลที่ 7 ทรงทราบดีว่าหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นต้นมา

โลกเห็นจะไม่เหมือนเดิม จึงทรงเตรียมการหลายอย่าง

เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพราะพระองค์เอง

ก็เป็นนักเรียนอังกฤษ เรียนประวัติศาสตร์และรัฐศาสตร์มาไม่น้อย

ได้ทอดพระเนตรเห็นความเปลี่ยนแปลงมาบ้าง

หลังครองราชย์ไม่นาน ดร.ฟรานซิส บี. แซยร์

นักกฎหมายอเมริกันซึ่งเคยรับราชการสมัยรัชกาลที่ 6

จนได้เป็นพระยากัลยาณไมตรี ผ่านมาทางเมืองไทยอีกหน

ได้โปรดให้ฝรั่งผู้นี้ยกร่างรัฐธรรมนูญถวายฉบับหนึ่ง

ราวปีพ.ศ. 2473 ได้โปรดให้ที่ปรึกษาชาวอเมริกันชื่อ

นายสตีเวนส์และพระยาศรีวิสารวาจา ร่างรัฐธรรมนูญ

ถวายอีกฉบับ แต่ก็ไม่ได้ประกาศใช้

ระหว่างนั้นได้ทรงแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และมีพระราชดำริ

ให้ยกร่างกฎหมายเทศบาล (เรียกว่าประชาภิบาล) เพื่อให้

ราษฎรในท้องถิ่นมีการปกครองตนเอง เลือกผู้บริหารเอง

มีงบประมาณใช้เอง ตรัสว่าเป็นการเริ่มจากฐานล่าง

ขึ้นไปถึงชั้นบน เมื่อฐานล่างทำได้ก็จะเริ่มใช้ในระดับประเทศ

แต่ดูจะไม่มีใครเข้าใจกัน จนมีพระราชหัตถเลขาไปเร่งว่า

“หวังว่าจะได้ทันเห็นก่อนชีวิตข้าพเจ้าหาไม่” แต่ก็ไม่เสร็จอยู่ดี

เคยมีพระราชหัตถเลขาไปถึงกระทรวงธรรมการ (ศึกษาธิการ) ว่า

สักวันหนึ่งดีโมเครซี่คงเข้ามา ถ้าคิดว่าจะรักษา

แอปโซลุท โมนากีไว้ได้ก็แล้วไป แต่ถ้าคิดว่าจะต้านทานไม่ได้

ก็ให้เตรียมตั้งรับดีโมเครซี่เถิด น่าคิดว่า

ทำไมจึงทรงสั่งกระทรวงสอนหนังสือ ไม่สั่งกระทรวงกลาโหม

หรือตั้ง ศอฉ.มารับมือการล้มเจ้า คำตอบคือมีพระราชประสงค์

จะใช้การศึกษา ครู เด็กและเยาวชนเป็นฝ่ายตั้งรับนั่นเอง

ซึ่งตรงกับความเข้าใจในปัจจุบันว่าประชาธิปไตย

ต้องเริ่มที่บ้านและโรงเรียน

แต่รัชกาลที่ 7 เป็นพระเจ้าแผ่นดินที่อาภัพ ผู้มีอำนาจสมัยนั้น

ล้วนเป็นอาเป็นน้าเป็นพี่ท่านหรือไม่ก็ขุนนางหลายแผ่นดินทั้งนั้น

จึงดูจะไม่ค่อยได้ดังพระราชหฤทัย ปัญหานี้รัชกาลที่ 5

ก็เคยประสบมาแล้วในช่วง 10 ปีแรก จึงอย่าคิดว่า

เป็นพระเจ้าแผ่นดินจะทำอะไรได้ดังใจเสมอไป

วันที่ 6 เมษายน 2475 กรุงเทพ มหานครมีอายุครบ 150 ปี

เคยมีคนคาดว่าอาจจะพระราชทานรัฐธรรมนูญเป็นของขวัญ

ให้คนไทยปกครองกันเองแบบญี่ปุ่น แต่ก็ไม่มี เข้าใจว่า

มีผู้ทักท้วงว่ายังไม่ถึงเวลา ควรให้ราษฎรมีการศึกษา

และมีความรู้ความเข้าใจมากกว่านี้

ลงท้ายก็มีแต่พิธีเปิดสะพาน พุทธฯ เชื่อมกรุงเทพฯ

กับกรุงธนฯ มีขบวนชลมารค และงานสมโภชพระนคร

หลังจากนั้นเข้าหน้าร้อน รัชกาลที่ 7 และพระประยูรญาติ

เสด็จฯไปประทับที่วังไกลกังวล หัวหิน ตามที่เคยปฏิบัติ

ทางกรุงเทพฯ ก็โปรดให้กรมพระนครสวรรค์ฯ ทรงรักษาพระนคร

ขณะนั้นข่าวลือว่าอาจเกิดการยึดอำนาจมีอยู่หนาหู

นักเรียนนอกที่จบวิชากฎหมาย วิชาทหาร วิชาช่างจากฝรั่งเศส

และเยอรมนีกลับมาหลายคน คนเหล่านี้

เคยพบปะกันในเมืองนอกและเป็นห่วงบ้านเมืองว่า

จะปล่อยไปอย่างเดิมไม่ได้ ในหลวงจะไปทรงรับผิดชอบ

ทุกอย่างได้อย่างไร ราชการงานเมืองวันนี้

ซับซ้อนกว่าแต่ก่อนมากนัก

วันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน 2475 ฝนตกพรำ ๆ ทั้งคืน

ตอนค่ำรถถังออกมาวิ่งเต็มถนน ใครถามก็ได้คำตอบว่า

“ซ้อมรบ” หรือไม่ก็ “ผลัดเปลี่ยนกำลัง” คำตอบอย่างนี้คุ้น ๆ แฮะ!

พอย่ำรุ่งวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน รถถังก็บ่ายหน้าไป

ลานพระบรมรูปทรงม้า กำลังส่วนหนึ่งไปตัดสายโทรเลขโทรศัพท์

อีกส่วนเข้าคุมสถานที่สำคัญ หัวหน้าคณะก่อการ

ซึ่งเรียกตัวเองว่า “คณะราษฎร” คือ พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา

ก็ขึ้นยืนอ่านแถลงการณ์ยึดอำนาจบนลังข้างพระบรมรูปทรงม้า

มีการเชิญเจ้านายผู้ใหญ่ เช่น จากวังบางขุนพรหม วังวรดิศ

วังเทเวศร์ ตำหนักปลายเนินไป “อารักขา”

ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม ตกสายก็แจกใบปลิวแถลงการณ์ทั่วกรุง

มีการต่อสู้เลือดตกยางออกแห่งเดียวที่กองพล 1

ขณะนั้นรัชกาลที่ 7 ประทับอยู่หัวหิน ตกบ่ายผู้แทนคณะราษฎร

คือหลวงศุภชลาศัยก็ถือหนังสือหัวหน้าคณะราษฎรไปเฝ้าฯ

ทูลเชิญเสด็จฯกลับกรุงเทพฯ

ตรัสว่าที่จริงความมุ่งหมายก็ตรงกัน แต่วิธีการอาจแตกต่างกัน

ไม่มีพระราชประสงค์จะให้คนไทยต่อสู้กันเองเพราะ

แม้จะทรงพอมีกำลังทหาร แต่ลงท้ายจะเกิดศึกกลางเมือง

คนไทยจะตายเปล่า ๆ จึงจะเสด็จฯกลับ

พระองค์เองสุขภาพก็ไม่ดี พระราชโอรสก็ไม่มี

ไม่ได้อยากได้ใคร่ดีจะเป็นกษัตริย์ต่อไป แต่ถ้าทรงต่อต้าน

คณะราษฎรจะลำบากเพราะนานาประเทศ

คงไม่ยอมรับรองรัฐบาลใหม่ คราวนี้จะยุ่งยากมากขึ้น

เห็นน้ำพระราชหฤทัยไหมล่ะครับ!

ในที่สุดก็เสด็จฯกลับ คณะราษฎรได้เข้าเฝ้าฯ ขอพระราชทานอภัยโทษ

ที่ทรงเสียพระราชหฤทัยที่สุดคือการที่แถลงการณ์คณะราษฎร

ได้กล่าวหาพระบรมราชจักรีวงศ์อย่างรุนแรง


จนต้องมีผู้กราบบังคมทูลว่าเป็นธรรมดาของการยึดอำนาจ

ที่จะต้องกล่าวหาอำนาจเก่า ซึ่งก็ได้พระราชทานอภัยโทษ

คณะราษฎรได้ถวายพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองฯ

ฉบับแรกด้วย ซึ่งได้ประกาศใช้ในวันที่ 27 มิถุนายน

ต่อมาก็มีการตั้งรัฐบาลเรียกว่า “คณะกรรมการราษฎร”

มีพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นประธาน

มีการตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ภายหลังก็ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่

ประกาศใช้ในวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ถือเป็นฉบับที่ 2

แต่เป็นฉบับถาวรที่เรียกรัฐธรรมนูญฉบับแรก

วันที่ 10 ธันวาคม จึงเป็นวันรัฐธรรมนูญ มีการเรียกชื่อรัฐบาลว่า

คณะรัฐมนตรีเป็นครั้งแรก พระยามโนฯ

ยังคงเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก

อะไรต่ออะไรดูจะเข้ารูปเข้ารอย การปกครองแบบใหม่เริ่มแล้ว

แต่ก็ไม่ได้เรียบร้อย หลายอย่างกลับรุนแรงหนักขึ้น

จนกลายเป็นการแตกหักครั้งใหญ่ในอีก 2 ปีต่อมา.

“ตรัสว่าที่จริงความมุ่งหมายก็ตรงกัน แต่วิธีการอาจแตกต่างกัน

ไม่มีพระราชประสงค์จะให้คนไทยต่อสู้กันเองเพราะแม้จะทรง

พอมีกำลังทหาร แต่ลงท้ายจะเกิดศึกกลางเมือง คนไทยจะตายเปล่า ๆ

จึงจะเสด็จฯกลับ พระองค์เองสุขภาพก็ไม่ดี พระราชโอรสก็ไม่มี

ไม่ได้อยากได้ใคร่ดีจะเป็นกษัตริย์ต่อไป แต่ถ้าทรงต่อต้าน

คณะราษฎรจะลำบากเพราะนานาประเทศ

คงไม่ยอมรับรองรัฐบาลใหม่ คราวนี้จะยุ่งยากมากขึ้น”

วิษณุ เครืองาม



อ้างอิงจาก //www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=486&contentID=146309




Create Date : 21 มิถุนายน 2554
Last Update : 15 มิถุนายน 2556 15:16:13 น. 1 comments
Counter : 1743 Pageviews.

 
แวะมาเยี่ยมค่ะ ทักทายค่ะ

แวะชมบล็อกของน้ำชาได้ค่ะ
ThaiLand Travel สถานที่ท่องเที่ยว



โดย: nonguide วันที่: 21 มิถุนายน 2554 เวลา:9:50:49 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ART19
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]





ความเสมอภาคที่แท้จริง คือ
การที่ทุกคนต้องมีหน้าที่
การทำหน้าที่ของตนเอง
จะเป็นสิ่งที่กำหนดว่า
เราควรได้รับอะไร แค่ไหน
Friends' blogs
[Add ART19's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.